สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

constitution

หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นอกจากข่าวการต่อต้าน “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ซึ่งเกิดขึ้นหลายพื้นที่ และการพยายามออกมาตรการ “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” หนึ่งในประเด็นร้อนทางการเมือง คือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (และยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า) โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ๓๖ คน นำโดยศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๒๕๕๗ กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ๒๐ คนมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ๕ คน จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ๕ คน และ คสช. ๖ คนซึ่งรวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ รวมทั้งหมด ๓๖ คน

รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๒๕๕๗ ยังระบุในมาตรา ๓๕ ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ และมีกรอบคือ รับรองความเป็นราชอาณาจักรที่แบ่งแยกมิได้ ให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งเหมาะแก่สังคมไทย มีกลไกตรวจสอบการคอร์รัปชันทั้งภาครัฐและเอกชน ควบคุมการใช้อำนาจให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาว่าทุจริต ทำให้การเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้นักการเมือง พรรคการเมืองทำงานอย่างอิสระปราศจากการครอบงำ มีกลไกเสริมหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลทุกระดับ

นอกจากนี้ยังวางกรอบให้มีกลไกปรับระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันการบริหารราชการที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองอันจะก่อให้เกิดความเสียหายในระยะยาว ควบคุมการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส สอดคล้องกับฐานะทางการคลังของประเทศ กลไกป้องกันการทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญและผลักดันการปฏิรูปในอนาคต ทั้งหมดเป็นข่าวปรากฏตามสื่อว่า ที่ต้องวางกรอบเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ “เสียของ” เหมือนคราวรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

หลังผ่านไปเกือบปี ในที่สุดช่วงสงกรานต์ปี ๒๕๕๘ เว็บไซต์ของรัฐสภาและสื่อมวลชนก็เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ [ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง และส่งให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราช-อาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗]  เนื้อหาแบ่งเป็นส่วนที่ ๑ เจตนารมณ์ รายนามผู้จัดทำ กระบวนการพิจารณายกร่าง  ส่วนที่ ๒ ร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งหมด ๓๑๕ มาตรา

ปัจจุบัน (มิถุนายน ๒๕๕๘) หลังจาก สปช. และ ครม. ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ ซึ่งจะต้องแก้ไขภายในเวลา ๖๐ วัน โดยวันสุดท้ายที่ กมธ. ยกร่างฯ จะส่งร่างฉบับแก้ไขกลับมายัง สปช. คือวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้ สปช. โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  ขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็กลายเป็นกระแสในสังคมไทย

ความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมคือ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา สหภาพแรงงาน สื่อมวลชน นักการเมืองและประชาชนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย (รปป.)” ออกแถลงการณ์ให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเสนอว่าหาก สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดใหม่ที่มาจากประชาชน  หาก สปช. เห็นชอบร่างต้องให้มีการลงประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน ๓๐ วัน และถ้าไม่ผ่าน ต้องมีกระบวนการร่างใหม่โดยให้เลือกตั้ง สสร. ภายใน ๔๕ วัน และทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสิ้นใน ๙๐ วัน จากนั้นให้ทำประชามติภายใน ๓๐ วัน ทั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านให้มีการเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน

๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ สื่อทางเลือกและองค์กรพัฒนาเอกชนสี่แห่ง ได้แก่ สำนักข่าวประชาไท สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้เปิดตัวเว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) โดยระบุว่าหลังรัฐประหาร วาระสำคัญคือ “ปฏิรูปประเทศ” โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ท่ามกลางกระแสสังคมที่อยากมีส่วนร่วม แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี ๒๕๕๗ กลับไม่เปิดช่องทาง เช่นการทำประชามติ  เว็บไซต์นี้จึงตั้งเป้าว่าจะเป็นพื้นที่ “รวบรวมความคิดเห็นหลากหลายต่อประเด็นต่าง ๆ ที่ยังถกเถียงกันในร่างรัฐธรรมนูญ…” และประเด็นแรก ๆ ที่พวกเขาหยิบขึ้นมาคือ ควรมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ?

๑๙ พฤษภาคม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้แถลงหลังการประชุมระหว่าง ครม. กับ คสช. ว่ามีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้เกิดการทำประชามติ  “…ขอให้รอก่อนว่า สปช. จะผ่านหรือไม่ผ่าน รัฐธรรมนูญจะแก้หรือไม่แก้ ถ้าผ่านก็ทำประชามติ…ผมก็ต้องเตรียมตั้งหลักไว้ก่อนเพราะต้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” (คมชัดลึก, ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘)  ขณะปฏิเสธจะพูดถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ว่าจะเปลี่ยนกระบวนการที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราววางไว้หรือไม่  “ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ หรือปี ๒๕๕๐ (แทน) ตอนควบคุมอำนาจ ผมก็ออกคำสั่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับเหล่านั้น ไม่เสียเวลาด้วย  ผมไม่พูดถึง…” (มติชนรายวัน, ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘)

นั่นหมายถึงค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า จะมีการทำประชามติหากร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างฯ นำกลับไปแก้ไข ได้รับการรับรองจาก สปช.  ปัญหาที่ถกกันต่อมาคือ “รูปแบบการทำประชามติ” ว่าจะเป็นการลงคะแนนรับ/ไม่รับ “ทั้งฉบับ” หรือ “รายมาตรา” (หยิบเฉพาะมาตราที่เป็นปัญหามาทำประชามติ) และกระบวนการในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ผ่านประชามติควรจะเป็นอย่างไร

ฝ่ายสนับสนุนการทำประชามติรายมาตราระบุว่า จะทำให้ส่วนที่ดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดยังคงอยู่และไม่ตกไปทั้งฉบับจากการทำประชามติ เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาสาระรายมาตราอย่างจริงจัง  ขณะฝ่ายสนับสนุนการทำประชามติแบบทั้งฉบับ มองว่าการทำประชามติรายมาตรานั้นเหมือนการทำข้อสอบแบบปรนัยที่มีตัวเลือกจำกัด จึงต้องเปิดโอกาสให้เลือกที่จะรับหรือไม่รับร่างฉบับนี้ด้วย และหากไม่รับต้องมีกระบวนการให้ประชาชนเป็นผู้ร่วมตัดสินใจและรับรู้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำฉบับหนึ่งฉบับใดในอดีตมาบังคับใช้ หรือมีการตั้ง สสร. ใหม่ด้วยการเลือกตั้ง

นอกจากรูปแบบการลงประชามติ ยังมีประเด็นเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  ด้านหนึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอุดมการณ์ไม่เคารพการตัดสินใจของตัวแทนประชาชน เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเท่ากับปฏิเสธการต่อสู้ของวีรชนในเหตุการณ์ “พฤษภา ๓๕” องค์กรที่เกิดใหม่อย่างสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปที่มีอำนาจทับซ้อนกับสภาผู้แทนราษฎร การใช้คำว่า “พลเมือง” ที่สร้างความสับสน การวางกรอบแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้จนรัฐบาลใหม่อาจบริหารราชการแผ่นดินไม่คล่องตัว ฯลฯ  รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้การแก้ไขแทบเป็นไปไม่ได้ ยังไม่นับความกังวลว่าการลงประชามติภายใต้การควบคุมของ คสช. ซึ่งมีมาตรา ๔๔ เป็นเครื่องมือ ย่อมไม่ใช่การลงประชามติที่เสรีอย่างแท้จริง

ฝั่งผู้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญก็ชี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในภาวะของการ “ปฏิรูปประเทศ” มีความพยายามสร้างระบบคุณธรรมจริยธรรม ป้องกันนักการเมืองที่ไม่ดี ยกระดับให้พลเมืองตรวจสอบอำนาจรัฐมากขึ้น ทั้งยังทำให้การเมืองไทยโปร่งใส นักการเมืองมีจริยธรรมและคุณธรรมมากขึ้น และเชื่อว่า คสช. จะเปิดให้มีบรรยากาศเสรีก่อนการลงประชามติ

ก่อนจะเกิดการลงประชามติ สารคดี มีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลสองท่าน ท่านแรกคือ ๑ ใน ๓๖ ผู้ให้กำเนิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคลุกคลีกับภาคประชาชนมายาวนาน อีกท่านคือนักกฎหมายและคณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนซึ่งติดตามศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตลอด  นอกจากจะนำเสนอรูปแบบการลงประชามติที่พวกเขาคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยที่สุด เรายังจะถกกันถึงประเด็นเชิงเนื้อหาบางเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญด้วย

ไม่มีใครทราบว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่จะนำมาลงประชามตินี้จะมีชะตากรรมเช่นไร จะเป็นเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ๑๙ ฉบับก่อนหน้านี้ที่ลงเอยด้วยการถูกฉีกในอนาคตหรือไม่ เพราะคงยากจะปฏิเสธว่าเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่การเมืองไทยยังไม่ออกจากวังวนวิกฤต

สารคดี หวังว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านชาวไทย “เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง” ที่จะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของประเทศในการลงประชามติครั้งนี้

โหวตแบบรับ / ไม่รับทั้งฉบับ

poonthep

  • เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาในแง่อุดมการณ์ ต้องให้ประชาชนตัดสินกระบวนการและเนื้อหาการร่างทั้งหมด ถ้าไม่ผ่านต้องมีกระบวนการใหม่ที่ยึดโยงกับประชาชน
  • ไม่แน่ใจว่า คสช. จะเปิดกว้างให้มีการแสดงความคิดเห็นก่อนทำประชามติเพียงใด และบรรยากาศการทำประชามติครั้งนี้อาจเลวร้ายกว่าครั้งก่อน
  • หากยังจะทำประชามติรายมาตรา ขอให้มี “รับ/ไม่รับ ทั้งฉบับ” เป็นตัวเลือกด้วย

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้มีปัญหาเรื่องที่มา และน่าสังเกตว่าหลายท่านไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก บางท่านร่างเป็นครั้งที่ ๓ จนเรียกได้ว่าเป็น ‘นักร่างรัฐธรรมนูญ’  แต่ทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ แนวคิดพื้นฐานเปลี่ยนแปลงตลอด  คำถามคือท่านมีหลักการร่างรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่  โจทย์ของผมคือทุกคนต้องเคารพกติกา เคารพรัฐธรรมนูญ  ที่ผ่านมาเราเจอสถานการณ์ที่คนร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญที่ตนร่าง ต่อให้เขียนใหม่ ถ้าคนเขียนไม่เคารพผลงานของตัวเอง รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกได้อีก จึงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเลยว่ารัฐธรรมนูญใหม่นี้จะแก้วิกฤต  ดังนั้นทางที่ถูกที่สุดคือต้องมีกติกาที่ทุกคนเคารพและยืนยันว่าจะไม่ฉีกมันอีก

“ณ ตอนนี้การทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเงื่อนไข ‘ขั้นต่ำสุด’ ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วม ถ้าไม่มีการทำประชามติ เท่ากับประชาชนไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย  สถานการณ์ปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในอำนาจ เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มาจากการรัฐประหารซึ่งทุกหน่วยงานยอมรับในฐานะกฎหมาย  ในฐานะประชาชนธรรมดา แม้เราจะไม่ชอบกฎหมายนั้น แต่เพื่อไม่ให้เกิดการใช้กำลัง จึงมีหนทางเดียวคือเปลี่ยนผ่านด้วยกฎหมาย  ผมไม่อยากใช้คำว่า ‘ชอบด้วยกฎหมาย’ แต่นี่คือเงื่อนไขขั้นต่ำสุดที่รับได้  สิ่งที่เราต้องทำคือจับตาดูว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๕๗ เมื่อใดเพื่อให้เกิดการทำประชามติและได้ทราบรูปแบบของกระบวนการทำประชามตินั้น  ถ้าอยากให้คนมีส่วนร่วมต้องเขียนชัดเจนว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรณรงค์ ต้องได้รับการคุ้มครอง  ขั้นต่ำสุดถ้าจะมีประชามติต้องคุ้มครองเรื่องเหล่านี้

“ผมเสนอให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพราะเลยช่วงเวลาที่ควรทำประชามติรายมาตราแล้ว การทำประชา-พิจารณ์ ถามความเห็นรายมาตรานั้นควรเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนร่างรัฐธรรมนูญ แต่เราผ่านมา ๑ ปีโดยปราศจากกระบวนการดังกล่าวและร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจนเป็นที่ปรากฏ  การทำรายมาตราเป็นการถ่วงเวลา ยื้อกระบวนการที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้น ทั้งยังมีปัญหาว่าที่สุด กมธ. ก็ต้องนำไปเขียนใหม่ ประชาชนจะได้ทำประชามติ ‘ร่างสุดท้าย’ ที่แก้แล้วหรือไม่  การทำประชามติทั้งฉบับ โดยสภาพคนต้องดูเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ มองกระบวนการทั้งหมด เช่น เห็นด้วยหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญเกิดจากการรัฐประหาร  แต่ละฉบับมีทั้งมาตราที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน แต่นี่คือการชั่งน้ำหนัก รับหรือไม่รับ หนึ่ง ประชาชนต้องแสดงความคิดเห็น ถ้าคำตอบคือไม่รับ นั่นหมายความว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการและเนื้อหาทั้งหมด ถ้าออกทางนี้ กระบวนการเดิมที่ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก  ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้ง  แต่ตอนนี้ไม่รู้เลยว่าถ้าไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น

“กรณีนำฉบับปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ มาใช้ โครงสร้างของสองฉบับนี้ก็มีปัญหา  ถ้าเราจำได้ในปี ๒๕๔๙ คนจำนวนมากยอมรับว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่บังคับใช้ตอนนั้น มีปัญหาเรื่องที่มาและอำนาจขององค์กรอิสระต้องรื้อใหม่ความยาวของรัฐธรรมนูญ ฯลฯ  การนำรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ หรือ ๒๕๕๐ มาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ทำได้ยาก ผมจึงเสนอว่าดีที่สุดคือเลือกตั้ง สสร. ใหม่ และเปิดโอกาสให้ถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญได้ทุกประเด็นโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งบรรยากาศนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น  กระทั่งการร่างฉบับปี ๒๕๔๐ บางเรื่องเราถกเถียงกันไม่ได้ รัฐธรรมนูญบางหมวดแตะต้องไม่ได้และไม่ได้รับการพูดถึง

“การรับหรือไม่รับทั้งฉบับ สุดท้ายคือการชั่งน้ำหนัก คนต้องตัดสินใจ  แน่นอน บางคนอาจมีอารมณ์ไม่พอใจการรัฐประหาร แต่ก็สะท้อนว่าเขารับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้  ในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะแยกกระบวนการร่างออกจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ  อย่าปฏิเสธว่า กมธ. ชุดนี้เป็นกลไกของระบอบที่เกิดขึ้น ประเด็นนี้รวมกับประชามติโดยสภาพ  ตอนนี้คือพุทธศักราช ๒๕๕๘ ประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง วิธีการให้ผู้เชี่ยวชาญยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นวิธีเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้ว

“ปัญหาพื้นฐานที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าเราลงรายละเอียดตามมาตราต่าง ๆ คือมีอุดมการณ์และแนวคิดที่ไม่เคารพสิทธิการเลือกตั้งและการตัดสินใจของประชาชน หรือให้น้ำหนักน้อยมาก  ผมขีดเส้นใต้ได้แทบทุกคำในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ามีปัญหาเรื่องแนวคิด มีการใช้คำว่า ‘คุณธรรม’ ‘คนดี’ ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นิยาม  กระทั่งคำว่า ‘ประชาสังคม’ คล้ายจะเปิดกว้าง แต่ก็จำกัดคน เห็นได้จากการได้มาซึ่ง สนช. และ สปช. ที่ส่วนมากมีจุดร่วมสนับสนุนการยึดอำนาจ โดยที่ประชาชนไม่มีบทบาทกำหนด  แม้แต่ที่มาของนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  การจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นในภาวะ ‘ปฏิรูป’ คำนี้ก็เสียความหมายเพราะใช้ต่อต้านประชาธิปไตยไปแล้ว  เนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังมีการตัดแปะจากหลายที่ ไม่แน่ใจว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด  หลักการตีความรัฐธรรมนูญจะดูตามตัวอักษร ประวัติศาสตร์ ความตั้งใจของผู้ร่าง ทุกอย่างประกอบกัน แต่เนื้อหาต้องสมบูรณ์ในตัวเองระดับหนึ่ง เรื่องนี้จะบอกฝีมือผู้ร่างว่ามีเจตนาให้คนทั่วไปใช้หรือผูกขาดไว้กับตัวเอง  การทำประชามติเพื่อแก้รายมาตราจึงไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“การทำประชามติที่จะเกิดขึ้นจะเป็น ‘ตรายาง’ ให้คณะรัฐประหารหรือไม่ขึ้นกับกระบวนการและรูปแบบ ในแง่เสรีภาพ จะเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงรณรงค์ได้หรือไม่ บรรยากาศประชามติทำให้เกิดขึ้นทันที โดยให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้าและเริ่มคิดพิจารณาตั้งแต่ตอนนี้ เปิดให้มีการถกเถียงและแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่  ผมมองว่า ๙๐ วันก่อนลงประชามติที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเป็นเวลาที่มากพอให้ประชาชนตัดสินใจในแง่แนวคิด ภาพรวม  แต่ถ้าเกิดการปิดพื้นที่ ปล่อยให้รณรงค์สนับสนุนเพียงฝ่ายเดียว ประชามติครั้งนี้ก็จะเป็นแบบปิด คนที่ไม่พอใจย่อมรณรงค์ให้คนไม่ไปออกเสียง  ต้องเข้าใจว่าการทำประชามติคือการวาดภาพแข่งกันด้วยเหตุผล เราต้องเชื่อเหตุผลของมนุษย์ อารมณ์คือส่วนหนึ่ง แต่เราจะมีอนาคตอย่างไร ต้องให้ประชาชนคนไทยตัดสินใจ  ที่น่าสังเกตคือสถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญของไทยถอยหลังตลอดเวลา ตอนร่างฉบับปี ๒๕๔๐ ประชาชนเลือก สสร. ได้ มีเสรีภาพแสดงความเห็น  ตอนร่างฉบับปี ๒๕๕๐ ประชาชนเลือก สสร.
ไม่ได้ แค่ทำประชามติในภาวะที่กดดัน  ฉบับล่าสุดตั้งแต่เริ่มร่าง ประชาชนไม่ได้เลือก สสร. ก็ไม่แน่ใจแล้วว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ เพิ่งมาเปิดรูให้หายใจ ผมจึงมองว่ามันค่อนข้างจำกัดอำนาจของประชาชน

“แต่ถ้าผู้มีอำนาจยังจะให้ทำประชามติรายมาตรา ก็ต้องมีคำตอบว่าเพราะอะไรถึงเพิ่งจะคิดทำ แต่ไม่รับฟังความเห็นเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้นร่างรัฐธรรมนูญ  และถ้าจะทำจริง ๆ ขอเรียกร้องให้มีการโหวตรับ/ไม่รับทั้งฉบับด้วย เป็นตัวเลือกคู่ขนานกับการทำประชามติแบบรายมาตรา และหากมีการแก้ไขรายมาตราตามเสียงประชามติ เมื่อกรรมาธิการฯ นำกลับไปแก้ไข ก่อนจะประกาศใช้ต้องนำมาผ่านความเห็นชอบของประชาชนอีกครั้ง มิฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่ยินยอมของประชาชน  ในภาวะปัจจุบันนี่คือข้อเสนอขั้นต่ำที่สุด เราขอแค่บรรยากาศและพื้นที่ที่เปิดกว้าง  ข้อเสนอทั้งหมดที่กล่าวมา ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องยืนยันว่านี่คือหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญ และผมฝันว่ามันควรจะเป็นเช่นนั้น  ในฐานะนักกฎหมายผมบอกได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เคารพหลักการ ร่างอย่างไรก็อยู่ได้ยาก”

โหวตแบบรายมาตรา

bantoon

  • การทำประชามติคุ้มค่าถ้าประชาชนได้เรียนรู้ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา จึงเสนอทำรายมาตราเพื่อให้รัฐธรรมนูญส่วนที่ดีไม่ถูกตีตก โดยมีกระบวนการประชาพิจารณ์ ซึ่งต้องไม่ซับซ้อนและมีทางเลือกชัดเจนว่าหากไม่รับประชาชนต้องการแบบใด
  • เชื่อว่า คสช. จะยอมให้มีบรรยากาศการทำประชามติที่เปิดกว้าง และ กมธ. ยอมรับผลการทำประชามติ
  • การทำประชามติแบบทั้งฉบับทำได้ แต่ขอให้มีความชัดเจนว่าหาก “ไม่รับร่าง” จะเดินหน้าอย่างไร

 

ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ/กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมาจากกระบวนการรัฐประหาร กรรมาธิการแต่ละคนต่างมีข้อสรุปของตัวเองว่าจะยืนอยู่จุดไหน ระยะใดจากการรัฐประหาร  ตัวผมเองก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งต้องมายกร่างรัฐธรรมนูญ เหตุการณ์มาถึงตรงนี้ก็ต้องรับผิดชอบทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเข้าใจคนวิพากษ์วิจารณ์เพราะเขาทำหน้าที่ของเขา เราไม่ใช่ศัตรูกัน หลายคนก็เป็นเพื่อนและยังคุยกันอยู่  เราพยายามขอความเห็นว่าสิ่งที่ร่างจะเป็นประโยชน์แค่ไหนต่อสังคม หลายคนยินดีจะคุยเพราะเข้าใจว่าจำเป็นและอยู่ในสถานการณ์บางอย่าง  ส่วนคนที่ไม่เข้าใจ เราก็เปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้

“โดยหลักการและสถานการณ์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำประชามติ เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยึดโยงกับประชาชน  แรงเสียดทานเกี่ยวกับเนื้อหามีมาก การทำประชามติจะช่วยให้วาระต่าง ๆ เดินหน้าต่อได้  ถามว่าต้นทุนประชามติคุ้มหรือไม่ คนที่ว่าไม่คุ้มก็มองว่าสิ้นเปลืองเงินงบประมาณ ที่มองว่าคุ้มก็เพราะเราจ่ายเงินจำนวนนี้เพื่อเรียนรู้ประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา สร้างความเข้าใจเชิงสาระมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก  การได้ประโยชน์พร้อมรู้ผลว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านโดยยึดโยงประชาชน ผมคิดว่าคุ้มค่า

“กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยอมรับร่างที่นำเสนอและต้องการการมีส่วนร่วม  เมื่อความเห็นสะท้อนกลับมาต้องแก้ไข ถ้าไม่แก้ก็ต้องอธิบายได้  หลายมาตราคณะกรรมาธิการเองไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ โต้แย้งกันแทบทุกมาตรา  บางมาตราตกลงได้จากการให้ข้อมูล คำอธิบาย แบ่งปันประสบการณ์จนยอมรับร่วมกัน  บางมาตราอยู่ในภาวะ ‘ตกลงได้ระดับหนึ่ง’ และต้องการให้สังคมช่วยคิด เพราะคน ๓๖ คนตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศไม่ได้  ถ้าคนทั้งสังคมสะท้อนความคิดเห็นผ่านประชามติ ก็ตรงกับความต้องการของเรา

“มีทางเลือกในการทำประชามติหลายแบบ ผมเสนอ ‘ทำประชามติแบบรายมาตรา’ นำมาตราซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมาทำประชามติ โดยก่อนถึงกระบวนการลงคะแนน ต้อง ‘ประชา-พิจารณ์’ แต่ละมาตราเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจสาระ เหตุผล ที่มาและเจตนารมณ์ของมาตรานั้น ๆ อย่างแท้จริง แทนที่ต่างฝ่ายต่างพูดและตีความตามความเข้าใจของตน  การทำประชามติรายมาตรากฎหมายกำหนดชัดว่าต้องมีเวลาอย่างน้อย ๙๐ วันในการรณรงค์และให้ข้อมูล ผมเชื่อว่าจะช่วยลดความสับสน สร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ  แต่ละมาตรา วรรค และถ้อยคำนั้นกลั่นกรองมาให้ตรงกับเจตนาในการร่างมากที่สุด เช่น มาตรา ๔๕ มาตราสุดท้ายของตอนที่ ๒ ‘สิทธิมนุษยชน’ ในร่างรัฐธรรมนูญบอกว่า ‘บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้’ มีคนเข้าใจผิดว่าคนต่างด้าว คนไร้สัญชาติจะโดนมาตรานี้หักล้างสิทธิ ทั้งที่จริง ๆ นอกจากระบุสิทธิขั้นพื้นฐานยังจะเพิ่มสิทธิพลเมืองให้ด้วย เพียงแต่ได้ไม่เท่ากับคนสัญชาติไทยเท่านั้น

“ในการทำประชาพิจารณ์อาจหยิบประเด็นที่มีปัญหาลักษณะนี้มาชุดหนึ่ง กระบวนการนี้จะทำให้เราทราบว่ามีมาตราไหนที่ทำความเข้าใจกันได้และไม่ต้องนำมาลงประชามติ  ส่วนความกังวลเรื่องการตีความเมื่อมีผลบังคับใช้นั้นจะบิดเบือนหรือไม่ ต้องอธิบายว่าการตีความกฎหมายทำได้สองแบบ คือ ตามตัวอักษรและตามเจตนาผู้ยกร่าง  กมธ. ยกร่างฯ ได้บันทึกเจตนารมณ์และรับรองเอกสารนี้ไว้เป็นเอกสารอีกชุดนอกจากตัวร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะบิดเบือนการตีความได้ยากและลดปัญหาที่เคยมีมาในอดีต ซึ่งเราหวังว่าจะได้ผลประเมินว่า หากทำประชามติรายมาตรา ประชาชนจะเห็นต่างกันในแง่เนื้อหาราวร้อยละ ๓๐ อันจะส่งผลให้เนื้อหาอีกร้อยละ ๗๐ ที่ยังดีอยู่ไม่ตกไปด้วย เต็มที่น่าจะมีราว ๓๐ มาตราที่ต้องทำประชามติ  ตัวเลือกในการลงคะแนนประชามติต้องมีทางออกชัดเจนว่าถ้าไม่รับต้องการเนื้อหาแบบใด เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้การลงคะแนนไม่ซับซ้อนจนเกินไป เช่น ไม่เห็นด้วยกับที่มาของวุฒิสมาชิก ก็ต้องมีตัวเลือกว่าต้องการแบบใด แบบเลือกตั้งทั้งหมด เลือกตั้งบางส่วน หรือสรรหาทั้งหมด เพื่อให้เกิดความชัดเจน  สมมุติถ้าเลือกสรรหา แล้วจะสรรหาอย่างไรเป็นเรื่อง ‘รายละเอียด’  การทำประชามติควรทำส่วน ‘หลักการ’ และได้คำตอบมากกว่า ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’

“ส่วนการทำประชามติแบบโหวตรับ/ไม่รับทั้งฉบับ และมีทางเลือกว่านำฉบับเก่ามาเป็นตัวเลือก ปัญหาคือแต่ละฉบับมีที่มาต่างกัน เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ เทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยากในแง่ฐานคิด เช่น หมวดปรองดองในร่างฯ ฉบับปัจจุบันจะเทียบกับส่วนไหนของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ เพราะหมวดนี้เกิดจากสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งในแง่ที่มา ‘รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐’ เกิดจากสังคมไทยต้องการเห็นการเมืองภาคประชาชน การตรวจสอบอำนาจรัฐ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ขณะที่ ‘รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐’ เกิดจากความต้องการป้องกันภาคการเมืองแทรกแซงองค์กรอิสระ และมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง แต่ทั้งฉบับ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ไม่มีเรื่องปฏิรูป  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพยายามตอบโจทย์นี้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม  ผมอาจใช้คำว่า ‘ปรองดอง’ ซึ่งคงต้องหาคำนิยามที่แน่นอน แต่ภาพรวมสามฉบับนี้ต่างกัน การนำมาเป็นตัวเลือกในกรณีไม่รับทั้งฉบับย่อมเกิดปัญหาการโหวต  แบบทั้งฉบับยังมีโอกาสทำให้คนอ่านร่างรัฐธรรมนูญแบบเหมารวม ไม่ลงรายละเอียดหรือไม่ใส่ใจสาระแต่ละมาตรา ลดโอกาสศึกษารายละเอียดเชิงลึก  มาตราที่เป็นปัญหาเหล่านี้มีไม่มาก เมื่อมีการปรับแก้ตามข้อเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) น่าจะทำให้จำนวนมาตราที่ต้องทำประชามติลดลง  ผมประเมินว่าต้องทำประชามติเนื้อหาราว ๓๐ มาตรา ๑๐ มาตราอาจเป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน อีก ๒๐ มาตราคือข้อถกเถียงอื่น ๆ ที่สังคมติดใจและต้องการร่วมตัดสินใจ เช่น การควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง ส.ส. ส.ว. ควรมีที่มาอย่างไร รูปแบบระบบเลือกตั้ง คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฯลฯ  ส่วนใครจะเป็นผู้ดำเนินการทำประชามตินั้นก็ต้องคุยกัน แต่ กมธ. ยกร่างฯ ไม่ควรเกี่ยวข้อง

“ต่อคำถามเรื่องเสรีภาพในการรณรงค์ก่อนทำประชามติ ต้องไม่ลืมว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้เกิดการทำประชามติ เริ่มจาก คสช. และ ครม. หมายความว่าคนคุมมาตรา ๔๔ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ เป็นผู้ริเริ่มและเห็นด้วย นั่นจะตอบคำถามได้ว่าเขาต้องเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานให้เอื้ออำนวยต่อการทำประชามติ เปลี่ยนหมวดการสื่อสารและคุมสถานการณ์  ถ้าผลการทำประชามติออกมา เราจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน เพราะ กมธ. ยกร่างฯ เขียนแทนคนทั้งประเทศไม่ได้  มันเลยจุดที่จะมาถามว่าเขาเลือกแบบนี้เรารับได้หรือไม่ เราต้องรับเพราะตั้งใจให้ประชาชนบอกว่าต้องการแบบใด

“ผมมองว่าเรามีทางเลือกหลายทาง เอาเข้าจริงจะทำประชามติทั้งฉบับก็ได้ถ้าพ่วงว่า เมื่อไม่เห็นด้วย ไม่ผ่าน จะเดินหน้าอย่างไรเพื่อให้ประเทศไปต่อได้โดยไม่ชะงัก  จะให้กระบวนการยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ คือ คสช. ตั้งกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ ตั้ง สปช. ใหม่  หรือจะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ด้วยการเลือกตั้ง หรือมีที่มาจากการคัดเลือกกันเองตามกลุ่มวิชาชีพ  หรือจะหยิบฉบับปี ๒๕๓๔, ๒๕๔๐, ๒๕๕๐ มาใช้  หรือใช้ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากนี้  ต้องเรียนว่าแต่ละวิธีนั้นมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัด คิดว่าอาจต้องขอประชามติว่า ถ้ามันไม่ผ่าน ประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่กลับมาขัดแย้งกันอีก”

 

ประเด็นร้อนร่างรัฐธรรมนูญ

เนื่องจาก “อ่านเอาเรื่อง” ฉบับนี้เป็นเรื่องประชามติ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย [ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง และส่งให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา ๓๖ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗]” นอกเหนือจากรูปแบบการทำประชามติที่ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นแบบ “รายมาตรา” หรือ “ทั้งฉบับ” เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญยังมีหลายประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ด้วยหน้ากระดาษจำกัด สารคดี ขอหยิบยกความเห็นของผู้เสนอทำประชามติทั้งสองแบบในประเด็นสำคัญเชิงเนื้อหาบางประเด็นเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านตัดสินใจลงประชามติ “รับ/ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โหวตแบบรับ / ไม่รับทั้งฉบับ

poonthep

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์

กรณีที่ ๑ อุดมการณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ

“แนวคิดการไม่เคารพสิทธิการเลือกตั้งและการตัดสินใจของประชาชน คือปัญหาพื้นฐานที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรื่องเหล่านี้มีคุณค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคุณธรรมความดีที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นิยาม  ผู้แทนที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนจะประเมินและตัดสินใจกันเอง การเลือกตั้งคือการที่คนเลือกโดยชั่งน้ำหนักมองประโยชน์ที่เขาจะได้รับ และไม่ควรมีใครมาชี้ว่าสิ่งนี้ดีหรือสิ่งนี้เลว”

กรณีที่ ๒ ที่มา “นายกรัฐมนตรี”
“มาตรา ๑๗๒…กรณีที่บุคคลดังกล่าว (ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี) มิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย”

“วิกฤตตลอด ๑๐ ปีที่ผ่านมาคือการเรียกร้องนายกฯ นอกรัฐธรรมนูญ เราเคยมีบรรยากาศที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและเขาอยากได้นายกฯ คนนอก  การเขียนร่างว่าต้องเป็น ส.ส. คือการบังคับว่าต้องมีสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกตั้ง  แต่ กมธ. ยกร่างฯ ก็ไม่เคยถามว่าประชาชนต้องการอะไร กล่าวเอาเองทั้งนั้น  โดยพื้นฐานไม่ว่าประเทศใดนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ที่บอกเป็น ‘ประตูหนีไฟ’ เจตนาคือต้องการ ‘กรณีพิเศษ’  ที่ผ่านมาทุก ๕ หรือ ๑๐ ปีจะมีคนอ้างสถานการณ์นี้ ไม่พอใจนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งก็ใช้ช่องนี้ แถมทำมาแล้วโดยฉีกรัฐธรรมนูญในปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๗  แม้จะบอกว่านายกฯ คนนอกต้องได้เสียงสองในสาม แต่ยังเปิดช่องไว้ในมาตรา ๑๗๓ ที่หากไม่มีใครได้รับการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๑๗๒ วรรคสาม ก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อคนได้รับคะแนนสูงสุด คือเสียงข้างมากก็ได้”

กรณีที่ ๓ “พลเมือง” ในรัฐธรรมนูญ
“มาตรา ๒๖ ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็น ‘พลเมือง’”

“ผมไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนเรื่อง ‘พลเมือง’ โดยไม่เคารพหรือให้ความสำคัญต่อสิทธิเลือกตั้งของประชาชน…  เรื่องนี้ยังมีปัญหา คือถ้าคนไม่มีคุณสมบัติตามกำหนดในมาตรา ๒๖ เท่ากับเขาผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เขาจะไม่ใช่พลเมืองอีกต่อไปและไม่ได้รับสิทธิพลเมืองใช่หรือไม่  ถ้าบอกว่าพลเมืองคือ ‘คนดี’ ทำตามรัฐธรรมนูญ แล้วคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันที่กำหนดให้คนอื่นเคารพรัฐธรรมนูญ พวกเขาได้เข้ามาตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญตามประชาธิปไตยหรือไม่…”

กรณีที่ ๔ สภาปฏิรูปประเทศ 
“มาตรา ๒๗๙ เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล ให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ…”

“เรื่องนี้คือการสืบทอดอำนาจและจำกัดอำนาจผู้มาจากการเลือกตั้ง เพราะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีบทบาทซ้อนทับ
กับสภาผู้แทนราษฎร ทั้งยังมีอำนาจเสนอกฎหมาย  มาตรา ๒๘๐ ระบุว่า หากเสนอร่างพระราชบัญญัติผ่านวุฒิสภาไปยังสภาผู้แทนราษฎร แล้วสภาผู้แทนราษฎรไม่รับ ให้ส่งคืนวุฒิสภาซึ่งถ้าโหวตสองในสามก็ออกเป็นกฎหมายได้  เรื่องนี้ขัดหลักการออกกฎหมายซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากผู้แทนปวงชน”

โหวตแบบรายมาตรา

bantoon

ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

กรณีที่ ๑ อุดมการณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ
“รัฐธรรมนูญนี้รังเกียจและตั้งข้อกีดกันนักการเมืองเลว แต่ไม่ได้ตั้งแง่กับนักการเมืองทั่วไป จริงไม่ใช่หรือที่ประชาชนเรียกร้องนักการเมืองที่ดี ระบบเลือกตั้งที่ยุติธรรม ไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง  สองเดือนก่อนร่างรัฐธรรมนูญเราถกกันว่าทำไมบ้านเมืองเดินมาถึงจุดนี้ คำตอบคือต้องให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่พรรคของนายทุน”

กรณีที่ ๒ ที่มา “นายกรัฐมนตรี”
“มาตรา ๑๗๒…กรณีที่ บุคคลดังกล่าว (ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี) มิได้เป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร  การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย”

“การเปิดทางให้ ‘นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจาก ส.ส.’ เกิดจากเหตุผลด้านประวัติศาสตร์การเมือง หลังเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ จึงต้องกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ผมเองก็ร่วมในขบวนการนั้นด้วย  แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนนั้นหลังพลเอก สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง ก็มีการทูลเกล้าฯ เสนอชื่อคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ แทนก่อนการเลือกตั้งเดือนกันยายน ๒๕๓๕ กลับยอมรับได้ เรื่องนี้ก็อธิบายยากในเชิงหลักการ  รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กำหนดว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันนำไปสู่รัฐประหารเดือนกันยายน ๒๕๔๙  ล่าสุดต้นปี ๒๕๕๗ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้คุณยิ่งลักษณ์ขาดคุณสมบัติ เอาคนที่ไม่ใช่ ส.ส. มาเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้ จนเกิดรัฐประหาร  เราจึงต้องมีประตูหนีไฟในเวลาจำเป็น ซึ่งต้องใช้เสียง ส.ส. สองในสาม”

กรณีที่ ๓ “พลเมือง” ในรัฐธรรมนูญ
“มาตรา ๒๖ ประชาชนชาวไทยย่อมมีฐานะเป็น ‘พลเมือง’”

“เราพูดเรื่อง ‘พลเมือง’ ในสามมิติ คือ กฎหมาย สิทธิ และวัฒนธรรมทางการเมือง โดยให้ความสำคัญมิติที่ ๒ และ ๓ มาก แต่สถานะทางกฎหมายของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนไป  เราพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ส่วนต้น ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ คือการสร้างประเภทสิทธิและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ชัดเจน  เรื่องสิทธิ เนื่องจากประเทศเราไม่ได้มีแค่คนไทย จึงต้องทำให้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศชัดเจน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยจะได้ทั้งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมือง  ส่วนวัฒนธรรมทางการเมือง หมายถึงประชาชนมีส่วนร่วม มีหน้าที่ ความรับผิดชอบ ไม่ใช่ ‘คอร์รัปชันก็ได้ แต่แบ่งฉันด้วย’”

กรณีที่ ๔ สภาปฏิรูปประเทศ 
“มาตรา ๒๗๙ เพื่อประโยชน์ แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล ให้มีสภาขับเคลื่อนการ ปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ…”

“เราพูดคุยกันประมาณสี่ครั้ง มีการเปลี่ยนรูปแบบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหลายครั้ง ทุกรูปแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน  นี่จึงเป็นการนำมาขอความเห็นจากสังคม  ถ้าไม่สบายใจเรื่องการสืบทอดอำนาจก็ต้องมีการทบทวนอย่างแน่นอน  การกำหนดคุณสมบัติของผู้จะเป็นสมาชิก น่าจะเป็นการเขียนที่ลงตัวมากกว่าเรื่องที่มา”