369special1 โขนพระราชทาน โลกหลังม่านที่น่าหลงรัก

“โขนพระราชทาน” จะทำให้มุมมองที่มีต่อโขนเปลี่ยนไป

ไม่เพียงการันตีด้วยฉากและเทคนิคการแสดง แสง สี เสียง แบบอลังการงานสร้าง หลังเวทียังเต็มไปด้วยเรื่องเล่า-เรื่องราวพิถีพิถันแบบจัดเต็ม แต่น้อยคนจะรู้

นักแสดงโขนพระ นาง ยักษ์ ลิง ล้วนมาจากวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ โดยผ่านการคัดเลือกจากความสามารถตามหลักเกณฑ์ของโขนหลวงโบราณ

เครื่องแต่งกายแม้เพียงในการแสดงหนึ่งตอน ต้องปักผ้าไม่ต่ำกว่าพันชิ้น แต่ละชุดปักนาน ๔-๘ เดือน

การแต่งหน้าอันโดดเด่นล้วนผ่านกระบวนการศึกษาตามแบบโบราณแล้วประยุกต์เทคนิคร่วมสมัยจนเกิดอัตลักษณ์อันวิจิตรที่ขับความเป็น “โขนไทย” ให้ยิ่งชัดเจน ซึ่งหาดูไม่ได้จากการแสดงอื่น

ทักษะของนักแสดงและช่างฝีมือที่บ่มเพาะมาทั้งชีวิตของแต่ละคน ยังนับว่าเป็นน้ำจิ้มของเนื้อหาทั้งหมดเมื่อเทียบกับความรู้สึกยิ่งใหญ่ของพวกเขาที่เราได้พบ-ฟังในช่วงเวลาหลายเดือน

หัวใจของเหล่าคนโขนทั้งหน้าม่าน-หลังม่านน่าสนใจไม่แพ้งานที่พวกเขาทำ และมีคุณค่ามากพอให้พูดถึง

อยากให้แฟนโขนอ่านก่อนชมการแสดง จะยิ่งยิ้มละไมเมื่อเห็นเบื้องหลังต่าง ๆ โลดแล่นบนเวที

เพราะหากชมก่อนอ่าน คงว้าวุ่นใจทีเดียวว่าเมื่อไรโขนพระราชทานปีต่อไปจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง

369special2

Portland memories ความทรงจำสีเขียวที่ Pacific-Northwest

Portland รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงทั่วโลกว่าเป็น “เมืองจักรยาน” และคนจำนวนมากเข้าใจว่าพอร์ตแลนด์มีดีแค่นั้น

การสำรวจเมืองนี้ในแง่การจัดการระบบขนส่งและแง่ประวัติศาสตร์จึงถูกละเลยอย่างน่าเสียดาย

เพราะ ๓๐๐ กว่าปีนับแต่ก่อตั้งเมือง Portlander (ชาวพอร์ตแลนด์) ผ่านประสบการณ์กำหนดทิศทางพัฒนาเมืองผ่านระบบเลือกตั้งท้องถิ่นหนักหนาสาหัส–ลองผิดลองถูก ถกเถียง ขัดแย้ง คิดใหม่ทำใหม่มานับครั้งไม่ถ้วน

จากสถานะ “เมืองท่า” ในปลายศตวรรษที่ ๑๙ สู่ “เมืองอุตสาหกรรมต่อเรือและทำธุรกิจ” ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ จากนั้นแปรสภาพเป็น “เมืองรถยนต์” ก่อปัญหามากมายจนชาวเมืองลุกขึ้นมา “ปิกนิกเปลี่ยนเมือง” ในทศวรรษที่ ๑๙๗๐ นับแต่นั้นชาวพอร์ตแลนด์ก็กดดันอย่างต่อเนื่องผ่านการโหวต ทำให้ระบบคมนาคมทางเลือกเกิดขึ้นจนพอร์ตแลนด์เป็น “เมืองน่าอยู่” ในต้นศตวรรษที่ ๒๑

อย่ามองพอร์ตแลนด์แค่ “เมืองจักรยาน” เพราะที่นี่มี “ประวัติศาสตร์สีเขียว” ที่น่าเรียนรู้แฝงอยู่ด้วย