บัญชา ธนบุญสมบัติ
ชมรมคนรักมวลเมฆ & สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
Buncha2509@gmail.com
 
รื่นรมย์ชมเมฆ ความสุขจากฟากฟ้า...ที่ใครก็สัมผัสได้
หมู่เมฆก้อนขนาดใหญ่และหมวกเมฆ
ระหว่างเส้นทางบนฟ้าจากมุกดาหารสู่ขอนแก่น
 

ถ้ามีใครสักคนบอกว่าชอบดูดาว ดูนก ดูผีเสื้อ เราคงพอเข้าใจได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติที่งดงาม และหลากหลาย

แต่ถ้าใครสักคนบอกว่าชอบดูเมฆ เราจะเข้าใจอย่างไร ?
ยิ่งถ้าบอกว่าถึงขั้นหลงรักเมฆเข้าให้แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร ?
เมฆมีดีตรงไหน ถึงทำให้บางคนหลงรักได้…
คนส่วนใหญ่มักพูดถึงเมฆในแง่ฝนฟ้าอากาศ เช่น เมฆฝนดำทะมึนอย่างกับหนังเรื่อง ID4 เดี๋ยวฝนคงถล่มแน่ ในแง่นี้ เมฆคือสิ่งบ่งบอกสภาวะลมฟ้าอากาศโดยไม่ต้องพึ่งคำพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา

แต่เมฆไม่ได้เป็นแค่เรื่องฟ้าฝน เพราะเมฆแปลกตาอาจสะกดให้เราหยุดมอง เกิดจินตนาการเป็นรูปร่างต่างๆ บางครั้งเมฆสีสวยจนเราต้องหยิบกล้องขึ้นมาเก็บภาพไปอวดเพื่อน

เมฆสร้างแรงบันดาลใจให้คนผลิตงานศิลปะไว้มากมาย เมฆผูกพันกับชีวิตเราในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในชื่อเฉพาะ สำนวนภาษา วรรณกรรม ตลอดจนคติความเชื่อต่าง ๆ

ท้องฟ้าที่แต้มแต่งด้วยมวลเมฆ อาจเป็นได้ทั้งห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับการศึกษาธรรมชาติ เป็นที่โล่งกว้างเปิดให้เราใช้จินตนาการสุดบรรเจิด หรืออาจเป็นแกลเลอรีภาพศิลปะตระการตาที่จัดแสดงให้เราชมทุกวันโดยแทบไม่ซ้ำภาพเลย

คุณล่ะ…จะเลือกมองมวลเมฆบนท้องฟ้าให้เป็นอะไร ?

ลุก โฮเวิร์ด ชายผู้หลงรักมวลเมฆ

หลายคนที่ชื่นชอบการมองดูเมฆ แล้วจินตนาการ
เป็นรูปร่างต่างๆ คงรู้ดีว่าภาพที่เห็นจะไม่คงที่อยู่นานนัก เพราะเมฆเคลื่อนที่และแปรเปลี่ยนลักษณะไปเรื่อยๆ ช้าบ้าง เร็วบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาวะลมฟ้าอากาศในขณะนั้น

ด้วยความที่เมฆมีรูปร่างแปลกๆ และเหมือนไม่มีระเบียบ การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องเมฆจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีระบบระเบียบมากกว่า เช่น ดวงดาวซึ่งโคจรอย่างมีหลักเกณฑ์ คำนวณได้ จนเป็นต้นกำเนิดของวิชาดาราศาสตร์และโหราศาสตร์มาแต่โบราณ

จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จึงมีชายสองคนผู้เชื่อว่าเราน่าจะจัดระเบียบลักษณะเมฆได้ คนแรกเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฌอง-บาตีสต์ เดอ ลามาร์ก (Jean-Baptiste de Lamarck) ส่วนอีกคนเป็นชาวอังกฤษชื่อ ลุก โฮเวิร์ด (Luke Howard)

ในปี ค.ศ. ๑๘๐๒ ลามาร์กตีพิมพ์บทความในวารสาร Annuaire Méteorologique เล่ม ๓ ว่า เมฆอาจจัดแบ่งได้เป็น ๕ ประเภท ได้แก่

en forme de voile – เมฆที่มีลักษณะเหมือนผ้าม่าน
attroupés – เมฆซึ่งมารวมตัวกันอย่างหนาแน่น
pommels – เมฆก้อน
en balayeurs – เมฆลักษณะคล้ายไม้กวาด
groupés – เมฆรวมตัวเป็นกลุ่ม

อีกราว ๓ ปีต่อมา เขาแบ่งลักษณะของเมฆละเอียดขึ้นอีก จนทำให้ได้เมฆทั้งสิ้น ๑๒ แบบ

แต่แนวคิดของลามาร์กไม่ได้รับความสนใจจากนักวิทยา-ศาสตร์และนักธรรมชาตินิยมร่วมสมัยมากนัก ทั้งนี้ในคำนำของหนังสือ International Cloud Atlas จัดพิมพ์โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ฉบับ ค.ศ. ๑๙๓๙ สันนิษฐานว่าเพราะเขาตั้งชื่อเมฆเป็นภาษาฝรั่งเศส ทำให้นักวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษานี้ไม่ยอมรับ รวมทั้งวารสาร Annuaire Méteorologique ฉบับที่บทความของเขาตีพิมพ์นั้น ปรากฏบทความเชิงพยากรณ์ที่อ้างอิงข้อมูลทางโหราศาสตร์อยู่ด้วย แนวคิดการจัดแบ่งประเภทเมฆของลามาร์กจึงถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๒ นั้นเอง นักธุรกิจหนุ่มชาวอังกฤษ อายุ ๒๔ ปี ชื่อ ลุก โฮเวิร์ด ได้เสนอแนวคิดการจัดแบ่งประเภทเมฆต่อสมาคมแอสกีเซียน (the Askesian Society) ในหัวข้อว่า “On the Modif ications of Clouds” หรือ “การจัดแบ่งประเภทของเมฆ” (คำว่า modif ication ในที่นี้เป็นภาษาเก่าเมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อน หมายถึง classification หรือการจัดแบ่งประเภท)

ใจความหลักของการนำเสนอนี้คือ เมฆทั้งมวลอาจจัดแบ่งเป็น ๗ แบบหลัก โดยมีชื่อเรียกเป็นภาษาละติน ดังนี้

๑. คิวมูลัส (cumulus) แปลว่า กอง (heap) – เมฆก้อนมีฐานล่างค่อนข้างเรียบ
๒. สเตรตัส (stratus) แปลว่า ชั้น (layer) – เมฆแผ่นบางๆ คลุมออกไปในแนวราบ
๓. ซีร์รัส (cirrus) แปลว่า ม้วนงอ (curl) – เมฆเส้นริ้วๆ ยาว
๔. คิวมูโล-ซีร์โร-สเตรตัส (cumulo-cirro-stratus) หรือ นิมบัส (nimbus) แปลว่า ฝน (rain) – เมฆที่ทำให้เกิดฝน
๕. ซีร์โร-คิวมูลัส (cirro-cumulus) – เมฆลักษณะผสมผสานระหว่างซีร์รัสกับคิวมูลัส
๖. ซีร์โร-สเตรตัส (cirro-stratus) – เมฆลักษณะผสมผสานระหว่างซีร์รัสกับสเตรตัส
๗. คิวมูโล-สเตรตัส (cumulo-stratus) – เมฆลักษณะผสมผสานระหว่างคิวมูลัสกับสเตรตัส ภายหลังปรับลำดับคำเป็น สเตรโต-คิวมูลัส (strato-cumulus) เพื่อเน้นลักษณะการแผ่กระจายไปในแนวราบ

ปรากฏว่าแนวคิดของโฮเวิร์ดฮ็อตฮิตติดลมบนอย่างสุดๆ เพราะจนถึงปัจจุบัน นักอุตุนิยมวิทยาทั่วโลกและหนังสือเมฆทุกเล่มต่างเรียกชื่อเมฆตามแนวคิดที่เขาริเริ่มไว้ตั้งแต่กว่าร้อยปีก่อน เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยเข้าไปเท่านั้น

น่าสงสัยไหมว่าทำไมแนวคิดของโฮเวิร์ดจึงได้รับการยอมรับมากเช่นนี้ ?

ตอบง่ายๆ ในเบื้องต้นได้ว่าเพราะโฮเวิร์ดใช้ภาษาละติน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งชื่นชอบ เนื่องจากภาษาละตินเป็นภาษาที่ “ตายแล้ว” ความหมายคำจึงไม่ดิ้นไปมาได้เหมือนกับภาษาที่ยังใช้กันอยู่ น่ารู้อีกด้วยว่า การจัดแบ่งประเภทเมฆของโฮเวิร์ดโดยใช้ภาษาละตินได้รับอิทธิพลมาจากการจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตตามหลักอนุกรมวิธานของ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus)

แต่นอกจากสาเหตุนี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นด้วย กล่าวคือ ขณะที่โฮเวิร์ดนำเสนอแนวคิดนี้ต่อสมาคมแอสกีเซียน บรรณาธิการวารสาร Philosophical Magazine (วารสารทางวิทยาศาสตร์เล่มสำคัญในช่วงเวลานั้น) ได้นั่งฟังอยู่ด้วย บทความของโฮเวิร์ดจึงได้รับการตีพิมพ์ในวารสารดังกล่าว และเผยแพร่ซ้ำในวารสารฉบับอื่น รวมทั้งสารานุกรมอีกหลายเล่มในเวลาต่อมา

โฮเวิร์ดไม่ได้โดดเด่นเพียงแค่เรื่องวิธีคิดเชิงตรรกะและความรู้ภาษาละตินเท่านั้น แต่เขายังเป็นศิลปินสมัครเล่นที่มีฝีมือไม่น้อย ลองดูตัวอย่างภาพวาดสีน้ำของเขาซึ่งจะทำให้เรารู้สึกได้ว่าชายผู้นี้ผูกพันกับเมฆมากเพียงไร

อะไรกันหนอที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ลุก โฮเวิร์ด เป็นชายผู้หลงรักเมฆถึงเพียงนี้ ?

ดร.จอห์น เอ. เดย์ (Dr. John A. Day) นักอุตุนิยมวิทยา ได้ศึกษาประวัติของ ลุก โฮเวิร์ด และเขียนถึงเรื่องแรงบันดาลใจดังกล่าวไว้ในหนังสือ The Book of Clouds ของเขาว่า นอกจาก ลุก โฮเวิร์ด จะมีอุปนิสัยชื่นชอบความรู้ทางธรรมชาติแล้ว ในวัยเด็กเขายังได้รับอิทธิพลจากสภาพลมฟ้าอากาศที่วิปริตแปรปรวนของยุโรปอีกด้วย

ในปี ค.ศ. ๑๗๘๓ ขณะที่โฮเวิร์ดอายุ ๑๑ ขวบ ได้เกิดเหตุการณ์ทางธรรมชาติซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วทวีปยุโรป นั่นคือ ภูเขาไฟลากี (Laki) ในเกาะไอซ์แลนด์ (Iceland) เกิดระเบิดขึ้นหลายครั้งในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ปลดปล่อยฝุ่นควันและแก๊สพิษออกมาในปริมาณมาก ประชากรชาวไอซ์แลนด์เสียชีวิตถึงร้อยละ ๒๑ ในช่วง ค.ศ.๑๗๘๓ -๑๗๘๔ เนื่องจากขาดแคลนอาหาร อีกทั้งสัตว์ เช่น แกะ วัว ควาย และม้า ล้มตายจำนวนมากเพราะได้รับสารฟลูออรีนมากเกินไป (การระเบิดครั้งนั้นปลดปล่อยสารฟลูออรีนออกมาราว ๘ ล้านตัน)

ส่วนในฝรั่งเศสเกิดความแห้งแล้ง ฤดูหนาวและฤดูร้อนรุนแรง รวมทั้งพายุลูกเห็บทำลายพืชไร่ในปี ค.ศ. ๑๗๘๘ ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและซ้ำเติมปัญหาความยากจน กล่าวกันว่าเหตุการณ์นี้เป็นชนวนสำคัญที่ลั่นไกการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๗๘๙

สำหรับเกาะอังกฤษซึ่งโฮเวิร์ดอาศัยอยู่ ฝุ่นควันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๘๓ หนาทึบจนกระทั่งชาวประมงออกเรือไม่ได้ ดวงอาทิตย์มี “สีแดงเหมือนเลือด” ในเวลากลางวันแสกๆ และแดงยิ่งขึ้นอีกเมื่อใกล้ลับขอบฟ้า ส่วนท้องฟ้าก็มีสีสันแปลกตายิ่งนัก

ดร. จอห์น เอ. เดย์ เชื่อว่าสีสันของท้องฟ้าและสภาพลมฟ้าอากาศอันแปลกตานี้เองที่สร้างความประทับใจให้เด็กน้อยลุก โฮเวิร์ด วัย ๑๑ ขวบ จนเขาหลงใหลในท้องฟ้าและหมู่เมฆ เปรียบประดุจรักแรกพบมานับแต่นั้น

ในปี ค.ศ. ๑๗๘๓ นี้ยังเกิดเหตุการณ์สำคัญทางธรรมชาติอีก ๒ ครั้ง คือในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ภูเขาไฟในญี่ปุ่นได้ระเบิดขึ้น โดยลมฝ่ายตะวันตกนำพาฝุ่นผงมาซ้ำเติมบรรยากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นของทวีปยุโรป และวันที่ ๑๘ เดือนเดียวกันมีอุกกาบาตที่สุกสว่างอย่างน่าอัศจรรย์พุ่งผ่านฟากฟ้า ทั้งสองเหตุการณ์นี้อาจทำให้ ลุก โฮเวิร์ด ยิ่งรู้สึกฉงนในท้องฟ้าเข้าไปอีกก็เป็นได้

จริงๆ แล้ว ลุก โฮเวิร์ด เป็นนักธุรกิจ เขาอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนและมีห้องแล็บผลิตสารเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยา แต่ด้วยหัวใจที่รักความรู้ทางวิชาการชักนำให้เขาเข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนในสมาคมแอสกีเซียน ซึ่งก่อตั้งโดยเพื่อนสนิทของเขา ชื่อ วิลเลียม แอลเลน (William Allen) คำว่า Askesian นี้มาจากคำว่า askesis ในภาษากรีก แปลว่า การใช้สมองครุ่นคิดในเรื่องประเทืองปัญญา (intellectual exercise)

สมาคมนี้มีระเบียบง่ายๆ ว่า สมาชิกจะพบกันทุกสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ในช่วงเวลาเย็นประมาณ ๑๘.๐๐ น. สมาชิกแต่ละคนจะต้องอ่านบทความวิชาการที่ตระเตรียมมา (“อ่าน” เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีเครื่องฉายแผ่นใส หรือโปรแกรม PowerPoint อย่างเดี๋ยวนี้) หากใครไม่ได้เตรียมบทความมา ก็ต้องเสียเงินค่าปรับ

ด้วยกุศโลบายอันแยบยลนี้เอง สมาชิกของสมาคมฯ จึงได้เรียนรู้เรื่องราวอันหลากหลาย เช่นโฮเวิร์ดเคยนำเสนอเรื่องทฤษฎีการเกิดฝนและการจัดแบ่งประเภทของละอองเกสรดอกไม้มาก่อนการนำเสนอเรื่องการจัดแบ่งประเภทของเมฆ

บุตรชายของ ลุก โฮเวิร์ด กล่าวในงานศพของบิดาซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๙๑ ปีไว้ว่า

“ภาพดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าอันงดงามนับเป็นสิ่งที่ทำให้พ่อรู้สึกเบิกบานใจอย่างที่สุด ตอนแรกคุณพ่อจะยืนอยู่ที่หน้าต่าง จากนั้นจะเดินออกไปนอกบ้าน และจ้องมองภาพนั้น จนกระทั่งแสงสุดท้ายลับหายไป”

นี่แหละคือวิถีของชายผู้หลงใหลท้องฟ้าและมวลเมฆอย่างแท้จริง !

เมฆสนุก…ปลุกจินตนาการ

ในวัยเด็ก เรามักสนุกกับการจินตนาการว่าเมฆก้อนหนึ่งๆ มีรูปร่างเหมือนบางสิ่งที่เราคุ้นเคย ความสนุกในการเล่นกับจินตนาการนี้อาจติดตัวเรามาจนโต

เพื่อนรุ่นน้องของผมคนหนึ่ง คือ พุทธิพร อินทรสงเคราะห์ มักถ่ายภาพเมฆน่ารักๆ นำมาแบ่งปันเพื่อนเสมอ ภาพที่โดดเด่นมากของเขาคือ เมฆแม่ไก่ที่อุดรธานี ซึ่งชายหนุ่มผู้หลงใหลในมวลเมฆเล่าความประทับใจไว้ว่า

“เย็นวันหนึ่งที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ เมืองอุดรธานี ผมกำลังวิ่งออกกำลังกายอยู่ ก็เจอคุณแม่ไก่ตัวนี้เข้า แต่เดิมไม่มีเค้าว่าจะเป็นรูปนี้มาก่อนเลย เป็นเพียงเมฆก้อนใหญ่ สะเปะสะปะ ลอยไปลอยมา แต่พอเมฆลอยมาบังดวงอาทิตย์ อากาศซึ่งร้อนอยู่ก็รู้สึกเย็น ผมก็เลยเงยหน้าขึ้นไปขอบคุณเมฆที่ช่วยพักร้อนให้

“เมฆก้อนนี้อยู่ได้ประมาณ ๑-๒ นาที แล้วปั้นตัวเป็นรูปไก่แค่ ๑๐-๒๐ วินาที ผมกดชัตเตอร์ไป ๑๐ รูปเห็นจะได้”

นอกจากเมฆแม่ไก่แล้ว เมฆรูปร่างต่างๆ ไม่ว่าช้างน้อยชูงวง เสือเผ่น นกยูงสีรุ้ง ฉลามยักษ์ ฯลฯ ก็พบในบ้านเรามาแล้วทั้งสิ้น แต่เมฆก้อนเดียวกัน คนสองคนอาจเห็นเหมือนหรือต่างกันก็ได้ ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป เมฆที่เห็นแล้วเกิดจินตนาการว่าคล้ายสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเป็นอย่างอื่น หรือสลายตัวไปก็มี

เมฆบางอย่างมีรูปร่างชวนพิศวงมาก เช่น เมฆจานบิน (UFO cloud) ถึงกับเคยทำให้ฝรั่งเข้าใจผิดคิดว่ามนุษย์ต่างดาวบุกโลกมาแล้ว ! หรือเมฆคลื่นเคลวิน-เฮล์มโฮลตซ์ (Kelvin-Helmholtz wave cloud) ก็มีลวดลายส่วนบนพลิ้วโค้งงดงามจนน่าทึ่ง เมฆนี้ผมเคยดูแต่ภาพในหนังสือ จนวันหนึ่งได้เห็นกับตาขณะขับรถอยู่ แต่กว่าจะหาที่จอดเพื่อถ่ายภาพได้ เมฆก็สลายตัวไปพอสมควรแล้ว เหลือไว้เพียงเค้าความงามเล็กน้อย

นอกจากรูปร่างของเมฆ แสงสีบนท้องฟ้าที่เกิดจากเมฆยังกระตุ้นต่อมจินตนาการได้เป็นอย่างดี เช่น ดวงอาทิตย์
ทรงกลดในแบบที่เราคุ้นเคยกัน คือเป็นเส้นวงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ แต่ที่จริงดวงอาทิตย์ทรงกลดมีหลายแบบ เช่นที่เคยมีคนไทยถ่ายภาพได้และนำไปโพสต์ในเว็บแห่งหนึ่ง โดยเรียกว่า “รุ้งประหลาด” เพราะมีลักษณะเป็นแถบโค้งสีรุ้ง แต่ผิดแผกจากรุ้งกินน้ำคือเป็นเส้นแถบโค้งหงาย และอยู่เหนือดวงอาทิตย์ขึ้นไป (รุ้งกินน้ำเป็นแถบโค้งคว่ำและอยู่บนท้องฟ้าฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์) ช่วงปลายเดือนมกราคม ๒๕๕๔ รุ้งประหลาดนี้ก็เป็นข่าวฮือฮาในฟรีทีวีบางช่องและหนังสือพิมพ์หลายฉบับมาแล้ว

ความจริงรุ้งประหลาดนี้คือดวงอาทิตย์ทรงกลดในแบบที่เรียกว่า เส้นโค้งเซอร์คัมซีนิทัล (Circumzenithal Arc) หรือเรียกย่อๆ ว่า CZA เกิดจากแสงอาทิตย์หักเหผ่านผลึกน้ำแข็งรูปร่างเป็นแผ่นในเมฆระดับสูง โดยเฉพาะเมฆซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus)

ฝรั่งเรียกเส้นโค้ง CZA นี้เล่นๆ ว่า “รอยยิ้มสีรุ้งขนาดยักษ์”

ในทางกายภาพ เมฆคือกลุ่มของหยดน้ำหรือผลึกน้ำแข็ง (หรือทั้งสองอย่างปะปนกัน) ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ หากแบ่งตามรูปร่างลักษณะจะได้ ๓ ประเภทหลัก ได้แก่ เมฆก้อน (cumuliform) เมฆแผ่น (stratiform) และเมฆฝอย (cirriform)

เมฆที่เราเห็นแทบทั้งหมดอยู่ในชั้นบรรยากาศโทร-โพสเฟียร์ (troposphere) ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ติดพื้น บรรยากาศชั้นนี้มีความหนาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเขตละติจูดและฤดูกาล โดยบริเวณเขตร้อน (tropical region) หนาสุดราว ๒๐ กิโลเมตร แต่บริเวณขั้วโลก (ในฤดูร้อน) จะหนาเพียง ๗ กิโลเมตร เมื่อคิดโดยเฉลี่ยแล้วบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์จะหนาราว ๑๗ กิโลเมตร

นักอุตุนิยมวิทยาแบ่งเมฆในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ตามความระดับความสูงได้เป็น ๓ ระดับกว้างๆ คือ สูง กลาง และต่ำ เมฆระดับสูงมีองค์ประกอบหลักคือผลึกน้ำแข็ง (ice crystal) เนื่องจากมีอุณหภูมิเย็นจัด เมฆระดับกลางมีองค์ประกอบหลักคือหยดน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled water droplet) ซึ่งเป็นน้ำที่มีสถานะเป็นของเหลว แต่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๐ องศาเซลเซียส ส่วนเมฆระดับต่ำมีองค์ประกอบหลักคือหยดน้ำธรรมดาที่มีอุณหภูมิสูงกว่า ๐ องศาเซลเซียส

ธรรมชาติของเมฆอันมีแง่มุม รายละเอียด และความแตกต่างหลากหลายนี้ ทำให้นักอุตุนิยมวิทยาจำแนกแยกแยะ
จัดกลุ่มเมฆได้ถึง ๑๐ สกุล (แบ่งตามรูปร่างและระดับความสูง) ๑๔ ชนิด (แบ่งตามรูปร่างและโครงสร้างภายใน) และ ๙ พันธุ์ (แบ่งตามลักษณะย่อย เช่น ความโปร่งแสง การกระจายตัว) เช่น ซีร์โรสเตรตัส เป็นชื่อสกุลของเมฆแผ่นที่อยู่ในระดับสูง เลนติคิวลาริส (lenticularis) เป็นชื่อชนิดของเมฆที่มีลักษณะ
คล้ายเลนส์ ตัวอย่างคือเมฆจานบินนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเมฆที่เกิดร่วมกับเมฆอื่น เรียกว่า เมฆตัวประกอบ เช่น หมวกเมฆ (pileus) ซึ่งเป็นเมฆบางๆ เกิดเหนือเมฆก้อนขนาดใหญ่ และลักษณะเสริม เช่น เวอร์ก้า (virga) ที่มองเห็นเป็นสายใต้ฐานเมฆ ความจริงคือน้ำหรือหิมะซึ่งตกจากเมฆแล้วระเหยหมดไปในอากาศ

หากศึกษาลึกลงไปอีกยังมีเรื่องของเมฆแม่ (mother cloud) หรือเมฆดั้งเดิมที่เป็นต้นกำเนิดก่อนจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นเมฆสกุลอื่นในเวลาต่อมา

การสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัวทำให้เราได้รับรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ ผ่านประสบการณ์ตรง และหากเราได้เรียนรู้แง่มุมทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ก็ย่อมช่วยให้เข้าใจธรรมชาติได้ลึกซึ้งขึ้น ได้มองเห็นความงดงามที่ตามองไม่เห็นอีกทั้งยังเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

เมฆกับการทำนายทายทัก

อาจเพราะเมฆมีรูปร่างหลากหลาย แม้แต่คนโบราณเห็นแล้วก็เกิดจินตนาการเป็นรูปสิ่งต่างๆ การทำนายทายทักเหตุการณ์ล่วงหน้าจากเมฆจึงมีมานานแล้ว ซึ่งมีตั้งแต่การทำนายฝัน การทำนายเรื่องดีร้ายของการออกเดินทาง ไปจนถึงผลของการทำศึกสงคราม

ในตำรา คำทำนายฝัน ประมวลความเชื่อตามคติของชาวบ้าน โดย อำมาตย์โท พระอรรถวสิษฐสุธี (เชย อิศรภักดี) เรียบเรียงไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ บอกว่าถ้าเราฝันว่ากินเมฆถือเป็นเรื่องดี

ฝันว่ากินเมฆ ทำนายว่า เป็นเอกในทางฝัน โรคันจะไม่มี สตรีจะพึงรัก ได้ยศศักดิ์ลาภสักการ คุณสารสมบัติ
พิพัฒนมงคล ถ้าคนจนจะค่อยมี ด้วยความดีของตน แม้ผจญศัตรู จะเป็นผู้ชนะ โรคภัยจะเสื่อมคลาย มิตรสหายจะให้ลาภ สภาพจะค่อยดี มีแต่สุขเกษม และเปรมจิตเปรมใจ ไปทางไกลจะพบลาภ แต่บาปกรรมต้องงด อดโทโสโมโห”

การทำนายทายทักโดยการดูเมฆบนท้องฟ้าเรียกว่า วิชายกเมฆ ซึ่งถือเป็นศาสตร์ที่ชายชาตรีหรือบุรุษผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวในสมัยโบราณต้องร่ำเรียนให้เชี่ยวชาญ ในหนังสือ โชคลาง สัญญาณ ลางสังหรณ์ อาจารย์พลูหลวงผู้แต่งหนังสือเขียนไว้ว่า

“การยกเมฆ เป็นวิชาการดูสัญลักษณ์ของก้อนเมฆอันลอยเกลื่อนบนท้องฟ้า มีกระแสลมบนพัดให้เมฆกระจัดกระจายแปรเป็นรูปต่างๆ ได้ทุกนาที ทุกวินาที

“เมื่อบุคคลจะย่างก้าวพ้นชายคาบ้าน ท่านให้แหงนหน้าดูเมฆบนท้องฟ้าก่อนอื่นว่ามีสัญลักษณ์รูปอะไร ถ้าเป็นรูปร่างสัตว์ประหลาดอันน่ากลัว รูปจระเข้ รูปมังกร รูปยักษ์ มาร มีผู้จดเป็นสถิติตำราตายตัวไประบุว่า การเบื้องหน้าจะต้องเผชิญหน้าต่อศัตรูอันกล้าแข็ง ประสบอุปสรรค มีอันตรายหากเกิดอย่างนี้ท่านว่าให้ยับยั้งไว้ชั่วระยะหนึ่ง จึงจะโคจรไปตามนิมิตหมายที่บอกว่าดี

“นิมิตของรูปของเมฆที่ดีก็คือ รูปอันสวยงาม แจ่มใส ธวัช ฉัตร ธง ถ้าเป็นรูปเมรุ สัญลักษณ์ของความตาย ท่านว่าห้ามเคลื่อนทัพ เคลื่อนจากแหล่งที่อยู่จะมีอันตรายย่อยยับอัปราชัย”

ในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ระบุว่า ถ้าเห็นเมฆเป็นรูปพระนารายณ์ขณะยกทัพ ถือเป็นนิมิตที่ดี ควรยกทัพได้ เช่น

ตรงเข้าไปในป่าแล้วปลุกตัว
เป่าทั่วด้วยคาถาประกาศิต
ขยับยืนยกเมฆดูนิมิต
เห็นรูปนารายณ์เรืองฤทธิ์ติดอัมพร

แต่ถ้าทำการยกเมฆแล้ว ปรากฏเป็นรูปอัปมงคล ก็ถือว่าไม่ดี เช่นในตอนก่อนที่เถรขวาดจะแปลงเป็นจระเข้ไปแก้แค้นพลายชุมพลนั้น เมื่อทำการยกเมฆก็เห็นเป็นรูปคนหัวขาด ซึ่งเป็นลางร้ายถึงชีวิต

กอดอกยกเมฆดูพินิจ
ก็วิปริตเป็นรูปคนหัวหาย
จะยกต่อคอแขนไม่ติดกาย
เถรสำคัญมั่นหมายไม่คืนมา

ในหนังสือ โชคลาง สัญญาณ ลางสังหรณ์ ระบุว่าตำราพิชัยสงครามโบราณกล่าวถึงเมฆรูปเมรุอันเป็นลางร้าย ดังนี้

เห็นเมฆเกลื่อนมาเป็นหมู่ เป็นรูปเมรู อย่ายกฤกษ์นั้นมรณา

ในภาพยนตร์แอนิเมชันไทยเรื่อง ก้านกล้วย ภาคแรก กล่าวถึง “เมฆเศวตฉัตร” ในฉากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำทัพออกจากพระนคร เป็นเหมือนลางดีบอกว่าพระองค์จะประสบชัยชนะ ประเด็นนี้ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “เมฆเศวตฉัตร” อาจเป็น “หมวกเมฆ” แบบหลายชั้น ต่อมาคุณพงศธร กิจเวช สมาชิกชมรมคนรักมวลเมฆ เกิดฉันทะค้นคว้าหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นจนได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ เช่น เมฆเศวตฉัตรปรากฏในหนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า ดังนี้

“เมื่อแต่งพระองค์เสร็จทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วต่างก็คอยฤกษ์อยู่ในขณะนั้นด้วยบุญญาภินิหารของพระนเรศวรที่จะได้ชัยชนะแก่พระมหาอุปราชา ทั้งจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยก้อนเมฆบนอากาศบันดาลเป็นรูปเศวตฉัตร์กางกั้นอยู่ตรงพระคชาธารพระนเรศวร…”

ผู้สนใจรายละเอียดอ่านเพิ่มเติมในบทความ “เมฆเศวตฉัตรในก้านกล้วย” ของคุณพงศธร ในเว็บของชมรม
คนรักมวลเมฆ www.CloudLoverClub.com หัวข้อเมฆกับวัฒนธรรม

น่าสงสัยไหมว่าสำนวน “ยกเมฆ” ในความหมายที่ใช้กันปัจจุบันคือ เดาเอา นึกคาดเอาเอง กุเรื่องขึ้น น่าจะมาจากไหน

หนังสือ สำนวนไทย ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ อธิบายสั้นๆ ไว้ว่า บางครั้งเมื่อดูเมฆแล้ว ไม่มีลักษณะที่จะพยากรณ์ได้ ก็อาจแต่งเรื่องขึ้นมาเอง จึงเกิดเป็นสำนวนว่า “ยกเมฆ”

มีอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิชายกเมฆ นั่นคือ “เมฆฉาย” ซึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ไว้สองความหมาย ความหมายแรก คือ “เมฆที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปต่างๆ เนื่องจากการยกเมฆ” (ภาพเมฆที่ได้จากการใช้วิชายกเมฆ) ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ “การอธิษฐานโดยบริกรรมด้วยมนตร์ เชื่อกันว่าจะทำให้เงาของคนเจ็บลอยขึ้นไปในอากาศ แล้วพิจารณาดูว่าคนเจ็บนั้นเป็นโรคอะไร” (ไม่เกี่ยวกับวิชายกเมฆ)

อย่างไรก็ดี พจนานุกรมฉบับมติชน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๗) ระบุว่า ทั้งยกเมฆและเมฆฉายมีความหมายเหมือนกัน กล่าวคือเป็น “วิชาว่าด้วยการดูเมฆที่ลอยผ่านหน้ามาบนฟ้าว่ามีรูปเป็นอย่างไร แล้วพยากรณ์ไปตามลักษณะนั้น” โดยในการอธิบายคำว่า เมฆฉาย ได้คัดนำตัวอย่างมาจากเรื่อง ไกรทอง ดังนี้

จึ่งดูนิมิตรเมฆฉาย เป็นรูปนารายณ์เรืองศรี

ประเด็นนี้ผมคัดมาเปรียบเทียบ เพื่อขอให้ผู้รู้ที่ได้อ่านบทความนี้มาช่วยให้ความกระจ่างแก่สังคมไทยว่า ความหมายของคำว่า “เมฆฉาย” ที่แท้จริงนั้นคืออะไรแน่ ระหว่างเมฆที่ปรากฏเป็นรูปร่างต่างๆ หรือวิชาดูเมฆแล้วทำนายทายทัก

ไม่เพียงแต่ชาวสยามเท่านั้นที่มีวิชายกเมฆ คนในวัฒนธรรมอื่นก็มีการทำนายทายทักโดยการดูเมฆเช่นกัน ฝรั่งเรียกวิชานี้ว่า เนโฟแมนซี่ (Nephomancy) มาจากคำในภาษากรีกคือ nephos (เมฆ)+manteia (การทำนายทายทัก) หรือเรียกง่ายๆ ว่า การอ่านเมฆ (cloud reading) ซึ่งจะดูจากทั้งรูปร่าง สีสัน ตำแหน่ง และการเคลื่อนตัวของเมฆ

หากมองสาขาวิชานี้ให้กว้างออกไป ก็มี แอโรแมนซี่ (Aeromancy) ซึ่งครอบคลุมการทำนายทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับท้องฟ้าและสภาพอากาศ โดยเนโฟแมนซี่นับเป็นสาขาย่อยหนึ่งของแอโรแมนซี่ ส่วนสาขาอื่นๆ เช่น ทำนายจากลม เรียกว่า ออสโทรแมนซี่ (Austromancy) ทำนายจากฟ้าผ่า เรียกว่า เซเราโนแมนซี่ (Ceraunomancy) ทำนายจากดาวตกและผีพุ่งไต้ เรียกว่า เมทีโอร์แมนซี่ (Meteormancy)
ทำนายจากลักษณะหางของดาวหาง เรียกว่า โคเมตโทแมนซี่ (Cometomancy) เป็นต้น

แล้วในทางวิทยาศาสตร์ มีการพยากรณ์หรือทำนายทายทักจากเมฆบ้างหรือไม่

เมฆบางลักษณะใช้พยากรณ์สภาพลมฟ้าอากาศได้โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับชัดเจน ตัวอย่างง่ายๆ ที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันดี คือเมฆฝนฟ้าคะนองหรือเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) เมฆก้อนขนาดยักษ์สีดำทะมึนนี้ไปอยู่ที่ไหน ใครๆ ก็รู้ว่าเดี๋ยวฝนจะตกกระหน่ำ และมีฟ้าร้องฟ้าผ่า

นอกจากนี้หากเมฆฝนฟ้าคะนองมีสีอมเขียว แสดงว่าเมฆก้อนนั้นมีน้ำในปริมาณสูงมาก และเป็นปัจจัยให้มีโอกาสเกิดลูกเห็บมากตามไปด้วย จึงเกิดข้อสังเกตหรือการคาดการณ์ว่า หากเมฆฝนฟ้าคะนองมีสีเขียวก็มักเกิดลูกเห็บแถมมาด้วย

สำหรับในแถบประเทศอังกฤษ หากสังเกตพบเมฆก้อนซึ่งอยู่สูงปานกลาง มีส่วนยอดเมฆกำลังก่อตัวสูงขึ้นไปคล้ายหอคอย ก็เป็นไปได้ว่าเมฆที่เห็นนี้จะพัฒนาไปเป็นเมฆคิวมูโลนิมบัส และจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง เมฆชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า เมฆแอลโตคิวมูลัส แคสเทลเลนัส (Altocumulus castellanus)

ในบางประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งสภาพลมฟ้าอากาศได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศขนาดใหญ่ จะมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดเมฆรูปแบบต่างๆ ตามลำดับชัดเจน จนคาดการณ์สภาพฝนฟ้าอากาศที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเช่นแนวปะทะอากาศอุ่น (warm front) ซึ่งเกิดจากมวลอากาศอุ่นและชื้นรุกคืบเข้าไปยังบริเวณของมวลอากาศเย็นและแห้งกว่า โดยมวลอากาศอุ่น (มีความหนาแน่นน้อยกว่า) จะผลักมวลอากาศเย็น (มีความหนาแน่นมากกว่า) ให้ถอยร่นไป ขณะเดียวกันมวลอากาศอุ่นจะยกตัวสูงขึ้นและ
ทับซ้อนอยู่เหนือมวลอากาศเย็น โดยบริเวณแนวรอยต่อระหว่างมวลอากาศทั้งสองนี้เรียกว่า แนวปะทะอากาศอุ่น

หากเริ่มต้นจากแนวปะทะอากาศอุ่นไล่ไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ของมวลอากาศทั้งสอง จะเกิดเมฆตามลำดับ ได้แก่ นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus, Ns) แอลโตสเตรตัส (Altostratus, As) ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus, Cs) และซีร์รัส (Cirrus, Ci) โดยบริเวณที่จะเกิดฝนหรือหิมะตก คือบริเวณที่มีเมฆนิมโบสเตรตัสหากเรายืนมองอยู่ ณ บริเวณซึ่งมีแนวปะทะอากาศอุ่นเคลื่อนที่เข้ามา ก็จะเห็นเมฆบนท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบจากซีร์รัสไปเป็นซีร์โรสเตรตัส แอลโตสเตรตัส และนิมโบสเตรตัส ถ้าสังเกตรูปแบบเมฆได้ตามลำดับ และทราบทิศทางรวมถึงอัตราเร็วของแนวปะทะอากาศอุ่น ก็จะคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าบริเวณหนึ่งๆ จะมีฝนหรือหิมะตกเมื่อใด

เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาของไทยเคยอธิบายให้ผมฟังว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา พยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้แม่นยำ (กว่าบ้านเรา) ก็เพราะบ้านเขาเป็นระบบมวลอากาศขนาดใหญ่และมีแนวปะทะอากาศแบบต่างๆ นั่นเอง

ภูมิปัญญาชาวบ้านเกี่ยวกับเมฆบางรูปแบบก็น่าสนใจไม่น้อย จะขอยกตัวอย่างที่ผมได้รับทราบจากเพื่อนในชมรมคนรักมวลเมฆ เริ่มจากที่คุณสุธาสินี ไชยโชติวัฒน์ ได้โพสต์ภาพเมฆลักษณะเป็นก้อนขนาดย่อมๆ กระจายเต็มท้องฟ้าลงในเฟซบุ๊กของชมรมคนรักมวลเมฆ ต่อมาคุณมรกต มูลสาร สมาชิกซึ่งอยู่ที่ อ.ทรายมูล จ. ยโสธร ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่าท้องฟ้าแบบนี้เรียกว่า “ฟ้าลายเห็ดบด” และเล่าว่า

“คนแถวบ้านบอกว่า เห็ดมักออกถ้าฟ้ามีเมฆลายนี้ และมันก็จริงอย่างเขาว่า ไม่เชื่อลองดู…ไม่ได้ยกเมฆเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน”

เมื่อลองตรวจสอบข้อมูลจากเว็บชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็พบข้อความระบุว่า

“ส่วนการดูว่าเห็ดเริ่มออกแล้วนั้น ชาวบ้านอาศัยท้องฟ้าเป็นผู้ทำนาย วันใดท้องฟ้ามีกลุ่มก้อนเมฆลอยเป็นลายดอกสร้อย เรียกว่า ฟ้าลายเห็ดบด ให้รีบเข้าป่าโคกได้เลย ไม่เคยผิดหวัง”

เป็นไปได้ไหมว่า ความเชื่อเรื่องฟ้าลายเห็ดบดของชาวอีสาน สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าท้องฟ้า
มีเมฆมากย่อมแสดงถึงอากาศที่มีความชื้นค่อนข้างสูง และทำให้เห็ดขึ้นได้ง่ายนั่นเอง ข้อสังเกตนี้ขอฝากไว้ให้วงการวิชาการ (หลายสาขา) ที่อาจสนใจศึกษาข้อเท็จจริงเบื้องหลังภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งในกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน

คนรักเมฆ…เขาสนใจอะไรกัน

หากใครสักคนชอบมองเมฆและท้องฟ้ามากๆ ถึงขนาดชี้ชวนให้คนใกล้ตัวดูด้วยบ่อยๆ หรือไม่ว่าจะไปไหนก็ถ่ายภาพเมฆไว้เสมอ คนนั้นก็เข้าข่ายคนรักเมฆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า cloudspotter (นักดูเมฆ) ส่วนการดูเมฆเรียกว่า cloudspotting

นักดูเมฆส่วนใหญ่มักชอบมองหาท้องฟ้าสวยๆ เมฆแปลกตา หรือไม่ก็ช่างจินตนาการอย่างที่เล่ามาแล้ว แต่บางคน
ก็อยากรู้จักชื่อเมฆ ซึ่งจะช่วยให้การดูเมฆลุ่มลึกยิ่งขึ้น โดยต้องเข้าใจการเรียกชื่อเมฆในภาษาละตินตามระบบการจำแนกเมฆ (cloud classif ication system) บางคนอยากเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้าในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น กลไกการเกิดเมฆรูปร่างต่างๆ ปรากฏการณ์สีรุ้ง iridescence
หรือ irisation) การทรงกลดที่เกิดจากผลึกน้ำแข็งในเมฆ (ice halo) เป็นต้น บางคนอาจสนใจในมุมกว้างขึ้นไปเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ เช่น การเกิดแม่คะนิ้ง การเกิดพายุทอร์นาโด นาคเล่นน้ำ พายุหมุนเขตร้อน เป็นต้น

ในบ้านเรามีการรวมกลุ่มคนรักเมฆราว ๓ ปีมาแล้ว โดยเริ่มจากเว็บล็อก “ชายผู้หลงรักมวลเมฆ” ในระบบ GotoKnow.org ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเมฆและฝนฟ้าอากาศให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวนี้อย่างง่ายๆ ต่อมาขยายไปยังเฟซบุ๊กตามกระแสโซเชียลมีเดีย และเติบโตที่เฟซบุ๊ก ในนาม “ชมรมคนรักมวลเมฆ”

สมาชิกชมรมฯ หลายคนพูดตรงกันว่า “ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะมีคนชอบมองเมฆเหมือนกัน นึกว่าเป็นอยู่คนเดียว” บางคนก็เขียนในบล็อกว่า “ได้รับอิทธิพลของชมรมคนรักมวลเมฆในเฟซบุ๊ก ทำให้แหงนมองดูความงามของฟากฟ้ามากขึ้น ได้รูปมาพอสมควร ก็เลยมาแปะให้เพื่อนๆ ดูกันค่ะ”

บางคนเล่าว่าขณะไปเที่ยวและกำลังจะถ่ายภาพเพื่อนคู่กับสถานที่ แต่พอเห็นเมฆสวยจึงหันกล้องไปถ่ายเก็บภาพเมฆก่อน จนเพื่อนๆ ต้องทักว่าถ่ายอะไรอยู่ เธอตอบว่าขอเก็บภาพเมฆสวยก่อน เดี๋ยวเมฆหาย (เพื่อนเอาไว้ทีหลังก็ได้…ฮา)

พฤติกรรมของคนรักเมฆที่ตรงกันทุกคน คือหมั่นสังเกตท้องฟ้า และหากมีกล้องก็จะไม่รีรอถ่ายภาพน่าประทับใจนั้นไว้ไม่ว่าจะเก็บไว้ดูเอง หรือนำไปแบ่งปันเพื่อนคอเดียวกัน

ลองฟังเบื้องหลังภาพเมฆหมวกแก๊ป (cap cloud) สุดเท่เหนือภูเขาไฟฟูจิ ฝีมือ ดร. นารีรัตน์ สุวรรณวารี ซึ่งเล่าไว้อย่างมีชีวิตชีวาในบล็อกของเธอว่า

“เมฆที่เห็นเบื้องหน้ากำลังก่อตัวและเปลี่ยน (รูปร่าง) อย่างรวดเร็ว…เท้าไวเท่าความคิด ฉันรีบลุกขึ้นทันที เดินเข้าไปถามพนักงานโรงแรมว่า มีระเบียงที่จะออกไปถ่ายภาพด้านนอกได้บ้างไหม ฉันยึดที่มั่นได้แล้ว มีระเบียงแคบๆ ด้านข้างห้องอาหาร บันทึกภาพไม่ยั้งก่อนที่คนอื่นๆ จะกรูกันออกมา…

“เดือนกุมภาพันธ์ที่ญี่ปุ่นในปีนั้นอากาศกำลังดี แดดจ้าเย็นสบาย หิมะบนยอดภูเขาไฟฟูจิละลายไปเกือบหมดแล้ว
จำได้ว่าปีนั้นร้อนเร็ว มองเห็นภูเขาไฟฟูจิได้ชัดเจนแม้อยู่ห่างออกไปมาก พักที่โรงแรมนี้แค่คืนเดียว โอกาสที่จะเห็นเมฆจานบินใกล้ๆ แบบนี้จึงไม่มีอีกแล้ว ช่วงเวลาไม่ถึงสิบนาทีนั้นเร็วมากๆ พริบตาเดียวเมฆด้านล่างก็ก่อตัวขึ้นมาบังทัศนวิสัยจนมิด…”

สมาชิกชมรมฯ อีกคนหนึ่งคือคุณไพศาล ช่วงฉ่ำ มีความชำนาญการตามล่าหาหมวกเมฆ และเก็บภาพเด็ดๆ มาได้มากมาย แถมเขียนบล็อกบันทึกหลักการมองหาหมวกเมฆที่อีกหลายคนนำไปใช้แล้วได้ผลดี จนล้อกันว่าคุณไพศาลมี “คาถาเรียกหมวกเมฆ”

คุณไพศาลเล่าไว้ในบันทึก “ประสบการณ์ดูหมวกเมฆ Pileus” ในบล็อกของเขาว่า

“ชมรมคนรักมวลเมฆกำลังสนุกกับการแหงนมองท้องฟ้าเพื่อถ่ายรูปเมฆสวยๆ มาเผื่อแผ่กัน ผมเองก็เกิดพฤติกรรมใหม่ คือเมื่อเลิกงานแล้วก็ชอบที่จะขึ้นไปบนภูเขาสูงของตัวจังหวัดมุกดาหารที่เรียกว่า ภูมโนรมย์ แล้วก็ชมธรรมชาติต่างๆ บนนั้น…ผมสรุปได้ว่าช่วงที่เหมาะสมคือเวลาหลังเลิกงานจนค่ำ ก็คือประมาณ ๑๗.๐๐-๑๘.๓๐ น. ผมพบว่ามีโอกาสเห็นหมวกเมฆหลายครั้ง ช่วงเวลาที่พบบ่อยที่สุดคือช่วงเพียงไม่กี่นาทีก่อนพระอาทิตย์จะหมดแสง

“ประสบการณ์ที่ชัดเจนคือ ทั้งขอบสีเงินที่เป็นหมวกเมฆ และรุ้งนั้นจะเกิดที่ยอดบนของก้อนเมฆที่มีพระอาทิตย์ใกล้ตกดินส่องแสงมากระทบละอองน้ำ ดังนั้นทุกครั้งที่ขับรถตอนเย็นๆ เช่นตอนผมกลับบ้านจากมุกดาหารไปขอนแก่นนั้น ระหว่างทางก็พบหมวกเมฆและรุ้งสวยครับ อดไม่ได้ที่จะจอดรถข้างทางแล้วก็เอากล้องบันทึกความสวยงามนั้นไว้ ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนแปลงในเวลาไม่นานนัก”

บางกรณีเป็นเรื่องน่าฉงน คือปรากฏการณ์ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เมื่อได้รู้จักสักครั้งหนึ่งแล้ว กลับพบปรากฏการณ์นั้นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนน่าแปลกใจ ตัวอย่างเช่นคุณวันเพ็ญ ตันจันทร์กูล ซึ่งนับแต่เธอได้รู้จักว่าแถบแสงบนฟ้าข้างดวงอาทิตย์เรียกว่า ซันด็อก (sundog) ก็ปรากฏว่าซันด็อกดูเหมือนจะติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ขณะที่เธอนั่งเครื่องบินเดินทางจากนครศรีธรรมราชมายังสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เธอถ่ายภาพซันด็อกเหนือฟ้าไว้ได้

แบบนี้อาจล้อได้เช่นกันว่าคุณวันเพ็ญมี “คาถาเรียกซันด็อก” แต่เบื้องหลังก็เพราะเธอเข้าใจพฤติกรรมของ
การเกิดอาทิตย์ทรงกลดแบบนี้เป็นอย่างดีว่าน่าจะปรากฏอยู่ที่ไหน ในช่วงเวลาใด จึงช่วยให้เธอพบเห็นซันด็อกได้ค่อนข้างบ่อย

นอกจากการถ่ายภาพแล้ว นักดูเมฆบางคนอาจสรรค์สร้างผลงานในรูปแบบอื่น เช่น กลอน ภาพวาด ของสะสมน่ารักๆ บางคนสร้างอัลบัมภาพในโซเชียลมีเดีย เขียนเว็บล็อก คลิปวิดีโอประกอบเพลง บางคนใช้เวลาค้นคว้าความสัมพันธ์ระหว่างเมฆกับเรื่องต่างๆ เช่น เมฆในคัมภีร์ทางศาสนา และเมฆในตำราพิชัยสงคราม เป็นต้น

ส่วนสมาชิกชมรมฯ ที่โดยสารเครื่องบินบ่อยๆ บอกผมว่า เมื่อก่อนเขาไม่ชอบนั่งติดหน้าต่าง แต่หลังจากเริ่มสนใจเมฆ ทุกครั้งเวลาไปเช็กอินเขาจะระบุว่า “ขอที่นั่งติดหน้าต่าง ไม่ติดปีก” และอาจถึงขั้นเลือกที่นั่งฝั่งเดียวกับดวงอาทิตย์ หากต้องการลุ้นสังเกตปรากฏการณ์บางอย่าง เช่นดวงอาทิตย์ทรงกลด หรือเลือกที่นั่งฝั่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์หากต้องการลุ้นเห็นปรากฏการณ์อื่น เช่นวงแสงสีรุ้งรอบเงาเครื่องบินที่เรียกว่า กลอรี่ เป็นต้น

ความรักในมวลเมฆก็เหมือนความรักในสิ่งต่างๆ เพราะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ลองหยิ่งดูบ้างไหม

คนรักเมฆมักหมั่นมองท้องฟ้าบ่อยๆ คนในชมรมคนรักมวลเมฆเรียกพฤติกรรมนี้เล่นๆ ว่า “หยิ่ง” เพราะการดูเมฆต้องเชิดหน้ามองฟ้าหาเมฆ (ผู้เสนอคำนี้คนแรก คือคุณไพศาล ช่วงฉ่ำ นักล่าหมวกเมฆประจำชมรมฯ) ส่วนคนที่เพิ่งเริ่มหันมาสนใจเมฆ สมาชิกในชมรมฯ ก็จะล้อกันว่า “ติดเชื้อหยิ่ง” หรือ “ติดเชื้อรักเมฆ” เข้าให้แล้ว

สิ่งที่ดูแสนจะธรรมดาอย่างเมฆนั้น แท้จริงแล้วมีแง่มุมงดงาม และน่าเพลิดเพลินแฝงอยู่ในแทบทุกแง่มุมของคนเรา เพราะเมฆมีทั้งความจริง ความงาม จินตนาการ ตลอดจนความเชื่อ ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม

เมฆอยู่กับเราแทบทุกหนแห่ง อยู่บ้านก็ดูได้ ทำงานออฟฟิซก็ดูได้ ระหว่างเดินทางไปไหนต่อไหนก็ดูได้ แถมยัง
ดูฟรีอีกด้วย ยิ่งถ้ามีความรู้ประกอบก็จะดูด้วยความเพลิดเพลินยิ่งขึ้น

อ่านเรื่องนี้จบแล้ว ลองหาจังหวะ “หยิ่ง” มองท้องฟ้าด้วยความรื่นรมย์บ้างเป็นไร.

เมฆพื้นฐาน

การจัดแบ่งประเภทเมฆอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่องสองร้อยกว่าปีมานี้เอง เมฆอาจแบ่งตามลักษณะเป็น ๓ กลุ่มหลักๆ คือ เมฆก้อน(คิวมูลัส) เมฆแผ่น(สเตรตัส) และเมฆฝอย(ซีร์รัส) และยังแบ่งชนิดแตกต่างกันตามระดับความสูงได้อีก

seecloud02

 

เมฆซีร์รัส(Cirrus) รูปร่างแปลกตา ที่ม่อนกิ่วลม
อุทยานแห่งชาติแม่เมย จ.ตาก

(ภาพ : เอกราช รอดจากทุกข์)

seecloud03

เมฆแอลโตคิวมูรัส สแตร์ติฟอร์มัส โอเพคัส
(Altocumulus stratiformis opacus)
ที่ จ.อุดรธานี (ภาพ : พุทธิพร อินทรสงเคราะห์)

seecloud04

เมฆแอลโตคิวมูลัส ฟลอกคัส (Altocumulus floccus)
เป็นเมฆก้อนอยู่ที่ความสูงระดับกลางซึ่งมักมีสีเทาบางส่วน
ต่างจากเมฆระดับสูงซึ่งมีสีขาวล้วน
(ภาพ : จิดาภา เลียวประเสริฐกุล)

 

seecloud05
เมฆแอลโตคิวมูลัส คอนเจสตัส (Cumulus congestus)
เป็นเมฆก้อนขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากความปั่นป่วนของอากาศในบริเวณนั้น
(ภาพ : กฤษกร วงศ์กรวุฒิ)
เมฆผสม
ธรรมชาติของเมฆมีรายละเอียดและหลากหลายด้วยอิทธิพลของความชื้น อุณหภูมิ และกระแสลม จึงเกิดเมฆที่มีลักษณะผสมระหว่างเมฆพื้นฐานต่างๆ และอาจเกิดเมฆหลายชนิดบนท้องฟ้าในเวลาเดียวกัน

 

seecloud06
เมฆก้อนบริเวณด้านบนของภาพคือเมฆก้อน
ที่กระจายตัวครอบคลุมฟ้าค่อนข้างหนาแน่น
ซึ่งมีผู้เสนอให้เรียกว่า “ฟ้าลายปลาคาร์ป” (carp sky)

(ภาพ : กล้วยไม้ วนพานิช)

 

seecloud07
ช่องเปิดในเมฆนี้(รูปสามเหลี่ยมคว่ำด้านบนของภาพ)
เรียกว่า ดิสเทรล(distrail) เกิดจากเครื่องบินบินฝ่าเมฆเข้าไป
แต่เมื่อเครื่องบินบินออกจากเมฆกลับทำให้เกิดเมฆเป็นเส้นแนวขึ้นใหม่
เรียกว่า คอนเทรล(contrail)
(ภาพ : พิชญา เจริญวิเชียรฉาย)

 

seecloud08
บางครั้งเมฆก็แผ่ปกคลุมไปทั่วฟ้าดังเช่นในภาพนี้
ชาวอีสานเรียกว่า “ฟ้าลายเห็ดบด”
(ภาพ : สุธาสินี ไชยโชติวัฒน์)

เมฆจินตนาการ
ความประทับใจแรกของทุกคนในการดูเมฆมักมาจากจินตนาการอันไม่รู้จบที่เมฆมอบให้ แม้เมฆจะแปรเปลี่ยนรูปร่างไปทุกขณะ แต่กลับกลายเป็นเสน่ห์อันน่าหลงใหล เพราะโอกาสเห็นเมฆรูปนั้น อาจมีเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต

seecloud09
เมฆเสือเผ่น ที่หาดไวกิกิ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา
เจ้าของภาพเล่าความประทับใจไว้ว่า “ตอนที่ถ่ายภาพเมฆรูปเสือ
เห็นคนแถวนั้นตั้งกล้องถ่ายกันอย่างจริงจังหลายคน
ท่าทางจะจินตนาการเป็นภาพเสือเหมือนกันกับเรา
เลยตื่นเต้นถ่ายกันใหญ่ แสดงว่าเราไม่ได้หลงรักเมฆคนเดียว…”

(ภาพ : อลินลักษณ์ เทพาอภิรักษ์)

 

seecloud10

ภาพ : น้อง

seecloud11

ภาพ : ไพศาล ช่วงฉ่ำ

seecloud12

ภาพ : ไพศาล ช่วงฉ่ำ

seecloud13

ภาพ : ชาตรี นพสูริย์

 

seecloud15
เมฆช้างน้อย ที่บึงสีฐาน จ.ขอนแก่น (ภาพ : ประกาย และชาลี พิทักษ์)

 

seecloud16
เมฆแม่ไก่ ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี
(ภาพ : พุทธิพร อินทรสงเคราะห์)

 

seecloud14
มฆนางผีเสื้อสมุทรอุ้มลูกตามหาพระอภัยมณี (ภาพ : กฤษณา สำเร็จ) และอ่านเรื่องสนุกๆ ประกอบภาพได้ ที่นี่

เมฆพิสดาร
เมฆที่เราเห็นแทบทั้งหมดอยู่ในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ ซึ่งในแถบเขตร้อนมีขอบเขตจากพื้นดินสูงขึ้นไปถึงราว ๑๗ กิโลเมตร เวทีอันยิ่งใหญ่นี้จึงเป็นที่รวมของปรากฎการณ์พิเศษ และแปลกประหลาดเกินความคาดคิด

seecloud17
เมฆก้อนยาวพาดผ่านใจกลางกรุงเทพฯ อย่างอลังการ
เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๒๔ น.
ตึกสูงทางขวามือคือ คอนโดเดอะคอมพลีท นราธิวาส
(นราธิวาสราชนครินทร์) สูง ๓๑ ชั้น
(ภาพ : สุมานรี รัตนอุบล)

 

seecloud18
เมฆจานบิน(UFO cloud) แอบลงจอดหลังเขา
ณ สนามกอล์ฟเขาสอยดาว จ.จันทบุรี
ชื่อวิทยาศาสตร์ของเมฆนี้คือ สเตรโตคิวมูลัส เลนติคิวลารัส
(Stratocumulus lenticularis)
(ภาพ : สมใจ กุลมะลิวัลย์)

 

seecloud22
เมฆหมวกแก๊ป(cap cloud) เหนือภูเขาไฟฟูจิในฤดูร้อน
(ภาพ : ดร.นารีรัตน์ สุวรรณวารี)

 

seecloud19
เมฆทรวงอก(mamma) มีลักษณะเป็นกระเปาะห้อยอยู่
ใต้ฐานเมฆฝนฟ้าคะนอง (ทางซ้ายมือในภาพ)
(ภาพ : jubpoo)

 

seecloud20
เมฆคลื่นเคลวิน-เฮล์มโฮลตซ์(Kelvin-Helmholtz wave cloud)
ขนาดเล็กเรียงเป็นแถวอย่างน่ารัก
(ภาพ : ชมรวี ชวนานนท์)

 

seecloud21
เมฆก้อนระดับกลางซึ่งมีน้ำโปรยฐานเมฆ เรียกว่า
แอลโตคิมูลัส เวอร์ก้า(Altocumulus virga)
(ภาพ : จินตนา นิลเพชร)

รังสีครีพัสคิวลาร์ และเงาเมฆ
ความงามของรังสีที่สาดขึ้นฟ้าและส่องลงพื้น เกิดจากเมฆบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ เรียกว่า รังสีครีพัสคิวลาร์(crepuscular ray) ส่วนแถบมืดที่อยู่ระหว่างรังสีครีพัสคิวลา เรียกว่า เงาเมฆ (cloud shadow)

seecloud25
ปรากฎการณ์รังสีครีพัสคิวลาร์ และเงาเมฆ ที่พุทธมณฑล
จ.นครปฐม(สังเกตหมวกเมฆทางด้านซ้ายขององค์พระ)
วันจันทร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๖.๒๘ น.

(ภาพ : จตุพร วิศิษฎ์โชติอังกูร)

 

seecloud23

ภาพ : ทัศนีย์ สุขขีวรรณ

seecloud24

ภาพ : วิศิษฎ ชัชวาลทิพากร

เมฆสีรุ้งและหมวกเมฆ
เมื่อแสงสีขาวเกิดการเลี้ยวเบนผ่านหยดน้ำขนาดต่างๆ ในเมฆก็อาจเกิดเป็นเมฆสีรุ้ง(iridescent cloud) ส่วนหมวกเมฆ(pileus) เป็นเมฆบางๆ ที่เกิดอยู่เหนือเมฆก้อนใหญ่

seecloud26
หมวกเมฆที่เกิดสีรุ้งด้วย เรียกว่า หมวกเมฆสีรุ้ง
(iridescent pileus)
(ภาพ : P.Chictakamnathikit)

 

seecloud27
เมฆสีรุ้งรูปร่างคล้ายนกยูง ถ่ายภาพได้ที่ จ.ขอนแก่น (ภาพ :ไพศาล ช่วงฉ่ำ)

 

seecloud28
เมฆสีรุ้งอาจปรากฎกระจายบนท้องฟ้า
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเมฆเทียบกับดวงอาทิตย์
(ภาพ : สุริยา ระวังนาม)

 

seecloud29
หมวกเมฆสีรุ้งแบ่งแถบสีเป็นชั้นๆ ชัดเจน
ถ่ายภาพซูมที่ตำแหน่งห่างจากเมฆราว ๔๐ กิโลเมตร
เมื่อวันพุธที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๓ (ภาพ : ทัศนัย สุขขีวรรณ)

กลอรี่และการทรงกลดสุดพิศวง

seecloud30
กลอรี่(glory) มีลักษณะเป็นวงแสงสีรุ้งรอบเงาของวัตถุ
ปรากฎอยู่บนเมฆที่เหมือนฉากรองรับภาพ

 

seecloud32
แถบสีรุ้งอยู่ต่ำกว่าดวงอาทิตย์นี้เป็นอาทิตยทรงกลดแบบหนึ่ง
เรียกว่า circumhorizon arc (ภาพ : P.Chictakamnathikit)

 

seecloud31
อาทิตย์ทรงกลดซึ่งเกิดจากผลึกรูปทรงพีระมิด
อาจทำให้เกิดวงกลมซ้อนกันหลายวง (ภาพ : พงศธร กิจเวช)