บุคคลในข่าว
สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
“ผมต้องทำงานของผมให้เสร็จ” คำให้การของ “จ่าทวี” ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
วันนี้ลุงจ่าในวัน ๗๙ ปี ยังคงต้องออกแรงขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์ให้อยู่รอดต่อไป

นับเป็นเวลาเกือบ ๓ ทศวรรษแล้วที่ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ได้ทำหน้าที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่แสดงวิถีพื้นบ้านของชาวเมืองพิษณุโลก ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องมือจับปลา เครื่องดักสัตว์ ตะเกียง เครื่องปั้นดินเผานับหมื่นชิ้น จนเป็นแหล่งรวบรวมของพื้นบ้านมากมายที่นับวันจะหายากยิ่งสำหรับผู้สนใจศึกษา

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งนี้จะกำเนิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี “ลุงจ่า” หรือ จ.ส.อ. ทวี บูรณเขตต์

จ.ส.อ. ทวี บูรณเขตต์ เป็นชาวพิษณุโลก เกิดในครอบครัวยากจนเมื่อปี ๒๔๗๕ จบการศึกษามัธยม ๓ มีโอกาสได้เรียนวิชาช่างศิลป์จากพ่อซึ่งเป็นครูสอนศิลปะ ยึดอาชีพรับจ้างเขียนภาพโฆษณาสินค้าตามงานวัดเลี้ยงตัวเอง ต่อมารับราชการทหารติดยศสิบตรี ตำแหน่งช่างเขียนฝ่ายยุทธโยธา กองทัพภาคที่ ๓ ฝึกงานช่างหล่อโลหะที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และมีโอกาสได้เรียนวิชากับยอดฝีมืออย่างศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียน ยิ้มศิริ และ สนั่น ศิลากร

รับราชการอยู่ ๒๓ ปีก็ลาออกมายึดอาชีพช่างหล่อพระพุทธรูป ผลงานสำคัญหลายชิ้น ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ กองทัพภาคที่ ๓ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธชินราชจำลอง วัดพุทธบูชา กรุงเทพฯ ปี ๒๕๒๖ ได้รับยกย่องเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาการช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และปีเดียวกันนี้เองงานสะสมของเก่ากลายสภาพจากงานอดิเรกเป็นงานแห่งชีวิตจนถึงปัจจุบัน คือการเปิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านให้คนทั่วไปเข้าชมโดย
ไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้แนวคิดว่าจะเก็บอดีตให้อนุชนรุ่นหลังศึกษาและเข้าใจรากเหง้าของตนเอง

นอกจากนี้ลุงจ่ายังสนับสนุนให้ลูกสาวคนสุดท้องคือ พรศิริ บูรณเขตต์ ซึ่งเรียนจบปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร กลับมาดูแลจัดระเบียบพิพิธภัณฑ์ ขยายอาคารจัดแสดงเป็น ๔ หลัง โดยใช้เงินส่วนตัวที่สะสมมาทั้งชีวิต

แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมา อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ เดือนละไม่ต่ำกว่า ๕ หมื่นบาท ก็เป็นภาระหนัก เนื่องจากรายได้ของพิพิธภัณฑ์มาจากการบริจาคของผู้เข้าชมที่มีจิตศรัทธา

ปี ๒๕๔๖ เทศบาลเมืองพิษณุโลกเรียกเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนย้อนหลังด้วยเหตุผลว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่วัดหรือโรงเรียนที่ได้รับการยกเว้น สิ่งนี้บั่นทอนความรู้สึกของลุงจ่าและลูกสาวที่ใช้เงินสะสมทั้งชีวิตทำพิพิธภัณฑ์เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถึงกับประกาศขายพิพิธภัณฑ์เพื่อ “หาทางออกและอนาคต” มาแล้ว แม้ว่าต่อมาพวกเขาจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการเก็บค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท นักเรียนนักศึกษา ๒๐ บาท เด็กต่ำกว่า ๑๐ ขวบ พระภิกษุ สามเณร นักบวช ชมฟรี

แต่ใครติดตามข่าวคราววงการพิพิธภัณฑ์น่าจะรู้ดีว่าหลายปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการรักษาพิพิธภัณฑ์นี้ยังเป็นเรื่องหนักสำหรับครอบครัวลุงจ่าที่มีรายได้จากการหล่อพระอย่างเดียว ตำแหน่งหลายตำแหน่งในพิพิธภัณฑ์จึงยังว่าง และงานหลายงานก็ยังต้องอาศัยคนไม่กี่คนลงมือทำ

หลายหน่วยงานเสนอความช่วยเหลือ แต่ก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ลุงจ่าและลูกสาวยากจะรับได้ เช่นให้เก็บค่าเข้าชมแพงขึ้น หรือเปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น

เมื่อปี ๒๕๕๒ ลุงจ่าและบุตรสาวจึงตัดสินใจสร้างวัตถุมงคลคือพระพุทธชินราช (จำลอง) และวัตถุมงคลรุ่น “บูรณะพิพิธภัณฑ์” เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า “เพื่อนำรายได้หล่อเลี้ยงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี พิษณุโลก ให้คงอยู่เพื่อเป็นคลังความรู้คู่สังคมไทยสืบไป”

ลุงจ่าลงมือปั้นพระหามรุ่งหามค่ำที่โรงหล่อพระพุทธรูป เยื้องพิพิธภัณฑ์ราว ๑๐๐ เมตร ทำงานหนักจนป่วยเป็นโรคนิ้วล็อก จากเดิมเป็นเบาหวาน ตาข้างหนึ่งเป็นต้อกระจก ตาอีกข้างหนึ่งก็มองไม่เห็น

อย่างไรก็ตาม ในวัย ๗๘ ปี แม้ลุงจ่าจะดูชรา ทว่าแววตายังมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง

“ผมต้องทำงานของผมให้เสร็จ” คำให้การของ “จ่าทวี” ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
แม้จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของประชาชนทั่วประเทศ

sgttawee03
บรรยากาศการจัดแสดงเครื่องมือพื้นบ้านภายในพิพิธภัณฑ์ฯ

ลุงจ่าเล่าสถานการณ์ล่าสุดให้ฟังว่า “ตอนนี้คนช่วยดูแลพิพิธภัณฑ์คือลูกสาว ลูกชาย และภรรยา ลูกสาวคือพรศิริก็ป่วย มีปัญหาเรื่องหมอนรองกระดูกต้องฝังเข็ม คนที่เป็นหลักคือภรรยา ผมก็ไป ๆ มา ๆ ระหว่างโรงหล่อพระกับพิพิธภัณฑ์ กิจการแบบนี้ทำแล้วไม่รอด ๒๐ ปีแรกเราไม่เก็บเงิน มีตู้บริจาคแต่สิ่งที่เจอคือมัคคุเทศก์บางคนพาคนมาชม พอคนจะหยอดเงินบริจาคเขาก็ห้ามเพราะคิดว่าเรารวยเลยทำพิพิธภัณฑ์ แต่จริง ๆ ที่เราทำพิพิธภัณฑ์เพราะอยากเก็บของบางอย่างที่คนรุ่นใหม่จะหาดูไม่ได้อีกแล้ว ต่อมาพอเราเก็บเงินก็มีคนว่า ส่วนกิจการโรงหล่อพระ มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่จะให้มาช่วยพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ไหว ตอนนี้ผมพยายามขายที่ดินที่เป็นที่นานอกเมืองเพื่อหารายได้มาจุนเจือพิพิธภัณฑ์ต่อ

“ตอนนี้พิพิธภัณฑ์มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ต้องส่งดอกเบี้ยให้ธนาคารเดือนละ ๑ แสนบาท ที่ผ่านมาได้รับการผ่อนผัน สิ้นปีนี้จะหมดเวลาซึ่งหมายถึงต้องส่งเงินต้นด้วย ตอนนี้ธนาคารขายหนี้เราให้บริษัทลูกเพื่อจัดการหนี้ เขาคงไม่เข้าใจว่าทำพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้มันยากแค่ไหน และตอนนี้เรื่องเข้าสู่ศาลแพ่งแล้ว ผมเองกำลังพยายามรวมเงินและทำต่อให้ถึงที่สุด พยายามขายพระรุ่นบูรณะพิพิธภัณฑ์ ถ้าขายได้ทั้งรุ่นก็น่าจะได้เงินพอพยุงต่อไป ล่าสุดก็ปรับปรุงอาคารและเพิ่มของจัดแสดงในอาคารที่แสดงประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก เพราะบางอย่างจัดแสดงมานาน ยังมีของในโกดังอีกมาก

“เรื่องปิดพิพิธภัณฑ์ผมเคยคิด แต่ทำไม่ได้เพราะผูกพันกับมันมาทั้งชีวิต ผมต้องทำงานของผมให้เสร็จ ต้องทำให้ถึงที่สุด ตอนนี้ผมอายุมากแล้ว ถ้าไม่รีบอาจเป็นอะไรไปก่อน ต้องจัดแสดงทุกอย่างให้ครบเพื่อไม่ให้ความรู้ตายไปพร้อมตัวผม หลังจากนั้นถ้าจะปิดก็คงเป็นเรื่องของอนาคต แต่โดยส่วนตัวทำสุดความสามารถแล้ว”

ลุงจ่าบอกเราว่าสิ่งที่ทำให้เขายืนหยัดทำพิพิธภัณฑ์มาจนถึงทุกวันนี้ ก็คือความเชื่อที่ว่า “การทำพิพิธภัณฑ์เป็นการสร้างชาติอย่างหนึ่ง ผมหวังจะเผยแพร่ความรู้ให้คนอย่างกว้างขวาง เพราะพิพิธภัณฑ์คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นตำราประวัติศาสตร์ในรูปสิ่งของ สะท้อนว่าคนรุ่นหนึ่งคิดอย่างไร ถ้าไม่เก็บเรื่องเหล่านี้ไว้เราจะไม่มีราก ไม่รู้จักตัวเอง ไม่ภูมิใจในตัวเอง ปัญหาบ้านเมืองก็แก้ไม่ได้เพราะไม่มีองค์ความรู้”

ถึงวันนี้ดูเหมือนลุงจ่าตัดสินใจที่จะกลืนเลือดอยู่เงียบ ๆ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

“บางคนเขาบอกว่าเหมาะแล้วที่เราเจอแบบนี้ มองว่าเราเป็นใครมาทำงานนี้ เพราะนี่เป็นหน้าที่กรมศิลปากรหรือหน่วยงานราชการ แต่ก็มีหลายคนเข้าใจ ส่งเงินมาช่วย หลัง ๆ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง แต่สุดท้ายนี่คือภารกิจที่ผมทิ้งไม่ได้จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว

“ที่ผ่านมาผมคิดว่าผมทำงานที่คนอื่นมองข้าม ดูแลของล้าสมัย และบางทีมันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นตามมา ต่างกับสมัยก่อนไม่มีเอกชนลุกขึ้นมาทำพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ผมหวังคืออยากให้คนมาดู อยากให้เด็กมาเรียนรู้ กลุ่มคนที่เข้ามาดูแลพิพิธภัณฑ์ส่วนมากเป็นคนที่ตั้งใจมา อีกส่วนคือครูที่พานักเรียนมาทัศนศึกษาจากหลายจังหวัด ผมเชื่อว่าเรื่องพวกนี้จะติดไปกับจิตใจพวกเขาอย่างแน่นอน”

ขอขอบคุณ : คุณธีรภาพ โลหิตกุล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี
๒๖/๑๒๘ ถ. วิสุทธิกษัตริย์ อ. เมือง จ. พิษณุโลก ๖๕๐๐๐
เปิดให้เข้าชม ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. (ปิดทุกวันจันทร์)ภายในแบ่งการจัดแสดงเป็น ๕ อาคาร ได้แก่ อาคารสำนักงานและร้านขายของที่ระลึก บ้านไม้ที่สร้างสมัยปี ๒๕๐๐ จัดแสดงภาพถ่ายและสิ่งของที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองพิษณุโลก อาคารแสดงเครื่องมือเครื่องใช้และวิถีชีวิตประชาชนในเขตภาคเหนือตอนล่าง อาคารแสดงนิทรรศการ และสิ่งของของคนลาวโซ่งที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และอาคารสุดท้ายจำลองห้องเรียนยุค ๒๕๐๐