พระไพศาล วิสาโล
ภาพประกอบ : อ้อย กาญจนะวณิชย์

aroonแม้โลกของเราจะพัฒนาจากยุคจรวดและยุคปรมาณู มาสู่ยุคไฮเทค นาโน จีเอ็มโอ ฯลฯ สุดแท้แต่จะให้คำนิยาม แต่ในแง่ของกายวิภาคแล้ว ร่างกายของเรายังไม่หนีไปจากมนุษย์ยุคหินเท่าใดนัก กล่าวคือมีสภาพเหมือนกับมนุษย์เมื่อ ๑๓๐,๐๐๐ ปีก่อน จะเรียกว่าเรามีร่างกายของมนุษย์ยุคหินก็ได้ เวลาแสนกว่าปีนั้นอาจยาวนานมาก แต่สำหรับวิวัฒนาการของชีวิต (ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นพันล้านปี) ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก ดังนั้นในช่วงแสนกว่าปีที่ผ่านมา กายวิภาคของมนุษย์จึงมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากในเชิงพันธุกรรม

ร่างกายที่ตกทอดมาถึงมนุษย์เราในปัจจุบันนั้น วิวัฒน์มาทีละน้อย ๆ จนเหมาะสมสำหรับการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างมนุษย์ยุคหิน (โดยเฉพาะยุคหินใหม่) แต่เมื่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย จึงเกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ที่เห็นได้ชัดก็คือปัญหาสุขภาพ

ทุกวันนี้ผู้คนทั่วทั้งโลกกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคหลายชนิดที่เรียกว่า “โรคอารยธรรม” หรือ “โรคแห่งความเจริญ” เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคอ้วน โรคเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่ดีกินดี ขณะเดียวกันก็ออกกำลังกายน้อย แต่ใช้ความคิดมาก จนบางคนเรียกว่า “โรคขี้เกียจ”

โรคขี้เกียจเป็นปัญหาของคนทั้งโลก จนองค์การอนามัยโลกมีความวิตกอย่างมาก เนื่องจากมีคนตายเพราะโรคนี้นาทีละ ๔ คน เฉพาะเมืองไทยมีคนตายเพราะโรคนี้ชั่วโมงละ ๙ คน จนกระทรวงสาธารณสุขต้องรณรงค์ให้ผู้คนออกกำลังกายให้มากขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วัน

โรคเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับผู้คนในอดีต เพราะสมัยก่อนอาหารไม่ได้สมบูรณ์ตลอดปี เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ได้พัฒนามากนัก ขณะที่ผู้คนต้องใช้แรงงานเป็นหลัก ไม่ว่าการเข้าป่าล่าสัตว์ หรือการทำไร่ทำนา สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตดังกล่าวสอดคล้องกับลักษณะกายวิภาคของมนุษย์ จึงไม่ทำให้เป็นโรคเหล่านี้

ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าร่างกายของมนุษย์ในปัจจุบันเหมาะกับวิถีชีวิตที่ต้องใช้แรงงาน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอาหารไม่อุดมสมบูรณ์เท่าใดนัก ดังจะเห็นได้ว่าคนที่อยู่ในชนบทอันกันดาร หรือในเขตป่าเขา ตลอดจนชนเผ่าในแอฟริกาเช่น บุชแมน มาไซ แทบจะไม่มีใครเป็นโรคดังกล่าวเลย

ไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ามนุษย์เรามียีนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้สามารถสะสมไขมันได้ดีในช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อเป็น “ทุนสำรอง” ในยามที่อาหารขาดแคลน ปัญหาเกิดขึ้นเพราะทุกวันนี้เรากินดีอยู่ดีตลอดปี ไขมันที่เป็นทุนสำรองจึงไม่ได้ใช้เลย มีแต่พอกพูนตลอดปี ผลคือปัจจุบันทั้งโลกมีคนอ้วนถึง ๑,๔๐๐ ล้านคน หรือมากเกือบเป็น ๒ เท่าของคนที่ขาดอาหาร ซึ่งมีอยู่ ๘๐๐ ล้านคน ไขมันที่พอกพูนอย่างรวดเร็วนี้เองที่เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและโรคขี้เกียจนานาชนิด

ร่างกายของเรานอกจากจะวิวัฒน์ให้เหมาะกับวิถีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ด้านอาหารและต้องใช้แรงมากแล้ว ยังได้พัฒนากลไกที่เหมาะสำหรับการเผชิญภัยต่าง ๆ ด้วยพละกำลัง กล่าวคือถ้าไม่สู้ก็ถอยหนี ปฏิกิริยาสู้หรือถอย (fight & flight) เป็นกลไกที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับวิถีชีวิตในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกคุกคามด้วยภัยจากภายนอก เช่น ภัยธรรมชาติ สัตว์ร้าย รวมทั้งมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเจอภัยดังกล่าว ฮอร์โมนจะหลั่งออกมาเพื่อทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น และปล่อยน้ำตาลออกมาเพื่อเป็นพลังงานให้แก่กล้ามเนื้อ ทั้งหมดนี้จำเป็นสำหรับการใช้พละกำลังเพื่อต่อสู้หรือไม่ก็ถอยหนี

นอกจากนั้นเรายังมีกลไกอีกมากมายเพื่อรับมือกับอันตรายจากภายนอก เช่น มีอายตนะถึง ๕ อย่างสำหรับรับรู้สิ่งรอบตัว คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ไม่จำต้องพูดถึงความสำคัญของตา หู จมูก และกาย ในการเผชิญภัยจากภายนอก แม้แต่ลิ้นก็ยังถูกพัฒนามาเพื่อให้มนุษย์เราหลีกเลี่ยงสารพิษในอาหาร เห็นได้จากการมีปุ่มรับรู้รสขมมากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เป็นพิษนั้นมักมีรสขม กล่าวได้ว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นรังเกียจรสขมมาตั้งแต่เกิด เห็นได้จากนิสัยของเด็ก แต่ชอบรสหวานเป็นพิเศษ เพราะอาหารที่ให้พลังงานนั้นมักจะมีรสหวาน เช่น ผลไม้

กลไกอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการจับสีหน้าที่กำลังโกรธได้ไวเป็นพิเศษ เคยมีการทดสอบให้อาสาสมัครทั้งหญิงและชายดูภาพสีหน้าของคน ๖ แบบ คือ โกรธ รังเกียจ กลัว ดีใจ เศร้า และประหลาดใจ จากนั้นก็ให้อาสาสมัครเหล่านี้ตอบว่าสีหน้าของผู้คนในภาพกำลังบ่งบอกอารมณ์ชนิดใด โดยผู้วิจัยจับเวลาว่าแต่ละคนใช้เวลานานเท่าใดในการตอบ ปรากฏว่าสีหน้าที่อาสาสมัครทั้งหญิงหรือชายใช้เวลาตอบน้อยที่สุด คือสีหน้าที่แสดงความโกรธ ที่น่าสนใจก็คือไม่ว่าเพศใดก็ตาม จะจับความโกรธบนสีหน้าของผู้ชายได้ไวกว่าของผู้หญิง

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นเพราะแต่ไหนแต่ไรมาอารมณ์โกรธนั้นสามารถระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง จึงเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของคนเรามากกว่าอารมณ์อย่างอื่น และคนที่โกรธจนสามารถทำให้คนเราถึงตายได้ก็มักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงวิวัฒน์พัฒนาความสามารถให้ฉับไวต่อความโกรธของผู้ชายมากเป็นพิเศษ

กลไกเหล่านี้เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตในอดีต ตั้งแต่ยุคหินจวบจนเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้ ซึ่งอันตรายส่วนใหญ่มักมาจากภายนอก และวิธีการตอบโต้ก็ใช้พละกำลังเป็นหลัก แต่ในสังคมยุคใหม่ อันตรายจากภายนอกมีน้อยลง ไม่ว่าภัยจากธรรมชาติหรือสัตว์ป่า ขณะที่ภัยหรือปัญหาจากมนุษย์ส่วนใหญ่ก็ไม่อาจเผชิญหรือหลบเลี่ยงด้วยพละกำลังได้ ยกเว้นในถิ่นที่มีสงครามหรืออาชญากรรมชุกชุมแล้ว ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ประสบจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมักจะเป็นปัญหาในเชิงสัมพันธภาพ เช่น ปัญหาในครอบครัว ปัญหาความรัก หรือไม่ก็เป็นปัญหาในการทำงาน เป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยการใช้ความคิดหรือการปรับพฤติกรรม ซึ่งเกี่ยวโยงกับอารมณ์ความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ความที่ร่างกายของเราพัฒนามาเพื่อแก้ปัญหาด้วยพละกำลัง เมื่อมาเจอปัญหาสมัยใหม่ เช่น ปัญหาในครอบครัว หรือในที่ทำงาน ร่างกายของเรายังคงใช้กลไกเดิม ๆ ในการเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ นั่นคือ กระตุ้นให้หัวใจเต็นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น และกล้ามเนื้อพร้อมจะออกแรง เวลามีปากเสียงกับแฟน หรือถกเถียงกับเพื่อนร่วมงานในห้องประชุม เรามิอาจสู้หรือหนีได้ แต่กลับจำต้องอยู่กับที่เพื่อแก้ปัญหา พลังงานที่ถูกกระตุ้นออกมาอย่างท่วมท้น เมื่อไม่ได้ถูกระบายออกไปด้วยการสู้หรือหนี จึงย้อนกลับมาบั่นทอนร่างกายของเราเอง เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยเข้า ก็ทำให้เกิดโรคเครียด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคกระเพาะ และโรคต่าง ๆ อีกมากมาย

ยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาอีกประการหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้คนในยุคปัจจุบัน อย่างที่คนในยุคหินจวบจนยุคเกษตกรรมไม่เคยประสบเท่านี้มาก่อน นั่นคือปัญหาที่รุมเร้าจากภายใน อันเนื่องมาจากความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่หมักหมมท่วมทับ วิถีชีวิตที่ออกแรงน้อยแต่ใช้ความคิดมาก อีกทั้งเต็มไปด้วยสิ่งเร้าจากภายนอก ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจนานาชนิด แต่ดูเหมือนว่าร่างกายของเราไม่ได้วิวัฒน์มาเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องหลัก ปัญหาหลักที่ร่างกายของเราถูกออกแบบมาเพื่อรับมือคือปัญหาจากภายนอก ดังเห็นได้ว่าในบรรดาอายตนะทั้ง ๖ นั้น มีถึง ๕ อย่างที่มีหน้าที่รับรู้ภัยจากภายนอกโดยตรง ส่วนปฏิกิริยาสู้หรือถอยก็ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาทางจิตใจได้ ผลที่ตามมาก็คือปัญหาทางจิตใจกลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรัง จนกลายเป็นปัญหาหลักของคนในยุคปัจจุบัน ดังเห็นได้จากอัตราการเป็นโรคจิต โรคประสาท เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายและการติดยา ตรงข้ามกับมนุษย์ในสังคมแบบดั้งเดิมซึ่งใช้แรงงานมากกว่าและใช้ความคิดน้อยกว่า กลับมีปัญหาเหล่านี้น้อยมาก

ทั้งหมดนี้ล้วนบ่งชี้ว่าร่างกายของเรานั้น “ล้าหลัง” กว่าสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เรากำลังดำเนินอยู่ แต่จะว่าไปแล้ว ใจของเราเองก็ใช่ว่าจะก้าวหน้ากว่าร่างกาย ในบางแง่ก็ล้าหลังกว่าด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การฉับไวต่อความโกรธ ในขณะที่ประสาทตาของเราไวต่อความโกรธของคนอื่น แต่ใจเรากลับเชื่องช้าในการรู้ทันความโกรธของตนเอง จนปล่อยให้ความโกรธเผาลนจิตใจเป็นวัน ๆ อย่างไม่รู้ตัว ในขณะที่เราชักนิ้วออกทันทีที่ถูกน้ำร้อนหรือเปลวไฟ แต่ใจเรากลับเข้าไปคลุกเคล้าคลอเคลียกับไฟโทสะหรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่บั่นทอนจิตใจตัวเอง เช่น ความอิจฉา ความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ

แม้จิตใจจะเป็นจุดแข็งของมนุษย์ ที่ช่วยให้เราไม่เพียงอยู่รอดเท่านั้น หากยังสามารถขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือสัตว์ชนิดต่าง ๆ อีกทั้งมีวิถีชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัยมั่นคง แต่ในเวลาเดียวกันจิตใจก็เป็นจุดอ่อนสำคัญของมนุษย์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เราทำร้ายตัวเองจนถึงตายเพราะควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตัวเอาไว้ไม่อยู่แล้ว ยังเป็นเหตุให้เราทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างชนิดล้างเผ่าพันธุ์ เว้นจากมนุษย์แล้ว ไม่มีสัตว์ชนิดใดเลยที่สามารถฆ่าตัวตายหรือสังหารสมาชิกเผ่าพันธุ์เดียวกัน (หากแสดงทีท่าว่ายอมแพ้แล้ว)

ในขณะที่วิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ก้าวหน้าไปไกลแล้ว แต่ใจของเรายังล้าหลังอยู่ ผลก็คือเราเป็นทุกข์กันมากขึ้นและใช้เทคโนโลยีที่ทรงอานุภาพในการทำร้ายกันมากขึ้น ถึงขั้นที่สามารถทำลายล้างโลกให้พินาศได้ อย่างไรก็ตามใจของเรามีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือสามารถพัฒนาจนข้ามพ้นตนเองได้ (transcendence) ร่างกายนั้นไม่ว่าเราจะพัฒนาอย่างไร ก็ไม่สามารถพ้นไปจากกายวิภาคที่สืบทอดมาจากมนุษย์ยุคหินได้ แต่ใจของเรานั้นสามารถพัฒนาได้อย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัด จนเลยเพดานสมรรถนะของมนุษย์ในอดีต อีกทั้งสามารถเป็นอิสระจากสภาพแวดล้อมได้

สติและปัญญาเป็นคุณสมบัติสำคัญของใจที่สามารถพัฒนาให้รับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ในยุคที่ผู้คนล้วนคิดเก่ง แต่หยุดคิดไม่เป็น จนกลายเป็นทาสความคิด แม้จะคิดได้ดีมีเหตุผล แต่อารมณ์ความรู้สึกกลับตรงกันข้าม จนแปลกแยกกับตัวเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพัฒนาสติให้รู้ทันอารมณ์ และสามารถปล่อยวางความคิดได้ ขณะเดียวกันก็พัฒนาปัญญาขึ้นมาจนแจ่มแจ้งในความเป็นจริงของชีวิตและโลก กระทั่งความผันผวนปรวนแปรต่าง ๆ มิอาจปรุงแต่งใจให้เกิดอารมณ์จนเป็นทุกข์ได้ สติและปัญญายังช่วยกล่อมเกลาอารมณ์ความรู้สึกให้เชื่อมประสานกับความคิด และส่งเสริมไปในทางที่เป็นคุณแก่ตัวเอง กล่าวคือในยามที่คิดถูกคิดชอบก็ได้อารมณ์ความรู้สึกเป็นเครื่องหนุนช่วย ทำให้มีพลังใจในการทำสิ่งที่ดีงาม แต่หากคิดในทางที่เป็นโทษ ก็ถูกท้วงติงจากอารมณ์ความรู้สึก (หรือมโนธรรมสำนึก) ทำให้ไม่หลงทำตามความคิดนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำให้จิตใจของเราซึ่งเปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่เร็วและแรง มีทั้งเบรกและพวงมาลัยที่ดี จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่แหกโค้งลงเหว

น่าแปลกที่ว่า ในอดีตแม้ภัยคุกคามจะมาจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เช่น ภัยธรรมชาติ ภัยจากสัตว์ร้าย จนศาสนาก็ยังถูกคิดค้นเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะ (เช่น บวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้าให้พ้นภัยดังกล่าว) แต่ในที่สุดศาสนาก็วิวัฒน์พัฒนาเพื่อยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สามารถรับมือกับความทุกข์จากภายในได้ ครั้นมาถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ภัยนอกตัวลดลงไปมาก ขณะที่ภัยจากภายในใจเพิ่มมากขึ้น แต่เราแทบไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของใจเพื่อรับมือกับภัยจากภายในเลย

ในปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกายที่สืบทอดมาจากมนุษย์ยุคหิน กล่าวคือกินให้น้อยลง (โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อ นม ไข่ และน้ำตาล) และใช้แรงให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ทำสวน ฯลฯ แต่ที่ไม่ควรละเลยก็คือ การปรับใจให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม นั่นคือการพัฒนาสติและปัญญาขึ้นมาเพื่อรักษาใจให้เป็นปรกติสุขท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบ งานการที่ต้องใช้ความคิด และสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้าอารมณ์ ทั้งความอยาก ความโกรธเกลียด และความสับสน สติและปัญญานี้แหละที่จะช่วยให้เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายเป็นเพื่อนยิ่งกว่าศัตรู และตระหนักว่าความปรกติสุขของเราแยกไม่ออกจากความปรกติสุขของผู้อื่น ทัศนะเช่นนี้ย่อมทำให้สันติสุขที่บังเกิดขึ้น มิใช่สันติสุขเฉพาะตัว แต่เป็นสันติสุขของเพื่อนมนุษย์ การพัฒนาสติและปัญญาจึงช่วยให้เรามีจิตใหม่ที่ก้าวไกลแม้กายจะล้าหลังไปเป็นแสนปีก็ตาม

ใจที่ไม่พัฒนาเป็นใจที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำร้ายตัวเองและทำร้ายผู้อื่นจนถึงกับล้างเผ่าพันธุ์แล้ว ยังสามารถทำลายสิ่งแวดล้อมที่เราพึ่งพาอาศัย กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือทำให้มนุษย์เราโง่เขลาและเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก