hara03คนเริ่มรู้จักอาจารย์ตั้งแต่เริ่มแปลแถลงการณ์กลุ่ม BRN ตั้งแต่ช่วงเริ่มเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย
ตอนนั้นเป็นช่วงหลังการลงนามเพื่อเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และอยู่ในช่วงก่อนการเจรจารอบ ๒ ในวันที่ ๒๙ เมษายน ในพื้นที่มีป้ายผ้า BRN แขวนหลายจุด แปลได้ว่า “สันติภาพจะไม่มีวันเกิดขึ้นตราบใดที่สิทธิของชาวมลายูไม่ได้รับการยอมรับ” มีคลิปของ BRN ออกแถลงการณ์ทาง YouTube แต่สื่อกระแสหลักของไทยแปลไปในเชิง BRN อยากล้มโต๊ะเจรจาทั้งที่เขาแสดงท่าทีพร้อมเจรจาแม้ท่าทีจะไม่ประนีประนอมนัก มีเงื่อนไขคือรัฐต้องยอมรับว่านี่แผ่นดินของเขาแล้วมาคุยกัน ผมไม่มีความรู้เรื่องสื่อแต่คิดว่าสื่อไทยไม่ควรพลาดและทำตัวเป็นอุปสรรคของการเจรจา หลายสำนักเผยแพร่คำแปลแต่ไม่ระบุที่มาว่าใครเป็นผู้แปล ผมคิดว่าความสับสนจะเกิดขึ้น พยายามบอกนักข่าวที่รู้จักกันว่าบทแปลที่เผยแพร่อยู่นั้นไม่ถูกต้อง ผมจึงตัดสินใจแปลเอง แถลงการณ์ออกมาวันที่ ๒๓ เมษายน ผมแปลช่วงหัวค่ำวันที่ ๒๗ เมษายน รุ่งขึ้นต้องขึ้นเครื่องบินกลับญี่ปุ่นตอนตี ๕ ผมเอาขึ้นเฟซบุ๊กและ Blog ในเว็บไซต์ของ “ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้” (Deep South Watch-DSW เว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org) ผมยอมรับว่าภาษาไทยยังไม่ดีเลยวงเล็บว่า “ชั่วคราว” เพื่อรอคนเก่งภาษาไทยมาปรับในภายหลัง ตอนหลังนักข่าวไทยก็นำไปใช้

แถลงการณ์นี้ยาวพอสมควร (ดูรายละเอียดแถลงการณ์ในล้อมกรอบ) สิ่งที่น่าสนใจคือเรียกสยามเป็น “นักล่าอาณานิคม” หรือ “penjajah Siam” ผมแปลคำนี้โดยคำนึงบริบทและความรู้สึกของ BRN ศ. ดร. รัตติยา สาและ (อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษามลายู สาขาวิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคม-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ) คัดค้านผม ท่านแปลว่า “ผู้ยึดครอง” ซึ่งผมมองว่าไม่ตรงกับที่ BRN คิด ผมอาจไม่เก่งภาษาไทยแต่เข้าใจภาษามลายูดี คำว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม” ไม่ใช่คำเก่า ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีในฐานะส่วนหนึ่งของโลกมลายู ไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งของไทย ในทัศนคติคนมลายูมองว่าการปกครองของสยามนั้นเป็นแบบอาณานิคม

ผมแปลแถลงการณ์นี้ไม่ได้อยากดัง (หัวเราะ) ก่อนหน้านี้ทราบว่า BRN พยายามติดต่อสื่อทางเลือกในพื้นที่ที่เขาไว้ใจให้เผยแพร่แถลงการณ์ภาษามลายู แต่เพราะกฎหมายพิเศษ สื่อหลายแห่งถูกยุบและปิดตัว บางสื่อโดนอุ้มไปเลย มีการเสนอว่าจะติดต่อสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น Reuters แต่ไม่สำเร็จ

หลังจากแปลแถลงการณ์นี้ ชีวิตผมเปลี่ยนไป มีคนเข้ามาหามากขึ้น จากเดิมมาหาผมในฐานะคนญี่ปุ่นที่สอนภาษามลายู กลายเป็นสื่อไทยเริ่มเข้ามาหาผมเรื่องภาคใต้มากขึ้น

เพราะบางคนมองว่าอาจารย์เป็นกระบอกเสียงให้ BRN
ผมแปลกใจที่ได้ฉายา “กระบอกเสียงของ BRN” ทั้งที่ไม่เคยเจอใครที่แสดงตัวเลยว่าเป็น BRN ต้องยอมรับว่าองค์กร BRN รักษาความลับได้ดี แต่ผมไม่ปฏิเสธว่าคนรู้จักของผมอาจเป็นหนึ่งในขบวนการก็ได้ เพียงแต่ผมไม่รู้ หรือไม่แน่ว่าเขาอาจมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่ BRN ก็ได้ หรือบางทีอาจมาทางเฟซบุ๊ก แต่เรื่องนี้พิสูจน์ยาก บางครั้งผมเจอคนขึ้นรูปโปรไฟล์เป็นธงปาตานีและใช้นามแฝง พอเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นก็จะส่งข้อมูลบางอย่างมา บางครั้งก็แสดงความเห็นแบบหลังไมค์ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ผมไม่ตอบ เพราะไม่สะดวกจะคุยกับคนที่ไม่แสดงตัว เฟซบุ๊กบางบัญชีที่ผมเห็นน่าจะจัดทำโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเพื่อหาข่าวก็มี

ก่อนจะมาแปลแถลงการณ์ BRN อาจารย์ได้สัมผัสกับความรุนแรงในภาคใต้ด้วยตนเองหรือไม่
ในช่วงก่อนจะแปลแถลงการณ์ ผมเคยทำงานอื่นนอกจากสอนหนังสือ คือเป็นล่ามให้นักข่าวต่างประเทศที่มาทำงานในพื้นที่จากสองสำนักข่าว คือ อัลจาซีรา (Al Jazeera) และไทม์ (TIME) ทำให้ผมเห็นความลำบากในการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งมักเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ นักข่าวต่างประเทศต่างจากนักข่าวไทยคือหาข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่กลัวที่จะตั้งคำถามล่อแหลม ยอมเหนื่อย ถ้าได้แหล่งข่าวใหม่ เย็นย่ำแค่ไหนก็จะไปหา เรียกได้ว่าผมต้องสละเวลาทั้งวันให้เขา เขาจะไม่พอใจกับแหล่งข่าวสำเร็จรูป คือแหล่งข่าวที่รู้จักซ้ำ ๆ กัน แต่จะหาคนที่อยู่ใกล้เหตุการณ์ที่สุด ให้ความสำคัญต่อการแปลภาษามากเพื่อสื่อสารออกไปสู่โลกภายนอก เช่นกรณีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี คือ สุไลมาน แนซา ที่แขวนคอตายอย่างผิดธรรมชาติ คือแขวนคอตายแต่ตัวติดดิน และศพผู้ต้องหามีรอยถูกทรมาน แพทย์ในพื้นที่ยืนยันว่าเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย แต่นักข่าวอัลจาซีราสืบต่อจนพบคนที่ถูกขังในช่วงเดียวกับผู้เสียชีวิตและอยู่ในห้องควบคุมใกล้กัน เราได้สัมภาษณ์เขาสองครั้งและได้ข้อมูลอีกด้านที่น่าจะยืนยันว่ามีการทรมานนักโทษเกิดขึ้น (อ่านกรณี สุไลมาน แนซา ในล้อมกรอบ)

การทำงานล่ามในพื้นที่น่ากลัวมาก แต่สักพักความกลัวก็ลดลง การทำงานกับนักข่าวสืบเคสนี้ในช่วงต้นปี ๒๕๕๖ สำคัญมากครับ ทำให้ผมเห็นอะไรมากมาย และเมื่อแปลแถลงการณ์ BRN ผมก็ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พยายามหาข้อมูลใหม่ ๆ แต่บางครั้งมีกรณีข้อมูลบางอย่างจู่ ๆ “มาเอง” คือมีคนติดต่อมา อาจเพราะผมเป็นคนต่างชาติ เป็นนักวิชาการและเข้าใจภาษาของทั้งสองฝ่าย เขาคงคิดว่าผมเป็นกลางมากกว่าคนอื่น

อาจารย์ได้ไปร่วมจัดรายการวิทยุภาษามลายูด้วย
ชื่อสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน “สลาตัน” หรือ Media Selatan Radio เป็นวิทยุชุมชนออกอากาศเป็นภาษามลายูปาตานี ผมไม่เกี่ยวข้องกับการบริหาร แต่ไปร่วมรายการชื่อ “โลกวันนี้” (Durai HaniIni) เป็นรายการนานาสาระ สัปดาห์ละครั้ง ผมคิดว่า BRN ไว้ใจสถานีวิทยุนี้กว่าสื่อกระแสหลัก เคยให้สัมภาษณ์กับรายการนี้และส่งแถลงการณ์ให้หลายครั้ง ตอนที่เผยแพร่แถลงการณ์ BRN ครั้งแรก ผมมองว่าสื่อจำนวนมากในพื้นที่ยังกลัวกฎหมายพิเศษ เลยคิดว่าต้องนำร่องจึงแปลและนำไปเผยแพร่ในรายการด้วย ผมตัดสินใจทำเพราะมีสถานะได้เปรียบกว่าหลายคน คือเป็นอาจารย์สอนหนังสือและเป็นคนญี่ปุ่น มีคำตอบและคำอธิบายชัดเจนว่ากำลังทำอะไร จนตอนนี้ก็มีสื่อท้องถิ่นหลายรายเริ่มกล้าที่จะพูดถึงเรื่องนี้แล้ว เพียงแต่เขามาจับตามองผม ผมยังมี Blog ในเว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่ก่อตั้งเพื่อหาพื้นที่ตรงกลาง นำเสนอข้อมูลถกเถียงกันเพื่อขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่ ผมอาศัยพื้นที่ของเขาให้ข้อมูลเท่าที่ทำได้และร่วมกิจกรรม ข้อดีคือศูนย์ฯ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทยพุทธด้วย

ตั้งแต่เข้ามาจับเรื่องแบบนี้เคยถูกคุกคามบ้างไหม
เคยครับ ลักษณะข่มขู่ คือมีเจ้าหน้าที่โทร.มาเชิญไปพบ ผมก็ไปแล้วเขาก็แสดงหนังสือคำสั่งราชการมีเนื้อหาประมาณว่านายฮารา ชินทาโร่ น่าสงสัยว่ากำลังสร้างความแตกแยกในสังคม ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามพฤติกรรมบุคคลดังกล่าว เขาส่งให้ผมอ่าน ผมก็ถามว่าจะควบคุมตัวหรือจะให้ทำอะไร เขาตอบว่าอาจารย์ต้องระมัดระวัง ผมมองว่านี่คือการเตือนด้วยวิธีการนอกระบบ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องมาเสียเวลาทำอะไรแบบนี้ การทำแบบนี้ส่งผลให้นักวิชาการมลายูในพื้นที่จำนวนมากอยู่ในสภาพอัมพาต หลายคนมีความเห็นทางการเมือง แต่เลือกที่จะเงียบ เรื่องนี้ผมไม่บอกที่บ้านนะ ไม่อยากให้เขาเป็นห่วง

มองกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมาอย่างไร
การเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่ม BRN กับรัฐบาลไทย ผมไม่ตั้งคำถามว่ากลุ่ม BRN เป็นตัวจริงที่รัฐต้องเจรจาด้วยหรือไม่ เพราะได้ข้อมูลมาชัดแล้วว่าเขาคือตัวจริงแน่ เช่นเดียวกับคำถามประเภท อุสตาซฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของ BRN สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้หรือไม่ ? ซึ่งเขาคุมไม่ได้อยู่แล้ว อุสตาซ ฮัสซัน ตอยิบ ไม่ต่างจากพลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย ทั้งคู่มีสถานะตัวแทนเจรจา แต่การคุมกำลังหรือทหารไม่ใช่หน้าที่ของเขา

การเจรจาเป็นทางออกเดียวของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไม่คุยกันก็ต้องใช้ความรุนแรงซึ่งมีแต่สร้างความเสียหาย ตอนนี้คนในพื้นที่รู้สึกว่า ๑๐ ปีแล้ว ตายฟรี ๖,๐๐๐ คนแล้ว ต้องมาเจรจาว่าจะทำอย่างไร ขอให้เข้าใจว่านี่คือสงครามที่ไม่มีฝ่ายไหนเอาชนะได้ ถ้า BRN โจมตีกองทัพเขาก็สู้ไม่ได้เพราะเสียเปรียบ กองทัพจะปราบเขา เขาก็หนีไปมาเลเซีย พอกองทัพกลับ BRN ก็กลับมาก่อเหตุ ดังนั้นไม่มีใครชนะเด็ดขาด การเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมาจุดอ่อนคือคนพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมใด ๆ พวกเขาจับมือคุยกันข้ามหัวคนพื้นที่

ล่าสุดที่กระบวนการเจรจาหยุดชะงักไม่ได้หมายความว่ากระบวนการทั้งหมดจะล้ม ผมมองว่าเป็นบทเรียนให้เราเห็นจุดอ่อนของหลายฝ่าย สิ่งที่ผมเห็นคือ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ยังไม่เป็นเอกภาพ ขาดยุทธศาสตร์เคลื่อนไหว ช่วงนี้ควรถือโอกาสสร้างน้ำหนักให้มีส่วนในการเจรจา รัฐบาลไทยก็ไม่มีเอกภาพ บ่อยครั้งที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ไปคนละทางกับพลโทภราดร เลขาฯ สมช. แต่ละหน่วยงานยังออกมาพูดตามใจชอบ ไม่มีนโยบายภาพรวมที่ชัดเจน รัฐบาลยิ่งลักษณ์โยนภาระให้พลโทภราดรทำ แต่ไม่มีใครเดินตามเลย ตัว BRN เองก็ต้องปรับปรุงในการต่อสู้ สิ่งที่ต้องทำคือรักษาความชอบธรรม การใช้ความรุนแรงกับเป้าหมายทำให้องค์กรสูญเสียสิ่งนี้ ไม่มีเหตุใดที่จะทำให้เราฆ่าคนที่ไม่มีอาวุธได้ เรื่องนี้ต้องหยุด BRN ควรแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อย่างนั้นความชอบธรรมของ BRN จะลดลง คนที่ดูอยู่ก็หวังว่า BRN จะเน้นต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้มากขึ้น

ล่าสุดที่ ฮัสซัน ตอยิบ แถลงผ่านทางเว็บไซต์ YouTube เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ ว่าเขาเป็น “อดีตหัวหน้าคณะเจรจาของ BRN” และกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับเงื่อนไขห้าข้อที่มีมาตั้งแต่ต้น อาจหมายความว่าชุดเจรจา BRN ยังอยู่ หรือ BRN ไม่ประสงค์เจรจาอีกก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าช่องทางปิดลง ผมมองว่าช่องทางยังมีอยู่ แต่ประตูถูกล็อก เพื่อจะเปิดล็อกรัฐบาลไทยอาจต้องทำแบบรัฐบาลฟิลิปปินส์ คือแสดงความจริงใจด้วยการให้กลุ่มต่อต้านเข้าพบพูดคุยกับประธานาธิบดี กรณีไทยคือนายกรัฐมนตรี

แถลงการณ์ของ BRN นี้ยังใช้คำค่อนข้างรุนแรงอยู่ ฮัสซัน ตอยิบ บอกว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นเมื่อ “นักล่าอาณานิคมสยาม” ยอมรับข้อเรียกร้องห้าข้อ (อ่านในล้อมกรอบ) และเขาส่งแถลงการณ์นี้ให้รัฐบาลมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา น่าสนใจว่าสิ่งที่ ฮัสซัน ตอยิบ ขอ คือให้รัฐบาลไทยมีเสถียรภาพ หลังเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา เขาคงไม่ชอบนักที่ ผบ.ทบ. กับเลขาฯ สมช. ของไทยพูดกันคนละทาง เขาอยากเจรจากับฝ่ายที่มีเอกภาพ เรื่องนี้ผมมองว่าสมเหตุสมผล พูดง่าย ๆ ว่าให้ฝ่ายของท่านแก้ปัญหาภายในก่อน ผมมองว่า BRN เป็นมิตรครับ อย่ามองเขาเป็นศัตรู มองเขาในฐานะคู่เจรจา เพราะบางเรื่องเขาเสนอเอื้อฝ่ายไทยด้วยซ้ำ ในแถลงการณ์นี้ BRN มองว่ารัฐบาลไทยควรมีเสถียรภาพและต้องการให้การเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่เขาไม่ต้องการที่สุดคือการชะงักงันของการเจรจาเมื่อเกิดการเปลี่ยนรัฐบาล

ผมมีข้อสังเกตว่า ในทางกฎหมาย การปฏิบัติกับ “กบฏ BRN” กับ “กบฏนายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ต่างกัน คุณสุเทพพาผู้ชุมนุมยึดสถานที่ราชการ แต่ไม่โดนปราบ ถ้า BRN ทำจะเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายความมั่นคงคงอาศัยกฎหมายพิเศษคุมตัวพวกเขา ที่ผ่านมากรณีชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีการสลายการชุมนุมและมีผู้เสียชีวิตไป ๗๘ ราย เนื่องจากถูกจับกุมไว้บนรถบรรทุกจนขาดอากาศหายใจ ผมขออ้างอิงคำพูดคุณสุเทพในหนังสือพิมพ์ New York Post ฉบับวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่บอกว่าเจ้าของแผ่นดินลุกขึ้นเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืน ไม่ต่างกับกรณี BRN เรียกร้องสิทธิชาวมลายูปาตานี ข้อต่างอีกอย่างคือ ข้อเรียกร้องคุณสุเทพหลุดจากกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ของ BRN อิงกับกรอบรัฐธรรมนูญไทยทั้งหมด ฝ่ายหนึ่งเสนอเรื่องนอกรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นอะไร แต่อีกฝ่ายเสนอในกรอบ รัฐไม่ยอมเจรจาด้วย คำถามคือทำไมจึงได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันขนาดนี้ ทั้งที่ทั้งคู่โดนมองว่าเป็นกบฏเช่นเดียวกัน ผมกำลังชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อเรียกร้องของ BRN ชอบธรรมหรือไม่ และบางข้อรัฐน่าจะรับได้อย่างสบาย