สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

สัมภาษณ์ - ฮารา ชินทาโร่ “ไฟ ใต้” กับอาจารย์สอนภาษามลายูชาวญี่ปุ่นสิ้นปี ๒๕๕๖ ต่อเนื่องเข้าสู่ปีใหม่ ๒๕๕๗ หากหันเหความสนใจจากการเมืองที่ร้อนแรง การเคานต์ดาวน์ปีใหม่ และการชุมนุมประท้วง ณ ใจกลางกรุงแล้วโฟกัสไปที่ปลายด้ามขวาน

ผู้คนจำนวนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลาต่าง “เคานต์ดาวน์” อย่างเงียบ ๆ เข้าสู่ปีที่ ๑๐ – ครบรอบ ๑ ทศวรรษที่พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตปรกติสุขเหมือนกับคนอีก ๗๔ จังหวัดทั่วประเทศ

นับแต่เช้ามืดวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ ที่กองกำลังชายฉกรรจ์กว่า ๖๐ คนบุกปล้นปืนร่วม ๔๐๐ กระบอกจาก “ค่ายปิเหล็ง” อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์บนพื้นที่ปลายด้ามขวานก็ไม่เคยสงบสุขอีกเลย ถึงตอนนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค ๔ ระบุว่าตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ ถึง ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ มีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้ทั้งสิ้น ๕,๒๓๕ ราย บาดเจ็บ ๙,๗๐๔ ราย

เฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิต เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยทิ้งสถิติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ๙/๑๑ ของสหรัฐฯ ที่มียอด ๒,๖๐๖ คนแบบไม่เห็นฝุ่น และตัวเลขก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามปี ๒๕๕๖ เป็นปีแรกที่ปรากฏกระบวนการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งนำโดยกลุ่ม BRN (Barisan Revolusi Nasional ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ) แม้กระบวนการเจรจาจะเดินไปอย่างทุลักทุเล

ท่ามกลางกระแสข่าวอันสับสน จู่ ๆ ชื่อของอาจารย์หนุ่มนาม ฮารา ชินทาโร่ (Hara Shintaro)* ก็ปรากฏขึ้นอย่างโดดเด่นในฐานะผู้แปลแถลงการณ์ภาษามลายูของขบวนการ BRN เป็นภาษาไทย ขณะที่สื่อไทยแทบไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่สิ่งนี้ทรงความหมายอย่างยิ่งกับกระบวนการเจรจาสันติภาพ

นับแต่นั้นก็มีคนสงสัยว่าหนุ่มญี่ปุ่นผู้นี้เป็นใคร ทำไมรู้ภาษาที่กระทั่งคนไทยน้อยนักจะรู้ ทำอีท่าไหนจึงไปทำงานอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แถมแปลแถลงการณ์ของ BRN และเขียนบทความเพื่อนำเสนอข้อมูลในพื้นที่ออกมาเรื่อย ๆ จนมีผู้โจมตีว่าเป็น “กระบอกเสียงของ BRN” ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมองว่าเขา “สร้างความแตกแยก” ให้สังคมและมีเจตนาที่ไม่ดีนัก

ความจริงคืออาจารย์ชินทาโร่สอนภาษามลายูอยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) และทำงานในปัตตานีมากว่า ๑๔ ปีแล้ว รู้จักปัตตานีตั้งแต่ยังเป็นเมืองที่สงบเงียบ คนพุทธยังกินข้าวร่วมโต๊ะกับคนมุสลิม จนถึงปัจจุบันที่วงข้าวอันงดงามนั้นเลิกราไป

จะว่าไป มีส่วนผสมหลายอย่างในตัวอาจารย์ชินทาโร่ อย่างแรก เขาเป็นคนญี่ปุ่น เรียนภาษาของวัฒนธรรมซึ่งต่างจากญี่ปุ่นสุดขั้ว จบจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่ดีที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เลือกเรียนปริญญาโทในมาเลเซีย จบแล้วก็มาสอนหนังสืออยู่ปัตตานี และที่สำคัญเขาเป็นมุสลิม

ส่วนผสมทั้งหมดนี้เองทำให้ชินทาโร่น่าจะเป็นคนต่างชาติที่เข้าใจสถานการณ์ไฟใต้ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

บ่ายวันปลายปี ๒๕๕๖ ขณะที่ไฟใต้ลุกโชนเข้าสู่ปีที่ ๑๐ ในฐานะ “คนนอกที่กลายเป็นคนใน” ชินทาโร่รับนัดจาก สารคดี นั่งลงเล่าประสบการณ์ชีวิตและมุมมองต่อสถานการณ์ไฟใต้ที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้องให้เราฟัง

อาจารย์ชินทาโร่เป็นคนที่ไหน
ผมเกิดและโตที่โตเกียว คุณพ่อทำงานบริษัท มีน้องสาวหนึ่งคน ที่บ้านเลี้ยงแมวเปอร์เซียหนึ่งตัว ลุงเปิดร้านซูชิ บางทีคุณแม่ก็พาผมไปไว้ที่ร้านของลุง จำได้ว่าผมอยู่ที่ร้านมากกว่าบ้านเสียอีก ยกของทำโน่นนี่ไปเรื่อย เสร็จแล้วก็กลับไปนอนที่บ้าน

ร้านของลุงเป็นร้านซูชิดั้งเดิม เชฟจะทำซูชิแล้ววางบนจานลูกค้า ดังนั้นจึงมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าค่อนข้างมาก ลูกค้าหลายคนเป็นนักเขียนนิทานเด็ก บทสนทนาในร้านทำให้ผมได้ข้อมูลใหม่ตลอดเวลา โลกผมกว้างขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น บรรยากาศในร้านทำให้ต่อมาผมสนใจภาษาและสังคมมากขึ้น ส่วนชีวิตนอกร้าน ผมคิดว่าโตเกียวมีหลายอย่างคล้ายกรุงเทพฯ ภาษาในโทรทัศน์กับภาษาพูดในชีวิตประจำวันสำเนียงไม่ต่างกัน เรื่องนี้ทำให้ผมอิจฉาเพื่อนที่มีภาษาถิ่น คล้ายกับว่าคนอื่นมีสมบัติ แต่เราไม่มีสมบัติติดตัวสักอย่าง คิดดูสิครับ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษยังมีสำเนียงถิ่นเลย จริง ๆ โตเกียวก็มี “ภาษาเอโดะ” แต่ตอนนี้ก็แทบจะไม่มีใครใช้แล้ว

ก่อนเรียนบาฮาซา (ภาษา) มลายู ความรับรู้เรื่องชาวมุสลิมและอิสลามของอาจารย์และคนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร
สมัยผมยังเด็ก โลกยังไม่อยู่ในยุคก่อการร้าย ทัศนะเกี่ยวกับคนมุสลิมของชาวญี่ปุ่นเกิดจากความไม่รู้และไม่มีข้อมูลมากกว่า พอได้ยินคำว่าอิสลามจะนึกถึงคนโพกหัว ใส่ชุดคลุมสีขาว ขี่อูฐเดินในทะเลทรายและมีน้ำมัน ที่ไม่ดีเลยคือต่อมาคนญี่ปุ่นจำนวนมากรู้จักอิสลามพร้อมกับกระแสการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ ๙/๑๑ (ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด-เซ็นเตอร์กลางนครนิวยอร์กในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔) คนญี่ปุ่นส่วนมากจึงมองมุสลิมในแง่ “อิสลาม” และ “มุสลิม” เท่ากับ “ก่อการร้าย” ตอนหลังเมื่อผมรับอิสลามเวลากลับไปเยี่ยมบ้าน เพื่อนสนิทผมยังแซวว่ามึงเป็นมุสลิมกลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปแล้ว (หัวเราะ)

อะไรทำให้ตัดสินใจเรียนภาษามลายู
ปี ๒๕๓๗ ผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเคโอ (KEIO University) คณะบริหารนโยบาย (Faculty of Policy Management) คณะนี้เป็นคณะใหม่ จำได้ดีว่าวันปฐมนิเทศ คณบดีบอกว่าพวกคุณเป็น “นักศึกษาแลกเปลี่ยน” เราก็งงว่าอะไรวะ (หัวเราะ) กูเป็นญี่ปุ่น พอคณบดีพูดต่อว่า “พวกคุณเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากอนาคต คุณมาเรียนแต่คุณต้องกลับสู่อนาคต อย่ากลับไปมือเปล่า เอาบางสิ่งกลับไปใช้เพื่อสังคมในอนาคตด้วย” ประโยคนี้ได้เปิดวิธีคิดใหม่ กลายเป็นจุดเชื่อมผมเข้ากับอนาคต ปรกติวัยรุ่นส่วนมากสนุกกับปัจจุบัน มีความใฝ่ฝัน แต่ไม่ได้คิดอะไรเป็นรูปธรรมมากนัก ประโยคนี้ทำให้ผมคิดว่าอนาคตอยากทำอะไร ผมโชคดีเพราะคณบดีมีนโยบายให้รู้ภาษาต่างประเทศระดับใช้งานจริงหนึ่งภาษา ไม่ต้องเรียนสามสี่ภาษาแต่ใช้ไม่ได้ดีสักภาษา ช่วงนั้นยังมีกระแสการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย ความสนใจภาษาในทวีปเอเชียจึงมีมากขึ้น มีคำกล่าวว่าศตวรรษที่ ๒๑ จะเป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” พอมีภาษามลายูเป็นวิชาเลือกก็ตัดสินใจเรียนเพราะคนเรียนน้อย ผมคิดไม่เหมือนคนอื่น คิดว่าเรียนภาษาอังกฤษคู่แข่งเยอะ ห้องเรียนภาษามลายูตอนนั้นมีนักเรียนทั้งหมด ๓๐ คน

บรรยากาศการเรียนเป็นอย่างไร
สนุกครับ มหาวิทยาลัยไม่มีชั้นเรียนประจำ แต่พอเป็นวิชาภาษามลายู เรากับเพื่อน ๓๐ คนต้องเจอกันสี่ครั้งต่อสัปดาห์เลยสนิทกันพอสมควร อาจารย์และเพื่อนในห้องก็มีบุคลิกต่างจากนักศึกษาเคโออื่น ๆ ทุกคนค่อนข้างเปิดกว้าง ผมออกแนวติดดินด้วยซ้ำ คิดดูว่าผมต้องปรับตัวแค่ไหนเพราะเรียนในมหาวิทยาลัยเคโอซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่และหรูหราที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยเอกชนของญี่ปุ่น

อาจารย์สอนภาษามลายูของผมชื่อ ไซฟุลบาฮาลีห์ อะหมัด ท่านพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีมาก อาจารย์ไซฟุลเป็นคนรุ่นแรกที่รัฐบาลมาเลเซียส่งมาเรียนที่ญี่ปุ่นตามนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East Policy) ของ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ขณะนั้น) ตอนนั้นท่านอายุ ๒๘ ปี หนุ่มและมีไฟ ท่านอธิบายข้อสงสัยให้คนญี่ปุ่นที่เรียนภาษามลายูได้ดีมาก การสอนภาษามลายูในญี่ปุ่นตอนนั้นพูดได้ว่ายังไม่เป็นระบบ เพราะคนเรียนน้อย มักเป็นหลักสูตรระยะสั้นเมื่อเทียบกับภาษาอื่น ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูโดยตรงจริง ๆ เท่าที่มีอยู่ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นที่ต้องเปลี่ยนบทบาทมาสอนภาษา ในเคโอมีอาจารย์ชาวญี่ปุ่นเพียงสองท่านเท่านั้นที่พูดภาษามลายูได้

ทราบว่าอาจารย์มีชื่อภาษามลายูและต่อมายังรับ (นับถือ) ศาสนาอิสลาม
ในวันแรกของการเรียนอาจารย์ไซฟุลเขียนชื่อภาษามลายูบนกระดานแล้วให้ผู้เรียนเลือก ผมเลือก “บาดีอุซซามาน” (Badiuzzaman) ชื่อของนักปรัชญาและนักเขียนเชื้อสายเคิร์ด (Kurdish) (ปัจจุบันชาวเคิร์ดกระจายอยู่ในดินแดนที่เป็นอิรักอิหร่าน และตุรกี-ผู้สัมภาษณ์) เพราะผมฝันอยากเป็นนักเขียน ใช้ชื่อนี้ตลอดเวลาที่เรียนภาษามลายู ถึงปัจจุบันผมยังใช้ชื่อนี้เวลาแนะนำตัว ผมซาบซึ้งกับภาษามลายูมาก ผมเรียนมาแล้วหลายภาษา ทั้งอังกฤษ มลายู ไทย ภาษามลายูเท่านั้นที่เรียนแล้วรู้สึกใช่ ภาษาไม่ต่างจากคู่รัก ทุกภาษามีลักษณะพิเศษและจะมีภาษาหนึ่งที่เหมาะกับเรา ส่วนศาสนาอิสลาม ผมรับตอนเรียนปี ๓ ขึ้นปี ๔ ด้วยเหตุผลว่า หนึ่ง อยากเหมือนคนมลายู สอง อยากย่นระยะความสัมพันธ์กับคนมลายู ตอนนั้นผมพูดมลายูได้ระดับหนึ่งและทำงานล่ามแล้ว พอดีผมมีปัญหาชีวิต คุณอาจทราบว่าคนญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องฆ่าตัวตาย ยิ่งวัยรุ่นจะมีปัญหากับตัวเอง เพื่อน และความรักมาก ผมมีปัญหากับเพื่อน มีปัญหาความรักจนรู้สึกว่าเชื่ออะไรไม่ได้ เกิดอยากฆ่าตัวตายเลยอยากรับอิสลาม เพราะมีคำสอนห้ามฆ่าตัวตาย อยากลองว่ารับแล้วจะไม่ฆ่าตัวตาย ใช่หรือไม่ มีแรงเสียดทานจากครอบครัวบ้าง แม่บอกว่าทำอะไรก็ได้แต่อย่าเข้าอิสลาม เพราะมองว่ามุสลิมเป็นพวกก่อการร้าย มีวิถีที่ต่างจากคนญี่ปุ่น แม่กลัวลูกจะกลายเป็นคนอื่นที่เขาไม่รู้จัก จากทัศนะนี้คุณจะเห็นว่าคนญี่ปุ่นก็อนุรักษนิยมเหมือนกัน ต้องอธิบายว่าคนญี่ปุ่นส่วนมากนับถือพุทธ แต่ก็มีลัทธิชินโตที่นับถือธรรมชาติ และโดยปรกติคนญี่ปุ่นไม่ให้ความสำคัญกับศาสนา เพียงแต่ทำตามประเพณี เท่าที่ผมทราบมีคนมุสลิมในญี่ปุ่นน้อยกว่า ๐.๐๐๑ เปอร์เซ็นต์ มัสยิดที่เห็นส่วนมากชาวต่างชาติสร้างไว้ทั้งนั้น

อาจารย์รับอิสลามอย่างไร รับแล้วเป็นตามที่คาดหวังหรือไม่
สมัยเรียนมหาวิทยาลัยผมไปมาเลเซียหลายครั้ง เริ่มจากอาจารย์พาไปช่วงปิดเทอมเพื่อฝึกภาษาและอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ ครั้งแรกตอนปิดเทอมของปี ๑ ไปที่หมู่บ้านตือโละบูโละห์ เมืองบาตูปาฮัต รัฐยะโฮร์ เป็นเวลา ๓ สัปดาห์ จำได้ว่าตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเป็น “คนต่างชาติ” จริง ๆ ต้องปรับตัวเยอะ สภาพบ้านคนที่นั่น พูดให้ดีคือเรียบง่าย พูดไม่ดีคือยากจน สีผิวคนมาเลเซียก็คล้ำต่างจากเรา ที่ตกใจมากคือกับข้าวมีแกงสับปะรด คนญี่ปุ่นถือว่าสับปะรดคือของหวาน ไม่กินกับข้าว เราก็เฮ้ย อะไร (หัวเราะ) ก็ต้องฝึกกิน ตอนอาบน้ำต้องไปที่แม่น้ำ ในบ้านมีบ่อน้ำใช้สำหรับผู้หญิงเท่านั้น สุขายิ่งไม่ต้องพูดถึง ใช้น้ำล้าง ใช้กระดาษไม่ได้ เราก็เฮ้ย ล้างยังไง (หัวเราะ) เข็ดห้องน้ำจนหลายครั้งไม่อยากเข้า ต้องใช้เวลาปรับตัวพักใหญ่จนรู้สึกไม่ขัดเขิน

ประสบการณ์นี้ทำให้ผมรู้ว่าการไปอยู่ในฐานะนักท่องเที่ยวต่างจากการไปอาศัยมาก หลังจากนั้นผมไปมาเลเซียบ่อย สุดท้ายก็รับอิสลามที่มาเลเซีย โดยไปกับเพื่อนและญาติของเขาที่มาเป็นพยานลงทะเบียนที่สำนักงานอิสลามประจำรัฐสลังงอร์ เขาบอกว่าการเป็นอิสลามเริ่มจากใจ ผมลงทะเบียนด้วยชื่อ “บาดีอุซซามาน” กล่าวคำปฏิญาณ “ไม่มีพระเจ้าองค์ใดนอกจากอัลลอฮ์ ท่านนะบีมุฮัมมัดคือศาสดา ศาสนทูตของอัลลอฮ์” แค่นี้เอง ผมอุทานว่าไอ้หยา เป็นมุสลิมแล้ว ไม่ยุ่งยากเลย ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาก็ละหมาดเป็นครั้งแรกในชีวิต จำได้ว่าต้องค้อมตัวเยอะมาก รู้สึกไม่ลงตัวเพราะไม่เคยทำ ต้องสักพักความรู้สึกนี้ถึงหายไป การละหมาดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งที่เปลี่ยนไปทันทีคือการต้อนรับของคนมลายูดีขึ้นอีกขั้น เดิมก็ดีอยู่แล้วเพราะต้อนรับเราในฐานะแขก แต่พอเราเป็นมุสลิมก็กลายเป็นพี่น้องกัน