เรื่อง สมศักดิ์ จันทวิชชประภา
ผลงานจากค่ายสารคดี SCG ครั้งที่ 8

“ในอนาคตอันใกล้ เราจะทุบปล่องปูนที่นี่หมดเลย”

พี่เธียรไชย ยักทะวงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข้อมูลและสถานที่ เล่าให้ผมฟังผม ด้วยน้ำเสียงแสดงความเสียดายสิ่งก่อสร้างเก่าแก่เหล่านี้ สำหรับตัวผมเองก็ตกใจไม่น้อยทีเดียว เมื่อรู้ว่าแลนด์มาร์คสำคัญของย่านนี้กำลังจะหายไป

กว่าจะมาถึงวันนี้ ปล่องปูนเหล่านี้ผ่านกาลเวลามาร่วม 100 ปี ในฐานะส่วนหนึ่งของเครือซีเมนต์ไทย มันทำหน้าที่ผลิตปูนให้กับที่นี่มาตลอด ไม่เว้นแม้กระทั้งช่วงสงคราม ในฐานะแลนด์มาร์ค มันบอกทุกคนที่ผ่านไปผ่านมาว่า ที่นี่คือสถานีรถไฟบางซื่อ และคำว่าเตาปูน ก็มาจากปล่องเตาเผาปูนเหล่านี้ด้วย ผมจึงอยากขอนำเสนอเรื่องราวของปล่องหม้อเผาแห่งเครือซีเมนต์ไทยบางซื่อ ก่อนที่มันจะเหลือเพียงแต่ชื่อในไม่ช้านี้

1.การก่อตั้ง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย และกำเนิดปล่องหม้อเผา

เมื่อรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริให้ก่อนตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ไทยขึ้น เพื่อเป็นบริษัทผลิตปูนซีเมนต์แห่งแรกในประเทศไทย และได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2455 โดยที่เจ้าพระยายมราช ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาลในขณะนั้น ทำหนังสือกราบบังคมทูลถึงรัชกาลที่ 6 ขอพระราชทานพระราชานุญาตตั้งบริษัท และขอให้ผู้แทนพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) มาปรึกษาเรื่องหุ้นส่วน โดยท้ายที่สุด ตกลงกันได้ว่า พระคลังข้างที่จะถือหุ้น 55% มีชาวต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25%

บริษัทได้เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ขึ้นที่บางซื่อ ในปี พ.ศ.2456 โดยเลือกทำเลที่ตั้งนี้เพราะใกล้กับสถานีรถไฟ เพราะเห็นว่าจะทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างสะดวก และเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ออกสู่ตลาดได้ในปี พ.ศ.2458 หลังจากนั้นทางบริษัท ก็มีการขยายกำลังการผลิตด้วยการตั้งโรงงานท่าหลวง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนปูนซีเมนต์ในประเทศ

ทางเครือซีเมนต์ไทยก็มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยได้เพิ่มโรงงานขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ โรงงานทุ่งส่ง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกรรมวิธีการผลิตแบบแห้งแห่งแรกของประเทศไทย โรงงานแก่งคอย กับ โรงงานเขาวง จ.สระบุรี โดยที่โรงงานเขาวง เป็นโรงงานที่มีหม้อเผาใหญ่ที่สุดในโลก และโรงงานลำปาง เพื่อขยายฐานการผลิตสู่ภาคเหนือ

ในส่วนของปล่องหม้อเผาที่หนึ่งถูกสร้างขึ้นพร้อมกับโรงงาน บางซื่อ และถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2458 โดยที่ปล่องหม้อเผาที่หนึ่งนี้ จะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางซื่อมากที่สุด เนื่องจากเหตุผลด้านความสะดวกในการขนส่งสินค้า ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีการสร้างปล่องอื่นๆต่อมา

2.รายละเอียด แต่ละปล่องหม้อเผา

ถึงแม้ว่าแต่ละปล่องหม้อเผาจะมีขนาดของแต่ละปล่องเท่ากันที่ความสูง 78 เมตร และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร แต่รายละเอียดของแต่ละปล่องหม้อเผานั้น ใช่ว่าจะเหมือนกันเสียทีเดียว โดยแต่ละปล่องหม้อเผาก็จะมีข้อมูลจำเพาะเป็นของตัวเอง

ปล่องหม้อเผาที่หนึ่ง ถูกเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2458 มีกำลังการผิด 20,000 ตันต่อปี โดยที่ภายหลังมีการปรับปรุงหม้อเผาเพื่อให้ผลิดได้เพิ่มเป็น 27,000 ตันต่อปี ปล่องนี้ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในยุคก่อสร้างโรงงานใหม่ๆเลยทีเดียว ด้วยความสูง 78 เมตร ซึ่งถือว่าสูงมากในสมัยนั้น ทำให้ปล่องปูนที่หนึ่งนี้ โดดเด่นสะดุดตาคนที่ผ่านไปผ่านมามาก แต่ในปัจจุบันไม่มีปล่องหม้อเผาที่หนึ่งเหลืออยู่แล้ว

ปล่องหม้อเผาที่สอง ถูกเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2465 อยู่ติดกับปล่องปูนที่หนึ่ง มีกำลังการผลิต 35,000 ตัดต่อปีซึ่งมากกว่าปล่องแรก ปัจจุบันถูกทุบไปแล้วด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ปล่องหม้อเผาที่สาม ถูกเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2472 มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าปล่องที่สอง คือมีกำลังการผลิตถึง 46,000 ตันต่อปี ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ทางบริษัทได้ปรับเปลี่ยนเป็นหม้อเผาซีเมนต์ขาว ซึ่งเริ่มใช้ได้ในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งสามารถผลติซีเมนต์ขาวได้ 25,000 ตันต่อปี

ปล่องหม้อเผาที่สี่ และ ห้า ถูกเปิดใช้พร้อมกันในปี พ.ศ.2506 มีกำลังการผลิตมากถึง 100,000 ตันต่อปี และเป็นสองในสามปล่องหม้อเผาที่เหลือในปัจจุบันคู่กับปล่องหม้าเผาที่สาม

ปล่องหม้อเผาที่ หก เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2510 ด้วยกำลังการผลิตมากที่สุดในปล่องหม้อเผาทั้ง 6 ปล่อง คือ 190,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันถูกทุบทำลายทิ้งไปเสียแล้ว

3.สาเหตุการหายไปของปล่องปูน

ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่เธียรไชย ยักทะวงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข้อมูลและสถานที่ ของเครือซีเมนต์ไทย พี่เธียรไชย ดูเป็นคนอารมณ์ดีอายุราว 40 ปี และยินดีที่จะตอบทุกเรื่องราวที่ผมอยากรู้เกี่ยวกับเครือซีเมนต์ไทย พี่เธียรไชยมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คซึ่งภายในบรรจุด้วยข้อมูลของเครือซีเมนต์ไทยไว้มากมาย ดูจากไฟล์ที่พี่เธียรไชยเก็บไว้ ผมคิดว่าคงไม่มีเรื่องอะไรเกียวกับเครือซีเมนต์ไทย ที่พี่เธียรไชยตอบไม่ได้เป็นแน่

พี่เธียรไชยได้เล่าถึงสาเหตุที่ปัจจุบันปล่องปูนเหลือแค่ 3 ปล่องให้ฟังว่า ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ในยุคนั้นมีการทิ้งระเบิดจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ ซึ่งสถานีรถไฟเป็นอะไรที่เลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเป็นจุดที่สามารถขนส่งทั้งยุทโธปกรณ์ และกำลังพลได้ สถานีรถไฟต่างๆจึงโดนทิ้งระเบิดไปทั่วกรุงเทพฯ ไม่เว้นแม่แต่สถานีรถไฟบางซื่อ ด้วยความที่ปล่องหม้อเผาที่ 1 อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางซื่อ ประกอบกับความโชคร้ายของเครือซีเมนต์ไทย ทำให้ปล่องหม้อเผาที่ 1 โดนลูกหลงจากการทิ้งระเบิดในสงครามไปด้วย ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากการเล็งเป้าหมายที่ผิดพลาดของนักบินที่ทิ้งระเบิด

ผลจากแรงระเบิด ส่งผลให้ปล่องที่หนึ่งเสียหายจนใช้การไม่ได้อีก ส่วนปล่องที่สอง ได้รับความเสียหายเล็กน้อย แต่ก็ต้องใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 3 เดือน เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม การหาวัสดุ อุปกรณ์ จึงทำได้ยากกว่ายามปกติมากทีเดียว

“ต่างประเทศเค้าชมเรามาที่เราซ่อมกลับมาใช้ได้ทั้งๆที่มันควรจะปิดไปแล้ว แต่มันไม่ได้ เราต้องผลิตปูนเอาไว้ใช้ ยิ่งในช่วงสงครามด้วย”

พี่เธียรไชยบอก

มีเรื่องเล่าในช่วงส่งครามเพิ่มเข้ามาอีกว่า ในช่วงสงคราม ทางญี่ปุ่นซึ่งตอนนั้นตั้งทัพอยู่ในประเทศไทยต้องการปูนซีเมนต์จากทางบริษัทเพื่อนำไปใช้ในการ ซ่อมหรือสร้าง เส้นทางหรือสิ่งก่อสร้างเกี่ยวกับการทหารเพื่อใช้ในส่งคราม ซึ่งตอนนั้นกำลังเสียหายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมาก แต่ทางบริษัทต้องการเก็บปูนไว้เพื่อใช้ในราชการไทย จึงไม่ได้ให้ทางญี่ปุ่นไปทั้งหมด

“จริงๆเราให้ญี่ปุ่นไปแค่ 1 ใน 7 ส่วนเท่านั้น คือเราบอกว่า เราผลิตได้แค่นี้ แต่จริงๆเราผลิตได้มากกว่านั้นมาก”

พี่เธียรไชยเล่า และยังเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า เราต้องแอบผลิตกันตอนกลางคืน เพื่อที่จะไม่ให้ทหารญี่ปุ่นรู้ และการผลิตตอนกลางคืนที่ว่าคือ จะจุดไฟก็จะจุดไม่ได้ เนื่องจากอันตราย ทั้งอันตรายจากการพบเจอจากทหารญี่ปุ่น และ อันตรายจากการทิ้งระเบิดของฝั่งสัมพันธมิตร ทำให้ทางบริษัทต้องทำงานในที่มืด แต่ก็ยังทำงานได้ เพราะพนักงานเราเก่ง(ฮา)

พี่เธียรไชยเล่าต่อไปว่า อันที่จริงทางญี่ปุ่นเขาก็ระแคะระคายเรานะ เหมือนเขาจะรู้ว่าเราแอบผลิต บางทีเขาก็ส่งคนมาตรวจ เวลามีคนมาตรวจ จะเกิดความวุ่นวายขึ้นทันที เพราะเราต้องซ่อนทุกอย่างจากฝ่ายญี่ปุ่น ซ่อนทั้งปูนที่ผลิตได้ และเราต้องไม่ให้ญี่ปุ่นรู้ด้วยว่าเราแอบผลิตอยู่ คราวนี้เวลาหม้อเผาทำงานมันจะร้อน ถ้าเขามาเห็น เขารู้แน่นอน เลยต้องรีบทำให้หม้อเผามันเย็น ด้วยการเอาน้ำมาราด มาทีก็ราดที เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดช่วงสงคราม

พอพ้นจากช่วงสงครามมาได้ ปล่องหม้อเผาปูนก็ยังคงถูกใช้งานมาเรื่อยๆจนกระทั่งโรงงานบางซื่อหยุดการผลิตในปี พ.ศ. 2522 แล้วย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่โรงงานแก่งคอย และโรงงานเขาวง จังหวัดสระบุรีแล้ว ด้วยการที่ปล่องหม้อเผาปล่องที่สองได้รับความเสียหายจากช่วงสงครามโลกมาก่อนแล้ว ประกอบกับไม่ต้องใช้ปล่องหม้อเผาที่บางซื่อทำการผลิตอีก ทำให้ทางผู้บริหารตัดสินใจทุบปล่องหม้อเผาปล่องที่สองทิ้งไป ด้วยเป็นห่วงว่าปล่องหม้อเผาที่สองอาจจะมีการถล่มลงมาได้ ถึงแม้จะมีโอกาสเพียงเล็กน้อยก็ตาม ทำให้ปล่องหม้อเผาปล่องที่สองต้องหายไปด้วยเหตุผลดังกล่าว

ในส่วนของปล่องหม้อเผาที่หายไปอีกปล่องหนึ่งก็คือปล่องหม้อเผาที่หก ซึ่งถูกทุบทำลายไปเนื่องจากว่าทางบริษัทต้องการปรับพื้นที่ถนนเสียใหม่ เพื่อให้มีภูมิทัศน์หน้าดูมากขึ้น ซึ่งต้องกินพื้นที่ของปล่องหม้อเผาปล่องที่หก ไปด้วย ซึ่งทำให้ทางบริษัทต้องตัดสินใจทุบทำลายปล่องหม้อเผาที่หก ออกไปด้วย ทำให้ในปัจจุบันเหลือปล่องหม้อเผาที่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเครือซีเมนต์ไทยบางซื้อเพียงแค่ 3 ปล่องหม้อเผาเท่านั้น

4.วาระสุดท้ายของปล่องปูนที่เหลือ

ปล่องหม้อเผาที่เหลืออีกสามปล่องก็มีโอกาสสูงที่จะเหลือเป็นเพียงตำนานแห่งเครือซีเมนต์ไทย บางซื่อ เนื่องจากทางผู้บริหารมีมติที่จะปรับพื้นที่เพื่อตัดถนน สี่ช่องการจารจร เข้ามาจากทางถนนหน้าชุมทางรถไฟบางซื่อ ทำให้ปล่องหม้อเผาปูนที่เหลือทั้งสามปล่องดูเหมือนจะเป็นส่วนเกิน เพราะการจะตัดถนนสี่ช่องทางในพื้นที่ดังกล่าว ต้องผ่านปล่องปูนทั้งสามปล่องที่เหลือเท่านั้น สุดท้ายทางผู้บริหารก็จำเป็นต้องมีมติในการทุบปล่องปูนที่เหลืออีกสามปล่องทิ้ง

โดยที่แผนการปรับพื้นที่ดังกล่าว ทางเครือซีเมนต์ไทยมีแผนจะย้ายพลับพลาที่ประทับ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเป็นองค์ประธานงานฉลองครบรอบ 50 ปีบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ไปที่ตรงถนนด้านหน้าที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยจะขุดพื้นที่ดังกล่าวเป็นสระน้ำ แล้วนำพลับพลาที่ประทับดังกล่าว ย้ายไปไว้กลางน้ำ เพื่อให้ดูเด่นเป็นสง่า และสมศักดิ์ศรีของพลับพลาหลังนี้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางเลือกที่เหลือก็มีเพียงทางเดียวก็คือต้องทุบปล่องปูนที่เหลืออีกสามปล่องทิ้งเท่านั้น ซึ่งพี่เธียรไชยเล่าว่าก็มีผู้บริหารบางคนพยายามหาทางรักษาปล่องหม้อเผาไว้ด้วยการเสนอทางเลือกอื่นๆเช่น ตัดถนนอ้อมผ่าน หรือ ปรับภูมิทัศน์ของปล่องหม้อปูนให้เข้ากับพื้นที่ใหม่ แต่ก็ดูไม่เป็นผลเท่าไหร่

“ทุกคนที่บางซื่อเสียดายหมดทุกคนนะ”

พี่เธียรไชยกล่าว และยังเล่าต่อไปว่า สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเครือซีเมนต์ไทยมีทั้งหมด 6 อย่าง คือ อาคาร 1 (อาคารสำนักงานใหญ่แห่งแรก), เรือนรับรอง, บ้านพักนายช่าง, อาคารเกลียวหมู, พลับพลาที่ประทับ และ ปล่องหม้อเผา การที่ปล่องหม้อเผาต้องหายไปอย่างหนึ่งมันก็เสียดาย เพราะถึงยังไงปล่องหม้อเผาก็ถือเป็น 1 ในหกสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของที่นี่ คราวนี้ถ้ามันหายไป มันก็จะเรียกว่า 6 สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่ได้แล้ว เพราะมันเหลือแค่ 5 และปล่องหม้อเผานี่ยังเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงรากฐานของเครือซีเมนต์ไทยที่มีอายุเกือบ 100 ปีอีกด้วย ปล่องหม้อเผาโตมาพร้อมกับเรา แล้ววันหนึ่งมันจะหายไป เราก็ตกใจ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ ปล่องหม้อเผาของเครือซีเมนต์ไทยอย่างเดียว มันคือแลนด์มาร์คที่สำคัญ ที่ทำให้คนที่ไปมารู้ว่า มาถึงบางซื่อแล้ว มาถึงเตาปูนแล้ว มันยังสำคัญตรงนี้ด้วย

“ก็อยากจะตั้งเฟสบุ๊คแล้วให้คนมาช่วยกันกดไลค์คัดค้านเหมือนกันนะ”

พี่เธียรไชยพูดติดตลกเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังพูดอีกว่า เราเป็นผู้น้อย เราทำอะไรไม่ได้ แต่เราก็เข้าใจการตัดสินใจของทางผู้ใหญ่เขา ชื่อว่าใครที่เคยทำงานที่บางซื่อ หรือยังทำงานอยู่รู้เรื่องนี้ต้องตกใจ เพราะนี่ก็เป็นเหมือนความภาคภูมิใจของเครือซีเมนต์ไทยเหมือนกัน ปล่องหม้อเผานี่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก อย่างที่รู้กัน ไม่มี่ใครอยากให้มันหายไปหรอก

5.เตาปูนที่ใกล้จะเหลือแค่เรื่องราว

นอกจากความผูกพันของปล่องหม้อเผากับชาวเครือซีเมนต์ไทย บางซื่อแล้ว ปล่องหม้อเผาปูนยังมีความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ บางซื่อ เตาปูนนี้มาตลอดแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทั่งชื่อย่านเตาปูน ก็ยังมีที่มาจากเตาปูนของเครือซีเมนต์ไทยนี่เอง ในอนาคตอันใกล้นี่ ย่านเตาปูนจะไม่มีที่มาของมันเหลืออยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นผมเชื่อว่า เรื่องราวของเตาปูนเครือซีเมนต์ไทย จะถูกเล่าถึงที่มาของมันต่อไป เพราะนอกจากปล่องเตาปูนจะเปรียบเสมือนรากฐานของเครือซีเมนต์ไทยแล้ว ปูนที่ถูกผลิตจากปล่องเตาปูนแห่งนี้ ได้ถูกนำมาสร้างเป็นสถานที่ซึ่งกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศไทยในปัจจุบัน.