ไกรวุฒิ จุลพงศธร

therocket01

๒๕๕๖ ถือเป็นปีทองของหนังอิสระไทยก็ว่าได้ เพราะว่าหนังนอกระบบหลายเรื่องพาเหรดกันสร้างสีสันทั้งตลาดในประเทศและเทศกาลหนังสำคัญของโลก ตัวอย่างหนังกลุ่มที่ฉายไปแล้ว ได้แก่ Boundary (ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง) ของผู้กำกับฯ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ที่โด่งดังขึ้นมาหลัง (เกือบ) ถูกแบน ตั้งวง ของผู้กำกับฯ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่กวาดเสียงชื่นชมมากมายและออกฉายในวงกว้าง Karaoke Girl ของผู้กำกับฯ วิศรา วิจิตรวาทการ

นอกจากนี้ยังมีหนังที่เปิดตัวในเทศกาลไปแล้วและกำลังรอจังหวะฉายในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น By The River สารคดีอีกเรื่องของนนทวัฒน์ Mary Is Happy, Mary Is Happy งานใหม่ของผู้กำกับฯ ที่โด่งดังจากหนังเรื่อง 36 นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ The Isthmus (ที่ว่างระหว่างสมุทร) โดยฝีมือของ โสภาวรรณ บุญนิมิตร และ พีรชัย เกิดสินธุ์ อาจารย์สอนภาพยนตร์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ Concrete Clouds หนังที่เฝ้ามองสภาพชีวิตในวิกฤตต้มยำกุ้งผลงานของ ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อชื่อดัง และ เซ็นเซอร์ต้องตาย บันทึกการต่อสู้เรียกร้องให้ปลดปล่อยการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ โดยผู้กำกับฯ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ มานิต ศรีวานิชภูมิ

ที่ร่ายมาทั้งหมดนี้จุดเสียดเย้ยอยู่ที่แม้จะมีหนังอิสระมากขนาดนี้ แต่หนัง (กึ่ง) ไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดในสายตาคนดูหนังโลกช่วงนี้กลับได้แก่หนังเรื่อง The Rocket

therocket03

The Rocket หรือชื่อลาวว่า บั้งไฟ เป็นหนังที่ผู้กำกับฯ และทุนสร้างมาจากประเทศออสเตรเลีย เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศลาว ถ่ายทำในประเทศไทย และใช้นักแสดงไทยและลาวผสมกัน ตัวละครในหนังพูดภาษาลาวก็จริง แต่ก็เป็นสำเนียงลาวที่ไทยฟังได้แบบไม่ต้องอ่านบทบรรยาย หนังเรื่องนี้ถือหลายสัญชาติ บางแหล่งข้อมูลให้เป็นหนังลาว-ออสเตรเลีย บางแหล่งข้อมูลให้เป็นหนังสามสัญชาติเลย และถึงแม้ว่าจะไม่มีฉากในออสเตรเลียและไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเลย แต่นี่คือหนังที่ประเทศออสเตรเลียคัดเลือกเป็นตัวแทนส่งประกวดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศถามว่าแปลกไหม หลังดูหนังจบแล้วผู้เขียนคิดว่าไม่แปลกเลย และออกจะเหมาะสม

อย่างแรกก็คือ ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นหนังเรื่องนี้เดินหน้าด้วยวิสัยทัศน์ของคนต่างชาติมากกว่าคนท้องถิ่น สมมุติว่าถ้าหนังไทยจะทำเรื่องเกี่ยวกับเด็ก คนทำหนังไทยก็มักจะไม่ขับเน้นความงามแปลกตาจากความต่างวัฒนธรรม (exotic) เช่นหนังไทยถ้าจะมีฉากเด็กว่ายน้ำในเขื่อน ก็คงถ่ายเด็กว่ายน้ำในแม่น้ำจริงๆ เท่านั้น แต่หนังที่มาจากวิสัยทัศน์ของออสเตรเลียเรื่องนี้ มีฉากตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ยืนเทียบกับเขื่อนที่ใหญ่โตมโหฬาร จากนั้นเด็กเดินขึ้นไปบนเขื่อนที่ถ่ายด้วยทิวทัศน์ที่ทรงพลัง แล้วกระโดดลงไปในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ดำน้ำไปพบซากหมู่บ้านและเศียรพระพุทธรูปที่จมอยู่ใต้น้ำ

The Rocket มีความแปลกตาทำนองนี้ตลอดทั้งเรื่อง ในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่สวยเกินจริงและลดทอนความซับซ้อน แต่ในอีกแง่ก็ช่วยทำให้คนเข้าใจง่ายและตื่นตาตื่นใจ อย่างไรก็ดีผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับจุดนี้มากนัก เพราะหนังเองก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าตัวเองเป็นคนท้องถิ่น เช่นไม่ได้มีเสียงบรรยายความคิดจากตัวละครหลัก หรือไม่ได้บอกว่านี่คือเหตุการณ์จริง หนังมีลักษณะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่โดยใช้โครงสร้างแบบสูตรที่คนดูคุ้นชิน แต่ขณะเดียวกันสูตรที่คุ้นชินก็ถูกทำให้ดูใหม่ขึ้นมาด้วยรายละเอียดทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดจากการวิจัยที่ดี

ความโดดเด่นของ The Rocket คือการเลือกลดทอนและขับเน้นองค์ประกอบต่างๆ แล้วจับให้มันเข้าสูตรของโครงเรื่องแนวสู้เพื่อฝัน จนทำให้หนังออกมาเป็นสากล

พูดง่ายๆ คือนี่เป็นหนังที่ “น่าจะ” เข้าใจง่ายมาก คนดูสามารถเป็นได้ตั้งแต่เด็ก ๘ ขวบยันคนแก่อายุ ๘๐ และต่อให้เป็นผู้ชมต่างชาติที่ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสังคมลาวมาก่อนเลยก็สามารถดูสนุกได้

ความเป็นสากลนี้ได้รับการพิสูจน์ด้วยการที่หนังคว้ารางวัลจากเทศกาลเบอร์ลินถึงสามรางวัล คือ รางวัลหมีแก้ว (หนังสำหรับเยาวชน) รางวัลผู้กำกับฯ หน้าใหม่ และรางวัลจากแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) นอกจากนี้หนังยังคว้ารางวัลขวัญใจมหาชนจากเทศกาลที่เมลเบิร์น ซิดนีย์ และไทรเบกา อีกด้วย (หนังที่ได้รางวัลจากการโหวตของผู้ชมติดกันสามเทศกาลถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก)

The Rocket จึงคล้ายๆ กับหนังขวัญใจมหาชนอีกสองเรื่อง คือ Whale Rider และ Beast of the Southern Wild หนังกลุ่มนี้ใช้โครงสร้างการเล่าเรื่องที่เข้าใจง่าย เล่าเรื่องของชนกลุ่มน้อย แต่สามารถเข้าใจเป็นสากล มีวัฒนธรรมที่ดูแปลกตาแก่สายตาชาวโลก และเล่าเรื่องผ่านเด็กกับการแสดงที่กุมหัวใจคนดู

 

The Rocket เล่าเรื่องของอาโล (ด.ช. สิทธิพล ดีเสมอ นักแสดงชาวไทย) เด็กชาวเขาเผ่าหนึ่งของลาว เผ่านี้มีความเชื่อว่าถ้าเด็กฝาแฝดถือกำเนิดให้ฆ่าทิ้งเสีย เพราะคนหนึ่งจะเป็นตัวโชค อีกคนจะเป็นตัวซวย ฝาแฝดของอาโลตายตั้งแต่คลอด ส่วนอาโลนั้นแม่ขอชีวิตไว้ไม่ให้ยายฆ่าทิ้ง

อาโลอาศัยอยู่ในบ้านป่ากับพ่อ แม่ และยาย แต่แล้วเมื่อทางรัฐบาลลาวต้องการสร้างเขื่อน พวกเขาจึงถูกไล่ที่โดยรัฐสัญญาว่าจะมีบ้านคอนกรีตอย่างดีให้ แต่เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่รัฐเตรียมไว้คือค่ายพักซอมซ่อที่ชาวเขาหลายๆ เผ่าถูกหลอกให้มาอาศัยอยู่รวมกัน

เมื่อแม่ของอาโลเสียชีวิต รวมทั้งอาโลก็ไปมีเรื่องกับชาวเขาคนอื่น นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยน เพราะ หนึ่ง มันยิ่งย้ำความเชื่อว่าอาโลเป็นตัวซวย และ สอง มันทำให้ครอบครัวของเขาต้องเดินทางข้ามพรมแดนลาวเพื่อตามหาที่ดินให้ครอบครัวได้ปักหลักทำมาหากิน จนกระทั่งพวกเขาเดินมาถึงหมู่บ้านหนึ่งซึ่งกำลังจะมีงานบุญบั้งไฟ อาโลจึงวาดหวังว่าจะชนะการแข่งบั้งไฟเพื่อครอบครัวจะได้มีเงินไปตั้งตัว และเพื่อลบล้างชะตากรรมตัวซวยของเขา

แกนกลางของหนังคือสูตรสู้เพื่อฝัน เรื่องของคนซวยๆ ที่ยิ่งแข่งก็ยิ่งแพ้ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้โชคเข้าข้างเขาบ้าง ถึงแม้เป็นหนังสูตรสำเร็จ แต่ผู้เขียนยอมรับว่าหนังทำได้ดี เพราะในตอนหลังหนังทำให้เราลุ้นจริงๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ทั้งๆ ที่ตลอดมาเรามั่นใจอยู่แล้วว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้)

อาโลไม่ได้เดินทางและต่อสู้ร่วมกับครอบครัวของเขาเพียงลำพัง แต่ยังมีเพื่อนร่วมทางเป็นคุณลุงเสื้อม่วง (เทพ โพธิ์งาม) และเด็กสาวกำพร้าอีกคนหนึ่ง ตัวละครเหล่านี้ยิ่งเพิ่มความเป็นคนขี้แพ้สู้เพื่อฝันให้แก่หนัง

therocket02

 

คุณลุงเสื้อม่วงเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดตัวที่ ๒ ของหนัง การแสดงของเทพในเรื่องนี้วิเศษสุดและอาจเป็นฝีมือการแสดงอันดับต้นๆ ในอาชีพอันยาวนานของเขา

ขณะที่ผู้กำกับฯ ชาวไทยชอบเลือกนักแสดงตลกมาเล่นเป็นตัวเอง หรือมาแสดงตลก โดยไม่ได้สวมบทเป็นตัวละครอย่างจริงจัง แต่ผู้กำกับฯ ต่างชาติซึ่งมิได้มีมายาคติว่า เทพ โพธิ์งาม เป็นใคร เลือกเขาในฐานะนักแสดงที่มารับบทบาทหนึ่ง เทพจึงถูกกำกับฯ ให้ออกมาในแบบที่เราไม่เคยเห็น

เทพเล่นเป็นชายที่ใส่เสื้อสูทสีม่วงตลอดเวลา หนังค่อยๆ เปิดปมว่าเขาเป็นทหารผ่านศึกที่ไม่เหลืออะไรในชีวิต วันๆ เอาแต่เปิดฟังเพลง ดูภาพ และเต้นตามเพลงของ เจมส์ บราวน์ นักร้องผิวสีชื่อดัง หนังมีฉากที่เทพต้องเต้นเลียนแบบและมีมาดเท่เหมือนเจมส์ บราวน์ ขณะที่ภายนอกมีสีสันฉูดฉาด แต่ตัวละครนี้กลับมีแผลรุนแรงที่สุดของเรื่องก็ว่าได้ (บทคุณลุงเสื้อม่วงนี้ถ้าเป็นหนังอเมริกันคงเป็นบทที่หวังเข้าชิงออสการ์ได้อย่างสบาย)

นั่นเพราะว่า The Rocket ในที่นี้มิได้หมายถึงแค่บั้งไฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงจรวดและกับระเบิด ซึ่งมีอยู่ทุกหนทุกแห่งที่ตัวละครเดินทางไป เทพคืออดีตทหารเยาวชนที่เคยร่วมมือกับรัฐบาลอเมริกันเพื่อถล่มประเทศตัวเอง และตอนนี้เขาก็ไปไหนไม่รอด กลายเป็นคนซังกะตายที่ฝันกลางวันไปกับวัฒนธรรมอเมริกันจากอดีต

บทชายเสื้อม่วงของเทพจึงเป็นกระจกสะท้อนให้แก่ตัวละครอาโล เพราะทั้งสองคนคือ “จัณฑาล” ในสังคมของเขา ขณะเดียวกัน พวกเขาก็คือทหารแห่งยุคสมัยของตน คนหนึ่งเป็นทหารจริงๆ ที่ต่อสู้ในสมรภูมิของอดีต อีกคนหนึ่งเป็นทหารชีวิตที่ต้องต่อสู้กับปัญหาชนกลุ่มน้อยในลาวปัจจุบัน

การที่ทั้งสองกลายเป็นมิตรกันจึงเป็นการผูกเรื่องที่งดงามมาก และไม่น่าแปลกใจที่ท้ายที่สุด หลังจากทยอยไล่ปิดความสัมพันธ์ระหว่างอาโลกับตัวละครอื่นๆ ไปทีละตัว หนังเลือกที่จะเก็บชายเสื้อม่วงไว้เป็นตัวละครสุดท้าย

เพราะ The Rocket คือเรื่องของอดีตและอนาคต