บัญชา ธนบุญสมบัติ
buncha2509@gmail.com, www.facebook.com/buncha2509
ค้นหาความเหมือนในความต่าง ค้นหาความต่างในความเหมือน
พบกับความจริงและความงดงามที่แฝงในคู่ขนานของสรรพสิ่ง

มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะหิน หรือ rock art ไว้มากมาย ผลงานเหล่านี้เปรียบเสมือนหน้าต่างแห่งกาลเวลาที่ทำให้เราได้เห็นอดีตอันไกลแสนไกล (อย่างน้อยก็ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขา)  ในบทความนี้ผมคัดเลือกตัวอย่างที่โดดเด่นมานำเสนอและให้ข้อมูลไว้พอสังเขป เชิญชมได้เลยครับ

สุดยอดศิลปะหิน rock art ระดับโลก

ถ้ำอัลตามีรา (Cave of Altamira)

สถานที่ : ประเทศสเปน
อายุ : ๑๔,๐๐๐-๑๖,๐๐๐ ปี
ผู้ค้นพบ : มาร์เซลีโน ซันซ์ เด เซาโตวลา (Marcelino Sanz de Sautuola) และลูกสาวชื่อ มารีอา (María)
ปีที่ค้นพบ : ค.ศ. ๑๘๗๙

นี่คือถ้ำแห่งแรกที่มีการค้นพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติ-ศาสตร์ อีกทั้งภาพยังมีความงดงามและสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อจนเกิดการโต้แย้งในวงการวิชาการยาวนานกว่า ๒๐ ปี กว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานของมนุษย์ยุคหินเก่าเซาโตวลามีอาชีพเป็นทนาย แต่เนื่องจากเขาฐานะดีเพราะเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก ทำให้ไม่จำเป็นต้องทำงาน จึงมีเวลาศึกษาสิ่งต่างๆ ที่สนใจ เช่น ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ เรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เขาเดินทางไปยังเนินเขาอัลตามีราและทราบจากชาวนาท้องถิ่นคนหนึ่งว่าเนินเขานั้นมีถ้ำ แม้เขาสังเกตเห็นสัญลักษณ์สีดำบนเพิงหินแต่ก็ไม่ได้สนใจมากนัก

ค.ศ. ๑๘๗๙ เซาโตวลาได้เดินทางไปยังบริเวณถ้ำนั้นพร้อมลูกสาววัย ๘ ขวบ  ขณะเขาก้มหน้าก้มตาขุดพื้นถ้ำเพื่อหาชิ้นส่วนโบราณ ลูกสาวของเขาก็มองเห็นภาพสัตว์มากมายบนผนังและเพดานถ้ำจึงร้องบอกพ่อ

เซาโตวลากับนักโบราณคดีอีกคนร่วมกันศึกษาผลงานของมนุษย์โบราณในถ้ำดังกล่าว และตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๘๘๐ แต่การค้นพบนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากวงการวิชาการขณะนั้น ด้วยเหตุว่าภาพวาดสวยงามและสมบูรณ์แบบเกินไป (ถึงกับกล่าวหาว่าทำปลอมขึ้น)  กว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นของแท้ เวลาก็ล่วงเลยถึง ค.ศ. ๑๙๐๒ ซึ่งเซาโตวลาเสียชีวิตไปแล้ว ๑๔ ปี

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่ศิลปินเรืองนาม ปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) ได้เยี่ยมชมภาพเขียนฝีมือมนุษย์ยุคหินเก่า ณ ที่แห่งนี้ เขาถึงกับพูดว่า “ผลงานทั้งหลายที่ตามมาหลังจากภาพเขียนที่ถ้ำอัลตามีรา ล้วนเป็นงานชั้นรองทั้งสิ้น”

rockart02

ถ้ำลาสโก (Lascaux Cave)
สถานที่ : ประเทศฝรั่งเศส
อายุ : ๑๗,๓๐๐ ปี
ผู้ค้นพบ : มาร์แซล ราวีดา (Marcel Ravidat) และเพื่อนวัยรุ่นอีกสามคน
ปีที่ค้นพบ : ค.ศ. ๑๙๔๐

ถ้ำลาสโกมีภาพต่างๆ ร่วม ๒,๐๐๐ ภาพ โดยอาจแบ่งเป็นกลุ่มหลักสามกลุ่ม ได้แก่ ภาพสัตว์ ภาพคน และภาพสัญลักษณ์เชิงนามธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนสี มีเพียงบางส่วนใช้การแกะเซาะหินเป็นรูปภาพในบรรดาภาพสัตว์กว่า ๙๐๐ ภาพ สามารถระบุชนิดสัตว์ได้ชัดเจนจำนวน ๖๐๕ ภาพ ซึ่งในจำนวนนี้มีม้า (equine) มากถึง ๓๖๔ ภาพ และกวางตัวผู้ (stag) ๙๐ ภาพ

บริเวณน่าสนใจที่สุดในถ้ำเรียกว่า The Great Hall of the Bulls มีภาพวัว ม้า และกวางตัวผู้ จำนวนรวม ๓๖ ตัว  ภาพสัตว์โดดเด่นที่สุดตรงนี้คือ ภาพวัวป่าออรอกส์ (aurochs) จำนวน ๔ ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภาพวัวขนาดยักษ์ยาวถึง ๕.๒ เมตร (๑๗ ฟุต) อันถือว่าเป็นภาพสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาศิลปะถ้ำทั้งมวลเท่าที่เคยค้นพบ

rockart03

เทือกเขาอะคาคัส (Acacus Mountains)
สถานที่ : ประเทศลิเบีย (อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ ในเขตทะเลทรายซาฮารา)
อายุ : ช่วง ๑๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. ๑๐๐

เทือกเขาอะคาคัสมีชื่อเรียกภาษาท้องถิ่นว่า Tadrart Acacus คำว่า tadrart ในภาษาเบอร์เบอร์ (Berber language) แปลว่า ภูเขา (เป็นรูปคำที่บ่งถึงสตรีเพศ หากหมายถึงบุรุษเพศจะใช้ว่า adrar)  บริเวณนี้พบศิลปะหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมากศิลปะหินดังกล่าวมีทั้งภาพลงสี (pictograph) และภาพสลักรูปรอยบนหิน (petroglyph) แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ภาพเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ราว ๑๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชเรื่อยมาถึง ค.ศ. ๑๐๐ จึงสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทั้งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติวิทยาในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่นเมื่อราว ๙,๐๐๐ ปีก่อน พื้นที่บริเวณนี้มีทะเลสาบและป่าไม้เขียวชอุ่ม ทั้งยังมีสัตว์ใหญ่ดังที่ปรากฏภาพยีราฟ ช้าง และนกกระจอกเทศ

rockart04

ถ้ำเอลกาสตีโย (Cave of El Castillo)
สถานที่ : ประเทศสเปน
อายุ : ๔๐,๘๐๐ ปี

ค.ศ. ๒๐๑๒ National Geographic News รายงานว่า มีการค้นพบศิลปะถ้ำอายุเก่าแก่ที่สุดในถ้ำเอลกาสตีโย ประเทศสเปน เป็นภาพจุดกลมสีแดงและภาพกางฝ่ามือทาบแล้วพ่นสีลงไป โดยภาพเก่าที่สุดคือภาพจุดกลมสีแดงซึ่งมีอายุอย่างต่ำ ๔๐,๘๐๐ ปี วิธีระบุอายุใช้อัตราการสลายตัวของยูเรเนียมในตะกอนแคลเซียม (calcium deposit) ซึ่งตะกอนนี้เกิดขึ้นบนสีที่ใช้วาดภาพแง่มุมสำคัญที่นำไปสู่การถกเถียงในแวดวงวิชาการคือ อายุของภาพดังกล่าวทำให้นักวิชาการบางคนเสนอว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) อาจเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนี้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงวงการวิชาการก็ต้องให้เครดิตใหม่ว่า ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะถ้ำพวกแรกสุดคือ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ไม่ใช่มนุษย์ โฮโมเซเปียนส์น่ารู้ด้วยว่าในถ้ำแห่งนี้ยังพบภาพม้าและวัวไบซัน แต่เป็นภาพที่ใหม่กว่าและวาดขึ้นหลังมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลสูญสิ้นจากโลกแล้ว
ประตูทะลุมิติ ผู้อ่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม อาจค้นหาด้วยคำว่า rock art, cave painting และชื่อสถานที่ต่างๆ ตามที่ให้ไว้

ขอขอบคุณ อาจารย์ณงลักษณ์ จารุวัฒน์  สำหรับการออกเสียงภาษาสเปน และอาจารย์จารุกัญญ์ จิตรวงศ์นันท์  สำหรับการออกเสียงภาษาฝรั่งเศส