เรื่อง : ธารา บัวคำศรี (tara.buakamsri@th.greenpeace.org)
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์

greenreport
คลองชลประทานหลายแห่งในเมืองไทยอยู่ในสภาพแห้งขอดแสดงถึงวิกฤตขาดแคลนน้ำที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ

มนุษย์ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการหล่อเลี้ยงชีวิต แต่เรากำลังทำให้แม่น้ำสายใหญ่เหือดแห้ง เราดึงน้ำบาดาลที่เป็นแหล่งน้ำสำรองขึ้นมาใช้ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดนี้กำลังหมดลง การคงอยู่และหายไปของน้ำมีผลสะเทือนต่ออารยธรรมมนุษย์อย่างใหญ่หลวง

แม่น้ำเหลืองของจีนที่ไหลลงผ่านที่ราบลุ่มจะมีน้ำเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเพราะถูกดึงไปใช้ในระบบชลประทานเพื่อป้อนประชากรกว่า ๕๐๐ ล้านคน

คนในชนบทของอินเดียใช้น้ำบาดาลมากเกินขีดจำกัดจนต้องเจาะบ่อบาดาลลึกลงไปอีกนับร้อยเมตรซึ่งมักปนเปื้อนด้วยสารพิษอย่างฟลูออไรด์ ในซีเรียและอิหร่าน อุโมงค์โบราณที่ดึงน้ำมาจากใต้ภูเขากำลังเหือดแห้งลง ชาวนาในปากีสถานละทิ้งทุ่งนาแห้งแล้งไว้กับแม่น้ำสินธุที่แห้งเหือด ทะเลทรายทางตอนใต้ของสเปนกำลังขยายตัว ปริมาณฝนในภาคพื้นทวีป จากตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจนถึงตอนใต้และตะวันออกของแอฟริกากำลังลดลง ยังไม่นับการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเมือง ที่ตึงเครียดขึ้นทุกขณะในประเทศไทย

แม้ธรรมชาติจะทำความสะอาดน้ำและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทุกๆ ๑๐ วันจากการระเหยและตกลงมาในรูปของฝนและหิมะ แต่เรานำน้ำจากธรรมชาติมาใช้มากกว่า ๓ เท่าของอัตราที่คนรุ่นก่อนเคยใช้ ธรรมชาติจึงไม่อาจรักษาสมดุลนี้ไว้ได้

รายงาน The Economics of Climate Change: The Stern Review (นิยมเรียกย่อๆ ว่า Stern Report) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่เป็นอิสระและเข้าถึงได้ง่ายในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย นิโคลัส สเติร์น อดีตหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษ และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ให้ภาพว่า แหล่งน้ำจืดของโลกร้อยละ ๗๐ ใช้ในการเพาะปลูกพืชในระบบชลประทาน และการผลิตอาหารเลี้ยงประชากร ร้อยละ ๒๒ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตและพลังงาน (น้ำหล่อเย็นในโรงไฟฟ้าและเขื่อนผลิตไฟฟ้า) ขณะที่ร้อยละ ๘ ใช้เพื่อบริโภค การสุขาภิบาล และนันทนาการในภาคครัวเรือนและธุรกิจ

รายงานยังระบุอีกว่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังประสบ “วิกฤตขาดแคลนน้ำ (Water Stress)” ระดับปานกลางถึงระดับสูง และมีคนราว ๑.๑ พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ ทั้งนี้วิกฤตขาดแคลนน้ำเป็นตัวชี้วัดถึงการมีอยู่ของน้ำ แต่ไม่ได้หมายถึงการเข้าถึงน้ำสะอาดเสมอไป และแม้ไม่มีปัจจัยเรื่องภาวะโลกร้อนมาเกี่ยวข้อง การเพิ่มของประชากรก็ทำให้คนนับพันล้านคนต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำจำกัด

ในช่วงศตวรรษหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ ๒ องศาเซลเซียส แม้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงอย่างมากก็ตาม สิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญมิใช่เพียงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้น แต่คืออุทกวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไป แบบจำลองสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่า พื้นที่ที่มีน้ำมากอยู่แล้วจะมีน้ำมากขึ้น ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำน้อย-ที่ซึ่งน้ำคือความเป็นความตาย-จะแห้งแล้งมากขึ้น ภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำของมนุษย์

พิบัติภัยทางน้ำยังมาจากมหาสมุทร นักธารน้ำแข็งวิทยากล่าวว่า พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกตะวันตกซึ่งมีมวลน้ำแข็งเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น ๑๓ เมตร ได้ส่งสัญญาณร้ายออกมา พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์สูญเสียมวลน้ำแข็ง ๑ ลูกบาศก์กิโลเมตรทุกๆ ๔๐ ชั่วโมง เจมส์ แฮนเซน ผู้อำนวยการสถาบันกอดดาร์ดเพื่อการศึกษาอวกาศประจำองค์การนาซา(GISS) กล่าวว่า ทันทีที่พืดน้ำแข็งเริ่มแยกตัว ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น ๑-๕ เมตร สามารถไหลเข้าท่วมคนนับร้อยล้าน ทลายปราการป้องกันน้ำท่วมของเมืองใหญ่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองนิวออร์ลีนส์ในปี ๒๕๔๘ เป็นเพียงการเริ่มต้น ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันในฤดูแห่งพายุเฮอริเคนเพียงฤดูเดียว นึกถึงน้ำท่วมในเมืองลากอส กรุงเทพฯ ซิดนีย์ หรือลอนดอน นึกถึงคนนับล้านที่ต้องอพยพในบังกลาเทศหรือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์

มนุษย์อาศัยประโยชน์จากยุคที่สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมีความสมดุล เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถวางแผนล่วงหน้า สร้างบ้านแปงเมือง และทำการเพาะปลูกตามสภาพดินฟ้าอากาศและน้ำ แต่การแทรกแซงธรรมชาติทำให้ช่วงเวลาเหล่านั้นกำลังหมดลง จากนี้ไปสภาพภูมิอากาศจะโหดร้ายทารุณ ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น ทะเลทรายขยายตัว วิกฤตขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้น แม้มนุษย์จะมีสัญชาตญาณในการปรับตัว ซึ่งทำให้เราอยู่รอดจากยุคน้ำแข็งมาได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมาบอกเราว่าสังคมทันสมัยนั้นช่างเปราะบางต่อความเกรี้ยวกราดของธรรมชาติมากกว่าที่เราคิดไว้

ไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า น้ำเป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของโลกในศตวรรษที่ ๒๑

อ้างอิง :

  • Fred Pearce. When the Rivers Run Dry: What Happens When Our Water Runs Out?.
  • Eden Project Books, 2006.
  • Nicholas Stern. The Economics of Climate Change. Cambridge University Press, 2006.
  • Sucharit Koontanakulvong. Water Situation in Thailand in the Year 2003. Faculty of Engineering, Chulalongkorn University, 2003.