ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานถ่ายภาพดีเด่น
เรื่อง : ศรุตยา สายเมฆ
ภาพ : ณัฐพล ศิลปชัย
แสงอาทิตย์แรกของวันเพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้ามาได้ไม่นานกลับถูกบดบังอีกครั้งด้วยเมฆฝน หยาดฝนเม็ดแล้วเม็ดเล่าโปรยลงมากระทบพื้น เวลาผ่านไปนานจนเกิดแอ่งน้ำขึ้น สะท้อนทุกย่างก้าวที่ถูกจรดลงเหนือถนนนี้ ร่างผอมแกร็นของชายชราหนึ่งคนนั่งอยู่บนอานรถจักรยานที่ด้านหลังพ่วงด้วยที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่บัดนี้ไร้ผู้คน มือเหี่ยวย่นกร้านแดดของเขาจับบนแฮนด์จักรยานที่มีดอกไม้ประดับอยู่กึ่งกลาง บังคับรถหลบหลีกแอ่งน้ำเล็กๆ นั้นท่ามกลางฝนห่าใหญ่ที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงได้ง่ายๆ
เหมือนดังสามล้อคันนี้
บรรยากาศสีเทาของจังหวัดอุบลราชธานี เมืองที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งแดนอีสานถูกบดบังด้วยหยาดฝนและเมฆหนาครึ้ม ในวันที่เป็นเช่นนี้ตลาดบางที่ก็หยุดขาย ร้านรวงต่างหยุดกิจการเพราะไม่มีลูกค้า ความชื้นแฉะของตัวเมืองส่งผลให้ทุกอย่างชะงักงัน ยกเว้นพาหนะนับร้อยที่โลดแล่นอยู่บนถนน บ้างก็มุ่งหน้าไปทำงาน บ้างก็มุ่งหน้ากลับบ้านเพื่อมองหาความอบอุ่นในวันที่อากาศไม่เป็นใจ ทุกอย่างดูรีบเร่งแข่งกับสายฝน ยกเว้นสามล้อสีหม่นๆ ที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า ที่มิใช่เพราะไม่เร่งรีบ แต่เป็นเพราะไม่สามารถเร่งรถได้ต่างหาก
เส้นเลือดบนน่องขาแข็งเกร็ง กล้ามเนื้อปูดโปนเป็นก้อนต่างจากน่องขาของคนทั่วไปพาจักรยานที่พ่วงท้ายเป็นสามล้อตระเวนไปทั่วเมือง แม้แดดจะแรงหรือฝนจะตกก็ไม่สามารถหยุดยั้งสามล้อคันนี้ได้
“เลิกปั่นก็ไม่มีเงินใช้สิ”
นายสมชัย แก้วนารี หรือที่คุณลุงบอกให้เราเรียกว่า ‘ลุงทูล’ พูดคำนี้ออกมาในระหว่างที่มองไปยังพื้นถนนที่มีฝนปกคลุมไปทั่ว ฟ้าพลันสว่างขึ้นมาพริบตาก่อนเสียงครืนจะดังตามหลังมาเสี้ยววินาที ลุงทูลมีอาชีพเป็นคนถีบสามล้อในจังหวัดอุบลราชธานีมากว่ายี่สิบปีแล้ว เฝ้ามองผู้คนเติบโตและผ่านช่วงสมัยมาด้วยนัยน์ตาฝ้าฟาง
“ที่มาปั่นนี่ก็เพราะที่บ้านจน ไม่มีเงินจะกินจะใช้ ลูกเข้าโรงเรียนก็ไม่มีเงิน”
ลุงทูลมีนาที่อำเภอบ้านเกิดของตนกว่าห้าไร่ แต่ในระหว่างที่หว่านข้าวและรอให้ต้นข้าวเติบโตก็มีเวลาว่างเกินไปจนต้องเข้ามาหากินในตัวเมือง ถีบสามล้อรับส่งผู้คนเพื่อนำเงินไปเยียวยาสองชีวิตที่บ้าน
ลูกชายของลุงทูลจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมยมศึกษาปีที่สาม หัวแรงหลักของครอบครัวจึงมีลุงทูลเพียงคนเดียว เมื่อเข้ามาถีบสามล้อในเมืองได้ยี่สิบวัน ก็จะกลับบ้านที่อำเภอม่วงสามสิบเพื่อนำเงินไปส่งภรรยา โดยก่อนไปก็จะนำสามล้อคู่ใจไปจอดฝากไว้ที่วัดมหาวนาราม อันเป็นที่หลับนอนของลุงทูลในยามที่เสร็จงานถีบสามล้ออีกเช่นกัน
แม้จังหวัดอุบลราชธานีจะไม่ใช่จังหวัดที่เจริญนักเมื่อเทียบกับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่ก็มีพาหนะอำนวยความสะดวกมากมาย มีรถเมล์ที่วิ่งตามสายทางหรือที่ภาษาคนท้องถิ่นเรียกว่า ‘รถสาย’ วิ่งอยู่ในตัวเมือง มีรถแท็กซี่คอยให้บริการในพื้นที่ทั้งในและนอกจังหวัด ซึ่งให้บริการตรงตามราคาต่างจากในกรุงเทพฯ ทำให้แท็กซี่ค่อนข้างเป็นที่นิยมในจังหวัดขนาดใหญ่แห่งนี้
แต่สามล้อถีบที่จุคนได้เพียงแค่หนึ่งหรือสองคนนี้ เดินทางไปข้างหน้าด้วยพลังงานคนที่ถีบพาสามล้อไปถึงจุดหมาย ไม่ใช่ยานพาหนะที่เร็วนัก ทั้งราคาก็ไม่ได้ถูกอย่างที่ลูกค้าคิด ตัวเลือกนี้จึงกลายเป็นว่าด้อยกว่าสิ่งอื่นไปทุกๆ ทางจนเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดเช่นนี้
ที่ที่ลุงทูลใช้จอดสามล้อเป็นท่ารถประจำอยู่คือหน้าโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลหลักของจังหวัดที่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของจังหวัด มีคนสัญจรไปมาจากทั่วทุกแห่ง ถือได้ว่าเป็นจุดที่ดีสำหรับรถรับจ้างทั่วไป เพราะแม้ในเวลาเช้าตรู่แบบนี้ก็ยังคงมีผู้คนเดินไปมาคึกคักกว่าที่อื่นเป็นพิเศษ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครคิดที่จะมาเรียกสามล้อไปเลยเพราะฝนที่ยังคงตกกระหน่ำลงมาไม่ขาดสายนี้
จุดจอดประจำของลุงทูลมีสามล้อเข้ามาจอดเพิ่มอีกสองคันเมื่อปริมาณฝนน้อยลง แดดยามสายเผยออกมาได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็เป็นตัวบอกเวลาให้กับคนบนถนนได้เป็นอย่างดีว่าใกล้เที่ยงเต็มทนแล้ว
ต่างจากลุงทูลที่มีเสื้อกันฝนใส่ติดตัว ลุงชาติ โยธิโน มีเพียงหมวกสานใบเล็กเพื่อใช้กันฝนสาด ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ลุงชาติมาถึงที่จุดจอดช้ากว่าลุงทูล สามล้อของลุงชาติประดับด้วยดอกไม้สด รูปในหลวง กระจกสำหรับแต่งตัว และปฏิทิน ด้วยรอยยิ้มจากใบหน้ากร้านแดดนั้น ลุงชาติเล่าประวัติของตัวเองที่เคยเป็นทั้งเด็กส่งหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพ และย้ายกลับมาบ้านเกิดของตัวเองที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสัปเหร่อบ้าง ช่วยงานในวัดบ้าง จนกระทั่งออกมาปั่นสามล้อในเมืองเต็มตัวเมื่ออายุสี่สิบสี่ปี
“ปั่นมายี่สิบปีแล้ว ภรรยาตายไปหลายปี ลูกชายสามคนก็ไปมีครอบครัวหมดแล้ว เขาไม่มาสนใจเราหรอก นี่ก็อยู่กับลูกสาวคนเดียว เป็นแม่บ้านที่วัดนู่น”
เมื่อถามไปว่า คุณลุงชาติพักที่ไหน ก็ได้คำตอบกลับมาว่า ‘ที่วัด’
“อยู่มาตั้งแต่อายุห้าสิบ วันๆ หนึ่งก็ได้เงินประมาณแปดสิบถึงหนึ่งร้อย เอาตรงๆ ก็ไม่พอกินนะ ถ้ารถยางรั่วยางแตกนี่ก็เส้นละร้อยยี่สิบเข้าไปแล้ว ทำงานเปลี่ยนยางต้องกลับไปกินข้าววัดอีก เคยมีวันหนึ่งจอดอยู่เฉยๆ เหมือนถนนมันร้อนมาก ยางระเบิดดังตูม ไปหาช่างแต่เงินเรามีไม่พอเขาก็ไม่ยอมทำให้”
เสียงล้อรถยนต์บดกับถนนที่เปียกแฉะจนเกิดเป็นเสียงให้พวกเราหันไปมอง ลุงชาติหันกลับมาเล่าถึงชีวิตของตัวเองและปัญหาที่สมัยนี้ไม่มีใครนั่งสามล้อกันแล้ว นอกจากคนแก่ที่อยากจะไปไหว้พระที่วัดหรือไปตลาด แต่ช่วงหลังมานี้ทางเทศบาลก็มีการจัดรถฟรีเพื่อพาไปไหว้พระเก้าวัด จนทำให้คนที่มาใช้บริการสามล้อลดลงไปเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย
เมื่อพระอาทิตย์เริ่มอยู่เหนือศีรษะพอดิบพอดี ลุงชาติก็ได้ถุงพลาสติกหูหิ้วสองใบจากเพื่อนที่เดินเข้ามาพูดคุยด้วยสักพัก เมื่อหันกลับมาลุงชาติก็เริ่มชี้ให้ดูของในแต่ละถุง
ถุงใบแรกบรรจุข้าวหุงสุกพร้อมทานที่มีหลากสีเหมือนได้มาจากหลายๆ ที่ ส่วนอีกใบมีไก่ทอด หมูย่าง และกับข้าวแห้งๆ อยู่รวมกัน
“นี่ล่ะข้าวเย็น” ลุงชาติพูด “แต่ถ้าสมมติว่าหาได้ 60 บาท ก็จะเอาไปซื้อข้าวปลายหักแบบที่เขาต้มให้หมูกิน ก็เอามากินกับลูก ยี่สิบบาทก็ได้เยอะนะ”
ท่ามกลางแสงแดด ฝนยังคงโปรยลงมาไม่ขาดสายเหมือนเล่นตลกกลางแจ้ง ผู้คนเริ่มออกจากใต้ร่มชายคาเพื่อรับประทานอาหารเที่ยง เสียงพาหนะบนท้องถนนยังคงดำเนินอยู่ สายตาของคนขับสามล้อมองไปยังเบื้องหน้าเพื่อหาลู่ทางในการดำรงชีวิตอยู่ต่อท่ามกลางความทันสมัยที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ชีวิตที่เคยใช้มาจะถูกเปลี่ยนแปลงและลบออกจากประวัติไปอย่างง่ายดายเพียงเพราะคำว่า ความเจริญ จริงหรือ
ไอของถนนที่เพิ่งเจอกับแสงแดดมาได้ไม่นานระเหยขึ้นเป็นกลิ่นเฉพาะตัวที่ต่างจากเวลาทั่วไป เสียงพูดคุยและควันบนถนนลอยเข้ามาในบ้านทรงตึกแถวเล็กๆ ที่มีสามล้อหลายคันจอดว่างอยู่ตรงหน้า เสียงประตูเหล็กดังครืนครานเมื่อลมแรงพัดหยาดฝนเข้ามาปะทะ ยามบ่ายจัดที่แสงสีเหลืองนวลใกล้ถูกแทนที่ด้วยสีแสด อู่สามล้อของคุณป้าสวรรค์ อุ่นแดง ยังคงตระหง่านอยู่ท่ามกลางตึกสูงและรถยนต์คันงามที่จอดอยู่บ้านข้างๆ
ทั้งลุงทูลและลุงชาติต่างก็ซื้อสามล้อเป็นของตัวเองด้วยราคาสามถึงหกพัน แต่ก็มีอยู่หลายคนเหมือนกันที่ไม่มีแม้กระทั่งเงินเพื่อซื้อเพื่อนคู่ใจของตนจนต้องมาใช้บริการเช่ายืมจากอู่ของป้าสวรรค์รายวันแทน
“ทำมาเกือบสิบปีแล้ว ที่นี่เป็นอู่ที่ใหญ่ที่สุดในอุบลด้วย” สำเนียงอีสานของคุณป้าหวนให้นึกไปถึงสมัยอดีตที่ป้าสวรรค์เคยเล่าความรุ่งเรืองของสามล้อให้ฟังว่า แต่ก่อนในตัวเมืองนั้นมีสามล้ออยู่เป็นร้อยคัน บ้านเมืองที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยแรงถีบของคนนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร คนรุ่นใหม่อย่างเราก็ยากที่จะเข้าใจ
“สมัยนี้มันหาเงินยาก นี่ก็ให้เช่าวันละสามสิบบาท เอาบัตรมาไว้แล้วตอนเย็นค่อยเอามาส่ง แต่ก่อนเคยโดนขโมยไปไม่มาส่งด้วยซ้ำ เราซื้อมาสามพัน ซ่อมเองอีกก็สามพัน พอไปแจ้งความตำรวจก็ไม่ยอมรับแจ้ง ก็ได้แต่คิดว่าทำบุญไป” ป้าสวรรค์ชี้ให้ดูสามล้อที่จอดเรียงอยู่หน้าบ้าน บางคันก็ถูกซ่อมโดยช่างซ่อมสามล้อที่มาทำให้ถึงที่ ลุงแสงจันทร์ทำงานนี้มากว่าสิบปีแล้วเช่นกัน แต่ก่อนคุณลุงเคยถีบสามล้อมาก่อน แต่ด้วยอายุและปัจจัยอื่นๆ ทำให้ลุงแสงจันทร์ผันตัวมาเป็นช่างซ่อมแทน ส่วนบางคันก็ยังมีดอกไม้สดประดับอยู่ ซึ่งป้าสวรรค์ก็บอกว่าคนขับมักจะถือว่าเป็น ‘การบูชา’ เพื่อให้ได้ลูกค้าเยอะๆ ช่อดอกมะลิแบบง่ายๆ ยังคงมีน้ำฝนพรมค้างอยู่เป็นเครื่องหมายว่าเจ้าสามล้อคันนี้เพิ่งผ่านศึกการทำงานมาได้ไม่นาน
“วันนี้ฝนตก เขาก็เอามาคืนเพราะไม่มีลูกค้า เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า” ละอองฝนและลมพัดเข้ามาจนทำให้อากาศเริ่มหนาวยะเยือกแม้เวลาจะใกล้เย็นแล้วก็ตาม “มันไม่มีอีกแล้ว …สามล้อมันหมดไปแล้วล่ะ”
ริ้วรอยบนใบหน้าของเจ้าของอู่ยามยิ้มแย้ม ผิวกร้านแดดและมืออันเหี่ยวย่นของคนถีบสามล้อ บ่งบอกสภาวะที่พาหนะชนิดนี้กำลังเผชิญอยู่
ในวัยราวๆ หกสิบปี ข้าราขการส่วนใหญ่เกษียร พนักงานเงินเดือนลาออกไปอยู่กับครอบครัว บางคนตั้งตนทำธุรกิจด้วยตัวเอง บางคนออกมาเล่นหุ้น บางคนโชคดีหน่อยก็ได้ใช้ชีวิตห้วงสุดท้ายกับคนที่รัก ความอบอุ่นของครอบครัว เพื่อนฝูงลูกหลาน จนกระทั่งถึงวัยอันควรแล้วก็จากไป
ทั้งหมดดำเนินไปในวงล้อของชีวิต แต่ทั้งสามล้อนั้นก็ยังคงจะหมุนต่อไปจนกว่าจะหมดแรง ถ้ายังไปได้ก็ไป ถ้าไปไม่ได้แล้วก็หยุด… นั่นคือสิ่งที่ลุงชาติทิ้งท้ายไว้พร้อมกับแววตามุ่งมั่น สองเท้าพร้อมที่จะถีบนำวงล้อชีวิตของตัวเองดำเนินต่อไป
เมื่อเห็นว่าลู่ทางชีวิตของตัวเองใกล้จะดับลงทุกที ทุกคนก็อาจจะเลือกที่จะเปลี่ยนงาน แต่ด้วยคุณวุฒิ การศึกษา และการไร้ที่อยู่ทำให้ขาดโอกาสในการทำงานชนิดอื่น คนขับสามล้อบางคนจึงทำได้เพียงหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำในช่วงที่ลูกค้าเริ่มร่อยหรอ เช่น ขนส่งของ รับจ้างขนผักในตลาด หรือแม้แต่เก็บขยะขาย
ฝนยังคงตกอยู่เมื่อตอนที่พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า แต่ถึงอย่างนั้นแสงจากหลอดไฟสีขาวอมส้มก็ถูกเปิดขึ้นเพื่อขับไล่ความมืด ในเมืองที่ไม่มีแม้กระทั่งที่ให้เงาได้อาศัยนั้นเริ่มชีวิตกลางคืนขึ้นมาอีกครั้ง ความสนุกสนานเริ่มเผยตัวขึ้นมาเมื่อหมดเวลางาน พอตกดึกขึ้นเรื่อยๆ เสียงของการหลับฝันก็ดังขึ้นแทนที่ชีวิตคนเมือง …แต่สามล้อคันเดิมก็ยังคงเฝ้ารอลูกค้าคนแรกและคนสุดท้ายของวันอยู่ที่เดิม
ทั้งแท็กซี่ รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ พาหนะทั้งหมดนั้นถูกออกแบบมาเพื่อชีวิตที่เร่งรีบและอยากสะดวกสบายของคนในเมือง ไม่มีเวลาหยุดดูข้างทางว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ท่ามกลางความเร่งรีบ แสงไฟและความคึกคักของตัวเมืองมักมีซอกมุมเล็กๆ ข้างทางเพื่อเก็บกักความเงียบงันเสมอ สามล้อคันเก่าที่สนิมสีน้ำตาลแดงเกาะอยู่ตามโซ่และตัวถัง บ่งบอกสภาพการใช้งานและอายุของมันที่น่าจะผ่านลมฝนและแดดมาเยอะจอดอยู่ข้างทาง ในซอยที่พาหนะเหล่านั้นเคลื่อนผ่านอย่างรวดเร็วโดยไม่มองสองข้างทาง เบื้องหน้าของมันมีร่างของผู้เป็นนายนอนพักอยู่ ความเหนื่อยล้าสะสมทั้งหมดในหนึ่งวันถูกดูดลงไปตามพื้นปูนแข็งๆ และท่อนแขนตนต่างหมอน เงยหน้ามองฟ้าและหลับตาลงหลีกหนีแสงไฟจากรถคันงามที่แล่นผ่านไปมา
ไม่มีหมอน เตียง มีเพียงเศษผ้าต่างผ้าห่มเพื่อรอให้วันรุ่งขึ้นมาถึงเท่านั้น
ชีวิตที่มุ่งไปข้างหน้าเพื่อตามหาคนมานั่งอยู่ข้างหลังนั้นไม่ง่ายดาย ไม่สวยหรู ไม่สะดวกสบาย แต่ไม่สามารถเลิกได้เพราะไร้หนทาง ค่าของเงินในมือของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เหรียญห้าบาทสำหรับเราหากทำหล่นท่ามกลางสายฝนก็คงถอดใจที่จะวิ่งกลับไปเก็บ แต่สำหรับบางคนมันอาจหมายถึงเส้นแบ่งของท้อง ว่าจะอิ่มหรืออดในวันรุ่งขึ้น
ชีวิตของทั้งลุงทูล ลุงชาติ ป้าสวรรค์ หรือแม้แต่ลุงแสงจันทร์ รวมทั้งชีวิตของสามล้อทั้งหลายดำเนินอยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน ที่มีสามล้อคอยขับเคลื่อน อาจจะจริงอย่างที่ใครว่าว่าวันเวลานั้นผ่านไปไวเหลือเกิน ไวเกินกว่าที่คนรุ่นหลังจะตามทัน ความเจริญ นายทุน และระบบเศรษฐกิจที่เดินไปข้างหน้าไม่ได้ช่วยฉุดคนข้างหลังไปเลยแม้แต่น้อย ด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายของชีวิตที่สามล้อทุกคันยกให้กับอนาคตนั้นหนักอึ้งกว่าน้ำหนักของผู้โดยสารด้านหลัง ที่นับวันรังแต่จะลดน้อยไปเรื่อยจนถึงวันที่จะไม่มีใครได้นั่งอยู่เบื้องหลังคนถีบสามล้อเช่นนี้อีก
แววตาของลุงทูลยามพูดถึงท้องนาในบ้านเกิดคล้ายกับของลุงชาติที่เมื่อพูดถึงชีวิตในวัดของตนกับลูกสาวยามจับสามล้อคู่ชีวิต มันหม่นเหมือนเมฆฝนที่แผ่กระจายอยู่เหนือศีรษะในวันนั้น ครึ้มเหมือนสีเทาของอากาศ และเปียกปอนเหมือนกับหยาดฝนที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง
อนาคตของสามล้อถีบในจังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นเช่นไร? ผู้โดยสารจะใช้บริการอีกหรือไม่?เมื่อมีขนส่งมวลชลชนิดอื่นๆให้เลือกมากมาย ทั้งสะดวกสบายและรวดเร็วกว่า ทันสมัยกว่า คำตอบของคำถามนี้คงมีแค่กาลเวลาที่ให้คำตอบได้