งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน : สุรพันธุ์ เจริญปฐมตระกูล
ภาพ : ปารินทร์ ทรงวัฒนา

เรื่องของช้าง “หนึ่งเอกลักษณ์ไทย”

“ป๊ะ ป๊ะ ป๊ะ” ควาญช้างสั่งการช้างเพศเมียขนาดสูงกว่าคนนิดหน่อย ‘พังฟ้ารุ่ง’ อายุ7ปี หยุดวางหญ้าแห้งที่ใช้งวงคีบไว้ และยืนสงบนิ่งเชื่อฟังคำสั่งของควาญช้างแต่โดยดี

พี่สุริยา สมหวัง ควาญช้างผู้ดูแลพังฟ้ารุ่ง ในชุดสีแดงขีดเหลือง แบบชุดควาญโบราณ ข้างเอวเหน็บมีดพก พร้อมถือตะขอสำหรับใช้บังคับช้าง หน้าที่ของควาญช้างที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เหมือนเช่นทุกวัน ควาญช้างต้องคอยออกคำสั่งเป็นภาษาพูดสื่อสารกับช้างที่ตนดูแล บังคับให้ช้างโชว์และคอยบริการถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวที่แวะมาดูช้าง และนั่งช้างชมเมืองที่อยุธยาแห่งนี้

เบื้องหลังลานพักช้าง เป็นโบราณสถานเก่าแก่สำคัญของชาติ แต่งแต้มบรรยากาศด้วยช้างนับสิบเชือกในชุดทรงช้างศึก ช้างแต่ละเชือกคอยพลัดกันให้บริการนักท่องเที่ยวนั่งชมโบราณสถานบริเวณรอบกรุงเก่า …..ผมขอใช้บริการนั่งช้างบ้าง นับเป็นครั้งแรกที่ผมใกล้ชิดกับช้างขนาดนี้ แต่ในความเป็นจริง คนไทยกับช้างผูกพันกันมาอย่างยาวนาน และหากมองย้อนไปในอดีต มีตำนานและบันทึกมากมายเกี่ยวกับช้าง ดูคล้ายสัตว์ใหญ่น่ารักชนิดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทยและใกล้ชิดกับคนไทยเสียมากจริงๆ

elephant02

elephant03

เป็นช้างศึกคู่พระบารมี

“ชีวิตของผม หรือแม้แต่ชีวิตของคนอื่น ซึ่งเกิดมาในเมืองไทยของเรานี้ ช้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยมาก เราเกิดมาเป็นคนไทยแล้วนึกถึงเอกราชที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ก็มิใช่ช้างดอกหรือที่มีส่วนช่วยกอบกู้เอกราชบ้านเมืองเอาไว้ได้”

มรว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช จากหนังสือ ช้างในชีวิตของผม

ตามบันทึกในพงศวดาร ช่วง พ.ศ.2091 ราชสำนักไทยอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพตีกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กษัตริย์ของไทย (ฐานะจอมทัพ) พระอัครมเหสีทรงเครื่องเป็นพระมหาอุปราช พร้อมพระราชโอรสสองพระองค์คือ พระราเมศวรและพระมหินทราธิราช เสด็จยกทัพออกตรวจดูข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีเห็นเข้า นึกว่าอยุธยากำลังเตรียมทำสงคราม พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พร้อมพระเจ้าแปรจึงยกทัพประจันหน้ากับกำลังฝั่งไทย การรบเริ่มติดพันและประชิดตัวเข้า ทำให้ช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิ์ทรงตื่นวิ่งหนี…เหตุการณ์ตำนานเกี่ยวข้องกับช้างเรื่องนี้นำไปสู่ปฐมบทหนึ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

…เมื่อช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิ์ตื่นวิ่งหนี เนื่องจากการประชิดตัวของข้าศึก พร้อมทั้งช้างพระเจ้าแปรไล่ตามจี้มาไม่ห่าง พระศรีสุริโยทัยในเครื่องทรงมหาอุปราช ทรงเกรงว่าพระสวามีจะเป็นอันตราย จึงไสช้างเข้าขวาง พระเจ้าแปรจึงทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระสุริโยทัย ยุทธหัตถีครั้งนั้น ช้างพระเจ้าแปรได้เสยช้างพระสุริโยทัย จนเท้าหน้าทั้งสองลอยพ้นพื้นดิน พระเจ้าแปรก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ร่างพระศรีสุริโยทัยขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์บนหลังช้างทันที

พอถึงคราวในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ได้รวบรวมสรรพกำลังจนกล้าแกร่ง เตรียมขยายอำนาจแล้วก็เริ่มเล็งยึดสยามประเทศด้วยจึงหาเรื่องรุกรานประเทศไทยโดยมีตัวละคร ‘ช้าง’ เป็นส่วนสำคัญของเหตุแห่งเรื่องราวตามบันทึก

…พม่าทำทีส่งราชสาสน์ขอช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรรดิ์ 2 เชือก โดยในความเป็นจริงแล้ว เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ช้างเผือกเป็นคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นหากไทยยกช้างเผือกให้ตามคำขอ เท่ากับเป็นนัยว่าไทยจะเป็นเมืองขึ้นของพม่า ด้วยเหตุนี้เองที่พม่าจึงเอาเหตุผลขัดแย้งที่ไทยขัดขืนพม่านี้เป็นข้ออ้าง จนเกิด “สงครามช้างเผือก” ในปี พ.ศ. 2106 สงครามช้างเผือกหนนั้น กองทัพไทยอ่อนแอเหลือกำลังจึงจำยอมเป็นไมตรีกับทางหงสาวดี อีกทั้งในแต่ละปีต้องคอยส่งเครื่องบรรณาการอีกด้วย หนึ่งในเครื่องบรรณการคือ ช้างเผือก 4 เชือก และให้ช้างพม่าอีกปีละ 30 เชือก อันจะสังเกตได้ว่าในสมัยนั้นช้างถือเป็นสัตว์มีค่า เช่นเดียวกับเงินทอง และข้าวที่มักใช้เป็นเครื่องบรรณาการ

เรียกได้ว่าในสมัยนั้น ช้างมีบทบาทต่อการเมืองระหว่างประเทศในสมัยอยุธยาอย่างมาก นอกจากเป็นช้างศึกใช้ในยามสงครามแล้ว ความสำคัญของช้างไม่ได้เป็นเพียงสัตว์ที่ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ยังสัตว์เป็นสำคัญเคียงคู่พระมหากษัตริย์ในแง่สัตว์คู่พระบารมีอีกด้วย

…ต่อมาในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ จารึกประวัติศสาสตร์ในช่วงของสมเด็จพระนเรศวร โดยเฉพาะสงครามยุทธหัตถี ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับพระมหากษัตริย์อย่างแนบแน่น ประวัติศาสตร์การฟาดฟันระหว่างไทยกับพม่า ปรากฏชัดในตำนาน และบทบาทที่เด่นชัดในครานี้นั้นเอง ที่ช้างไทยได้ประกาศก้องเป็นจารึกสำคัญ ดั่งวลีที่ว่า “ช้างสร้างชาติ”

กล่าวคือ ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 ณ ตำบลหนองสาหร่าย แขวงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง ‘เจ้าพระยาไชยานุภาพ’ ได้ทำการยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดีที่ทรงช้าง ‘พลายพัทกอ’ ศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเรศวรได้รับชัยชนะเหนือทัพพม่า และช้างศึกของพระองค์ได้แสดงความกล้าหาญร่วมรบกับพระนเรศวรจนได้รับชัยชนะ

elephant04

elephant05

elephant06

เป็นวิถีช้างไทยคู่สยาม

ในจดหมายเหตุของ ‘ฟอร์บัง’ นายเรือโทชาวฝรั่งเศส สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่ง ฟอร์บังได้เข้าเฝ้าติดตามดูการคล้องช้างกับพระนารายณ์ และจดบันทึกถึงสิ่งที่พบ ความตอนหนึ่งว่า

“คนพื้นที่ประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็นบุคคลชั้นไหน เขาขึ้นนั่งคอช้างกันทั้งนั้น และทำการบังคับช้างด้วยตนเอง ยกเว้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว นอกเสียจากว่าเวลาออกศึกเท่านั้น คนไทยใช้สัตว์โตเหล่านี้ทำงานต่างๆ มันทำงานเหมือนคนรับใช้ เช่น ให้เลี้ยงเด็ก มันก็จะเอางวงอุ้มเด็กลงในเปลแล้วไกวจนเด็กหลับ และแม่ของเด็กต้องการอะไรก็สั่งให้ช้างไปหยิบมาได้”

การสนทนาระหว่างฟอร์บังกับพระนารายณ์ที่แสดงให้เห็นความฉลาดเฉลียวของช้าง และความสัมพันธ์ที่ช้างเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ความว่า

“ช้างตัวที่เรา(พระนารายณ์)ขี่อยู่เดี๋ยวนี้ เป็นตัวอย่างช้างฉลาดได้ไม่สู้นานนัก …ควาญคนหนึ่งได้ตัดอาหารลงให้มันกินแต่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น มันจะกล่าวโทษควาญก็พูดไม่ได้ มันจึงแผดเสียงดังลั่นไปทั่วพระราชวัง เราเดาไม่ถูกว่าเหตุใดมันจึงร้อง เราจึงมีความสงสัยสั่งให้ควาญคนใหม่ไปเลี้ยงช้างตัวนี้ ควาญคนนี้เป็นคนซื่อจัดหาข้าวให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช้างตัวนี้ยื่นงวงออกไปแบ่งข้าวเป็นสองส่วน กินแต่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วแผดเสียงดังลั่นขึ้นอีก คนที่วิ่งไปดูจึงรู้ว่าควาญคนก่อนโกงอาหารช้าง อ้ายควาญช้างคนนั้นรับสารภาพว่า ได้ขโมยข้าวช้างจริงๆ”

เรื่องเล่าถึงความชาญฉลาดของช้างอีกเรื่องหนึ่งที่ฟอร์บัง หรือออกพระศักดิ์สงคราม บันทึกไว้จากการประสบด้วยตนเอง “…คือเมื่อช้างถึงเวลาผสมพันธุ์หรือตกมัน มันจะดุร้ายมาก มีอยู่วันหนึ่งควาญนำช้างตกมันตัวหนึ่งลงไปในน้ำ มันหนีควาญไปได้แล้วลงไปอาวะวาดอยู่กลางแม่น้ำ ทำให้คนตกใจแตกตื่นกันมาก ข้าพเจ้าจึงขึ้นมาตามมันไปดูว่ามันจะทำอะไร ได้พบผู้หญิงยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตัดพ้อว่าช้างตกมัน”

หญิงคนนั้นตัดพ้อต่อหน้าช้างว่า “พ่อจะให้ผัวข้าถูกตัดตะโพกหรือ พ่อรู้ดีอยู่แล้วว่าควาญที่ปล่อยให้ช้างหนีไปได้นั้นจะต้องได้รับพระอาญาเช่นนั้น นี่แน่โดยเหตุที่ผัวข้าต้องตาย ฆ่าลูกข้าเสียด้วยก็แล้วกัน”

พูดขาดคำลงดังนี้แล้วหญิงคนนั้นก็เอาลูกวางที่พื้นแล้ววิ่งหนีไป เด็กก็ร้องไห้งอ ช้างแลเห็นเด็กร้องไห้ดิ้นรนอยู่จึงใจอ่อน ขึ้นจากน้ำแล้วเอางวงอุ้มเด็กคนนั้นพากลับไปโรงช้าง ยืนและนิ่งสงบเสงี่ยม

elephant07

elephant08

เป็นความเชื่อ เอกลักษณ์ วัฒนธรรม

พี่วนิดา ทองธำรง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร พระที่นั่งวสันตพิมาน ห้องจัดแสดงวัตถุจากช้าง โดยเฉพาะงาช้างแกะสลักศิลปะทั้งช่างจากชาวจีน พม่าและช่างไทย เล่าถึงความเชื่อเรื่องวัตถุช้างว่า

“งาช้างทั้งความเชื่อของคนไทยและประเทศอื่นๆถือเป็นวัตถุมงคล มีความเชื่อในเรื่องโชคลาภ เรื่องยศ เรื่องตำแหน่ง โดยปกติแล้วคนที่มีอำนาจมีวาสนาเท่านั้นที่จะได้ครอบครองงาช้าง”

และตัวของช้างเองนั้นยังเกี่ยวโยงกับคติความเชื่อทางศาสนาที่คนไทยให้ความเคารพนับถือ อย่างเช่น องค์ พระพิฒเนศวรหรือพระพิฒเนศ ที่มีหัวเป็นช้าง โดยมีความเชื่อว่าเป็นช่างและเทพแห่งศิลปะที่ประทานความสำเร็จให้แก่ผู้สักระบูชา

นอกจากนั้นช้างที่ด้วยเหตุของความเชื่อว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งพลัง ความเฉลียวฉลาด และสัญลักษณ์ของอำนาจ ตั้งแต่อดีตจึงมักถูกถ่ายทอดลงงานศิลปกรรมในหลายแขนงๆ ทั้งภาพเขียน ปูนปั้น จิตรกรรม ตามฝาผนังในพระอุโบสถ และพระวิหารในวัดโบราณหลายแห่ง จนถึงการนำเอาช้างมาเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นรูปช้างเผือกพระยาเศวตไอยรา ยืนแท่นอยู่ในเรือนแก้ว ตราประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นรูปช้างในท้องน้ำ อันหมายถึงการสอนช้างในป่าร่องแม่น้ำ หรือบ้านแม่ร่องสอน ที่ต่อมาก็กลายเป็นชื่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตราประจำจังหวัดตาก เป็นภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับบนหลังพระคชธาร หรือตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นภาพยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช

จนกระทั่งในระดับชาติ ‘ธงช้าง’ ลักษณะเป็นรูปช้างเผือก ยืนหันหน้าให้เสาธง บนพื้นธงสีแดงเกลี้ยง ถูกใช้เป็นธงชาติสยาม ในปีพ.ศ.2398-2459 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ธงไตรรงค์ อีกทั้งยังถือเอา ‘ช้างเผือก’ เป็นสัตว์ประจำชาติไทยด้วย

สัตว์ใหญ่เช่นช้างที่อยู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานได้รับการยกย่องจนถึงกระทั่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติ

…ช้างจึงถือเป็นมรดกของชาติ และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติไทยอย่างแท้จริง

elephant09

elephant10

เป็นความผูกพันคนกับช้างของชาติไทย

เวลาประมาณห้าโมงเย็น หลังจากที่เหล่าช้างเสร็จจากงานโชว์ช้างและให้บริการนักท่องเที่ยวที่วังช้างอยุธยา พี่สุริยาและควาญช้างคนอื่นๆจะนำช้างกลับหมู่บ้านช้างเพนียดหลวง ซึ่งอยู่ห่างจากวังช้างอยุธยา แลเพนียดประมาณ10กิโลเมตรเศษ ช้างทุกตัวก็จะขึ้นรถบรรทุกเพื่อกลับไปอาบน้ำในแม่น้ำหลังหมู่บ้านช้างเพนียดหลวง และผูกกับหลักเพื่อนอนที่นั้น ในวันรุ่งขึ้นก็จัดแจงอาบน้ำและขึ้นรถบรรทุกมาทำงานเช่นเดิม วังช้างอยุธยาจึงเป็นสถานที่ทำงานของช้าง ที่มีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย ที่ช้างหนุ่มทุกตัวยังสามารถโชว์ความสามารถที่มีให้เป็นประโยชน์ คือหารายได้ให้กับเจ้าของและควาญช้างได้

ช้างยังคงเป็นเอกลักษณ์ของไทยเสมอในสายตาของชาวต่างชาติ ที่หมู่บ้านช้างเพนียดหลวง จะมีโปรแกรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเลี้ยงช้าง เป็นการกินอยู่ และฝึกการเลี้ยงช้างทุกอย่าง ตั้งแต่ภาษาช้าง การขี่ช้าง และอาบน้ำช้าง

ควาญช้างหญิงคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ดูแลส่วนอนุบาลช้างในหมู่บ้านช้างเพนียดหลวงเล่าให้ฟังว่า “คนที่มาที่นี้โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เขาตื่นเต้นมากเมื่อมาเห็นช้าง และรู้ดีว่าช้างเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาติไทย หลายๆคนตั้งใจเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาฝึกเลี้ยงช้างเลย” และควาญคนนี้ยังบอกอีกว่า

“ในวันสุดท้ายของการฝึกเลี้ยงช้าง บางคนมาสองวันเท่านั้นก็มี แต่พอเขาได้ลองเลี้ยง ลองอยู่กับมัน ก็เกิดความผูกพันกัน ก่อนจากกันฝรั่งบางคนร้องโฮออกมา น้ำตาไหลไม่หยุด คงเหมือนพี่ที่ช้างก็เป็นเหมือนคนในครอบครัว มีนะช้างบางเชือกล้ม พี่ก็เสียใจเหมือนกับเสียญาติคนนึงไป”

…ในหนังสือ’สาธุ ช่วยลูกช้างด้วย’ นายสัตว์แพทย์ปรีชา พวงคำ กรรมการผู้ก่อตั้ง มูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวเตือนสติได้ดี ไม่ให้เราหลงลืมเอกลักษณ์หนึ่งของชาติไทย ‘ช้าง’

“…ผมอยากเห็นช้างมีบ้านอยู่ ช้างที่เหนื่อยมาแล้ว เขาควรจะมีชีวิตบั้นปลาย มีป่าให้เขาเดิน มีบ้านให้เขาอยู่ บ้านของช้างคือป่า ที่สำคัญคือช้างควรได้อยู่กับควาญที่รักเขาจริงๆ …ก่อนที่ช้างเชือกสุดท้ายจะตายจากประเทศไทย ตายจากเราไป ก็ขอให้เขาตายอย่างมีศักดิ์ศรี สมเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นสัตว์ที่คนไทยรัก เป็นสัตว์ที่มีภาพปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง ครบทั้ง3 สถาบัน คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผมไม่คิดช้างจะอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย ในความคิดของผม ช้างต้องสูญพันธุ์แน่ แต่ก่อนที่จะสูญพันธุ์ ขออย่าให้เขาตายอย่างทรมาน อย่างน้อยก็ตายอย่างมีความสุข ตายโดยที่เราดูแลเขาอย่างดีที่สุดแล้ว”