เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

victims tamraมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ โดย ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่มปัญญาชนที่สนใจแสวงหาความรู้ด้านสังคมศาสตร์เพื่อผลิตตำราและหนังสือสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ

สำนักงานของมูลนิธิฯ เป็นตึก ๒ หลัง หลังหนึ่งเป็นห้องแถว สูง ๓ ชั้น ภายในเป็นสำนักงานและคลังเก็บหนังสือ
อีกตึกหนึ่งเป็นห้องสมุดที่เก็บหนังสือและเอกสารสำคัญของมูลนิธิฯ ทั้งยังเป็นห้องทำงานของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เลขานุการมูลนิธิฯ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๔ มวลน้ำสูงเกินแนวกระสอบทรายที่ป้องกันสำนักงานมูลนิธิฯ ทำให้น้ำทะลักเข้าตัวตึกและก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินภายใน

๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ดร. ชาญวิทย์พักภารกิจในสิงคโปร์และบินกลับมาเพื่อ “กู้” เอกสารและหนังสือสำคัญที่ไม่อาจประเมินค่าได้โดยได้รับความช่วยเหลือจากทหารเรือ ศิษย์เก่าและนักศึกษาที่มีจิตอาสาร่วมกันขนหนังสือออกจากตัวตึกไปไว้ยังที่ปลอดภัย

“พูดตามตรง เมื่อเข้าไปเห็นสภาพก็น้ำตาร่วง แม้จะทำใจไว้แต่แรกก็ตาม  ความจริงเมื่อปี ๒๕๓๘ มูลนิธิฯ ก็มีประสบการณ์น้ำท่วม ในปีนั้นน้ำทะลักมาทางคลองบางกอกน้อย มาจากด้านสะพานอรุณอมรินทร์ ท่วมเข้ามาในห้องทำงานสูงเกือบ ๑ เมตร แต่เราเสียหายเพียงเล็กน้อยเพราะมีหนังสือและข้าวของไม่มาก  ปีนี้เราเฉลียวใจ ก่อนน้ำมาขนของขึ้นสูงเกือบหมด เคราะห์ร้ายที่หนังสือหนักมาก เราใส่ถุงพลาสติกและนำมาวางซ้อนกันไว้ชั้นบนของหิ้งหนังสือ

“พอปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ น้ำขึ้นสูง ชั้นหนังสือไม่แข็งแรงเลยพังลงมาส่วนหนึ่ง นี่เป็นส่วนที่เสียหาย รวมๆ หลายร้อยเล่ม  ส่วนใหญ่เป็นหนังสือในห้องสมุดของมูลนิธิฯ บางเล่มเป็นหนังสือหายาก โดยเฉพาะหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา หรือพฤษภา ’๓๕ และการเมืองเรื่องเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อสลิ่ม  บางส่วนเป็นเอกสารจดหมายเหตุ คือมิใช่หนังสือเป็นเล่มๆ ที่จัดพิมพ์จำหน่าย บางรายการมีเพียงชิ้นเดียว เช่น จดหมาย เอกสารติดต่อระหว่างนักวิชาการไทยกับนักวิชาการต่างประเทศชั้นนำของโลกอุษาคเนย์  ส่วนหนังสือที่เราพิมพ์ออกจำหน่ายเสียหายไม่มาก เพราะส่วนหนึ่งส่งไปจำหน่ายยังศูนย์หนังสือจุฬาฯ อีกส่วนเราเก็บไว้ชั้น ๒ และ ๓ ก็รอดมาได้

“ที่กู้ไม่ได้คงต้องทิ้ง ที่น่าเสียดายคือนิตยสารเก่าอย่าง ประชาชาติรายสัปดาห์ ช่วงปี ๒๕๑๖ – ๒๕๑๙ ที่เย็บเล่มไว้ครบชุด นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ช่วง ๑๐ ปีแรก ที่เย็บเล่มไว้  กลุ่มนี้เสียหายบางส่วน กู้ได้บางส่วน กำลังพยายามเยียวยาไม่แน่ใจว่าจะรอดแค่ไหน เคราะห์ดีที่นิตยสาร สารคดี ที่มีครบชุดตั้งแต่เล่มแรกเก็บไว้ชั้น ๒ ของตัวตึกเลยรอด และมีหนังสืออื่นอีกราว ๑๐๐ เล่มที่เราพยายามซับน้ำ ตากแห้งด้วยการผึ่งลม ใช้พัดลมเป่าอยู่หลายวันแล้วส่งเข้าเครื่องอบ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ที่น่าตกใจคือการบริหารจัดการน้ำ  ผมคิดว่า ‘รัฐไทย’ ไม่มีหน่วยงานกลางที่จะประสานหรือร่วมมือกันทำงาน แตกเป็นเสี่ยงๆ เป็นก๊กๆ  บางคนว่ามีกว่า ๑๐ หน่วยงานหรือกว่า ๑๐ ก๊ก ทำท่าเหมือนจะมีหัวมีหางแต่ก็เหลว ขึ้นอยู่กับหลายๆ กระทรวง มีทั้งกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กฟผ. กระทั่ง กทม. ฯลฯ  ใคร กระทรวงไหน กรมไหน ที่ดูแลเรื่องเขื่อน พยากรณ์อากาศ น้ำฝน น้ำท่า น้ำทุ่ง การปล่อยไม่ปล่อยน้ำ เหล่านี้เป็นคำถามที่คนทั่วไปต้องการคำตอบ  ส่วนผู้เชี่ยวชาญซึ่งส่วนใหญ่คือข้าราชการหรือเจ้าพนักงานที่ดูมีมากมาย ก็กระจัดกระจาย หาใครเป็นหลักไม่ได้ เป็นเบี้ยหัวแตก และกลายเป็นผู้ฉลาดหลังเหตุการณ์มากกว่าผู้ฉลาดก่อนเหตุการณ์  ผมคิดว่าเราต้องปฏิวัติการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด เพราะปัญหาจะรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Climate Change ที่เป็นปัญหาของโลก รวมถึงระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น

“ปัญหาน้ำท่วม ถ้าจะว่าไปก็มีตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่เพราะท่วมอยู่นอก กทม. และเรามุ่งแต่ป้องกัน กทม. เป็นส่วนใหญ่  ส่วนที่อยู่รอบนอกๆ โดยเฉพาะด้านเหนือและตะวันตกก็ท่วมแล้วท่วมอีก พอน้ำลดก็ถูกลืม  แต่ปีนี้พื้นที่รอบกรุงใกล้ๆ โดนหนัก อย่างดอนเมือง ตลิ่งชันกลายเป็นประเด็นร้อนปลุกให้คนมีฐานะมีอำนาจกลัวว่าตนจะเป็นคนบ้านถูกน้ำท่วมเหมือนคนอื่น  คงต้องหันมามองกันจริงจังว่า ถ้าน้ำทะลักเข้า กทม.ส่วนใน พื้นที่อย่างราชดำเนิน ราชประสงค์ สีลม สาทร สุขุมวิท ฯลฯ คงมีการส่งเสียงดังกว่านี้แน่นอน

“อีกข้อคิดที่สำคัญที่ได้จากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้คือ ต้องไม่เอาเรื่องน้ำท่วมมาเป็นการเมือง กลายเป็น ‘การเมืองน้ำท่วม’ กับ ‘น้ำท่วมการเมือง’ อย่างที่เห็นความพยายามที่จะป้องกัน กทม. แล้วช่วงชิงคะแนนนิยมกันระหว่าง ๒ พรรคการเมืองใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าน่าเกลียดมาก”