วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์,  ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

johnwinyu05

“สวัสดีคร้าบ…ขอต้อนรับเข้าสู่ ‘เจาะข่าวตื้น’ กับนายจอห์น วิญญู นะฮาว์ฟฟ” 

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักรายการ “เจาะข่าวตื้น” ทาง iHere.tv ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทีวีอินเทอร์เน็ตช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยืนยันได้จากจำนวนผู้คลิกเข้าชมรายการมียอดรวมทะลุ ๑๔ ล้านครั้งไปแล้ว มีผู้ “ถูกใจ” หน้าเฟซบุ๊ก iHere TV ถึง ๑๐๖,๒๖๓ คน (สถิติวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๔) ยังไม่นับว่ามีการ “แชร์” ลิงก์ของรายการและบอกต่อ ๆ กันจนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในโลกไซเบอร์

“…นะฮาว์ฟฟ” คำพูดติดหูบวกกับเนื้อหาเสียดสีเหน็บแนมอย่างชาญฉลาดที่มาพร้อมมาดยียวนโดนใจวัยโจ๋ ทำให้นายจอห์น วิญญู ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในฐานะคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง

จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ วัย ๒๕ ปี รูปลักษณ์ภายนอกก็ไม่ต่างจากวัยรุ่นทั่วไป ทรงผมสั้นตั้งตรงโฉบเฉี่ยว สวมแว่นตาดำ ใบหน้าหล่อเหลา แต่งตัวนำแฟชั่น แต่กับบทบาทพิธีกรรายการ “เจาะข่าวตื้น” รายการเล่าข่าวทางเว็บไซต์ iHere.tv นั้นทำให้เขาต่างจากดาราวัยรุ่นคนอื่น ๆ เพราะข่าวที่เขานำมาเล่าไม่ใช่เรื่องเบาสมองเลยสักนิด จอห์นหยิบยกปัญหาสังคมตั้งแต่เรื่องข้อสอบ O-NET, A-NET การทุจริตคอร์รัปชัน ไปจนถึงความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยรูปแบบการเล่าข่าวที่แหวกขนบจากรายการคุยข่าวทั่ว ๆ ไปตามสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี นำเสนอประเด็นต่าง ๆ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่และตรงไปตรงมา อีกทั้งสนุกและเข้าถึงง่าย

ภายใต้การเสียดสีเจ็บ ๆ คัน ๆ สร้างเสียงหัวเราะจนเผลอจุกของเด็กหนุ่มวัย ๒๕ ปีคนนี้ ทำให้หลายคนฉุกคิดถึงปัญหาต่าง ๆ มากกว่าแค่อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วผ่านไป นั่นย่อมไม่ได้มาจากความคึกคะนองเพียงอย่างเดียว แต่เพราะการสั่งสมความรู้ ติดตามข่าวสาร และผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์มาอย่างดี เป็นผลให้ในที่สุดรายการของเขาได้รับความนิยมล้นหลามแม้จะเผยแพร่เฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ตก็ตาม

จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ เป็นบุตรคนเล็กของ รศ. ดร. โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมารดาชาวอเมริกันอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หลายคนอาจคุ้นหน้าเขาผ่านจอโทรทัศน์ทั้งในฐานะนายแบบโฆษณา มิวสิกวิดีโอ พิธีกรรายการวัยรุ่นหลายรายการอย่าง WakeClub, รถโรงเรียน และทางเคเบิลทีวี Bang Channel รวมถึงรายการวิทยุคลื่น Hotwave ปัจจุบันเขากำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

บทบาทใหม่ของจอห์น วิญญู เริ่มต้นขึ้นเมื่อพี่สาว โรซี่ วงศ์สุรวัฒน์ ที่เปิดบริษัทเฮลิแพด รับงานอัดเสียง ผลิตรายการโทรทัศน์ และตัดต่อวิดีโอต่าง ๆ เปิดเว็บไซต์อินเทอร์เน็ตทีวีชื่อ iHere.tv ขึ้นในเดือนเมษายน ๒๕๕๐ แล้วชักชวนเขามาร่วมทำรายการ จอห์น วิญญู ทำหน้าที่พิธีกร ๒ รายการคือ “เจาะข่าวตื้น” และ “เก้าอี้เสริม” (ร่วมกับดีเจพล่ากุ้ง-วรชาติ ธรรมวิจินต์) จากเดิมที่เคยคิดลองทำสนุก ๆ ก็เริ่มจริงจังขึ้นจนเวลานี้เขาถือมันเป็นงานในอาชีพไปแล้ว ขณะเดียวกันฐานผู้ชมรายการก็เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปี ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน

ในฐานะสื่อออนไลน์ที่กำลังมาแรง สารคดี ชวนเขามาเปิดความคิดในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์สื่อและคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
คุณเคยตัดสินใจเลิกเรียนกลางคันเพราะอะไรครับ
ผมเรียนที่ มศว. ประสานมิตร คณะศิลปกรรมศาสตร์เอกการแสดงและกำกับการแสดง ผมรู้สึกว่าศิลปะมันไม่ควรถูกตีกรอบ แล้วตลกมากที่ต้องมาเจอการตีกรอบ ซึ่งผมก็เออออกับมันมา ๒-๓ ปี พอขึ้นปี ๔ รู้สึกไม่มีความสุขกับสภาพแบบนี้ อย่างเช่นการตีความบทละคร เราก็ตีความจากเหตุการณ์เรื่องราวในสังคม เราเขียนบนฐานความเข้าใจใส่ความคิดของเราลงไป ดึงเรื่องนั้นเรื่องนี้มาเสริมข้อมูลที่เรานำเสนอ แต่กลับเป็นว่าผิดเพราะอาจารย์บอกว่าต้องเป็นอย่างนี้ ๆ เฮ้ย ! มันเป็นเรื่องของงานศิลปะ มันเป็นสิ่งที่ต้องนำมาตีความ เลยไปเรียนรัฐศาสตร์แทน รัฐศาสตร์มันก็เป็นหลักการที่เป๊ะ ๆ ตามหลักของมัน คล้าย ๆ กฎหมายเป็นข้อ ๆ เป็นกฎเกณฑ์ เรายังรับตรงนั้นได้เพราะมันนำไปปรับใช้กับสังคมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ตอนนั้นคิดหนักไหมครับ อีกปีเดียวก็จบแล้ว
ก็เสียดายครับ คุณพ่อถามว่าแน่ใจแล้วหรือ เขาให้เวลาคิดสัปดาห์หนึ่ง พอเราคิดตกคุณพ่อก็ไม่มีปัญหาอะไร เราจะเอนทรานซ์ใหม่คุณพ่อก็บอกว่าไม่ต้องหรอก ไปเรียนรามฯ ก็ได้ เพราะท่านก็จบนิติศาสตร์จาก ม.รามคำแหง มันก็เป็นตัวบ่งชี้นะ ถ้าคุณจบจากที่นี่ได้มันก็แสดงถึงความรับผิดชอบของคุณ แล้วคุณก็ได้อะไรจากที่นั่นด้วย ซึ่งเราก็เห็นด้วย

เคยคิดจะไปศึกษาต่อต่างประเทศไหมครับ
เฉย ๆ ครับ ไม่ได้มีความต้องการอะไร พี่สาวผมก็ไปเรียนเขียนบทคอร์สสั้น ๆ ที่แวนคูเวอร์ แคนาดา พี่ชายพี่สาวอีก ๒ คนก็ได้ทุนคิง ส่วนผมคนสุดท้องเรียนรามฯ ผมก็รู้สึกแฮปปี้ดี

คุณพ่อก็ไม่ค่อยชอบที่คุณมาทำงานในวงการบันเทิงสักเท่าไร
ใช่ครับ ตามสไตล์ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นนักวิชาการทั้งคู่ เพียงแต่คุณแม่ให้ท้ายเล็กน้อยในแง่ว่าท่านสอนจิตรกรรมและวิจารณ์ภาพยนตร์ รู้สึกว่าการทำงานบันเทิงหรือศิลปะการแสดงออกมันไม่ได้เสียหายอะไรมาก ส่วนคุณพ่อจะบอกว่า เออ ทำได้นะ แต่ว่าไม่ต้องขลุกกับมันมาก เพราะท่านใฝ่ฝันอยากให้ลูกสักคนเป็นนักกฎหมาย

แล้วคุณเข้าสู่เส้นทางสายบันเทิงไม่ว่าจะถ่ายแบบหรือพิธีกรได้อย่างไร
ผมเข้ามาทำงานสายนี้เหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปแหละครับ คือมาจากโมเดลลิ่ง ตั้งแต่อยู่ ม. ๓ ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ช่วงนั้นมีโมเดลลิ่งอยู่ไม่กี่เจ้าเลยค่อนข้างปลอดภัย ไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีโมเดลลิ่งเถื่อนเยอะพอสมควร เขาก็ให้เราลองไปเทสต์หน้ากล้อง ถ่ายภาพนิ่ง แล้วส่งไปตามโปรดักชันเฮาส์ทำโฆษณา หรือว่าถ่ายมิวสิกวิดีโอตามแกรมมี่หรืออาร์เอส ผมก็มีโอกาสได้ถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา และเล่นมิวสิกวิดีโอ ขลุกอยู่ตรงนั้นสัก ๒-๓ ปี
พอขึ้น ม.๕ ก็ได้มาเทสต์พิธีกรที่แกรมมี่ครับ เลยได้มาอยู่ที่นี่

ทำเพราะอยากได้เงินใช้ หรือคิดว่ามันเป็นงานที่เท่ดี
ไม่หรอกครับ ช่วงแรก ๆ ถือว่าเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ได้ทำ มันเป็นประสบการณ์ที่ไอ้เด็กอย่างเรา ๆ ไม่มีโอกาสได้สัมผัส แล้วผมก็ไม่ได้ดังหรอกครับ จนปัจจุบันก็ยังไม่ดัง บางทีรู้สึกอายด้วยซ้ำว่าตอนนั้นเราพลาดไปหรือเปล่าที่มาถ่ายแบบถ่ายโฆษณา เพราะอยู่โรงเรียนก็โดนแซวโดนล้อ บางช่วงเรายังคิดเลยว่าคิดถูกหรือเปล่า แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกดี อย่างถ่ายโฆษณาก็ยังไม่นึกเลยว่าจะได้เจอผู้กำกับคนนั้นคนนี้ ผมได้เจอพี่ต่อ (ธนญชัย ศรศรีวิชัย) ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาจากฟีโนมีน่า ก็สัมผัสได้ถึงไลฟ์สไตล์ของเขาซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นคนอย่างนั้นอยู่ ผมได้เจอคนเยอะ ได้เห็นลักษณะการทำงานหลากหลาย แล้วพี่สาวผมเรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ทำงานด้านภาพยนตร์ด้วย เขาก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี พูดคุยกันมันก็สนุก เราได้ใกล้ชิดกับด้านนี้มากขึ้น และทำให้โลกของเรากว้างขึ้นด้วย

ความคิดหลักของการทำเว็บไซต์ iHere.tv คืออะไร
เริ่มจากความชอบส่วนตัว อยากทำช่องอิสระของเราเองผ่านทางฟรีมีเดีย คำย่อ iHere มาจาก Independent Here ก็มีคนตีความว่า iHere นี่เป็นคำหยาบ ซึ่งเราก็ตั้งใจให้มันดูดาร์ก คุณอาจจะมองอีกแบบก็ได้ มันก็อาจจะเป็นมุมมองของวัยรุ่นวัยคะนองอย่างพวกผมที่เปิดเว็บขึ้นมา 

รายการ “เจาะข่าวตื้น” เป็นความชอบส่วนตัวหรือเปล่า แล้วเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
เมื่อ ๓ ปีที่แล้วเป็นความชอบส่วนตัวครับ แต่ตอนนี้เป็นความรับผิดชอบหลักอย่างหนึ่งที่ต้องเข้าไปดูแลเต็มตัว เพราะช่วงที่เริ่มทำตอนนั้นเราเปิดบริษัท รายได้จากการทำทีวีออนไลน์ไม่ได้สูงมาก รายได้ส่วนใหญ่เราลงไปที่โปรดักชันทีม พวกตากล้อง ทีมตัดต่อ เพราะรู้สึกว่าเขาทำงานหนักและควรจะจ่ายเขาเป็นเงิน ตอนที่ตัดสินใจจะทำ “เจาะข่าวตื้น” มันเป็นสิ่งที่อยากทำอยู่พักหนึ่งแล้ว แต่ผมเองยังไม่มั่นใจว่าเราจะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ คนจะสนใจฟังเราหรือเปล่า ต่อมาคิดว่าเราเองเป็นคนหนึ่งที่อยากจะมีส่วนนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นโดย เฉพาะของคนรุ่นใหม่ เดิมผมจัดรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ บางทีเรานำเสนอแค่ว่าอย่าลืมกรี๊ดศิลปินคนนี้นะ อย่าลืมซื้อเพลงคนนี้นะ ซึ่งมันก็เป็นการหาเลี้ยงชีพของเราและสร้างรายได้ให้องค์กรที่เราสังกัด แต่ถ้าเราสร้างคอนเน็กชันกับคนรุ่นใหม่ได้ขนาดนี้ก็น่าจะมีอะไรกลับไปถึงเขา บ้างนะ พี่สาวก็บอกว่า เออแกทำได้ เดี๋ยวพวกพาร์ตครีเอทีฟหรือพาร์ตข่าวมาช่วย ๆ กัน พี่สาวผมเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับและเคยทำงานในทีมข่าวสำนักข่าวญี่ปุ่น Nippon TV ในเมืองไทย ทำข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด เขาก็พอจะรู้วิธีการหาข้อมูล การนำเสนอข่าวของสื่อ

ชื่อรายการ “เจาะข่าวตื้น” ดูเหมือนจงใจล้อรายการคุยข่าวของฟรีทีวี แล้วยังมีคำสร้อยว่า “ดูถูกสติปัญญา” มีที่มาอย่างไรครับ
ผมพยายามจะเสียดสีเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกรายการข่าวที่หยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านหัวข้อข่าวให้ฟังแล้วบอกแค่ที่มาที่ไปของข่าว วันนี้มีอุบัติเหตุรถชนตรงนี้ มีเหตุการณ์ยิงกันตรงนี้ มีการขุดเจาะสัมปทานน้ำมันตรงนี้ แต่แค่เล่าให้ฟัง ไม่ได้ติดตามต่อว่าเป็นยังไง แล้วส่งผลกระทบกับใครมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งบางทีใช้คำที่ฟังยากเข้าใจยาก มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นเบือนหน้าหนีการฟังข่าวหรือการอ่านข่าว ผมจึงคิด…เออ “เจาะข่าวตื้น” ไม่ต้องลึกอะไรมาก ด้วยภาษาง่าย ๆ ความเข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องอธิบายอะไรยาก ๆ “ดูถูกสติปัญญา” ก็เสียดสีครับว่าไม่ต้องสติปัญญาสูงส่งก็เข้าใจได้

แสดงว่าคุณเป็นคนอ่านข่าว ติดตามวิเคราะห์ข่าวอยู่ก่อนแล้ว
ไม่ถึงกับวิเคราะห์มากครับ แต่เป็นการนำข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ มานั่งพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือในหมู่เพื่อนที่อยู่ออฟฟิซเดียวกัน มันก็จะมีความลึกลงไปเรื่อย ๆ กับข้อมูลที่คนนี้ก็ไปอ่านมาเราก็ไปอ่านมา ใส่ข้อมูลที่เรารู้มา แล้วมันก็เป็นการวิเคราะห์ไปในตัว

ดูข่าวทีวีแล้วรู้สึกขัดใจมากไหม
พอสมควรครับ ผมรู้สึกว่ามันขาดความตรง ขาดความชัดเจนเป็นอิสระ เราต้องยอมรับว่าสื่ออย่างฟรีทีวีก็ยังคงอยู่ในกรอบของความเกรงอกเกรงใจคนที่ถือคลื่นความถี่พวกนี้อยู่ เลยเจาะประเด็นที่ลึกจนเกินไปไม่ค่อยได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นเรื่อง

คุณคิดว่าตอนนี้รายการประเภทคุยข่าวมีมากเกินไปไหม
เยอะก็ดีครับ ในแง่ที่ว่าคนดูได้รับความหลากหลายหรือมีโอกาสที่จะเลือก แต่ว่าคุณภาพก็ต้องมาดูกันอีกที การดูรายการคุยข่าวเราได้อะไรจริง ๆ หรือเปล่า หรือเป็นแค่การเปิดประเด็นให้เรากลับไปหาข้อมูลกันเอง หรือเปิดประเด็นให้พวกผมไปหาข่าวกันต่อแล้วมาพูดใน “เจาะข่าวตื้น” ก็ได้

คุณเห็นว่าข่าวทีวีควรเจาะลึกมากกว่านี้
ใช่ครับ ในความรู้สึกของผม เขามีทุกอย่างในมือ ไม่ว่าจะเป็นทีมข่าว มีบุคลากร มีเงิน รายได้หรืออะไรต่าง ๆ ที่มาจากโฆษณา หรือแม้กระทั่งมาจากภาษีของเราเองบางช่อง ที่จริงแล้วมันเจาะลึก เป็นกลาง และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคข่าวได้มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันนี้ จะด้วยความเกรงใจหรืออะไรสักอย่างมันไปไกลกว่านี้ไม่ได้ หรือว่ามัวแต่ไปสนใจแบ่งครึ่งช่วงนี้เพื่อให้ละครช่วงเย็นออกอากาศก่อนหรือเปล่า หรือเอารายการสุภาพสตรีมาคั่นเวลา ที่จริงแล้วมันทำทุกอย่างได้มากกว่านี้ แต่คุณได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง

คนเริ่มตอบรับรายการเจาะข่าวตื้นตอนไหนครับ
เราลองทำดูช่วงเทปแรก ๆ ก็เงียบ ๆ ครับ เสียงตอบรับดีมากคือตอน “โอเน็ต โอ้ก็อด” เราพูดเรื่องข้อสอบว่ามีการนำเสนออะไรบ้าง ในเว็บไซต์ของป้าอุทุมพร [ศ.ดร. อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ขณะนั้น] บอกว่ามีการทำสถิติ ในเว็บไซต์ก็มีแต่คนไม่ค่อยเข้าไปดูกัน เราก็หยิบข้อมูลที่เขากล่าวอ้างในเว็บไซต์ว่าในต่างประเทศเช่นอเมริกามีการทำข้อสอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของสถิติ แต่จริง ๆ แล้วข้อสอบที่เขายกมาเป็นตัวอย่างในเว็บมีกราฟเป็นสถิติออกมาครบถ้วนให้เด็กดูเพื่อประมวลและตอบตามตัวเลือก A B C D แต่ในข้อสอบของสถาบันฯ กลับไม่มีข้อมูลเหล่านั้นอ้างอิง คือให้เด็กตอบด้วยสามัญสำนึกของแต่ละคน เด็กก็ร้อยพ่อพันแม่มาจากบ้านนั้นบ้านนี้ต่าง ๆ กัน ข้อมูลสถิติของเด็กแต่ละพื้นที่อาจจะต่างกันก็ได้ ท้ายที่สุดคำตอบมันตอบได้ทั้ง ๔ ข้อ แต่เด็กต้องตอบแค่ข้อเดียว เด็กก็ต้องสงสัยว่าข้อที่เหลือมันผิดตรงไหน แล้วคุณบอกว่าคุณถูก คุณมีหลักเกณฑ์ แต่หลักเกณฑ์ของคุณมันถูกต้องจริงหรือเปล่า เราไม่ได้บอกว่าคุณแย่คุณเลว แต่มันเป็นข้อมูลโต้ง ๆ ในเว็บไซต์คุณนะ เราหยิบมาเล่าหยิบมาบอก ข้อสอบมันดูไม่มีอะไรที่อ้างอิง ยกตัวอย่างข้อสอบข้อหนึ่ง–ข้อใดเป็นอันตรายที่เกิดขึ้นบ่อยจากการเที่ยวกลางคืนของหญิงสาว (ข้อสอบ O-NET ประจำปี ๒๕๕๓ วิชาสุขศึกษา) ให้ตัวเลือกมา ๔ ข้อคือ ๑. ถูกชิงทรัพย์ ๒. ถูกมอมยา ๓. ถูกข่มขืน ๔. ถูกทำร้ายร่างกาย เราตอบว่าถูกมอมยา แต่คำตอบที่ถูกต้องคือถูกข่มขืน ซึ่งก็มาอธิบายตอนหลังว่าเพราะมันเป็นสถิติไง แต่มันไม่มีสถิติมาอ้างอิงให้เราดูหรือประมวลผลก่อนนี่หว่า เด็กบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ว่า รุ่นพี่ที่มหา’ลัยถูกมอมยาเยอะมากแล้วถูกข่มขืน อีกคนอาจบอกว่าโดนชิงทรัพย์เยอะกว่า พอไม่มีอะไรอ้างอิงมันก็เลยเป็นปัญหา เราหยิบเรื่องที่เป็นกระแสสังคมในเวลานั้นมานำเสนอ ก็เลยเป็นที่ถูกใจและคนเกิดสนใจขึ้นมา

เพราะวิธีการเล่าข่าวที่เสียดสีประชดประชันและตลก
มีส่วนครับ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ตั้งใจให้มันตลก ผมคิดว่าความตลกเป็นโบนัสที่ได้มาจากการทำในแต่ละเทปมากกว่า

แล้วความตั้งใจแรกของคุณคืออะไรครับ
แค่เสียดสี ก็อาจจะใช่ที่การเสียดสีเป็นธรรมชาติหนึ่งของความตลก แต่ผมคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนตลก เพียงแต่การตัดต่อหรือการทำโปรดักชันแต่ละครั้งแล้วทำให้มันออกมาตลก คืออยากจะทำให้คนคิดบ้างว่าข่าวที่คุณอ่านไม่ใช่แค่ผ่านตา ไอ้สิ่งที่คุณเจอไม่ใช่ว่าคุณต้องยอมรับในการถูกกระทำ เราก็ถามหรือท้วงด้วยเหตุผลได้

หลังจากนั้นได้พูดคุยกันไหมว่าจะปรับปรุงรายการไปในแนวทางใด
คุยกันว่ากระแสที่ได้รับการตอบรับดี คือการหยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ๆ มานำเสนอ คนเจออยู่ทุกวัน เช่น โดนตำรวจจับก็พับแบงก์ให้มันบาง ๆ หรือขับผ่านโฮปเวลล์ทุกวันมันก็แล้วไงวะ เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เจอมันมา ๑๐-๒๐ ปี อยู่ไปอีก ๕๐ ปีก็ไม่เป็นไรหรอก มันเป็นเรื่องที่ทุกคนชาชินไปแล้ว พอเทปนั้นได้รับการตอบรับขึ้นมาก็เลยคิดออกแล้วว่าจะทำออกมาแนวไหนดี ก็เลือกหยิบเรื่องที่อยู่ในกระแส อย่างเทปถัดมาคือเรื่อง เสื้อเหลือง-เสื้อแดง (ตอน “เจาะกีฬาสีเหลืองแดง !!”) ตอนนั้นกลัวเหมือนกันว่าจะทำดีหรือเปล่า เราก็คอยมอนิเตอร์ข่าวช่วงนั้น พบว่าไม่มีเรื่องไหนโดนเท่าเรื่องนี้ มันต้องเรื่องนี้ แต่ท้ายที่สุดมันเยอะจนแบบ…อ๊าก ! (กุมขมับ) หัวจะแตกแล้ว ไอ้ฝั่งนี้ก็แว้ก ๆๆ ไอ้ฝั่งนี้ว้าก…ตรงกลางก็เอาไงก็ไม่รู้ เราต้องการจะนำเสนอว่าทั้งสองฝั่งพูดถึงเรื่องอะไร เขามีประเด็นหรือหัวข้ออะไรที่เป็นหัวหอกในการจะชนะใจประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เราก็พยายามนำเสนอโดยตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วนว่าสิ่งที่เขาต้องการมีอะไรบ้าง  แล้วนำเสนอทั้งส่วนที่เราเห็นด้วยและส่วนที่เรารู้สึกไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตามเราได้ย่อยข่าวให้คุณแล้วนะ คุณไปตัดสินใจเองว่าอันไหนมีเหตุและผลที่คุณรับได้หรือรับไม่ได้ 

การที่คุณเป็นขวัญใจวัยรุ่นมาก่อนเป็นดาบสองคมไหม
มีช่วงหนึ่งผมค่อนข้างกังวลว่าสถานะอาชีพจะอยู่ในภาวะที่อันตรายหรือเปล่า เพราะเราก็ทำงานอยู่ในองค์กรหรือรายการภายใต้ช่องสัญญาณโทรทัศน์เหล่านี้ แต่เราพูดเรื่องที่มาจากหนังสือพิมพ์ ข้อมูลที่สืบหาได้ทั่ว ๆ ไป เราไม่ได้ทำแบบวิกิลีกส์ (Wikileaks) ไม่ได้มีคนเอาข้อมูลลับสุดยอดมาให้เรา เราแค่เล่าข่าวทั่ว ๆ ไปแต่เล่าด้วยภาษาวัยรุ่น กลับเป็นข้อดีด้วยซ้ำเพราะมันทำให้ภาพเราชัดเจนมากขึ้น ภาพเราดูโตขึ้น

โตขึ้นยังไงครับ
เมื่อก่อนเป็นพิธีกรวัยรุ่น พูดแต่เรื่องเพลงเรื่องความบันเทิง ให้น้อง ๆ โทรศัพท์หรือ SMS เข้ามาเพื่อเราจะได้แจกของรางวัลกันแค่นั้น แต่ว่าปัจจุบันนี้พอเราโตไปกับคนดูด้วยก็ทำให้เขาเห็นภาพเราชัดเจนขึ้น ว่าไอ้สิ่งที่เรานำเสนอก็เป็นเรื่องน่าสนใจในสังคมเหมือนกันนะ เวลาถ่ายทำรายการสดของ Bang Channel บางทีก็เล่าข่าวพวกนี้บ้างแต่ไม่ถึงกับเครียดมาก อย่างเรื่องน้ำท่วมก็บอกว่าการบริจาคเงินควรจะเลือกองค์กรที่น่าไว้ใจนะ สบายใจกับองค์กรไหนหรือจะไปช่วยด้วยตนเองก็ได้ เล่าข่าวที่เราพอจะเล่าได้บ้างแล้วมันก็สร้างความน่าเชื่อถือให้เด็กที่ดูด้วยว่า เออ คนนี้มันมีอะไรมากกว่าเมื่อก่อนที่เป็นแค่แคนดี้ ๆ สร้างสีสัน สนุกสนานเฮฮาแค่นั้น

มีการด้นสดมากน้อยแค่ไหนในการทำรายการแต่ละเทป
ด้นสดเกือบหมดเลยครับ เรามี content ว่าเราต้องพูดเรื่องอะไรบ้าง มีสคริปต์ให้ดูคร่าว ๆ แล้วเล่าสด ๆ

การอ่านหนังสือช่วยให้คุณมีมุมมองต่างจากนักเล่าข่าวทั่ว ๆ ไป
ครับ ก็โดนบังคับอ่านตั้งแต่เด็ก หนังสือเปลี่ยนนิสัยเราไปพอสมควร ตอนเด็กผมยอมรับว่างอแง ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องอ่านหนังสือให้พ่อแม่ฟังวันละบท เช้าอ่านหนังสือให้พ่อฟัง ๑ บท บ่ายต้องอ่านภาษาอังกฤษให้แม่ฟัง ๑ บท นอกจากนั้นแล้วยังต้องเขียนเรียงความอธิบายอะไรก็ไม่รู้ ทำไม ผมโดนบังคับให้ทำสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่อ่านออกเขียนได้จนถึง ม. ๓ เลยครับ ทั้งที่การบ้านเยอะแต่ก็ต้องทำ ช่วงปิดเทอมอยากไปเที่ยว อยากไปปั่นจักรยาน เพื่อนได้ไปซัมเมอร์ที่นั่นที่นี่ แต่เราอยู่แต่ในบ้าน ต้องทำพวกนี้ให้เสร็จก่อน เราได้แต่สงสัยว่าทำไม้ทำไม พอโตขึ้น พอได้มาทำงาน สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ในชีวิตได้เยอะทีเดียว เราก็เพิ่งรู้ว่าเฮ้ย มันมีประโยชน์มาก เพิ่งมาเห็นดอกเบี้ยก็เมื่อเวลาผ่านไป ๕-๖ ปี พอพบแล้วว่าประโยชน์ของมันคืออะไร ผมไม่เคยเสียดายช่วงเวลานั้นเลย

johnwinyu04

ข่าวที่นำมาวิเคราะห์ในรายการบางทีมองข้ามไปอีกระดับเลยว่าข่าวบางข่าวเป็นการสร้างข่าวกลบกระแสของรัฐบาล เช่นตอน “ทุจริต ชิมิฮาว์ฟฟ” มีข้อมูลอ้างอิงรองรับหรือเปล่า
ก็เป็นการนำเสนอความคิดเห็นของเราด้วยครับ ส่วนข้อมูลหรือตัวเลขแต่ละเรื่องจะมีการตรวจสอบก่อนทั้งหมด ทั้งการเปรียบเทียบกับสื่อต่าง ๆ และต้องให้ครบด้วย อันที่จริงก็เป็นข้อมูลที่รู้ ๆ กันอยู่นะแต่นำมารายงานเชิงเสียดสีมากกว่า

ดูเหมือนว่าถ้าเลือกได้คุณอยากทำอาชีพด้านข่าวมากกว่าหรือเปล่า
ผมคิดว่ามันบาลานซ์ได้ครับ ถ้าข่าวมากเกินไปผมก็อาจจะเข้าถึงกลุ่มที่ผมคุ้นเคยคือวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ยาก เพราะเขาอาจจะเกิดกำแพงอะไรสักอย่างขึ้นมา แต่พอผมทำแบบนี้กลับกลายเป็นว่าเด็ก ม. ต้น เด็ก ม. ปลาย ที่หมกมุ่นกับการอ่านหนังสือ กับชีวิตส่วนตัว หรือเล่นเกมกับเพื่อน ได้หันมาดูข่าวพวกนี้บ้าง

วัยรุ่นเลือกไม่ดูข่าวเพราะเป็นเรื่องไกลตัวและน่าเบื่อ
เป็นไปได้ แต่ผมกลับมองว่าเรื่องราวทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นเรื่องใกล้ตัว เขาอาจจะรู้สึกว่าทะเลาะกันอีกแล้ว คอร์รัปชันเรื่องปรกติ ซึ่งเราต้องพยายามเปลี่ยนแนวคิดคนพวกนี้ว่าไม่ได้นะ มันไม่ใช่เรื่องที่ปล่อยผ่านหรือเบือนหน้าหนีแล้วผ่านไป ใต้โต๊ะไปเถอะทุกอย่างจะได้สะดวกขึ้น…มันต้องไม่ใช่อย่างนั้นสิ มันผ่านมานานมากแล้วจนคาดหวังอะไรกับกระบวนการในปัจจุบันไม่ได้แล้ว ผมรู้สึกว่าที่มันจะแก้ทันหรือน่าจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตก็คือคนที่จะใช้ชีวิตหรือมีบทบาทต่อสังคมในอนาคต ซึ่งก็คือคนรุ่นใหม่และวัยรุ่น

เพราะเหตุนี้จึงเลือกช่องทางอินเทอร์เน็ตหรือเปล่าครับ
เพราะมันเป็นฟรีมีเดียด้วย เวลาที่เราเปิดตอนนั้นงบประมาณไม่มาก อยู่ที่หลักแสนต้น ๆ แต่คืนทุนตั้งแต่ ๒ ปีแรก ตอนนี้ก็เป็นการทำโฆษณา ทุกอย่างดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะมันต่างจากฟรีทีวีมาก ๆ การที่ลูกค้าจะเชื่ออะไรก็ค่อนข้างยาก เช่นให้ลูกค้ามาผูกกับ “เจาะข่าวตื้น” เขาก็เกิดอาการหวาดระแวงพอสมควร เราก็บอกเขาว่าถ้าคุณจะซื้อโฆษณาก็ซื้อแยกขาดจาก “เจาะข่าวตื้น” เขาก็ยังมีความกังวลอยู่ครับว่ามันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์สินค้าเขาหรือเปล่า

johnwinyu06
คุณเคยพูดว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองคือการเซ็นเซอร์ที่อันตรายที่สุด อย่างไรครับ
พอเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ตนนำเสนอเป็นสิ่งที่ผิดหรือคนอื่นคงไม่ชอบ มันก็เป็นที่มาของการเซ็นเซอร์อื่น ๆ ด้วย ผมยอมรับว่าเคยมีคำขอมา (ตอน ศอฮ.กับ เสธ.ไก่อบ) ว่าขอให้เอาออกได้ไหม ตอนนั้นรู้สึกปวดใจมากที่ต้องทำ มันเป็นเรื่องความเกรงใจด้วยครับ แต่ผมบอกตัวเองมาตลอดรวมทั้งทีมงานและพี่สาวด้วยว่าเราจะไม่ทำอย่างนี้อีกแล้วนะ เราทำแค่ครั้งเดียว เพราะรู้สึกว่าถ้าเราเริ่มอย่างนี้เราก็จะรู้สึกไปตลอดว่า เอ๊ะ ข่าวนี้ควรพูดไหม เดี๋ยวมันจะไปกระทบใครไหม ท้ายที่สุดจุดยืนที่มีอยู่มันจะหายไปหมด

สิ่งเหล่านี้เกิดจากคุณอึดอัดกับการทำรายการโทรทัศน์มาก่อนหรือเปล่า
สำหรับผม พวกเซ็นเซอร์เหล้า บุหรี่ เป็นเรื่องงี่เง่าไร้สาระอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งตอนที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมกัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือรายการวัยรุ่นก็ถูกบอกว่าไม่ต้องพูดนะ ให้ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็…จะบ้าเหรอ เด็กมันยัง SMS มาเลยว่า “เพ่…ตรงนี้รถติดมากเลยอ้อมไปไม่ได้ ถนนตรงนี้ไปไม่ได้รถถังออกมาแล้ว”

มันชัดเจนว่าเกิดขึ้นแต่เราต้องเลือกที่จะไม่พูด ยอมรับครับว่าอึดอัด แต่ก็เข้าใจวัฒนธรรมและความอยู่รอดขององค์กรและบุคลากรในองค์กร ถ้าเกิดไม่พอใจกันขึ้นมาทั้งคลื่น ทั้งรายการถูกถอด คนก็ตกงานไม่มีรายได้กันพรึ่บ แต่ผมเห็นว่าเรามีช่องทางฟรีมีเดียอยู่ ถ้ายังตามมาปิดเว็บจะยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ไปอีกว่าสังคมไทยมันเกิดการเซ็นเซอร์ได้ขนาดนี้เลยหรือ 

ปัจจุบันมีการปิดเว็บไซต์จำนวนมากเป็นแสนเว็บ คุณเห็นอย่างไร
ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วกับการปิดเว็บไซต์ มันเป็นการปิดกั้น ดูถูกคนไทย คิดว่าคนไทยโง่ แยกแยะอะไรไม่ได้ คือคนไทยมีหัวสมองมากพอจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรารับได้หรือเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ คนไทยก็ควรมีสิทธิที่จะเลือก การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กลายเป็นเครื่องมือปิดนั่นปิดนี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่สมควร

มีคนบอกว่าถ้าอย่างนั้นเว็บโป๊ก็ ไม่ควรจะปิดด้วย
ผมว่าเซ็กซ์มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน สมมุติพูดเรื่องทำแท้งแล้วมีคนบอกว่าถ้าปล่อยให้มีการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย ผู้หญิงก็จะแห่ไปทำแท้งกันหมด จะบ้าเหรอ ! ผู้หญิงทำแท้งมันต้องขูดมดลูกนะเว้ย เจ็บนะเว้ย คิดว่ามันเป็นเรื่องสนุกเหรอ อุ๊ย ! ท้องแล้วไปทำแท้งดีกว่า แล้วการแก้ปัญหาที่ต้นตอมันคืออะไร คุณควรพูดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ให้โจ่งแจ้งขึ้นไหมในเรื่องการป้องกันหรือการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอะอะก็ไม่เอา ๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด ผมถามว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือเปล่า หรือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการปิดเว็บ การเซ็นเซอร์พวกเหล้า บุหรี่ ร่องนมในทีวี คิดว่ามันได้ผลเหรอ คุณมีกฎหมายควบคุมเรื่องคลินิกทำแท้ง อายุของการมีเพศสัมพันธ์ การบังคับใช้กฎหมายให้ถูกทางหรือบังคับให้ดียิ่งขึ้นมันอาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้นก็ได้ หรือแม้แต่เรื่องข่มขืน ถ้าตำรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มันจะแก้ปัญหาได้มากกว่าการปิดเว็บโป๊เสียอีก

แสดงว่าไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ทำนองว่า “ให้เหล้า = แช่ง” หรือ “จน เครียด กินเหล้า”
(หัวเราะ) ก็ดูน่ารักดีครับ ถ้าถามว่าแก้ปัญหาได้หรือเปล่า ก็คงแก้ปัญหาได้แบบน่ารัก ๆ แต่ท้ายที่สุดมันก็ย้อนกลับไปที่รากหรือต้นตอของมันมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวหรือการศึกษา เมื่อก่อนกระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงอื่นอีก แต่ทำไมคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยถึงไม่ได้รับการพัฒนามากเท่าที่ควรจะเป็น สมมุติจ่ายไป ๑๐๐ ได้แค่ ๔๐ แล้วคุณจะมาปิดเว็บนั้นเว็บนี้ แต่คุณไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตเขาเลย คุณโกงกินจากการผลาญเงินภาษีประชาชนหรือเอาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แล้วคุณมีอำนาจที่จะมาปิดเว็บเนี่ยนะ คุณยังโกงเราเลยแล้วมีสิทธิ์อะไรมาปิดเว็บ คุณคิดว่าประโยชน์สูงสุดของประชาชนคือการปิดเว็บเหรอ

ไม่ต่างอะไรกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ คน ๕ คนมีสิทธิ์อะไรมาเซ็นเซอร์
ถ้ามีการโหวตกันมาว่าจะให้ใครเซ็นเซอร์ ผมยังจะยอมให้เซ็นเซอร์หรือยอมรับได้มากกว่า ถ้ามีคนที่ผมพอรับได้ว่าคนคนนี้มีสติปัญญามากพอแล้วได้รับการโหวต ผมก็จะรู้สึกว่าการเซ็นเซอร์พวกนี้มีเหตุมีผล แต่ว่าพวกนี้เป็นใครมาจากไหน ยังไม่รู้ว่าคนพวกนี้เป็นใคร ยังไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้ประวัติเลย

นิยามคำว่าคนรุ่นใหม่ของคุณเป็นอย่างไร
คนรุ่นใหม่คือคนที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะก้าวเข้าสู่วังวนของการเป็นคนเห็นแก่ตัวหรือการคอร์รัปชัน มันอันตรายเพราะปัจจุบันนี้กลุ่มคนที่เอาประโยชน์เข้าตัวมีมากขึ้น และอยู่ตามองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน แล้วมีทัศนคติของการใต้โต๊ะ ซึ่งอาจจะผิดแต่เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้ตัวเอง คนรุ่นใหม่คือคนที่กำลังก้าวไปสู่องค์กรเหล่านั้น หรืออยู่ในองค์กรเหล่านั้นแล้ว แต่กำลังอยู่ในช่วงที่ว่า…เอ๊ะ เราจะกลายเป็นคนแบบนั้นหรือเปล่า คนรุ่นใหม่นั้นน่าเป็นห่วงมาก เราต้องรีบปลูกจิตสำนึกอะไรสักอย่างให้เขาเพื่อให้ตื่นตัวก่อนว่าพวกนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ ถ้าก้าวไปสู่จุดนั้นคุณก็จะก้าวไปสู่ความสะดวกสบายแต่ตัวเอง เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว เราต้องปลูกจิตสำนึกว่าคุณจะเลือกเข้าหรือไม่เข้าไปอยู่ในองค์กรนั้น หรือต้องไม่กลายเป็นแบบคนรุ่นเก่า

คนรุ่นใหม่ก็คือคนที่อยู่ในช่วงเพิ่งเข้าทำงาน อยากรวยเร็ว ทำธุรกิจอะไรต่อมิอะไร อยากประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แต่ต้องเจอแนวขวางกั้นของความอยุติธรรมอยู่ ต้องส่วยนิดก่อน อยากประสบความสำเร็จต้องยัดเงินก่อน เราต้องเปลี่ยนตรงจุดนั้น เราร้องเรียนได้ไหมเพื่อให้ความคิดสะดวกสบายจากความไม่ถูกต้องหมดไป เราต้องยอมที่จะลำบาก ยอมไม่สะดวกสบายสักนิด ผมเข้าใจว่ามันลำบาก มันยาก ถ้าทำได้มันจะเป็นการแสดงพัฒนาการของสังคมอย่างแท้จริง

ดูเหมือนคุณจะให้ความสำคัญกับการโกงกินมาก
คุณพ่อผมมีลูกศิษย์เป็นนักการเมือง ทหาร และตำรวจเยอะ เขาจะมีเรื่องขำ ๆ มาเล่าให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ เรื่องการใช้เงินของคนเหล่านี้ คุณพ่อไม่ได้พูดแบบซีเรียส แต่เรารู้ว่าลึก ๆ แล้วเขาไม่สบายใจ จนพอเราโตขึ้นมาแล้วเสียภาษี เราก็โดนจี้โดนจิกขาดไป ๓,๐๐๐ ขาดไปหมื่น ย้อนหลังบวกดอกเบี้ยกี่วัน ๆ จิกกันเหลือเกิน แต่เวลาถามถึงเงินที่เอาไปใช้เนี่ยไม่เคยบอกกูเลย ! เราก็เลยรู้สึกว่าเวลาใช้เงินจ้างคนนี้ให้มาทำอะไร เราก็ต้องการให้เขาใช้เงินของเราให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เฮ้ย ถ้ามันมีผลงานบ้างก็โอเค แต่แบบว่า เฮ้ย มึงใช้เงินกูไม่คุ้มค่า แม่ค้าทอนตังค์ไม่ครบ ๕ บาท ๑๐ บาท โกร๊ธโกรธ เก็บภาษีเราทางอ้อม ภาษีเราก็ไปอยู่ในนั้นอยู่ดี

ปัญหาที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ต้องเผชิญมีอะไรบ้างครับ
มันเป็นปัญหาที่มาจากระบบเดิม ๆ ด้วยครับ ในแง่ที่ประเทศอื่นก้าวหน้าซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าประเทศอื่นคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน แต่เราก็คงจะเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยน่าจะล้ำหน้ากว่านี้ได้ด้วยซ้ำ คนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวสู่ระบบ เข้าสู่การศึกษา ยังไม่ได้รับสิ่งที่ดีพอสำหรับเขา เขาควรจะได้รับอะไรที่ดีกว่านี้ สิ่งที่คนรุ่นใหม่โดนระบบเก่า ๆ รังแกก็เป็นต้นว่าพอจบมาเด็กบางกลุ่มอาจได้เรียนพิเศษ เรียนต่างประเทศ เรียนมหาวิทยาลัยแพง ๆ เพราะบ้านมีเงิน หรือคนที่สอบชิงทุนไปเรียนเมืองนอกสัก ๑๐๐ คน มีแค่ ๒๐ คนที่ได้ อีก ๘๐ คนคือเด็กต่างจังหวัดที่ไม่มีโอกาส ต้องอยู่กับระบบเดิม ๆ กับการศึกษาที่ไม่พัฒนาเท่าที่ควร แล้วเขาจะไปสู้ต่างชาติได้ยังไง ไปสู้กับคนที่คิดล่วงหน้าล้ำหน้ากว่าไม่ว่าเรื่องเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ หรือการป้องกันประเทศได้อย่างไร ผมว่านั่นคือความโชคร้ายที่เด็กรุ่นใหม่ต้องเจอ

ถ้าสมมุติว่าฟรีทีวีบางช่องให้ไปจัดรายการ “เจาะข่าวตื้น” จะทำไหมครับ
ผมว่าคนรับไม่ได้ (หัวเราะ) แล้วท้ายที่สุดก็คงจะโดนเซ็นเซอร์ ผมคิดว่าตอนนี้กลุ่มที่มีอำนาจเขารับได้เพราะมันเป็นรายการที่รับกันไม่กี่กลุ่ม หรือถ้าต้องดัดแปลง ลดตอนนั้นทอนตรงนี้ ผมไม่เอาดีกว่าครับ ผมแฮปปี้กับการทำรายการบนเว็บมากกว่า ผมสบายใจเพราะรู้สึกว่ามันอิสระจริง ๆ ถ้าอยู่บนฟรีทีวีคนเปิดมาช่องนี้แล้วต้องเจอเราวันนี้เวลานี้ มันเหมือนโดนจับยัด ผมแฮปปี้กับการที่คนเลือกที่จะพิมพ์ www.iHere.tv
แล้วเข้ามากดดูรายการต่าง ๆ ตรงนั้นมากกว่า ในอนาคตผมเชื่อว่าสื่ออินเทอร์เน็ตจะมีความใกล้ชิดกับคนมากขึ้น เรามีโอกาสที่จะใกล้ชิดคนที่อยากดูอยากเสพข่าวสารในสไตล์ของเรา

เท่าที่อ่านความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต มีบางคนตำหนิว่ารายการของคุณนำเสนอความจริงแค่บางด้าน คุณมองอย่างไร
ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นของตนเอง ผมไม่ได้มองว่าใครจะมีความเห็นที่ถูกหรือความเห็นที่ผิด ก็ขอบคุณที่แสดงความคิดเห็นมา ถ้าสิ่งที่วิจารณ์มาแล้วเราเห็นด้วยเราก็จะนำไปปรับปรุง ถ้าบอกว่าเรานำเสนอด้านเดียวก็ขึ้นอยู่กับหัวข้อ ถ้าข้อมูลมันชัดเจนมาด้านนี้ อีกฝั่งก็ไม่พูดไม่ตอบ…สมมุติเรื่องซื้อเครื่องบิน ซื้อรถถัง ตลกมาก ผมไปล้อเรื่อง Gripen (ข่าวช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ เรื่องการอนุมัติโครงการจัดซื้อ Gripen จำนวน ๑๒ ลำตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ ด้วยงบประมาณ ๓๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าที่อีก ๕ ประเทศซื้อในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน) ก็มีคนไม่พอใจมาก ส่งอีเมลมาบอกว่า ไม่จริงนะครับ คุณช่วยแก้เลยว่า Gripen บินได้นะ (หัวเราะ) มันไม่ได้มีสาระ ผมก็ฟังบ้าง อย่างน้อยคุณก็ดูและอยากแสดงความคิดเห็น

 

ช่วงแรกก็เสียความรู้สึกบ้าง ตอนหลังเริ่มปรับตัวเองได้ ถ้าให้ทุกคนชอบคงเป็นไปไม่ได้ บางคนก็ไม่เข้าใจการเสียดสีของเรา อย่างบอกว่า Gripen มาแบบป๊อง ๆ กิ๊ง ๆ เปล่า ! เราแค่จะเปรียบเทียบ เหมือนกับรถที่ออกจากอู่ เราก็อยากได้ของที่ อ็อปชันเยอะ ๆ แต่มันอ็อปชันอย่างนี้จริงเหรอ บางคนก็ไปคิดเป็นจริงเป็นจัง หรือพูดเสียดสีเรื่องรถถัง (ข่าวเมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ กองทัพไทยร่วมกับกองทัพบกระดมรถถังเก่าที่ไม่ใช้งานเพื่อจัดสร้างเป็น ปะการังเทียม ในโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ. ปัตตานีและนราธิวาส) โอย ! เอารถถังไปปล่อยเป็นปะการังหมดเลย ฮุนเซนอยากสั่งรถถังใหม่มาสั่งเราก็ได้ เรามีเยอะจนเรายังเอาไปโยนทะเล (เปลี่ยนเสียงเป็นเสียงคนอื่น) พูดแบบนี้ได้ไง รถถังมันปลดประจำการแล้ว มันเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม…เฮ้ย ไม่เข้าใจเหรอว่าล้อเล่น มันซื้อมาเยอะเกินแล้วมันใช้การไม่ได้…แรก ๆ ก็เซ็งเหมือนกันที่คนไม่เก็ต แต่ช่วงหลังก็ไม่ได้คิดอะไรมากแล้ว 

วัฒนธรรมการวิจารณ์บ้านเราต้องค่อย ๆ ปรับมากกว่านี้
ผมว่าก็มีส่วนนะครับ เวลานี้ถ้าเราวิจารณ์รัฐเราก็โดนจับเข้าหมวดหมู่ของสีทันที อย่างเทปที่ผ่านมาตอน “ทุจริต ชิมิฮาว์ฟฟ” คนมาแสดงความเห็นใน YouTube ว่าคุณจอห์นต้องเสื้อแดงแน่เลย เพราะเล่นแต่รัฐบาลชุดนี้ตลอด เราก็แบบ…เฮ้ย ! เดี๋ยวรัฐบาลอีกชุดขึ้นมา ผมก็เอามาเล่น กลายเป็นว่าพอพูดพอวิจารณ์แสดงความเห็นก็จะถูกจับเข้าหมวดหมู่ทันที ซึ่งเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติพวกนี้ การที่เราแสดงความคิดเห็นอะไรออกมาเป็นการแสดงความเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่การที่คุณมาบอกว่าเราเป็นสีนั้นสีนี้มันไม่เวิร์ก

คุณพ่อดูรายการแล้วรู้สึกยังไงบ้างครับ
ตอนแรกกังวล มีลูกศิษย์คุณพ่อที่อยู่เสนาธิการทหารมาบอกว่าที่ไอซีที (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) มอนิเตอร์อยู่ แต่เขาก็บอกว่ามันไม่ได้เป็นภัยอะไร มันเป็นรายการข่าวของวัยรุ่น ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายหรือกระทบต่อความมั่นคง พวก เสธ. ก็บอก “ลูกชายฝีปากจัดจ้านนะเนี่ย” แรก ๆ คุณพ่อก็เป็นห่วงเรานะครับว่าจะมีผลกระทบกับอาชีพที่องค์กรหรือเปล่า แล้วรายการจะส่งผลกับคนที่อยู่ในองค์กรเดียวกันหรือเปล่า ถ้ารายการเราถูกถอดขึ้นมา พวกครีเอทีฟ ทีมงานเขาจะทำยังไง แต่ผมคิดว่าความเป็นห่วงช่วงแรก ๆ คือห่วงว่าความพอดีมันจะมากล้นหรือน้อยเกินไป ตอนนี้ทีมงาน พี่สาว และผมรู้สึกว่าเราเจอจุดที่พอดีในการนำเสนอรายการนี้แล้ว เมื่อก่อนยอมรับว่ามีความหยาบหรือใส่อารมณ์มากไปนิด บางทีเราก็ต้องหาความพอดี ตอนนี้เราเลยสบายใจในการทำแต่ละเทปเพราะเรารู้แล้วว่าอะไรพอดีกับพวกเรา พอดีกับคนดูด้วย และให้เขาเข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอ

ก่อนทำรายการแต่ละตอนมีไหมครับที่พอถกเถียงกันแล้วความคิดเราเปลี่ยนไป
มีบ้างครับ อย่างพูดเรื่องการทำแท้ง ผมเองยอมรับว่าข่าวศพทารก ๒,๐๐๐ กว่าศพ (คดีซากทารกจากการทำแท้ง ๒๐๐๒ ศพ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓) ก็คิดว่า เออ ถ้ามันแก้ได้ต้องแก้ให้มีการทำแท้งถูกกฎหมาย ผมคิดว่าตัวเองถูกมาตลอด การทำแท้งถูกกฎหมายน่าจะปลอดภัยและช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้าง แต่พอคุยกันที่ออฟฟิซ โยนไอเดียกันไปมาเรื่องกฎหมาย การบังคับใช้ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุปลายเหตุ มันเปลี่ยนความคิดผมไปเยอะเหมือนกัน บางคนบอกให้แก้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้ชายที่ทำผู้หญิงท้องแล้วไม่รับผิดชอบ มันแก้ปัญหาได้ตรงไหน คือถึงคุณออกกฎหมายมาท้ายที่สุดการบังคับใช้กฎหมายมันก็ไม่ดีอยู่ดี แล้วคุณจะแก้มันได้ยังไง คุณควรจะดูกฎหมายฉบับก่อน ๆ หรือเปล่า และควรจะบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นหรือให้เห็นการลงโทษที่มันชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่เอาผิดกับผู้ชายที่ทำผู้หญิงท้องแล้วต้องไปทำแท้ง มีการตรวจดีเอ็นเอ รัฐต้องเสียเงินเท่าไหร่แค่ตรวจดีเอ็นเอจากศพนี่ก็ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ แล้ว แถมยังต้องไปตรวจดีเอ็นเอผู้ชายที่โดนกล่าวหาอีก ท้ายที่สุดก็ต้องเอาอัยการ ตำรวจ มาสืบสวนคดีของผู้ชายคนนี้คนเดียว โอ้โฮ ! ไปกันใหญ่ ท้ายที่สุดเราควรจะแก้ที่ต้นเหตุก่อนดีกว่าไหม เออ มันก็ได้ไอเดียใหม่จริง ๆ ด้วย คุยไปคุยมามันก็มีต้นเหตุมากกว่านี้ ซึ่งนี่มาจากการเขียนสคริปต์และถ่ายทำรายการแต่ละครั้ง

ยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้นทะลักอย่างทุกวันนี้ คนจะรับข้อมูลข่าวสารจากการแชร์ผ่านทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก บีบี ฯลฯ แล้วเราจะรู้เท่าทันข่าวเหล่านี้ได้อย่างไร
ทวิตเตอร์ผมก็ใช้นะ ส่วนใหญ่จะรีทวีต (retweet) ข่าวที่น่าสนใจ เช่นข่าวต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผมจะตามข่าว สำนักข่าว AP, Washington Post หรือ MSNBC ผมคิดว่าการที่จะแชร์หรือบรอดคาสต์ข้อมูลเหล่านี้ก็ต้องดูก่อนครับว่ามันได้ประโยชน์หรือเปล่ากับคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เราส่งต่อไป ตัวเราเองก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วยว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แล้วผมว่าด้วยความที่มันเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับคนไทย หรือของพวกนี้พอมาอยู่ในมือมันจะรู้สึกว่ามันมีพลัง มีอำนาจอยู่ในมือ ก็…แชร์มันเลย เหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่ มันจะรู้สึกตื่นเต้น แต่ผมก็ไม่ได้รีทวีตคริสปี้ครีมวันนี้ลดราคาเพื่อชวนให้คนไปต่อคิวกัน บีบีจะออกโปรแกรมใหม่อัปเดตกันด่วน ผมก็ไม่ได้ทำอะไรพวกนั้นเพราะมันไม่ได้ประโยชน์ คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของสินค้ามากกว่า

แสดงว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเครือข่ายสังคมออนไลน์มากนัก
ผมไม่ได้คิดว่ามันมีอะไรขนาดนั้น เพราะคนที่เข้าถึง social network เหล่านี้ก็ไม่ใช่คนทั้งหมดของประเทศนี้ คน ๖๐ ล้านคนอาจจะมีคนเล่นสัก ๖ ล้าน มันเป็นปรากฏการณ์ของคนกรุงหรือเปล่า หรือคนที่มีตังค์พอจะซื้อคอมพิวเตอร์หรือเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือหรือเปล่า

แล้วปรากฏการณ์แห่เข้าคิวซื้อโดนัทคริสปี้ครีม คุณมองยังไง
ผมก็พูดแซวมาหลายรอบแล้วครับ ถ้าอยากลองก็ลองกันไป บางทีคนคงไม่เคยสัมผัส เป็นสิ่งที่บอกกันต่อ เช่นไปสิงคโปร์ต้องหิ้วคริสปี้ครีมกลับมา ๓ กล่อง แอร์โฮสเตสของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์สก็มองว่าไอ้นี่ บ้าหรือเปล่า ถือคริสปี้ครีมมาฝากคนกรุงเทพฯ มันเป็นกระแสที่บอกต่อ ๆ กัน แต่ผมมองว่าเป็นการตลาดมากกว่า คนที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ ก็นั่นแหละครับ…เจ้าของธุรกิจ เจ้าของสินค้า ปรากฏการณ์นี้มันส่งผลมายาวนานตั้งแต่ระบบการศึกษาแล้ว มันทำให้ท้ายที่สุดคนไม่เลือกใช้เวลาว่างไปกับการทำงานหรือการเรียนหนังสือ ไม่รู้ว่าสิ่งไหนคุ้มค่ากว่ากัน จะมาเสียเวลายืนต่อแถวทำไม มันก็คือแป้ง ความอร่อยชั่วขณะมันคุ้มค่ากับการที่คุณมายืนเข้าคิวรอ ๓ ชั่วโมงหรือเปล่า

รายการรวมทั้งตัวคุณถือว่ามีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไม่น้อย อย่างคำว่า “ชิมิฮาว์ฟฟ” ก็มีคนใช้เลียนแบบในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง นี่เป็นการรับอิทธิพลบางด้านโดยลืมสารที่คุณต้องการสื่อหรือเปล่า
ไม่หรอกครับ อย่างคำว่า “ชิมิฮาว์ฟฟ” ในสคริปต์ก็ไม่ได้เขียน มันออกมาตามอารมณ์ความรู้สึกขณะถ่ายทำ มันมาจาก “ครับ” บวก “ฮะ” พูดเร็ว ๆ ไปตามความคะนอง “ใช่มั้ยคร้าบ” “ใช่มั้ยฮาว์ฟฟ” “ชิมิฮาว์ฟฟ” มุกนี้มาแบบรวดเร็วมาก แล้วพี่สาวบอกชอบ เทกเมื่อกี้ดีนะเอาไปเลย มันก็เลยออกอากาศไป คำมันก็บ่งบอกความเป็นวัยรุ่น ความสแลงของเรา การที่คนเอาไปพูดต่อถ้ามีต้นตอมาจากรายการของเรา แค่นั้นผมก็รู้สึกว่าโอเคแล้วนะ อย่างน้อยเขาก็ได้เสพได้บริโภคไปบ้าง ส่วนเขาจะกลับมาดูอีกครั้งเพื่อจะได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ไปอีกไหม ถ้าเป็นไปได้ก็จะดีมาก การที่คุณไตรรงค์ (สุวรรณคีรี) รองนายกรัฐมนตรี ออกมาตำหนิศัพท์วัยรุ่นนั้นเอาต์มากเลยครับ จนเขาจะเลิกใช้กันอยู่แล้ว แหม ! คงเห็นว่า easy target เล่นมันซะเลย ภาษาไทยต้องเป็นภาษาแห่งชาติ ตุ๊ด กะเทย พวกเบี่ยงเบนต้องเล่นมันให้หมด เช่นกันกรณีหนังเรื่อง Insects in the Backyard (กำกับโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ภาพยนตร์ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายด้วยเหตุผลว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงและขัดต่อศีลธรรมอันดี) มันกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติยังไงครับ คุณรู้ได้ไงว่าปัญหานี้มันมีความสำคัญที่ควรจะแก้ไข คุณแยกแยะยังไงระหว่างที่คุณไปเล่นเรื่องพวกนี้แล้วยังมีคนที่ประสบภัยน้ำท่วมแต่ของยังไม่ถึงมือเขาเพราะคุณมัวแต่ถ่ายภาพแจกของกันอยู่

คิดจะแตกแขนงไปทำงานสื่ออื่นหรือเปล่าครับ อย่างเขียนหนังสือหรือทำสื่อแขนงอื่น ๆ
ผมคงจะโฟกัสกับ iHere.tv ไปก่อนครับ ให้มันสร้างผลสะเทือนบางอย่าง ไม่อยากให้คุณภาพรายการด้อยลง บางทีด้วยความที่มีรายได้เข้ามาเสริมด้วย เราใส่พลังใส่ความคิดของเราได้มากขึ้น มันก็จะมีความถี่มากยิ่งขึ้นตามที่คนอยากดูกัน ถ้าตอนนี้เราไปโฟกัสตรงจุดอื่นมันจะกระจัดกระจาย ท้ายที่สุดผมว่าของที่เรามีคุณภาพจะต่ำลงด้วย สิ่งที่ฝันอยากให้มีเวลานี้นะครับ คืออยากให้มีรายการได้ทุกสัปดาห์ ถ้าทำได้ต่อไปอยากให้มีทุกวัน