งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน : มงคล อายิกุ
ภาพ : จักรพงษ์ ชีพจำเป็น

hunlakorn1
hunlakorn2
hunlakorn3
hunlakorn4
hunlakorn5
hunlakorn6
hunlakorn7
hunlakorn8
hunlakorn9
hunlakorn10
hunlakorn11

 

เวลาเป็นสิ่งมีค่า ที่เมื่อสูญเสียมันไปแล้ว ย่อมไม่อาจเอามันคืนมาได้อีก หากเราสามารถเก็บห้วงเวลาอันมีค่าในอดีตไว้ในขวดแก้วได้ คงจะดีไม่น้อย เพราะเมื่อใดที่เราเหนื่อยล้า เพียงเปิดฝาออก ก็จะได้สัมผัสกับความสุขในอดีต คงทำให้เรามีแรงที่จะสู้ต่อไปในวันใหม่

ในโลกแห่งความจริงเราคงไม่อาจ เก็บรักษาเวลาแห่งความสุขไว้ในขวดแก้วได้ แต่ทว่าในสถานที่อันใกล้ตัวเพียงปลายจมูก ยังมีสถานที่เล็กๆในขวดแก้ว ที่บรรจุกลิ่นอายแห่งอดีต เมื่อหลายสิบปีก่อนไว้ ราวกับเวลาถูกหยุดนิ่ง…

เรือพายโบราณลำเล็ก โครงสร้างประกอบด้วยไม้ทั้งลำ ดังที่เราคุ้นตากัน เพียงในภาพถ่ายเก่าๆ ลำหนึ่ง กำลังแล่นเข้าเทียบข้าง บ้านไม้สองชั้นท่าทางเก่าแก่หลังหนึ่ง ที่ถูกสร้างเคียงคู่คลองบางหลวงมานนับร้อยปี ภายในตัวบ้านอบอวลไปด้วยกลิ่นอาย ของห้วงอดีต บ้านหลังนี้ได้กลายเป็นแหล่งรวมตัวกัน ของศิลปินโขนหุ่นละครเล็ก คณะคำนาย ที่รวมตัวกัน เพื่อเผยแพร่ และอนุรักษ์ การแสดงหุ่นละครเล็ก ศิลปะอันงดงามของไทย

บ้านศิลปินแห่งนี้เป็นอาคารไม้ทรงมะนิลา ที่สร้างล้อมรอบเจดีย์เก่าแก่ ตัวเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง อันเป็นรูปทรงของเจดีย์ในช่วงปลายสมัยอยุธยา ซึ่งเจดีย์แห่งนี้ เป็นหนึ่งในสี่ของเจดีย์แต่ละทิศ ที่กำหนดเขตพื้นที่เก่าของวัดคูหาสวรรค์ ภายหลังอาคารหลังนี้ได้ถูกปรับปรุงใหม่โดยคุณชุมพล อักพันธานนท์ ซึ่งท่านได้คงสภาพเก่าของตัวอาคารไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะตั้งใจจะทำทุก อย่างให้กลมกลืนกับชุมชน

“แบบนี้มันก๋วยเตี๋ยวเรือแท้ๆเลยนะครับ” ผมพูดหยอกชายในเรือ พลางรับก๋วยเตี๋ยว จากมือแกมาชามหนึ่ง กลิ่นหอมๆและน้ำซุปที่กลมกล่อม ที่เกิดจากการใส่สมุนไพรต่างๆ ลงไปน้ำซุป ตามสูตรโบราณ เส้นเหนียวนุ่ม กับเนื้อหมูชิ้นโตที่ใส่มาเต็มชาม ในราคาสบายกระเป๋า ทำให้ผมกินจนหมดในเวลาอันรวดเร็ว

“หากจะสัมผัสกลิ่นอายแห่งอดีต เช่นนี้ในกรุงเทพ ก็คงหาได้ยากมาก” พี่จตุพร นิลโท หรือพี่ตี๋ ตัวแทนจากคณะคำนาย คณะนักแสดงหุ่นละครเล็ก แห่งบ้านศิลปิน พูดกับผมขณะที่มองเรือพายแล่นห่างออกไป

ผมพยักหน้าเห็นด้วย กับคำพูดของชายตรงหน้า ภาพพ่อค้าน้อยใหญ่ พายเรือไม้ล่องไปตามลำน้ำ ผู้คนยังคงมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวรูปทรงเก่าแก่ วัดวาอารามที่แสนสงบร่มเย็น ตลอดทั้งลำคลองมีปลาสวายตัวโตๆ จำนวนมากดำผุดดำว่ายอยู่ในน้ำ เด็กๆ วิ่งเล่น กันสนุกสนาน ส่วนคนเฒ่าคนแก่คอยมองตามและยิ้มด้วยความเอ็นดู ในขณะที่เรือหางยาวสีสวย แล่นผ่านไปมาเกือบตลอดทั้งวันดังอดีต

ราวกลับว่าเวลาของสถานที่แห่งนี้นั้นหยุดนิ่ง ชุมชนคลองบางหลวงเป็นชุมชนเล็กๆ ซุกซ่อนตัวอยู่อย่างสงบ ณ.ซอย เพชรเกษม 28 ถนน เพชรเกษม แขวงคูหาสวรรค์ เขต ภาษีเจริญ จังหวัดกรุงเทพ ใกล้เพียงต่อรถจากสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า แค่สิบนาทีเท่านั้น บรรยากาศความเงียบสงบ ผู้คนส่งมอบรอยยิ้ม และความจริงใจให้กัน ราวกับทุกคนเป็นญาติพี่น้อง คงไม่ใช่ภาพที่คุ้นตานัก ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมืองหลวง ที่รายล้อมไปด้วยป่าคอนกรีต ผู้คนต่างเร่งรีบและแข่งขัน ความสับสนวุ่นวาย เข้ามาแทนที่ คงมีหลายคนที่เหนื่อยหน่ายกับชีวิตที่สับสน และโหยหาความสงบ เพื่อพักผ่อนหัวใจ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ในเมืองที่เคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนิ่ง ยังมีชุมชนเล็กๆที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายในอดีต ที่ผู้คนต่างถวิลหา แต่ได้หลงลืมไปซ่อนอยู่

“ชุมชนคลองบางหลวงแห่งนี้เก่าแก่ขนาดไหนหรือครับ?”

“ถ้าเอาเริ่มก่อตั้ง ก็สันนิฐานว่าคงก่อตั้งกันตั้งแต่สมัยอยุธยา สมัยนั้นที่นี้ชื่อว่าคลองข้าหลวง เพราะมีขุนนางมาอยู่เยอะ ต่อมาเหมือนถึงช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชุมชนแห่งนี้ก็เป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำ ที่คึกคักมากแห่งหนึ่ง แต่พอเขาสู่ช่วงปลายรัตนโกสินทร์ เมื่อเริ่มมีถนนตัดผ่าน การค้าที่ชุมชนแห่งนี้ก็เริ่มซบเซาลง จนเป็นอย่างทุกวันนี้”

“น่าแปลกนะครับ ที่ชุมชนเล็กๆในจังหวัดกรุงเทพยังรักษาบรรยากาศ แบบในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนได้ โดยไม่ถูกความเป็นเมืองคอนกรีตกลืนกิน”

“ใช่ ดังนั้นเราจึงอยากให้ทุกคน ได้มาสัมผัสวิถีชุมชนที่ยังมีอยู่ ร้านค้าทุกร้านในชุมชนแห่งนี้ เจ้าของร้านก็เป็นเจ้าของเอง เรือพายที่แล่นขายของตามแม่น้ำ ก็เป็นชาวบ้านในชุมชนนี้จริงๆ เราไม่ได้จ้างเขามาจัดฉาก เราอยากให้บ้านหลังนี้ เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไม่อยากให้มันเป็นธุรกิจ” พี่ตี๋พูดพลาง เหลือบมองโขนหุ่นละครเล็ก ที่เรียงรายอยู่ภายในบ้านศิลปิน

หุ่นแต่ละตัวถูกสร้างอย่างประณีตราวกับผ่านการเจียระไนถูกมาอย่างดี หุ่นละครเล็กทั้งตัว ประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนลำตัวและแขนขา ส่วนประกอบทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สร้างให้หุ่นเคลื่อนไหวได้เหมือนคน หุ่นทุกตัวจะมีขนาดเท่ากันกับสัดส่วนของคน เพียงแต่ย่อขนาดลงมาให้เล็กลง โดยจะมีส่วนสูงราวหนึ่งเมตร ยกเว้นนางผีเสื้อสมุทร ที่จะตัวใหญ่กว่าหุ่นตัวอื่น

ผมเชื่อว่าหุ่นทุกตัว ย่อมแฝงไปด้วยจิตวิญญาณของผู้สร้าง หากแต่ตอนนี้จิตวิญญาณนั้น กำลังจะเลือนหายไป เนื่องด้วยขาดแคลนผู้สืบทอด

“ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครมาเชิดหุ่นละครเล็กหรือครับ ?” ผมถามด้วยความสงสัย เพราะในปัจจุบันการแสดงต่างๆที่เป็นศิลปวัฒนธรรมไทย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จนมีผู้สนใจศึกษาเพิ่มขึ้นไม่น้อย

“การจะมาเชิดหุ่นละครเล็ก ได้นั้นไม่ง่าย ผู้เชิดจะต้องมีพื้นฐานโขน อย่างน้อยหกปี ฝึกเชิดหุ่นเล็กอีกสองปี หุ่นเล็กนั้นเชิดกันสามคน แต่ละคนจึงต้องฝึกอย่างหนัก เพื่อให้สามารถ เชิดร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ไม่ค่อยมีใครมาเรียนกัน ไปทำอย่างอื่นได้เงินดีกว่า” คำบอกเล่าของชายตรงหน้า ทำให้รู้ว่ากว่าจะมาเป็น การแสดงชุดหนึ่งนั้น คงผ่านการความเพียรติ มากกว่าที่ตาเห็น นี่คงเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้ทุกวันนี้ การแสดงหุ่นละครเล็ก เหลือน้อยเต็มที ทว่าบ้านศิลปินแห่งนี้ กลับเปิดให้ชมการแสดงฟรี โดยตั้งเพียงกล่องเล็กๆ สำหรับบริจาคตามกำลังทรัพย์เท่านั้น

“พวกพี่เปิดการแสดงหุ่นละครเล็กให้ดูกันฟรีๆทุกวัน แบบนี้จะได้กำไรหรือครับ?”

“แสดงฟรีแบบนี้ถามว่าเงินพอใช้ไหม พูดตรงๆก็ไม่พอหรอก แต่เราอาศัยการแสดงที่บ้านศิลปินแห่งนี้ เป็นการเผยแพร่การแสดงหุ่นละครเล็ก คนจะได้รู้จักมากขึ้น”

จุดประสงค์ที่แท้จริงของบ้านศิลปิน คงไม่ใช่เงินทอง หรือความร่ำรวย พี่ตี๋ได้พูดถึง จุดประสงค์ของบ้านศิลปิน ไว้สามข้อคือ เพื่ออนุรักษ์ เพื่อสืบสาน และเพื่อเผยแพร่ เรื่องเงินจึงเป็นเรื่องรอง เพราะคณะคำนายทุกคน ต้องการผลตอบแทนที่ล้ำค่ากว่านั้น คือการสืบสาน และถ่ายทอด เจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ให้คงอยู่คู่คนไทยสืบไป

“เราเปิดการแสดงแบบเปิดหมวก จะรวยจะจน ก็เดินเข้ามาดูได้ เราอยากให้สิทธิของคนไทยเท่ากัน” คำตอบของพี่ตี๋ ทำให้ผมสะอึกไปชั่วขณะ เพราะในสังคมที่ผู้คน ต่างแข่งขันเพื่อให้ตน ได้สิทธิเหนือผู้อื่น คนกลุ่มเล็กๆเหล่านี้ กลับพยายามทำให้สิทธิของทุกคนเสมอกัน แม้จะทำให้รายได้ที่พึงจะได้ ของตัวเองลดลงก็ตาม

“แบบนี้ช่วงสิ้นเดือนผมคงต้องมาชมการแสดงทุกวัน” ผมพูดแล้วหัวเราะ เรียกรอยยิ้มบางๆออกมาจากใบหน้าที่อ้วนกลมของชายตรงหน้า

“มาเลยบ้านศิลปินและคณะคำนายยินดีต้อนรับ”

“แล้วอะไรคือสิ่งที่บ้านศิลปินและคณะคำนายต้องการให้ผู้มาเยือนได้รับกลับไปครับ?”

“สิ่งที่เราอยากจะมอบให้กับผู้มาเยือน บ้านศิลปิน คือความสุข ความสุข ที่เกิดจากการสร้างปฏิสัมพันธ์ กับทุกคนในครอบครัว เพราะทุกวันนี้ ครอบครัวๆหนึ่งจะหาความสุขพร้อมหน้ากัน ก็ยากขึ้นทุกที ” นี่คือคำตอบของพี่ตี๋ เมื่อถูกถามถึง สิ่งที่อยากให้ผู้มาเยือน ได้รับกลับไป เมื่อมาเยือนที่นี่ ทำให้ผมเกิดความสงสัยไม่น้อย ว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือ ในเมื่อคนต่างเพศ ต่างวัยย่อมมีสิ่งที่สนใจต่างกัน

พี่ตี๋ยิ้มน้อยๆ เสมือนว่าเข้าใจในความสงสัยของผม ก่อนจะเริ่มอธิบาย

“เมื่อเด็กๆมาที่นี้ พวกเขาก็ได้สนุกสนานกับการระบายสีหน้ากาก และ Paper cut เรามีแบบให้ มีครูสอน ส่วนผู้ปกครองที่มา ก็มักจะมาอ่านหนังสือ หรือไม่ก็ชมภาพวาด ที่ชั้นสอง เรามีภาพวาดจากศิลปินท่านต่างๆ ที่บันทึกวิถีชีวิต ของผู้คนในชุมชนนี้ ให้ทั้งชมทั้งจำหน่าย หรือจะเดินชมบรรยากาศ ของชุมชนคลองบางหลวง เพื่อสัมผัสกลิ่นอายของอดีต และเพื่อพักผ่อนจิตใจ จากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน ทั้งยังมีกิจกรรมล่องเรือ เพื่อชมบรรยากาศของชุมชนโบราณก็ได้ ส่วนผู้สูงอายุก็มักจะไปไหว้พระ ทำบุญ หรือพูดคุย ถึงบรรยากาศเมืองกรุงในอดีต กับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ตอนเที่ยงๆก็สามารถลิ้มรส อาหารท้องถิ่นสูตรโบราณ จากเรือพายเหมือนในอดีต พ่อค้าเหล่านี้เราไม่ได้จ้างมา ยังคนเป็นผู้คน ที่ยังรักษาวิถีชีวิตแบบเดิมๆจริงๆ สักบ่ายสอง ทั้งครอบครัวก็จะมาเพลิดเพลินร่วมกัน กันการแสดงหุ่นละครโรงเล็ก ซึ่งเราก็เปิดแสดงให้ชมฟรีๆ”

“หมายความว่าทุกเพศทุกวัยสามารถใช้เวลาร่วมกันที่นี่ได้ทั้งวัน”
“ใช่ ปฏิสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวจะเกิดขึ้นเมื่อได้ใช้เวลาร่วมกันที่นี่”

น่าอัศจรรย์ที่ชุมชมเล็กๆ เช่นนี้จะมีกิจกรรมมากมาย สำหรับทุกคนในครอบครัว ตั้งแต่เด็กน้อย ไปจนถึงผู้อาวุโส ทว่าผมก็ยังมีคำถามอีกคำถาม ที่แม้อาจเป็นคำถาม ที่ค่อนข้างเสียมารยาท หากแต่ความสงสัย มันมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อผมเห็น เด็กน้อยหลายคนกำลังนั่งรอดูการแสดงอยู่หน้าเวที อย่างใจจดใจจ่อ เพราะเวลาใกล้ย่างบ่ายสอง เข้าไปทุกที

“ในยุคปัจจุบัน ที่เยาวชนเสพสิ่งบันเทิง จากสื่อต่างๆ จนคิดว่าศิลปะของไทย เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เด็กเหล่านี้จะเพลิดเพลิน กับการแสดง หุ่นละครเล็กหรือครับ?”

พี่ตี๋หัวเราะออกมากับคำถามของผม มือของเขาเอื้อมมา สัมผัสที่ไหล่ของผมเบาๆ

“นี่ใกล้บ่ายสองแล้ว ลองไปชมการแสดงดูซิ พี่ว่าสิ่งที่น้องเห็น จะเป็นคำตอบให้กับน้องได้”

การแสดงหุ่นละครเล็ก ของคณะคำนายแห่งบ้านศิลปิน จะเริ่มต้นด้วยการไหว้ครู จากนั้นจึงเริ่มการแสดง นักแสดงทุกคน ต้องแต่งกายชุดดำ และใส่หน้ากากสีดำ ทั้งยังต้องใส่ถุงเท้า และปลอกแขนสีดำ ไม่ว่านักแสดงชายหรือหญิง ซึ่งพี่ตี๋ก็ได้อธิบายว่า เพราะต้องการให้ตัวตน ของผู้แสดงที่อิทธิพล ต่อผู้ชมน้อยที่สุด

เรื่องที่จัดแสดงในวันนี้ คือเรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานจับนางเบญจกาย ในขณะคนพาทย์ เริ่มเท้าความถึงเนื้อเรื่อง ในวรรณคดี หุ่นละครเล็กก็เริ่มออกมาร่ายรำ ด้วยท่าทางก็อ่อนช้อย และพลิ้วไหว ราวกับเป็นการทักทายกับผู้ชม เมื่อการแสดงเริ่มดำเนินไป ผมก็พบว่าการแสดงของคณะคำนาย แตกต่างไปจากที่ผมคิดไว้ทีแรก อย่างสิ้นเชิง

เดิมที ผมเคยคิดว่าการแสดงโขนหุ่นละครของไทย คงไม่อาจดึงดูด เหล่าผู้ชมตัวน้อยให้สนใจได้ ทว่าด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักแสดง ที่สามารถสอดแทรก อารมณ์ขันเข้าไปในการแสดงได้อย่างแนบเนียน ทำให้ผู้ชมทุกคน ไม่รู้สึกว่า กำลังชมการแสดงที่ตกยุค น่าเบื่อหน่าย การแสดงดำเนินไปจนจบอย่างสนุกสนาน เสียงเด็กตัวน้อยหัวเราะอย่างเพลิดเพลิน คงเป็นหลักฐานที่ดีที่สุด ที่กระซิบกับผมว่า บ้านศิลปินหลังนี้ได้เดินมาถูกทางแล้ว ในการอนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่ ศิลปะหุ่นละครเล็กออกไป

ในตอนนั้น ผมนึกถึงคำพูดของพี่ตี๋ เมื่อผมถามถึงความรู้สึก ที่มีต่อเด็กรุ่นใหม่หลงลืมวัฒนธรรมความเป็นไทย

“วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งดี หากมันไม่ดีมันคงไม่อยู่มา นับร้อยปีหรอก ใช่ คุณสามารถรับวัฒนธรรมต่างๆเข้ามาได้ คุณสามารถเสพสิ่งนำเข้าต่างๆได้ แต่สิ่งๆหนึ่งที่คุณต้องไม่ลืมคือรากเหง้าของความเป็นไทย”
ผมคิดว่าในวันนี้ ผมได้สัมผัสรากเหง้าที่ผมเคยลืม…เช่นเดียวกับเด็กๆเหล่านี้

ผมก้าวออกมาจากบ้านศิลปินด้วยความรู้สึกที่อิ่มเอิบ มันเป็นความสุข ในแบบที่เงินซื้อไม่ได้ หากแต่เกิดจากความซาบซึ้ง ถึงขั้วหัวใจ

รถไฟฟ้าเคลื่อนตัวออกจากสถานีบางหว้าช้าๆ รอบตัวรายล้อมไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ดังที่มันเคยเป็น ผมปิดเปลือกตาลงช้าๆ ขวดแก้วแห่งห้วงอดีตของผมได้ถูกปิดลงไปแล้ว หากแต่มันยังคงรอค่อยการกลับมาของผมเสมอ รอค่อยการกลับมาสัมผัสถึง รากเหง้าความเป็นไทยที่ผมเคยหลงลืม