เรื่อง :หอยทากตัวนั้น

 

psychogw
ภาพประเภทนี้มักกระตุ้นให้คนหันมาสนใจภาวะโลกร้อน เพราะความดราม่าของมัน
แต่ก็อาจทำให้หลายคนเบือนหน้าหนีเพราะรู้สึกว่าไม่อาจช่วยสัตว์เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้อย่างไรกัน

คุณจ๋า

๓ ใน ๔ ของคนอเมริกันและคนอังกฤษเห็นว่าโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญ แต่น่าแปลกที่มีแค่หยิบมือเดียวที่ลงมือดูแลโลกจริงๆ

การที่สาธารณชนชาวตะวันตกทำท่าเฉยเมยต่อวิกฤตภาวะโลกร้อนนั้น มันมีเหตุผลอยู่ คุณเรเน เลิร์ตซแมน คิดอย่างนั้น

เธอเข้าใจคนที่ไม่ยอมประหยัดพลังงานฟอสซิล ไม่รีไซเคิล ยังบินกระหน่ำ ชอปปิงแหลก ทั้งที่รู้ดีว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมัน
หนักหน่วงขนาดไหน

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่สนใจ

ในบทความ “มายาคติของความเฉยเมย” เลิร์ตซแมนแนะนำผู้อ่านว่าอย่าโวยกับใครๆ ที่ทำท่าไม่แคร์กับภาวะโลกร้อนเลย เพราะพวกเขาอาจแค่ “เดี้ยง” ไปเพราะขนาดของปัญหาเท่านั้น

หลายปีมาแล้วที่คนตะวันตกรับรู้รับเห็นเรื่องโลกร้อน แต่น้อยคนนักที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรต่ออะไรจริงจัง ไม่ว่าใครจะรณรงค์เรื่องไหนออกมา ทุกเรื่องก็เหมือนถูกดูดหายเข้าหลุมดำไปหมด สำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว “ความเฉยเมยของสาธารณะ” จึงกลายเป็นประเด็นสุดฮอตที่ไม่มีอะไรร้อนเกิน

มันเป็นอย่างนั้นจริงล่ะหรือ

ว่าแล้วเลิร์ตซแมนก็โยนข้อสงสัยใส่นักรณรงค์โลกร้อนทั้งหลายว่า “ถ้ามันไม่ใช่เป็นเรื่องความสนใจน้อยไป แต่เป็นความใส่ใจมากเกินไปล่ะ”

เธอเปิดมุมมองใหม่ว่าคนทั้งหลายกำลังกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในฐานะที่เป็น “ปัญหาที่แก้ไม่ตกและใหญ่โตจนจัดการไม่ได้” มากเกินไป จนปล่อยปัญหาให้เลยตามเลย

“มันเจ็บปวดเกินจะคิดถึงเรื่องนี้” เธอว่า “ความกังวลสุดขั้วทำให้เราปฏิเสธหรือแสร้งทำเป็นว่าไม่มีปัญหาอยู่โดยไม่รู้ตัว หรือคิดว่าปัญหาพวกนั้นเป็นความรับผิดชอบของคนอื่น”

“กลไกป้องกันตัวเอง” เราต่างรู้จักคำนี้ดีอยู่แล้ว มันเป็นกระบวนการทางจิตที่มนุษย์ใช้ป้องกันตัวจากอารมณ์หรือความคิดที่เจ็บปวดคุกคามเรา ด้วยกลไกการปฏิเสธ ความหวาดระแวง ปมเขื่อง หรือความรู้สึกต่ำต้อยอย่างรุนแรง

จิตใจของเราชำนาญการป้องกันตัวเองให้รู้สึกปลอดภัย หลีกหนีจากสิ่งที่ทำให้เจ็บปวดกังวล โดยเฉพาะเมื่อต้องพบกับความพลัดพรากทุกชนิด

กลไกแบบนี้เกิดได้ทั้งระดับบุคคลและสังคม ถ้าหากเราไม่รับรู้และเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม มันก็อาจนำไปสู่ความเฉยชา ซึมเศร้า และหดหู่

เลิร์ตซแมนแค่สะกิดนักรณรงค์โลกร้อนทั้งหลายให้เพลาการตำหนิสาธารณะ ด้วยความจริงที่ว่าพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์เกิดมาจากแรงขับ ความปรารถนา ความอยาก หรือความหลงเพ้อที่เราไม่รู้ตัว แล้วเหตุใดเราจึงจะสรุปเอาดื้อๆ ว่า “การไม่ยอมทำอะไรมีค่าเท่ากับความไม่ใส่ใจ” ล่ะ

วิธีคิดเรื่อง “ความเฉยเมยของสาธารณะ” เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๔๐ เพื่อตำหนิสาธารณะว่าไม่รู้สึกรู้สา ไม่ใส่ใจกับปัญหา เฉยเมย ไม่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ฯลฯ อย่างกับว่า “ข้อมูลข่าวสาร” กับ “การลงมือทำ” นั้นมันเชื่อมกันง่ายๆ ตรงไปตรงมา

เรื่องแบบนี้ไม่มี ๑ + ๑ = ๒ งานวิจัยของ พอล เคลล์สเตดต์ และคณะที่ตีพิมพ์ใน Risk Analysis ยืนยันว่าในหมู่ผู้มีการศึกษา คิดอย่างวิทยาศาสตร์ และรับรู้ข่าวสารดีนั้น “ยิ่งได้รับข่าวสารมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนน้อยลงเท่านั้น”

ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ศ. จอน โครสนิก ทำวิจัยเรื่องทัศนคติเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและพบว่า “ผู้คนจะเลิกให้ความสนใจกับปัญหาหนึ่งๆ เมื่อตระหนักว่ามันไม่มีวิธีแก้ไขแบบง่ายๆ และตัดสินว่าปัญหาจะสำคัญระดับชาติก็ต่อเมื่อคิดว่าการลงมือแก้ไขนั้นควรทำและทำได้”

เรื่องลดโลกร้อนจึงไกลกว่าทัศนคติและค่านิยม

บรรดานักจิตวิเคราะห์เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อนแล้ว เพราะอยากบอกว่ามันมีหลายวิธีสำหรับการมองปัญหา และขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมก็จำเป็นต้องเข้าใจกลไกทางจิตที่เป็นฐานของความเฉยเมย

ว่าความไม่แยแสที่ปรากฏให้เห็นนั้นห่างไกลจากเรื่องการไม่สนใจหรือไร้ความรู้สึก

ว่าความรู้สึกภายในอย่างความกังวล ความกลัว ความไร้พลังอำนาจ มักแสดงตัวในรูปของการไม่ทำอะไรเลยอย่างกับเป็นอัมพาต

ว่าทุกคนรับรู้ข้อมูลเหมือนกัน แต่แปลความหมายในทางอารมณ์ไม่เหมือนกัน

เรื่องการไม่รับผิดชอบตอบสนองต่อปัญหาโลกร้อนเป็นหนทางของหายนะนั้นเป็นที่เข้าใจตรงกันดีอยู่ แต่การชวนสาธารณชนแก้ปัญหาอาจต้องพึ่งพาการวิเคราะห์และบำบัดทางจิตไปพร้อมกัน

จิตแพทย์ไม่อาจใช้วิธีตะโกนใส่คนไข้ที่ตอบสนองเชื่องช้าและไม่กล้าเผชิญความจริงฉันใด การรักษาใจเรื่องโลกร้อนก็เป็นฉันนั้น

การหาหนทางเหมาะสมในการให้ข่าวสาร + สร้างแรงบันดาลใจ + กระตุ้นให้ลงมือทำ จึงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการรณรงค์แบบ “รู้สึกดีๆ” ที่มุ่งให้คนแก้ปัญหาในฐานะที่เป็น “ผู้บริโภค” เท่านั้น

“คนจะรู้สึกเยียวยาและเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้แรงหนุน ความเข้าอกเข้าใจ และท้าทาย” เลิร์ตซแมนสรุปอย่างนั้น

เดือนสิงหาคม ๒๐๐๙ สมาคมจิตวิทยาอเมริกันตีพิมพ์รายงานว่า “ความกังวลและไม่รู้จะทำอย่างไรดี” เป็นอุปสรรคสำหรับปัจเจกบุคคลในการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากกว่าความรู้สึกสับสนหรือความไม่สนใจเสียอีก

“โลกร้อนต่างจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นอย่างมลพิษทางน้ำหรืออาหารจีเอ็มโอ เพราะคนไม่รู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามแบบปัจจุบันทันด่วน” นั้นเป็นเรื่องเบื้องต้นก็จริง แต่รายงานชี้ว่าบทบาทของพฤติกรรมคนกลายเป็นเอกลักษณ์ของปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก

รายงานดังกล่าวระบุอุปสรรคสำคัญอื่นๆ เกี่ยวกับการบรรเทาปัญหาโลกร้อนด้วย ได้แก่
๑. ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดความถี่ของพฤติกรรมสีเขียว
๒. ความไม่เชื่อถือนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ และรัฐบาล
๓. การเปรียบเทียบทางสังคม การเปรียบเทียบการกระทำของตัวเองกับของคนอื่น เช่นบ้านใหญ่โตของ อัล กอร์ ถูกใช้เป็นเหตุผลสำหรับการไม่ทำอะไรเลย
๔. การประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป คน ๓,๐๐๐ คนใน ๑๘ ประเทศเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมจะแย่ลงในอีก ๒๕ ปีข้างหน้า จึงผัดวันประกันพรุ่ง
๕. การควบคุมไม่ได้ รู้สึกว่าการกระทำของตัวเองเล็กน้อยเกินกว่าจะทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปได้ จึงเลือกไม่ทำอะไรเลย
๖. การรับรู้ว่าโลกร้อนเป็นปัญหาของทั้งโลก คนจำนวนมากจึงคิดว่าทำอะไรไม่ได้
๗. นิสัยถาวรที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

นั่นเป็นความกระจ่างเบื้องต้นว่าด้วยส่วนในสุดเช่นจิตใจ

เวลาใกล้ๆ กันนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาวิวัฒนาการและนักกลยุทธ์โลกร้อนอย่าง ดร. ทอม ครอมป์ตัน และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาอย่าง ทิม แคสเซอร์ ก็เสนอว่าบริบททางสังคมส่งผลต่อแรงจูงใจและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนด้วยเช่นกัน

ทั้งสองคนเห็นว่าแม้องค์กรและบริษัทใหญ่ๆ จะเริ่มสนใจปัญหาโลกร้อน และธุรกิจแบบยั่งยืนที่เริ่มผุดขึ้นมาเรื่อยๆ นั้นจะเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพจริงๆ นั้นยังช้าอยู่มาก

“ในความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะมีแรงต้านที่ต้องเทียบกับความเจริญทางเศรษฐกิจ การรักษาผลกำไร การพิทักษ์ทางเลือกผู้บริโภค”

พูดง่ายๆ ว่าคนไม่ได้เลือกเอาโลก แต่เลือกเงินทองและความสะดวกสบายที่กองอยู่ตรงหน้าต่างหาก

ครอมป์ตันกับแคสเซอร์ยังฟันธงด้วยว่าทางเลือกแบบ “ง่ายๆ ไม่เจ็บปวด” (simple & painless choices) สำหรับผู้บริโภคสีเขียวนั้น ไม่ได้นำไปสู่การลงมือทำที่มีความหมายใหญ่กว่าใดๆ

“การชวนกันปิดไฟปิดทีวีอาจมีประสิทธิภาพในการทำให้คนเข้าร่วมลงมือประหยัดพลังงาน แต่มันไม่ได้เป็นพื้นฐานสำหรับการไต่ระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่จำเป็น”

สองคนคงไม่ได้พูดจาเอาแค่ตัดรอน แต่อยากเสนอให้นักรณรงค์ตั้งหลักใหม่

“คนไม่ได้เป็นผู้บริโภค หรือคะแนนเสียง หรือประชากรสีเขียวซีด-เขียวอ่อน-เขียวแก่ แต่เป็นมนุษย์มีบริบททางสังคมและมีมิติของตัวเอง

“เราจำเป็นต้องเห็นบุคคลเบื้องหลังพฤติกรรมของเขา นั่นคือความกลัวและความต้องการเป็นเจ้าของ”

……………………………………………………….

การรณรงค์เรื่องโลกร้อนดูเป็นเรื่องลึกซึ้งซับซ้อนเสียแล้ว ความที่ต้องเล่นกับความเคลื่อนไหวของหัวใจคน ซึ่งมักยากแท้หยั่งถึง

แต่ถ้าอุปสรรคของเรื่องนี้อยู่ที่ใจแล้ว หนทางมันก็น่าจะอยู่ที่ใจด้วยเหมือนกัน

เริ่มต้นด้วยการเลิกตำหนิคนที่ดูเหมือนกับ “เฉยเมย” ก่อนเป็นไง… •