banner-camp-12-for-web-logo

งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานเขียนสารคดี ดีเด่น)
เรื่อง… โสรญา อะทาโส
ภาพ… อณวิทย์ จิตรมานะ

baanklui01
baanklui02
baanklui03
 width=
 width=
baanklui06
baanklui07
baanklui09

คนขี่รถจักรยานยนต์ คนซ้อนท้าย เด็กปั่นจักรยาน หรือคนเดินเท้า
ใครผ่านไปผ่านมาเป็นต้องเหลียวมองกลุ่มชายวัยรุ่นราว 4-5 คนกำลังสร้างผลงานศิลปะใหม่เอี่ยมบนกำแพงขาวกลางชุมชนเก่าแก่
ทว่าภาพที่พวกเขากำลังรังสรรค์ขึ้นมิใช่ฝีมือการฉีดพ่นสเปรย์เป็นลวดลายกราฟิก พวกเขากำลังใช้ฝีแปรงค่อยๆ บรรจงร่างภาพของขลุ่ยและหัวโขน  

กำแพงนั้นคือเขตรั้วของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าไปในซอยข้างมหาวิทยาลัยซึ่งมีคิวรถจักรยานยนต์รับจ้างตรงปากซอย ตรงเข้ามาจะพบอุโบสถหลังเล็กสีทองจับตา ติดกับวัดคือที่ตั้งของมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เดินตรงไปอีกสัก 4-5 ก้าว แหงนหน้าอ่านป้ายเหนือศีรษะจะทราบว่าที่แห่งนี้คือชุมชนบางไส้ไก่ ระยะทางราว 150 เมตร จากวัด คือจุดที่สีน้ำมันกำลังบันทึกเรื่องราวบางอย่างลงบนผนังกำแพง

“ประวัติของที่นี่ ก็เป็นเรื่องเดียวกับประวัติศาสตร์ที่เราๆ เรียนกันมานั่นแหละ” ดวงเดือน จุลกรานต์ คณะกรรมการชุมชน เกริ่นก่อนเริ่มเล่าเรื่องราวของชุมชนแห่งนี้ ขณะที่เธอนั่งเฝ้าดูการทำงานของกลุ่มชายวัยรุ่นเบื้องหน้า

ชุมชนบางไส้ไก่ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ มีความเป็นมากว่า 200 ปี ในเอกสารประวัติชุมชนที่บันทึกตามคำบอกเล่าจากบรรพบุรุษ เดิมที่นี่มีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ‘หมู่บ้านลาว’ การตั้งหมู่บ้านที่นี้เกิดจากอพยพของครอบครัวของชาวลาวเวียงจันทร์จากสาธารรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มายังประเทศไทยถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2321) ไทยยกทัพไปตีนครเวียงจันทร์เหตุไม่ให้ความร่วมมือกับกองทัพไทยในการยกทัพไปปราบปรามพม่า (พ.ศ. 2322) อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทร์จึงเสียเอกราชให้แก่ไทย ครั้งนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรล้านช้างมาประดิษฐานในไทย และได้เชิญตัวเจ้าอนุวงศ์พร้อมเชื้อพระวงศ์บางองค์มาเป็นองค์พระกันที่กรุงธนบุรี รวมทั้งกวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันทร์บางส่วนเข้ามาด้วย ชาวลาวบางกลุ่มจึงอ้างว่าตนตามพระแก้วมรกตมา เลี่ยงการยอมรับว่าเป็นเชลยศึก นัยหนึ่งที่ให้มาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่กรุงธนบุรีก็เพื่อให้อยู่ใกล้หูใกล้ตาทางการไทยซึ่งอยู่ฝั่งพระนคร

ส่วนครั้งที่ 2  เกิดขึ้นสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2367) เมื่อเสร็จสิ้น ‘สงครามเจ้าอนุวงศ์’ ครอบครัวชาวลาวเวียงจันทร์และชาวลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคกลาง และภาคอีสานของไทย และบางส่วนก็ให้มาสมทบอยู่ที่ ‘หมู่บ้านลาว’ ชื่อชุมชนบางไส้ไก่ที่ถูกเรียกในปัจจุบัน เพี้ยนมาจากคำว่า จักกาย ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2548 หมายความว่า แม่ทัพ เป็นการเรียกชื่อตามลักษณะสำคัญของถิ่นที่อยู่ ต่อท้ายคำว่าบาง ซึ่งเป็นต้นชื่อของชุมชนที่มีลำคลอง แม่น้ำ หรือทางน้ำไหลผ่าน

แม้มาอยู่ต่างแดนแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวลาว พวกเขาได้ทำ ‘ขลุ่ย’ และ ‘แคน’  อันเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านขึ้นมา ในระยะแรกก็ใช้บรรเลงเพื่อหวนระลึกถึงถิ่นภูมิลำเนา ต่อมาจึงทำเป็นอาชีพและกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน ปัจจุบันไม่พบครอบครัวใดทำแคนแล้ว แม้ไผ่ซางที่ใช้เป็นวัสดุหลักสำหรับทำแคนจะหาไม่ยากแต่สาเหตุสำคัญคือขาดผู้สืบทอด ทำให้ตอนนี้เหลือเพียงขลุ่ย เดิมขลุ่ยของชาวลาวทำด้วยไผ่รวก เป็นแผ่นเนื้อแน่น ลำไผ่มีลักษณะตรง ยาว ปล้องแต่ละข้อห่างกัน นำมาจากหมู่บ้านท้ายพิกุล อำเภอพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ตามภาษานักเลงขลุ่ย ขลุ่ยที่ทำจากไม้ไผ่จะให้เสียงที่เรียกว่า เสียงใสแก้ว เสียงใสก้องกังวาลทั้งโน้ตคีย์สูงและต่ำ  เอกลักษณ์สำคัญอีกอย่างที่ทำให้ขลุ่ยหมู่บ้านลาวเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลาย คือลวดลายวิจิตร แปลกตา ทำด้วยตะกั่วหลอมเหลว เทราดลงบนลำขลุ่ยจนเกิดเป็นลายต่างๆ ซึ่งลวดลายหลักมีจำนวน 7 ลาย ได้แก่ ลายหิน ลายกระจับ ลายดอกพิกุล ลายรดน้ำ ลายรมดำ ลายหกคะเมน ลายตลก โดยลายเหล่านี้แยกย่อยออกไปตามเทคนิคพิเศษของแต่ลาย เช่น ลายน้ำไหลแบบเข้ม ลายน้ำไหลแบบอ่อน เป็นต้น กรรมวิธีและลวดลายแบบโบราณไม่มีให้เห็นแล้วในปัจจุบันเพราะตะกั่วเป็นโลหะหนัก ไอระเหยอันตรายต่อคนทำขลุ่ยเองและชาวบ้านร่วมชุมชน หากใครยังทำลวดลายด้วยวิธีเดิมจะถูกลงโทษตามกฎหมาย

เมื่อลวดลายบนลำขลุ่ยมรดกทางภูมิปัญญากำลังเลื่อนหายไปจากวิถีชีวิต เครื่องดนตรีถูกเปลี่ยนฐานะเป็นของสะสม การบันทึกลวดลายขลุ่ยด้วยฝีแปรงลงบนกำแพง จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่คณะกรรมการชุมชนจัดทำโครงการขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ เอื้อเฟื้อให้ใช้พื้นที่บนผนังกำแพงด้านนอกเพื่อวาดภาพภูมิปัญญามรดกของชุมชน ทั้งนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีฝีมือด้านภาพจิตรกรรม อาสารังสรรค์ภาพขลุ่ยและหัวโขนบนกำแพง นอกจากโครงการวาดภาพลงบนกำแพงมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ยังมีโครงการศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมและงานฝีมืออันทรงคุณค่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

พื้นที่บนกำแพงถูกแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ภาพกรรมวิธีผลิตขลุ่ย ส่วนที่ 2 ซึ่งใช้พื้นที่มากที่สุดเป็นภาพของลวดลายขลุ่ยแบบดั้งเดิม และภาพหัวโขนอันวิจิตร เป็นส่วนสุดท้าย  “ถึงจะดูเป็นชุมชนเข้มแข็ง แต่ก็มีความอ่อนแอ” ดวงเดือนพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และที่สุดน้ำตาเธอก็ไหลเอ่อแก้ม  “ภาพคุณยายบนแพงที่กำลังทำขลุ่ย ถูกลบไปแล้ว เพราแต่ละบ้านที่เขาทำขลุ่ย ก็มาถามว่า ทำไม่เป็นพ่อฉันบ้าง ทำไมไม่วาดพี่ฉันล่ะ ป้าเลยตัดปัญหา ลบออกแล้วให้น้องๆ เขาวาดใหม่”  ดวงเดือนเสริมต่ออีกว่า บ้านที่ทำขลุ่ยแต่ละหลังก็เป็นเครือญาติกัน แต่ถ้าพูดในแง่ของการประกอบกิจการ ภาพบนกำแพงที่เป็นภาพของบ้านใดบ้านหนึ่ง ก็อาจส่งผลต่อรายได้ เพราะคนอื่นที่มาเห็นอาจจะเข้าใจผิดว่า คุณยายที่อยู่บนกำแพง เป็นคนทำขลุ่ยที่เก่งที่สุดในชุมชน ในตอนวางแผนการวาดนั้นมีการป้องกันปัญหาเรื่องความเอนเอียงแล้ว แต่ก็เกิดความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนประสานงาน ผลออกมาเลยเป็นแบบนี้ ซึ่งคณะกรรมการชุมชนต้องเป็นกลาง ภาพในพื้นที่ส่วนแรกจึงต้องแก้ไข นักศึกษาที่อาสามาวาดภาพได้ขอถ่ายภาพที่เขาวาดเก็บไว้และบอกว่า ภาพที่เอาสีทาทับไปมีมูลค่ากว่าหมื่นบาท

จารึกนับเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์  หากจิตกรรมบนกำแพงบอกเล่าว่าขลุ่ยและหัวโขนเป็นภูมิปัญญาของชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จมา 200 กว่าปี แล้วอีก 200 ปีข้างหน้า ภาพบนกำแพงและศูนย์อนุรักษ์จะเป็นเครื่องมือที่เพียงพอหรือไม่สำหรับการรักษามรดกล้ำค่าไม่ให้สูญหายไปจากวิถีชีวิต

พรรณธิภา พุทธรักษ์ ผู้ประกอบการทำขลุ่ยบ้านขลุ่ยมงคล ได้กล่าวถึงประเด็นข้างต้นไว้อย่างน่าสนใจ แม้จะเห็นว่าในชุมชนยังผลิตขลุ่ย แต่จากการบอกเล่าของพรรณธิทำให้เข้าใจสถานการณ์ของเครื่องดนตรีภูมิปัญญาชุมชนแห่งนี้ยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันรายรับหลักของบ้านผู้ประกอบการทำขลุ่ยแต่ละหลังมาจากการทำขลุ่ยโดยใช้วัสดุพลาสติกพีวีซี (Polyvinyl chloride; IUPAC: Polychloroethene) ตามคำสั่งซื้อของโรงเรียนต่างๆ เนื่องจากขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีไทยที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของนักเรียน ส่วนขลุ่ยที่ทำจากไม้ไผ่ หรือไม้จำพวกเนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ไม้พยุง ไม้มะเกลือ ไม้งิ้วดำ ไม้ดำดง ไม้มะริด เป็นต้น เป็นขลุ่ยที่มีราคาสูง ผู้ที่สนใจและรักในเครื่องดนตรีชิ้นนี้จริงๆเท่านั้นถึงจะซื้อหรือจ้างให้ผลิตขึ้นมา ขลุ่ยไม้จึงกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ผู้ประกอบการขลุ่ยทุกบ้านจึงต้องปรับตัวตามสถานการณ์

ในส่วนของบ้านขลุ่ยมงคลนั้นได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อขยายโอกาสและเรียนรู้วิธีนำผลิตภัณฑ์ออกขายสู่ตลาดที่กว้างขวาวขึ้น โดยปัจจุบันขลุ่ยบ้านมงคลมีโลโก้ของตัวเอง ทำป้ายยี่ห้อร้อยเชือกห้อยไว้กับตัวขลุ่ย  และผลิตขลุ่ยจิ๋วหลายขนาดทำเป็นพวงกุญแจเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ทั้งนี้มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขลุ่ย แต่ยังเป็นเพียงภาพร่างเท่านั้นเพราะติดปัญหาในเชิงการค้า ขลุ่ยเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มดังที่กล่าวไปแล้ว จึงยังไม่หน่วยงานใดให้การสนับสนุนเรื่องบรรจุภัณฑ์

การพัฒนาขลุ่ยตามความต้องการของตลาดก็ดี การจัดทำศูนย์อนุรักษ์และบันทึกลวดลายดั้งเดิมลงบนกำแพงก็ดี จะไม่มีความหมายเลยหากขาดผู้สืบทอดภูมิปัญญา “ลูกหลานแต่ละบ้าน ก็ไม่รู้จะมีคนทำต่อหรือเปล่า” พรรณธิภา พูดด้วยน้ำเสียงเจือความกังวล ตอนนี้ชาวลาวในชุมชนถือเป็นรุ่นที่ 2-3 ถัดจากนี้อาชีพทำขลุ่ยอาจไม่ใช่อาชีพที่ทายาทต้องการยึดเป็นรายได้หลักของครอบครัว ไม่ใช่เพียงขาดทายาทสืบต่ออาชีพเท่านั้น แต่ปัจจุบันบุคลากรผู้เป็นครูชำนาญเพลงขลุ่ยก็ขาดแคลนเช่นกัน หากไม่มีครูเพลงคอยสอน จะมีคนเป่าขลุ่ยเป็นได้อย่างไร ผู้ประกอบการแต่ละบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ชำนาญทักษะด้านเพลงนัก เพียงเทียบเสียง ตัวโน้ต และบรรเลงได้เป็นบางเพลงเท่านั้น ความไพเราะ ลูกเล่น ในแต่ละตัวโน้ตเทียบชั้นกับครูเพลงไม่ได้ แม้ในโรงเรียนจะสอนให้เด็กเป่าขลุ่ยเป็น ก็เป็นการสอนให้เด็กพอได้รู้จักเท่านั้น น้อยคนนักที่จะรักเครื่องดนตรีชิ้นนี้ เมื่อไม่มีเด็กที่สนใจรักท่วงทำนองเพลงขลุ่ย ก็กลายเป็นวงจรวนซ้ำย้ำความเลื่อนหายของขลุ่ย มรดกทางภูมิปัญญาของชุมชนแห่งนี้

คนขี่รถจักรยานยนต์ คนซ้อนท้าย เด็กปั่นจักรยาน คนเดินเท้า หรือยวดยานพาหนะแห่งอนาคต
หากผ่านผนังกำแพงเปื้อนจิตรกรรมสีอะคริลิควิจิตรกลางชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ จะเหลียวมองแล้วเรียงร้อยเรื่องราวจากสิ่งที่ตาเห็นกันอย่างไร

###

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • เอกสารโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ
  • สรุปผลการประชุมโครงการศูนย์การนเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เรียบเรียงโดยดวงเดือน จุลกรานต์ คณะกรรมการชุมชน
  • เอกสารประวัติชุมชนบางไส้ไก่บ้านสมเด็จ เรียบเรียงโดยดวงเดือน จุลกรานต์ คณะกรรมการชุมชน