ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
อีเมล :
buncha2509@gmail.com
เว็บไซต์ : http://portal.in.th/buncha

โพลิแมท มนุษย์ผู้รอบรู้ & เก่งสารพัด
บัลดัสซาเร กัสตีกลีโอเน ภาพโดย ราฟาเอล(Raphael)
กับหนังสือ The Book of The Courtier ฉบับพิมพ์ ค.ศ.๑๕๒๘

ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) มีค่านิยมเชิงอุดมคติว่า มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบจะต้องได้รับการศึกษาในหลายมิติ ทำให้มีความรู้ความสามารถรอบด้าน เช่น พูดได้หลายภาษา วาดภาพสวย ประพันธ์กวีนิพนธ์เก่ง เล่นดนตรีเป็น  อีกทั้งร่างกายและจิตใจก็ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

คนที่มีความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางเช่นนี้ ต่อมาจึงเรียกว่า Renaissance man แปลตรงตัวคือ มนุษย์สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา  หรือจะเรียกตามอาจารย์ไมเคิล ไรท ว่า ปัญญาชนสมบูรณ์แบบ ก็ชัดเจนดี

ภาษาละตินมีคำเรียกปัญญาชนสมบูรณ์แบบว่า Homo universalis  ส่วนภาษาอิตาลีตรงกับคำว่า Uomo Universale  สำหรับสตรีที่เป็นปัญญาชนสมบูรณ์แบบก็มีคำภาษาอังกฤษระบุชัดเลยว่าเป็น Renaissance woman

ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยานี้ยังปรากฏหนังสือชื่อ Il Cortegiano หรือ The Book of the Courtier (หนังสือสำหรับข้าราชสำนัก)  เขียนโดย บัลดัสซาเร กัสตีกลีโอเน (Baldassare Castiglione) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๕๒๘ หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาตนเองให้เป็นข้าราชสำนักที่ดี เช่น ต้องใจเย็น มีวาจาอันไพเราะ มีกิริยาท่าทางและการวางตัวที่เหมาะสม มีความรู้เยี่ยมยอดเกี่ยวกับมนุษยชาติ วรรณกรรมของกรีกและโรมัน สามารถวาดภาพและระบายสีได้  แต่ในขณะเดียวกัน จิตใจต้องห้าวหาญเยี่ยงนักรบ และร่างกายแข็งแรงเหมือนเหล่านักกีฬา

ประวัติศาสตร์โลกได้บันทึกไว้ว่า มนุษย์สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาได้เกิดขึ้นในสังคมและวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นระยะเสมอมา โดยบุคคลเหล่านี้มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ (scholar) บ้าง เป็นอัจฉริยะบุคคล (genius) บ้าง แต่คำที่มีความหมายบ่งถึงผู้ที่มีความรอบรู้และทักษะอันกว้างขวางที่ตรงจุด ที่สุดได้แก่ โพลิแมท (polymath) และ โพลิฮิสเทอร์ (polyhistor)

คำว่า polymath มาจาก ภาษากรีก คือ poly (หลากหลาย) + math หรือ manthanein (เรียนรู้) ส่วนคำว่า polyhistor มาจาก poly+histor (ได้เรียนรู้)

โดยรากศัพท์แล้วอาจถือว่า polymath และ polyhistor มีความหมายเหมือนกันและใช้แทนกันได้ แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนว่าเจ้าของภาษาจะนิยมใช้คำว่า polymath มากกว่า  ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับการที่พจนานุกรมหลายเล่ม เช่น Oxford Advanced Learner’s Dictionary, Cambridge Advanced  Learner’s Dictionary และ Macmillan English Dictionary for Advanced Learners (International Student Edition) เลือกเก็บเฉพาะคำว่า polymath แต่กลับไม่มีคำว่า polyhistor

ก่อนที่จะลงลึกไปในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของโพลิแมท ขอกล่าวถึงคำและวลีอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งที่มีความหมายคาบเกี่ยวกับประเด็นที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่ ดังนี้

(๑) หากใครสักคนดูเหมือนจะสนใจหลายเรื่อง แต่เอาเข้าจริงแล้วเขาหรือเธอกลับศึกษาเพียงผิวเผิน ไม่ได้ใส่ใจจริงจัง  ฝรั่งก็มีคำเรียก (เชิงดูแคลน) ว่าdilettante (ดิลลิตังตี)  คำนี้มาจากภาษาอิตาลี หมายถึง ผู้รักในงานศิลปะ

(๒) ในปัจจุบันมีการพูดถึง ผู้รู้รอบ (generalist) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (specialist)  ทั้งสองคำนี้มักใช้ในบริบทเกี่ยวกับการบริหารองค์กร  ผู้รู้รอบเป็นคนที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องราวต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จึงเหมาะกับหน้าที่ในการระบุปัญหาหรือเป้าหมายขององค์กร  ส่วนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (อาจเรียกว่า ผู้ชำนาญการ) เป็นคนที่มีความรู้ในเชิงลึกในเรื่องหนึ่ง ๆ ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่ได้รับการระบุอย่างมีประสิทธิภาพ
(๓) มีสำนวนภาษาที่เรียกว่า ภาพพจน์ (figure of speech) หนึ่งคือ “Jack of all trades, master of none, though ofttimes better than master of one” ซึ่งหมายถึง คนที่ทำได้หลายอย่าง แม้ว่าจะไม่เก่งจริงสักอย่าง แต่บางครั้งก็ดีกว่ามีแค่คนเดียวที่เก่งเพียงอย่างเดียว  วลีนี้ฟังแล้วมีความหมายเชิงบวกอยู่บ้าง

อย่างไรก็ดี หากพูดเพียงแค่ว่า “Jack of all trades, master of none” ก็จะกลับมีความหมายในเชิงปรามาสทันที นั่นคือ คนคนนี้ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่เก่งจริงสักอย่าง (เก่งเหมือนเป็ดนั่นเอง)  หากพูดสั้น ๆ แค่ “Jack of all trades” ความหมายจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง เพราะหมายถึง คนที่สามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์

ย้อนกลับมาที่เรื่องโพลิแมทกันต่อ อาจมีคำถามว่าโพลิแมทจำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะด้วยหรือไม่ ?

คำตอบคือ ไม่จำเป็น  กล่าวคือ คนบางคนอาจจะมีความสามารถหลากหลาย เช่น ภาษาดี ดนตรีเก่ง คณิตศาสตร์ก็แจ๋ว แต่ว่าความสามารถแต่ละอย่างนั้นยังไม่โดดเด่นสุด ๆ จนถึงขั้นอัจฉริยะอย่างแท้จริง (น่าสนใจว่าสังคมไทยมักจะเหมารวมยกย่องคนที่เก่งรอบตัวเช่นนี้ โดยบอกว่า “เป็นอัจฉริยะ” หรือ “มีอัจฉริยภาพ” โดยไม่ตรวจสอบระดับความเก่งว่าถึงขั้นอัจฉริยะอย่างแท้จริงหรือไม่)

ในทางกลับกัน อัจฉริยะก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโพลิแมท  ตัวอย่างเช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และ มารี กูรี (Marie Curie) นั้นเป็นอัจฉริยะในทางวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งไอน์สไตน์และ มารี กูรี ไม่ได้แสดงความสามารถโดดเด่นอย่างรอบด้าน จึงไม่นับว่าเป็นโพลิแมท

polymath02

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์(ซ้าย) เป็นอัจฉริยะแต่ไม่ถือว่าเป็นโพลิแมท
เลโอนาร์โด ดาวินชี(ขวา) เป็นทั้งอัจฉริยะและโพลิแมท

polymath03อะทานาซิอุส เคียร์เชอร์ จาก Mundus Subterraneus(๑๖๖๔)
และผลงานของเขา ภาษาคอปติก จาก
Prodromus coptus sive aegyptiacus

polymath04ตัวอย่างผลงานของ อะทานาซิอุส เคียร์เชอร์ แบบจำลองไฟภายในโลก
และ หูของคนเปรียบเทียบกับสัตว์ต่างๆ
เช่น วัว ม้า สุนัข เสือดาว แมว หนู หมู แกะ
และห่านในเอกสาร Musurgia Universalis