เขียน : วรรณ์ฐิตา พวงจันทร์แดง
ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา

ผลงานจากงานค่ายสารคดี ครั้งที่ 9 (งานภาพดีเด่น)

สวนสมเด็จย่า

อุทยานสมเด็จย่าฯ

giving02

แสงนี้ไม่ใช่แสงสุดท้าย

giving08

ก้าวต่อไป…

ห้องแถวไม้ที่เรียงรายและรวมขึ้นเป็นชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตคลองสาน ฝั่งธนบุรีแห่งนี้อาจเป็นแค่ “สลัม” ที่อยู่แสนคับแคบ ซ้ำเก่าและโทรมไปตามการเคลื่อนผ่านของเวลาในสายตาของใครหลายคน แต่สำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้ามาศึกษา จะสัมผัสได้ว่าเบื้องหลังความเก่าโทรมนั้นมีทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า และวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่งดงาม เปี่ยมไปด้วยความน่าประทับใจ

 

ชุมชนสวนสมเด็จย่า…เพราะช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน จึงมีวันนี้

แดดสายเริ่มทวีแสงจ้า เพิ่มความร้อนระอุ แต่คุณวิโรจน์ กิจไชยา หรือป๋าหมื่น ผู้นำชุมชนสวนสมเด็จย่ายังคงยิ้มแย้มอย่างใจดีขณะที่ทำหน้าที่เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ นำชมวิถีชีวิตและสถานที่สำคัญๆ ภายในชุมชน ภายใต้รอยยิ้มและใบหน้าใจดีนั้น หากสังเกตให้ดีจะพบความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนแฝงอยู่ลึกๆ

การเที่ยวชมเริ่มต้นจากจุดนัดหมาย นั่นคือศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าแบบจีนใจกลางชุมชน แม้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ที่นี่นับเป็นที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญของทุกคน จะเห็นได้จากการที่มีคนมาจุดธูปสักการะเทพเจ้าไม่ขาดสาย ใครที่เดินผ่านไปมาก็ยกมือไหว้ทำความเคารพอย่างนอบน้อม นอกจากจะเป็นสถานที่แห่งความเชื่อมั่นและความศรัทธา โต๊ะไม้ที่ตั้งอยู่ข้างศาลยังเป็นเหมือนสโมสรย่อมๆ ที่ผู้ชายทั้งแก่และหนุ่มรวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงมารวมตัวกัน บ้างก็ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ พูดคุยเรื่องสัพเพเหระ บ้างก็ใช้เป็นที่เล่น “ยูโด” หรือเกมเดินหมากบนกระดานแบบแขก บางครั้ง เมื่อต้องการสถานที่ประชุมงานที่จะจัดขึ้นในชุมชน เพียงแค่ยกเก้าอี้พลาสติกมาจัดวางไว้ในลานด้านหน้าศาลเจ้าพ่อเสือ ที่แห่งนี้ก็สามารถใช้เป็นที่นั่งหารือได้อย่างสบายๆ กลิ่นควันธูปแบบจีนลอยปนกับกลิ่นบุหรี่คละคลุ้ง ผสมผสานกับเสียงหัวเราะและเสียงพูดคุยของชาวชุมชนสวนสมเด็จย่า เช่นนี้ ศาลเจ้าพ่อเสือจึงไม่เคยเงียบเหงาไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของวัน

เดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยอีกไม่ไกลนัก ป๋าหมื่นก็หยุดที่ซุ้มประตูสีเขียว มีทางเข้าเตี้ยๆ ที่ต้องค้อมตัวเล็กน้อยถึงจะเข้าไปได้ เมื่อลอดซุ้มประตูเข้าไปก็จะพบกับมัสยิดกูวติล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสุเหร่าตึกแดง ศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุสลิมในละแวกนี้ ด้านซ้ายของมัสยิดเป็นตึกแถวไม้เก่าๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวชุมชนเชื้อสายมุสลิม ส่วนด้านขวาคือ บ้านร้างที่เคยเป็นที่พักของพ่อค้าชาวอินเดียหรือที่เรียกกันว่า “บ้านตระกูลวงศ์อารยะ” ลักษณะเป็นอาคารสองชั้น เก่าผุพัง แต่ยังพอมองเห็นเค้าความงามเมื่อแรกสร้างได้จากกรอบหน้าต่างไม้ฉลุลาย ป๋าหมื่นเล่าว่าเดิมที ชุมชนสวนสมเด็จย่าเป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดียที่เข้ามาค้าขายสินค้าและตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย แต่หลังจากชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามา ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่แต่เดิมก็เริ่มกระจายตัวและแยกย้ายไปสร้างถิ่นที่อยู่ใหม่ เช่น ย่านพาหุรัด ชุมชนสวนสมเด็จย่าจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งค้าขาย และโกดังเก็บสินค้าของชาวจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ของชาวชุมชนต่างเชื้อสายว่าเป็นอย่างไร ก็ได้คำตอบว่าเวลาที่ป๋าหมื่นและคณะกรรมการชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนขอความช่วยเหลืออะไรไป ก็จะได้รับความร่วมมือที่ดีจากชาวมุสลิมเสมอ เช่นเดียวกับชาวมุสลิมที่เมื่อทำอาหารในงานเทศกาลหรือวาระโอกาสพิเศษใดๆ ก็จะแบ่งปันอาหารมาให้เพื่อนร่วมชุมชนทุกครั้ง โดยเฉพาะป๋าหมื่นซึ่งสนิทสนมกับอิหม่ามผู้ดูแลมัสยิดกูวติลในฐานะเพื่อนในวัยเด็ก มักจะได้รับซุปหางวัวหรือข้าวหมกอร่อยๆ มากินเสมอ

หลังนั่งรับลมเย็นๆ ที่ศาลาริมน้ำภายในมัสยิดกูวติลสักพัก ก็ได้เวลาที่เท้าจะก้าวเดินไปสู่สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชุมชน นั่นคือศาลเจ้าพ่อกวนอูที่สร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ศาลเจ้าพ่อกวนอูนี้ต่างจากศาลเจ้าพ่อเสือตรงที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีบริเวณกว้างขวางกว่า แต่ในเรื่องของการเป็นศูนย์รวมความเคารพศรัทธาของชาวชุมชนนั้นไม่ต่างกัน ภายในศาลเจ้าพ่อกวนอูตกแต่งด้วยปูนปั้นระบายสี บอกเล่าเรื่องราวเก่าแก่ตามตำนานของชาวจีน เช่น ไซอิ๋ว ในขณะที่ศาลาริมน้ำก็มีเสามังกรต้นใหญ่ประดับปูนปั้นและระบายสีอย่างงดงามไม่แพ้ด้านใน กึ่งกลางศาลายังมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หน้ารูปปั้นมีกระถางธูปขนาดใหญ่ จำนวนก้านธูปที่มอดไหม้หลายสิบก้านแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่เปี่ยมล้นได้เป็นอย่างดี ระหว่างเดินกลับจากศาลาริมน้ำ ป๋าหมื่นชี้ให้ดูบ้านปูนแบบจีนที่เป็นสมบัติตกทอดของเจ้าของกิจการน้ำปลาทั่งง่วนฮะ แม้จะดูทรุดโทรมไม่น้อย แต่เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นถึงการออกแบบที่สวยงาม ควรค่าต่อการบูรณะไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง น่าเสียดายที่ปิดประตูแน่นหนาจนเข้าไปดูข้างในไม่ได้ ป๋าหมื่นบอกว่าเคยมีคนที่อ้างว่าขอเข้าไปชมบ้าน แอบขโมยพระพุทธรูปจีนโบราณและข้าวของข้างในไปขาย เจ้าของบ้านจึงตัดสินใจปิดล็อกบ้านอย่างแน่นหนา กันไม่ให้ใครเข้าไปขโมยอะไรได้อีก เพื่อชดเชยกับการไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมบ้านเก่าหลังนี้ ป๋าหมื่นจึงพาเดินกลับไปดูโรงงานน้ำปลาเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่สร้างและดำเนินการในเวลาใกล้เคียงกับทั่งง่วนฮะ ปัจจุบัน โรงน้ำปลาแห่งนี้ยังคงใช้ถังไม้ใบใหญ่บ่มน้ำปลาก่อนบรรจุใส่ขวดแก้วใส น้ำปลาของที่นี่คงดีสมคำร่ำลือเพราะเพียงแค่เดินเข้าเขตโรงน้ำปลา กลิ่นเค็มจางๆ ก็ลอยหอมมาตามลม

เดินเที่ยวกันจนใกล้เที่ยง ป๋าหมื่นก็อาสาเป็นเจ้ามือเลี้ยงอาหารและเดินนำไปที่ร้านอาหารตามสั่งในตรอกเล็กๆ ที่ถ้าไม่สังเกตดูก็จะไม่รู้ว่ามีร้านนี้ตั้งอยู่ เพียงแค่ป๋าหมื่นเดินเข้าไป คนที่นั่งกินอยู่ก็ร้องทักชวนร่วมโต๊ะอย่างอารมณ์ดี แม้แต่ป้าเจ้าของร้านก็ยังอุตส่าห์ส่งเสียงทักทายมาทั้งที่ยังผัดอาหารอยู่หน้าเตา ป๋าหมื่นภูมิใจนำเสนอร้านนี้มาก บอกว่าอร่อยทุกเมนู เลี้ยงท้องให้อิ่มมาตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูกของลูกของลูกหรือก็คือหลานของป๋าหมื่นในปัจจุบัน เคล็ดลับความอร่อยกว่าสี่ชั่วคนนี้มาจากการที่ป้าเจ้าของร้านใช้เตาถ่านในการทำอาหาร ไม่ว่าจะผัด ทอด ต้ม หรือแม้แต่เผาก็ใช้เตาถ่านทั้งสิ้น อาหารที่ได้จึงหอมกลิ่นถ่านอวลๆ ต่างจากการทำอาหารด้วยเตาไฟฟ้าหรือเตาแก๊ส นอกจากจะพามากินอาหารร้านเด็ดประจำชุมชน ป๋าหมื่นยังพาผู้ร่วมงานระดับวีไอพีมาร่วมโต๊ะอีกสองคน คนหนึ่งเป็นกรรมการชุมชน ส่วนอีกคนเป็นสมาชิกชมรมแม่บ้านที่ทำอาหารเลี้ยงคนในชุมชนในวาระโอกาสพิเศษต่างๆ รวมทั้งโอกาสที่อยากจะทำเผยแผ่คนอื่นตามแต่อารมณ์และอัธยาศัย

กินไปป๋าหมื่นและผู้ร่วมโต๊ะอีกสองคนก็เล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชุมชนให้ฟังมากมาย ที่น่าประทับใจคือเรื่องราวเมื่อครั้งที่เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในชุมชนและเรื่องของการร่วมมือร่วมใจป้องกันน้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยเรื่องแรกเป็นเหตุการณ์ก่อนที่ป๋าหมื่นจะได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชน ขณะนั้น ชุมชนสวนสมเด็จย่ามีขโมยและการปล้นราว-ชิงทรัพย์มาก เมื่อมีเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ ทำให้ศาลเจ้าพ่อเสือ (หลังเก่า) และบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก ป๋าหมื่นจึงคิดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง กล้องวงจรปิด และสื่อเสียงตามสายขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในชุมชน แต่ความคิดนี้ก็มาพร้อมกับปัญหา เพราะการติดตั้งสิ่งต่างๆ ดังกล่าวต้องใช้เงินจำนวนมาก ถึงจะยื่นของบประมาณจากทางเขตคลองสานก็คงต้องใช้เวลานานและอาจได้รับงบประมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ป๋าหมื่นจึงตัดสินใจทำจดหมายขอความช่วยเหลือจากเจ้าของกิจการต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชน เป็นต้นว่าเจ้าของกิจการโรงน้ำปลาและกิจการเครื่องไฟฟ้า ผลตอบรับที่ได้นั้นดีเกินคาดคือได้รับเงินสนับสนุนมาราวหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่ป๋าหมื่นก็ต้องประหลาดใจอีกครั้งเมื่อชาวชุมชนที่รู้ข่าวการระดมทุนครั้งนี้ได้รวมเงินกันและนำมาสมทบทุนให้อีก รวมแล้วการระดมทุนครั้งนี้ได้เงินมากว่าเจ็ดแสนบาท สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตามที่คิดไว้ เหตุการณ์ไฟไหม้และการระดมทุนเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้แก่ชุมชนนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ความรัก ความสามัคคี และการร่วมมือร่วมใจ เสียสละเพื่อกันและกันของชาวชุมชนสวนสมเด็จย่าได้เป็นอย่างดี และยังเป็นที่มาของความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ป๋าหมื่นขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำชุมชนสวนสมเด็จย่าในเวลาต่อมาอีกด้วย

ส่วนเรื่องของการร่วมกันป้องกันน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ป๋าหมื่นเล่าสั้นๆ แต่แฝงไปด้วยความสุขใจว่า ครั้งนั้นเกือบทุกเขตและทุกชุมชนที่อยู๋ติดแม่น้ำเจ้าพระยาต่างประสบภัยน้ำท่วมถ้วนหน้า แต่ชุมชนสวนสมเด็จย่าเป็นหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ปลอดภัย เพราะชาวชุมชนร่วมมือกันป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่ต้น โดยการเสียสละแรงกายแรงใจช่วยกันสร้างคันกั้นน้ำจากกระสอบทรายทั้งที่บรรจุเองและที่ทางเขตคลองสานนำมามอบให้ในภายหลัง ใครที่มีบ้านหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำพวกโกดังเก็บสินค้าใกล้แม่น้ำก็ยินดีเสียสละพื้นที่ของตนให้เป็นคันกั้นน้ำ แม้แต่เรือนไทยโบราณหลังงามก็ถึงกับออกปากให้รื้อบางส่วนของเรือนทิ้งได้ หากจะช่วยกั้นน้ำไม่ให้เข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน แต่แน่นอนว่าในหมู่คนดีที่มีน้ำใจเสียสละก็ต้องมีคนเห็นแก่ตัวปะปนอยู่ ป๋าหมื่นยอมรับว่ามีสมาชิกชุมชนบางคนไม่ยอมให้ความร่วมมือในครั้งนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับสมาชิกคนอื่นๆ แต่ด้วยความที่อาศัยอยู่ร่วมกันมานานและคุ้นเคยกันมาในฐานะคนที่เติบโตมาในชุมชนเดียวกัน ทุกคนจึงพยายามข่มใจและยอมรับว่าอย่างไรก็ดีวิกฤตน้ำท่วมนั้นก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

หลังมื้ออาหารเที่ยงที่อิ่มอร่อยผ่านพ้นไป ป๋าหมื่นเดินย้อนกลับมาที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งขณะนั้นมี “สโมสร” รวมกลุ่มรอคอยให้ป๋าหมื่นมาร่วมเดินหมากกระดานกันอยู่ การเดินเที่ยวชมวิถีชีวิตและสถานที่สำคัญของชุมชนสวนสมเด็จจึงจำเป็นต้องยุติลง แต่ก่อนการจากลา ป๋าหมื่นยังหันกลับมาบอกว่า “จำเจ๊นิดที่ไปนั่งกินข้าวด้วยกันได้ไหม เดี๋ยวเย็นนี้เขาจะต้มไก่ใส่ปลาสลิดกินกัน ถ้ายังไม่กลับแวะมานะ อยากให้กิน เจ๊เค้าทำอร่อยจริงๆ”

แบ่งรับแบ่งสู้ไปว่าถ้ามีโอกาสจะแวะมาชิมฝีมือเจ๊นิดใจดีอย่างที่ชวน แต่ใจจริงนั้นอยากจะตอบป๋าหมื่นไปว่าการท่องเที่ยววันนี้อิ่มแสนอิ่ม ทั้งอิ่มท้องจริงๆ ด้วยอาหารหลากหลายเมนูที่ป๋าหมื่นใจดีเป็นเจ้ามือเลี้ยง อิ่มในการชื่นชมสถานที่เก่าแก่แสนสำคัญ และอิ่มอุ่นในความทรงจำ อิ่มในเรื่องเล่าของป๋าหมื่นที่แสดงให้เห็นว่าชาวชุมชนสวนสมเด็จย่าสมัครสมานสามัคคี มีน้ำใจช่วยเหลือกันและกันเพียงใด

เพราะรัก เพราะผูกพัน เพราะรู้จักที่จะมอบสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ชาวชุมชนสวนสมเด็จย่าจึงมีวันนี้ที่แข็งแกร่งได้ มิใช่หรือ?

giving04

สักวัน.. ผมจะเป็นแชมป์

giving03

สู่ความเขียวชอุ่มร่มเย็น

giving05

ยามเย็นของสี่เกลอ

giving06

แอโรบิคเพื่อสุขภาพ

giving07

แก๊งค์แฟนฉัน

giving09

“จ๊ะเอ๋! พี่เจอน้องแล้ว”

giving10

อ้อมกอดของต้นไม้ใหญ่

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี…สืบสานพระราชปณิธานแห่งการให้

หากความสุขใจของผู้ที่ติดอยู่ในทะเลทรายร้อนระอุและแห้งแล้งคือการได้พบโอเอซิส ความสุขใจของคนที่มาเยือนชุมชนสวนสมเด็จย่าก็มีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือการเรียนรู้วิถีชุมชนที่มีแต่การให้สิ่งดีๆ ต่อกัน และสองคือการได้พบโอเอซิส

ใช่แล้ว! สำหรับคนเมืองกรุงที่พบเห็นแต่ตึก ตึก และตึก การได้แวะพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวจี แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาที่แสนสบาย ก็คงเปรียบได้กับการพบโอเอซิสอันชุ่มชื่นท่ามกลางทะเลทราย

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่เรียกอย่างสั้นๆ ว่า “อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ” หรือ “อุทยานสมเด็จย่า” สร้างและดำเนินการมาเกือบยี่สิบปี โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์อาคารและสถานที่ในนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระราชชนนีไว้เป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลัง นายแดงและนายเล็ก นานา จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากต้นตระกูลคือเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ให้ทรงดำเนินการตามพระราชประสงค์ การก่อสร้างจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2536 และเปิดทำการอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2540 ปัจจุบัน อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะเข้ามาใช้เป็นพื้นที่ออกกำลังกายในยามเช้าและเย็น จะแวะเข้ามาเพียงเพื่อหลบไอแดดและความร้อนในยามบ่าย หรือจะตั้งใจเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม สถานที่แห่งนี้ก็ยินดีต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ

หลังจากที่เดินชมสิ่งก่อสร้างในเขตอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ ซากที่พักบริวารและบ่อน้ำโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่ที่บริเวณนี้ยังเป็นบ้านของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาธิบดี โรงครัวที่ได้รับการดัดแปลงให้เป็นหอศิลปะและอาคารอเนกประสงค์ และแผ่นหินขนาดใหญ่จารึกพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อุณหภูมิที่พุ่งสูงในตอนบ่ายก็เป็นตัวกระตุ้นให้เท้าทั้งสองข้างกึ่งเดินกึ่งวิ่งเข้าไปหลบในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ไม่ไกลนัก เมื่อความร้อนและความเหนื่อยล้าเริ่มจางหาย สายตาก็เริ่มสำรวจและเรียนรู้นิทรรศการที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์อย่างสนใจ และนับเป็นโชคดีที่พี่ต้อย หรือคุณสมบัติ แย้มอุทัย เจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ยินดีพูดคุยและให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้

พี่ต้อยให้ข้อมูลว่าคนที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นคนที่เข้ามาอย่างเต็มใจและตั้งใจที่จะมาศึกษาพระราชประวัติตลอดจนพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอย่างแท้จริง ประเภทของคนที่เข้าชมนั้นก็หลากหลาย ทั้งเด็ก หนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยทำงาน แต่อาจเพราะทางอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เข้าร่วมโครงการ “สร้างแรงใจ ให้ความรู้ สู่เยาวชน” ที่จัดโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้เข้าชมที่มีโอกาสแวะเวียนมาบ่อยที่สุดจึงเป็นคณะนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศที่ไม่เพียงเข้ามาศึกษาข้อมูลส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่ยังได้ทำกิจกรรมตามรอยพระราชจริยวัตรของพระองค์ เช่น การประดิษฐ์งานฝีมือจากดอกไม้แห้ง เมื่อถามต่อไปว่าในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะใจกลางชุมชนสวนสมเด็จย่า มีคนจากชุมชนเข้ามาศึกษาหาความรู้ภายในพิพิธภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน คำตอบที่ได้รับคือมีแต่เป็นจำนวนน้อย เพราะอาชีพส่วนใหญ่ของชาวชุมชนคือการค้าขายที่เริ่มต้นเมื่อเช้าตรู่และสิ้นสุดเมื่อพลบค่ำ เวลาในแต่ละวันจึงหมดไปกับการประกอบอาชีพ ดังนั้น คนในชุมชนที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงเป็นนักเรียนที่เข้ามาหาข้อมูลประกอบการเรียนหรือการทำรายงาน รวมทั้งเด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งเข้ามาเพราะหวังไอเย็นจากเครื่องปรับอากาศ อย่างไรก็ตาม พี่ต้อยเสริมว่ากิจกรรมอื่นๆ ที่ทางอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกิจกรรมมุมหนังสือสำหรับปลูกฝังความรู้และนิสัยรักการอ่านให้แก่เยาวชน ที่เด็กๆ ในชุมชนสวนสมเด็จย่าชื่นชอบมากกับการได้มีพื้นที่อ่านหนังสือ ทำการบ้าน และได้ชมภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่ตนเองสนใจ เมื่อภาพยนตร์ที่ฉายจบลง ยังได้มีโอกาสฝึกนิสัยการกล้าแสดงออกด้วยการฝึกแสดงความคิดเห็น พูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้รับชม และได้ฝึกวาดภาพ ระบายสีตามจินตนาการของแต่ละคน

คำถามสุดท้ายก่อนที่การสนทนาจะสิ้นสุดลงเป็นเรื่องของปัญหาการศึกษาความรู้ในพิพิธภัณฑ์ ที่พี่ต้อยสังเกตและชี้ให้เห็นว่า บางครั้ง นิทรรศการที่จัดแสดงเพียงภาพถ่ายหรืออุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ อาจจะไม่ตอบสนองต่อความสนใจของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะภาพถ่ายที่ชมได้เพียงชั่วครู่ ความสนใจก็หมดลง ซึ่งปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนของนิทรรศการ รวมถึงการเพิ่มสื่อต่างๆ เข้ามาสร้างสีสันและความน่าสนใจให้แก่ผู้เข้าชม พี่ต้อยเชื่อว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ผู้เข้าชมจะมีความสุขกับการศึกษาความรู้ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็จะสามารถเข้าใจและรับรู้ถึงพระราชปณิธานตลอดจนพระราชจริยวัตรที่งดงามของสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ง่ายและชัดเจนขึ้น ในท้ายที่สุด พี่ต้อยแนะนำเพิ่มว่าหากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่ทางอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน ต้องหาโอกาสแวะไปพูดคุยกับพี่ตาที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการจัดกิจกรรม

ได้รับคำแนะนำที่ดีขนาดนี้จะไม่ทำตามก็ดูจะน่าเสียดาย หลังเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ เป้าหมายที่เท้าทั้งสองข้างรีบมุ่งไปหาจึงเป็นอาคารอำนวยการของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “วิชาคาร” ทันทีที่เข้าไปถึงก็ได้พบพี่ตาที่เพิ่งเสร็จธุระจากการดูแลขั้นตอนขัดล้างแผ่นหินจารึกพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แม้จะมีท่าทางเหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่พี่ตาก็ยินดีเสียสละเวลาพูดคุยอย่างเต็มใจ

พี่ตา หรือคุณปัทม์ ชัยศิลป์ แนะนำตนเองในฐานะรองผู้จัดการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ  หลังเกริ่นความเป็นมาของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ อีกครั้งพอสังเขป พี่ตาได้เสริมว่าอุทยานแห่งนี้ดำเนินงานบนพื้นฐานของการเป็นผู้ให้ ตามรอยพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ตลอดพระชนม์ชีพทรงเป็นพระผู้ให้ความสุข ความรู้ และความอบอุ่นใจแก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ กิจกรรมที่จัดขึ้นจึงแบ่งได้เป็นสองประเภท หนึ่งคือกิจกรรมพิเศษ จัดนิทรรศการในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในวันที่ 18 กรกฎาคม และจัดงาน “น้อมรำลึกถึงสมเด็จย่า ณ นิวาสสถานเดิม” ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพคือวันที่ 21 ตุลาคม รวมทั้งงานวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ ส่วนประเภทที่สองคือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังเยาวชนและการช่วยเหลือสังคม เช่น การจัดงานวันเด็กแห่งชาติและกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ ที่ส่งเสริมให้เด็กได้ศึกษาพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีไปพร้อมๆ กับการรับความรู้เรื่องวิถีชีวิตแบบพอเพียง การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการเป็นหน่วยงานที่ประชาสัมพันธ์เรื่องการรับบริจาค การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในวาระโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอบรมทักษะทางอาชีพให้แก่ชาวชุมชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจ เป็นต้นว่า ฝึกการทำอาหารและขนม การจัดดอกไม้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ มาเป็นวิทยากรโดยตรง

อย่างไรก็ตาม พี่ตากล่าวว่าการพยายามสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนด้วยการเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ จัดขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมเกี่ยวกับการอบรมทักษะความรู้ ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการเชิญชวนให้ชาวชุมชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ สาเหตุของปัญหาก็มีที่มาจากวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพที่ต้องค้าขายตลอดทั้งวัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พี่ตาจึงได้ร่วมพูดคุยกับป๋าหมื่น ผู้นำชุมชนและได้ข้อสรุปว่า เมื่อชาวชุมชนสวนสมเด็จย่ามีพื้นฐานของการเป็นผู้ให้ที่ดี กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ชาวชุมชนยินดีที่จะเข้าร่วมจึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบริจาคทั้งสิ่งของและเงิน เช่น กิจกรรม “ธรรมะในอุทยานฯ” ที่เปิดโอกาสให้ชาวชุมชนได้ร่วมเปิดโรงทาน ทำอาหารเลี้ยงผู้ที่ร่วมฟังธรรมจากพระอาจารย์อลงกตแห่งวัดพระบาทน้ำพุ รวมทั้งได้บริจาคสิ่งของและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของวัด หรือการเชิญชวนให้ชาวชุมชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลและช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในด้านอาหาร การเดินทาง ตลอดจนการเข้าชมอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แก่เยาวชนที่ด้อยโอกาสของโรงเรียนศรีสังวาลย์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระบรมราชูปถัมภ์ ในขณะเดียวกัน ทางอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ก็ได้จัดกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์และให้ความสุขแก่ชาวชุมชนสวนสมเด็จย่าด้วยการเชิญชวนให้เข้ามาเปิดซุ้มขายสินค้าและอาหารในโอกาสการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรม “ดนตรีในอุทยานฯ” และ “คอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า” ที่นอกจากจะมอบความสุขจากเสียงเพลงให้แก่ชาวชุมชนแล้ว ยังมอบโอกาสให้การออกร้าน เพิ่มรายได้พิเศษให้แก่ผู้ประกอบอาชีพค้าขายในชุมชนอีกด้วย

การพูดคุยกับพี่ตาแม้จะใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่ความประทับใจที่ได้รับจากเรื่องราวของการสนทนานั้นมหาศาลและยังคงค้างอยู่ในความทรงจำเรื่อยมา สิ่งที่พี่ตาบอกเล่ายิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าพื้นที่เล็กๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตคลองสาน ฝั่งธนบุรีฯ ที่มีชื่อว่า “ชุมชนสวนสมเด็จย่า” นั้นเป็นพื้นที่แห่งการให้ที่ไม่สิ้นสุดอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นชาวชุมชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการเสียสละซึ่งเป็นการให้อย่างไม่หวังผลตอบแทน หรืออุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ให้ทั้งอากาศที่สดชื่นและร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของสถานที่สำคัญๆ ในเขตคลองสาน ให้ทักษะความรู้ทางอาชีพและรายได้ที่สำคัญแก่ชาวชุมชน ให้พื้นที่ในการเรียนรู้ ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนให้โอกาสในการให้ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นการส่งเสริมการให้จากรุ่นสู่รุ่น ที่ยังคงอยู่ ไม่มีวันสิ้นสุดไปตามกาลเวลา.