ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

sharkcancerออสเตรเลีย, จีน / ว่ากันว่ามะเร็งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การสัมผัสมลภาวะ และความเครียดสะสมจนเกิดเป็นเซลล์ร้าย

นอกจากมนุษย์แล้วสัตว์ชนิดต่างๆ ก็เป็นมะเร็งได้ แม้กระทั่งสัตว์ที่อาศัยในมหาสมุทรกว้างใหญ่อย่างปลาฉลาม  ถึงคนบางกลุ่มจะเชื่อว่าฉลามเป็นสัตว์แกร่ง ไม่เคยเจ็บป่วยด้วยเนื้อร้าย แต่นักวิทยาศาสตร์รับรู้มานานแล้วว่าฉลามก็เป็นมะเร็ง  ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียพบฉลามขาวตัวหนึ่งมีก้อนเนื้อตะปุ่มตะปํ่างอกจากปาก ขนาดกว้างและยาว ๑ ฟุต เป็นเซลล์มะเร็งแบบเดียวกับที่เคยพบบนหัวของฉลามครีบด่าง (bronze whaler shark)

“นี่เป็นหลักฐานเพิ่มเติมเรื่องการเกิดเนื้อร้ายในฉลาม ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อว่าฉลามไม่เป็นมะเร็ง” ราเชล ร็อบบินส์ (Rachel Robbins) ผู้เขียนรายงานลงวารสาร Journal of Fish Diseases ยืนยัน ขณะที่ เดวิด ชิฟฟ์แมน (David Shiffman) นักวิจัยฉลามและนักศึกษาปริญญาเอกมหาวิทยาลัยไมอามี (University of Miami) สหรัฐฯ กล่าวว่า ฉลามก็เป็นมะเร็งได้ หรือหากไม่ได้เป็น การกินอวัยวะของมันก็ไม่ได้ช่วยรักษาโรคมะเร็ง เพราะไม่มีการศึกษาใดอธิบายว่ากระดูกอ่อนของฉลามมีผลต่อการบำบัดรักษามะเร็ง  ความเข้าใจผิดเรื่องนี้มาจากผู้ที่ต้องการขายกระดูกอ่อนของฉลาม

แม้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเจ้าสมุทรป่วยเป็นมะเร็งเพราะอะไร เกิดจากมลภาวะในน้ำ สารพิษจากอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่มนุษย์ปล่อยลงน้ำ  แต่เมืองจีนนั้นมีข่าวดีสำหรับฉลามแล้ว

รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศห้ามเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงที่เป็นทางการของรัฐ รวมทั้งรังนกและอาหารจากสัตว์ป่า  เชื่อว่าน่าจะกดดันให้ร้านอาหารเอกชนหันมาปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว  นอกจากรัฐบาลจีนจะได้ภาพลักษณ์เรื่องการอนุรักษ์แล้วยังช่วยป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน ตลอดจนค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในงานเลี้ยงด้วย

ทั้งนี้มีรายงานเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ว่า มนุษย์ฆ่าฉลามปีละประมาณ ๑๐๐ ล้านตัว โดยความต้องการบริโภคซุปหูฉลามเป็นปัจจัยต้นๆ