มีกรณีที่หายากมาก ๆ กล่าวคือ หากคนที่เป็นโพลิแมทได้แสดงความสามารถอย่างโดดเด่นระดับอัจฉริยะในแทบทุก สาขาที่เขาสนใจ เราก็จะเรียกคนนั้นว่าเป็น อัจฉริยะสากล (Universal Genius) ตัวอย่างอัจฉริยะสากลที่รู้จักกันดี ได้แก่ เลโอนาร์โด ดาวินชี นั่นเอง

โพลิแมทในสังคม-อารยธรรมต่าง ๆ มีปรากฏให้เห็นเสมอ  จะขอยกตัวอย่างชาวต่างชาติสัก ๒ ท่าน  ท่านแรกเป็นปราชญ์ชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ชื่อ อะทานาซิอุส เคียร์เชอร์ (Athanasius Kircher) (เกิด ๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๐๑ หรือ ๑๖๐๒  เสียชีวิต ๒๗ หรือ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๘๐)

เคียร์เชอร์มีความสนใจหลากหลาย และมีผลงานที่โดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น

  • ภาษาศาสตร์ : เคียร์เชอร์เป็นคนแรก ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงอักษรภาพของอียิปต์กับภาษาคอปติก ได้อย่างถูกต้อง  ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ยกย่องว่าเขาเป็น “ผู้วางรากฐาน” วิชาอียิปต์วิทยา (อย่างไรก็ดีถือกันว่าวิชาอียิปต์วิทยาสมัยใหม่เริ่มต้นขึ้นในราวปี ค.ศ. ๑๘๒๒)
  • ธรณีวิทยา : เคียร์เชอร์สนใจธรณีวิทยาในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ศึกษาฟอสซิล และเคยปีนลงปล่องภูเขาไฟวีซูเวียส (Vesuvius) ขณะใกล้ปะทุเพื่อสำรวจโครงสร้างภายใน และได้เขียนหนังสือทางธรณีวิทยาชื่อ Mundus Subterraneus (ตีพิมพ์ปี ค.ศ. ๑๖๖๔)
  • จีนวิทยา : เคียร์เชอร์สนใจประเทศจีนอย่างมาก และเขียนสารานุกรมเกี่ยวกับจีน ชื่อ China Illustrata (ตีพิมพ์ปี ค.ศ. ๑๖๖๗)
  • สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี : เคียร์เชอร์สร้างอุปกรณ์บางอย่าง เช่น นาฬิกาแม่เหล็ก และอธิบายองค์ประกอบของอุปกรณ์ซึ่งใช้ฉายภาพไปบนผนังในห้องมืด เป็นต้น
  • การแพทย์ : เคียร์เชอร์เป็นคนแรก ๆ ที่ใช้วิธีการสมัยใหม่ในการศึกษาโรค เช่น ใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจสอบเลือดของคนไข้ติดเชื้อในปี ค.ศ. ๑๖๔๖ ในเอกสารชื่อ “Scrutinium Pestis” (ตีพิมพ์ปี ค.ศ. ๑๖๕๘)  เขาบันทึกไว้ว่าได้พบ “หนอนตัวเล็ก” (little worms) และ “สัตว์ขนาดเล็กจิ๋ว” (animalcules) ในเลือด  และสรุปว่าโรคเกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก (อย่างไรก็ดี แม้ข้อสรุปจะถูกต้องแต่ก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เขาเห็นอาจจะเป็นเม็ดเลือดแดง หรือเม็ดเลือดขาวก็เป็นได้)  เขายังเสนอการควบคุมโรคระบาดโดยการกักบริเวณผู้ป่วย เผาทำลายเสื้อผ้าที่ผู้ป่วยสวมใส่ รวมทั้งแนะนำให้ใส่หน้ากากป้องกันไม่ให้หายใจเอาเชื้อโรคเข้าไปอีกด้วย

polymath05อะบู รอยฮอาน อัล-บีรูนี(ซ้าย)
และ The Chronology of Ancient Nations แปล
โดย Edward Sachau ฉบับพิมพ์ ค.ศ.๑๘๗๙(ขวา)

polymath06ตัวอย่างผลงานของ อัล-บีรูนี แผนภาพแสดงการเกิดจันทรุปราคา(ซ้าย)
และ แผนที่โลกแสดงส่วนที่เป็นพื้นดินและทะเล(ทิศใต้อยู่ด้านบน)(ขวา)

polymath07สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (ซ้าย)
และ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม(ขวา-ภาพ : สมิทธิ์ สุติบุตร์)

โลกอิสลามก็มีโพลิแมทที่โดดเด่นเช่นกัน จะขอยกตัวอย่างคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อราว ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้แก่ อะบู รอยฮาน อัล-บีรูนี (Abu Rayhan al-Biruni, ค.ศ.๙๗๘-๑๐๔๘) ชาวเปอร์เซีย

บีรูนีมีความรู้กว้างขวางลึกซึ้งทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การแพทย์ เภสัชกรรม และปรัชญา เช่น

  • ภาษาศาสตร์ : บีรูนีสามารถพูด อ่านและเขียนได้หลายภาษา เช่น เปอร์เซีย อารบิก กรีก ฮีบรู สันสกฤต  ในกรณีของภาษาสันสกฤตนั้น เขามีความชำนาญอย่างเยี่ยมยอดถึงขนาดที่เหล่าบัณฑิตเรียกเขาว่า Vidya Sagar อันหมายถึง มหาสมุทรแห่งการเรียนรู้
  • ภารตวิทยา : เขาเป็นมุสลิมคนแรกที่ศึกษาวัฒนธรรมและประเพณีของชาวฮินดู  บีรูนีใช้เวลาในช่วง ค.ศ.๑๐๑๗-๑๐๓๑ เพื่อศึกษาภาษา วัฒนธรรม และศาสนาในอินเดีย
  • ประวัติศาสตร์ : ในปี ค.ศ. ๑๐๐๐ บีรูนีได้เขียนหนังสือซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า Chronology of Ancient Nations (กาลานุกรมแห่งชนชาติต่าง ๆ ในอดีตกาล) หรือ The Remaining Signs of Past Centuries (ร่องรอยที่หลงเหลือมาจากศตวรรษก่อน) เปรียบเทียบปฏิทินของวัฒนธรรมและอารยธรรมต่าง ๆ โดยมีข้อมูลทางคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ประกอบ อีกทั้งยังมีการสำรวจประเพณีและศาสนาของผู้คนในวัฒนธรรมต่าง ๆ ไว้อีกด้วย  หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของบีรูนี ซึ่งเขียนเสร็จเมื่อเขามีอายุในช่วง ๒๐ ปีปลาย ๆ เท่านั้น
  • วิทยาศาสตร์ : ถือกันว่าบีรูนีเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ใช้วิธีการทดสอบซ้ำเพื่อตรวจสอบ ข้อมูลที่มีอยู่ นี่คือแนวคิดหลักประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า ความสามารถในการทำซ้ำได้ (repeatability) นั่นเอง
  • ภูมิมาตรศาสตร์ : บีรูนีคิดค้นเทคนิคการวัดระยะทางบนพื้นผิวโลกและวิธีการวัดขนาดของโลก โดยใช้การคำนวณทางตรีโกณมิติ  ค่ารัศมีของโลกที่เขาประมาณได้คือ ๖,๓๓๙.๙ กิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าค่าในปัจจุบันคือ ๖,๓๕๖.๗ กิโลเมตร เพียง ๑๖.๘ กิโลเมตรเท่านั้น  ถือกันว่าบีรูนีเป็นบิดาของวิชาภูมิมาตรศาสตร์ (father of geodesy)
  • ธรณีวิทยา : บีรูนีได้สังเกตสภาพทางธรณีวิทยาของอินเดีย และค้นพบว่าอนุทวีปอินเดียนั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน  นอกจากนี้เขายังศึกษาโลหะและแร่ธาตุต่าง ๆ จนเขียนหนังสือชื่อ Kitab al-Jawahir (หนังสือเกี่ยวกับหินมีค่า) ซึ่งเป็นตำราที่ดีที่สุดในสมัยนั้น  เขาจัดแบ่งแร่ธาตุต่าง ๆ ตามลักษณะสี กลิ่น ความแข็ง ความหนาแน่น และน้ำหนัก โดยระบุชื่อของแร่ธาตุและโลหะในภาษาต่าง ๆ เช่น อารบิก เปอร์เซีย กรีก ไซริแอก ฮินดี ละติน เป็นต้น

เมื่อได้รับทราบความสามารถอันน่าทึ่งของตัวอย่างโพลิแมทชาวต่างชาติกันไปแล้ว อาจมีคำถามว่า แล้วชาวสยามที่เป็นโพลิแมทมีบ้างไหม ?

คุณผู้อ่านอาจจะมีคำตอบในใจบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ผมขอนำเสนอบุคคลในอดีตที่มีผลงานโดดเด่นและหลากหลายท่านหนึ่ง นั่นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ เป็นพระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ กับเจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก  ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ (ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็ง)  สิ้นพระชนม์เมื่อเช้าตรู่วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ (ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑)  สิริพระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยา-ลงกรณ์ ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆ เช่น

  • ภาษา : ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
  • วรรณกรรม : ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลีไว้เป็นจำนวนมาก เช่น กาพย์กลอนเรื่องเสด็จเมืองนครศรีธรรมราช โคลงพระราชประวัติรัชกาลที่ ๔ ฯลฯ
  • ประวัติศาสตร์ : ทรงพระนิพนธ์เรื่อง พระปฐมเจดีย์ และ ลิลิตพงศาวดารเหนือ
  • โบราณคดี : ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ที่เป็นอักษรขอมเป็นพระองค์แรก และทรงศึกษาและรวบรวมจารึกต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้เป็นจำนวนมาก
  • พุทธศาสนา : ทรงเป็นองค์ประธานชำระและแปลพระไตรปิฎก พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติและประกาศคณะสงฆ์ต่าง ๆ
  • พุทธศิลป์ : ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย ทรงสร้างพระกริ่งที่เรียกกันว่า พระกริ่งปวเรศ ซึ่งเป็นต้นแบบของพระกริ่งในยุคต่อมาของไทย
  • สถาปัตยกรรม : ทรงออกแบบพระปฐมเจดีย์ องค์ที่ปรากฏในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖
  • ดาราศาสตร์ : ทรงพระนิพนธ์ ตำราปักขคณนา (การคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ)
  • อุตุนิยมวิทยา : ทรงคิดค้นวิธีวัดปริมาณน้ำฝน และบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวันที่วัดบวรนิเวศวิหาร ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๘๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ในรัชกาลที่ ๕  บันทึกนี้เป็นจดหมายเหตุมีชื่อเรียกว่า สมุดบัญชีวัดน้ำฝน

สำหรับกรณีจดหมายเหตุ สมุดบัญชีวัดน้ำฝน นี้มีแง่มุมน่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือ นอกจากจะอธิบายเครื่องวัดน้ำฝนของไทยและของอังกฤษ มีข้อมูลปริมาณฝนตกรายวัน รายปักษ์  ฝนในฤดูฝนกับฤดูแล้ง และฝนทั้งปี โดยในระยะหลัง ๆ ก็ได้ทรงบันทึกอุณหภูมิไว้ด้วยแล้ว ยังมีบันทึกเกี่ยวกับพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า หมอก น้ำท่วม ตลอดจนถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ดาวตก ดาวหาง จันทรคราส สุริยคราส ฯลฯ  อีกทั้งยังทรงบันทึกเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของเจ้านายบางองค์ การถึงแก่กรรมของข้าราชการผู้ใหญ่บางท่าน รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง เช่นอาชญากรรมและโรคระบาด

นั่นคือ จดหมายเหตุ สมุดบัญชีวัดน้ำฝน เป็นเอกสารบันทึกประวัติศาสตร์  อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นผู้ให้ความสำคัญกับการบันทึกข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ที่ถูกต้องและลึกซึ้งในระยะยาว

ตัวอย่างโพลิแมททั้ง ๓ ท่านที่กล่าวมานี้ คงจะพอทำให้เราได้เห็นจุดร่วมบางอย่าง เช่น โพลิแมทต้องมีสติปัญญาดีเป็นพื้นฐาน มีความกระหายใฝ่รู้ในเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอ ทำให้มีผลงานคุณภาพปรากฏเป็นรูปธรรมเป็นจำนวนมาก

น่าสังเกตด้วยว่า โพลิแมทมักจะมีความรู้ในภาษาต่าง ๆ (ที่นอกเหนือไปจากภาษาแม่) อย่างลึกซึ้ง โดยใช้ภาษาดังกล่าวนั้นเป็นทั้งเครื่องมือในการแสวงหา บันทึก และถ่ายทอดความรู้  และที่สำคัญไม่น้อยก็คือ สังคมที่บุคคลเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่มักจะให้คุณค่ากับการแสวงหาความรู้ เช่น บีรูนีมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคทองของอิสลาม และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น

น่าคิดทีเดียวว่า สังคมไทยในปัจจุบันให้คุณค่ากับความรู้และการแสวงหาความรู้ (ที่แท้จริง) อย่างจริงจังเพียงใด  ในขณะที่แนวคิดประเภท “ฉลาดแล้วฉลาดอีก” หรือ “อัจฉริยะอุปโลกน์ได้” ยังคงจูงใจผู้คนจำนวนไม่น้อยให้คล้อยตาม ดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อแทบทุกรูปแบบ และซึมลึกลงไปถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อภูมิปัญญาของลูกหลานเรา

วันหนึ่งข้างหน้า หากค่านิยมอัจฉริยะเสื่อมพลังลงไป ก็อาจมีวลีการตลาดอย่าง “โพลิแมทสร้างได้” หรือ “มาสร้างลูกน้อยให้เป็นโพลิแมทกันเถอะ” มาดึงดูดความสนใจ (และเงินในกระเป๋า) ของเราก็เป็นได้

…ใครจะไปรู้ !

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
• เรื่อง Polymath ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Polymath
• เรื่อง Jack of all trades, master of none ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Jack_of_all_trades,_master_of_none
• เรื่อง Know it all เขียนโดย Larry Wolff ที่ http://bcm.bc.edu/issues/spring_2007/features/know-it-all.html
• เรื่อง The Book of the Courtier ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/The_Book_of_the_Courtier
• เรื่อง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระมหาสมณเจ้า_กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ และ http://www.mahamakuta.inet.co.th/buddhism/somdet/somdet08.htm