morsem01

วีระศักร จันทร์ส่งแสง : รายงาน
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว มีอายุครบ ๑ ศตวรรษ และยังมีชีวิตอยู่

นอกจากเรื่องราวมากมายในช่วง ๑๐๐ ปีแห่งชีวิต ที่ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำ แพทย์ชนบทคนนี้ยังเก็บดาบโบราณเล่มหนึ่งเอาไว้จนถึงทุกวันนี้ด้วย

เป็นดาบเหล็กกล้าที่เขาได้มาจากนักเลงลูกทุ่งคนหนึ่งเมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อน ตอนที่เขาเพิ่งเป็นนายแพทย์ใหม่ ๆ

ชายคนนั้นมาหานายแพทย์เสมที่โรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครสวรรค์กลางดึก ขอให้ไปช่วยทำคลอดเมียที่เจ็บท้องมาวันกับคืนหนึ่งแล้ว หมอหนุ่มตามชายคนนั้นไปที่บ้านซึ่งเป็นเรือนไม้ปลูกอยู่กลางบึงบอระเพ็ด พร้อมเครื่องมือทำคลอดที่เรียกว่า Forceps

เขาเคยเรียนรู้การใช้เครื่องมือนี้มาบ้างในห้องเรียน แต่ก็ไม่เคยทำคลอดมาก่อนเลย

หญิงเมียชาวประมงในบึงบอระเพ็ดนั้นก็เป็นท้องแรก และเธอกำลังหมดแรงเบ่งลงไปเรื่อย ๆ หมอใช้คีมช่วยคลอด แต่ดึงเท่าไรเด็กก็ยังไม่ยอมออก

และนักเลงบ้านทุ่งผู้ผัวก็พูดขึ้น “คุณหมอ ถ้าเมียผมตาย คุณหมอกลับบ้านไม่ได้นะ”

เขามีดาบอยู่ด้วย เวลามีลมพัดมา หมอหนุ่มจะเห็นแสงตะเกียงรั้วกระทบคมดาบอยู่แปลบปลาบ ให้นึกหวั่นใจว่าตัวเองคงต้องแย่แล้ว และนั่นได้กลายเป็นแรงส่งให้เขาดึงเด็กออกมาทีเดียว พร้อมกับเสียงร้องจ้าของเด็ก ปลุกเขาตื่นจากภวังค์

ก่อนกลับออกจากบึงบอระเพ็ด พ่อของเจ้าหนูที่เพิ่งลืมตาดูโลก มอบดาบประจำกายของเขาแก่หมอหนุ่มเป็นการขอบคุณและคารวะ

เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งของชีวิตที่ยาวนาน ๑ ศตวรรษของนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ที่ถูกนำมาเล่าไว้ในนิทรรศการ “๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว” ภายในงานชื่อเดียวกัน ที่บรรดาลูกศิษย์และคนใกล้ชิดจัดขึ้นเพื่อแสดงมุทิตาจิต มีผู้มาร่วมงานจากทั่วประเทศนับพันคน จนเต็มล้นออกมารายรอบหอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔

morsem02๓๑ พฤษภาคม ๒๔๕๔ เขาถือกำเนิดที่กรุงเทพฯ ย่านถนนรองเมือง เมื่อแรกเกิดได้ชื่อว่า “เกษม” แต่ต่อมามารดาเปลี่ยนให้ใหม่ว่า เสม มาจากคำว่า เสมา ที่หมายถึงหลักบอกเขตอุโบสถ มีบรรพบุรุษชั้นยายทวดชื่อ ขรัวยายมา เป็นข้ารับใช้ในวังสระปทุม ทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่แรกประสูติ หลังพ่อเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเด็กชายเสมมีอายุเพียง ๘ เดือน แม่กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นพนักงานวิเสท (คนทำกับข้าว) ในวังสระปทุม ลูกชายจึงได้รับการอุปการะเลี้ยงดูอยู่ภายในวังสระปทุมมาตั้งแต่เล็ก

เขาจบปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ของคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี ๒๔๗๘ เริ่มต้นการทำหน้าที่แพทย์ด้วยการไปตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ ปราบโรคอหิวาต์ที่อัมพวา สมุทรสงคราม และประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในถิ่นชนบทครั้งนั้น เป็นความประทับใจที่ทำให้เขาตัดสินใจเป็นแพทย์ชนบทต่อมาอีกกว่า ๑๐ ปี

ไปเป็นนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลเทศบาลเมืองนครสวรรค์ ในปี ๒๔๗๙ ซึ่งถือเป็นแพทย์ปริญญาคนแรกของโรงพยาบาลแห่งนี้ รวมทั้งการทำคลอดท้องแรกให้เมียชาวประมงในบึงบอระเพ็ดที่มอบดาบโบราณให้เขาไว้เป็นที่ระลึก

ปีต่อมาย้ายไปเป็นนายแพทย์ผู้ปกครอง (เทียบเท่าผู้อำนวยการในปัจจุบัน) โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อยู่ที่นั่น ๑๔ ปี กระทั่งได้เลื่อนตำแหน่งเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิงในพระนคร (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลราชวิถี) ในปี ๒๔๙๔ และลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ ๘ ปี ในปี ๒๕๐๕

ตลอดช่วงชีวิตราชการ เขาได้บุกเบิกสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมายที่เกี่ยวกับระบบการบริการและการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน อาทิ

การประยุกต์ใช้ยาสมุนไพรช่วงที่ประเทศขาดแคลนยาเนื่องจากภาวะสงคราม

การตั้งธนาคารเลือดแห่งแรกของเมืองไทยขึ้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย

การผ่าตัดแฝดสยามได้สำเร็จ

การตั้งโรงพยาบาลหญิง โรงพยาบาลเด็ก และการขยายโรงพยาบาลจนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานที่เขาเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นกำลังผลักดันสำคัญ

morsem03และต่อมาปัญหาด้านสาธารณสุขพื้นฐานและความเป็นจริงของระบบการดูแลสุขภาพอนามัยในระดับท้องถิ่นของประเทศ ที่เขาได้ประสบคลุกคลีมาในช่วงที่เป็นแพทย์ชนบท เมื่อได้ถูกนำมาผสานเข้ากับบทบาทของเขาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา ก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อวงการสาธารณสุขไทยมาจนทุกวันนี้

หลักสุขภาพดีถ้วนหน้า การสาธารณสุขมูลฐาน การกระจายบริการสาธารณสุขสู่ชุมชน และคืนอำนาจในการดูแลสุขภาพตนเองกลับสู่ชุมชน ล้วนเป็นงานด้านสุขภาพอนามัยที่มีเขาเป็นผู้บุกเบิกวางรากฐานและทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง

การปฏิรูปโครงสร้างสาธารณสุข ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากแพทย์กลุ่มหนึ่ง แต่ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างหนาแน่นจากแพทย์และพยาบาลอีกกลุ่ม รวมทั้งองค์กรนักศึกษา จนในที่สุดสภาฯ ก็มีมติรับให้มีการบริหารราชการแนวใหม่ตามหลักการแบ่งส่วนราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๑๗

การประกาศใช้ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ก็ถือเป็นงานสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แม้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างหนักจากผู้มีผลประโยชน์ในธุรกิจยา

ชีวิตของนายแพทย์เสมถือเป็นแบบอย่างในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องดีงามของสังคม เป็นต้นแบบของคนที่ยืนหยัดในอุดมคติแห่งชีวิต และอุดมการณ์เพื่อสังคมได้อย่างมั่นคงตลอดชีวิต เป็นสัญลักษณ์ทางคุณธรรมอันเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลัง กระทั่งได้รับยกย่องว่าเป็นเสมือน “เสมา” บอกเขตคุณธรรมของสังคม

ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวถึงนายแพทย์ชนบทรุ่นบุกเบิกที่มีอายุครบศตวรรษในปีนี้ว่า “ปูชนียบุคคลเป็นไม่ได้โดยการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง แต่เกิดจากวัตรปฏิบัติของบุคคลที่ปรากฏต่อสังคมเป็นระยะเวลายาวนาน สังคมยกย่องนับถือขึ้นมาเอง วัตรปฏิบัติตลอดชีวิตอันยาวนานของอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว ปรากฏแก่คนทั่วไปว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการอุทิศตัวในการทำงาน บริการประชาชนยากจนในชนบทด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ดำรงมั่นในความสุจริตเที่ยงธรรม ทรงคุณทางวิทยาการและศาสนธรรม มีวิสัยทัศน์ยาวไกล เห็นวิถีทางมัชฌิมาปฏิปทาหรือสันติวรบท ส่งเสริมสนับสนุนอนุชนคนรุ่นหลังให้ดำเนินไปบนวิถีทางนี้ ปูชนียบุคคลที่มีอายุยืนยาวถึง ๑๐๐ ปี มีไม่มากนัก การที่ปูชนียบุคคลอย่างอาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว มีอายุยืนยาวถึง ๑๐๐ ปี ควรจะถือเป็นนิมิตหมายที่ดีแห่งการบังเกิดขึ้นของความดีในประเทศไทย”

ส่วนศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ปูชนียบุคคลที่มีอายุครบศตวรรษในปีนี้ เคยกล่าวถึงอุดมคติแห่งชีวิตของตนเองไว้ว่า

“การต่อต้านความไม่เป็นธรรมให้เป็นธรรม เป็นความกล้าหาญที่ต้องบูชาไว้”