เรื่องและภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

bullkuiburi

ไร้เสียงปืนลั่นที่ผืนป่ากุยบุรี และไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาด ทว่าการล้มตายของกระทิงทั้ง ๑๘ ตัวยังเป็นปริศนาถึงทุกวันนี้

วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๖ ซากกระทิงตัวแรกถูกพบในผืนป่ากุยบุรีแถบที่ตั้งโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการกุญชร) เขตรอยต่ออุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ตั้งแต่วันนั้นนานร่วมเดือนก็พบซากกระทิงไร้วิญญาณทีละซากในป่าบริเวณเดียวกัน จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม กระทั่งวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ นับจำนวนได้ ๑๘ ซาก ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นซากสุดท้ายหรือไม่

วันเวลาล่วงเลยผ่านข้ามปี ถึงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๗ ชาวบ้านรอบป่ากุยบุรีจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กระทิง และตั้งศาลเพียงตา ณ ตำแหน่งป่าสนต้นมะม่วง ใกล้จุดที่พบกระทิงซากที่ ๑๗ โดยยังไม่มีบทสรุปสาเหตุการตายหมู่

ก่อนนี้ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ เริ่มออกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบ เนื่องจากตัวอย่างซากกระทิงที่เก็บไม่สมบูรณ์ บางส่วนเน่ามาก จึงส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงเก็บชิ้นส่วนซากรวมทั้งกระดูกไขสันหลังเพิ่ม เจ้าหน้าที่จะเร่งตรวจสอบและรายงานผลให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว

สาเหตุการตายของกระทิงในผืนป่าตอนบนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้นสันนิษฐานกันต่างๆ นานา มีการตั้งข้อสังเกตว่ากระทิงติดโรคระบาดสัตว์ชนิดร้ายแรงไปถึงขั้นร่ำลือว่าผีห่าลงกินกระทิงยกฝูง

แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่และองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ต่างเชื่อว่าการตายของกระทิงน่าจะมีสาเหตุจากความขัดแย้งและผลประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ เนื่องจากระหว่างการสอบสวนคดีนี้มีการประกาศปิดป่ากุยบุรี สั่งย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี รวมทั้งหัวหน้าโครงการกุญชรออกจากพื้นที่ และแต่งตั้งหัวหน้าคนใหม่

เงื่อนงำความตายของกระทิงเกือบทั้งฝูงยังไม่คลี่คลาย ขณะที่หลักฐานที่ใช้สืบสาวถึงผู้กระทำผิดอาจค่อยๆ เลือนรางหายไปจากป่ากุยบุรี คล้ายเหตุการณ์เผาช้างป่าเพื่อตัดงาที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ ๒ ปีก่อน ซึ่งท้ายสุดก็หาตัวคนผิดมาลงโทษไม่ได้ก่อนหมอกควันจางหาย สารคดี รวบรวมปริศนาความตายในผืนป่ากุยบุรีที่วันนี้ยังไม่มีคำตอบ

 

ทำไมต้องเป็นกระทิง

กระทิงเป็นหนึ่งใน “Big 5” หรือสัตว์ป่าขนาดใหญ่ห้าชนิดในป่าไม้เมืองไทย อันได้แก่ เสือโคร่ง ช้าง วัวแดง ควายป่า/สมเสร็จ และกระทิง อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีสัตว์ป่าในกลุ่มบิ๊กไฟว์ครบทุกชนิด แต่สัตว์ที่มักเป็นข่าวในรอบหลายปีที่ผ่านมาคือช้าง ดังเช่นข่าวช้างป่าออกนอกเขตอุทยานฯ มากินสับปะรดที่ชาวบ้านปลูกไว้

ทว่าสัตว์ป่าที่ตายหรือ “ถูกทำให้ตาย” ครั้งนี้เป็นกระทิง

ผืนป่ากุยบุรีมีกระทิงราวร้อยตัว แยกกันอยู่เป็นฝูง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ารู้พฤติกรรมและระบุได้ว่าพื้นที่อันเป็นถิ่นหากินของกระทิงแต่ละฝูงนั้นอยู่ในบริเวณป่าตอนเหนือ กลาง และใต้ ซึ่งจุดที่พบซากกระทิงเกือบทั้งหมดกระจายอยู่ในโซนใต้ของผืนป่ากุยบุรี

หากประเด็นการตายเกิดจากโรคระบาดในพื้นที่ เหตุใดไม่ปรากฏว่ามีสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้านใกล้เคียงได้รับผลกระทบ หรือข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากสารพิษตกค้างซึ่งถูกน้ำฝนชะลงแหล่งน้ำ ก็มีข้อสังเกตว่าสัตว์อื่นๆ น่าจะได้รับผลกระทบด้วย เบื้องต้นจึงคาดว่าน่าจะเป็นความจงใจทำให้เกิดความสูญเสียแก่กระทิง

ตามธรรมชาติของสัตว์ที่อาศัยรวมกันเป็นฝูง กระทิงที่ตายทั้ง ๑๘ ตัวนั้นอยู่ในฝูงเดียวกันซึ่งมีราว ๒๒-๓๐ ตัว จึงน่าจะเหลือกระทิงตัวที่ยังรอดชีวิต

หากถามว่าทำไมการตายครั้งนี้ต้องเป็นกระทิง ถ้าสาเหตุเป็นเพราะถูกวางยาจริง โดยผู้ฆ่าเลือกป้ายยาหรือสารพิษไว้บนต้นไม้ คะเนระดับความสูงให้สัตว์ใหญ่เท่านั้นเอื้อมถึง ก็อาจจำกัดชนิดของสัตว์ที่จะได้รับพิษ หากสงสัยว่าทำไมช้างไม่ตายทั้งที่เป็นสัตว์ใหญ่ตัวสูงกว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและชาวบ้านให้ความเห็นว่า อาจเพราะช้างเป็นสัตว์ฉลาดที่มีพฤติกรรมดมอาหารก่อนกินโดยใช้งวงหยิบเข้าปาก ต่างจากกระทิงซึ่งมักเลียสิ่งที่คิดว่าเป็นอาหาร

 

หากถูกวางยาพิษ เหตุใดสัตว์ที่กินซากกระทิงจึงไม่ตาย

ซากกระทิงที่พบไม่มีบาดแผลถูกยิง ไร้ร่องรอยถูกทำร้าย เมื่อนำเครื่องสแกนโลหะตรวจสอบบริเวณลำตัวและโดยรอบไม่พบหัวกระสุนหรือโลหะอื่นใด สภาพร่างกายของกระทิงส่วนใหญ่ยังอ้วนท้วน ไม่ผอมโซ จึงเป็นไปได้ว่าสัตว์ไม่ได้ป่วยหรือถูกยิงตาย แต่เกิดจากได้รับสารพิษ น่าแปลกว่าไม่พบซากสัตว์ เช่น หมาใน พังพอน ซึ่งกินซากสัตว์ตายอย่างกระทิงในพื้นที่เลย

อย่างไรก็ตามการไม่พบซากสัตว์อื่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีสัตว์อื่นตาย อาจจะมีสัตว์ขนาดเล็กกว่ากระทิงตายก็ได้ แต่ไม่พบซาก และเมื่อเกิดสถานการณ์นี้จึงมีประกาศปิดป่าพร้อมคำสั่งปรับงานลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอย่างสม่ำเสมอ ป่ากุยบุรีจึงอาจมีซากสัตว์ที่ตายเพราะกินซากกระทิงกำลังถูกย่อยสลายอย่างช้าๆ

 

พื้นที่การตายตั้งอยู่ในเขตใด

อุทยานแห่งชาติกุยบุรีตั้งอยู่ติดเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งมีโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการกุญชร) และเชื่อมต่อกับเขตปลอดภัยทางทหาร หรือเรียกว่า ป่าทหาร ปัจจุบันมียุทธศาสตร์สนับสนุนและผลักดันให้ผนวกผืนป่าที่อยู่ติดกันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทั้งนี้เพื่อเชื่อมต่ออุทยานแห่งชาติกุยบุรีและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่อยู่เหนือขึ้นไปให้เป็นป่าใหญ่

ผืนเดียวกัน

ช่วงแรกเนื้อหาข่าวกระทิงตายให้รายละเอียดว่าเกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี แท้จริงแล้วไม่ใช่ ซากกระทิง ๑๗ ซาก (จาก ๑๘ ซาก) พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยซากที่ ๑๗ จมอยู่ในหนองน้ำซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เคยขุดไว้เป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่า ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ กร. ๑ ป่ายาง ไม่ถึง ๕๐๐ เมตร

 

เขากระทิงหายไป

ในบรรดาซากกระทิงที่พบนั้นมีครบทั้งตัวและเขา เฉพาะซากที่ ๔ ซึ่งพบเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ เท่านั้นที่ถูกตัดเขาทั้งสองข้าง

กระทิงที่ตายโดยธรรมชาติ เขาทั้งสองข้างยังติดกับกระดูก โดยจะค่อยๆ หลุดออกตามกาลเวลา ลักษณะเป็นปลอกสวมเขา แต่ซากกระทิงเพศผู้ตัวดังกล่าวกลับมีร่องรอยการใช้ของมีคมกรีดเขาออกไป

ใครคือผู้ตัดเขากระทิง และเหตุใดจึงมีกระทิงเพียงตัวเดียวถูกตัดเขา คำถามเหล่านี้ยังเป็นปริศนา ทว่าการหายไปของเขากระทิงทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านตัดสินใจตัดส่วนหัวกระทิงและถอดเขาออกมาเก็บรักษาไว้ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยจดบันทึกอย่างละเอียดป้องกันการสับสนหรือสูญหาย

ทั้งนี้มีซากกระทิงที่ตายสามตัวไม่มีเขา เนื่องจากเป็นลูกกระทิง

 

ผลประโยชน์จากการผลักดันป่ามรดกอาเซียนและซาฟารีเมืองไทย

ปัจจุบันแผนการที่จะผนวกรวมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในจังหวัดราชบุรีเข้าเป็นผืนป่าเดียวกันในนามป่ามรดกอาเซียน ได้รับงบประมาณเบื้องต้นแล้ว ๑๓๐ ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดพัฒนาป่ากุยบุรีให้เป็นซาฟารีเมืองไทย เนื่องจากมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ชุกชุม พบเห็นได้ง่าย โดยจะทำควบคู่กับโครงการมัลดีฟส์เมืองไทยที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งมีรายงานว่าได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการกว่า ๑ พันล้านบาทสำหรับปรับสภาพพื้นที่เป็นสถานที่พักผ่อนหรูระดับห้าดาว รองรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักโดยเฉพาะ อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องการผลประโยชน์จากโครงการนี้

อย่างไรก็ดีความตายของกระทิง ๑๘ ตัวก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง ว่าเพื่อคัดค้านหรือผลักดันให้เกิดโครงการดังกล่าว

การจากไปของกระทิงแห่งผืนป่ากุยบุรีสร้างความสะเทือนใจแก่ชาวกุยบุรีและคนไทยทั้งประเทศ

หากเหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็คงมีคนใจดำเพียงไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์

หมายเหตุ : ข่าวนี้เรียบเรียงจากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ ณ วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๗ ต่อมามีการพบซากกระทิงเพิ่มอีก ๔ ตัว จึงมีกระทิงตายอย่างปริศนาในป่ากุยบุรีแล้วทั้งสิ้น ๒๒ ตัว