นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ : เรื่อง

jit“หอยนางรมตัวหนึ่งตกหลุมรักพระจันทร์ มันอ้าปากหวอดูพระจันทร์เป็นชั่วโมงๆ ส่วนปูก็รักหอยนางรม แต่เพื่อจะกินมัน

ปูตัวหนึ่งสังเกตว่า หอยนางรมอ้าปากหวอดีมากเมื่อพระจันทร์เต็มดวง มันจึงโยนก้อนหินเข้าไปในเปลือกหอยที่เปิดอ้าอยู่อย่างแม่นยำ ช่างร้ายเสียจริง ! หอยนางรมพยายามหุบเปลือกแต่ไร้ผล เจ้าปูจึงได้ลิ้มรสของมันสมใจอยาก”

ที่ยกมาคือนิทานเรื่อง “หอยนางรมกับปู” คัดมาจากหนังสือ นิทานเลโอนาร์โด ดา วินซี* สำนวนแปลของ ดารณี เมืองมา แปลจากภาษาฝรั่งเศส (สำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ. ๒๕๔๐) หากต้องการอ่านฉบับภาษาอังกฤษ สามารถหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต

ลองทายดูสิครับว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไร

ผมได้รับการติดต่อให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับ เลโอนาร์โด ดาวินชี ให้แก่ สารคดี ฉบับนี้ ขณะกำลังคิดว่าจะเขียนอย่างไรไม่ให้ซ้ำกับบทความอื่น ๆ ก็เกิดเหตุจริยธรรมบ้านเมืองสั่นคลอนอย่างรุนแรง สั่นแรงจนคิดออกว่าจะเขียนอะไร

ขณะที่จริยธรรมบ้านเมืองสั่นคลอน ก็มีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนผู้นำ แต่ก็มีเสียงสวนกลับมาว่า หากไม่เอานายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันแล้วจะเอาใครที่ไหน ทำนองว่าประเทศนี้ไม่มีใครเหมาะสมเป็นผู้นำได้อีกแล้ว

แสดงให้เห็นว่าบ้านเรายังยึดติดตัวบุคคลอยู่มาก คล้าย ๆ กับการเทิดทูนวีรบุรุษอย่างไม่ลืมหูลืมตา หลงเชื่อว่าคนคนเดียวสามารถคิดทุกอย่างและทำทุกอย่าง หลงลืมไปว่าที่แท้แล้วคนคนเดียวไม่อาจคิดทุกอย่างและทำทุกอย่าง

คนคนหนึ่งจะฉลาดได้ก็ต่อเมื่อได้พูดคุยกับคนอื่น อันที่จริงแล้วคนทุกคนสามารถฉลาดได้ทั้งนั้นหากมีโอกาสพูดคุยกับผู้อื่น เราเรียกการพูดคุยที่สามารถทำให้ทุกคนฉลาดพร้อม ๆ กันว่า “การประชุม” ครับ

การประชุมที่ดี การระดมสมองที่ดี สามารถทำให้แต่ละคนได้ต่อยอดความคิดให้กันและกัน นำไปสู่ปัญญาที่สูงขึ้นขององค์ประชุม แต่การประชุมในระบบราชการมักเป็นการประชุมประเภทผู้ใหญ่เท่านั้นที่คิดถูกพูดเสียงดัง ปัญญาขององค์ประชุมจึงมีได้อย่างมากเท่ากับของผู้ใหญ่ที่เสียงดัง ไม่สูงไปกว่านั้น

การประชุมในบอร์ดของบางองค์กรดูคล้ายจะดี เพราะที่ประชุมประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย ทั้งจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการ ฝ่ายวิชาชีพ เอ็นจีโอ และภาคประชาชน แต่คนพูดเสียงดังยังคงเป็นฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายวิชาชีพ ปัญญาขององค์ประชุมจึงมีได้อย่างมากเท่ากับเสียงที่ดังนั้น

ซึ่งมักจะมีไม่มากเท่าไร

คนส่วนใหญ่ชอบเชื่อว่าความคิดดี ๆ สามารถออกมาจากสมองของคนคนเดียว ประเภทอยู่ในอ่างอาบน้ำแล้วร้องยูเรกาอะไรทำนองนั้น ไม่ทันได้หยุดคิดว่าก่อนที่เขาจะร้อง “ยูเรกา !” ออกมา เขาทำอะไรไปแล้วบ้าง ได้พูดคุยกับใครมาบ้าง คนส่วนมากเชื่อว่าบุคคลสำคัญคิดอะไรดี ๆ ได้ด้วยตัวเองคนเดียว แล้วก็ชื่นชมท่านเหล่านั้นว่ามีความคิดสร้างสรรค์เป็นเยี่ยม

ตั้งชื่อให้ฟังดูดีว่า creative thinking

อาจจะจริงที่คนบางคนมี creative thinking ดี อย่างไรก็ตามหากมีการพูดคุยหรือการประชุมที่เท่าเทียมและเปิดกว้าง ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่เข้าข่มขู่กัน การประชุมนั้นจะช่วยให้ทุกคนมี creative thinking ได้พร้อม ๆ กัน

การประชุมลักษณะนี้หาได้ยากในบ้านเรา ส่วนใหญ่แล้วการประชุมในบ้านเราเป็นการประชุมโดยใช้วัฒนธรรมเชิงอำนาจเข้าว่า

เลโอนาร์โด ดาวินชี เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็นคนมี creative thinking มาก ๆ เป็นนักอะไรต่อมิอะไรได้พร้อม ๆ กันหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเชื่อว่าสารคดีพิเศษใน สารคดี ฉบับนี้ได้แจงให้เห็นแล้ว แต่ที่ไม่ค่อยทราบกันคือเขาเป็นนักเล่านิทานด้วย

เลโอนาร์โดเขียนนิทานเอาไว้หลายสิบเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้นเหมือนนิทานอีสป ประเภทมีตัวละครเป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ หรือเป็นสัตว์ในตำนาน สัตว์หรือต้นไม้เหล่านั้นออกมาพูดคุยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน แล้วก็จบแบบทิ้งข้อคิดเอาไว้แต่พองาม

เท่าที่ผมอ่านดูพบว่า ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องสัตว์หรือพืชที่ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็ขี้อิจฉา อยู่ดีไม่ว่า ดีโลภมาก จะเอา ๆ ไม่ยอมเสีย

เสร็จแล้วก็ตายทุกรายไป

ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง “หมัดกับขนแกะ” หมัดตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนตัวหมาขนเกรียน วันหนึ่งมันได้กลิ่นขนแกะก็ฝันถึงที่นอนอันอบอุ่น มิหนำซ้ำไม่ต้องคอยหลบหลีกกรงเล็บหมาที่คอยแต่จะเกามันอยู่เรื่อย คิดเช่นนั้นแล้วมันจึงกระโดดจากหนังหมาไปหาขนแกะหนานุ่ม แต่แล้วมันก็ติดอยู่ระหว่างขนแกะที่หนาทึบ ไม่สามารถไต่ลงไปถึงหนังแกะเพื่อดูดเลือดกินได้ มันจึงอดตาย

นิทานอีกส่วนหนึ่งจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับสัตว์หรือพืชที่ตกเป็นเบี้ยล่าง ไร้อำนาจ ไร้ปัญญา แล้วต้องตกเป็นเหยื่อของคนพาลหรือคนเอาแต่ได้ในที่สุด คล้าย ๆ จะบอกว่า อยากโง่ให้เขาหลอกนักก็สมควรตาย

ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง “หนู พังพอน แมว” หนูตัวหนึ่งออกจากรังไม่ได้เพราะมีพังพอนเฝ้ารอกินมันอยู่หน้ารัง พอดีแมวเดินผ่านมาก็จับพังพอนกินเสีย หนูเห็นเช่นนั้นก็นำเครื่องบรรณาการไปถวายแมว แมวก็กินทั้งเครื่องบรรณาการและหนูนั้นเสีย

นิทานของเลโอนาร์โดแพร่หลายในฝรั่งเศสและอิตาลีนานหลายร้อยปี บ้างก็เล่ากันจนเพี้ยนไป บ้างก็หายสาบสูญไป ที่หลงเหลือเป็นหลักฐานชั้นต้นมีไม่มาก บางเรื่องที่มีภาพลายเส้นฝีมือของเขาประกอบอยู่ก็ทำให้มั่นใจว่าเป็นผลงานของเขาแน่ ได้สำเนาบางภาพมาลงประกอบบทความนี้ไว้ด้วย

มีนิทานเรื่องหนึ่งชื่อ “หมึกกับกระดาษ” เนื้อหาของนิทานเข้าได้กับประเด็นที่ผมพยายามจะบอกในบทความนี้ นั่นคือคนเรามิใช่จะเก่งได้โดยลำพังตัวเอง อย่างไรก็ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้อื่นเสมอ creative thinking มิได้เกิดจากคนเก่งเพียงคนเดียว แต่ที่แท้แล้วเกิดจากการสั่งสมความรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แล้วพัฒนาความรู้ไปพร้อม ๆ กัน

“กระดาษแผ่นหนึ่งมีตัวหนังสือดำพืด วางอยู่บนโต๊ะข้าง ๆ กระดาษขาวแผ่นอื่นๆ มันโกรธมากที่เห็นตนเองเปื้อนสีดำเลอะเทอะ และคิดว่าหมึกเป็นตัวการทำให้เปื้อน จึงหาเรื่องกับหมึกซึ่งแห้งแล้วว่า

‘ทำไมถึงได้ทำกับข้าอย่างน่าละอายเช่นนี้ ข้าได้สูญเสียความขาวของข้าไป และไม่อาจเอามันกลับคืนมาได้อีกแล้ว ทำไมเจ้าถึงทำข้าสกปรกล่ะ’

หมึกตอบกระดาษว่า ‘เจ้าฟังนะ เจ้าต่อว่าข้าอย่างนั้นไม่ถูกหรอก ถ้าไม่มีข้า เจ้าก็เป็นแค่กระดาษ แต่เมื่อข้าวางอยู่บนตัวเจ้า มันกลายเป็นคำต่าง ๆ ซึ่งปากกาได้เขียนไว้ ตอนนี้เจ้ากลายเป็นสารที่ประกอบด้วยประโยคต่าง ๆ ข้านี่แหละกลับทำให้เจ้ามีประโยชน์ขึ้นมา’

จริงดังว่า ครู่หนึ่งก็มีคนเดินมายังโต๊ะ แล้วอ่านกระดาษซึ่งดำไปด้วยตัวหนังสืออีกครั้ง โดยไม่สนใจแผ่นกระดาษสีขาวทั้งหลายเลย”

นิทานทั้งหมดยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อชื่นชมเลโอนาร์โดในฐานะนักเล่านิทานครับ มิได้ตั้งใจหมายถึงสถานการณ์เลือกผู้นำของประเทศไหน ๆ เลย

* ชื่อของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ในส่วนที่เป็นชื่อหนังสือนิทาน ใช้ตามการสะกดชื่อที่หน้าปกหนังสือ