เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ยามโพล้เพล้เย็นวันหนึ่ง ท่ามกลางความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านประเทศหนึ่ง

ระบบป้องกันภัยทางอากาศของกองบิน ๗ สุราษฎร์ธานี ตรวจพบเครื่องบินขับไล่ตระกูล MIG (ผลิตในรัสเซีย) ไม่ปรากฏสัญชาติ ๖ ลำ รุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาเรื่อยๆ

ราว ๒ นาทีถัดมา เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องบินขับไล่ (Fighter Controller) ที่ประจำอยู่ภาคพื้นดิน สั่งเครื่องบินพลเรือนออกจากน่านฟ้าที่กำลังจะเป็นน่านฟ้าสงคราม (Danger Zone)

บนรันเวย์ของกองบิน ๗  กริพเพน (Gripen) สภาพพร้อมรบ ๔ ลำ ติดตั้งอาวุธแบบอากาศสู่อากาศ (Air-to-air Mission) เต็มอัตราศึก แท็กซี่ไปที่หัวรันเวย์ (หมายถึงเคลื่อนไปตามลานบินจนถึงรันเวย์หรือทางขึ้นลงเครื่องบิน)

ข้อมูลเส้นทางการบิน เส้นทางสกัดกั้น แผนการบิน ฯลฯ ที่ป้อนเข้าระบบด้วยอุปกรณ์ Data Transfer Unit โหลดขึ้นแสดงบนจอ LCD ๓ จอตรงหน้านักบิน

๒๐ วินาทีถัดมา กริพเพนลำแรกทะยานสู่ท้องฟ้า ลำอื่นๆ ทะยานตามไป

พวกเขาเร่งความเร็วเหนือเสียงพุ่งเข้าสู่น่านฟ้าสงคราม ขณะที่ Fighter Controller บนภาคพื้นดินแจ้งพิกัดข้าศึกและสถานการณ์ในน่านฟ้าที่ได้จากเครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศ (Airborne Early Warning) ซึ่งบินเตรียมพร้อม (Stand by) อยู่บนท้องฟ้าโดยมีกริพเพนคุ้มกัน ๔ ลำ

๒ นาทีถัดมา กริพเพน ๔ ลำเข้าใกล้ข้าศึก  ข้อมูลจากเครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศแบบ SAAB 340 AEW/B ระบุว่า นอกจากฝูงบินขับไล่ไม่ปรากฏสัญชาติ ยังพบขบวนเรือรบไม่ทราบฝ่าย ๖ ลำรุกล้ำน่านน้ำมาทางอ่าวไทยและมีท่าทีคุกคามชัดเจน

หัวหน้าฝูงบินปรึกษาผู้บัญชาการผ่าน Fighter Controller  พวกเขาตัดสินใจปรับแผน

กริพเพน ๒ ลำเปลี่ยนภารกิจโดยลงจอดฉุกเฉิน (Emergency Landing) ที่สนามบินเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งรันเวย์ยาวเพียง ๘๐๐ เมตร  หน่วยภาคพื้นดินประกอบด้วยรถปิกอัป ๒ คัน ทหารช่าง ๕ นายรออยู่แล้ว  ที่นั่น ระบบอาวุธถูกเปลี่ยนโดยติดตั้งจรวด RBS-15F ที่จะจมเรือฟริเกตได้เข้าไป

๑๐ นาทีถัดมา กริพเพน ๒ ลำทะยานขึ้นเหนือฟ้าอีกครั้งและบินไปทางอ่าวไทย  สักพักจอ LCD ในห้องนักบินยืนยันตำแหน่งเรือรบข้าศึกปรากฏเป็นเป้าสีแดงพร้อมจัดลำดับความสำคัญว่าควรทำลายเป้าใดก่อน อีกทั้งยังแสดงข้อมูลทั้งหมดของเรือทุกลำ ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งมาจากเรือหลวงจักรีนฤเบศรผ่าน Fighter Controller

กริพเพนลำหนึ่งล็อกเป้า อีกลำรับทราบว่าเพื่อนล็อกเป้าแล้วจึงล็อกเป้าหมายรองลงมา  ไม่กี่วินาที จรวด RBS-15F ๖ ลูกถูกยิงจากนอกระยะสายตา (Beyond Visual Range-BVR) ทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างไป ๙๐ กิโลเมตรอย่างแม่นยำ

ตัดกลับมาที่กริพเพนอีก ๒ ลำ  ๕ นาทีตั้งแต่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขาเข้าสกัดกั้น MIG ๖ ลำด้วยจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยใกล้ AIM-120 AMRAAM ข้าศึก ๔ ลำถูกทำลาย อีก ๒ ลำหลบได้ ทว่าก็ถูกล็อกตำแหน่งโดยเครื่องบินตรวจการณ์ฯ ทำให้จรวดนำวิถีระลอก ๒ ที่ยิงตามไปทันทีทำลายข้าศึกได้สำเร็จ

ในที่สุด กริพเพนทั้ง ๔ ลำกลับฐานอย่างปลอดภัย  เมื่อช่างเทคนิคภาคพื้นดินรับกริพเพนเข้าจุดจอด ระบบคอมพิวเตอร์ของเครื่องบินรายงานสถานะทั้งหมดของเครื่องและแสดงบริเวณที่ต้องตรวจสอบหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ผ่านเครือข่าย Wi-Fi เข้าสู่คอมพิวเตอร์พกพาของช่างเทคนิค ทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างรวดเร็ว

๑๐ นาทีถัดมา กริพเพนพร้อมปฏิบัติการอีกครั้ง

แม้ว่าเหตุการณ์ข้างต้นคือสถานการณ์จำลองที่อาจเกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในภาวะสงคราม (War Times) แต่เช้าตรู่วันต้นปี ๒๕๕๔ ที่กองบิน ๗  ผมก็ได้เห็นภาพคล้ายกันนั้น และได้ยินบทสนทนาทางวิทยุที่แสดงถึงความรวดเร็วของปฏิบัติการทางอากาศ

“ทาวเวอร์ นี่คือ J-KNIGHT พร้อมออกปฏิบัติการ”

“J-KNIGHT ให้คุณใช้รันเวย์ ๒๒ ไต่ไปที่ ๑๕,๐๐๐ ฟุต”

“รันเวย์เคลียร์”
“รันเวย์เคลียร์”

ทันทีที่การสื่อสารทางวิทยุจบลง กริพเพนของผู้บังคับฝูง จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ก็แผดเสียงกัมปนาทพร้อมพ่นเปลวเพลิงสีแดงจากท่อไอพ่น  เพียง ๒ วินาทีมันก็พุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ที่หัวรันเวย์ กริพเพนอีกลำและ F-16 ๒ ลำ วอร์มเครื่องยนต์รอหอบังคับการบินอนุญาต  take off จนเสียงดังกระหึ่ม  ที่ Taxi Way (ทางขับ) กริพเพนอีก ๓ ลำเคลื่อนตามมาช้าๆ

อีกมุมหนึ่งของกองบิน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินกำลังทำงานอย่างขะมักเขม้นเพื่อส่งฝูงเครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศไทยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อสกัดกั้นข้าศึก

แม้สิ่งที่เห็นตรงหน้าจะเป็นการฝึกในยามสงบ แต่บทสนทนากับนักบินกริพเพนในสโมสรนักบิน (pilot lough) และคำบอกเล่าใน “ห้องบรีฟ” (Brief Room) เกี่ยวกับงานของกริพเพนและนักบินขับไล่กริพเพนชุดแรกของไทย ยังคงวนเวียนในสมอง

“ถ้ามีภัยคุกคามใน ๕ นาที เครื่องบินขับไล่ต้องถึงตำแหน่งสกัดกั้น ใช้เครื่องบินแบบไหนขึ้นกับภัยคุกคาม การวางกำลัง และแผนยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ”

“สมัยนี้การรบทางอากาศเอาชนะด้วยข้อมูลข่าวสาร เครื่องบินขับไล่ไม่ว่าค่ายไหนมีระบบอาวุธใกล้เคียงกัน ฝ่ายไหนรู้สถานการณ์มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ดังนั้นต้องทำงานเป็นทีม”

“ทุกครั้งที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า เรามีภารกิจ เราถูกฝึกให้พร้อมรบ การฝึกที่เห็นคือการรบ  โอกาสเกิดอุบัติเหตุเท่ากับหนึ่งในล้าน ถ้าเกิดขึ้นต้องรู้ว่าจะทำอะไร  คนเข้าใจเครื่องบินและมีสติจะแก้สถานการณ์ได้ดี เพราะจะตกใจหรือไม่ตกใจตรงหน้าคือความตายเช่นเดียวกัน”

“นักบินขับไล่ไม่ต่างกัน ไม่ว่าเขาจะขับเครื่องบินแบบไหน ปรัชญาในการศึกทางอากาศคือ มีเครื่องขับไล่แบบ The Second Best (ดีแต่ไม่เป็นที่ ๑) ไม่มีประโยชน์ เพราะ The Best เท่านั้นที่จะได้รับชัยชนะ”

บางที ด้วยสาเหตุหลังสุดนี้เองที่ “กริพเพน” เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดแบบหนึ่งของโลก จึงถูกจัดหาเข้าประจำการในกองทัพอากาศไทย ณ ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ภารกิจหนึ่งเดียวที่มันได้รับมอบคือ “คุ้มกันน่านฟ้าและผลประโยชน์ทางทะเล” ณ ด้ามขวานไทย

gripen01จาก “ฝูงบินเหยี่ยวพิฆาต” สู่ “ฝูงบินพิฆาตกริพเพน”

ย้อนไปราว ๓ ทศวรรษ  F-16 ซึ่งได้สมญา “เหยี่ยวพิฆาต” (Fighting Falcon) คือเครื่องบินขับไล่สัญชาติอเมริกันที่มีสมรรถนะสูงที่สุดแบบหนึ่งของโลก ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตว่าจะชนะทุกสมรภูมิเมื่อเผชิญหน้าเครื่องบินขับไล่ค่ายสังคมนิยม

ไทยมี F-16 “ฝูงบินเหยี่ยวพิฆาต” ประจำการตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ถือเป็นฝูงบินขับไล่หลักที่คุ้มกันน่านฟ้าของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน  และด้วยความเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ (Multirole Fighter) ที่ครบเครื่องทั้งการรบทางอากาศ (air-to-air mission) และโจมตีภาคพื้น (air-to-ground mission) มันจึงต่างจากเครื่องบินขับไล่ยุคก่อนที่ถูกออกแบบเพื่อทำงานเฉพาะภารกิจ

พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บังคับฝูง F-16 คนแรก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ยืนยันว่านับแต่นั้น การปะทะทางอากาศระหว่างเครื่องบินขับไล่ของไทยกับเพื่อนบ้านไม่เคยเกิดขึ้นอีก

เมื่อ SAAB Jas 39 C/D เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ที่มีชื่อเรียกว่า “กริพเพน” เข้าประจำการที่ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗  นักบินชุดแรก ๔ คน ผู้กุมบังเหียนเครื่องบินขับไล่ที่ได้ฉายาว่า “กริฟฟิน” (Griffin) สัตว์ครึ่งราชสีห์ครึ่งอินทรีในเทพนิยาย จึงถูกเลือกจากนักบินในฝูงบินขับไล่ที่มีสมรรถนะสูงสุดของประเทศ คือ F-16 และ F-5 โดยทั้งหมดมีชั่วโมงบินสะสมเกินคนละ ๑,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป

พวกเขาทุกคนผ่านหลักสูตรการฝึกนักบินรบสุดหินมาแล้วตั้งแต่สมัยเรียนอยู่โรงเรียนการบินกำแพงแสนที่บ่มเพาะนักบินเหยี่ยวพิฆาตรุ่นแล้วรุ่นเล่า

นักบินกริพเพนคนหนึ่งเล่าถึงการทดสอบเพื่อคัดเลือกนักเรียนปี ๔ จากโรงเรียนนายเรืออากาศเข้าเป็นศิษย์การบินที่โรงเรียนการบินกำแพงแสน ว่าพวกเขาต้องผ่านการทดสอบทางจิตวิทยาและการทดสอบทางกายภาพหลายอย่าง “เช่น คุยด้วยเขียนหนังสือด้วย มือจิ้มไปตามจุด งงก็หยุด นี่คือแยกประสาท  เขาทำเพื่อดูว่ารับความกดดันได้แค่ไหน พร้อมเป็นนักบินหรือไม่ ถ้ารับสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้ก็เป็นนักบินไม่ได้”

ทุกปีกองทัพอากาศจะระบุจำนวนนักบินที่ต้องการ บางปีการแข่งขันอาจสูงถึง ๑ ต่อ ๕ คือนักเรียน ๑๐๐ คน รับเข้าเป็นนักบิน ๒๐ คน

ใน ๒๐ คนนี้จะเริ่มจากเป็นศิษย์การบินระดับประถม  ต้องเรียนใน ๒ ภาคส่วน คือ “วิชาการ” และ “อากาศ”  ส่วนที่ชี้เป็นชี้ตายว่าจะได้เป็นนักบินหรือไม่ คือภาค “อากาศ” หรือ “การบิน”

ระดับประถม ศิษย์การบินจะได้ฝึกบินจริง (Airborne) กับ “ครูการบิน” คนแรก  เครื่องบิน (ใบพัด) ลำแรกที่บังคับด้วยมือตัวเอง โดยจะบินกับครู ๙๐ ชั่วโมง  ส่วนที่ง่ายแต่ยากที่สุดคือการบินเดี่ยว (Pre-solo)

นักบินคนหนึ่งอธิบายว่า “เป็นการบินเดี่ยวครั้งแรกในชีวิต ผ่านไม่ได้ก็ตก แต่ส่วนมากทำได้  ในรุ่นผมมีนักเรียนการบิน ๓๐ คน ตกจากตรงนี้ไป ๗ คน”

ศิษย์การบินต้องผ่านด่านนี้เพื่อเป็นศิษย์การบินระดับมัธยม  ใครที่คะแนนดีก็จะเรียนเครื่องบินไอพ่นต่อไปได้  ถึงตอนนี้เครื่องบินฝึกจะเปลี่ยนเป็นเครื่องที่ซับซ้อนกว่าเดิม ใช้เวลาฝึกทั้งหมด ๑๑๐ ชั่วโมง ในรูปแบบการบินที่ซับซ้อน อาทิ การบินหมู่ การบินเกาะภูมิประเทศ เป็นต้น  แน่นอนว่ายังมีช่วง Pre-solo อีกครั้ง

ศิษย์การบินที่ผ่านระดับมัธยมและเรียนจบจะมีคะแนน ๓ ด้าน คือ คะแนนการบิน คะแนนวิชาการ และคะแนนความประพฤติ  ผู้ที่มีคะแนนรวมสูงจะมีโอกาสเลือกแบบเครื่องบินได้มากกว่า โดยมีทางเลือก ๓ ทาง คือ “นักบินลำเลียง” ประจำที่กองบิน ๖ (ดอนเมือง)  “นักบินเฮลิคอปเตอร์” ประจำที่กองบิน ๒ ฐานบินโคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี  และ “นักบินขับไล่” ประจำที่กองบิน ๔ ฐานทัพอากาศตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

นักบินขับไล่จะฝึกกับเครื่องบินฝึกไอพ่นแบบ L-39 ในหลักสูตรนักบินขับไล่เบื้องต้น (Fighter lead-in) ซึ่งจะตัดสินว่าเขาจะได้ขับเครื่องบินรบแบบใด ระหว่าง F-16, F-5 หรือ L-39  ก่อนจะถูกส่งไปประจำตามกองบินต่างๆ ที่มีเครื่องบินขับไล่แต่ละแบบประจำการอยู่

เมื่อไปประจำการตามกองบิน ความท้าทายที่รออยู่คือช่วงฝึก “นักบินพร้อมรบ” (Combat Ready)  ใช้เวลาราว ๑๐๐ ชั่วโมงที่จะทำให้พวกเขาต่างจากนักบินพาณิชย์

ด้วยเป้าประสงค์นั้นไม่ใช่แค่นำเครื่องไปให้ถึงจุดหมายหรือบินด้วยท่าที่สวยงาม หากเป็นการฝึกเพื่อรู้จักเขี้ยวเล็บของตัวเองเพื่อใช้ให้เต็มประสิทธิภาพการรบซึ่งตัดสินแพ้ชนะในเวลา “เสี้ยววินาที” บนท้องฟ้า

“เพราะการรบทางอากาศ เขาไม่นับเป็นนาที เขานับเป็นวินาที” นักบินขับไล่คนหนึ่งเล่า

เดิมที F-16 ของฝูงบิน ๑๐๒ และ ๑๐๓ ซึ่งประจำการที่กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา เป็นฝูงบินรบที่มีสมรรถนะสูงสุดซึ่งนักบินระดับหัวกะทิเกือบทุกคนปรารถนาจะไปประจำการ

ผู้ที่จะทำการบินกับ F-16 นอกจากฝีมือดีแล้วยังต้องมีชั่วโมงบินสูง ประวัติการบินดีเยี่ยม ผ่านการบินกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะรองลงมา อาทิ F-5 มาแล้วหลายร้อยชั่วโมง

เมื่อกริพเพนที่มีสมรรถนะเหนือกว่า F-16 มาถึง นั่นหมายความว่านักบินที่จะมาบังคับกริพเพนย่อมต้องคัดมาจากสุดยอดนักบินขับไล่ในฝูงบินสมรรถนะสูงอย่าง F-16 หรือ F-5 นั่นเอง

นักบินพร้อมรบกริพเพน

๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔  ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ สุราษฎร์ธานี

ผมกับช่างภาพร่วมพิธีบรรจุกริพเพน “ครึ่งฝูงแรก” ๖ ลำเครื่องบิน SAAB 340 AEW/B อากาศยานติดตั้งเรดาร์ตรวจหาเป้าหมายในอากาศ หรือ “เครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศ” (Airborne Early Warning) ๑ ลำ และเครื่องบินฝึกอีก ๑ ลำ เข้าประจำการภายใต้โครงการ “สุวรรณภูมิสันติ” (Peace Suvarnabhumi) ที่เรียกชื่อเต็มว่า “โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ JAS Gripen 39 C/D”

ระยะที่ ๑ กองทัพอากาศ (ทอ.) ใช้งบประมาณทั้งหมด ๑๙,๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งจะผูกพันงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี ๒๕๕๑-๒๕๕๕  ส่วนระยะที่ ๒ ใช้งบประมาณ ๑๖,๒๖๖ ล้านบาทจัดซื้อกริพเพนอีก ๖ ลำเพื่อให้ครบ ๑๒ ลำ (๑ ฝูง) ผูกพันงบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๘  รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น ๓๕,๘๖๖ ล้านบาท

สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าผม คือผลจากการดำเนินโครงการระยะที่ ๑ โดย SAAB340 มาถึงฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๓  ส่วนกริพเพน ๖ ลำมาถึงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

ก่อนหน้านี้ กองทัพอากาศเลือกนักบิน F-16 ๓ นาย  นักบิน F-5 อีก ๑ นาย ไปฝึกที่ประเทศสวีเดนตั้งแต่ต้นปี ๒๕๕๓ เพื่อกลับมาเป็น “นักบินพร้อมรบ” กริพเพนชุดแรกของเมืองไทย

หนึ่งในนั้นคือ นาวาอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ผู้บังคังฝูงบินพิฆาตกริพเพนคนแรก

เขาเล่าถึงการฝึกว่า “ก่อนไปต้องทดสอบภาษาอังกฤษ ความถนัดทางการบิน การรับมือสถานการณ์ต่างๆ และทดสอบทางจิตวิทยา  เมื่อได้รับเลือกต้องไปเรียนหลักสูตร Gripen 39 C/D Instructor Pilot Training Batch 1 ที่สวีเดน คือนอกจากฝึกบินกริพเพนให้เชี่ยวชาญ ต้องเป็น ‘ครูการบิน’ สอนนักบินรุ่นหลังได้ด้วย”

การฝึกที่ผู้บังคับฝูง (ผู้ฝูง) เล่านั้นเริ่มตั้งแต่มีนาคม-ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่กองบิน ๗ (F7) เมืองซาเทนาส (Satenas)

และนี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยซื้อเครื่องบินขับไล่ค่ายยุโรป นักบินทั้ง ๔ นายจึงต้องฝึกในหลักสูตรซึ่งมีปรัชญาต่างจากการฝึกแบบอเมริกันที่คุ้นเคย

ผู้ฝูงจักรกฤษณ์อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “หลักสูตรอเมริกัน ทุกเที่ยวบินให้คะแนนเป็น ผ่าน (Fair) ดี(Good) ดีมาก(Excellent)  แต่สวีเดนไม่เน้น เขาเน้นแบ่งปันประสบการณ์ คนเป็นศูนย์กลาง  เขาไม่กลัวนักบินพลาด เขาอยากให้พลาดโดยอยู่ในกรอบความปลอดภัย เพราะจะเป็นประโยชน์แก่นักบินและคนอื่นที่จะได้ความรู้  ตกเย็นทั้งฝูงบินต้องมาคุยกันว่าฝึกวันนี้พลาดอะไร ขั้นตอนนี้นักบินขับไล่ไทยปรับตัวได้ดี พูดมากจนเขาบอกพอแล้ว”

การฝึก ๒ เดือนแรกเริ่มจากกระโดดร่มในกรณีต้องสละเครื่อง (Parachute Landing Training-PLT) ฝึกยังชีพในทะเลในสระว่ายน้ำที่จำลองสภาพทะเลจริง ฝึกจริงในทะเลบอลติกซึ่งอุณหภูมิติดลบ ฝึกบินเปลี่ยนแบบ (Conversion Training) ให้บินกับกริพเพนได้ เพราะเดิมพวกเขาบินกับ F-16 และ F-5

เดือนต่อมาฝึกกับเครื่องจำลองการบิน (Flight Simulator) ของกริพเพน และเข้าสู่โหมดฝึกบินพร้อมรบ (Combat Ready) โดยต้องฝึกภาคปฏิบัติด้วยการขับกริพเพนกับครูการบินสวีเดนพร้อมเรียนภาควิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการบินสกัดกั้นพิสูจน์ฝ่าย (Quick Reaction Alert-QRA)  การปล่อยอาวุธนำวิถีนอกระยะสายตา (Beyond Visual Range Missile-BVR Missile) การบินลาดตระเวน (Reconnaissance) การปฏิบัติการทางทะเล (Maritime Operations) สุดท้ายคือ Final Exercise นำความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาฝึกรบในสถานการณ์จำลอง

การฝึกหายใจเข้าออกใน ๑ วินาที กลั้นหายใจ ๓ วินาที เพื่อรับมือแรงจี (G: Gravity-แรงเหวี่ยงวัตถุออกจากศูนย์กลาง) ที่เกิดขณะเครื่องบินหักเลี้ยวด้วยความเร็วสูง (ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองนักบินไม่พอเนื่องจากขณะที่หัวใจยังเต้นอัตราปรกติ แต่แรงเหวี่ยงจะดึงเลือดให้ไหลจากศีรษะลงเท้าจนนักบินอาจหมดสติ)  ซึ่งพวกเขาเคยฝึกเมื่อครั้งบินกับ F-16 ที่สร้างแรงจีขณะหักเลี้ยวได้ถึง ๙ จีในเวลาไม่กี่วินาที (เทียบกับ ๑ จี หรือแรงโน้มถ่วงโลกตามปรกติ) ยังคงต้องนำมาใช้ร่วมกับ “จีสูท” (G-Suit) หรือชุดนักบินกริพเพนซึ่งจะดูดอากาศเข้าสู่ชุดเพื่อบีบกล้ามเนื้อที่ท้องและขาไม่ให้เลือดไหลลงส่วนล่างได้

ที่สำคัญ กริพเพนเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ ๔.๕  ต่างจากเครื่องบินขับไล่ยุคที่ ๔ อย่าง F-16 ทำให้พวกเขาต้องเรียนรู้การควบคุมกริพเพนด้วยวิธีที่ต่างออกไป

ในกรณี F-16 แม้จะควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (Electric Jet: Fly by Wire) แข็งแรง รวดเร็ว หักเลี้ยวด้วยความเร็วสูง ทว่าก็เทียบไม่ได้กับกริพเพนที่ทำได้ดุจเดียวกัน แต่ควบคุมทุกระบบด้วยคอมพิวเตอร์อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังมีเขี้ยวเล็บคืออาวุธยุคใหม่นานาชนิด เช่น จรวดทำลายเรือรบผิวน้ำ RBS-15F  จรวดนำวิถีระยะกลาง Meteor ที่ ทอ. ไทยไม่เคยมีใช้งานมาก่อน  ที่สำคัญคือมีระบบสื่อสารข้อมูลที่ล้ำหน้ากว่าเครื่องบินขับไล่แบบอื่น

โครงสร้างของกริพเพนถูกออกแบบให้กึ่งล่องหน สะท้อนสัญญาณเรดาร์น้อยจนข้าศึกตรวจเจอได้ยาก มีวงรอบปฏิบัติการสั้น (Turn-around time) คือใช้เวลาเตรียมเครื่องเมื่อจบภารกิจไม่เกิน ๑๐ นาทีก็ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องได้ทันที ขณะที่ F-16 ต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงในการเติมเชื้อเพลิงและติดตั้งอาวุธก่อนเริ่มภารกิจใหม่

“F-16 ที่เรามี เทียบได้กับรถยนต์รุ่นดีที่สุดเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ส่วนกริพเพนมีความอเนกประสงค์ไม่ต่างกับ F-16  ที่ต่างคือระบบควบคุมทางยุทธวิธี การเชื่อมโยงข้อมูล เรดาร์ที่พัฒนาขึ้น นี่คือเครื่องบินรบคอมพิวเตอร์ หรือ Electronic Control Unit มีซอฟต์แวร์กว่า ๓๐ ระบบ โดยเฉพาะการสื่อสารซึ่งเครื่องบินขับไล่รุ่นก่อนเน้นเสียง (Voice) แต่กริพเพนสื่อสารได้ทั้งเสียง ภาพ กับหน่วยสนับสนุนต่างๆ” ผู้ฝูงจักรกฤษณ์อธิบาย

จุดเด่นของกริพเพนคือความสามารถด้านเครือข่ายและจัดการข้อมูลในสนามรบ  พูดง่ายๆ คือนักบินเห็นสถานการณ์ในสนามรบทั้งหมด ไม่ต่างกับเวลาเล่นเกมวางแผนรบในคอมพิวเตอร์  ข้อมูลที่ “จำเป็นเท่านั้น” จะปรากฏบนจอแสดงผล ๔ จอ เพื่อลดภาระการตัดสินใจของนักบิน คือ จอซ้ายแสดงข้อมูลการบินทั่วไป  จอกลางเป็นแผนที่ Moving Map แสดงความเคลื่อนไหวในสนามรบเสมือนจริง (Real Time) จอขวาเป็นเรดาร์  และจอสุดท้ายคือจอ HUD อยู่ด้านบนระดับสายตา คอยสรุปข้อมูลทั้งหมดให้นักบินตัดสินใจด้วยการดูเพียงจอเดียว

นาวาอากาศโท ณัฏฐวุฒิ ดวงสูงเนิน หนึ่งในนักบินกริพเพนชุดแรกให้ภาพว่า “สมัยบิน F-5 เราสื่อสารด้วยเสียง มีโอกาสพลาดเยอะ เพราะเวลาทำงานบนอากาศเราไม่อาจรับข้อมูลจำนวนมากและซับซ้อนได้  แต่ถ้าเป็นกริพเพน ข้อมูลถูกส่งเป็นภาพบนจอ ระบุฝ่าย ภารกิจ แสดงสถานการณ์ทั้งหมด สมบูรณ์ที่สุดสำหรับตัดสินใจ  ถ้าถามว่ากริพเพนบินง่ายไหม ตอบว่าง่าย เพราะมีระบบอัตโนมัติเยอะ แต่งานยากคือการจัดการข้อมูลในห้องนักบิน (Cockpit) เช่น จะเอาจรวดไปยิงเรือ กว่าจะยิงต้องจัดการข้อมูลที่หลั่งไหลจากเครือข่าย เตรียมระบบยิงอาวุธ  ดังนั้นนักบินกริพเพนต้องเป็นนักบริหารจัดการข้อมูลด้วย”

กริพเพนยังมีระบบสนับสนุนนักบินตั้งแต่ก่อนปฏิบัติการในรูปฮาร์ดดิสก์ ๒ ตัวที่เรียกว่า Data Transfer Unit ตัวหนึ่งสำหรับใส่ข้อมูลภารกิจ อีกตัวคอยบันทึกปฏิบัติการบนท้องฟ้าซึ่ง “ต่างจากเครื่องบินขับไล่ยุคก่อนที่ก่อนบินต้องตั้งระบบที่หน้าปัด แต่กริพเพนไปถึงก็เสียบฮาร์ดดิสก์ จากนั้นข้อมูลภารกิจจะโหลดเข้าเครื่องไปแสดงที่จอ เราแค่สตาร์ตแล้วไปเลยกลับลงมาก็ถอดจากเครื่อง นำบันทึกการบินไปทบทวนในห้อง De-Brief”

ในทางทหาร เรียกระบบนี้ว่า Gripen Integrated Air Defense System (GIADS)

และเมื่อพวกเขากลับจากสวีเดนมาประจำการที่ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ สุราษฎร์ธานี  การฝึกเพื่อรักษาสภาพพร้อมรบ (Combat Ready) ก็ต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะพ้นจากหน้าที่ “นักบินขับไล่”

gripen03

Combat Ready

ในยามปรกติ (Peace Time)  ชีวิตนักบินกริพเพนที่ฝูงบิน ๗๐๑ กองบิน ๗ จะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่

ทุกคนต้องพักผ่อนเต็มที่มาอย่างน้อย ๑๒ ชั่วโมงก่อน take off  แอลกอฮอล์ไม่ว่ายี่ห้อดังดีกรีอ่อนเพียงใดถือเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมันคือหน้าที่และความรับผิดชอบเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

เจ็ดนาฬิกา พวกเขาจะรวมกันที่ห้องบรีฟ (Brief Room) เพื่อรับทราบสถานะเครื่องพร้อมรบ สถานะอาวุธ ตารางบินประจำวัน รายงานสภาพอากาศ ข่าวสารกองบิน ฯลฯ

นักบินที่มีภารกิจช่วงเช้าจะแยกไปบรีฟอีกห้องเพื่อลงรายละเอียดตั้งแต่จัดลำดับแท็กซี่ ลำดับการทะยานขึ้นไปในอากาศ จัดหมู่บิน น่านฟ้าที่ใช้ฝึก ฯลฯ  จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเตรียมตัวออกปฏิบัติการหรือ “Step”  ในขั้นนี้นักบินจะเปลี่ยนไปใส่ชุดจีสูท เดินทางไปที่โรงเก็บเครื่องบิน แท็กซี่เครื่องสู่รันเวย์แล้วทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า  เมื่อจบภารกิจจะกลับลงมา De-Brief ทบทวนการฝึกร่วมกัน

กระบวนการนี้จะเริ่มอีกครั้งในช่วงบ่ายถึงเย็น เพื่อทบทวนทักษะและรักษาสภาพนักบินพร้อมรบ

หนึ่งเที่ยวบินจะใช้เวลาบนภาคพื้นดินและท้องฟ้าทั้งหมด ๕ ชั่วโมง  เฉลี่ยเป็นชั่วโมงบนภาคพื้นดิน ๓ ชั่วโมง อยู่บนท้องฟ้า ๒ ชั่วโมง

แต่ละเดือนนักบินกริพเพนต้องฝึกกับเครื่องจำลองการบิน (Simulator) อย่างน้อย ๖ เที่ยวบิน ไม่นับการฝึกบินจริงประจำวันที่ผ่านการวางแผนแล้วว่าจะทำให้เขาดำรงสภาพพร้อมรบได้มากที่สุด

นักบินกริพเพนนายหนึ่งอธิบายว่า “นักบินขับไล่อาศัยทักษะที่เกิดจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง (Skill Base) ถ้าหยุดบินสนิมจะขึ้น ทักษะจะหายไป ไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อมอยู่เสมอจนกล้ามเนื้อทำงานโดยอัตโนมัติว่าจะกดปุ่มไหน จะทำอะไรในห้องนักบิน”

ช่วงแรกที่กริพเพนเข้าประจำการ ครูการบินจากสวีเดนซึ่งมาประจำการอยู่ที่กองบิน ๗ คอยให้คำปรึกษาใกล้ชิดหลายครั้งทั้งครูการบินและนักบินกริพเพนพบว่ากริพเพนได้แสดงศักยภาพใหม่ๆ ออกมา อาทิ รูปแบบการบิน ความสามารถในการทำงานกับกริพเพนลำอื่นๆ ในฝูงบิน

สิ่งที่เห็นเป็นผลจากการเป็นเครื่องบินรบคอมพิวเตอร์ที่ซอฟต์แวร์ถูกอัปเกรดเป็นระยะ ศักยภาพในการพลิกแพลงการปฏิบัติการและเพิ่มความสามารถใหม่ๆ จึงมีสูง

ที่สำคัญ นักบินกริพเพนไม่ได้ฝึกฝนหรือออกไปเผชิญกับข้าศึกบนท้องนภาอย่างโดดเดี่ยว

พวกเขายังมี “ทีมงาน” สนับสนุน และทีมงานเหล่านี้เองที่ทำให้กริพเพนกลายเป็น “ฝูงบินขับไล่อัจฉริยะ” อย่างแท้จริง

“ลมใต้ปีก” ของกริพเพน

นอกจากนักบิน ๔ นายที่ถูกฝึกเพื่อกลับมาเป็น “ครูการบิน” ผลิตนักบินกริพเพนรุ่นต่อไป  กองทัพอากาศยังส่งนักบินอีก ๖ นายไปฝึกในหลักสูตร Gripen 39 C/D Pilot Training Batch 2 เพื่อกลับมาทำงานร่วมกับนักบินกริพเพน ๔ คนแรกของกองบิน ๗ (รวมทั้งหมดมี ๑๐ คน) และยังส่ง “ทีมงาน” ชุดแรกของฝูงบินกริพเพนแห่งกองบิน ๗ ไปอบรมที่สวีเดนประกอบด้วย

ช่างอากาศยาน สนับสนุนการซ่อมบำรุงบนภาคพื้น ๔๐ นาย

นักบิน SAAB 340 AEW/B ๖ นาย  เจ้าหน้าที่สนับสนุน อีก ๑๒ นาย

เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องบินขับไล่ (Fighter Controller) ๕ นาย

เจ้าหน้าที่นิรภัยการบิน (Flight Safety Equipment) ๔ นาย  เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ๒ นาย

ผู้ฝูงจักรกฤษณ์บอกว่า ทีมเหล่านี้คือ “ครอบครัว” ของพวกเขา เพราะ “กองบินไม่ต่างกับครอบครัว นักบินมีความสำคัญ แต่คนทำงานส่วนอื่นที่สนับสนุนให้เราทำงานบนท้องฟ้าได้ราบรื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน”

นักบินขับไล่ทุกคนกับทีมจึงเป็นหนึ่งเดียวกันและไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างที่สุด เพราะการเตรียมเครื่องบินขับไล่ให้พร้อมรบ เตรียมระบบอาวุธให้พร้อมใช้  นอกจากนักบินที่เก่งกาจ การซ่อมบำรุงที่มีคุณภาพสูงสุด ทีมงานที่เชี่ยวชาญบนภาคพื้นดินก็มีผลชี้เป็นชี้ตายของปฏิบัติการเช่นกัน

ยิ่งสำหรับกริพเพนที่ต้องการข้อมูลจำนวนมากในแต่ละภารกิจเพื่อให้ครองอากาศ (ควบคุมน่านฟ้า) ได้อย่างเต็มศักยภาพเหนือเครื่องบินขับไล่ข้าศึก  คนเหล่านี้เองจะเป็น “ลมใต้ปีก” ของกริพเพนอย่างแท้จริง

ทีมช่างอากาศยาน มีหน้าที่คอยติดตั้งอาวุธ ตรวจสอบเครื่องก่อนขึ้นบิน โดยกริพเพนที่มีระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมทุกส่วนจะรายงานให้พวกเขาทราบว่าส่วนใดผิดปรกติ ส่วนใดทำงานขัดข้องโดยไม่ต้องเสียเวลาไล่หาสาเหตุแบบเครื่องบินรุ่นก่อน  พวกเขายังมีหน้าที่สำรองอะไหล่ทั้งหมดของกริพเพนและพร้อมที่จะถอดเปลี่ยนซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา  ในยามสงคราม พวกเขาคือหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่จะตามไปสนับสนุนกริพเพนตามรันเวย์ชั่วคราวและฐานทัพลับที่ถูกซ่อนเอาไว้ตามจุดต่างๆ

ส่วนทีมนักบินและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศแบบ SAAB 340 AEW/B ที่จะมาประจำกับฝูงบิน ๗๐๒ กองบิน ๗ (ฝูงบินนี้จัดตั้งขึ้นรองรับเครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศโดยเฉพาะ) จะทำลายข้อจำกัดของเรดาร์ภาคพื้นดินที่ส่งสัญญาณไปตรวจจับข้าศึกแล้วเจอข้อจำกัดของภูมิประเทศ อาทิ แนวหุบเขา จนทำให้ตรวจจับได้ไม่เต็มที่ ด้วยการยกเรดาร์ที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมติดตั้งเหนือลำตัวเครื่องบิน SAAB 340 AEW/B ขึ้นไปลอยอยู่บนท้องฟ้า เป็น “เรดาร์ลอยฟ้า” มีรัศมีตรวจจับข้าศึกถึง ๔๕๐ กิโลเมตร

เมื่ออยู่บนฟ้า การตรวจจับเครื่องบินขับไล่ ขีปนาวุธ เฮลิคอปเตอร์ และเรือผิวน้ำ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพวกเขาเป็นทีมงานชุดแรกของ ทอ. ที่ทำงานกับเครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศแบบแรกของกองทัพไทย

ทีมเจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องบินขับไล่ (Fighter Controller-FC) พัฒนาจาก “นายทหารควบคุมการบินสกัดกั้น” (Ground Control Interceptor-GCI) เดิม จะเป็นผู้ที่มี “ทัศนวิสัยการรบ” (Situation Awareness-SA) สูงสุดระหว่างปฏิบัติการและคอยส่งข้อมูลทางยุทธวิธีให้นักบิน

ทั้งนี้ การทำงานกับเครื่องบินขับไล่รุ่นก่อน GCI คือผู้ถ่ายทอดคำสั่งผู้บัญชาการ สื่อสารกับนักบิน ฯลฯ  เมื่อระบบสื่อสารข้อมูลพัฒนาขึ้น พวกเขาก็มีความสำคัญมากขึ้น เพราะ Fighter Controller มีข้อมูลในสนามรบทั้งหมด ทำงานจากห้องปฏิบัติการไฮเทคคอยคัดข้อมูลที่ “จำเป็น” เท่านั้นส่งให้นักบิน

“แทบเรียกได้ว่าเราบริหารน่านฟ้าและสนามรบระหว่างปฏิบัติการ” นาวาอากาศโท อกนิษฐ์ หิญชีระนันทน์ รองผู้บังคับการศูนย์ป้องกันทางอากาศ กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ ๑ ใน ๕ Fighter Controller ชุดแรกบอกไว้อย่างนั้น ก่อนพาไปชมห้องทำงานของ Fighter Controller ใน “ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติทางอากาศสุราษฎร์ธานี” เป็นกรณีพิเศษ

ห้องที่ว่านี้ถูกซ่อนอยู่ในจุดหนึ่งของกองบิน บรรยากาศคล้ายห้องบัญชาการรบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Pentagon) ที่เห็นบ่อยในภาพยนตร์ฮอลลีวูด  ภายในค่อนข้างมืดและมีอุณหภูมิเย็นจัดเพื่อรักษาระบบคอมพิวเตอร์ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น

ถ้าฝูงบินรบคือทีมฟุตบอล คนทำงานในห้องนี้ก็คือ “ผู้จัดการทีม” คอยปรับเกมอยู่ข้างสนาม เพราะนักบินจะอ่านเฉพาะสถานการณ์ในน่านฟ้าที่ตนปฏิบัติการ ขณะที่ Fighter Controller ไม่ต่างกับผู้จัดการทีมที่เห็นภาพรวมได้ดีกว่า โดยรับข้อมูลจากเครือข่ายเรดาร์ป้องกันประเทศและจากเครื่องบิน SAAB 340 AEW/B ที่ติดตั้งเรดาร์ตรวจหาเป้าหมายในอากาศ

นาวาอากาศโทอกนิษฐ์อธิบายว่าหน้าที่ของทีมนี้ “ต้องทันสถานการณ์รบทั้งหมด ต้องกลั่นกรองข้อมูล ต้องดูภาพหลายภาพ รบเสร็จตรงนี้ต้องบอกนักบินว่าทำอะไรต่อ ขณะที่นักบินอยู่กับภารกิจตรงหน้าเท่านั้น  งานผมคือ ‘Broadcast’ เห็นอะไรในจอส่งให้นักบินเห็น และ ‘Address’ บอกเป้าหมาย จัดหมู่บิน ให้ข้อมูลน่านฟ้าที่ต้องทำงาน เพราะนักบินจะรู้แค่ว่าสิ่งที่ปรากฏในเรดาร์คือ ‘Friend’ (มิตร/ฝ่ายเดียวกัน) หรือ ‘Unknown’ (ไม่ปรากฏสัญชาติ)  เราต้องแสดงว่านั่นคือข้าศึกหรือไม่ ต่างกับระบบเดิมที่นักบินตัดสินใจเอง

“สิ่งสำคัญในการรบคือทำลาย ‘ข้าศึก’ เท่านั้น ยิงซี้ซั้วไม่ได้ ไม่อย่างนั้นปัญหาที่ตามมาจะเยอะมากจนเรารับผิดชอบไม่ไหว”

นี่เป็นการพัฒนาฝูงบินขับไล่ขึ้นสู่อีกระดับ ด้วยเป็นครั้งแรกที่ฝูงบินขับไล่ไทยได้รับการหนุนหลังจากเครื่องบินตรวจการณ์ฯ ติดเรดาร์และทีม Fighter Controller ที่มีประสิทธิภาพ  ในอนาคตพวกเขาต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพจำนวนมากสำหรับเป็น Fighter Controller รุ่นต่อไป

ยังไม่นับทีมเจ้าหน้าที่นิรภัยการบิน (Flight Safety Equipment) ทีมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ซึ่งทำหน้าที่สำคัญบนภาคพื้นดินไม่แพ้ทีมอื่นๆ

gripen02

Network Centric Warfare ศึกเวหานอกแบบ

“การรบกับกริพเพนจะไม่ใช่การรบกับเครื่องบินขับไล่ ๑ หรือ ๔ ลำ แต่เป็นการรบกับระบบเครือข่ายทั้งระบบ  ข้าศึกอาจเห็นเครื่องบินลำเดียว แต่เบื้องหลังคือระบบรบ Network Centric Warfare ทั้งหมดที่หนุนหลังอยู่  สมัยนี้ใครมีข้อมูลของข้าศึกมากกว่าและยิงอาวุธได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ  เราอาจมีเครื่องบินขับไล่ขึ้นไปบนฟ้าไม่กี่ลำ เผชิญหน้ากับข้าศึกหลายลำ แต่ถ้าเรามีทีมงานภาคพื้นดิน มีระบบเครือข่ายที่ดี มันจะทวีกำลังทางอากาศ (Air Power) จนเสมือนเรามีเครื่องบินรบหลายลำ” นาวาอากาศโทอกนิษฐ์อธิบายรูปแบบการรบของกริพเพนที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรบทางอากาศของ ทอ.ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

วิธีรบดังกล่าวสอดคล้องกับที่ผู้ฝูงจักรกฤษณ์บอกว่าคือ “หลักนิยม” ของสวีเดนที่ตรงกับหลักป้องกันน่านฟ้าของไทยซึ่งเน้นการ “ป้องกันเชิงรุก” (Active Defense) อันหมายถึง “ตั้งรับเชิงรุก  เราไม่ได้ซื้อเครื่องบินขับไล่ที่มีระยะทำการไกลเพื่อทิ้งระเบิดเพื่อนบ้าน แต่ก็ต้องป้องกันตัวได้และมีกำลังเชิงรุกเพื่อป้องปรามไม่ให้เพื่อนบ้านกล้าบุกเรา  ดังนั้นกริพเพนที่ทำงานได้หลากหลายภารกิจจึงเหมาะสมกับเราที่สุด”

ด้วยกริพเพนนั้นผลิตขึ้นมาเพื่อรับใช้ปรัชญานี้โดยเฉพาะ  จากการที่สวีเดนมีเขตแดนติดกับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย เยอรมนี  เป็นประเทศที่มีประชากรน้อย (ปัจจุบันคือ ๙ ล้านคน เทียบกับกรุงเทพฯ ซึ่งเกิน ๑๐ ล้านคน) และด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ซึ่งต้องดำรงความเป็นกลางไว้ให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์สงครามโลกและสงครามเย็น

ความต้องการนภานุภาพที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” มีน้อย แต่รับมือเครื่องบินรบสมรรถนะสูงของค่ายโซเวียตที่มีมากกว่าได้สูสีด้วยปฏิบัติการแบบเครือข่าย ค่าบำรุงรักษาต่ำ ทว่ามีคุณภาพสูงจึงเป็นเรื่องจำเป็น

สวีเดนยังพัฒนาทางหลวงสายต่างๆ ให้เป็นรันเวย์ชั่วคราวยามสงคราม  จุดที่ใช้เป็นรันเวย์ต้องเป็นทางตรงไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ เมตร  จุดส่งกำลังบำรุงจะถูกซ่อนไว้ใกล้เคียง  เมื่อข้าศึกโจมตีฐานทัพอากาศ พวกเขาจะตอบโต้ด้วยการกระจายเครื่องบินขับไล่ไปไว้ตามจุดต่างๆ แล้วรบยืดเยื้อ

ปัจจุบัน กริพเพนจึงอาจเป็นเครื่องบินขับไล่แบบเดียวในโลกที่ “ทำสงครามกองโจร” ทางอากาศได้

แน่นอน สนามบินขนาดเล็กในภาคใต้ของไทยทุกแห่ง ถนนหลวงบางสายก็ใช้งานลักษณะนี้ได้

นาวาอากาศเอก สฤษดิ์พร สุนทรกิจ ผู้บังคับการกองบิน ๗ ระบุว่า ในเชิงยุทธศาสตร์ กองบิน ๗ ตั้งอยู่บน “ด้ามขวาน”  ในทางภูมิรัฐศาสตร์ “ตะวันออกคืออ่าวไทย ตะวันตกคืออันดามัน มีเขตทับซ้อนทางทะเลอยู่ทั้งสองด้าน ทั้งยังมีจุดแข็งทางยุทธศาสตร์คือมีพื้นที่เชิงลึกห่างจากประเทศที่อาจเป็นภัยคุกคาม  ด้วยถ้าวางฝูงบินรบใกล้ประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไปอาจก่อให้เกิดความหวาดระแวงได้ แต่ไกลไปก็ไม่เหมาะสม

“กองบิน ๗ จึงเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดในการวางฝูงบินรบที่ทันสมัยที่สุด  จากตรงนี้เราไปได้ทุกที่ของประเทศ  เราจะทำงานได้ดีที่สุดเพราะกริพเพนมีอาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ มันจึงมีศักยภาพในการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของเรา”

การศึกในระบบ Network Centric Warfare  หากจะทำลายระบบป้องกันทางอากาศของไทย จึงหมายถึงการทำลายฐานทัพอากาศให้ได้ทุกแห่ง ด้วยทุกฐานบินทำงานแทนกันได้ทั้งหมด โอกาสของข้าศึกจึงแทบเป็นศูนย์หากใช้ยุทธวิธีนี้

อนาคต “นภานุภาพ” ไทย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงการ “สุวรรณภูมิสันติ” จัดซื้อกริพเพน ๑๒ ลำ ด้วยงบประมาณ ๓๕,๘๖๖ ล้านบาท ก็ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเงื่อนไขในการจัดซื้อค่อนข้างมาก

ช่วงกลางปี ๒๕๕๓ หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับตั้งข้อสังเกตหลายประการ

“ชำแหละฝูงบิน ‘กริเพน’ เทียบ ๕ ประเทศ ไทยซื้อแพงสุด” (มติชนออนไลน์  ๑๕ ก.ค. ๒๕๕๓)

เนื้อข่าวนี้ได้เปรียบเทียบเงื่อนไขที่สวีเดนเสนอขายกริพเพนให้แก่ประเทศต่างๆ  กรณีที่น่าสนใจคือโรมาเนีย ซึ่งตกลงซื้อ F-16 C/D มือสองของสหรัฐอเมริกา ๒๔ ลำ ทำให้สวีเดนยอมหั่นราคาเสนอขายกริพเพน ๒๔ ลำในราคา ๑,๐๐๐ ล้านยูโร (๔๐,๐๐๐ ล้านบาท)  เฉลี่ยลำละ ๑,๖๖๖ ล้านบาท  พร้อมเงื่อนไขชำระหนี้ระยะยาว ๑๕ ปี  ฝึกนักบิน ๓๐ คน  เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน ๖๐ คน  บวกกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจโดยสร้างงานให้อย่างต่ำ ๕,๐๐๐ ตำแหน่ง

ต่างกับกรณีกริพเพน ๑๒ ลำของไทย ซึ่งหากนำงบประมาณจัดซื้อมาหารจะอยู่ที่ลำละ ๒,๘๖๖ ล้านบาท สูงกว่าถึงลำละพันล้านบาท

ทั้งนี้ยังมีรายงานของคณะกรรมาธิการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี  ระบุว่าสายการผลิตกริพเพนให้ไทยนำอะไหล่กริพเพนรุ่นก่อนหน้านี้มาปะปน สวีเดนสนับสนุนการซ่อมบำรุงเพียง ๒ ปีหลังจัดซื้อ ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินสูง ทั้งยังพบว่าบริษัทตัวแทนที่ติดต่อกับรัฐบาลไทยคือ บริษัท เอเวีย แซตคอม จำกัด เป็นบริษัทเดียวกันกับที่ประมูลโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการของ ทอ. แบบผูกขาด  อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้าเครื่องตรวจระเบิด GT-200 ซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวเรื่องประสิทธิภาพการใช้งาน (ข้อมูลจากมติชนออนไลน์ ๒๑ ก.ค. ๒๕๕๓)

ขณะที่ ผบ.ทอ. ยืนยันว่านี่เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ไม่อาจนำงบประมาณทั้งหมดมาหารเพื่อเปรียบเทียบกัน เนื่องจากแต่ละประเทศมีเงื่อนไขในการจัดซื้อและออปชันที่ตามมาต่างกัน  กรณีโรมาเนียเป็นการเสนอราคาเบื้องต้น หากเจรจาต่อไปย่อมจะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น

ผบ.ทอ.ระบุว่ากริพเพนนอกจากจะทดแทน F-5 ของกองบิน ๗ ที่ใช้งานมานาน ยังเป็นการพัฒนากองทัพอากาศให้เป็นหนึ่งในกองทัพอากาศชั้นนำของอาเซียน (One of the Best Air Force in ASEAN) ในปี ๒๕๖๒  ด้วยสิ่งที่ได้เพิ่มมาคือ เครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือนทางอากาศ ๒ ลำ คิดเป็นมูลค่าจะถือว่าสูงมาก

ทั้งนี้ยังมีโอกาสพัฒนาบุคลากรจากทุนการศึกษาวิจัย มีโอกาสพัฒนาระบบสื่อสารข้อมูลของกองทัพไทยทั้งหมด  ยังไม่นับการได้ Source Code หรือรหัสซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมกริพเพน อันเปรียบเสมือนกุญแจที่จะทำให้ในอนาคตไทยจะพัฒนากริพเพนของตนให้ติดตั้งระบบอาวุธและเพิ่มความสามารถใหม่ๆ เข้าไปได้อีก  เงื่อนไขนี้ต่างจากเครื่องบินขับไล่แบบอื่นที่เสนอขายเฉพาะตัวเครื่องบินเท่านั้น

“กริพเพนจึงไม่ด้อยกว่าเครื่องบินขับไล่ของประเทศเพื่อนบ้าน  ในอดีตนักยุทธศาสตร์มักนำกำลังรบมาเทียบกัน สมัยนี้เครื่องบินขับไล่ ๑ ลำต่อกรกับเครื่องบินขับไล่ ๔ ลำได้ถ้าระบบสนับสนุนดี  กริพเพนมีเรดาร์ตรวจจับข้าศึก มีระบบการรบแบบเครือข่ายเข้ามาเสริม ทำให้ตรวจจับศัตรูได้จากระยะไกล นี่คือความได้เปรียบที่ต้องดูด้วย  การจัดหาครั้งนี้ถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างแท้จริง” ผบ.ทอ. ยืนยัน

อย่างไรก็ตาม ในสังคมประชาธิปไตย การตรวจสอบการจัดซื้ออาวุธของกองทัพต้องดำเนินต่อไป และกองทัพก็มีหน้าที่ในการชี้แจงและแสดงถึงความโปร่งใส

ทว่า สำหรับนักบินกริพเพน “ข้าราชการชั้นผู้น้อย” ในกองบิน ๗ ซึ่งอยู่ห่างไกลนโยบายจัดซื้ออาวุธ หน้าที่หนึ่งเดียวที่พวกเขาต้องทำคือดำรงสภาพพร้อมรบและปกป้องน่านฟ้า

“Pride” ค่านิยมของฝูงบิน ๗๐๑ และ ๗๐๒ อันเป็นรังของกริพเพนและบ้านของเครื่องบินตรวจการณ์ฯ ซึ่งมีที่มาจากอักษรตัวแรกของคำว่า

Professional-ความเป็นมืออาชีพ
Responsibility-ความรับผิดชอบ
Integrity-ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
Dedication-การอุทิศตัว
Excellent-ความยอดเยี่ยม

สิ่งที่ผู้ฝูงจักรกฤษณ์ปลูกฝัง จะอยู่ในใจนักบินและเจ้าหน้าที่ของกองบิน ๗ อยู่เสมอ

ด้วยเมื่อต้องเผชิญกับข้าศึก พวกเขามีเวลาแค่หลัก “วินาที” เท่านั้นในการตัดสินแพ้ชนะ

พวกเขาถูกสอนมาเพื่อวินาทีนี้วินาทีเดียว ด้วยศึกเวหาสมัยใหม่ การรบส่วนมากเป็นการรบนอกระยะสายตาจากการที่ตรวจจับข้าศึกได้ในระยะไกล  การรบระยะประชิด (Dog Fight) แทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

ความเสียงต่อการเสียชีวิตจึงสูงกว่านักบินขับไล่สมัยก่อนที่ต้องตัดสินกันถึงขั้น Dog Fight

นาวาอากาศโทเจริญ นักบินกริพเพนยืนยันเรื่องนี้ว่า “เราถูกฝึกเพื่อต่อสู้ในเวลาไม่กี่วินาที  เราถูกฝึกแบบ Be Train as be fight  ฝึกเหมือนรบมาตลอดชีวิต  ทุกคนอยากปฏิบัติภารกิจ แต่ไม่ได้คิดว่าเมื่อไรจะรบกันเสียที ไม่มีใครอยากฆ่ากัน  จริงๆ พวกผมถ้ามีเวลาก็จะไปวัดทำบุญกันเป็นประจำ เราแค่ทำหน้าที่เท่านั้น”

และหลายครั้ง พวกเขาต้องทำหน้าที่โดยไม่คาดฝัน

ครั้งสุดท้ายที่ไทยใช้กำลังทางอากาศเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เมื่อมีการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า หลังทหารพม่าโจมตีชนกลุ่มน้อยบริเวณอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และเลยมาโจมตีฐานทหารพรานไทย  จากข้อมูลที่ปรากฏตามข่าว ไทยตอบโต้จนเกิดการปะทะอย่างหนักก่อนที่ทหารพม่าจะถอนกำลังกลับไป  เหตุการณ์คราวนั้นนอกจากศึกภาคพื้นดิน ปรากฏข้อมูลว่าไทยส่ง F-5 ปฏิบัติการหลายเที่ยวบิน  ต่อมายังส่ง F-16 ออกโจมตีและลาดตระเวนตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์สงบลง

ยังไม่นับการส่ง F-16 ขึ้นบินลาดตระเวน ขณะเกิดข้อพิพาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๔

ในเชิงยุทธศาสตร์ ในยามที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ กำลังทางอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องปรามและหนุนหลังรัฐบาลแต่ละชาติให้ดำเนินนโยบายได้อย่างคล่องตัว

ในอนาคต ผมได้แต่หวังว่าประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น การดำเนินนโยบายที่รอบคอบและก้าวหน้าของรัฐบาลไทยทั้งชุดนี้และชุดต่อๆ ไป จะทำให้กองทัพอากาศไม่ต้องส่งกริพเพนไปทำสงครามเวหากับใคร

เพราะสงครามไม่เคยให้อะไรแก่มนุษย์นอกจากความตายและความเสียหาย

อดีตนักบินขับไล่คนหนึ่งยืนยันว่า ถ้าเลือกได้ก็ไม่ต้องการไปยิงใคร การรบเป็นเรื่องหมดยุคสมัย  สำหรับนักบินขับไล่ทุกคนนั้นใจจริงแล้ว

“รักที่จะบินในท้องฟ้าที่สงบสุขมากกว่า”

เอกสารประกอบการเขียน
วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์. “F-16: ฝูงบินเหยี่ยวพิฆาต ผู้คุ้มกันสันติภาพ”, หลักสูตรคนกล้า รบพิเศษ. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๓๘.

ขอขอบคุณ
คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ, น.ท.จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ผู้บังคับฝูงบิน ๗๐๑, คุณสุเมธ อัศววิไลรัตน์, พล.อ.ท.วุฒิชัย คชาชีวะ, น.อ.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย, น.ต.กฤษณะ สุขดี, น.ท.พุทธพงศ์ ผลชีวิน, น.อ.หญิง วรรณสุนา เลิศ-ประดิษฐ์, ร.ท.หญิง จิรายุ ดวงนุ้ย, คุณวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์, พ.อ.อ.สุเมธ ร้อยแก้ว, ร.ท.ธีรวิทย์ ชิดเชื้อ, น.ต.ปรัชญา ทิพยรัตน์, ร.ท.เพิ่มพูล มงคลแสงสุรีย์, คุณสรศักดิ์ สุบงกช, กรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ, เจ้าหน้าที่ทุกท่านของกองบิน ๗ สุราษฎร์ธานี, เจ้าหน้าที่ทุกท่านของหอบังคับการบิน ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธาน