http://www.fringer.org
“ทุกคนคือราชา แต่ไม่มีใครสวมมงกุฎ”
สโลแกนหาเสียงของ ฮิวอี้ ลอง จูเนียร์ (ค.ศ. ๑๙๒๘)
“ประชานิยม” เป็นคำที่มักจะแบ่งแยกคนออกเป็นสองขั้ว ขัดแย้งได้อย่างง่ายดาย ระหว่างกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมซึ่งมักเป็นผู้มีรายได้น้อยเกินกว่าจะเข้าข่ายต้องเสียภาษี กับกลุ่มผู้มีฐานะและภาคธุรกิจที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของนโยบายแต่ต้องแบกรับต้นทุนทางอ้อมผ่านการเสียภาษี
ในหลายประเทศ นักการเมืองประชานิยมจำนวนไม่น้อยจริงใจและจริงจังกับการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ยิ่งได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากเพียงใด พวกเขาดูจะยิ่งบ้าอำนาจ หัวรั้น และรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้มากเท่านั้น
ถ้าเอ่ยชื่อ ฮิวอี้ ลอง จูเนียร์ (Huey Long Jr., ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๓๕) คนส่วนใหญ่คงส่ายหน้าไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ All the King’s Men คอหนังหลายคนคงนึกถึงผู้ชนะรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี ๑๙๔๙ ด้วยความอิ่มใจ และนักอ่านอีกหลายคนก็คงนึกภาพ วิลลี สตาร์ก (Willie Stark) ตัวเอกในหนังสือเรื่องเดียวกันของ โรเบิร์ต เพนน์ วอร์เรน (Robert Penn Warren) ที่ไปโลดแล่นบนจอเงิน
ฮิวอี้ ลอง คงไม่ใช่นักการเมืองประชานิยมคนแรกในโลก แต่เขาเป็นคนแรกๆ ที่ยังอยู่ในใจคนรุ่นหลังนานหลายสิบปีหลังจากล่วงลับไปแล้ว จวบจนปัจจุบันก็ยังมีนักการเมืองหลายคนที่พยายามเจริญรอยตามเขา และเรื่องราวของเขาก็เป็นหัวข้อสนทนายอดฮิตในมลรัฐลุยเซียนาบ้านเกิด
หลังจากที่ใช้เวลา ๑๐ ปีทำงานเป็นทนายว่าความให้คนเล็กคนน้อยที่ถูกบริษัทเอาเปรียบ โดยเฉพาะลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และหลังจากที่แพ้การเลือกตั้งในปี ๑๙๒๔ ลองก็ชนะการเลือกตั้งในปี ๑๙๒๘ ได้เป็นผู้ว่าการมลรัฐลุยเซียนาด้วยคะแนนเสียงที่ทิ้งห่างคู่แข่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐ เพียงปีเดียวก่อนที่อเมริกาจะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อันมีชื่อเฉพาะว่า Great Depression
ช่วงเวลาเพียง ๔ ปีในฐานะผู้ว่าการรัฐลุยเซียนา ลองฝากผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ช่วยให้ประชาชนหลายพันคนมีงานทำระหว่างภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง อาทิ การตัดถนนลาดยางทั้งทางหลวงและในท้องถิ่นกว่า ๙,๐๐๐ กิโลเมตร นับเป็นการขยายขนาดระบบทางหลวงในมลรัฐกว่า ๒ เท่า สร้างสะพานข้ามแม่น้ำมิสซิสซิปปีตอนล่างแห่งแรก (ไม่มีใครแปลกใจที่ลองใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อสะพาน) ใกล้กับเมืองนิวออร์ลีนส์ และสร้างอาคารรัฐสภาประจำมลรัฐ อาคารที่สูงที่สุดในภาคใต้สมัยนั้น
แม้ว่าลองจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายสวัสดิการแบบ “จ่ายตรง” อาทิเงินประกันการว่างงานหรือเบี้ยยังชีพ (โครงการลักษณะนี้ในลุยเซียนาในสมัยของเขามีแต่ที่ต้องทำตามคำสั่งรัฐบาลกลางเท่านั้น) เขาก็ดำเนินนโยบายจำนวนมากที่ผู้มีรายได้น้อยได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการแจกตำราเรียนฟรี รถโรงเรียนฟรี ลดค่าเล่าเรียน ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรัฐประจำลุยเซียนา และจัดตั้งโรงเรียนภาคค่ำที่ทำให้ผู้ใหญ่ไม่รู้หนังสือกว่า ๑ แสนคนได้มีโอกาสอ่านออกเขียนได้ เพิ่มเงินงบประมาณให้แก่ระบบโรงพยาบาลรัฐกว่า ๒ เท่า ปฏิรูปและเพิ่มงบประมาณให้แก่สถาบันจิตเวช ลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สร้างเครือข่ายท่อก๊าซธรรมชาติทั่วทั้งมลรัฐ ไม่นับโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่มีส่วนสำคัญในการลดปัญหาความยากจนซึ่งย่อมพุ่งสูงในภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งปัญหาสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นอาชญากรรมและเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา
โครงการที่ทำให้ลองได้รับการขนานนามว่าเป็นนักการเมืองประชานิยมและทำให้ผู้มีฐานะส่วนใหญ่ไม่พอใจ คือโครงการกระจายความมั่งคั่งที่เขาตั้งชื่อว่า “Share Our Wealth” (แบ่งปันความมั่งคั่ง) ก่อตั้งปี ๑๙๓๔ สาระสำคัญของโครงการนี้ได้แก่
๑. รัฐบาลจะเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อจะได้ไม่มีใครสะสมความมั่งคั่งส่วนตัวได้เกิน ๑๐๐-๓๐๐ เท่าของขนาดสินทรัพย์ครอบครัวเฉลี่ยในมลรัฐ กล่าวคือ สินทรัพย์มูลค่า ๑ ล้านเหรียญแรกไม่ต้องเสียภาษี ล้านที่ ๒ เสียร้อยละ ๑ ล้านที่ ๓ เสียร้อยละ ๒ ล้านที่ ๔ ร้อยละ ๔ ไปเรื่อยๆ จนถึงล้านที่ ๘ ซึ่งจะต้องเสียภาษีร้อยละ ๖๔ ใครที่มีความมั่งคั่งมากกว่า ๘ ล้านเหรียญจะต้องเสียภาษีร้อยละ ๑๐๐ นอกจากนี้ลองยังเสนอว่าจะเก็บภาษีรายได้ร้อยละ ๑๐๐ สำหรับคนที่มีรายได้เกิน ๑ ล้านเหรียญต่อไป ทั้งหมดนี้หมายความว่าความมั่งคั่งส่วนบุคคลจะถูกจำกัดให้อยู่ระหว่าง ๑.๕-๕ ล้านเหรียญสหรัฐ (เท่ากับประมาณ ๑๙.๕-๖๕ ล้านเหรียญในปัจจุบัน)
๒. รัฐจะจ่าย “เบี้ยบำรุงครัวเรือน” ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๓ ของความมั่งคั่งครัวเรือนเฉลี่ยทั่วประเทศ หรือ ๕,๐๐๐ เหรียญ ให้แก่ทุกครอบครัว จ่าย “เงินประกันรายได้” ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ เหรียญต่อครอบครัวต่อปี และประชากรผู้สูงอายุทุกคน (๖๐ ปีขึ้นไป) จะได้รับเบี้ยชราภาพ
๓. รัฐบาลลุยเซียนาจะสต็อกผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินเพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนอาหาร
ถึงแม้ว่าข้อเสนอโครงการ Share Our Wealth จะได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากประชาชน มันก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอในวุฒิสภาจนตกไป ด้วยความโกรธ ลองหันไปก่อตั้งเครือข่ายท้องถิ่นทั่วประเทศภายใต้ชื่อ Share Our Wealth Society ซึ่งเติบโตจนมีสมาชิกกว่า ๗.๕ ล้านคนทั่วประเทศในปี ๑๙๓๕ มีชมรมลูกข่าย ๒๗,๐๐๐ องค์กร
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเชื่อว่า ถ้าวุฒิสภาลุยเซียนายอมผ่านกฎหมาย Share Our Wealth และรัฐบาลกลางนำไปขยายผลทั่วประเทศ โครงการนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผล เพราะจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีกำลังซื้อ ช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวและเริ่มเกิดการจ้างงานอีกครั้ง
นโยบายของลองประกอบกับนิสัยพูดจริงทำจริงและวาทะดุเด็ดเผ็ดร้อนเวลาโจมตีคนรวยและบริษัทที่เขามองว่าร่ำรวยเกินไป ทำให้เขาเป็นที่รักของประชาชนและโด่งดังระดับชาติอย่างรวดเร็ว นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าแรงกดดันของลองและชื่อเสียงของเขา โดยเฉพาะผ่าน Share Our Wealth Society มีส่วนทำให้ประธานาธิบดีรูสเวลต์ย้ายค่ายทางอุดมการณ์ไปทาง “ซ้าย” มากขึ้น ในปี ๑๙๓๕ เมื่อรัฐบาลกลางออกชุดกฎหมายในโครงการ “New Deal” รอบที่ ๒ ซึ่งมีกฎหมายประกันสังคมอยู่ในนั้นด้วย รูสเวลต์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมากับคนใกล้ตัวว่า เขาพยายามแย่งความนิยมของประชาชนมาจากลอง
ไม่ว่าใครจะประเมินนโยบายประชานิยมของลองว่าก่อประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน (ประเด็นนี้นักเศรษฐศาสตร์เองก็ยังเถียงกันไม่จบ) ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าลองไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชังในการช่วยคนจน เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองผิวขาวไม่กี่คนที่ “ได้ใจ” ประชาชนทุกสีผิว ในยุคที่คนผิวดำยังถูกเหยียดผิวอย่างโจ่งแจ้งและถูกกฎหมายในอเมริกา ลองเคยกล่าววาทะน่าจำว่า “คนผิวดำที่ยากจนก็ต้องอยู่รอดเหมือนกัน”
แต่แล้ว ณ จุดที่คะแนนนิยมของลองพุ่งขึ้นถึงขีดสุดเขาก็ถูกยิงหน้าอาคารรัฐสภาลุยเซียนาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ค.ศ.๑๙๓๕ สิ้นใจในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใน ๒ วันต่อมาด้วยวัยเพียง ๔๒ ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าลองตายด้วยฝีมือของคนร้าย หรือถูกลูกหลงจากลูกกระสุนของบอดีการ์ดตัวเองที่เชื่อว่านายกำลังจะถูกลอบสังหาร
คำพูดสุดท้ายของลองคือ “พระผู้เป็นเจ้า กรุณาอย่าเพิ่งให้ผมตาย ผมยังมีเรื่องต้องทำอีกมากเหลือเกิน”
ข่าวการไว้อาลัยในการจากไปของ ฮิวอี้ ลอง จูเนียร์
ภาพจากภาพยนตร์ All The King’s Men(๑๙๔๙)
ความตายของลองนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ชาวลุยเซียนาและประชาชนรัฐอื่นอีกหลายล้านคน แต่นำความลิงโลดหรือโล่งใจมาสู่เศรษฐีและบริษัทจำนวนไม่น้อยในลุยเซียนาที่ตกเป็นเป้าการโจมตีของเขาตลอดมา และผู้สังเกตการณ์อีกจำนวนไม่น้อยที่มองว่าลองไม่ใช่นักบุญอย่างที่ประชาชนหลงเชื่อ เป็นเพียงเผด็จการในคราบประชาธิปไตยที่มอมเมาประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมตลอดชีวิตของเขา ผ่านมรสุมทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชันและติดสินบนสมาชิกวุฒิสภา รวบอำนาจการเมืองในมือตัวเองและพวกพ้อง สร้าง “เครือข่ายระบบอุปถัมภ์” สไตล์มาเฟีย ข่มขู่นักการเมืองและสื่อมวลชนที่ไม่เห็นด้วย ทำให้กลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล และคานอำนาจรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยพิกลพิการใช้การไม่ได้ ยังไม่นับข้อกล่าวหาว่าเขาเบียดบังทรัพยากรรัฐ ปล่อยกู้ผิดกฎหมาย และล้ำเส้นแบ่งอำนาจระหว่างสภาระดับมลรัฐกับสภาระดับชาติ
เมื่อลองพยายามหารายได้เข้าคลังเพิ่มด้วยการเสนอกฎหมายขึ้นภาษีอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเขามองว่าผูกขาดและค้ากำไรเกินควรมาตั้งแต่สมัยเป็นทนาย วุฒิสภาตีกฎหมายนี้ตกไป และสมาชิกวุฒิสภาหลายคนก็เริ่มรวบรวมข้อมูลหลักฐานคอร์รัปชันเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม ผลการลงคะแนนเสียงปรากฏว่าขาดไปเพียง ๒ เสียงเท่านั้นที่จะเป็นมติถอดถอน ท่ามกลางเสียงกล่าวหาว่าลองติดสินบนสมาชิกวุฒิสภาบางคนเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตามต้องการ
ไม่ว่าลองจะถูกโจมตีและต่อต้านเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดแคลนในตัวเขาคือความรักจากผู้มีรายได้น้อยในลุยเซียนา ถึงแม้ว่าข้อมูลหลักฐานชัดเจนจะฟ้องว่าลองแทรกแซงกลไกรัฐและพยายามรวบอำนาจจริง คนจำนวนมากก็มองว่าเขาไม่ได้ทำอะไรผิด และข้อหาเรื่องคอร์รัปชันก็เป็นเพียงการหาเรื่องกลั่นแกล้งโดยบริษัทใหญ่ที่เสียประโยชน์นอกจากเขาจะอยู่ในใจประชาชนเพราะมีผลงานที่เป็นรูปธรรมมากมาย ลองยังเป็นที่กล่าวขวัญในแง่ของการเป็นนักการเมืองแบบศรีธนญไชยผู้แพรวพราวด้วยเล่ห์เหลี่ยมและความคิดสร้างสรรค์ เก่งในการหาและใช้ช่องโหว่ของกฎหมายให้เป็นประโยชน์ เช่นเขาจงใจสั่งสร้างสะพานให้สูงไม่เกินระดับที่เรือไอน้ำจะแล่นผ่านไปได้ เพื่อบังคับให้เรือหยุดขนถ่ายสินค้าที่เมืองนิวออร์ลีนส์และบาตองรูจ เป็นการหารายได้เข้ารัฐทางอ้อม
อีกกรณีหนึ่งสภาไม่อนุมัติโครงการสร้างสนามฟุตบอลอเมริกันในมหาวิทยาลัยรัฐประจำลุยเซียนาของเขา เพราะมองว่าเป็นการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไม่ใช่อาคารที่จำเป็นอย่างหอพักนักศึกษา ลองก็เลยเสนอโครงการเข้าไปใหม่ คราวนี้เป็นโครงการสร้างหอพักรูปเกือกม้า มีสนามฟุตบอลอยู่ตรงกลาง ในที่สุดสภาจำใจต้องอนุมัติเงินให้
ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ นักการเมือง และคนจำนวนมาก วิลลี สตาร์ก ตัวเอกในหนังสือและภาพยนตร์เรื่อง All the King’s Men เป็นภาพสะท้อนความย้อนแย้งและขัดแย้งของลองได้อย่างดีเยี่ยม (โรเบิร์ต วอร์เรน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ปฏิเสธว่าได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากลอง แต่ปฏิเสธว่าเขาเป็น “สาวก” ของลองที่จงใจแต่งหนังสือเล่มนี้เป็นบทสดุดีและแก้ตัวแทน) ในหนังสือและภาพยนตร์
สตาร์กเปลี่ยนแปลงอย่างไม่น่าเชื่อ จากทนายเรียบร้อยผู้ยึดมั่นในอุดมคติเป็นผู้ว่าการรัฐผู้ทรงอิทธิพลและเปี่ยมวาทศิลป์ที่มัดใจคน แต่ยิ่งมีอำนาจ สตาร์กก็ยิ่งคอร์รัปชันและสร้างอาณาจักรทางการเมืองที่ตั้งอยู่บนเครือข่ายอุปถัมภ์และการข่มขู่แบบมาเฟีย ทำให้เขามีศัตรูที่เกลียดเขาเข้าไส้มากมาย ขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมหาศาลก็รักเขาอย่างหมดจิตหมดใจเช่นกัน
สตาร์กตัวละครจบชีวิตด้วยการถูกลอบสังหารเช่นเดียวกับ ฮิวอี้ ลอง นักการเมือง (ไม่) สำคัญผู้เต็มไปด้วยความย้อนแย้งและขัดแย้ง คนแบบเขาถ้าคนไม่รักมากก็มักจะเกลียดมาก และด้วยเหตุนั้น จุดจบของนักการเมืองแบบนี้จึงมักไม่สง่างามหรือราบรื่นเหมือนบรรดา “รัฐบุรุษ” ทั้งหลายที่มักห่วงภาพลักษณ์ “คนดี” ของตัวเองจนไม่กล้าทำอะไรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เช่นทำให้กลุ่มผลประโยชน์ผู้มีอิทธิพลไม่พอใจ ซึ่งก็แปลว่าพวกเขาแทบไม่เคยทำอะไรที่สำคัญจริงๆ เลย
ผ่านไปหลายทศวรรษ เรื่องราวของ ฮิวอี้ ลอง ยังมีแง่มุมให้ขบคิดไม่รู้จบเกี่ยวกับแรงตึงเครียดและจุดตัดระหว่างคะแนนนิยม ความชอบธรรม และกลไกถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตย และทำให้ผู้เขียนนึกถึงวาทะของ เดวิด บริน (David Brin) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ว่า “คนมักจะกล่าวว่าอำนาจทำให้คนทุจริต แต่สิ่งที่จริงยิ่งกว่าคือ อำนาจดึงดูดคนที่มีแนวโน้มว่าจะทุจริต”