สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

anek01

คุณ อานันท์ ปันยารชุน มอบรางวัล “สารคดี” เกียรติยศ ครั้งที่ ๑ แก่ เอนก นาวิกมูล

anek03

“เอนกรักงานสารคดีและเน้นงานสารคดีมาตลอด  กว่า ๓๐ ปีของการทำงาน เขาสร้างผลงานเป็นหนังสือสารคดีกว่า ๑๔๐ เล่ม โดยมีหลักการทำงานคือ ‘นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า’ เริ่มจากการอ่านและค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารและหนังสือเก่า ออกเดินทางไปสำรวจให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาตนเอง จดบันทึก สัมภาษณ์และถ่ายภาพ ประมวลข้อมูลจากหลายแหล่งอย่างถี่ถ้วน  ข้อมูลเก่าที่ขัดกันหรือขาดหลักฐาน เขาใช้ความพยายามมุ่งมั่นสืบเสาะและค้นหาที่มาและข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมได้รับความรู้ที่ถูกต้อง แม้บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี และค่าใช้จ่ายในการทำงานส่วนใหญ่มาจากทุนของตนเอง…ผลงานเหล่านี้ล้วนเปี่ยมด้วยคุณค่าในการสะท้อนภาพชีวิตสังคมไทยในอดีตที่เราหลงลืม  เอนก นาวิกมูล จึงเป็นนักเขียน นักค้นคว้า ผู้เป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรค่าแก่การยกย่องและสนับสนุน…”

คณะกรรมการตัดสินรางวัล “สารคดี” เกียรติยศ ครั้งที่ ๑

๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓  ชั้น ๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สิ้นเสียงประกาศ เอนก นาวิกมูล ในวัย ๕๗ ปี ก้าวออกมารับรางวัล “สารคดี” เกียรติยศ ครั้งที่ ๑ ซึ่งนิตยสาร สารคดี จัดให้มีการมอบเป็นครั้งแรกเนื่องในโอกาสที่นิตยสารเดินทางมาถึงปีที่ ๒๕

สำหรับ เอนก นาวิกมูล นี่คือรางวัลที่ใหญ่ที่สุดรางวัลแรกที่ได้รับ นับจากทำงานเขียนสารคดีมากว่า ๓๐ ปี สำหรับ สารคดี นี่เป็นครั้งแรกที่มีการมอบและเปิดตัวรางวัลสารคดีเกียรติยศ หลังคณะผู้บริหารมีโครงการที่จะมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านสารคดี เพื่อเป็นกำลังใจกับคนทำงานวงการนี้มาระยะหนึ่งแล้ว

“เราคิดกันนานว่าจะให้แบบไหน ถ้าเราให้เป็นรางวัลเหมือนที่องค์กรอื่นให้คือพิจารณาผลงานเป็นชิ้น ๆ ก็มีข้อสังเกตว่าแบบนี้เป็นการประกวดผลงาน มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นความคึกคักในวงการและสำนักพิมพ์จะได้งานชิ้นนั้นมาพิมพ์  รางวัลลักษณะนี้หน่วยราชการบางแห่งทำเป็นประจำ แต่เราอยู่ในวงการนี้มานาน ดังนั้นน่าจะให้รางวัลที่มองไกลและมองในภาพรวมมากกว่า ก็ลงตัวตรงที่เราเลือกจะพิจารณาผลงานที่คนคนนั้นทำมาทั้งชีวิตและคนคนนั้นต้องมีคุณค่ามากพอที่จะเป็นตัวอย่างของการทำงานสารคดีให้คนรุ่นหลังได้“ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ รองผู้จัดการทั่วไปและบรรณาธิการสำนักพิมพ์สารคดี หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินเล่าถึงที่มาของรางวัล “สารคดี” เกียรติยศ ครั้งที่ ๑

ก่อนอธิบายหลักการคัดเลือกว่า “คณะกรรมการมองคนทำงานสารคดีในวงการสิ่งพิมพ์ก่อน เพราะนี่คือสนามที่ สารคดี อยู่ แต่จริง ๆ เราไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเขียนหนังสือเท่านั้น เรายังมองไปที่ช่างภาพ คนทำสารคดีในสนามอื่น ๆ ด้วย แต่ครั้งนี้ไม่เห็นใครเหมาะเท่าคุณเอนก นาวิกมูล  ทั้งนี้ งานที่คุณเอนกทำมายังสอดคล้องกับวาระการจัดนิทรรศการ ‘ภาพถ่ายสารคดี บันทึก ๒๕ ปีประเทศไทย’ ”

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินให้ความเห็นว่า ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครเหมาะกับรางวัลนี้เท่ากับ เอนก นาวิกมูล  “ในสังคมไทย เราหาคนที่ทำงานสารคดีมายาวนานแบบคุณเอนกได้ยาก  คุณเอนกร่วมงานกับ สารคดี มาตั้งแต่เล่มแรกโดยเขียนคอลัมน์ ‘มุมสะสม’ ซึ่งเป็นคอลัมน์ยอดฮิต เนื้อหาคอลัมน์นี้เล่าเรื่องของเก่าที่มีประวัติความเป็นมา ให้ข้อมูลและเกร็ดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้คนเห็นกระบวนการทำงานการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ สร้างความตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์ของเก่าให้สังคมไทย ที่สำคัญคือมีการตรวจสอบแก้ไขข้อมูลอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่นำเสนอล้าสมัยหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญมากเพราะนักเขียนน้อยคนที่จะทำงานแบบนี้”

เอนก นาวิกมูล เกิดเมื่อปี ๒๔๙๖  พื้นเพอยู่ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  บิดาเป็นนักประดิษฐ์ นักสะสม ที่บ้านทำกิจการขายเครื่องเขียนและแบบเรียน ทำให้เขามีนิสัยชอบค้นคว้าและถ่ายภาพตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามีโอกาสได้เดินทางเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ที่กำลังค่อย ๆ สูญหายไป อาทิ เสียงพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ประเพณีโบราณ เพลงพื้นบ้าน ประวัติการถ่ายรูป ฯลฯ

หลังเรียนจบเขาเริ่มต้นทำงานหนังสือพิมพ์ ทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ และทำงานที่เมืองโบราณสมุทรปราการระยะหนึ่ง  ตลอดเวลา ๓๐ ปีในการทำงาน เขามีฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล มีผลงานหนังสือกว่า ๑๔๘ เล่ม (ยังไม่นับที่อยู่ระหว่างจัดพิมพ์อีกจำนวนหนึ่ง) ฟิล์มสไลด์กว่า ๒๐๐ ม้วน  เทปบันทึกเสียง ๑,๐๐๐ ม้วน  ภาพดิจิทัล ๔ หมื่นรูป  โดยมีหลักการทำงานว่า “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า” มีคติประจำตัวว่า “ศรัทธาเป็นพลัง”เชื่อมั่นว่า “ชาติจะเจริญก้าวหน้า ด้วยการปลูกฝังให้คนรักการค้นคว้าสั่งสมความรู้และเผยแพร่ความรู้ต่อเนื่องและจริงจัง”

anek02
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่มารายงานข่าวการมอบรางวัลในครั้งนี้

anek04
เอนก นาวิกมูล ถ่ายภาพร่วมกับครอบครัว ในงานรับรางวัล “สารคดี” เกียรติยศ เมื่อวันที่ ๖ พ.ค.๒๕๕๓

ปัจจุบันผลงานหลายชิ้นกลายเป็นหมุดหมายและหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการ อาทิ เพลงนอกศตวรรษ ซึ่งเล่าความเป็นมาของเพลงพื้นบ้าน หรือหนังสือรวมเกร็ดเก่า ๆ ของสังคมไทยย้อนหลังไปไม่เกิน ๒๐๐ ปี เช่น นานาช่างครั้งคุณปู่ ฆาตกรยุคคุณปู่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และบรรดาโจรชื่อดังในอดีต เป็นต้น

ยังไม่นับการก่อตั้ง “บ้านพิพิธภัณฑ์”(House of Museums) พิพิธภัณฑ์ซึ่งเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเขาเองที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมเมื่อปี ๒๕๔๔  ภายในจัดแสดงวิถีชีวิตชาวตลาดในทศวรรษ ๒๕๐๐ โดยกั้นห้องเป็นลักษณะห้องแถวในตลาดพร้อมแสดงของเก่ายุคนั้น มีทั้งร้านของเล่น ร้านขายของชำ โรงหนัง ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ ฯลฯ

หนึ่งในคณะกรรมการบอกเราว่า “สิ่งสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจให้รางวัลกับเอนก คือเขาบันทึกประวัติศาสตร์ของชาวบ้านธรรมดา และที่ผ่านมาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากรัฐเลย แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อมาจนถึงปัจจุบัน”

ขณะที่เอนกแสดงความรู้สึกต่อรางวัลว่า “ที่ผ่านมาผมเขียนหนังสือด้วยความตั้งใจที่จะชำระเรื่องเก่า ๆ  หากมีความผิดพลาดบ้างก็ต้องขออภัย แต่ผมก็อยากเรียนว่าผมจะทำงานต่อไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

อันหมายถึงจากนี้และต่อไป งานของชายชื่อ เอนก นาวิกมูล จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง