ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
หลังถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม คนงานกลุ่มหนึ่งร่วมมือร่วมใจกันผลิตชุดชั้นใน “ไทรอาร์ม” เป็นแบรนด์ใหม่ของตัวเอง
ผู้ถูกเลิกจ้างเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงมีทั้งที่กำลังตั้งครรภ์เจ็บป่วยหรือพิการ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า ๑๐-๒๐ ปี
ห้องแถวสีฟ้าอ่อนขนาด ๔x๑๒.๕ เมตร ในซอยสุขุมวิท ๑๑๕ ย่านสำโรง ได้รับการดัดแปลงเป็นโรงงานเย็บผ้าขนาดย่อม ภายในบรรจุจักรเย็บผ้า ๔๗ หลัง มีพนักงานหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกัน ๕๖ ชีวิต แม้ขนาดพื้นที่และปริมาณเครื่องจักรจะไม่อาจเทียบได้กับโรงงานของบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ แต่วันนี้ อดีตแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกว่า ๕๐ ชีวิตกำลังสร้างผลสะเทือนต่อวงการอุตสาหกรรมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ย้อนกลับไปปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อันเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph) วาเลนเซีย(Valinsere) สล็อกกี้ (Sloggi) อาโม (AMO) และออม (HOM) ฯลฯ ได้เลิกจ้างคนงานจำนวน ๑,๙๕๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๐ ของคนงานทั้งหมดในโรงงานย่านบางพลี สมุทรปราการ ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มีทั้งที่กำลังตั้งครรภ์ เจ็บป่วยหรือพิการ ตลอดจนคนงานที่ทำงานมายาวนาน ๒๐-๓๐ ปี มีผลให้ทั้งหมดพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัทฯ ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯ ให้เหตุผลว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและ ยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง”
แต่ในมุมมองของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย พวกเขาเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ยังมีสาเหตุมาจากความต้องการทำลายสหภาพ แรงงานฯ ของฝ่ายบริหาร เนื่องจากคนงานที่ถูกเลิกจ้างเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกสหภาพฯ และมีกรรมการสหภาพฯ ถึง ๑๓ คนจากทั้งหมด ๑๘ คน พร้อมกับการย้ายฐานการผลิตไปหาแหล่งค่าแรงราคาถูกในรูปแบบการจ้างงานแบบเหมา ช่วง (Subcontractor) โดยนายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการ อันเป็นแนวโน้มในการลดต้นทุนการผลิตในอนาคต
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทยมีอายุยาวนานถึง ๓๐ ปี (ก่อตั้งในปี ๒๕๒๓) มีชื่อเสียงด้านการรวมกลุ่มเข้มแข็งในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนงาน ยกตัวอย่างในปี ๒๕๒๔ สหภาพฯ ได้รวมตัวยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างชาวเยอรมันหยุดแสดงกิริยาเหยียดหยามคน งานไทย เรียกร้องให้บริษัทฯ ปรับปรุงระบบการจัดรถรับส่งพนักงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบบความปลอดภัยในโรงงาน และชุดเครื่องแบบยูนิฟอร์มที่ไม่มีคุณภาพ เป็นต้น
เมื่อถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม การชุมนุมของสหภาพฯ จึงอุบัติขึ้น และดำเนินมาอย่างยาวนาน ๘ เดือน โดยชุมนุมที่หน้าโรงงานย่านบางพลีเป็นเวลา ๔ เดือน และอีก ๔ เดือนที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
แม้ข้อเรียกร้องให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานจำนวน ๑,๙๕๙ คน และให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปรกติอีกครั้งจะไม่ได้รับการตอบสนอง หากแต่ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ หรือเพียง ๒ วันภายหลังย้ายการชุมนุมจากหน้าโรงงานมายังใต้ถุนกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ สังคม สายพานการผลิตชุดชั้นในยี่ห้อน้องใหม่ในนาม “ไทรอาร์ม” (Try Arm) ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ ยังคงจดจำได้ดีตลอดช่วงระยะเวลา ๔ เดือนที่ใช้ชีวิตกิน-นอน-ทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอยู่ใต้ถุนตึก กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
“เดินขบวนก็แล้ว ออกแถลงการณ์ก็แล้ว ผู้มีอำนาจก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องออกมาชุมนุม คนงานต้องการอะไร สิ่งที่เราอยากบอกคือเราเป็นคนงานที่มีฝีมือนะ มาเลิกจ้างเราทำไม เราสามารถทำงานให้บริษัทได้ แล้วทำไมก่อนหน้านี้บริษัทถึงไม่ใช้โอกาสในการหารือกับสหภาพแรงงานล่วงหน้า เพื่อให้คนงานได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างน้อยที่สุด
“ภายหลังตัดสินใจย้ายฐานการชุมนุมมายังกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม พวกเราจึงมานั่งระดมความคิดกันว่าจะใช้แนวทางใดเป็นการต่อสู้รูปแบบใหม่ที่ ไม่ต้องอาศัยการเดินขบวนบนท้องถนน โดยที่ยังคงสื่อสารเรื่องราวของเราให้ประชาชนรับรู้ได้ ด้วยความมั่นใจว่าพวกเราต่างก็เป็นแรงงานมีฝีมือ มีประสบการณ์การทำงานตัดเย็บมาไม่น้อยกว่า ๑๐-๒๐ ปี อีกทั้งยังมาจากหลากหลายแผนก จึงลงความเห็นกันว่าน่าจะลองตัดเย็บกางเกงชั้นในจำหน่ายเอง”
กางเกงชั้นในที่พวกเธอร่วมแรงร่วมใจกันผลิต
ขึ้นมามีชื่อยี่ห้อว่า “ไทรอาร์ม” (Try Arm) มีโลโกเป็นรูปกำปั้น
คำว่า ไทรอาร์ม นอกจากสื่อความหมายถึงความพยายามจากสองมือสองแขนแล้ว ยังพ้องกับคำว่า ไทรอัมพ์ (Triumph) อันเป็นชื่อสินค้ายี่ห้อเก่าที่พวกเขาเคยทำงานให้ ส่วนโลโกรูปกำปั้นเป็นสัญลักษณ์แทนการต่อสู้และการเรียกร้องความเป็นธรรม
“เราเริ่มต้นด้วยกางเกงชั้นในไทรอาร์มรุ่น ๑๙๕๙ ราคาเพียง ๓๙ บาท ตัวเลขรุ่นมาจากจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง คิดราคาตามต้นทุนจริง ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากที่เคยเดินขบวนแล้วถูกออกหมายจับ ถูกผู้ใช้รถใช้ถนนต่อว่าต่อขาน มาวันนี้มีลูกค้าบอกว่าที่ผ่านมาเขาอยากสนับสนุนการต่อสู้ของเรานะ แต่ว่ามองไม่เห็นช่องทาง การซื้อสินค้าก็น่าจะเป็นการสนับสนุนพวกเราได้ช่องทางหนึ่ง”
บรรยากาศการทำงานภายใน “บ้าน” หลังใหม่กลางซอยสุขุมวิท ๑๑๕ ย่านสำโรง
จากจักรเย็บผ้าที่สมาชิกขนกันมาจากบ้านจำนวน ๕ หลัง เพิ่มขึ้นเป็น ๙ หลังในเวลาต่อมา แม้จะแตกต่างอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้กับปริมาณจักรนับพันหลังในโรงงานตัด เย็บเสื้อผ้าข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่พวกเขาเคยทำงาน แต่การต่อสู้ด้วยฝีมือและจักรเย็บผ้าก็ยังคงดำเนินต่อไป ควบคู่กับการรณรงค์เรียกร้องสิทธิของคนงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ยื่นหนังสือต่อกระทรวงเศรษฐกิจของประเทศสวิต-เซอร์แลนด์ให้พิจารณาคำร้องว่า บริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งจดทะเบียนที่สวิตเซอร์แลนด์ มิได้ปฏิบัติตามหลักสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ในการเลิกจ้างงาน เป็นต้น
ในส่วนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กางเกงชั้นในไทรอาร์มก็ได้รับการตอบรับ อย่างดีเสมอมา ทั้งจากบุคลากรภายในกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ประชาชนที่รับทราบเรื่องราวผ่านการประชา-สัมพันธ์ของสื่อสารมวลชน ตลอดจนหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของต่างประเทศที่ติดต่อสั่งซื้อสินค้าผ่าน ทางระบบอินเทอร์เน็ต
จวบจนกระทั่งวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ หลังจากปักหลักชุมนุมมายาวนาน อดีตคนงานที่ถูกเลิกจ้างจึงร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้บริหาร กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ยอมรับจักรเย็บผ้าจำนวน ๒๕๐ หลัง (จากที่เรียกร้องทั้งหมดจำนวน ๕๖๐ หลัง) เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพ และยุติการชุมนุมในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จิตรากล่าวว่า “ตลอดการชุมนุมยาวนานถึง ๘ เดือน พวกเราเจอทั้งรอยยิ้มและน้ำตา จากที่ในช่วงแรกมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับพันคน เมื่อเวลาผ่านไป ข้อเรียกร้องที่ไม่เคยได้รับการตอบสนองไม่ว่าจากรัฐบาลหรือเจ้าของบริษัทก็ ทำให้หลายคนถอดใจ แยกย้ายกลับภูมิลำเนาของตนเอง“
๙ มีนาคม ๒๕๕๓ จักรเย็บผ้าในห้องแถวสีฟ้าอ่อนในซอยสุขุมวิท ๑๑๕ ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ประกอบการแห่งใหม่ของชุดชั้นในไทรอาร์ม ก็ได้เริ่มเดินสายพานการผลิตอีกครั้ง
ละมัย วงษ์ละคร วัย ๔๑ ปี อายุงานจากบริษัทเดิม ๑๗ ปี อธิบายขั้นตอนการทำงานภายในสถานที่ทำงานแห่งใหม่ให้ฟังว่า “เราเริ่มต้นด้วยการเลือกซื้อผ้าปลายไม้จากร้านค้าที่เหมาซื้อผ้ามาจากโรง งานผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง ผ้าปลายไม้เหล่านี้เป็นผ้าที่โรงงานเย็บผ้าขนาดใหญ่ไม่ใช้แล้ว แต่เรายังสามารถเอามาตัดกางเกงในได้เป็นร้อยตัว นับเป็นผ้าคุณภาพดีที่มีราคาย่อมเยา จากนั้นก็เอาผ้ามาตัดออกเป็นชิ้นตามแม่พิมพ์กางเกงในแต่ละสไตล์ที่ออกแบบ ไว้ ในขั้นนี้ถ้าเป็นโรงงานใหญ่เขาใช้เครื่องจักรแบนด์ไนฟ์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตัดผ้าตามแม่พิมพ์ที่มีความละเอียดได้คราวละสิบ ๆ ผืน แต่เราต้องใช้กรรไกรตัด ได้คราวละ ๔ ผืนเท่านั้น จากนั้นก็ส่งผ้า ซับใน ด้าย พร้อมยางยืดหรือผ้ากุ๊นตามแต่สไตล์ให้พนักงานเย็บ
“เมื่อวัตถุดิบถึงมือพนักงานเย็บ กระบวนการเย็บเริ่มต้นจากการเย็บเข้าเป้าด้วยจักรโพ้ง เนาเป้าด้วยจักรเข็มเดี่ยว เข้ายางขอบเอวและขอบขาด้วยจักรโพ้ง โล้มยางด้วยจักรยูดี หรือหากเป็นสไตล์ที่ใช้ผ้ากุ๊นแทนยางก็เปลี่ยนเป็นการใช้จักรซิกแซ็ก ถัดจากนั้นจึงเย็บเก็บปลายด้ายด้วยจักรเข็มเดี่ยว กระบวนการเย็บโดยสังเขปจะเป็นไปตามนี้ แทบไม่แตกต่างไปจากกระบวนการในบริษัทเดิม เพียงแต่สายงานการผลิตเราลดขนาดลง เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงส่งต่อกางเกงชั้นในให้พนักงานตรวจสอบคุณภาพ ตรวจดูการเย็บตะเข็บ สรีระ ทดสอบความทนทานด้วยการออกแรงกระชาก หากไม่มีปัญหาก็บรรจุใส่ซอง รอการจัดจำหน่ายต่อไป”
ในรอบวัน โรงงานหลังน้อยแห่งนี้มีกำลังการผลิตกางเกงชั้นในราว ๒๐๐-๒๕๐ ตัว แบ่งออกเป็น ๗ สไตล์ ได้แก่ เต็มตัวขาเว้า-ขาสั้น ครึ่งตัวขาเว้า-ขาสั้น บิกินีขาเว้า-ขาสั้น และสไตล์ล่าสุดที่ถูกออกแบบให้มีเอวต่ำลงไปจากบิกินีอีกราว ๑ เซนติเมตร ขณะที่การผลิตเสื้อยกทรงและชุดว่ายน้ำยังเป็นเพียงโครงการในอนาคต เนื่องจากประสบปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพของจักรเย็บผ้า ปัจจุบันกางเกงชั้นในไทรอาร์มมีราคาตัวละ ๕๙ บาท และ ๖๙ บาทตามแต่ละสไตล์ คิดเป็นราคาต้นทุนผ้า (ต่อตัว) ราว ๑๘ บาท ค่าลูกไม้ ๒ บาท ค่ายางยืด ๑๐ บาท ส่วนต่างที่เหลือจะถูกนำไปแปลงเป็นค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำค่าไฟ เงินกองกลาง และค่าแรงของแต่ละคน
ด้วยสนนราคานี้ นอกจากจะทำให้ผู้ผลิตมีรายได้จากการลงแรงทำงานที่ตนเองรักและมีความชำนาญ แล้ว หากนำไปเปรียบเทียบกับราคาสินค้าคุณภาพทัดเทียมกันซึ่งวางจำหน่ายอยู่ตาม ห้างสรรพสินค้า-ติดตราโลโกยี่ห้อดัง ยังนับว่ามีราคาถูกกว่ามาก
อนาคตของชุดชั้นในไทรอาร์มกับชีวิตคนงานหลังถูกบรรษัทยักษ์ใหญ่เลิกจ้าง ทั้งเขาและเธอต่างเป็นผู้ลิขิตเอง
หมายเหตุ : อุดหนุนสินค้า “ไทรอาร์ม” ได้ที่ www.tryarm.blogspot.com โทร. ๐๘-๗๐๒๐-๖๖๗๒, ๐๘-๙๐๓๕-๖๕๖๔
ตีพิมพ์ใน : นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๐๔ มิถุนายน ๒๕๕๓