ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานถ่ายภาพดีเด่น
เรื่อง : ปาริษา หวังอยู่
ภาพ : วรรณกานต์ สิทธิสุข

satpikarn01

มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตั้งอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่รับดูแลสุนัขและแมวพิการ มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมมูลนิธิ ฯ เป็นระยะ ผู้เยี่ยมชมบางคนก็นำอาหารสุนัขและของใช้ที่จำเป็นมาให้ ทำให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ฯ เตรียมรถเข็นไว้สำหรับใส่สิ่งของดังกล่าว

satpikarn03มีสัตว์หลายร้อยตัวที่มูลนิธิ ฯ รับภาระต้องดูแล ทุกตัวล้วนเป็นสัตว์ที่พิการจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ละตัวจะมีชื่อและหมายเลขประจำตัวติดไว้ที่กรง อาจมีป้ายเตือนให้ระวังสุนัขดุด้วยสำหรับบางตัว มีการจำกัดพื้นที่สัตว์แต่ละตัวด้วยกรงขนาดพอดีตัว ทำให้สัตว์ไม่ต้องอยู่รวมกันจึงไม่กัดกัน กรงมีทั้งแบบปิดสี่ด้านและแบบเปิดด้านบน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบเปิดด้านบนซึ่งจัดไว้สำหรับสุนัขที่ถูกรถชนจนสูญเสียประสาทสองขาหลัง ทำให้ขาหลังทั้งสองข้างไม่สามารถใช้งานได้ ส่งผลให้ทำได้มากที่สุดเพียงแค่ใช้สองขาหน้าที่เหลือพยุงตัวขึ้นมา ให้หัวอยู่เหนือขอบบนของกรงเท่านั้น

satpikarn06นอกจากมูลนิธิ ฯ ต้องดูแลสุนัขทุกตัวที่นอนเรียงรายตามกรงแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องอาบน้ำให้สุนัขอีกด้วย การอาบน้ำสุนัขพิการยุ่งยากกว่าสุนัขปกติมาก โดยเฉพาะสุนัขที่พิการขาหลังและตาบอด เนื่องจากสุนัขไม่สามารถมองเห็นได้ จึงไม่รู้ว่ากำลังถูกทำอะไร ส่งผลให้สุนัขแสดงอาการดุร้ายและเกร็งตัวไม่ยอมให้ทำ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก

ก้าวแรก

เมื่อเรามาถึงใกล้ “มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ” อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี แห่งนี้ เราจะรับรู้ด้วยเสียงทันทีเลยว่า “ถึงแล้วนะ” ด้วยเสียงเห่ากันระงม เราค่อยๆย่างก้าวเข้าไปด้านในตามเสียงเห่า ที่คล้ายๆกับเสียงเรียกนำทางให้เราเข้าไปด้านใน

ป้ายสีน้ำเงินตัวอักษรสีเหลือง ตั้งตระหง่านอยู่อยู่หน้าทางเข้าเพื่อบงบอกถึงสถานที่ ส่วนด้านบนเป็นโลโก้รูปดอกบัว เพราะมูลนิธิแห่งนี้ อยู่ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อเข้ามาด้านใน มีโต๊ะเก้าอี้เรียงรายอยู่ด้ายซ้ายมือประมาณ 5 ชุด ส่วนซ้ายมือเป็นห้องกระจก สำหรับผู้ที่มาติดต่อกับมูลนิธิ ถัดมา มีรูปภาพขนาดราวๆ กระดาษ A4พับครึ่ง ใส่กรอบสีน้ำตาล ติดเรียงรายอยู่ที่ผนังประมาณ 60 กว่าภาพ เป็นภาพของผู้ใจบุญที่มาบริจาคของให้มูลนิธิ ตรงหน้า เป็นห้องขายของที่ระลึก เราหยุดและเดินต่อไปตามเสียงเห่านั้น เมื่อมาถึงใกล้ขึ้น เสียงยิ่งดังขึ้น เหมือนเขาจะรับรู้กันแล้วว่ามีคนแปลกหน้ามา เรายืนแน่นิ่งไปพักใหญ่ ตกใจทำอะไรไม่ถูก อาจเป็นเพราะไม่เคยได้ยินเสียงหมานับร้อยตัวเห่าพร้อมกันเช่นนี้ แต่นี่ ก็ไม่ใช่เสียงแบบที่เราเคยได้ยินมาก่อน มันฟังดูแล้วรู้สึกเศร้า เสียงเห่าปนกับเสียงหอนและเสียงคราง คล้ายๆแสดงถึงความเจ็บปวด

“โซน Cโซนดูแลสัตว์เจ็บป่วย ตาบอด ทุพพลภาพ ป่วยเรื้อรัง สัตว์พักฟื้นหลังจากอาการต่างๆ” ป้ายขนาด A4 แปะไว้ในระดับสายตา บนอ่างล้างมือ บ่งบอกถึงลักษณะอาการสัตว์ที่เราจะเข้าไปเห็น แล้วเราก็ก้าวขาเดินเข้าไป

ก้าวแรกกว่าจะมาเป็นบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการแห่งนี้ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2524 ก่อกำเนิดขึ้นโดย พิมพ์กุล โอฬารศิรโรจน์ อดีตครู ได้ไปพบเจอและช่วยเหลือสัตว์ที่บาดเจ็บ เจ็บป่วย เมื่อแข็งแรงขึ้น ก็ยังคงดูแลต่อ

สัตว์ในความดูแลเพิ่มมากขึ้น สถานที่คับแคบ จึงต้องย้ายออกไปนอกเมือง ต่อมา ปี พ.ศ.2532 ชวนชื่น โกมารกุล ทราบข่าว จึงให้ความช่วยเหลือซื้อที่ดิน ที่ใช้เป็นที่ทำการ ณ ปัจจุบันให้

กระทั่งปี พ.ศ.2536 หลวงตามหาบัวทราบข่าว ก็ได้ให้เงินสนับสนุนและช่วยเหลือ และเมื่อท่านมารอบที่2 ปี พ.ศ.2541 ท่านเห็นถึงปัญหาจึงมอบเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1 แสนบาท และสร้างอาคารหลังปัจจุบันนี้ให้ เนื้อที่2 ไร่ มูลนิธิจึงจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายในชื่อ “มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” และท่านก็ได้ช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องเป็นต้นมา จนกระทั่ง ปี2554 ท่านได้ละสังขาร เงินบริจาคทั้งหมดจึงหยุดลง

ปัจจุบันมูลนิธิ ดูแลสัตว์พิการกว่า 1 พันตัว ซึ่งอยู่ที่นี่ คือบ้านปากเกร็ดประมาณ 300-400 ตัว ส่วนที่เหลือ อีก 600-700 ตัว คือสัตว์ที่อาการดีขึ้นและรักษาหายแล้ว จะย้ายไปอยู่ที่บ้านบางเลน จ.นครปฐม

เรามาหยุดยืนอยู่ภายในอาคารโครงเหล็กขนาดใหญ่ เมื่อก้าวเข้ามาด้านในจะพบเห็นสุนัขหลากหลายพันธุ์ ซ้ายมือจะเป็นช่องสีเหลี่ยมจตุรัสขนาดประมาณ 1 เมตร ซึ่งมี 2 ชั้น ลักษณะคล้ายคอนโด ส่วนบริเวณตรงกลางยาวไป จะเป็นกรงขนาดใหญ่ วางเรียงรายไปจนสุดสายตา ส่วนด้ายซ้าย จะเป็นคอกขนาดใหญ่ ไว้ให้สัตว์ที่อาการดีขึ้น ยืดเส้นยืดสาย เดิม จะให้สัตว์ไปผ่อนคลายตามสนามด้านนอก แต่ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยแล้ว จึงทำออกไปไม่ได้เหมือนก่อน จึงต้องใช้บริเวณนี้แทน ถัดไป จะเป็นกรงหมู 3 ตัวขนาดใหญ่ ที่มูลนิธิได้ไปไถ่ชีวิตมา

เราค่อยๆเดินสำรวจทีละตัว แต่ละตัวจะพิการต่างกัน มีตั้งแต่ ตาบอด หูหนวก ขาหัก หรือกระทั่งโรคต่างๆภายในร่างกาย ที่เรามองไม่เห็น เช่น ไต มะเร็ง เรากวาดสายตา ไปสะดุดกับสุนัขตัวหนึ่งเข้า เป็นสุนัขตัวสีน้ำตาล มีรอยแผลเป็นที่หน้า ตั้งแต่หน้าผากเกือบถึงจมูก ยาวประมาณ 4 นิ้ว และดวงตาขวาหายไป ส่วนตาซ้าย บวมปูด ถลนออกมาจากเบ้าตา เรารู้สึกสงสารจับใจ

สุนัขส่วนใหญ่จะมีชื่อและหมายเลข ติดไว้หน้ากรง เพื่อบ่งบอกตัวตน เช่น “ดุนะ ด๊อกกี้ 22 ก.ค.58” หรือบางตัวก็ “ระวังสุนัขดุ” เพื่อป้องกันผู้ที่มาทำบุญ ระวังในการเข้าหาสัตว์ เนื่องจากบางตัวเคยโดนมนุษย์ทำร้าย ได้กลิ่นมนุษย์ก็จะกัดโดยสัญชาตญาณ เพราะกลัว มันก็จะจำฝังใจ อีกอย่าง ป้องกันเด็กเล็กเอานิ้วไปแย่แล้วโดนกัด จึงต้องทำป้ายดังกล่าวเตือนไว้

15.05 น. เจ้าหน้าที่ลากกะละมังสีแดงขนาดใหญ่มา ข้างในบรรจุอาหารเม็ดประมาณครึ่งถัง จากนั้นตักใส่ถ้วยสเตนเลส และแจกจ่ายให้แต่ละตัว บางตัวก็กินเลย บางตัวก็ดูไม่ตื่นเต้นกับอาหาร อาจจะเหมือนตอนเราป่วย เราก็ไม่อยากอาหารเช่นกัน ตัวไหนพิการก็นอนกินด้วยความทุลักทุเล

อาหารจะให้ 2 รอบทุกวัน รอบแรก 8.00 น.รอบที่สอง 15.00 น. อาหารที่ให้จะมีตั้งแต่ โครงไก่บดต้ม หมูบดต้ม ตับต้ม น้ำซุป พร้อมกับข้าวสวย และอีกส่วนจะเป็นอาหารกระป๋อง สำหรับสุนัขที่ไม่กินข้าว เช่น หมาชรา หมาที่ลุกไม่ไหว หมาป่วย ทุพพลภาพ บางตัวอาการหนักมากๆ ก็จะมีอาหารหลอด เป็นเจลคล้ายหลอดยาสีฟัน เพื่อกระตุ้นให้อยากอาหารมากขึ้น หมาชราบางตัว ไม่สามารถขบเคี้ยวได้แล้ว ก็ต้องทานอาหารเหลว ส่วนอาหารเม็ด จะให้สัตว์ที่แข็งแรงแล้ว 80%เช่นสัตว์ที่บ้านบางเลน จะใช้อาหารเม็ดทั้งหมด เพราะโปรตีนสูง แต่ราคาก็สูงด้วยเช่นกัน

ส่วนอาหารอีกส่วน ก็จะมีผู้ใหญ่ใจบุญ แวะเวียนสลับสับเปลี่ยนกัน เก้าท้าวเข้ามาป้อนอาหารว่างให้กับ สัตว์พิการเหล่านี้ ซึ่งบางตัวก็ไม่สามารถก้าวเท้าเดินได้อีกตลอดชีวิต

“หากมูลนิธิไม่เริ่มที่จะเดินในก้าวแรก ผู้บริจาคไม่ก้าวเดินที่จะมาบริจาค ก็ไม่รู้ว่าชะตากรรม ของสัตว์ที่แค่คิดจะก้าวเท้าเดินยังทำไม่ได้นี้..จะเป็นอย่างไร”

satpikarn04ความพิการมีหลายรูปแบบ บราวนนี่เป็นหนึ่งในสุนัขที่ถูกรถชนทำให้พิการสองขาหลัง อีกทั้งยังมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดด้วย แต่ทางมูลนิธิ ฯ ก็ดูแลสัตว์พิการอย่างดี ทำให้บราวนนี่กลับมีท่าทางร่าเริงสดใส และมีขนสวยงาม แม้จะมีอาการเจ็บป่วยและพิการด้วยก็ตาม

satpikarn02ในการสัมภาษณ์เพื่อทำสารคดีในประเด็นเรื่องมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณครรชิต วาพิไล ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิและการเงิน ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวมูลนิธิ ฯ และสัตว์ต่าง ๆ หลายร้อยตัวที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิแห่งนี้ คุณครรชิตเป็นคนรักสัตว์ และมีสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้หนึ่งตัวเป็นสัตว์เลี้ยงคู่กาย

ตัวแทนเสียง ที่พูดไม่ได้

“ที่นี่ ก็เหมือนสถานที่พักฟื้นของคน แต่คนยังพูดได้ว่าเจ็บ แต่สัตว์พวกนี้พูดไม่ได้” พี่ชัยวัต หรือชื่อใหม่ คือ ครรชิต วาพิไล ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิและการเงิน ทำงานที่นี่มากว่า 15 ปี ชายวัยกลางคน สวมเสื้อมูลนิธิสีม่วง ใส่แว่นตา ท่าทางใจดี บอกเล่าให้เราฟัง

แรกเริ่มก่อนเข้ามาดูแลสัตว์ หลักๆคือดูทีวีเห็นสุนัขโดนเอามาปล่อยทิ้ง แล้วทางมูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือ จึงเกิดความสงสัยว่าสถานที่แบบนี้มีด้วยหรือในประเทศไทย จึงเข้ามาดู จังหวะที่มูลนิธิขาดบุคลากรที่จะมาประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆขององค์กร จึงตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือ และทำมาจนถึงปัจจุบันนี้

ซึ่งตลอดการทำงาน พบเจออุปสรรคหลายด้าน หลักๆคือปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอกับจำนวนสัตว์ในความดูแล เนื่องจากสังคมไทย ยังมีคนเห็นแก่ตัวอยู่มาก เลี้ยงสัตว์แล้วก็ปล่อยปละละเลยทิ้งข้างถนนจำนวนมาก เมื่อโดนรถชน บาดเจ็บ และมีคนพบเห็น ก็จะติดต่อมายังมูลนิธิให้เราดูแล บางคนไม่ได้ติดต่อ ไปพบเจอโดยบังเอิญ ก็จะมาปล่อยไว้หน้าประตูบ้าน เมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น จึงคิดโครงการเพื่อให้คนหันหน้าเข้ามาช่วยเหลือ

โครงการแรกคือ “โครงการวันละบาทต่อชีวิตหมาแมว” โดยจะแจกกระปุกออมสินไว้ให้ไปหยอดที่บ้าน เมื่อประสบผลสำเร็จ จึงเกิดเป็นโครงการที่2ขึ้นมา คือ “หนูอยากมีพ่อ-แม่” หากท่านใด อยากอุปการะหมาในมูลนิธิ จากการพบเจอ รู้สึกเอ็นดู ก็สามารถมาบอกหมายเลข และทำบุญโดยการบริจาคปัจจัยเป็นรายเดือน เดือนละ 300 บาท ต่อ 1 ตัว แต่บางคนก็ไม่สะดวกบริจาคในทุกๆเดือน กลัวลืมบ้าง อะไรบ้าง จึงเกิดเป็นโครงการที่3 คือ “โครงการบริจาคทั่วไป” คืออยากทำบุญตอนไหน หรือสะดวกตอนไหนก็สามารถบริจาคได้ อาจจะบริจาคเป็นสิ่งของ หรือเงิน โดยการโอนผ่านบัญชีธนาคาร ส่วนโครงการที่ 4 คือ “สี่ขากับบ้านหลังใหม่” คือโครงการสำหรับผู้ที่ไม่อยากไปซื้อสัตว์ ก็มาขอรับฟรีๆได้ที่มูลนิธิ โดยผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงต้องดูแลเขาให้ดี เรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ “หาดดูแลไม่ไหว อย่าเอาไปปล่อยทิ้งข้างถนน ให้นำกลับมาที่เรา เพราะจะกลายเป็นปัญหาสังคมต่อไป”

เจ้าหน้าที่ ณ ที่มูลนิธิ มีประมาณ 40 คน ทำงานด้วยความยากลำบาก คนที่จะทำงานอยู่ได้จริงๆ ต้องเป็นคนรักสัตว์ บางตัวเป็นโรคเลือด โรคหนอง ถ่ายเป็นเมือกเลือด สารพัดอาการที่ออกมา บางคนรับไม่ได้ก็ไม่อยากทำงาน

การดูแลสัตว์พิการ ยากกว่าการดูแลสัตว์ปกติหลายเท่า เพราะบางตัวไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ต้องกระตุ้นด้วยการบีบ ถ้าบีบไม่ถูกจังหวะ หรือแรงไป จะทำให้อักเสบ เกิดเลือดไหล จะทำให้ติดเชื้อได้ คนที่ทำต้องมีความชำนาญแผลกดทับ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เมื่อไม่สามารถพลิกตัวได้ ก็จะเกิดการอักเสบ เป็นหนอง จึงต้องทำแผลทุกวัน ส่วนสัตว์ที่ป่วยต้องคอยดูแลเรื่องอาหารอย่างต่อเนื่อง เพราะสำคัญมาก หมาปกติให้อาหารเสร็จก็จบ ไม่ต้องดูแลมากมาย แต่หมาพิการต้องดูแลทั้งวัน

ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวมาช่วย 1ส่วน เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง คนไทยถ้าไม่รักสัตว์จริงก็อยู่ไม่ได้ เพราะเงินเดือนไม่ได้มากมายเหมือนอยู่ข้างนอก แต่เราก็ดูแลเขาเรื่องสุขภาพ ทำให้เขาถูกต้องตามกฎหมาย สุขภาพต้องเน้นตามกระทรวงสาธารณะสุข ต้องดูแลเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี “คนที่อยู่ได้ทุกวันนี้ คือคนที่แฮปปี รักสัตว์ และเสียสละ” พี่ครรชิต ผู้ที่ทำงานมากว่า 15 ปีกล่าว

satpikarn07มูลนิธินี้เปิดให้ผู้เยี่ยมชมให้อาหารว่าง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก แก่สุนัข โดยทางมูลนิธิ ฯ เองจะเตรียมอาหารว่างเหล่านี้ไว้ให้ด้วย สุนัขทุกตัวดูจะตื่นตัวและดีใจเมื่อมีผู้เยี่ยมชมยื่นอาหารให้ ทางมูลนิธิ ฯ ห้ามไม่ให้ป้อนอาหารด้วยมือเปล่าแต่ต้องใช้ไม้เสียบยื่นให้ เพราะสุนัขอาจหวงอาหารและกัดมือได้

satpikarn05สุนัขบางตัวนอกจากจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ยังมีอาการเจ็บป่วยจนต้องให้น้ำเกลือ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ ฯ ดูแลสัตว์ทุกตัวเป็นอย่างดี เมื่อสุนัขตัวนี้ไม่สามารถลุกขึ้นมาดื่มนมเองได้ ก็เอียงกะละมังให้เพื่อให้สุนัขสามารถดื่มนมได้ อีกทั้งนมที่ใช้ยังเป็นของมียี่ห้อ ราคาค่อนข้างแพง ไม่ได้ใช้นมผงไม่มียี่ห้อแต่อย่างใด

มูลนิธิที่เป็นมากกว่ามูลนิธิ

สมัยก่อน เราดูแลสัตว์นานาชนิดที่พิการ มีทั้ง แพะ ชะนี ลิง เต่า จระเข้ สารพัดสัตว์ หน่วยคุ้มครองสัตว์ป่า และหน่วยคุ้มครองสุขภาพสัตว์เข้ามาดู บอกว่าเลี้ยงไม่ถูกวิธี เราจึงแจกจ่ายให้องค์กรที่เกี่ยวข้องไปดูแล เพราะสัตว์ป่าก็มีวิธีดูแลที่ไม่เหมือนสัตว์เลี้ยง

ปัจจุบัน สัตว์ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ จึงเป็นสุนัขและแมว สัตว์พิการส่วนใหญ่ 98% ถูกรถชน อีก1% ถูกหมาด้วยกันทำร้าย ส่วนอีก 1%ก็คือมนุษย์ทำร้าย แต่ตอนนี้ลดลงเยอะ เพราะ พรบ คุ้มครองสัตว์ที่คลอดออกมา 2 ฉบับเต็มตัว ซึ่งใช้กับคนที่ทารุณสัตว์หรือฆ่าสัตว์ ผู้พบเห็นสามารถแจ้งความได้ กฎหมายที่ออกไปถือว่าดีมาก

“ทำงานมูลนิธิไม่ใช่ว่าเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ต้องเป็นฝ่ายรุก พยายามออกสื่อ ประชาสัมพันธ์ ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ พลักดันร่างกฎหมายให้มันชัดเจนกว่านี้”พี่ครรชิตบอกเล่าถึงงานที่มูลนิธิทำอยู่ ไม่ใช่แค่รอรับบริจาค แต่ยังเดินหน้าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการมารับดูแลสัตว์พิการเช่นนี้ ยังแก้ปัญหาได้แค่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุเกิดจาก คนเลี้ยงสัตว์ และการควบคุมประชากรสัตว์ ซึ่งกำลังหาทางผลักดันเข้ารัฐสภาเช่นกัน

คนเลี้ยงสัตว์ เมื่อตัดสินใจเลี้ยงแล้ว ต้องดูแลให้ดี ซึ่งการพลักดัน พรบ ในด้านคนเลี้ยงสัตว์นี้ จะเป็นการควบคุมประชากรสัตว์ในวงกว้างได้ เช่น บ้านหนึ่งหลังห้ามเลี้ยงหมาเกินกี่ตัว มีหมากี่ตัวต้องแจ้ง ถ้าเราทำได้ สัตว์เลี้ยงจะไม่ถูกทิ้งให้กลายเป็นสัตว์จรจัดแน่นอน คนจะรับผิดชอบมากขึ้น แต่ตราบใดที่ยังไม่รับผิดชอบหรือเห็นแก่ตัว สัตว์จรจัดหรือสัตว์พิการ ก็จะถูกปล่อยทิ้งมากขึ้น

การควบคุมประชากรสัตว์ เป็นสิ่งสำคัญมากในสังคมไทย หน่วยราชการในแต่ละเขต ถ้าทำงานอย่างเต็มที่จริงจังทุกเขต ในการทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าประชากรสัตว์จรจัดจะลดลงแน่นอน

เคยมีโครงการออกมาเยอะ แต่ทำแค่เริ่มแล้วก็ปล่อย เช่น “โครงการฝังไมโครชิป” ซึ่งปัจจุบันก็เลิกทำแล้ว “เท่าที่ดูมา ที่นี่ทำงานเต็มที่ เต็มร้อยที่สุดแล้วในประเทศ ทั้งรับเลี้ยง รับดูแล รับเต็มๆเลย”พี่ครรชิต บอกถึงปัญหาที่ได้รับ

หน่วยงานต่างๆ ผลักภาระมาให้มูลนิธิ เพราะทั้งเลี้ยงและดูแลสัตว์จรจัด ชาวบ้านไปร้องเรียนปศุสัตว์อำเภอ-จังหวัด เขาก็โอนปัญหามาให้ ซึ่งหน่วยงานราชการเอง ต้องเข้าหาประชาชน ต้องรุก ประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่ว่าสุนัขจรจัดไม่มีที่อยู่ ก็จะให้มาอยู่ที่นี่ ทั้งๆที่รู้อยู่แล้ว่าที่นี่รับเฉพาะสัตว์พิการ

ภาระอันหนักอึ้งจึงตกอยู่ที่มูลนิธิ เพราะหน่วยงานที่ดูแลสัตว์พิการในไทย มีแค่2ที่ คือ ที่นี่ และที่ จังหวัดกาญจนบุรี ของคุณ จำลอง ศรีเมือง เพราะการดูแลสัตว์พิการ ใช้งบประมาณและพื้นที่มาก ของหน่วยงานราชการเองก็ไม่มี มีแต่สัตว์สภาพร่างกายปกติที่รัฐบาลดูแลอยู่ โดยภาพรวม ที่นี่จึงใหญ่สุดในการดูแลสัตว์พิการ ในส่วนของที่หน่วยงานราชการช่วยเหลือเราอยู่ เช่น ปศุสัตว์อำเภอ กรมปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่บุคลากร จะมาช่วยเหลือเราในเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

เจ้าหน้าที่หลายๆคน ทำงานด้วยสัญชาตญาณคนรักสัตว์ แม้ในเวลาหมดหน้าที่ แต่ดันไปเจอสัตว์พิการก็จะช่วยเหลือ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้นมันก็ไม่รอด ต้องทำทุกวิถีทาง ทำทุกอย่างที่สามารถช่วยเหลือได้ หากไปเจอคนใจบุญที่คิดจะช่วยเหลือสัตว์ เช่น โดนรถชน เราก็จะให้คำแนะนำ บอกให้เขาพาไปหาหมอ หากดูแลไม่ไหว ก็ติดต่อมาที่เรา

satpikarn08

เมื่อใดที่มีผู้เยี่ยมชมมูลนิธิ ฯ สุนัขทุกตัวจะเห่าเรียกด้วยความดีใจ ผู้เยี่ยมชมบางคนจะเข้าไปโอบกอดและสัมผัสตัวสุนัข สุนัขก็รับรู้ได้ถึงความรักที่คนมีให้

satpikarn09นอกจากมูลนิธิ ฯ จะรับเลี้ยงสัตว์พิการแล้ว ยังมีโครงการ “สี่ขากับบ้านใหม่” ที่เปิดให้ผู้สนใจเลี้ยงสัตว์มารับลูกสุนัขและลูกแมวไปเลี้ยง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

satpikarn10มูลนิธินี้ยังมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จัดไว้สำหรับสุนัขที่เคยเจ็บป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่อำเภอปากเกร็ด แต่ได้รับการรักษาจนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นปกติแล้ว รวมทั้งสุนัขจรจัด ได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ ลักษณะพื้นที่เป็นกรงขนาดใหญ่เปิดโล่ง มีบ่อน้ำตื้น ๆ ไว้สำหรับให้สุนัขแช่น้ำเมื่ออากาศร้อน อีกทั้งมีศาลาไว้ให้สุนัขหลบร่ม สุนัขทุกตัวที่นี่ดูผ่อนคลายและมีความสุขมาก

ชีวิต(ใหม่)หลังความ(เกือบ)ตาย

เมื่อเดินผ่านโซนแรกมา เราก็มาสะดุดกับหมาตัวสูง ขนปุย สีขาว ชื่อ “ตาโต” เขาจะเดินวนไปวนมาเป็นวงกลมอยู่ในกรงแบบนั้นไม่หยุด เราเริ่มรู้สึกสงสาร ว่าเกิดจากภาวะเครียดหรือเปล่า แต่มารู้ทีหลังว่าตาโต ตาบอด2ข้าง มีอายุมากแล้วทำให้สมองเออเร่อ จึงเดินวนไม่หยุด จะหยุดแค่เวลานอน “เขาไฮเปอร์ อยู่นิ่งๆไม่ได้ เกิดจากการเป็นโรคมาก่อน คือโรคไข้หัดขึ้นสมอง พอรักษาหายก็จะไม่สมประกอบ” พี่ครรชิตพูดจบ ฉันขำปนเศร้าๆ เพราะดีใจที่สาเหตุไม่ได้เกิดจากความเครียด แต่ก็เสียใจ เพราะสงสารเขาที่ต้องมารับชะตากรรมเช่นนี้

สุนัขที่พิการส่วนใหญ่ สาเหตุเกิดจากโดนปล่อยทิ้ง เมื่อไม่เคยใช้ชีวิตเอง จึงเคว้งคว้าง เป็นเหตุให้โดนรถชน อย่างเช่น สุนัขพันธุ์ไซบิเรียน ที่ชื่อแตงโม ถูกเจ้าของนำมาปล่อย มาวันแรกไม่กินอาหาร หางตก คอตก ประมาณ 7 วันจึงจะยอมกินอาหาร กว่าจะปรับตัวได้ใช้เวลานาน “แตงโม มานี่ เร็วๆ”พี่ครรชิตเรียกพร้อมกับผิวปาก เมื่อได้ยิน เจ้าหมาตัวอ้วนกลมตัวสีขาว รีบคลานดุ๊กดิ้กมาด้วยขาหน้ามาทันที เขาพิการที่ขาหลัง เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สุนัขน่ารักโดนเอามาปล่อยทิ้งเยอะ ส่วนใหญ่เป็นหมาพันธุ์ เช่น ชิสุ พุดเดิ้ล โกลเด้น ค็อกเกอร์ ไซบิเรียน
ปัจจุบัน แตงโมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากเมื่อก่อนไม่มีชีวิตชีวา ปัจจุบันอ้วนท้วนสมบูรณ์ กลายเป็นสุนัขต้อนรับของที่นี่ “และมีแฟนคลับมากมาย อย่างเช่นแตงโมกับเต้าหู้ หมาตัวสีขาวเตี้ยๆอีกตัว ส่วนอีกตัว ชื่อ ตึ๋งหนืด เป็นแมว เขาเป็นพรีเซนเตอร์ออกงานทุกงาน” พี่ครรชิต บอกถึงความประทับใจในการทำงาน คือการเห็นสัตว์แต่ละตัว มีอาการดีขึ้น

“ที่เสียใจมากก็คือ สุนัขรูปร่างหน้าตาดี ทำไมถึงทิ้งขว้างได้ลง เราไม่อยากเจอแบบนี้” พี่ครรชิตเล่าต่อว่า มีแม่ลูกคู่หนึ่งขับรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ ป้ายแเดง มาที่มูลนิธิ จากนั้นก็บอกกับเราว่า “ขอฝากหมาด้วยนะ ไม่สะดวกเลี้ยง ลูกเป็นภูมิแพ้” จากนั้นเอาหมามาวาง และขับรถออกไป ไม่น่าเชื่อว่า หมาวิ่งตามรถ เห็นแล้วหดหู่มาก แต่สุดท้ายเขายังมีน้ำใจ กลับรถและกลับใจได้ทันที ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในประเทศไทย

การแก้ปัญหาไม่ใช่ว่ามีแค่การเอาสุนัขมาปล่อยทิ้งเท่านั้น มีอีกหลายวิธีที่ทำให้คนกับสัตว์อยู่ร่วมกันได้ เช่นเวลานอน ต้องแยกห้องนอนให้เป็นสัดส่วน รักก็ส่วนรัก ก่อนคิดจะเลี้ยง ต้องดูว่าตัวเองดูแลเขาได้ไหม บางคนไปต่างจังหวัดก็เอาไปด้วยไม่ได้ นี่แหละคือเหตุผล ที่คนชอบเอาสัตว์มาปล่อย

ปัจจุบัน มูลนิธิมีกรงสำหรับสัตว์ที่พิการ 300กว่ากรง ณ บ้านปากเกร็ด เหลือรองรับได้ไม่ถึง 20ตัว รับไว้ล่วงหน้าแล้ว 12ตัว เหลืออีก 8ตัว ที่สามารถรองรับได้ ซึ่งจะรับสัตว์ที่ผ่านการรักษามาแล้วส่วนหนึ่ง บางคนใจร้อนไม่อยากเสียค่ารักษา ก็จะนำมาปล่อยทิ้งหน้ามูลนิธิ พออยู่กับเรา 2-3 วันก็ตาย เราจึงเน้นสัตว์ที่ใบรับรองแพทย์ มีใบส่งตัวบ่งบอกลักษณะโรคหรืออาการ จะได้ต่อเนื่องในการรักษา เพราะสัตว์ต้องอยู่นี่ที่ระยะยาว นี่คือวิธีที่ดีที่สุด และลดการตายที่สุด

เราเดินต่อไปยังด้านในตึก เมื่อมีสุนัขตัวแรกเห็นเราและเห่า ตัวอื่นก็จะเห่าและมองมาที่เราตาม ทางด้านในจะมีแมวอีกหลายชีวิตอยู่ ส่วนชั้น2 ก็มีสุนัขอยู่อีกประมาณ 50ตัว ส่วนสัตว์ที่รักษาหาย แข็งแรงขึ้น สภาพ90% เช่น ทุพพลภาพ เดินๆแล้วล้ม หรือพอที่จะทรงตัวได้แล้ว ก็จะย้ายไปอยู่บ้านหลังที่2 คือบ้านบางเลน ซึ่งเป็นที่โล่งกว้าง มีสุนัขคอกละประมาณ 50ตัว และมีสระว่ายน้ำให้ 2สระ สัตว์ที่นี่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์

สัตว์เหล่านี้ หลายๆตัว เคยผ่านความตายมาแล้วทั้งสิ้น หากอดทนหรือรักษาหาย ที่นี่ก็นับว่าเป็นสถานที่ ซึ่งให้ชีวิตใหม่ ของบรรดาสัตว์ที่โดนทอดทิ้งในความเศร้าก็ยังมีความน่ายินดีอยู่ หากเมื่อเราป่วยหนัก แล้วมีคนมาเยี่ยมไข้ เราก็คงจะดีใจไม่น้อย สัตว์เหล่านี้ก็เช่นกัน

สาวน้อยเสื้อดำผมประบ่า นำขนมมาป้อนให้กับสัตว์พิการ เธอชักชวนเราและแบ่งขนมให้เราป้อนสัตว์ไปกับเธอ เธอดูมีความสุขที่ได้แบ่งปัน แววตาและสีหน้าบ่งบอกเช่นนั้น ส่วนสาวแม่ลูกอ่อน เธอก็แวะเอานมมาป้อนลูกหมาที่พึ่งเกิดใหม่ 12 ตัว หมาน้อยรุมกินนมกันอย่างหิวโหย บางตัวก็กระโจนลงไปในกะละมังนม เรามองแล้วรู้สึกอิ่มใจ

หากมีคนใจดีเช่นนี้อีกหลายคนก็คงจะดี อยากให้คนรักสัตว์และไม่ทอดทิ้งสัตว์อย่างที่พี่ครรชิตพูดไว้ว่า คนที่คิดจะเลี้ยงสัตว์ ต้องดูความพร้อมของตัวเอง ว่ามีเวลา สถานที่ และสิ่งแวดล้อมจะมีปัญหาหรือเปล่า สิ่งสำคัญต้องถามตัวเองว่า ใจเรา รักเขาแค่ไหน ไม่ใช่รักแค่ผิวเผิน เพราะสัตว์ มันก็มีชีวิต มีจิตใจเหมือนคน

บางตัวเคยผูกพันธ์กับเจ้าของ กินนอนด้วยกัน พอโดนเอามาปล่อย ก็ร้องโหยหวนทั้งคืน วันรุ่งขึ้น ก็ตาย

banner-camp-12-for-web