ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

taak

ภูมิประเทศอันสวยงามของตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตอนกลางเป็นที่ลุ่มใช้ทำนา สลับกับที่ดอนใช้ทำไร่  มีภูเขารายล้อมคล้ายแอ่งกระทะ

เหมือนฟ้าผ่าลงกลางบ้าน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตากรวมบ้านวังตะเคียนด้วย

แผ่นป้ายคัดค้านโครงการขึงติดอยู่ทั่ว พอ ๆ กับเสียงร้องขอความเป็นธรรม

“ชาวบ้านวังตะเคียน หมู่ ๔ และหมู่ ๗ เราไม่ต้องการอุตสาหกรรม เพราะเราให้ที่ดินทำถนนและสะพานไปแล้ว  ส่วนที่เหลือขอชาวบ้านไว้ทำมาหากินบ้าง” ข้อความบนป้ายหนึ่งที่ขึงข้างทาง

“อย่า ‘ปล้น’ ที่ดินชาวบ้านไปให้ทุนอุตสาหกรรม” อีกป้ายร้องอุทธรณ์

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตากอยู่ในพื้นที่สามอำเภอ คือ แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด ๘๘๖,๘๗๕ ไร่

เมื่อประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาครัฐจึงต้องหาพื้นที่สำหรับสร้างนิคมอุตสาหกรรม บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ หลังจากหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ ๑๗/๒๕๕๘ เพิกถอนที่ดินในตำบลท่าสายลวดให้ตกเป็นที่ราชพัสดุ

หมู่ ๔ และหมู่ ๗ ของบ้านวังตะเคียนกลายเป็นพื้นที่ “เฟสแรก” ของการลงทุนเพื่อตั้งโรงงาน พื้นที่ที่ถูกเพิกถอนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติ มีป่าชุมชน แหล่งน้ำ บางส่วนเป็นที่ทำกินของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบประมาณ ๙๗ ครัวเรือน ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์

ยายเพ็ญ วงษ์กาด อายุ ๗๒ ปี ได้รับที่ดินเป็นมรดกตกทอดจากพ่อแม่จำนวน ๓๗ ไร่ ใช้ทำกินมาทั้งชีวิต มีหนังสือแสดงการครอบครองที่ดินเป็น สค. ๑ มาแต่ปี ๒๔๙๘ เพียงชั่วข้ามคืนหลังคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปรากฏว่าที่ดินของยายและลูกหลานเหลือเพียง ๒ ไร่

“ถ้าพื้นที่เจริญ ประชาชนตกยาก แล้วประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างไร” หญิงชราชาวแม่สอดตั้งคำถาม  “พวกเราหมดไร่หมดนาแล้วจะให้ไปทำอาชีพอะไรหรือ”

ก่อนหน้านี้เคยมีโครงการสร้างถนนและสะพานตัดผ่านที่ดินของชาวบ้านเพื่อเชื่อมสะพานข้ามแม่นำ้เมยแห่งที่ ๒ ชาวบ้านยินยอมเซ็นเอกสารยกพื้นที่ให้ โดยไม่รู้เลยว่าต่อมาพื้นที่นี้จะมีการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก

แนวคิดเรื่องพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่สอดและใกล้เคียงเคยเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดตั้งจังหวัดใหม่ หรือการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษ  แต่หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗ ออกคำสั่งให้เวนคืนที่ดินเพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมเป็นลำดับต่อไป

สภาพพื้นที่แถบนี้เป็นอย่างไร เมื่อขึ้นไปอยู่บนเนินสูงสล้างจะเห็นที่ลุ่มสลับที่ดอนรอบทิศทาง  ชาวบ้านบอกว่าที่ลุ่มใช้ทำนา ที่ดอนใช้ทำไร่  ไม่ห่างนักคือหมู่บ้านวังตะเคียน ส่วนอีกฟากฝั่งหลังขุนเขายาวเหยียด คือเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า

แต่ละด้านจึงเต็มไปด้วยความเวิ้งว้างของทุ่งนา ป่าเขา แหล่งน้ำ

ชาวบ้านถามว่าพื้นที่เช่นนี้เหมาะสำหรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอย่างนั้นหรือ

การเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมีความเหมาะสมแค่ไหน

ชาวบ้านเองแม้จะไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ก็อาศัยที่ดินผืนนี้ทำกินมานาน ส่วนหนึ่งได้รับมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ จะต้องเสียสละยกที่ดินให้รัฐและนายทุนหรือ

“ที่ดินของเฮา ทำไมต้องเอาไปให้นายทุนอุตสาหกรรมด้วย” รัก ต้าวเต็บ ชาวบ้านวังตะเคียนระบายความรู้สึกอัดอั้น ด้วยประกอบอาชีพเกษตรกรมา ๓๖ ปี ถึงวันนี้ต้องคัดค้านการเข้ารังวัดที่ดินของเจ้าหน้าที่

เขตเศรษฐกิจพิเศษตากเป็นความต้องการของใครยังเป็นคำถาม ขณะที่ชาวบ้านก็มีคำถามเช่นกันว่า ถ้าสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้เป็นแสน ๆ ล้าน ทำไมถึงดูแลผู้เสียสละแค่ ๙๐ กว่าครอบครัวไม่ได้ ?