สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน  บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

ittiporn01“การเป็นนักบินรบเรื่องจิตใจสำคัญมาก เหมือนกับว่าเราต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ระหว่างบินต้องบังคับเครื่อง ต้องติดต่อสั่งการระหว่างหมู่บิน  ยิ่งเมื่อมีการรบติดพันกับเครื่องข้าศึกที่มีสมรรถนะเท่าเทียมกันเราต้องเลือกใช้อาวุธด้วย แล้วยังต้องเกร็งตัวสู้กับแรงจีด้วย…นักบินจึงต้องมีการฝึกฝนประสาทเป็นประจำ ตกใจได้แต่ต้องหายเร็วแก้ไขได้เร็ว…ถ้าแก้ไขผิดแล้วตกใจอาจทำให้ต้องสูญเสียเครื่องไปเลย”

นาวาอากาศโท อิทธพร ศุภวงศ์
ผู้บังคับฝูงบิน ๑๐๓ (F-16 ฝูงแรกของเมืองไทย)
สัมภาษณ์โดย วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
ใน “F-16 ฝูงบินเหยี่ยวพิฆาต ผู้คุ้มกันสันติภาพ”
สารคดี ฉบับที่ ๖๙  พฤศจิกายน ๒๕๓๓

“ผมจำไม่ได้หรอกครับว่าบินเที่ยวสุดท้ายกับ F-16 เมื่อไร มันค่อย ๆ ห่างออกมาเอง”

ยี่สิบเอ็ดปีต่อมา สารคดี กลับมาสนทนากับมิตรเก่าอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้สถานที่ที่เราพบเขาเปลี่ยนจากรันเวย์กองบิน ๑ มาเป็นห้องรับรองภายในกองบัญชาการกองทัพอากาศ  ยศบนบ่าของเขาเปลี่ยนจาก “นาวาอากาศโท” เป็น “พลอากาศเอก” ตำแหน่งเปลี่ยนจาก “ผู้บังคับฝูงบิน ๑๐๓” เป็น “ผู้บัญชาการทหารอากาศ”

เขายังคงจำวันเวลาที่ F-16 ฝูงบิน “เหยี่ยวพิฆาต” ฝูงแรกของไทยเข้าประจำการที่กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ และช่วงเวลาที่เขาทำงานกับเหยี่ยวพิฆาตได้ดี

นาวาอากาศโทอิทธพร (ยศขณะนั้น) อายุ ๓๕ ปี เป็นนักบิน F-5 ของไทย ๑ ใน ๖ คนที่ได้รับคัดเลือกไปฝึกบินกับ F-16 ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยมีชั่วโมงบิน F-5 จำนวน ๑,๔๐๐ ชั่วโมง  ก่อนสำเร็จหลักสูตรครูการบินกับ F-16 จำนวน ๔๐ ชั่วโมง  กลับมารับผิดชอบฝูงบิน ๑๐๓ ซึ่งเป็นฝูงบิน F-16 ฝูงแรกของประเทศ ในฐานะผู้บังคับฝูงคนแรกและเป็นครูการบินชุดแรกฝึกนักบิน F-16 รุ่นต่อไป

ผบ.ทอ. อิทธพรเล่าว่ายุคนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของกองทัพอากาศไทย เพราะก่อน F-16 เข้าประจำการเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะสูงสุดคือ F-5 E/F ซึ่งปฏิบัติภารกิจได้จำกัด เป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ ๓ ต่างกับ F-16 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ ๔

ittiporn02เขายังจำความรู้สึกแปลกใหม่ในการควบคุมเหยี่ยวพิฆาตในช่วงแรกได้ เพราะ “บินกับ F-16 อุปกรณ์เปลี่ยนใหม่หมด  F-16 ระบบควบคุมทันสมัยกว่า F-5 มาก  F-5 ระบบการเดินอากาศยังเป็นรุ่นเก่า นักบินต้องใช้ฝีมือในการควบคุมเครื่อง ขณะที่ F-16 ระบบเดินอากาศทันสมัยกว่า และมีเซ็นเซอร์จำนวนมากในการควบคุมตั้งแต่ติดเครื่อง การใช้อาวุธ  เราต้องฝึกทั้งภารกิจโจมตีภาคพื้น การต่อสู้อากาศสู่อากาศ  เป็นความตื่นเต้นและท้าทายว่าต้องทำให้ได้

การเข้าประจำการของ F-16 ทำให้อำนาจต่อรองของไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกำลังทางอากาศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยยืนยันว่าตั้งแต่ F-16 เข้าประจำการ ไทยไม่เคยต้องใช้กำลังทางอากาศอย่างเต็มรูปแบบเลย

ผู้บังคับฝูงอิทธพรดำรงตำแหน่งนี้ ๓ ปี (๒๕๓๑-๒๕๓๓) จากนั้นเขาก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาธิการกองบิน รองผู้บังคับการกองบิน  ระหว่างนั้นเขายังคงทำการบินกับ F-16 และปฏิบัติหน้าที่ครูการบินจนกระทั่งมารับตำแหน่งในกรมยุทธการทหารอากาศ ยุติบทบาทนักบินขับไล่ F-16 ด้วยชั่วโมงบินสะสมกว่า ๗๐๐ ชั่วโมงในปี ๒๕๔๑

นักบินรุ่นใหม่ ๆ ต่างผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาควบคุมเหยี่ยวพิฆาต  จนถึงปัจจุบันไทยมี F-16 ประจำการทั้งหมด ๓ ฝูงบิน คือ ฝูงบิน ๑๐๒, ๑๐๓ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา และฝูงบิน ๔๐๓ กองบิน ๔ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ขณะที่ “อดีตผู้บังคับฝูง” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของ ทอ. เป็นที่รู้จักในแวดวงนักข่าวว่า “บิ๊กเฟื่อง” เขาบอกว่ายังจำวันเวลาที่บินกับ F-16 ได้ดี  “ทุกคนต้องโตขึ้น ชั้นยศก็มากขึ้น พอมานั่งบริหารก็ต้องเข้าใจบทบาท เหมือนเล่นละครต้องศึกษาบทแล้วเล่นตามบท หากแสดงสมบทบาทก็ได้รับคำชมมีความเจริญก้าวหน้า  ผมบินกับ F-5 ราว ๑,๕๐๐ ชั่วโมง บินกับ F-16 ราว ๗๐๐ ชั่วโมง  จำวันสุดท้ายที่บินกับ F-16 ไม่ได้ (ยิ้ม)  ตอนเป็นเสนาธิการกองบินก็ยังบินกับ F-16 อยู่”

ล่าสุดเมื่อมีการจัดหากริพเพนเข้าประจำการใน ทอ. โดยมีพิธีต้อนรับกริพเพน ณ กองบิน ๗  ผบ.ทอ. รื้อฟื้นความหลังด้วยการทำการบินกับ F-5

เมื่อถามว่าทำไมจึงไม่บินกับ F-16  เขาตอบว่า “ผมอยากบินเครื่องบินขับไล่อีกครั้ง แต่การบินต่างกับการขับรถ ต้องอ่านตำราใหม่เพื่อทบทวน ผมเลยเลือกบินกับ F-5 เพราะมีความคุ้นเคยเนื่องจากอยู่กับมันมานาน”

เขาอธิบายว่าข้อได้เปรียบสำหรับเครื่องบินรบสมัยใหม่อย่างกริพเพน คือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อุปกรณ์ช่วยเหลือมีมาก สิ่งที่นักบินต้องเรียนรู้คือการควบคุมเครื่องบินและสร้างความคุ้นเคยกับระบบต่าง ๆ  “นักบินเก่งไม่เก่งอยู่ที่ทักษะควบคุมเครื่อง  สมัยก่อนบินกับเครื่องบินรบแบบปีก ๒ ชั้น นักบินต้องใช้ฝีมือและสมรรถนะเครื่องให้เต็มที่  เวลาโจมตีจะต้องบังคับเครื่องให้อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบจึงจะสามารถใช้อาวุธทำลายข้าศึกได้  สมัยนี้นักบินนอกจากต้องมีฝีมือแล้ว จะต้องมีความเข้าใจระบบเทคโนโลยีของเครื่องบิน  ใครมีฝีมือ ใช้ระบบเก่ง ใช้อาวุธได้เร็ว ก็จะเป็นผู้ชนะ”

ส่วนอนาคตของเหยี่ยวพิฆาตนั้น เขามองว่ายังคงปฏิบัติภารกิจรับใช้ชาติได้มากกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป

“กองทัพอากาศดูแลและปรับปรุง F-16 มาตลอด  ปี ๒๕๕๕ ครบ ๒๔ ปีที่ F-16 ฝูงแรกเข้าประจำการ  ที่ผ่านมามีการปรับปรุงขีดความสามารถของ F-16 ฝูงนี้ให้มีความทันสมัยโดยแบ่งการดำเนินการเป็น ๓ ระยะ  ระยะที่ ๑ และ ๒ เป็นการปรับปรุงโครงสร้างตามโครงการ Falcon up และ Falcon Star ส่วนระยะที่ ๓ เป็นการปรับปรุงขีดความสามารถตามโครงการ Mid Life Up Date (MLD) ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวจะทำให้ F-16 A/B มีประสิทธิภาพเท่า F-16 บล็อก 50/52 ที่ผลิตภายหลัง”

“เหยี่ยวพิฆาต” จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป แม้ว่าจะมีกริพเพนเข้าประจำการแล้วก็ตาม

อดีตผู้บังคับฝูง F-16 คนแรกกล่าวถึงชีวิตช่วงนั้นเอาไว้ว่า

“ภูมิใจครับ…ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตการบินของผม ได้ขึ้นทำการบินกับเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยและมีสมรรถนะสูงสุดของกองทัพอากาศ”