จากคอลัมน์ คนบันดาลใจ
วรวดี วงศ์สง่า
vadivong@hotmail.com

เจน ออสเตน : ต้นแบบผู้หญิงยุคใหม่

“มีความจริงที่รับรู้กันอย่างเป็นสากลข้อหนึ่ง นั่นคือ หนุ่มโสดที่มีฐานะดีจำเป็นต้องรีบหาภรรยา”

ข้อความข้างต้นเป็นค่านิยมทางสังคมที่ถือปฏิบัติกันทั่วไปในประเทศอังกฤษเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ที่ เจน ออสเตน (Jane Austen, ๑๗๗๕-๑๘๑๗) นักเขียนชาวอังกฤษผู้เลื่องชื่อได้ใช้เป็นประโยคเปิดเรื่องนวนิยายที่เธอรักที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุด นั่นคือ Pride and Prejudice (๑๘๑๓)

แม้ประโยคเปิดเรื่องดังกล่าวได้แทรกอารมณ์ขันที่อาจทำให้ผู้อ่านยิ้มได้เมื่อนึกภาพความวุ่นวายของบรรดา “ผู้ดีหนุ่ม” ที่วิ่งวุ่นหา “กุลสตรี” มาประดับฐานะ และแม้เนื้อเรื่องอาจเคยได้รับคำวิจารณ์ว่า “เบาสมองล่องลอยอยู่แต่ในสังคมผู้ดี” หากนับแต่นวนิยายเรื่องนี้ปรากฏสู่สายตาผู้อ่าน กลับมีนักเขียนทั้งหญิงชายหันมาสนใจปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญมากขึ้น นั่นคือผู้หญิงถูกบังคับทั้งด้วยกฎหมายและประเพณีนิยมให้ตกเป็นเพศที่ด้อยกว่า และต้องตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายเพราะไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ไม่มีโอกาสศึกษางานอาชีพ ไม่สามารถทำงานนอกบ้าน และไม่มีสิทธิถือครองทรัพย์สินเพราะมรดกจะตกทอดถึงลูกชาย ถ้าครอบครัวนั้นไม่มีลูกชาย มรดกก็จะถูกส่งผ่านไปยังญาติผู้ชายที่มีลำดับทางเครือญาติใกล้ชิดที่สุด ผู้หญิงจึงทำได้เพียงเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อรอคอย “หนุ่มฐานะดี” เลือกไปประดับเกียรติและ “เป็นหน้าเป็นตา” ของเขาเท่านั้น

ในครอบครัวชนชั้นสูง พ่อแม่ที่มีลูกสาวจึงนิยมจ้างครูมาสอนวิชาเสริมคุณสมบัติกุลสตรี เช่น เย็บปักถักร้อย ขับร้อง เล่นเปียโน วาดภาพ หรือภาษาฝรั่งเศส ซึ่งนวนิยายของออสเตนที่ “เบาสมอง” ในทัศนะของนักวิจารณ์บางคนนี้เอง กลับสามารถสะท้อนภาพและความรู้สึกกดดันของผู้หญิงได้อย่างชัดเจน และเนื่องจากจุดมุ่งหมายในชีวิตของผู้หญิงยุคนั้นคือการได้แต่งงานกับคนมีฐานะดี เนื้อเรื่องในนวนิยายของออสเตนจึงเต็มไปด้วยการเตรียมพร้อมเพื่อหาคู่อย่างโกลาหล เช่นแม่สร้างกลอุบาย “จับ” ผู้ชายที่ร่ำรวยให้ลูกสาว หรือการชิงดีชิงเด่นในหมู่ผู้หญิงเพื่อแย่งผู้ชาย “ดีๆ” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตัวละครเอกหญิงในนวนิยายของออสเตนจะมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากผู้หญิงแบบประเพณีนิยม และกลายเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่พบได้ในตัวละครเอกหญิงในนวนิยายที่มีแก่นเรื่องคัดค้านค่านิยมเก่าในภายหลังอีกมาก แม้ตัวละครในนวนิยายช่วงหลังอาจมีบุคลิกที่พัฒนาต่อไปไกลจนถึงจุดที่เรียกว่าเป็นแบบ “สตรีนิยม” (Feminism) ในเวลาต่อมา

ตัวละครเอกหญิงของออสเตนจึงนับได้ว่าเป็นต้นแบบของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในนวนิยายอังกฤษเรื่องใดมาก่อน ตัวละครเหล่านี้ไม่ยอมรับข้อจำกัดตามประเพณีนิยมบนพื้นฐานทัศนะของนักปรัชญานักคิดรุ่นก่อนและร่วมสมัย เช่น ฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau, ๑๗๑๒-๑๗๗๘) นักปรัชญาแห่งยุโรปที่กล่าวว่าผู้ชายมีความสามารถเหนือผู้หญิง ผู้ชายจึงควรดูแลธุรกิจนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงควรดูแลงานบ้าน การศึกษาของผู้หญิงจึงต้องเป็นไปเพื่อรองรับความต้องการของผู้ชาย ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นที่พักพิงใจให้สามีด้วยความอ่อนหวาน ทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ ผู้หญิงจึงควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย ส่วน จอห์น รัสกิน (John Ruskin, ๑๘๑๙-๑๙๐๐) นักคิดคนสำคัญของอังกฤษบอกว่าผู้ชายเป็นเพศสร้างสรรค์ ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ความดีของพวกเธอจึงวัดได้ที่ความพร้อมยอมเสียสละให้ครอบครัวเป็นหลัก

จากทัศนะดังกล่าว ผู้หญิงจึงตกอยู่ในสถานภาพเป็นรองเพศชาย ทั้งที่แนวคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นผลทางอ้อมจากการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. ๑๗๗๖) และการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙) เริ่มก่อตัว และผู้คนเริ่มพูดถึงสิทธิที่บุคคลควรได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์แล้ว แต่สิทธิของผู้หญิงกลับยังคงถูกมองข้ามทั้งทางกฎหมายและประเพณีนิยม

ด้วยเหตุนี้ ตัวละครเอกหญิงของออสเตนจึงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจทั้งต่อนักเขียนและผู้อ่านให้ลุกขึ้นมาขบคิดถึงปัญหาสิทธิสตรีมากขึ้น แฟรงก์ แบรดบรูก (Frank W. Bradbrook) นักเขียนและนักวิจารณ์ผู้หนึ่งบอกว่า “ลักษณะที่แสดงถึงแนวคิดสนับสนุนสิทธิสตรีในนวนิยายอังกฤษได้เริ่มมีการวางรากฐานจริงจังเมื่อออสเตนเริ่มเขียนนวนิยาย และแม้แนวคิดดังกล่าวอาจยังไม่ชัดเจนเท่าใด แต่นวนิยายของเธอก็เป็นแรงผลักดันให้เกิดทัศนะในการมองโลกแบบใหม่”

janeausten02

ออสเตนนำเสนอภาพสังคมอังกฤษแบบประเพณีนิยมในลักษณะของการล้อเลียนเชิงขบขันพร้อมการวิจารณ์สังคมที่ส่งผ่านมากับความคิดตัวละครเอกหญิง ตัวละครที่สะท้อนความคิดของออสเตนได้ดีที่สุด เป็นที่ประทับใจผู้อ่านมากที่สุด และเป็นตัวละครที่ออสเตนรักที่สุดจนเธอถึงกับเรียกว่าเป็น “ลูกสาวที่รักยิ่งของฉัน” ก็คือ เอลิซาเบท เบนเนต จากเรื่อง Pride and Prejudice

เอลิซาเบทไม่ได้สวยเลิศเลอหรือดีเกินจริง หากสิ่งที่โดดเด่นคือสติปัญญา ความคิดและเหตุผล การเคารพตัวเองและผู้อื่น กล้าคัดค้าน กล้าแสดงออก มีคุณธรรมและน้ำใจ มีไหวพริบปฏิภาณและอารมณ์ขัน ที่สำคัญเธอกล้ายอมรับข้อผิดพลาดของตนและนำมาแก้ไข ซึ่งคุณสมบัติทุกข้อของเธอตรงข้ามกับความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงโดยสิ้นเชิง

ท่ามกลางไหวพริบปฏิภาณและอารมณ์ขันของเอลิซาเบทนี้เองที่ออสเตนแสดงทัศนะคัดค้านค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะเรื่องการแต่งงานที่ไม่มีพื้นฐานจากความรัก โดยกำหนดให้เอลิซาเบทไม่ยอมแต่งงานกับญาติฝ่ายชายชื่อคอลลินส์ เพราะเธอไม่ได้รักเขา แม้จะทั้งถูกขู่บังคับและปลอบโยนจากแม่ และแม้รู้ว่ามรดกของครอบครัวจะถูกส่งผ่านไปถึงมือคอลลินส์ เนื่องจากเธอมีแต่พี่น้องผู้หญิงที่ไม่สามารถรับมรดกได้ก็ตาม

การปฏิเสธดังกล่าวเท่ากับเป็นการปฏิเสธแรงกดดันจากสังคมและแนวคิดแบบประเพณีนิยมที่วัดคุณค่าของผู้หญิงด้วยการแต่งงาน ซึ่งแม้เอลิซาเบทยังหาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ถ้าบิดาเสียชีวิตลงในวันหนึ่งและตนจะไม่มีผู้เลี้ยงดู แต่เธอก็เลือกเผชิญกับปัญหา หากไม่ยินยอมเลือกหนทางสุขสบายที่ต้องแลกกับการสูญเสียศักดิ์ศรีและเป็นผู้ตามไปตลอด อย่างไรก็ตาม เอลิซาเบทได้แต่งงานกับชายที่เธอรักในที่สุด หลังเรียนรู้ว่าตนมีอคติผิดๆ ต่อเขา (ดาร์ซี) และหลังจากเขาสามารถลดความหยิ่งผยองของตัวเอง ทุกอย่างจึงลงตัวตามชื่อเรื่องว่า ความขัดแย้งระหว่าง Pride คือความหยิ่งของดาร์ซี กับ Prejudice คืออคติของเอลิซาเบท

การจบเรื่องด้วยความสุขหลังความตึงเครียดคลี่คลายถือเป็นกลวิธีของนวนิยายที่สร้างความพอใจให้ผู้อ่าน หากชีวิตจริงส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินไปตามขนบวรรณกรรม เพราะในขณะที่เอลิซาเบทเป็นตัวแทนของออสเตนแทบทุกด้าน แต่ออสเตนเองกลับไม่สามารถกำหนดตอนจบของชีวิตเธอให้สมบูรณ์ได้ในแบบที่เธอกำหนดให้ตัวละครที่เธอรักประหนึ่งลูกสาว เพราะออสเตนดำรงสถานภาพโสดตลอดชีวิต

เจน ออสเตน เกิดที่สตีเวนตันในแฮมป์เชียร์ เธอเป็นลูกคนที่ ๗ ในจำนวนพี่น้อง ๘ คน คือผู้ชาย ๖ และผู้หญิง ๒ จากครอบครัวผู้ดีชั้นสูง (gentry) ซึ่งเป็นชนชั้นรองลงมาจากศักดินา (aristocracy) ชีวิตประจำวันและความคาดหวังที่สังคมมีต่อเธอจึงเหมือนเอลิซาเบทในนวนิยาย แต่โชคดีที่พ่อของเธอคือจอร์จไม่ได้เลี้ยงลูกแบบประเพณีนิยม เขาส่งลูกสาว ๒ คน คือเจนและคาสซานดรา ไปเรียนหนังสือที่เมืองออกซฟอร์ด เซาท์แฮมป์ตัน และเรดดิง ก่อนรับกลับมาให้การศึกษาต่อเองที่บ้านเหมือนลูกสาวผู้ดีทั่วไป

จอร์จยังปลูกฝังให้ลูกๆ รักการอ่าน ในห้องสมุดที่บ้านจึงเต็มไปด้วยหนังสือที่มีคุณค่าทางวิชาการหลายแขนง โดยเฉพาะวรรณคดีคลาสสิกของอังกฤษและยุโรป ทั้งยังสนับสนุนให้ลูกๆ รู้จักแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล พร้อมขัดเกลาให้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ภาพของมิสเตอร์เบนเนต พ่อของเอลิซาเบทในนวนิยาย จึงเป็นภาพจำลองของจอร์จนี่เอง

แววความเป็นนักเขียนของออสเตนเริ่มฉายให้เห็นชัดเจนตั้งแต่อายุ ๑๒ เธอได้เขียนนิยายเพื่อความบันเทิงให้คนในครอบครัวอ่าน ซึ่งเนื้อเรื่องยังคงวนเวียนอยู่เพียงในสังคมแคบๆ ที่เธอรู้จัก แม้กระนั้นเธอก็สามารถนำภาพมารยาทสังคมที่ถือปฏิบัติกันตามประเพณีนิยมมาสะท้อนในเชิงตลกขบขันได้เป็นอย่างดี ภายหลังที่เธอกลายเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงจึงไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับคนในครอบครัว

ส่วนการที่ออสเตนไม่แต่งงานไม่ใช่เป็นเพราะเธอไม่มีคุณสมบัติที่สุภาพบุรุษสนใจ ตรงกันข้าม มีผู้ชื่นชอบเธอจำนวนมาก แต่เนื่องจากเธอให้คุณค่ากับความรักสูงกว่าความสะดวกสบายในชีวิต เธอจึงไม่สามารถแต่งงานกับชายที่เธอไม่รัก ความคิดนี้ระบุไว้ชัดเจนในจดหมายถึงหลานสาวที่เธอเขียนว่า “…หลานจะต้องไม่ผูกมัดตัวเองกับใครถ้ายังไม่มั่นใจว่าชอบเขาจริงๆ เพราะการแต่งงานต้องมาจากความรักความเข้าใจ และต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่แต่งเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ…”

ประสบการณ์ความรักครั้งแรกของออสเตนเกิดขึ้นเมื่อปี ๑๗๘๙ กับชายหนุ่มชื่อลีฟรอย แต่ความสัมพันธ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เพราะญาติผู้ใหญ่เห็นว่าเขายังเด็ก และฐานะทางเศรษฐกิจยังไม่พร้อมจะแต่งงาน เขาจึงเชื่อฟังและยอมเดินทางกลับไอร์แลนด์ แม้ออสเตนผิดหวัง แต่ก็สามารถเก็บความรู้สึกเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ๒ ครอบครัวเอาไว้ ต่อมาในปี ๑๗๙๘ ออสเตนได้รู้จักสุภาพบุรุษจากเอ็มมานูเอลคอลเลจ ซึ่งเธอนิยมที่เขามีความรู้ แต่กลับไม่ศรัทธาในภายหลังเพราะเขาวางตัวเหนือผู้หญิง

เมื่อออสเตนย้ายมาอยู่ที่เมืองบาท (Bath) เธอได้รู้จักสนิทสนมกับชายหนุ่มชื่ออีฟเวอลิน โดยที่ความสัมพันธ์ยังเป็นเพียงเพื่อน แต่จากข้อมูลที่คาสซานดราพี่สาวของเธอยอมเปิดเผยในภายหลังก็คือ เขาเป็นชายคนแรกที่ออสเตนรักและตกลงจะแต่งงาน หากก่อนที่ทั้งสองจะเปิดเผยกลับมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น อีฟเวอลินเสียชีวิตกะทันหัน เหตุการณ์ครั้งนั้นสะเทือนจิตใจออสเตนรุนแรงเพียงใดย่อมไม่มีใครรู้

ในปี ๑๘๐๒ ที่ครอบครัวออสเตนย้ายกลับมาอยู่สตีเวน-ตันอีกครั้ง เธอได้รู้จักกับหนุ่มน้อยวัย ๒๑ ปีชื่อ แฮร์ริส บิกก์-วิทเทอร์ ผู้ที่แม้จะอ่อนกว่าเธอเกือบ ๗ ปี แต่เขาก็ยืนยันความรักด้วยการขอเธอแต่งงาน หากท้ายสุด ออสเตนตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวคือเธอไม่ได้รักเขา ทั้งที่วัยของเธอในยุคนั้นแทบจะหาโอกาสเช่นนี้ไม่ได้อีก แต่ออสเตนก็เลือกดำรงสถานภาพโสด โดยมีพี่ชายน้องชายให้ความดูแลเรื่องค่ากินอยู่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น จนกระทั่งเธอเสียชีวิตด้วยวัย ๔๑ ปีในอ้อมแขนของพี่สาว

จากการต่อสู้ระหว่างความคิดเก่าและใหม่ในวรรณกรรมอังกฤษจนถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ปรากฏว่าแนวคิดสนับสนุนสิทธิสตรีค่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น นักเขียนที่มีทัศนะเดียวกันปรากฏมากขึ้น ในขณะเดียวกันสถานภาพของผู้หญิงก็เปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เช่นปี ๑๘๗๐ กฎหมายอนุญาตให้เด็กหญิงและชายได้รับการศึกษาในโรงเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนกฎหมายชื่อ Married Women’s Property Act ก็อนุญาตให้ผู้หญิงครอบครองทรัพย์สินส่วนตัวได้ไม่เกินปีละ ๒๐๐ ปอนด์ และปรับปรุงให้สมบูรณ์ในปี ๑๘๘๔ โดยให้ผู้หญิงมีสิทธิในสมบัติของตนเองได้ทั้งหมด ผลของกฎหมายดังกล่าวเท่ากับเป็นการปลดปล่อยผู้หญิงให้พ้นจากการเป็นเบี้ยล่างของผู้ชายด้วย

janeausten04

ในปัจจุบันนวนิยายของออสเตนได้กลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกและถูกสร้างเป็นภาพยนตร์แทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะ Pride and Prejudice นั้นถูกสร้างแล้วไม่ต่ำกว่า ๖ ครั้ง ชีวประวัติของออสเตนเองก็ถูกนำมาสร้างในชื่อเรื่อง Becoming Jane (๒๐๐๗) และ Miss Austen Regrets (๒๐๐๘) ที่มีการตีความแตกต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีการนำโครงเรื่อง Pride and Prejudice ไปทำเป็นภาพยนตร์ที่ปรับเนื้อหาใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมของประเทศนั้นๆ เช่นภาพยนตร์สะท้อนสังคมอินเดียที่สนุกสนานเชิงเสียดสีเรื่อง Bride and Prejudice (๒๐๐๔) เป็นต้น

ส่วนในวรรณกรรมไทยเช่นนวนิยายเรื่อง ปริศนา (พ.ศ. ๒๔๙๔) โดย ว.ณ ประมวญมารค ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ประพันธ์น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจาก Pride and Prejudice เช่นกัน ด้วยการนำแนวคิดและโครงเรื่องมาปรับให้เข้ากับบริบทสังคมไทยในสมัยของผู้ประพันธ์ได้อย่างลงตัว เมื่อพิจารณาตัวละครสำคัญของเรื่องก็สามารถเทียบเคียงกับ Pride and Prejudice ได้แทบทั้งหมดโดยเฉพาะ “ปริศนา” ตัวละครเอกที่มีคุณสมบัติแบบ “ผู้หญิงยุคใหม่” อันเป็นที่ประทับใจนักอ่านทุกรุ่นไม่ต่างจากเอลิซาเบทของออสเตน และ ปริศนา เองก็ได้กลายเป็นนวนิยายคลาสสิกที่ถูกนำไปสร้างเป็นทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง

ไม่ว่าแนวคิด “สตรีนิยม” จะพัฒนาไปไกลเพียงใด ผู้เขียนเชื่อว่าตัวละครเช่นเอลิซาเบทยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในปัจจุบันที่สถานภาพของผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชายแล้วเกือบทุกด้าน แต่คุณสมบัติพื้นฐานของ “ผู้หญิงยุคใหม่” ยังคงไม่ต่างไปจากตัวละครที่ถือกำเนิดมาก่อนหน้านี้ร่วม ๒ ศตวรรษ หากเอลิซาเบทเป็นต้นแบบผู้หญิงยุคใหม่ในนวนิยายอังกฤษ ผู้เขียนเห็นว่าออสเตนก็ย่อมเป็นต้นแบบผู้หญิงยุคใหม่ในชีวิตจริง ผู้ฝากผลงานทั้งจากปลายปากกาและจากการดำรงชีวิตด้วยความเคารพศักดิ์ศรีของเพศตนเองจวบจนวาระสุดท้ายไว้เป็นแรงบันดาลใจให้กับโลกและกับผู้หญิงทุกยุคสมัย

เชิงอรรถ
๑.จากบรรทัดแรกของนวนิยายเรื่อง Pride and Prejudice โดย เจน ออสเตน แปลโดยผู้เขียน
๒.Gilbert, Sandra M. and Susan Gubar. The Norton Anthology of Literature by Women: the Traditions in English. New York and London: W.W. Norton & Company, 1985. p. 168.
๓.Kirkham, Margaret. Jane Austen, Feminism and Fiction. The Harvester Press Limited and Barnes & Noble Books, 1983. p. 34.
๔.Cecil, David. A Portrait of Jane Austen. London: Constable, 1978. p. 50.
๕.นามปากกาของหม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ผู้ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๐