ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานเขียนและภาพสารคดีดีเด่น
เรื่อง : ธิรินทร นันทโรจนาพร

ภาพ : กฤตนันท์ ตันตราภรณ์

tiahakee05

เมื่อเช้าวันใหม่เดินทางมาถึง เสียงเตือนจากนาฬิกาปลุกร้องเรียกให้เราตื่นและลุกจากเตียงเพื่อออกไปใช้ชีวิตอีกหนึ่งวัน แม้ว่าตอนนี้ฟ้าข้างนอกหน้าต่างจะยังไม่สว่างดี แต่ความเร่งรีบของชีวิตในเมืองหลวงก็ไม่เหลือเวลาให้ได้ครุ่นคิดถึงวันเก่าก่อนอะไรมากมายนัก เราสลัดความงัวเงียโยนลงตะกร้าผ้า ชำระล้างคราบเรื่องราวเละเทะใดๆจากเมื่อวานให้ไหลลงท่อไปพร้อมคราบไคลอย่างลวกๆ เช้านี้เรามีนัดที่ย่านบางรักตอนแปดนาฬิกา กดดูเวลาจากโทรศัพท์อีกที ขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่มาก

เราออกมาขึ้นรถตู้ตอนหกโมงกว่าเพื่อเดินทางไปต่อรถไฟฟ้าที่สถานีบางหว้า การเดินทางเข้าเมืองโดยเฉพาะในเขตชั้นในของกรุงเทพนั้นต้องเผื่อเวลาเอาไว้มากๆ เพราะเวลาในการเดินทางส่วนใหญ่หมดไปกับการติดไฟแดงและคลานตามก้นรถคันข้างหน้า ตอนนี้ฟ้าสว่างมากพอที่จะเรียกว่าเช้าได้อย่างเต็มปาก หลายๆชีวิตเริ่มวันใหม่ของพวกเขาแล้วเช่นกัน เราเดินตามหลังและสวนทางกับผู้คนจำนวนไม่น้อยบนทางเท้าแคบๆ ความเร่งรีบตะโกนทักทายเราผ่านความไม่แยแสที่เรามีให้กันแต่ไม่มีใครถือสา เพราะช่วงเวลานี้ทุกคนต่างมีจุดหมายที่อยากรีบไปให้ถึง รวมถึงเราด้วย

tiahakee06

tiahakee08

07.45 น. ถึงแล้ว-บางรัก

ใช้เวลาตั้งเกือบสองชั่วโมง กว่าจะย้ายตัวเองจากสุดชานเมืองมาถึงใจกลางกรุงเทพได้ ทันทีที่เดินออกจากตู้รถไฟฟ้าสู่ชานชาลาสถานีสะพานตากสิน เราเผลอถอนหายใจเฮือกใหญ่ให้กับความเหนื่อยหน่าย ขณะเดียวกันก็รู้สึกโล่งอกที่มาถึงไม่ช้ากว่าเวลานัด เราเดินออกจากสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน เบียดเสียดผ่านผู้คนพลุกพล่าน มาหยุดอยู่หน้าถนนเจริญกรุง ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นถนนที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการตามแบบฝรั่งเป็นเส้นแรกในสยามประเทศช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 นู่น คนฝรั่งสมัยนั้นเรียกถนนเส้นนี้ว่า “นิวโรด” (New Road) ส่วนคนจีนก็เรียกกันว่า “ซินพะโล้ว” ที่แปลว่าถนนใหม่ ถนนเส้นที่นำเอาความเจริญรูปแบบใหม่มาสู่วิถีชีวิตในพระนคร

เราเดินผ่านแยกไฟแดงท่าเรือสะพานสาทรตามทางเท้ามาเรื่อยๆ เพื่อไปยังจุดนัดพบบริเวณหน้าห้างสรรพรสินค้าที่มีโลโก้เป็นอักษรภาษาอังกฤษตัวอาร์สีเขียวที่อยู่ถัดไปไม่ไกลจากนี้ รอบๆเต็มไปด้วยบรรยากาศความเป็นเมืองแบบกรุงเทพแท้ ไม่ว่าจะเป็นถนนที่เกยก่ายตัดกันไปมา รถจำนวนมากที่แย่งกันไปก่อน ผู้คนจอแจเร่งรีบ รีบราวกับว่า 1 วันของพวกเขามีไม่ครบ 24 ชั่วโมง สองข้างถนนเป็นตึกแถวหน้าตาทันสมัยบ้างไม่ทันสมัยบ้างตั้งเรียงสลับเบียดเสียดไม่มีระยะหายใจ และทั้งหมดนั้นถูกปกคลุมไว้ด้วยละอองอากาศสีขมุกขมัว ที่ไม่รู้ว่าเพราะฝนกำลังจะตกหรือเพราะหมอกควันจากท่อไอเสียกันแน่

ใช้เวลาไม่กี่นาที ก็มาถึงบริเวณหน้าห้างฯ เพื่อนอีก 3-4 คนรออยู่ก่อนแล้ว

เป้าหมายวันนี้ไม่มีอะไรมาก แค่อยากชวนบางรักเล่าเรื่องเก่าให้ฟัง

tiahakee02

tiahakee07

บางรัก ใครบ้างไม่รัก

บางรักเป็นย่านมีเสน่ห์ เสน่ห์เหล่านี้เกิดจากการสั่งสมเรื่องราวผ่านเวลายาวนาน ผ่านยุคผ่านสมัย ผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย ย่านบางรักนับเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงไม่แปลกอะไรที่เราเจอกับบรรยากาศของความเบียดเสียดภายในย่านนี้เป็นพฤติกรรมปกติ ในสมัยก่อนย่านบางรักเป็นท่าจอดเรือสำคัญของกรุงเทพ มีเรือสินค้าจากต่างประเทศมาจอดเทียบท่า ทั้งฝรั่ง แขก และจีน บ้างไม่มาค้าขายเปล่าแต่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งฐานกันด้วย ย่านบางรักจึงเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม เป็นเสน่ห์ที่ใครหลายๆคนตกหลุมรัก

แม้ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยจะเข้าโอบกลืนพื้นที่แห่งนี้เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ แต่พื้นที่บางรักยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่รอการค้นพบและแบ่งปันแก่เรา บางเรื่องนั้นอาจมองเห็นได้โดยง่าย แต่บางเรื่องก็ซ่อนตัวอยู่อย่างมิชิดภายใต้เปลือกของเมืองยุคใหม่ บ้างซ่อนอยู่ในอาคารบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ ในละอองฝุ่นตามซอกมุมเมือง ในรอยกาวของแผ่นใบปลิว ในรอยผุของระเบียงไม้ กระทั่งในรอยเหี่ยวย่นของความชรา ซึ่งต้องอาศัยความช้าเป็นเงื่อนไขแรกในการสังเกต

พวกเราเดินเตร็ดเตร่มาเรื่อยๆตามเส้นถนนเจริญกรุง เลี้ยวเข้าซอยเจริญเวียงหรือที่ใครหลายคนอาจคุ้นหูในชื่อ “ตรอกซุง” กลางซอยที่เรายืนอยู่นี้ก่อนหน้าเมื่อนานมาแล้วมันเคยเป็นคลองมาก่อน ในยุคนั้นสิ่งที่เชื่อมผู้คนและชุมชนไม่ใช่ถนหากแต่เป็นคลอง และคลองบริเวณนี้เองที่เป็นจุดที่พบซุงต้นรักที่มาของชื่อเขตบางรัก ชาวบ้านจึงให้ชื่อบริเวณนี้ว่า คลองต้นซุง ต่อมาเมื่อมีการถมคลองกลายเป็นตรอกจึงเรียกใหม่ว่า “ตรอกซุง”

บรรยากาศในนี้ค่อนข้างเงียบและเรียบง่าย ผิดกับข้างนอกราวกับเป็นคนละโลก ซึ่งน่าจะเป็นโลกใบที่หมุนช้ากว่าข้างนอก ช้าจนเหมือนว่าเวลาไม่ใช่สิ่งจำเป็น

เข้าซอยมาไม่ไกล มีบ้านไม้ธรรมดาๆอยู่หลังหนึ่ง ไม่มีอะไรให้สังเกตเป็นพิเศษ นอกจากกรงเหล็กไม่เล็กไม่ใหญ่ 2 อัน ตั้งอยู่หน้าบ้าน ถ้าไม่ดูดีๆก็คงจะไม่รู้ว่าข้างในมีไก่จำนวนหลายตัวอยู่ข้างใน ภายในบ้านไม่มีเครื่องเรือนอะไรมาก นอกจากโต๊ะและม้านั่ง 2-3 ตัว โทรศัพท์ และวิทยุ อย่างละเครื่อง และพัดลมเพดานอีก 1 ตัว ที่ผนังไม้สีทึบที่ไร้หน้าต่าง มีนาฬิกาลูกตุ้มไขลานแบบโบราณและรูปชายหญิงสีขาวดำซีดๆ 2 คู่ แขวนอยู่ ข้างใต้รูปมีแท่นวางกระถางธูปเล็กๆติดอยู่ด้วย

“รูปใหญ่นั่นอากงกับอาม่า รูปเล็กนั่นรูปป๊ากับม้า” หญิงชราวัย 73 ปี เงยหน้าจากหนังสือพิมพ์บนโต๊ะหันมาบอกกับเรา

จริงๆแล้วบ้านไม้ธรรมดาๆที่ดูไม่มีอะไรหลังนี้ คือร้านเตียฮะกี่ ร้านขายไก่สดเก่าแก่ของย่านบ้างรักที่อายุร่วมๆ 100 ปี สืบทอดการขายไก่แบบวิถีสมัยก่อนมาจนถึงปัจจุบัน และหญิงชราคนที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่นี้คือ “อาม่าเตียง” ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านเตียฮะกี่

อาม่าเล่าให้เราฟังว่า ร้านนี้อากงของอาม่าเป็นคนก่อตั้งสมัยที่นั่งสำเภามาจากเมืองจีน มาขึ้นที่บกที่ท่าเรือหวั่งหลี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นลานจอดรถของวัดยานนาวา และมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทยร่วมกับเพื่อนคนจีนอีกหลายคน ย่านนี้จึงกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดย่อมที่มีจำนวนคนเชื้อสายจีนมากไม่แพ้เยาวราช

tiahakee01

tiahakee04

tiahakee03

การขายไก่สดของที่นี่คือ ไก่ตัวเป็นที่อยู่ในกรงหน้าบ้าน ใครชอบใจตัวไหนก็เลือกซื้อได้ตามใจชอบ การซื้อขายไก่รูปแบบนี้เป็นรูปแบบวิถีชีวิตแต่ดั้งแต่เดิม ในยุคสมัยที่ยังไม่มีไก่ชิ้นขึ้นแพ็คตามห้าง ผู้คนยังนิยมไปตลาดเพื่อจับจ่ายซื้อของเหล่าพ่อบ้านแม่บ้านที่อยากได้ไก่ไปทำกับข้าวก็จะถือตะกร้ามาเลือกซื้อไก่ตัวเป็นๆหิ้วกลับบ้าน โดยหากใครไม่อยากนำไก่กลับไปเชือดหรือชำแหละเอง ทางร้านก็จัดเตรียมมือเชือดไว้คอยบริการด้วย

พี่ศรี หนุ่มสัญชาติลาว มือเชือดประจำร้านเตียฮะกี่คนปัจจุบัน อธิบายถึงขั้นตอนการเชือดให้เราฟัง ว่ากระบวนการเชือดไก่นั้นมีแค่ 2 ขั้นตอนหลักๆ อันดับแรกคือเชือดคอ โดยลงมีดด้านหน้าคอและใต้ขากรรไกรล่างของไก่ เพื่อตัดเส้นเลือดใหญ่ รวมถึงหลอดลมและหลอดอาหารเพื่อให้ไก่ตายเร็วที่สุด สองคือ ถอนขน โดยใช้เครื่องถอนขนไก่โดยเฉพาะ ก่อนนำร่างไร้วิญญาณของไก่เขาเครื่องเพื่อถอนขนนั้น ต้องนำไก่ไปแช่น้ำอุ่นเสียก่อนเพื่อให้รูขุมขนที่ผิวหนังเปิดและถอนขนออกได้โดยง่าย อธิบายยังไม่ทันขาดคำ ก็มีหญิงชาวจีนมาซื้อไก่ร้านอาม่า อาม่าสื่อสารกลับไปด้วยภาษาจีนเช่นเดียวกัน เพียงไม่กี่ประโยคสนทนา อาม่าก็เปิดกรงเหล็กและจับไก่ขึ้นมา 2 ตัวด้วยท่าทางที่คล่องแคล่ว อาม่าหยิบเชือกฟางที่แขวนอยู่ใกล้ๆมัดรวบขาทั้งสองข้างของไก่เข้าด้วยกัน และหิ้วขาเอามายื่นให้พี่ศรี

พี่ศรีลุกจากเก้าอี้ข้างๆเรา และเดินหายเข้าไปหลังร้าน มีแสงจากห้องเชือดลอดผ่านช่องประตูออกมาหน้าบ้าน บรรยากาศในร้านตอนนี้ไม่มีใครพูดอะไร แม้จะไม่ได้เข้าไปดูเพราะไม่กล้าและอาม่าเองก็ไม่อยากให้ดู แต่ก็ได้ยินเสียงร้องแหบๆและเสียงดิ้นกุกกักประมาณ 2 นาทีลอดออกมาจากห้องเชือด เป็น 2 นาทีสำหรับเราที่ยาวนานกว่าปกติ นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับการเชือดไก่ขนาดนี้

“กลัวเหรอ?” อาม่าหันมาถามเรา

เรายิ้ม ไม่ได้ตอบอะไรไป

“ไม่ค่อยน่าดูหรอก แต่มันเป็นอาชีพของเรานี่นะ เป็นกิจการของครอบครัว ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ”

แต่อาม่าก็เล่าเขินๆให้ฟังว่า เคยไปสมัครเป็นกราวน์สนามบิน แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วย จึงต้องหยุดความฝันของตัวเองเอาไว้ก่อนและเข้ามารับช่วงต่อกิจการของที่บ้าน
อาม่าเป็นตัวอย่างของคนในรุ่นก่อนที่ยึดเชื่อในคำของบุพากรีมาเป็นอันดับหนึ่งแตกต่างไปกับวิธีคิดของคนรุ่นปัจจุบัน ซึ่งอาม่าเองก็ยืนยันว่าเป็นแบบนั้น

มีหลายๆสิ่งในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน ตั้งแต่วิธีคิดไปจนถึงวิธีใช้ชีวิต

เมื่อเทคโนโลยีและความทันสมัยได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ วัฒนธรรมการเดินตลาดเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนนิยมซื้อของในห้างสรรพสินค้า ในซุปเปอร์มาร์เก็ทมากกว่า เพราะความสะดวกสบายไปที่เดียวก็ได้สินค้าครบมือ แตกต่างจากเมื่อก่อนที่ใครอยากได้ผักต้องไปร้านขายผัก อยากได้ไก่ต้องไปร้านขายไก่ อยากได้สบู่ต้องไปร้านขายสบู่ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคมครอบครัวขยายเป็นสังคมเดี่ยว บางครอบครัวไม่ทำกับข้าวแต่ซื้ออาหารสำเร็จทานนอกบ้าน หรือกระทั่งความเร่งรีบในเมืองหลวงก็ทำให้เราไม่มีเวลามาประณีตกับเรื่องอะไรมากมายนัก ผู้คนจึงนิยมซื้อสินค้าบริการแบบสำเร็จรูปมากกว่า ความเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ส่งผลกระทบที่ไม่น้อยแก่กิจการขนาดเล็ก ซึ่งรวมไปถึงกิจการขายไก่สดของอาม่าด้วย

เมื่อก่อนย่านบางรักเองก็เคยมีร้านขายไก่สดแบบนี้อยู่หลายสิบร้าน แต่ด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ร้านขายไก่สดจึงค่อยๆทยอยหายไปทีละร้านสองร้าน จนตอนนี้เหลืออยู่เพียง 2 ร้าน เป็นโจทย์ยากสำหรับกิจการเล็กๆที่จะประคับประคองตนเองอย่างไรให้อยู่รอดได้ภายใต้กระแสของความเปลี่ยนแปลง

ไม่เพียงแต่แรงกดดันจากกระแสของความเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่ร้านขายไก่สดร้านเล็กๆของอาม่าต้องรับมือ แต่กฏระเบียบใหม่ของกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ในเขตเมืองได้เพิ่มความเข้มงวดของมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งอาม่าบอกว่าหากจะให้เป็นไปตามข้อระเบียบของกรมปศุสัตว์ต้องใช้ต้นทุนสูงมากซึ่งกิจการเล็กๆอย่างร้านอาม่าคงไม่สามารถแบกรับได้ไหว

เราถามคำถามสุดท้ายกับ อาม่าว่า จะทำร้านนี้ไปอีกนานแค่ไหนและอนาคตของร้านเตียฮะกี่จะเป็นอย่างไร อาม่าเงียบไปชั่วขณะกลืนหายใจ เรารู้สึกว่าแววตาของอาม่าเปลี่ยนไปเล็กน้อย ก่อนจะหันมาตอบเราด้วยน้ำเสียงที่แผ่วลงว่า

“อาม่าคงทำไปเรื่อยๆนะ แต่ก็คงอีกไม่นาน เพราะเด็กสมัยใหม่เขาไม่เอาอะไรแบบนี้กันแล้ว”

เราเงยหน้ามองเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาไม้ไขลานบนผนังร้าน เพิ่งสังเกตเห็นว่าลูกตุ้มของนาฬิกาไม่ขยับ มันทิ้งตัวนิ่งตามแรงโน้มถ่วงไม่ไหวติง เข็มนาฬิกาบนหน้าปัดหยุดค้างอยู่ที่เลขหกและปลายเลขสิบเอ็ด ลานของมันหมดไปนานแล้ว คงคล้ายๆกับร้านนี้ อีกไม่นานเวลาของร้านก็คงหมดลานและหยุดเดินในที่สุด เหลือไว้เพียงร่องรอยและเรื่องราวสู่รุ่นลูกหลานเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับใบโลกนี้ เมื่อมีสิ่งหนึ่งหายไป ย่อมมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่เสมอ และแน่นอนว่าเราหยุดมันไม่ได้

ทุกที่ของเมืองเต็มไปด้วยเรื่องราวเรื่องแล้วเรื่องเล่า ซ้อนทับกันเหมือนฝุ่นหนาที่เกาะอยู่ตามซอกผนังกำแพง ซึ่งต่างมีคุณค่าอยู่ในภายตัวของมันเอง สิ่งเหล่านั้นบอกถึงที่มาที่ไปของเรา เป็นประวัติศาสตร์ของเรา คงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับคนยุคใหม่ว่าเราจะมีวิธีเก็บรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ได้อย่างไร ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้.

banner-camp-12-for-web