dullayapak02ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างพม่ากับไทยดูจะสวนทางกัน แต่บางเรื่องก็คล้ายกัน
ไทยกับพม่าถือว่าอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทั้งคู่ พม่าเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการเต็มใบไปเป็น “กึ่งอำนาจนิยม” เข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ ไทยโหยหาอดีต เปลี่ยนระบอบการเมืองถอยหลังทั้งยังเข้าสู่ระยะหัวเลี้ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในแง่ของความคล้ายผมมองว่าการหยิบยืมวิถีทางการเมืองเป็นเรื่องปรกติ พม่าก็ศึกษาไทยเรื่องระบบเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์ที่เขาอาจนำไปปรับใช้ มองอินโดนีเซียเป็นตัวแบบที่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยโดยทหารกลับเข้ากรมกองแบบไม่วุ่นวายนัก การเรียนรู้หยิบยืมแบบผู้นำไปนั่งสนทนากันก็มี เช่นหลังเกิดรัฐประหารในไทย พลเอก มีงอ่าวง์หล่ายง์ ** (Min Aung Hlaing) ก็เดินทางมาสร้างความชอบธรรมทางการทูตให้รัฐบาลทหารไทย แต่ไทยนั้นในแง่ความเป็นมาต่างจากพม่า คือไทยเป็นทุนนิยมและประชาธิปไตยมานาน เพียงแต่มีรัฐประหารแทรกเป็นระยะ ทหารจึงยังมีบทบาทมาก และตอนนี้ไทยก็นำวิธีการบางอย่างของพม่ามาใช้เพื่อรักษาอำนาจของผู้ปกครองนั่นเอง

ระบอบอำนาจนิยมดูเหมือนกลับมามีพลังในรัฐแถบอุษาคเนย์ หากเรามองพม่า ไทย ลาว เวียดนาม กระทั่งสิงคโปร์ ปรากฏว่ามีกลุ่มอำนาจเดียวปกครองประเทศมายาวนาน
นักรัฐศาสตร์ที่สนใจศึกษาการเมืองและประชาธิปไตยในหลายดินแดนทั่วโลก จำแนกระบอบการปกครองโดยดูจาก

๑. ระดับเสรีภาพ
๒. มีการเลือกตั้งสม่ำเสมอหรือไม่
๓. อำนาจประชาชนมีแค่ไหน
๔. ชนชั้นนำสถาบันเก่านั้นยังมีอิทธิพลเพียงใด

และได้ข้อสรุปว่าระบอบการปกครองอาจจัดรูปแบบได้สี่ประเภท ที่แย่ที่สุดคือ “อำนาจนิยม” (authoritarian regime) อันหมายถึงระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ในอุษาคเนย์ ลาว เวียดนาม จัดอยู่ในหมวดนี้ ต่อมาคือ “กึ่งอำนาจนิยม” (semi-authoritarian regime) รัฐบาลทหารไทยบางทีก็จัดอยู่ในหมวดนี้เพราะการปกครองไม่เข้มงวดเท่าคอมมิวนิสต์ ประเภทต่อมา “กึ่งประชาธิปไตย” (semi-democracy) ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียที่มีการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างน่าประทับใจอยู่ในกลุ่มนี้ สุดท้าย “ประชาธิปไตย” (democracy) ที่ไม่มีชาติสมาชิกอาเซียนในหมวดนี้เลย แม้แต่ฟิลิปปินส์ที่มีการเลือกตั้งสม่ำเสมอก็เป็นเพียงกึ่งประชาธิปไตย เพราะมีเสรีภาพ ทว่ามีจุดอ่อนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและคอร์รัปชัน แต่ถ้าเทียบกับสมาชิกอาเซียน ถือว่ามีคะแนนดีที่สุด นี่คือการศึกษาแบบการเมืองเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตามคำอธิบายลงลึกว่าทำไมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผด็จการทหาร ระบอบปกครองแบบพรรคเดียวถึงต้านคลื่นประชาธิปไตยได้ในบางที่ ตรงนี้ไม่ควรมองข้าม บางทีก้าวหน้าสองก้าว ถอยหลังหนึ่งก้าวหรือมากกว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยแพ้ แต่เมื่อเกิดการถอย การก้าวไปข้างหน้าก็จะยากมาก การถอยนั้นก้าวถอยอาจลึกและยาว หรือถอยแป๊บเดียวก่อนกลับมาเป็นเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตยก็มี โดยงานศึกษาแบบนี้พบในกลุ่มประเทศโลกที่ ๓ ซึ่งผมคิดว่ายังต้องใช้เวลากว่าระบบการเมืองจะไม่มีการถอยหลังไปหาอำนาจนิยมอีก

ในปี ๒๕๕๘ นอกจากเรื่องพม่า ยังมีกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่กลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคซึ่งมีชาติสมาชิกอาเซียนอย่างน้อยสี่ชาติเกี่ยวข้อง อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า ความรับรู้ของชนชั้นปกครอง ทัศนคติประชาชนในรัฐแถบนี้มองความหลากหลายทางชาติพันธุ์เป็นภัยคุกคาม รัฐในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกี่ยวกับปัญหานี้กำเนิดยุคหลังอาณานิคม ชนชั้นนำของรัฐเหล่านี้สร้างชาติบนอุดมการณ์ชาตินิยมที่ยึดเผ่าพันธุ์หลักเผ่าพันธุ์เดียวในชาติเป็นตัวตั้ง จึงมองไม่เห็นชาติพันธุ์อื่น เกือบศตวรรษที่ผ่านมาวัฒนธรรมและแนวคิดนี้เหนียวแน่นมาก ๆ รัฐกับประชาชนในอุษาคเนย์ส่วนมากจึงมองปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน คือมองโรฮิงญาเป็นคนกลุ่มที่สุดของชายขอบ ตัวอย่างในบ้านเราคือชุมชนอินเดียในไทย พ่อค้าเชื้อสายอินเดียขายผ้าที่พาหุรัด แม้หลายคนจะได้สัญชาติไทย คนไทยก็ยังมองเป็น “แขก” เพราะสีผิว การแต่งตัวต่างจากคนส่วนใหญ่ เกิดตั้งแง่ ตั้งกำแพง พอมีเรื่องโรฮิงญาก็ตั้งตัวไม่ติด ถามว่านี่แขกไหม ? ถ้าแขกก็โดนจัดชั้นว่าแย่กว่าแขกขายผ้าพาหุรัด ยิ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับเอเชียใต้มีน้อยเราก็ยิ่งวางตัวและกำหนดท่าทีไม่ถูก เพราะคนโรฮิงญาอาศัยอยู่บนรอยต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยามตัวตนยาก ยิ่งมากับนายหน้าค้ามนุษย์ ก็นำมาสู่ความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ ถ้าตั้งค่ายผู้ลี้ภัยก็มีคำถามว่าจะอยู่นานแค่ไหน ฯลฯ การจัดการกับผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรมจึงไม่เกิดขึ้น

กรณีสังคมพม่าที่อาจารย์เข้าไปเก็บข้อมูล เขามองโรฮิงญาอย่างไร
โรฮิงญาเป็นของแสลงสำหรับคนพม่าที่เป็นพุทธ ตั้งแต่เด็กคนพม่าถูกกล่อมเกลาให้มองโรฮิงญาไม่ดี เช่น มองเป็น “กะลาดำ” “แขกดำ” จัดรวมเข้ากับอินเดียอพยพ พ่อแม่เตือนลูกว่าถ้าดื้อจะโดนแขกจับตัว แบบเดียวกับที่พ่อแม่คนไทยสมัยหนึ่งขู่เด็กว่าถ้าดื้อซีอุยจะกินตับ ทั้งยังมีบริบทประวัติศาสตร์ คือสมัยพม่าเป็นอาณานิคมอังกฤษ คนจำนวนมากจากแถบเบงกอลและเทือกเขาจิตตะกอง (บริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศ) อพยพมาที่รัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า ส่วนหนึ่งเข้ามาปล่อยเงินกู้ คนพม่าก็มองว่าพวกนี้รีดนาทาเร้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปะทะกันของอิสลามกับพุทธ เพราะศาสนาอิสลามเข้ามาพร้อมประชากรมหาศาล ประกอบกับการคืนชีพของพระนักชาตินิยมพม่าที่เทศน์ทางสื่อสังคม คนพม่ากลัวคำทำนายว่า ค.ศ. ๒๑๐๐ พม่าจะกลายเป็นประเทศอิสลามหากไม่หยุดการขยายพันธุ์ของมุสลิมโรฮิงญา สิ่งเหล่านี้ปลุกเร้าความเกลียดชัง ยังไม่นับปัญหาน้ำทะเลหนุน การแย่งชิงพื้นที่ทำกิน ความขัดแย้งเรื่องการประมงที่ผลักดันให้ปัญหานี้หนักขึ้นไปอีก

ท่าทีของอาเซียนในการแก้ปัญหาโรฮิงญาเป็นอย่างไร เทียบกับการรับมือผู้อพยพชาวซีเรียของสหภาพยุโรป
กลไกการแก้ปัญหาต่างจากสหภาพยุโรป กระทั่งสหภาพยุโรปเอง รัฐส่วนตะวันตกกับตะวันออกก็ปฏิบัติต่อผู้อพยพต่างกันเพราะมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างกัน ในอุษาคเนย์เรื่องสิทธิมนุษยชน มนุษยนิยมไม่ได้ฝังรากลึก จึงยากจะหวังให้คนอุษาคเนย์เชื่อแนวทางการช่วยเหลือแบบมนุษยนิยม มีมนุษยธรรม กลไกแก้ปัญหาหลักยังเป็นรัฐที่ปรับตัวตอบสนองกระแสความกลัวเรื่องความมั่นคงและเหยียดหยามทางชาติพันธุ์เป็นหลัก ถ้าตั้งสมการความขัดแย้งเรื่องวิธีแก้ปัญหา จะพบว่านี่คือเรื่อง “มนุษยธรรมนิยม” กับ “ชาตินิยม” ที่มาปะทะกัน พอขัดแย้งกันมากเข้า กลุ่มชาตินิยมสุดโต่งก็ยกระดับเป็นคลั่งชาติ ประเพณีการทูตในอาเซียน การแก้ปัญหาแบบนี้ยังขึ้นกับการยกหูคุยกันระหว่างผู้นำ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นมากนัก

ส่วนการรับมือของยุโรปถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติ ในประวัติศาสตร์ยุโรปมีกลุ่มคนอพยพหลายระลอกทั้งจากสงครามศาสนา สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ แต่เราต้องแบ่งยุโรปเป็นตะวันตกกับตะวันออก สองพื้นที่นี้มีพัฒนาการเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยต่างกัน คนยุโรปตะวันตกเข้าใจเรื่องนี้มากกว่าคนยุโรปตะวันออก รัฐในยุโรปตะวันตกยังมีขนาดเศรษฐกิจที่รองรับผู้อพยพได้มากกว่า เราจึงเห็นเยอรมนีประกาศรับผู้อพยพ แต่รัฐในยุโรปตะวันออกค่อนข้างกระอักกระอ่วนใจ บางประเทศเพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมืองมา ความกลัวคนแปลกหน้าที่จะทำให้สภาพสังคมไม่มั่นคงยังคงอยู่ ท่าทีของเขาจึงไม่ชัด

กรณีโรฮิงญา ทำไมพม่าในฐานะประเทศต้นทางของปัญหาจึงไม่ถูกวิจารณ์มากนัก
พม่าชอบนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียนมาก ไทยตอนนี้ก็คงชอบ แต่ต่างจากพม่าตรงที่ไทยมีไพ่และอำนาจต่อรองในมือน้อย ขณะพม่ามีทรัพยากรมหาศาล มีผลประโยชน์มากมายที่ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าไปลงทุน อาเซียนจึงทำอะไรไม่ได้มากกับปัญหาโรฮิงญา เราเห็นชาวมุสลิมในมาเลเซียต่อว่ารัฐบาลตนเอง แต่ภาคธุรกิจมาเลเซียกลับเข้าไปขุดเจาะน้ำมันในรัฐยะไข่ เรียกได้ว่าแต่ละประเทศมีอาการปากว่าตาขยิบ พม่าจึงได้เปรียบในสถานการณ์เช่นนี้

ความท้าทายในห้วงเวลาปัจจุบันสำหรับรัฐในกลุ่มอาเซียนคืออะไร
ความพยายามถ่วงดุลอิทธิพลของมหาอำนาจระหว่างจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และที่กำลังตามมาคืออินเดีย การแข่งขยายอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้อาจแบ่งเป็นสองพื้นที่สำคัญ คือ “แผ่นดินใหญ่” กับ “หมู่เกาะ” บนแผ่นดินใหญ่ เช่น ดินแดนตอนในของลาว ทุนจีนกำลังรุกเข้าไปทั้งสินค้าเกษตรและระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมอย่างรถไฟความเร็วสูง ยิ่งไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เปิดช่องให้อิทธิพลจีนเข้ามาง่ายขึ้น กลับกันกับในพม่าที่เริ่มนำชาติตะวันตกเข้ามาคานอิทธิพลจีน ในพม่ากับไทยตอนนี้อำนาจจีนกับอเมริกาจึงใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามหัวเมืองชายแดนพม่า-จีนก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเศรษฐกิจจีน มาที่พื้นที่หมู่เกาะ จีนกำลังขยายแสนยานุภาพทางทะเล ตัวแปรสำคัญในกรณีนี้คือหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์ มาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นคู่พิพาทกับจีนดูไม่ค่อยเคลื่อนไหว ต่างจากเวียดนามกับฟิลิปปินส์ที่แสดงการต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนค่อนข้างชัดเจน ทั้งยังดึงสหรัฐฯ มาคานอำนาจด้วย

ที่เราลืมไม่ได้เลยคืออำนาจเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ส่งผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ด้วยการลงทุนสร้างระบบการคมนาคมในแนวทางระเบียงตะวันตก-ตะวันออก (East-West corridor) โดยเชื่อมชายฝั่งอ่าวเมาะตะมะ (พม่า) ตัดถนนผ่านไทยไปยังชายฝั่งทะเลจีนใต้ที่เมืองท่าของเวียดนาม แนวการลงทุนนี้จะตัดกันกับทุนจีนที่รุกลงมาจากจีนตอนใต้ อย่างไรก็ตามในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ จะละเลยอุษาคเนย์ไม่ได้ โดยเฉพาะนโยบายย้ายกำลังทหารกลับเข้ามาในเขตเอเชีย-แปซิฟิกอีก ยุทธศาสตร์นี้อเมริกาใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น โดยจะพยายามสร้างระบบพันธมิตรกับรัฐแถบนี้เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน ถ้าดูแผนที่ทวีปเอเชียจะเห็น “สายโซ่ยุทธศาสตร์” ที่สหรัฐฯ วางล้อมจีน คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินเดีย และตอนนี้อาจมีพม่าด้วย จีนก็พยายามแหวกวงล้อมโดยใช้ “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” สร้างฐานอำนาจ พยายามออกทะเลผ่านการสร้างท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ของพม่าและบังกลาเทศ กระชับมิตรกับปากีสถานเพื่อกดดันอินเดียที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ข้อตีบตันทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน คืออำนาจเศรษฐกิจกระจุกตัวแถบหัวเมืองชายฝั่งอย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง แต่เมืองตอนในด้านตะวันตก ลึกเข้าไปในตัวทวีปเอเชียค่อนข้างยากจน จีนยังมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยในเขตปกครองตนเองซินเจียงฯ ทิเบต จีนจึงพยายามพัฒนาพื้นที่ตอนในและมุ่งลงใต้สู่อ่าวเบงกอล อันดามัน ผ่านรัฐในอุษาคเนย์ จะเห็นว่าขอบเขตการประลองกำลังกินพื้นที่ไปถึงเอเชียใต้และตะวันออกกลาง