โดย เฟย์(www.faylicity.com)

จอห์น ดักเดล จาก เดอะไทมส์ รวบรวมที่สุดของวาทะในวงการหนังสือในปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างดังนี้

kongubnungsue1

ไม่ยินดียินร้ายที่สุด
“พระคุณเจ้า พวกคุณจะมาตื่นเต้นเรื่องนี้ทุกปีไม่ได้หรอก ฉันได้รางวัลทั้งหมดในยุโรปมาแล้ว
จะรางวัลหน้าไหนก็เหอะ”

– ดอริส เลสซิง
เมื่อทราบจากบรรดานักข่าวที่ไปดักรอเธอหน้าบ้านว่าได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เธอเป็นนักเขียนชาวอังกฤษวัย ๘๘ ปี และเป็นนักเขียนอายุมากที่สุดที่ได้รับรางวัลโนเบล

kongubnungsue2

พูดให้หนังสือขายไม่ออกที่สุด
“เวลาคนเลือกหนังสือ คนอยากได้อะไรที่อ่านแล้วรื่นเริง ถ้าเป็นแบบนั้น คนไม่ควรเลือกหนังสือ
ของฉัน เพราะมันฉลาดเทียบเท่าหนังฮอลลีวูดเคล้าน้ำตา”

– แอนน์ เอนไรต์
พูดถึงหนังสือ The Gathering ที่ได้รับรางวัลแมนบุ๊กเกอร์

kongubnungsue3

จดหมายปฏิเสธตีพิมพ์แห่งปี
“ดูเหมือนจะเป็นตัวของตัวเองและน่าสนใจดี”

– สำนักพิมพ์เพนกวิน
เพนกวินปฏิเสธต้นฉบับ Pride and Prejudice ของ เจน ออสเตน ที่ เดวิด ลาสส์แมน แก้ไขบทแรกเล็กน้อยพร้อมบอกสรุปพล็อตเรื่อง และส่งไปให้สำนักพิมพ์ใหญ่ ๑๘ แห่งในอังกฤษพิจารณาตีพิมพ์ ทุกสำนักพิมพ์ปฏิเสธ

นักเขียนหลีกเลี่ยงสังคมที่สุด
“โทษที ฉันไม่เดินทางไปไหน ไม่สามารถพบคนแปลกหน้า ไม่เซ็นหนังสือ ไม่เขียนตามคำขอ ไม่ตอบจดหมาย ฉันต้องอ่านหนังสือและใช้สมาธิ ทำไมน่ะเหรอ จะไปรู้ได้ยังไง”

– จากเว็บไซต์ของ แอนนี ดิลลาร์ด นักเขียนอเมริกัน

นักเขียนเฉื่อยที่สุด
ถาม : คุณเข้าเว็บบ้างหรือเปล่า มากน้อยแค่ไหน แล้วเป็นการดีหรือเป็นเรื่องเสียเวลา
เจนนี ไดสกี : เสียเวลาเป็นตัน เสียเวลา ไร้ค่า ฉันเล่นไพ่ในเน็ต (แพ้ด้วย) เล่นเกมลูโด (ludo) และหมากรุกจีน ไปดูบล็อกใน MetaFilter ซื้อกบ ทุกอย่างเลย มันช่างนรก ฉันว่าฉันควรกลับไปใช้เครื่องพิมพ์ดีด แต่หาซื้อหมึกพิมพ์ไม่ได้แล้ว

– จากแบบสอบถามในเว็บนิวยอร์กไทมส์
ไดสกีเป็นนักเขียนชาวอังกฤษ วัย ๖๑ ปี

kongubnungsue5

นักเขียนที่เลือกคนรักยอดแย่
“เมื่อ มอร์ตัน ฟูลเลอร์ตัน พบ อีดิท วอร์ตัน ในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ เขามีอดีตอื้อฉาวเรื่องรักร่วมเพศ มีภรรยาชาวฝรั่งเศสที่เขาหย่าสายฟ้าแลบ มีชู้ที่คอยแบล็กเมล์เขาอยู่ในบ้านตัวเอง (อยู่ด้วยกันเพื่อความสะดวก ไม่ได้อยู่ฉันคู่รัก) และมีหน้าที่การงานล้มเหลว”

– จากหนังสือ Edith Wharton โดย เฮอร์ไมโอนี ลี

kongubnungsue4

พฤติกรรมแห่งปีของนักแหกคอก
“เรามาถึงเอดินบะระวันพุธตอนตีสี่ ผมมีห้องพักในเมืองนี้ และมาเพื่อปรากฏตัวในการฉายหนังสั้นเรื่อง Nuts ของผมในเทศกาลหนัง ผมยอมให้เขาจัดให้ผมพักที่โรงแรมเพรสตันฟิลด์ โรงแรมนี้ดีที่สุดในโลก มีนกยูงกรีดกรายในสวน เรารู้สึกว่าอยู่ใจกลางแถบภูเขาสูง ผมเห็น จอห์น วอเตอร์ส คนทำหนังอินดี้ชาวอเมริกันอยู่ที่สนามกอล์ฟ”

– เออร์วิน เวลช์
นักเขียนจากสกอตแลนด์ผู้โด่งดังจากงานเขียนเรื่อง Trainspotting ซึ่งเป็นนิยายขายดีและถูกขโมยมากที่สุดในอังกฤษ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้นที่มีชื่อน่ารักมากว่า If You Liked School You’ll Love Work (ถ้าชอบโรงเรียน คุณจะรักการทำงาน)

คำบอกเล่าจากอดีตกรรมการรางวัลบุ๊กเกอร์
รางวัลบุ๊กเกอร์เป็นรางวัลวรรณกรรมสำคัญที่มอบให้นิยายภาษาอังกฤษจากนักเขียนในเครือจักรภพอังกฤษและประเทศไอร์แลนด์เป็นประจำทุกปี ผู้ได้รางวัลจะได้เงิน ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ (ประมาณ ๓.๒ ล้านบาท) เนื่องในวาระที่รางวัลก่อตั้งครบ ๔๐ ปีในปีนี้ จึงมีการจัดรางวัลบุ๊กเกอร์ยอดเยี่ยมขึ้น โดยคณะกรรมการจะคัดเลือกนิยายที่เคยได้รับรางวัลบุ๊กเกอร์จำนวน ๖ เรื่อง แล้วให้ประชาชนลงคะแนนเลือกทางเว็บไซต์ themanbookerprize.com ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม รักใครชอบใคร อย่าลืมเข้าไปช่วยโหวตกันด้วย

หนังสือพิมพ์ อ็อบ-เซอร์เวอร์ ไปสัมภาษณ์อดีตกรรมการหลายคน ถึงประสบการณ์การเป็นกรรมการรางวัลวรรณกรรมนี้ อ่านแล้วได้มุมมองน่าสนใจ เพราะใครๆ ชอบไปสัมภาษณ์แต่นักเขียนเข้ารอบ ลองมาฟังจากฝ่ายกรรมการกันบ้างดีกว่า

kongubnungsue6

เดวิด แบดดีล กรรมการปี ๒๐๐๒
“การเป็นกรรมการบุ๊กเกอร์เป็นประสบการณ์ที่แปลกและขัดแย้งในตัวเอง เพราะผมพบว่าการอ่านหนังสือพวกนี้เป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณ ประสาทการตัดสินใจของเราจะทื่อด้านไปเลย มีหนังสือหลายเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อหวังชนะรางวัล ซึ่งเราดูออกว่าความประสงค์นี้กรีดร้องจากหน้ากระดาษ พอผ่านไปสักพัก ผมคิดว่า “ผมไม่อยากอ่านหนังสือที่มีฉากในมองโกเลียศตวรรษที่ ๑๔ อีกแล้ว”

“มันผสมกันไป บางปีมีหนังสือดีมาก บางปีมีหนังสือดีพอใช้ ผมชอบหนังสือ แต่แนวคิดที่ว่า
ทุกปีจะต้องมีคนเขียนหนังสือดีมากๆ ออกมานั้นเป็นความคิดผิดประหลาด โดยเฉพาะถ้าเราจำกัดแต่ในเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งเป็นสถานที่แปลกอยู่แล้วในการจำกัดเรื่องศิลปะ”

kongubnungsue7

kongubnungsue8

kongubnungsue9

ฟิลิป เฮนเชอร์ กรรมการปี ๒๐๐๑
“ผมไม่เข้าใจเวลาคนพูดถึงภาระในการเป็นกรรมการบุ๊กเกอร์ ผมอ่านหนังสือสัปดาห์ละ ๕ เรื่อง
มาตั้งแต่อายุ ๕ สัปดาห์ ! ดังนั้นนี่จึงเป็นการอ่านหนังสืออย่างปรกติของผมในช่วง ๖ เดือน ผมมีเรื่องปะทะทางปัญญาที่น่าสนใจอยู่บ้าง ความเสียใจอย่างหนึ่งในปีที่ผมเป็นกรรมการ คือการไม่ได้ให้รางวัลแก่ อาลี สมิท สำหรับหนังสือ Hotel World เรื่องอย่างนี้ยังรบกวนใจผมบ้าง แต่ผมไม่ได้เสียใจอะไรที่ให้รางวัลแก่ แครีย์ (ปีเตอร์ แครีย์) ถึงหนังสือเรื่องนี้จะขายได้น้อยกว่า Atonement ของ เอียน แม็กอีวาน อย่างเทียบกันไม่ได้ ผู้คนมักบอกผมว่า “ยอดขายบอกว่าคุณตัดสินใจพลาด” ผมไม่คิดอย่างนั้น ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราให้รางวัลหนังสือซึ่งอีกล้านปีก็จะไม่ถูกนำมาสร้างเป็นหนัง รางวัลบุ๊กเกอร์เป็นรางวัลหนังสือที่มีคุณค่าทางวรรณกรรมในตัวเอง จะน่าเศร้ามากถ้าหนังสือที่ชนะรางวัลบุ๊กเกอร์จะถูกนำไปสร้างเป็นละครชุดสั้นๆ แย่ๆ ในบีบีซีโดยอัตโนมัติ”

โรวาน เพลลิง กรรมการปี ๒๐๐๔
“การเป็นกรรมการบุ๊กเกอร์เป็นเรื่องที่ทุกคนควรเป็นดูสักครั้ง แต่ถ้าได้เป็นบ่อยกว่านั้นก็จะทำให้เสียสติ พวกสื่อมวลชนเรียกฉันว่า ‘โรวาน เพลลิง ผู้ทาลิปกลอส’ เพื่ออ้างว่าฉันไม่จริงจังเท่ากรรมการคนอื่น ฉันจึงมุ่งมั่นจะอ่านหนังสือทุกเล่มและทำได้ตามนั้น

“ไม่ใช่เรื่องยุติธรรมนักเพราะเราไม่ได้อ่านหนังสือในสุญญากาศ ฉันกำลังจะเป็นแม่ของทารกเพศชาย หนังสือที่ฉันอ่านก่อนคลอดลูกพร่ามัวไปจากการตั้งครรภ์ แต่ฉันอ่าน The Line of Beauty ตอนไปพักผ่อนช่วงวันหยุดทางตอนใต้ของฝรั่งเศส “ตอนตัดสิน เราลองระบบการลงคะแนนต่างๆ กัน ๓ แบบ แต่ละแบบก็ได้ผู้ชนะต่างกันไป ฉันตัดสินใจไม่ได้ และเกือบจะให้ประธานตัดสินให้ แต่แองกัส สามีฉันบอกว่า “หนังสือที่เธอพูดถึงบ่อยที่สุดคือ The Line of Beauty”

kongubnungsue10

เฮอร์ไมโอนี ลี กรรมการปี ๑๙๘๑ และประธานกรรมการ ปี ๒๐๐๖
“ครั้งแรกที่ฉันเป็นกรรมการคือปีที่ Midnight’s Children (ของ ซัลมาน รัชดี) ได้รางวัล ฉันเป็นประธานกรรมการเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว และพยายามยิ่งยวดที่จะอ่านหนังสือทั้ง ๑๑๒ เล่มอย่างมีสติ (เพิ่มขึ้นจาก ๗๙ เล่มในปี ๑๙๘๑) ฉันพยายามเลื่อนการลงคะแนนให้ช้าที่สุดเท่าที่ทำได้ พวกเราถกกันนานและละเอียดลออ เราสื่อสารกันบ่อยทางโทรศัพท์และอีเมล เราคิดว่ารู้ดีว่าอีกคนคิดอะไร เรื่องแปลกอย่างหนึ่งคือเราใช้เวลาหลายเดือนพูดถึงหนังสือที่เรารัก แล้วก็เหลือหนังสือ ๖ เรื่องที่เรารัก และเราก็ต้องพูดกันอีกเพื่อตัดหนังสือ ๕ เรื่องออกไป”

kongubnungsue11

ไซมอน อาร์มิเทจ กรรมการปี ๒๐๐๖
“ผมดีใจมากที่ได้เป็นกรรมการ ทำให้ประวัติผมดูดี แต่ผมจะไม่เป็นอีกแล้ว เรื่องหนักคือปริมาณ ความกลัวของคุณจะถูกทับถมด้วยกล่องหนังสือใหญ่ๆ ที่มาส่งถึงบ้าน เป็นงานหนักหนาสาหัสมาก–จนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เรามีเวลาไม่ถึงครึ่งปี ถึงจุดหนึ่งเมื่อคำนวณแล้ว ผมต้องอ่านหนังสือ ๑ เล่มภายในวันครึ่ง

“ผมชอบพูดคุยเรื่องหนังสือ ผมชอบรายการหนังสือเข้าชิงรางวัลมากๆ การต้องนั่งนาน ๔-๕ ชั่วโมงซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ผมชอบ และการได้ฟังความคิดของคนอื่นๆ นั้นน่าเพลิดเพลิน หนังสือที่ได้รางวัลเป็นส่วนผสมแปลกๆ จากรสนิยมของพวกเรา แต่เราจะไม่เลือก
ผู้ชนะที่ด้อยคุณภาพทางวรรณกรรม”

อดัม มาร์ส-โจนส์ กรรมการปี ๑๙๙๕
“เราเสนอให้กรรมการแบ่งหนังสือกันไปอ่าน แล้วค่อยส่งเรื่องที่ดีต่อๆ ไปให้คนอื่นอ่านกัน แต่ข้อเสนอนี้ถูกโจมตีจนตกไป หนังสือมีจังหวะธรรมชาติของตัวเอง และถ้าเราต้องถูกบังคับให้อ่านให้ได้ชั่วโมงละ ๖๐ หน้า ก็จะเป็นการละเมิดจังหวะธรรมชาตินั้น เวลาเจอหนังสือที่ไม่ได้เรื่องซึ่งเราเลิกอ่าน และไปหยิบเรื่องต่อไปมาอ่านได้เลยนั้น เป็นเรื่องดีมากๆ”

kongubnungsue12

ไบรอัน อัลดิสส์ กรรมการปี ๑๙๘๑
“ผมกับภรรยาได้รถคาราวาน เราขับไปทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และผมได้แต่อ่านหนังสือ ๗๙ เรื่อง โดยมีตัวช่วยคือ ไวน์แดงปริมาณหนึ่ง”มัลคอล์ม แบรดบิวรี ประธานกรรมการ
ได้คิดวิธียอดเยี่ยมในการคัดเลือกพลอยจากหิน เราให้คะแนนหนังสือทุกเรื่องจาก เอ ถึง ดี เรื่องที่ได้คะแนนซีและดี จากคณะกรรมการจะถูกคัดทิ้งไป เราจะได้พูดถึงแต่หนังสือเรื่องอื่นๆ

“คณะกรรมการพบปะกันที่ลอนดอนประมาณ ๖ ครั้ง ผมคิดว่าโดยรวมแล้วเป็นเรื่องปัญญาชน ค่อนข้างหัวสูง ถึงคืนตัดสิน เราขึ้นไปข้างบน ทุกคนลงคะแนนให้ Midnight’ s Children ยกเว้นผม ผมคิดว่าคนจำนวนมากอาจซื้อหนังสือเรื่องนี้แต่ไม่ได้อ่านจบจริงๆ ผมลงคะแนนให้ The White Hotel ของ ดี.เอ็ม. โทมัส มัลคอล์ม แบรดบิวรี บอกว่า ‘ผมทิ้งให้ไบรอันตัวคนเดียวไม่ได้ ผมจะลงคะแนนให้เรื่องนั้นด้วย’ เขาสุภาพมาก”

ดี.เจ. เทย์เลอร์ กรรมการปี ๒๐๐๓
“การเป็นกรรมการนั้นเหนื่อยและทำให้ตาสว่างขึ้นมาก ผมไม่ได้จะวิจารณ์รางวัลหรือกรรมการ แต่มีหนังสือ ๑๑๓ เรื่อง และการพบปะของกรรมการหลังจากการประชุมคัดเลือกรายการหนังสือรอบแรกนั้นไม่มีประโยชน์อะไร กรรมการจะออกมาพูดทีละคนว่า ‘ฉันเพิ่งอ่านนิยายแสนวิเศษของคนชื่อ ดี.บี.ซี. ปีแอร์’

“แต่ไม่ว่าจะมีเสียงบ่นเรื่องรางวัลบุ๊กเกอร์อย่างไร ก็เป็นเรื่องดีที่มีรางวัลนี้อยู่ ทุกครั้งที่ผมอ่านคอลัมน์รถของ เจเรมี คลาร์กสัน ผมคิดว่า ‘ขอบคุณพระเจ้าสำหรับรางวัลบุ๊กเกอร์’ อะไรก็ตามที่นำเสนอหนังสือจริงจังต่อสาธารณะนั้นเป็นเรื่องดี การเขียนจริงจังนั้นถ้าไม่เป็นละครสัตว์ทางการตลาดไปเลย ก็จะดำรงอยู่โดยไม่เป็นที่รู้จัก-ไม่มีทางสายกลาง”

อ่านแล้วคุณอยากเป็นกรรมการรางวัลนี้บ้างหรือไม่ โปรดระลึกถึงคำบอกเล่าของ เฮาเวิร์ด เดวีส์ กรรมการปีที่แล้วผู้บอกว่า เมื่อคำนวณแล้ว ค่าจ้างต่อชั่วโมงของกรรมการนั้นน้อยกว่ารายได้ของภารโรง !