เรื่อง : วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
ที่มาเรื่องและภาพ : http://projectrwanda.org/ และ http://www.bicyclecoffeeco.com/

Coffee bike เปลี่ยนชีวิตเกษตรกรรวันดา

coffee bike01
“ฟังเสียงคนในชุมชนให้ชุมชนตัดสินใจในสิ่งที่พวกเขาต้องการ อย่าเที่ยวบอกเขาว่าต้องทำโน่นทำนี่ แต่เดินเคียงข้าง สนับสนุน และช่วยเหลือในการจัดการปัญหาด้วยความต้องการของพวกเขาเอง”
– ทอม ริชชี –

  • รวันดา ประเทศยากจนอันดับต้นๆ ของทวีปแอฟริกา รายได้สำคัญมาจากการส่งออกกาแฟและชา  มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยทั้งสิ้นเกือบ ๕ แสนคน  การขนส่งผลิตผลกาแฟจากต้นทางสู่แต่ละขั้นการผลิตในประเทศที่ได้ฉายาจากเจ้าอาณานิคมว่า “ดินแดนแห่งภูเขา ๑,๐๐๐ ลูก” นั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก
  • ที่ผ่านมาอุปสรรคที่ชาวไร่กาแฟเผชิญคือ กว่าที่ผลกาแฟจะเดินทางมาถึงโรงผลิตเมล็ดกาแฟนั้นกินเวลาจนอาจส่งผลต่อคุณภาพของเมล็ดกาแฟ  บางคนโชคดีหน่อยมีจักรยานไม้ไผ่โบราณไว้ใช้ แต่จักรยานที่ไม่มีเบรก-อาน-เกียร์ กับการเดินทางข้ามเขาระยะทางไกลหลายกิโลเมตรก็เป็นเรื่องหนักหนาเอาการ
  • Project Rwanda ริเริ่มโดย ทอม ริตชี (Tom Ritchey) ดีไซเนอร์และวิศวกรจักรยานชื่อดังผู้บุกเบิกจักรยานเสือภูเขาในสหรัฐอเมริกา  ทอมเดินทางมารวันดาครั้งแรกในปี ค.ศ. ๒๐๐๕  ความงดงามของธรรมชาติแห่งดินแดนภูเขา ๑,๐๐๐ ลูก ผู้คนและเรื่องราวในประเทศนี้ดลใจให้เขาคิดใช้ความสามารถและทรัพยากรที่มีเพื่อทำสิ่งซึ่งแตกต่าง คือการพัฒนาเศรษฐกิจของรวันดาโดยมีจักรยานเป็นเครื่องมือและสัญลักษณ์แห่งความหวัง  Project Rwanda จึงถือกำเนิดนับแต่นั้น
  • Coffee bike ได้รับการออกแบบให้มีคุณลักษณะพิเศษคือ เป็นพาหนะที่มีประสิทธิภาพรับน้ำหนักได้ถึง ๓๐๐ ปอนด์ และปั่นได้เร็วในสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขา (มีเกียร์ ๘ เกียร์ช่วยให้ปั่นบนสภาพพื้นผิวที่แตกต่างกันมาก) ด้วยตะแกรงบรรทุกของขนาดใหญ่บนล้อหลัง ตัวจักรยานยาวกว่าจักรยานทั่วไป ๓/๔ เมตร และง่ายต่อการปั่นบนเขา  นั่นมีส่วนช่วยให้ชาวไร่กาแฟเพิ่มผลผลิตได้ถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ ทำให้พวกเขามีโอกาสก้าวพ้นความยากจนเป็นครั้งแรกในเจเนอเรชันตัวเอง
  • Célestin ชาวไร่กาแฟในเขตคาบาราเล่าว่า เดิมทีเขาบรรทุกผลกาแฟจากไร่ด้วยจักรยานเก่าได้เพียงประมาณ ๕๐ กิโลกรัม ทางส่วนใหญ่ที่ใช้สัญจรก็ไม่ได้ลาดยาง บ่อยครั้งเขาต้องเข็นจักรยานหลายกิโลเมตรไปตามเนินและหุบเขาสูงชัน ทั้งกินแรงทั้งกินเวลา  แต่จักรยานใหม่นี้ทำให้เขาบรรทุกผลกาแฟได้ถึง ๒๐๐ กิโลกรัม และปั่นได้ชิลล์ๆ ในพื้นที่ชนบทของรวันดาที่เต็มไปด้วยภูเขา ช่วยประหยัดเวลาไปกว่าครึ่ง
  • โครงการนี้สานฝันชาวรวันดาที่จะได้เป็นเจ้าของจักรยานซึ่งประกอบขึ้นด้วยโครงโลหะยาวและแข็งแรง มีเบรก อาน เกียร์ และล้อสมัยใหม่  จักรยานสั่งซื้อจากบริษัทในแอฟริกาใต้และส่งต่อมายังรวันดา  ในรวันดา มันจะถูกประกอบและทดสอบคุณภาพก่อนที่ชาวไร่จะมายืมไปใช้โดยวิธีไมโครเครดิต (คล้ายการกู้เงินแบบไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน)  ไม่เพียงเท่านั้น Project Rwanda ยังฝึกอบรมช่างประกอบและซ่อมจักรยานเพื่อสร้างงานให้ชาวรวันดาและทำให้โครงการนี้ยั่งยืนในอนาคต

 

Bicycle Coffee เปลี่ยนวิถีคนเมืองใหญ่

Bicycle Coffee - โลกของกาแฟกับจักรยาน
“จักรยานสร้างสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้บริโภคซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่อาจลอกเลียน”

– แบรด บัตเลอร์ –

  • Bicycle Coffee เริ่มต้นเมื่อปี ๒๐๐๙ โดยความริเริ่มของสามหนุ่ม–แบรนดอน และ คาเมรอน แมคคี (Brandon/ Cameron McKee) กับลูกพี่ลูกน้อง แบรด บัตเลอร์ (Brad Butler) ไอเดียผุดขึ้นขณะพวกเขาเดินทางแบบเทรกกิงในป่าฝนแถบอเมริกากลาง ได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวไร่กาแฟ ได้ชิมกาแฟรสเลิศ  สามหนุ่มรู้สึกซาบซึ้งถึงการทำงานหนักกว่าจะมาเป็นกาแฟถ้วยหนึ่ง

  • ทั้งยังได้เรียนรู้การผลิตกาแฟคุณภาพตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และการคั่ว  พอกลับไปซานฟรานซิสโก ก็ลองประดิษฐ์เครื่องคั่วกาแฟใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติ แล้วทดลองคั่วเมล็ดกาแฟเอง จนเริ่มมั่นใจในฝีมือและรสชาติแล้วก็โดดขึ้นปั่นจักรยานบริการส่งกาแฟตามออร์เดอร์ไปยังสำนักงานท้องถิ่น ร้านค้าของชำ ร้านกาแฟ ภัตตาคาร และโรงแรม–คือกำเนิดของแบรนด์ Bicycle Coffee Co. ธุรกิจกาแฟคั่วออร์แกนิกที่ประกาศตัวสนับสนุน “การค้าที่เป็นธรรม” (fair-trade)
  • เมล็ดกาแฟนำเข้าจากเปรู ปานามา และเอธิโอเปียมายังท่าเรือโอ๊กแลนด์  “หากคุณดื่มกาแฟ คุณจะรับรู้ได้ว่ามันมาจากที่ไกลโพ้น” แบรดกล่าว  เมื่อกิจการเติบโตขึ้น พวกเขาก็ยังคงสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น  “เราทำงานกับเกษตรกรที่ปลูกกาแฟด้วยวิธีออร์แกนิก ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี แม้ต้นทุนจะสูงก็ตาม แต่มันเป็นราคาที่ ‘ยุติธรรม’ ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค”
  • จุดเด่นของ Bicycle Coffee คือบริการส่งกาแฟถึงบ้านหรือออฟฟิซโดยใช้จักรยาน  คาเมรอน แมคคี บอกว่า “เราไม่มีรถยนต์และไม่สนหรอกว่าต้องมีรถ เรารักการขี่จักรยาน เราจึงคิดชวนกันปั่นไปส่งกาแฟ” บริการส่งกาแฟครอบคลุมพื้นที่ซานฟรานซิสโก เบิร์กลีย์ และโอ๊กแลนด์  ถามว่าถ้าใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์จะไม่ยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตเร็วกว่านี้หรือ ทีมงานบอกว่าพวกเขาไม่เคยคิดทำเช่นนั้น  “เราสัญญาจะใช้วิธีการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนเท่านั้น”
  • ภูมิหลังของผู้ร่วมก่อตั้ง Bicycle Coffee Co. มาจากหลากหลายอาชีพ อย่าง แบรด บัตเลอร์ เคยทำงานในธุรกิจไฟแนนซ์อสังหาริมทรัพย์  ส่วน แบรนดอน แมคคี เป็นเจ้าของไนต์คลับ  แต่พวกเขาล้วนเป็นคอกาแฟและเป็นนักปั่น  โลกของกาแฟกับโลกของจักรยานจึงโคจรมาบรรจบเป็นโลกใบเดียวกัน