banner-camp-12-for-web-logo

งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานภาพสารคดี ดีเด่น)
ภานุชนาถ สังข์ฆะ : เขียน
รัชนี พรหมพันธุ์ใจ : ถ่ายภาพ

ขลุ่ยบ้านลาว จากความคิดถึงบ้าน สู่ ความผูกพัน รุ่นสู่รุ่น

เวลาเราพูดถึงเครื่องดนตรีไทยอย่างขลุ่ย อย่างน้อยเราก็คงคิดถึงขลุ่ยบ้านลาว แล้วขลุ่ยบ้านลาวอยู่ที่ไหนกันนะ

ฉันเดินทางมาไขคำตอบของคำว่าขลุ่ยบ้านลาว ที่ชุมชนวัดบางไส้ไก่ ใกล้กับสี่แยกบ้านแขก ฝั่งธนบุรี บ้านของครูช้าง สุนัย กลิ่นบุปผา ในชุมชนหมู่บ้านลาว ที่ยินดีให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ตั้งแต่ข้อมูลประวัติ ความเป็นมาของหมู่บ้านลาว จนกระทั่งเกิดขลุ่ยบ้านลาวอันเลื่องชื่อในด้านคุณภาพ ความสวยงามที่แปลกตา รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยชิ้นนี่ที่ไม่อาจหาฟังได้จากที่ไหน และไม่ใช่แค่ความรู้เท่านั่นที่จะได้รับเมื่อเดินทางมาถึงบ้านครูช้าง ยังมีแม้กระทั่งการสอนเป่าขลุ่ยขั้นพื้นฐานและสอนทำขลุ่ยให้เป็นอีกด้วยสำหรับคนที่สนใจอยากจะไปประกอบเป็นอาชีพ

“เสียงขลุ่ยครวญ หวนมากับลม พี่สะอื้นฝืนระทม ค่ำคืนฝืนข่มใจเหงา” เสียงเพลงลูกทุ่งดังแผ่วเบาจากลำโพง แว่วหวานหูในชื่อเพลงขลุ่ยเรียกนาง ครูช้างเปิดเพลงคลอๆเบาเสมอยามเมื่อทำขลุ่ย หลังจากการแนะนำตัว ครูช้างก็เล่าเรื่องราวให้ฟังอย่างสนุกสนาน แต่มือก็ยังไม่หยุดทำขลุ่ยทีละเลา ทีละเลา ทีละเลา อย่างบรรจง

“จริงๆประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านลาว ก็มาจากสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เกิดศึกสงครามกัน มีการกวาดต้อนคนลาวเข้ามาเป็นเชลย แล้วก็ให้มาตั้งที่พักกันตรงนี่ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็กระจัดกระจายกันไป สาเหตุที่ทำขลุ่ยขึ้นมาเป่า ก็เพราะมาจากความเหงา ความคิดถึงบ้านเมืองที่จากมานั่นเอง” ครูช้างบอกเล่าเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ

kluithai02

kluithai03

kluithai04

“สมัยก่อนก็มีแคนด้วยนะ แต่ไม้หายาก เลยเหลือแต่การทำขลุ่ย” ครูช้างอธิบายต่อ มือยังคงกลึงเกลาไม้เนื้อแข็งในมือด้วยความชำนาญ ฉันมองขลุ่ยฝีมือครูช้างที่วางเรียงตามลังไม้ และถังใบใหญ่ นอกจากการใช้ไม้เนื้อแข้งทำขลุ่ย ยังมีการประยุกต์นำท่อพีวีซีมาทำขลุ่ยได้อีกด้วย

“จริงๆก็ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นอาชีพกัน สมัยก่อนมันเหมือนสิ่งของแลกเปลี่ยน บ้านเธอมีข้าว บ้านฉันมีขลุ่ย เราเอามาแลกกัน แต่ต่อมาก็กลายเป็นอาชีพกันจากรุ่นสู่รุ่น นี่ก็รุ่นที่ 4 แล้ว” ฉันตั้งใจฟังครูช้างเล่าประวัติความเป็นมาของที่นี่ แล้วก็จดลงใส่สมุดเล็กๆเสมอ เริ่มมีการตั้งคำถามว่า เพราะคำว่ารุ่นสู่รุ่น หรือ เพราะครูช้างหลงรักอาชีพนี่ไปแล้วกันแน่นะที่ทำให้ครูช้างมานั่งทำขลุ่ยอยู่ตรงนี่ไม่ไปไหนเกือบหลายสิบปี

ระหว่างการตั้งคำถาม ครูช้างยังไม่หยุดให้ความรู้ทั้งการทำขลุ่ย ขลุ่ยมีกี่ลักษณะ ขลุ่ยทำจากไม้อะไร มีข้อดี ข้อเสียยังไง เป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้ว่าขลุ่ยมีความแตกต่างและมีชื่อเรียกเฉพาะยังไง ทั้งขลุ่ยหลีบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยรองออ ขลุ่ยเคียงออ และขลุ่ยอู้ โดยการจะทำขลุ่ยชนิดไหนก็ตามแต่ลูกค้าสั่ง

แล้วครูช้างก็เฉลยคำตอบในใจฉัน โดยที่ยังไม่ทันได้ถามเข้าพอดี “จริงๆนะไม่คิดว่าตัวเองจะมาทำขลุ่ยด้วยซ้ำ ไม่ชอบเลย อะไรก็ไม่รู้ เห็นตั้งแต่เด็กๆมันก็เบื่อ เคยนะหนีออกจากบ้านไป ไม่อยากทำขลุ่ย แต่ก็ต้องกลับมาบ้าน กลับมาทำ” ครูช้างเล่าด้วยน้ำสียงช้าๆแต่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความรักและความสุขที่มากจนสัมผัสออกมาได้อย่างชัดเจนทั้งคำพูดและสีหน้าท่าทาง

“มันคงเป็นความผูกพัน” ครูช้างให้ข้อสรุปสั้นๆง่ายๆสำหรับเรื่องราวในชีวิต แต่สำหรับฉันมันเป็นถ้อยคำสั้นๆง่ายๆที่น่าสนใจเหลือเกิน

น่าเสียดายที่ในชุมชนหมู่บ้านลาวตอนนี่ เหลือบ้านที่ทำขลุ่ยไม่ถึงสิบหลังคาเรือน เพราะความสนใจในเครื่องดนตรีไทยลดน้อยลง และช่างที่มีฝีมือผลิตขลุ่ยคุณภาพดีจริงๆมีน้อยมาก เป็นเรื่องที่น่าใจหายถ้าเกิดว่าวันหนึ่งขลุ่ยบ้านลาวจะเหลือเพียงแค่ตำนาน แต่อนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ได้แต่หวังว่าจะเห็นการทำขลุ่ยในชุมชนหมู่บ้านลาวสืบต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งไม่สูญหายไปไหน

ก่อนจะกลับจากบ้านครูช้าง ฉันถามถึงเรื่องอนาคตของการทำขลุ่ย ถ้าไม่มีครูช้างแล้ว จะมีใครสานต่อไหม ครูช้างหัวเราะแล้วตอบว่า “เรื่องอนาคตมันไม่แน่นอนหรอก แต่มันคงไม่เหลือแค่ตำนาน”

ครูช้างยังฝากบอกถึง คนที่สนใจจะมาเรียนเป่าขลุ่ย ซึ่งครูช้างบอกว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นง่ายที่สุดในบรรดาเครื่องดนตรีไทย หรือคนที่สนใจอยากเรียนทำขลุ่ยเป็นอาชีพก็มาติดต่อได้ เพราะครูช้างไม่อยากให้ความรู้เหล่านี่ตายไปกับตัว เหมือนสมัยคนรุ่นบรรพบุรุศที่หวงวิชา และไม่ยอดถ่ายทอดให้ใคร จนความรู้ดีๆสูญหายหรือตายไปกับตัวอย่างน่าเสียดายที่สุด

kluithai05

kluithai06

kluithai07

ไม่น่าเชื่อเลยว่า พลังจากความเหงา ความคิดถึงบ้าน ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงขลุ่ยแว่วหวานซึ้ง จะกลายเป็นความรัก ความผูกพันที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ครูช้างหลงรักการทำขลุ่ยและเป็นครูผู้ให้ความรู้เสมอแก่ศิษย์ทุกคนที่มาหาที่บ้าน

“มันต้องทำทุกวันนะขลุ่ย มันหยุดไม่ได้ ถ้าหยุดก็เหมือนขาดอะไรหายไป ไม่มีไม่ทำหรอก มีแต่ต้องทำทุกวันให้สำเร็จ” ครูช้างทิ้งท้ายประโยคนี้ให้ฉันก่อนกลับ คงจะเช่นเดียวกับการเขียน คงไม่มีวันไหนที่หยุดเขียน เพราะถ้าหยุดเขียนก็เหมือนขาดหายอะไรในชีวิตไปเช่นเดียวกัน

ได้แต่หวังว่าขลุ่ยบ้านลาว จะไม่กลายเป็นตำนานเฉกเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆที่เคยพานพบ ขอให้คำว่า “เมื่อคิดถึงขลุ่ย แล้วต้องนึกถึงขลุ่ยบ้านลาว” ยังคงอยู่เช่นนี่ตลอดไปเสมอ