สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์    บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

panus01เทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ระเบิดเวลาทางประวัติศาสตร์ลูกหนึ่งจากยุคล่าอาณานิคมเริ่มทำงาน  ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้นอกจากเล่นน้ำ คนไทยจำนวนมากยังต้องแบ่งสมาธิมาติดตามการถ่ายทอดสด  “การฟังแถลงการณ์ทางวาจา” (oral hearing) ณ วังสันติภาพ ประเทศเนเธอร์แลนด์ อันเป็นที่ทำการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ระหว่าง ๑๕-๑๙ เมษายน ๒๕๕๖ ในคดีที่กัมพูชายื่นขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี ๒๕๐๕ เพื่อหาข้อยุติในความหมายของคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) ของตัวปราสาทหรือที่รู้จักกันดีว่า “พื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร”

สำหรับคนไทยรุ่นใหม่ แม้จะฟังแถลงการณ์ทางวาจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่นี่ก็ถือเป็น “เรื่องใหม่” และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเห็นรัฐที่ตนเองสังกัดต้อง “ขึ้นศาลโลก” ทว่าสำหรับคนที่เกิดทันปี ๒๕๐๕ ซึ่งวันนี้เลขอายุของพวกเขาเลยวัยกลางคนไปไกล นี่เป็น “เรื่องเก่า” เป็นระเบิดเวลาลูกเดิม

การปัดฝุ่นคดีนี้ทำให้พวกเขาหวนกลับไปคิดถึงวันเวลาที่รัฐบาลไทยรณรงค์ “บริจาค ๑ บาท” เป็นค่าทนาย ต่อสู้คดีนี้ในศาลโลกก่อนแพ้คดีด้วยคะแนน ๙ ต่อ ๓ ต้องส่งคืนตัวปราสาทให้กัมพูชาโดยทิ้งปมเรื่อง “พื้นที่รอบปราสาท” เอาไว้

ระเบิดเวลาลูกนี้เองที่ทำให้ “คดีปราสาทพระวิหาร” กลับสู่ศาลโลกอีกครั้ง

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย ๗๑ ปี คือหนึ่งใน “คนรุ่นเก่า” จากปี ๒๕๐๕ ซึ่งโชคชะตาทำให้ต้องกลับมาเกี่ยวพันกับคดีนี้อีก ในฐานะที่เคยทำงานเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด

ย้อนกลับไปปี ๒๕๐๕ เขาคือนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งผู้เคยบริจาคเงิน ๑ บาทช่วยรัฐบาลไทย และมีโอกาสเรียนวิชากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายแพ่งกับคณาจารย์ผู้เป็นทีมทนายทำคดีนี้โดยตรง  จากนั้นเขาได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทสาขากฎหมายที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ พ่วงด้วยปริญญาโทสาขากฎหมายทะเลและสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา อีกใบหนึ่ง  ก่อนได้รับตำแหน่งเป็นอัยการพิเศษประจำกรมอัยการ (สำนักงานอัยการสูงสุด) ต่อมาได้ลาออกจากราชการมาเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี ๒๕๒๙-๒๕๓๑  ปลายปี ๒๕๓๙ เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับปี ๒๕๔๐  ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดตาก ระหว่างปี ๒๕๔๓-๒๕๔๙  หลังจากนั้นเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาจนถึงปัจจุบัน