ผลงานภาพดีเด่นจาก ค่ายสารคดีครั้งที่ 9
พุทธิพงศ์ อึงคนึงเวช : เขียน
กฤษฏิญา ไชยศรี : ภาพ

lamthong1

lamthong2
lamthong3
lamthong4
lamthong5
lamthong6
lamthong7
lamthong8
lamthong9
lamthong10
lamthong11
lamthong12
lamthong13
lamthong14
lamthong15
lamthong16
lamthong17
lamthong18
lamthong19
lamthong20
lamthong21
lamthong22
lamthong23

 

“คงได้แต่รอคอยความเปลี่ยนแปลง” – ภายในชุมชนที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และจัดว่าเป็นชุมชนกึ่งอนุรักษ์อย่างสวนสมเด็จย่าแห่งนี้ คงไม่ผิดแผกนักหากจะกล่าวว่าการดำรงสภาพเดิม รักษาวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเอาไว้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นยิ่ง หากแต่น้ำเสียงอ่อนระโหยที่ปะปนอยู่ในถ้อยคำของคุณอา กิตติ มคะปุญโญ เจ้าของโรงเกลือแหลมทอง กำลังบ่งบอกถึงอีกด้านหนึ่งของความในใจ ที่หลบเร้นอย่างเงียบเชียบมานานตั้งแต่ครั้งอดีต เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมโม่เกลือที่เคยรุ่งโรจน์ จนถึงวันที่เหลือเพียงซากเก่าเก็บจากความทรงจำ และอาจขัดแย้งกับความเข้าใจของผู้มาเยือนชั่วคราวหลายๆคน

 

ความเค็มที่แตกต่าง

คุณอากิตติเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ย้ายมาจากชุมชนในย่านทรงวาด ประมาณปี 2534 เพื่อมาช่วยทำงานที่โรงเกลือแหลมทอง ก่อนจะสืบทอดธุรกิจจากพ่อของเขา “ก่อนหน้าที่พ่อจะมาซื้อที่นี่ แล้วทำโรงเกลือที่เน้นการส่งออก เจ้าของคนเก่าเขาใช้ชื่อโรงเกลือ ‘แบเทียมเอี๋ย’ หลังจากนั้นคุณพ่อกับเพื่อนๆก็มาเปลี่ยนชื่อเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เกลือแหลมทอง” ในยุคที่ประเทศไทยยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัว นาเกลือยังเป็นอาชีพที่เกษตรกรนิยมทำกันในจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล คุณอากิตติกล่าวด้วยความภูมิใจ เคล้าเสียงหัวเราะว่า “แต่ก่อนธุรกิจส่งออกเกลือไปได้ดีมาก เมืองนอกสั่งมาผลิตแทบไม่ทันเลย” แตกต่างกับภาพที่เห็นในวันนี้อย่างสิ้นเชิง โรงเกลือแหลมทองปิดตัวลงไปนานนับทศวรรษแล้ว เหลือให้เห็นเพียงโรงงานไม้เก่าๆ ที่มีเครื่องจักรที่ใช้โม่เกลือนิ่งสนิทอยู่ภายใน หยากไย่ที่เกาะไปตามราวเหล็ก และกระสอบบรรจุเกลือเม็ดที่มีอยู่ไม่ถึงห้าสิบถุงนั้นเป็นประจักษ์พยานที่บอกเล่าเรื่องราวอดีตโรงเกลือที่เคยเฟื่องฟูที่สุดในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

“เกลือมาจากท้องนามันก็เป็นเกลือธรรมชาติไม่ใช่เกลือบริสุทธิ์ เขาจะทำที่นาแบ่งไว้เป็นล็อคๆ แล้วก็ปล่อยน้ำทะเลเข้ามา แบ่งเป็นสี่ล็อค ไหลเข้ามา พอน้ำงวดแห้งไป มันจะเหลือประมาณสองล็อค แล้วก็แห้งไปอีกก็เหลือประมาณล็อคเดียว ซึ่งเขาจะปล่อยให้เป็นเกลือ แล้วก็แซะเป็นดินขึ้นมาคล้ายภูเขาลูกเล็กๆ หาบเข้ายุ้งเก็บไว้ หากมีการขายก็จะส่งขึ้นเรือ เข้ากรุงเทพฯ มาขึ้นที่หน้าโกดัง แล้วจะมีสายพานลำเลียงเข้ามา ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะใช้คนแบก ส่วนหนึ่งที่เป็นเกลือเม็ดจากท้องนาก็อาจจะขายเลย ตามแต่เมืองนอกจะสั่ง ที่เหลือก็อาจจะนำมาโม่อีกทีนึง ถ้าโม่หยาบๆเรียกว่า ‘เกลือปลา’ เพราะใช้สำหรับดองปลา อาหารต่างๆ ถ้าโม่ละเอียดจะเรียกว่า ‘เกลือป่น’ ” คุณอากิตติพยายามอธิบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เราเข้าใจกระบวนการทั้งหมดของการผลิตเกลือทะเล เขาสบตากับเราเป็นระยะคล้ายตรวจสอบระดับสมาธิในการติดตามเนื้อหา เว้นจังหวะหายใจ กล่าวต่อว่า “พอเรือมาจากท้องนา เราจะเอามาล้างน้ำก่อน แล้วก็นำไปโม่หิน คล้ายๆโม่แป้งสมัยก่อนแต่เราใช้เครื่องจักร โม่เสร็จก็นำมาล้างอีกที จะมีกระพ้อสีขาวๆตักขึ้นไปให้มันสะเด็ดน้ำ แล้วก็ใส่เข้ายุ้ง ปล่อยไว้สามสี่วันให้แห้ง หลังจากนั้นให้คนงานมากระเทาะออก ใส่กระสอบ แล้วก็นำไปขาย” คุณอากิตติกล่าวว่ากระบวนการดังกล่าวยากกว่าการผลิตเกลือสินเธาว์ หรือเกลือที่มาจากภาคอีสานที่ผลิตโดยบริษัทใหญ่ๆในปัจจุบัน “ถ้าเป็นเกลือสินเธาว์ จะเป็นการขุดน้ำบาดาลที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาต้ม อาจเรียกเกลือต้ม เป็นขั้นแรก แล้วก็ทำคล้ายๆนาเกลือ แต่ปูพลาสติก เพราะนิยมทำกันในภาคอีกสานที่ดินไม่อุ้มน้ำ ช่วงหลังก็ตีเป็นซีเมนต์เลย ปล่อยให้แห้ง แล้วก็เป็นเกลือเม็ดขึ้นมา เป็นเกลือเม็ดอีสาน แล้วก็ขายเลย”

แต่แม้ว่ากระบวนการผลิตของเกลือสินเธาว์จะรวดเร็วกว่าเกลือทะเล สรรพคุณของเกลือทะเลกลับดีกว่าเกลือสินเธาว์ในแง่ของแร่ธาตุซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเกลือนอกจากความเค็ม “เกลือสินเธาว์ไม่ต้องโม่หรอก เพราะถ้าเขาจะใช้เกลือเม็ดละเอียดก็จะใช้เกลือต้ม แต่ตอนนี้มีบริษัทอาซาฮี ของปรุงทิพย์ไปตั้งโรงงาน สูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมา แล้วเข้าเครื่องอบแห้ง ออกมาเป็นปรุงทิพย์เลย” คุณอาเน้นเสียงราวกับจะแสดงให้เห็นความอยุติธรรมบางอย่างในความแตกต่าง “แต่สารอย่างอื่นจะไม่มีเลย สกัดเอาแต่โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมโพแทสเซียมไม่มี อาจจะมาใส่ไอโอดีนทีหลัง แร่ธาตุต่างๆจะไม่เหมือนเกลือทะเล แล้วยังใส่สารกันชื้นด้วย ทิ้งไว้นานแค่ไหนก็จะขาววิ้งตลอด แต่ถ้าเกลือทะเลทิ้งไว้นานๆจะออกสีเหลือง แต่ถ้าถามว่าให้เลือกใช้ในครัวเรือน เขาก็จะเลือกเกลือปรุงทิพย์อยู่แล้ว เพราะความขาว ความบริสุทธิ์มันต่างกัน”

 

เม็ดฝนปะทะเม็ดเกลือ

ก่อนที่เกลือปรุงทิพย์ ที่ผลิตโดยบริษัทอาซาฮีจะกลายเป็นเจ้าตลาดเกลือป่นอย่างเช่นทุกวันนี้ เกลือทะเลที่ประเทศไทยเคยเป็นผู้นำด้านการส่งออกเหนือ ประเทศต่างๆในอาเซียนก็ประสบปัญหาด้านราคาอยู่ก่อนแล้ว “มันเปลี่ยนแปลงไปเพราะว่ามันมีช่วงสองสามปีที่เดือนมีนาคมถึงเมษายนมีฝนตกมากเลย ที่เขาเรียก “ฝนพันปี” หรืออะไรทำนองนั้น ตั้งแต่นั้นราคาเกลือก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ” แววตาของคุณอากิตติเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมเกลือที่เปลี่ยนแปลง เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ผลิกผันชีวิต และแน่นอนว่าประทับรอยแผลที่ตรึงแน่นในความทรงจำ ”พอฝนตก คนทำนาเกลือก็ทำเกลือได้น้อย เขาก็เรียกราคาขึ้นมาเรื่อย เราก็ต้องซื้อแพงขึ้นเรื่อยๆ พอถึงระยะนึง มีช่วงที่เกลือในประเทศไม่พอ เราก็ต้องสั่งเกลืออินเดียเข้ามา นอกจากนี้แล้วเราก็ไม่มีเกลือพอที่จะส่งด้วย”

คุณอากล่าวว่า การที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูการ ตั้งแต่ประมาณปี 2528 เป็นจุดเริ่มต้นของความผันผวนด้านการส่งออกเกลือ ทำให้เราส่งออกได้น้อยลง แต่ที่ยังดำเนินกิจการได้เพราะความได้เปรียบด้านสายการเดินเรือ “พอฝนตก เกลือก็แพงขึ้น หยุดไปสักพัก ก็ตกอีก แพงขึ้นอีกราคาไม่หยุดนิ่ง ต่างชาติก็เริ่มหาช่องทางจากประเทศอื่น เขาก็ไปดูเกลือเวียดนาม เกลืออินเดีย ช่วงนั้นราคาอยู่ที่ 500-600 ต่อเกวียน ขณะที่ของเราอยู่ที่ 2,200 ต่อเกวียน แต่มันก็มีข้อเสีย คือเกลืออินเดียต้องสั่งเหมาลำทุกครั้ง เพราะไม่มีสายการเดินเรือผ่าน ของเรามีเรือเดินทะเลไปมาเลเซีย สิงคโปร์ มันจะสะดวกกว่า”

นอกจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนอันทำให้เกิดการเก็งราคาระหว่างคนทำนาเกลือและพ่อค้าคนกลางแล้ว คุณอาเล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เกษตรไทยนิยมหันไปลงทุนทำนากุ้งกันเยอะ ทำให้พื้นที่ทำนาเกลือลดลง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อโรงเกลือ “ชาวนาพอมีช่วงได้ราคาดีแล้วก็มีเงินเก็บ บางส่วนเก็บเกลือไว้เพื่อเก็งราคา แต่ก็มีบางส่วนที่ไปฮิตทำนากุ้ง ที่นาก็ลดลง แต่ความต้องการเกลือเท่าเดิม พอทำนากุ้งไม่เป็นผลดี ที่นาโดนธนาคารยึด บางที่ก็ขึ้นเป็นรีสอร์ท ที่จะทำนาเกลือก็ลดลง”

 

จาก “อาซาฮี” ถึงจุดจบ –

“บริษัทเล็กๆอย่างเราก็แข่งไม่ไหว จะส่งออกเองก็ไม่ได้ แต่จะรับของเขาไปขายต่อก็ไม่คุ้ม”

หลังจากนั้นไม่นาน บริษัทอาซาฮีก็ตัดสินใจลงทุนเปิดโรงงานผลิตเกลือสินเธาว์ในภาคอีกสาน ทำให้อุตสาหกรรมเกลือที่ประสบปัญหาด้านต่างๆอยู่แล้ว มีสภาวะย่ำแย่ลงไปอีก “ตอนที่เกลืออีสานเริ่มมีมาก ก็อยู่ในช่วงที่เกลือทะเลเริ่มแพงแล้ว ก็แน่นอนว่าเขาหันไปนำเกลืออีสานมาใช้แทนเยอะ ชุมชนที่รถเข้าได้ก็นำมาส่งขายกันในท้องถิ่น มันถูกอยู่แล้วตั้งแต่แรกบวกกับทางนี้เกลือขาด ก็เรียกจากทางนู้นมากขึ้น ทำให้การต้มเกลือในช่วงแรกต้องเร่งทำมากขึ้น พอต้องเร่งทำก็เกิดการถางป่า นำไม้มาเป็นฟืนใช้ในกระบวนการผลิต พอค้าที่ไปซื้อมาจากอีสานแล้วขายต่อ ก็เก็งราคาไว้เพราะเกลือเป็นที่ต้องการมาก เพราะเป็นเกลือที่ใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การดองหนัง ทำโซดาไฟ โรงงานย้อมผ้า ส่วนเกลือทะเลที่มีอยู่ก็แพงอีก จากราคาน้ำมัน การขนส่งต่างๆ ผสมกับการที่อุตสาหกรรมดองผักต้องใช้เกลือทะเลอย่างเดียว

พอราคาโยนกันไปโยนกันมาอย่างนี้ อุตสาหกรรมใหญ่ก็ได้เปรียบ อาซาฮีก็ตั้งโรงงานของเขาทำโซดาไฟด้วย ซึ่งเขาก็ได้ประโยชน์” คุณอากล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ราวกับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติของธุรกิจ “หลังจากเปิดโรงงานได้ไม่นาน เขาก็ได้การรับรองมาตรฐาน BOI ซึ่งทำให้ได้ค่าลดหย่อนต่างๆ เยอะแยะมากมาย เพราะรัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนการส่งออกอยู่แล้ว แต่ขณะนั้นบริษัทเล็กๆอย่างเราก็แข่งไม่ไหว จะส่งออกเองก็ไม่ได้ แต่จะรับของเขาไปขายต่อก็ไม่คุ้ม” คุณอากล่าวตัดพ้อว่า โอกาสของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก เพราะรัฐบาลพร้อมจะส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลทางอ้อมทำให้บริษัทขนาดเล็กอยู่ได้ยากขึ้นทุกที “แค่เขาได้ BOI ก็ได้ลดหย่อนภาษีเยอะแยะแล้ว เขาขายในนี้ กิโลกรัมละ 3 บาท แต่คำนวณแล้ว เขาส่งออก กิโลกรัมละ 1.50 บาท ด้วยการได้รับมาตรฐาน BOI บวกกับรัฐบาลส่งเสริมการส่งออกมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำก็ส่งผลมาก ทำให้เราแบกรับภาระไม่ไหว” แม้จะเป็นเช่นนั้น คุณอายังคงย้ำชัดว่าเป็นธรรมดาของความเป็นไปในโลกธุรกิจ ที่จะมีการเปลี่ยนมือขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการ และในที่สุดก็เป็นแค่เรื่องที่ต้องยอมรับและปล่อยให้เป็นไป

 

วันที่(อาจ)ไม่มีเกลือทะเล – “ถ้าต้องตากแดด แซะเกลือกลางแดดร้อนๆ ใครจะอยากทำ”

คุณอายอมรับว่าเบื้องหน้าอีกไม่กี่ปี เกลือทะเลอาจไม่มีแล้วด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง โดยเจ้าของกิจการโรงโม่เกลือจะค่อยๆปิดกิจการไปก่อนส่วนอื่น “ตอนนี้โรงโม่เกลือก็ลดลงเยอะแล้ว เมื่อก่อนมีโรงโม่เกลืออยู่ริมน้ำเจ้าพระยา 5-6 โรง ปัจจุบันเหลืออยู่แค่สอง เพราะในอุตสาหกรรมเขามีกระบวนการของเขาอยู่แล้ว ส่วนคนทำนาเกลือก็จะไม่เดือดร้อน เพราะเขามีเงินแล้ว การซื้อขายเกลือเม็ดก็ทำได้โดยตรง”

แต่สุดท้ายนาเกลือก็จะค่อยๆลดลง เพราะที่นาถูกเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ส่วนมากจะเป็นรีสอร์ท ลูกหลานของชาวนาก็จะไม่ทำต่อจากรุ่นพ่อแม่ แม้จะมีรายได้ดี

“ถ้าต้องตากแดด แซะเกลือกลางแดดร้อนๆ ใครจะอยากทำ”

นอกจากนี้อุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เกลือทะเลก็ลดลง เช่นอุตสาหกรรมการดองหนัง เพราะทุกวันนี้การทำปศุสัตว์ของเกษตรกรลดลง โดยเฉพาะการเลี้ยงโคกระบือ

“ในอุตสาหกรรมที่ใช้ดองหนังก็ใช้เกลือทะเลน้อยลง เพราะวัวควายน้อยลงแล้ว ไม่มีคนเลี้ยง ชาวนาใช้รถแทร็กเตอร์ มันก็กระทบกันหลายๆอย่าง” คุณอาหัวเราะในลำคอเล็กน้อยก่อนทิ้งท้ายว่า “บางอย่างดูเหมือนกระทบ มันก็ไม่กระทบ บางอย่างมันก็กระทบอ้อมๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้”

 

วันที่(ต้อง)เปลี่ยนผ่าน

โรงเกลือแหลมทองยังมีการส่งออกเกลือในรูปแบบของเกลือเม็ด และน้ำเกลือ ให้แก่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่บ้าง โดยอาศัยคู่ค้าที่ทำการค้าขายในอดีต ส่วนการโม่เกลือย้ายไปทำที่โรงงานอีกแห่งหนึ่งเพราะใบอนุญาตโรงงานของที่นี่หมดอายุไปนานแล้ว

“ตอนนั้นคิดว่าจะกลับมาทำได้ แต่ราคาเกลือมันมีแต่ทรงตัว แล้วก็สูงขึ้น ใบอนุญาตโรงงานมันมีอายุสามปี ก็ต่อมาเรื่อย ต่อมาห้าหกครั้ง เป็นสิบปีแล้วก็ยังทำไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะต่อทำไม เลยปิดไปเลย ไม่ได้ทำต่อ”

เมื่อต้องเลิกทำธุรกิจโรงเกลือ คุณอากิตติบอกกับเราว่า เขาเข้าใจความเป็นไปของมัน และคิดจะลงทุนด้านอื่น แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เพราะชุมชนสวนสมเด็จย่ายังคงห้ามไม่ให้โดยสารรถยนต์เข้าออก

เมื่อเป็นเช่นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นอยู่ของปัจจุบันที่ครอบงำ โดยปราศจากการคืบคลานของอนาคต ทำให้รู้สึกถูกกัดกร่อนยิ่งกว่าเรื่องราวเลวร้ายในอดีต “ถ้านึกออกว่าจะทำอะไรดี ก็มาบอกอาด้วยนะ” คุณอากิตติกล่าวสรุปพร้อมรอยยิ้ม ก่อนพาเราลงจากเรือนไม้ชั้นสองที่ใช้อยู่อาศัย มาสู่ลานโล่งเบื้องล่างที่ครั้งหนึ่งเคยอบอวลไปด้วยไอเค็มจากเกลือทะเล