hara02การไปมาเลเซียบ่อยเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนต่อในมาเลเซียและภาพมุสลิมขี่อูฐหายไป
ระหว่าง ๔ ปีในมหาวิทยาลัย ผมไปมาเลเซียอีกหลายครั้ง รู้จักคนมลายูมากขึ้น สามารถไปนอนบ้านคนรู้จักโดยไม่ต้องไปโรงแรม เรื่องนี้ในโตเกียวทำไม่ได้ เพราะเกรงใจเพื่อนมาก เนื่องจากบ้านแต่ละหลังมีพื้นที่จำกัด แต่ที่มาเลเซียอยู่เป็นสัปดาห์ได้สบาย การไปบ่อย ๆ ทำให้รู้ว่าคนมลายูดำเนินชีวิตตามหลักอิสลาม เป็นภาพที่ตำราเรียนให้เราไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าจะเรียนต่อที่มาเลเซีย อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูอันดับ ๑ ในที่สุดก็ได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมลายา (UM) จากการแนะนำของอาจารย์นิซาฟียะห์ การิม ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าเป็นเพื่อนสนิทของครอบครัวที่ผมไปอาศัยด้วย ท่านกรุณารับเป็นที่ปรึกษา ถึงตอนนั้นผมปรับตัวเข้ากับคนมลายูได้แล้ว แต่เป็นส่วนหนึ่งของเขาไหม ? ผมคิดว่าการปรับตัวได้กับการเป็นส่วนหนึ่งเป็นคนละเรื่องกันนะครับ

ทำไมทำวิทยานิพนธ์เรื่องเปรียบเทียบภาษามลายูมาเลเซีย (บาฮาซามาเลเซีย) กับภาษามลายูถิ่นปัตตานี
ผมมีโอกาสประกวดกล่าวสุนทรพจน์ภาษามลายูที่กัวลาลัมเปอร์แล้วรู้จักตัวแทนของ ม.อ. ปัตตานี เขาชวนผมเที่ยว บอกว่าเมืองไทยมีคนพูดภาษามลายู มีชุมชนมุสลิม ผมไปแล้วก็ติดใจปัตตานีและกลับไปอีกเพื่อเก็บข้อมูลในปี ๒๕๔๒ นั่นเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนต้นปี ๒๕๔๗

ปัตตานีเป็นเมืองที่สงบ ค่าครองชีพก็ต่ำมาก บุหรี่ถูกมาก(หัวเราะ) อาหารอร่อย คนในพื้นที่เป็นกันเอง มีความหลากหลาย คือมีคนไทยพุทธอยู่ด้วย ไม่มีเหตุร้ายรายวันอย่างที่เป็นข่าวทุกวันนี้ ผมชอบปัตตานีมากกว่ามาเลเซียเสียอีก ภาษามลายูถิ่นก็ต่างจากมลายูมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งผมฟังและสื่อสารได้ แต่มาปัตตานีผมฟังไม่รู้เรื่อง วิทยานิพนธ์ของผมพยายามหาคำตอบว่าการพัฒนาของภาษามลายูปัตตานีกับมลายูมาเลเซียไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ผลคือยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งไปคนละทาง สมมุติวันหนึ่งปัตตานีตั้งรัฐได้ ภาษามลายูปัตตานีเมื่อเทียบกับมลายูมาเลเซียจะมีลักษณะคล้ายภาษาลาวกับภาษาไทย คือเหมือนกันแต่นับวันก็ยิ่งต่างกัน เมื่อเทียบกับภาษามลายูในอาเซียนก็จะยิ่งต่าง เพราะมลายูปัตตานีมีศัพท์ภาษาไทยปนเยอะ เช่น คำว่า “อบต.” “ประชุม” “พัฒนาชุมชน” พูดง่าย ๆ คนไทยที่ไม่รู้ภาษามลายูจะฟังคำบางคำที่คนปัตตานีพูดได้ ขณะที่ผมต้องเริ่มใหม่หมดเพราะฟังไม่ได้ แม้จะรู้ภาษามลายูมาเลเซีย ส่วนภาษามลายูมาเลเซียนั้น ผมพบว่าได้รับอิทธิพลภาษาอังกฤษอย่างมากในเรื่องของการเรียงประโยค

การไปปัตตานีคือการไปเมืองไทยครั้งแรก
ไม่ใช่ครับ ผมสัมผัสเมืองไทยที่แรกคืออำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อนมาเมืองไทยผมมองว่าไทยเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสามอย่าง คือ นักเลง โสเภณี และคนเป็นเอดส์ สมัยนั้นการติดต่อสื่อสารไม่ดีเท่าสมัยนี้ คนมาเลเซียมีอคติจึงมองเมืองไทยแบบนั้น และส่วนมากก็เที่ยวหาดใหญ่เพื่อจุดประสงค์นี้ ผมรับมุมมองนี้มา จึงไม่ให้ความสำคัญกับเมืองไทยเลย จำได้ว่ายอมไปเที่ยวหาดใหญ่ช่วงสิ้นปีเพราะเพื่อนที่เป็นเจ้าของวันเกิดขอให้ไปด้วย นั่งแท็กซี่เข้าทางด่านปาดังเบซาร์ พอถึงหาดใหญ่ผมได้นิตยสารเล่มหนึ่ง ภาพปกเป็นรูปคุณนุก (สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา) ผมรู้แค่เขาเป็นนักร้องที่น่ารัก เลยไปร้านซีดี เอาปกนิตยสารให้คนขายดู ก็ได้ซีดีเพลงสองแผ่นกลับมาฟังที่มาเลเซียและชอบเพลง “ถอนสายบัว” มาก เป็นนิสัยของผมว่าถ้าติดใจก็อยากรู้ความหมายเลยเริ่มเรียนภาษาไทยด้วยตัวเองจากการฟังเพลง ลองฝึกเขียนเนื้อเพลงภาษาไทย ทำความรู้จักพยัญชนะ สระ เอานิทานอีสปภาษาไทยที่เราพอรู้โครงเรื่องอยู่แล้วมาอ่าน เอาหนังสือความรู้ทั่วไปสำหรับเด็กไทยมาอ่าน เอาพจนานุกรมมาเปิด จนพูดได้อย่างที่คุยกับคุณอยู่ตอนนี้

การได้เห็น ทำให้ความรับรู้เกี่ยวกับเมืองไทยเปลี่ยนไป
จริง ๆ ผมรับรู้ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านภาษามลายูและอังกฤษ ถ้าได้อ่านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวอร์ชันอื่นที่ไม่ใช่ภาษาไทย คุณจะรู้เลยว่าต่างจากที่คนไทยรับรู้มาก โลกมลายูคือมาเลเซียและอินโดนีเซียมองว่า “ปาตานี” ถูกสยามปกครองแบบ “อาณานิคม” นี่ไม่ใช่โลกทัศน์ของขบวนการ BRN ขบวนการเดียวแน่ คนมลายูจะเรียกสยามว่า “นักล่าอาณานิคม” (penjajah) พูดง่าย ๆ ว่ายังมีความรู้สึกเชิงศัตรู อย่างไรก็ตามช่วงก่อนปี ๒๕๔๗ ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง อย่างเต็มที่ผมได้ยินเพื่อนชาวมลายูที่แม่เป็นคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย บอกว่าพวกสยามใจดำ ขี้โกงฆ่าคนมลายูมากมาย ผมมองว่านี่เป็นเรื่องอดีตไม่ได้เกี่ยวกับปัจจุบัน

พอผมจบปริญญาโทชีวิตก็เคว้ง ไม่รู้จะทำอะไร ญี่ปุ่นเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจ งานก็มีแต่งานกะตามร้านเซเว่นฯ ผมอยากทำอะไรที่สร้างสรรค์และเกี่ยวกับภาษามลายูเลยตัดสินใจมาอยู่ที่ปัตตานีในปี ๒๕๔๒ บางทีก็กลับญี่ปุ่นไปทำงานระยะสั้น ๆ ไม่กี่เดือนแล้วก็เอาเงินกลับมาใช้ ผมอยู่แบบนี้จนแม่บอกให้หางาน อายุก็มากแล้ว โทร.ตามกลับบ้านทุกวันจนผมไม่อยากโทร.กลับบ้าน (หัวเราะ) แต่ยังไงผมก็ไม่อยากทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะเมืองใหญ่ คนเยอะ ติดใจปัตตานีแล้ว เลยหางานที่นี่ ไปสมัครสอนภาษาญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็อัตราเต็ม ไม่มีโควตาให้คนต่างชาติ จนปี ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยเปิดรับครูสอนภาษามลายู ผมก็สมัคร เป็นอันว่าผมได้มาสอนภาษามลายูตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงแรกที่อยู่ปัตตานี ผมเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ ตอนหลังย้ายมาอยู่บ้านเช่ารายเดือนโดยแชร์ค่าเช่ากับเพื่อนชาวออสเตรเลีย แต่ตอนนี้เขากลับประเทศไปแล้ว

อีกเรื่องหนึ่งคือก่อนปี ๒๕๔๙ ผมเคยได้ยินว่ามีคนภาคอื่นมาเรียนภาษามลายูที่ ม.อ.ปัตตานี ด้วย แต่ตอนนี้มีแต่คนในพื้นที่ ผมอยากให้คนไทยพุทธมาเรียนครับจะได้รู้จักคนมลายูมากขึ้น ตอนนี้มหาวิทยาลัยในภาคใต้หลายแห่งก็เปิดสอนภาษามลายูแล้ว

พอสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มรุนแรง อาจารย์เห็นอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่บ้าง
กลัวชิบ—เลย (หัวเราะ) ขี่มอเตอร์ไซค์ไปไหนก็กลัวว่าคันที่ขับสวนมาจะเอาปืนมายิง ทุกวันนี้ใช้ชีวิตในพื้นที่ตามปรกติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ผมต้องเรียนทุกวัน อยู่ไปก็รู้ว่าใครเป็นใคร ผมมองว่า “ความรุนแรง” เป็นยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่าย ถ้าคุณไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ คุณไม่ใช่เป้าหมาย ยกเว้นดันไปอยู่ในจุดที่วางระเบิดซึ่งโอกาสแบบนั้นมีน้อย สิ่งที่ผมไม่สบายใจก็แค่เวลานั่งกินน้ำชาในร้านแล้วทหารเข้ามา เราก็ต้องรีบออกมา จริง ๆ เจ้าหน้าที่รัฐน่าสงสาร เขากดดันกว่าเรามาก ผมอยากให้สังคมไทยสนใจคนเหล่านี้ เวลาแก้ปัญหาภาคใต้คุณประยุทธ์ (ผบ.ทบ.) คุณทักษิณ (อดีตนายกฯ) ไม่ตายแน่ คนที่ตายเป็นพลทหารรุ่นลูกศิษย์ผมทั้งนั้น น่าเสียดายว่าพวกเขาควรได้เรียนหนังสือมากกว่า

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้กระทบไปหมด ความเสียหายมีมากกว่าชีวิตและทรัพย์สินแล้ว เพราะส่งผลกับอคติของคนและสังคมในพื้นที่ สิ่งที่เห็นชัดคือคนท้องถิ่นระแวงกัน ช่วงแรกที่มาปัตตานีผมประทับใจที่เห็นคนมุสลิมกับพุทธนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ภาพนี้ต่างจากในมาเลเซียที่จีนนั่งกับจีน มลายูนั่งกับมลายู อินเดียนั่งกับอินเดีย แต่ตอนนี้เริ่มไม่เห็นในปัตตานีแล้ว ความระแวงมากขึ้น และถ้าไม่ระวัง สิ่งนี้จะกลายเป็นมรดกไม่ดีซึ่งถูกส่งทอดไปสู่คนรุ่นหลัง

ตอนเริ่มสอนภาษามลายู ผมพบว่านักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีทักษะภาษามลายูกลาง (บาฮาซามาเลเซียและอินโดนีเซีย) และภาษาไทย ดังนั้นลูกศิษย์รุ่นแรกคงงงและต้องใช้เวลาทำความเข้าใจสิ่งที่ผมสื่อสารกับพวกเขาอย่างลำบากเหมือนกัน ผมเองก็ต้องใช้เวลาทำให้ภาษาไทยเข้าที่ ทักษะระดับที่กำลังนั่งคุยกับคุณ ผมเพิ่งทำได้ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมานี่เอง อีกอย่างลูกศิษย์ผมเป็นมุสลิมแทบทั้งหมดและส่วนมากเป็นเด็กผู้หญิง เคยถามว่าผู้ชายหายไปไหน ส่วนหนึ่งยอมรับว่าผู้ชายบางคนขี้เกียจไม่ตั้งใจเรียน แต่อีกจำนวนหนึ่งไม่มีโอกาสเรียนเพราะต้องดูแลครอบครัวแทนหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิต เรื่องที่น่าสังเกตคือผู้ชายในพื้นที่ตกเป็นเป้าหมายของการใช้กฎหมายพิเศษ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะติดตัวผู้ประสบเหตุและคนข้างเคียงไปตลอดชีวิต บางครั้งผมให้การบ้านนักศึกษาไปอ่านหนังสือพิมพ์ภาษามลายู ให้เขียนรายงานข่าว ให้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ ปรากฏว่าหลายคนสัมภาษณ์พี่น้อง พ่อแม่ ญาติ คนในหมู่บ้าน คนเหล่านี้โดนมาหมด ถูกลอบยิง ถูกวางระเบิด มากที่สุดคือโดนเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมและทรมาน ได้รู้ตอนแรก ๆ ผมตกใจมาก

ที่เห็นชัดคือการใช้กฎหมายในพื้นที่ซ้อนกันสามฉบับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ (กฎอัยการศึกฯ) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ (พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ) กฎอัยการศึกฯ แค่นายทหารระดับนายพันก็ประกาศได้แล้ว เจ้าหน้าที่ความมั่นคงควบคุมผู้ต้องสงสัยได้ทันทีโดยไม่ต้องขอหมายจับจากศาล ควบคุมตัวได้โดยไม่จำกัดสถานที่ ๗ วัน เรียกว่าอุ้มได้ทันที ฐานะผู้ต้องหาแย่ยิ่งกว่าผู้ต้องหาในกฎหมายปรกติ ช่วงเวลานี้เองที่มักมีการซ้อมและทรมานเพื่อให้รับสารภาพ หลังจากนั้นจะต่ออายุด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งต้องมีหมายจับจากศาล เจ้าหน้าที่จะอาศัยช่วงคุมตัว ๗ วันตามกฎอัยการศึกฯ ไปเดินเรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กำหนดให้คุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และโรงเรียนตำรวจภูธร ๙ จังหวัดยะลา ถ้าญาติไม่มีเงินประกันก็ต้องติดคุกไปเรื่อย ๆ เพราะจะไปเจอกับ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ อีก

เพื่อนผมบางคนอยู่ในคุก ๒ ปี บางคน ๗ ปี คนหนึ่งชื่ออันวาร์ ติดคุกอยู่ ๑๒ ปี ทั้งที่ไม่เคยร่วมขบวนการก่อการร้ายเลย สุดท้ายศาลยกฟ้องเพราะหลักฐานไม่พอ ติดคุกฟรี แม้ที่ผ่านมาจะมีกรณีการฟ้องให้ชดเชยวันละ ๔๐๐ บาท แต่ก็ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป ที่น่าสนใจคือคดีความมั่นคงร้อยละ ๘๐ ศาลยกฟ้องหมด นั่นหมายถึงมีการจับกุมผิดตัวมากและด้วยกฎหมายพิเศษทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด เพราะกฎหมายห้ามฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ กรณีที่ดังมากคือคดีตากใบที่เจ้าหน้าที่จับกุมชาวมุสลิมจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกและพวกเขาเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ศาลบอกเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เอาคนมาลงโทษไม่ได้ กลายเป็น “อากาศที่ตากใบ” เป็นจำเลย

อาจารย์คิดว่ารากเหง้าของปัญหาภาคใต้คืออะไร
สาขาวิชาที่ผมเรียนสมัยปริญญาตรีเป็นภาษาศาสตร์เชิงสังคม ผมเคยศึกษาประวัติศาสตร์ภาษามลายูและโลกมลายูมาพอสมควร แต่ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญ มีสองอย่างที่ผมเห็นความต่างจากประวัติศาสตร์ไทยชัดเจน คือ หนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่ผมเรียน ไม่ว่าในภาษาญี่ปุ่น อังกฤษหรือมลายู ระบุว่าศรีวิชัยเป็นอาณาจักรของคนมลายู สอง มีศูนย์กลางที่เกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) สาม โลกมลายูมองสยามเป็นนักล่าอาณานิคม ทำให้ดินแดนมลายูบนคาบสมุทรแคบลง ดังนั้นไม่ใช่สยามเสียดินแดน แต่มลายูนี่แหละเสียดินแดน นอกจากนี้เอกราชของสยามเกิดจากฝรั่งเศสกับอังกฤษตั้ง “เขตกันชน” ขึ้นมา ซึ่งต่างจากที่ประวัติศาสตร์ไทยสอน

ก่อนหน้านี้ที่มีผู้เสนอว่าปัญหาภาคใต้มาจากเครือข่ายอาชญากรรมท้องถิ่นและเครือข่ายก่อการร้ายระดับโลก ผมจึงคิดว่ายังไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด ต้องมองประวัติศาสตร์ด้วย ปัจจัยส่วนหนึ่งคือการต่อสู้ของ “ชาวมลายูปาตานี” จะเห็นว่าผมใช้คำว่า “ปาตานี” เพราะเป็นชื่อเดิมของอาณาจักร “ปาตานีดารุสซาลาม” ที่คนมลายูในสามจังหวัดเชื่อว่าคือดินแดนดั้งเดิมของพวกเขา เห็นได้จากแถลงการณ์ของกลุ่ม BRN หลายชิ้นใช้ประโยค “สิทธิการเป็นเจ้าของของชาวมลายู” (hak ketuananMelayu) คำที่ผมยกมานี้หมายถึงได้ตั้งแต่ “เจ้าของดินแดน” “เอกราช” และ “โฉนดที่ดิน” พวกเขารับรู้ว่าสยามผนวกเขาในฐานะเมืองประเทศราช ก่อนแบ่งเป็นเจ็ดหัวเมืองแล้วผนวกกับรัฐไทยสมัยใหม่ ผู้ครองเมืองเชื้อสายมลายูถูกแทนที่ด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างไรก็ตามนี่เป็นเรื่องในอดีต เพราะถ้าใช้หลักเกณฑ์นี้ญี่ปุ่นก็เป็นส่วนหนึ่งของจีนเช่นกัน อีกปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ซับซ้อน คือทัศนคติชาตินิยมรุนแรงของคนไทยที่ไม่ยอมรับสิทธิของคนมลายูในพื้นที่ ผมมั่นใจว่าสองเรื่องนี้ คือ “ประวัติศาสตร์” และ “สิทธิที่ถูกปฏิเสธ” ทำให้เกิดปัญหา ไม่นับการจัดการของรัฐที่ใช้ความรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง ผมไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงของขบวนการใด แต่ผมก็เข้าใจได้ว่านี่อาจเป็นวิธีการเดียวในการต่อสู้ของพวกเขา

ถ้าอย่างนั้นการแก้ไขการรับรู้ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาภาคใต้
ใช่ครับ ที่สำคัญต้องสร้างประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องไทยอย่างเดียวหรือมลายูอย่างเดียว ต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นกลาง ที่ผ่านมาก็มีผู้พยายามทำ เช่น งานเขียนของ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่องภาคใต้หลายเล่มก็ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ระดับหนึ่ง เรื่องนี้เหมือนกับการแต่งงานกัน ก่อนแต่งงานต้องรู้ว่าเขามาจากไหน โตมายังไง คือพื้นฐานการทำความเข้าใจกันและกัน คนไทยควรศึกษาประวัติศาสตร์ “ปาตานี” ไม่ต้องยอมรับแต่ต้องรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ผมไม่ชอบแบ่งแยกว่าคนนี้เป็นแขก ญี่ปุ่น ไทย ปัจจุบันคนไทยมองคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “แขก” ขณะเดียวกันคนมลายูก็มองคนไทยเป็น “ออแฆ ซีแย” (สยาม) ต่างฝ่ายต่างดูหมิ่น มีอคติต่อกัน ต้องแก้ด้วยการพูดคุยและสร้างความเข้าใจกัน จะคุยแต่กับพวกเดียวกันไม่ได้

อาจมีคำถามว่าไทยแก้ คนมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ มาเลเซียหรืออินโดนีเซียไม่ได้แก้ แล้วจะมีประโยชน์อะไร
ถ้าเขาไม่เปลี่ยน คำถามคือทำไมไม่ชวนเขาคุย การเปลี่ยนของเราจะชวนให้เขาเปลี่ยนด้วย เขาจะรู้สึกว่าเฮ้ยสยามเปลี่ยนแล้ว เราต้องเปลี่ยนบ้าง แล้วทำไมเราไม่ชวนก่อน เขาจะทำไม่ทำแล้วแต่เขา ผมคิดว่าไม่ควรตั้งคำถามนี้ แต่ทำไปเลย ทำไปเถอะ ถ้าสำเร็จก็เป็นผลดี ไม่สำเร็จก็เปลี่ยนวิธี ลองสามสี่ครั้งไม่ได้ผลก็เปลี่ยนวิธีอีก วิธีคิดแบบนี้ผมเสนอให้ทำในกรณีปัญหาทางประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศในเอเชียทั้งหมดด้วย

อาจารย์พูดเรื่องกฎหมายพิเศษ ถ้าไม่ใช้ควรทำอย่างไร มีการก่อความไม่สงบทุกวัน เจ้าหน้าที่ก็ต้องการเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นกัน
ผมมองว่ากฎอัยการศึกฯ ไม่จำเป็นเพราะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น ผมกำลังวิจัยว่าจะทำได้ไหมถ้าใช้กฎหมายปรกติ คือประมวลกฎหมายอาญา ถ้าต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษก็ต้องมีระยะเวลาชัดเจน ที่ผ่านมากฎหมายเหล่านี้สร้างปัญหาและยกเลิกยาก เช่น กฎอัยการศึกฯ แค่ผู้บังคับการกองพันก็ประกาศใช้ได้แล้ว แต่เวลายกเลิกต้องใช้พระบรมราชโองการ ประกาศง่ายแต่เลิกยากมาก เราต้องมาดูกันว่าความรุนแรงเกิดขึ้นที่ไหน ถี่แค่ไหน ในปัตตานีช่วงนี้ (ธันวาคม ๒๕๕๖) สถานการณ์ปลอดภัยกว่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีการชุมนุมประท้วงและมีผู้เสียชีวิตเสียอีก ตรงไหนที่ปัตตานีอันตรายกว่ากรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯ ใช้แค่ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ และตอนนี้มีงานวิจัยออกมาในต่างประเทศแล้วว่าการใช้กฎหมายพิเศษของรัฐบาลไทยทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากว่า ๑๐ ปีแล้วนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนปี ๒๕๔๗