ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 12
งานแนะนำ
เขียน : สุชาดา สกุลลีรุ่งโรจน์
ภาพ : ปภาวี หงส์เชิดชัย

สมชัยดนตรีไทย ช่างสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของเครื่องดนตรี somchaimusic02

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน…ในงานไหว้ครูดนตรีไทยของบ้านพาทยโกศล สำนักดนตรีมีชื่อ “ทางฝั่งธน” ครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จไปทรงร่วมพิธี แล้วทอดพระเนตรเห็นเครื่องปี่พาทย์มอญตั้งอยู่ ทรงปรารภว่าเครื่องดนตรีนี้มีความประณีตงดงาม จึงทรงสอบถามถึงตัวผู้ทำ คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ นักดนตรีหญิงคนสำคัญผู้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย จึงทูลว่า เครื่องนี้ทำที่บ้านช่างชัยอยู่วัดยาง

นับแต่วันนั้น สมชัยดนตรีไทยจึงได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคคลบาท และถวายเครื่องดนตรีสำหรับทรงในโอกาสต่างๆ เรื่อยมา

ความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้นี้…เป็นแรงผลักดันให้ช่างชัย พัฒนาเครื่องดนตรีจนมีชื่อเสียงเลื่องลือในวงการดนตรีไทย เราจึงได้เห็นได้เครื่องดนตรีของสมชัยดนตรีไทยตั้งเป็นสง่าอยู่คู่กับวงดนตรีไทยทั้งในหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งของไทย

สมชัยดนตรีไทย มีหน้าร้านอยู่ติดกับซอยวัดยางสุทธาราม ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ลักษณะร้านเป็นตึก 4 ชั้น ชั้นแรกเป็นห้องทำเครื่องดนตรี ทั้งแกะกะโหลกซอ ประกอบรางระนาด ทาสี และมีห้องประกอบไม้พุดและเรซิ่น มีชั้นลอยเป็นห้องทำงานของคุณสมชัย และชั้น 3 เป็นโชว์รูมเครื่องดนตรี ส่วนชั้นสี่เป็นที่พักของคุณสมชัยและภรรยา นอกจากนี้ยังมีห้องแถวตึกข้างๆ เป็นสถานที่แกะสลักฆ้องมอญ และตึกฝั่งตรงข้ามเป็นโกดังเก็บเครื่องดนตรี

11.00 น. สมชัย ชำพาลี ในชุดกางเกงสีกรมท่าเสื้อสีแดงเลือดหมู ก้าวออกมาจากหลังบ้านพร้อมธูปและถาดอาหารในมือ เรามองตามคุณสมชัยเลยเข้าไปจนถึงในศาลพระภูมิและพบว่า ศาลพระภูมิบ้านนี้แตกต่างจากที่อื่น เพราะในศาลมีเศียรพ่อแก่ ครูเทพทางศิลปะการแสดงที่นักดนตรีเคารพนับถือ และเครื่องดนตรีขนาดเล็ก ทั้งระนาด และตะโพนตั้งอยู่

เลยไปที่ห้องทำงานของช่าง ประดับด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ และพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เครื่องดนตรีทั้งขนาดจริงและขนาดจำลอง ถ้วยรางวัลต่างๆ และโต๊ะทำงาน ใต้โต๊ะเต็มไปด้วยกล่องใส่ของซ้อนๆ กัน ตรงข้ามกับเป็นโต๊ะรับแขก และเราก็สะดุดสายตาที่ กล่องกระดาษทิชชู่ฝังมุก …เราได้แต่แอบคิดในใจว่าช่างสมชัยผู้นี้ มีเรื่องของดนตรีอยู่ในทุกจังหวะของชีวิต ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต อย่างเครื่องประดับศาลพระภูมิ กล่องกระดาษทิชชู่ เรื่อยไปจนถึงเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ

somchaimusic10

somchaimusic08

somchaimusic09

อัตลักษณ์เดิมของเครื่องดนตรีไทย

ช่างทำเครื่องดนตรีวัย 72 ปี เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุเพียงสิบกว่าปี และเริ่มทำเครื่องดนตรีหลังจากนั้นไม่นาน ถ่ายทอดความรู้ให้ฟังถึงคุณสมบัติของเครื่องดนตรีไทยตามขนบเดิมที่เน้นทำตามครูว่า

“เครื่องดนตรีไทยในอดีตที่ขึ้นชื่อต้องเสียงดีเป็นประการสำคัญ แต่นอกจากเสียงแล้ว ด้วยลักษณะของเครื่องดนตรีไทยมีไม้เป็นส่วนประกอบหลัก เครื่องดนตรีที่ดีจึงต้องว่ากันด้วยเรื่องของไม้ที่ใช้ทำ เช่น ไม้สัก ไม้ชิงชัน เป็นไม้ที่ถือกันว่าเป็นยอดของการทำระนาด หากเป็นกะลามะพร้าวสำหรับทำซอก็ต้องคัดเลือกกะลาขนาดใหญ่จากมะพร้าวซอ ให้ได้รูปทรงสวยงามมีลักษณะพิเศษเป็นทรงรูปสามเหลี่ยมมีปุ่ม มีพูสามปุ่มโดยปุ่มนี้เกิดขึ้นบริเวณ เส้นสาแหรก ซึ่งเป็นด้านที่อยู่ตรงข้ามกับตากะลา มองดูเผิน ๆ คล้ายเป็นโหนกเหมือนหัวช้าง”

ย้อนไปในอดีต ชนิดของไม้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของเครื่องดนตรีที่งดงาม เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยทั้ง การประกอบเครื่อง รูปทรงความสมดุลของเครื่อง ลวดลายการแกะสลัก การลงรัก ปิดทอง การประดับมุกประดับกระจก และรายละเอียดอื่นๆ อันเป็นลักษณะประณีตศิลป์ของดนตรีไทย

ในยุคทองของดนตรีไทย ดนตรีไทยเป็นดนตรีในอุปถัมภ์ของราชสำนัก จึงเป็นที่แน่นอนว่าความงดงามของเครื่องดนตรีนั้นจะต้องประกวดประชันกันอย่างที่สุด ไม่แพ้ฝีมือการบรรเลง เจ้านายชั้นสูงจะเป็นผู้อุปถัมภ์นักดนตรีในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน

ในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 จึงเกิดวงดนตรีสำคัญๆ ขึ้นหลายวง และวงดนตรีเหล่านั้นก็กลายเป็นต้นแบบของดนตรีไทยในสมัยต่อมา เช่น สำนักดนตรี “ทางฝั่งธน” วงพาทยโกศล มีครูจางวางทั่ว พาทยโกศล สำนักดนตรี “ฝั่งพระนคร” มีครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) สำนักดนตรีดุริยประณีต “บ้านบางลำพู” มีครูศุข ดุริยประณีต

การสืบทอดดนตรีของแต่ละสำนักดนตรีสืบทอดกันทั้ง “ทางเพลง” และ “เครื่องดนตรี”

ทางเพลงนั้น ว่ากันด้วยเรื่องของเสียง และกลวิธีการเล่นดนตรี อันเป็นศิลปะนามธรรมที่ต้องสืบทอดและบันทึกกันอย่างจริงจัง บางสำนักถือเป็นความลับ ถ่ายทอดกันเฉพาะคนในสำนัก

ส่วนเครื่องดนตรีที่ครูใช้นั้น ว่ากันด้วยลักษณะของเครื่องดนตรี เช่น ลวดลายการสลัก รูปแบบความโค้งมน ของเครื่อง เช่น เครื่องดนตรีจากบ้านดุริยประณีต ต้องเครื่องดนตรีของเจ๊กฮุย เจ๊กฝน ช่างไม้ชาวจีน ผู้สร้างต้นแบบรางระนาดรางประกอบมาแทนที่การขุดรางระนาด และสร้างได้งดงามจนกลายเป็นต้นแบบในหมู่นักดนตรี

แต่ในปัจจุบัน ดนตรีไทยไม่ได้อยู่ในอุปถัมภ์ของราชสำนัก และเสื่อมความนิยมลง ไม่ได้มีสำนักดนตรีให้ไปอาศัยหลับนอนและอุทิศตัวรับใช้ครูเช่นแต่ก่อน ไม่ได้มีสมบัติทางดนตรีที่ครูจะแจกจ่ายให้สืบทอดกันไปได้ การเล่นดนตรีส่วนใหญ่เป็นไปเพียงเพื่อการอนุรักษ์ ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน จากสำนักดนตรีสู่ดนตรีในระบบการศึกษา หรือการเรียนเพื่อเป็นความสามารถพิเศษตามโรงเรียนสอนพิเศษต่างๆ

การสืบทอดจึงทำได้เพียงการสืบทอดทางเพลง แต่เครื่องดนตรีนั้นนักดนตรีจำเป็นต้องจัดหาเครื่องดนตรีด้วยตนเอง

ความนิยมทางดนตรีไทยเปลี่ยนไป แต่นักดนตรีบางคนไม่เปลี่ยนตาม

“นักดนตรีในปัจจุบัน บางคนยังคงยึดถือการสืบทอดแบบทำตามครู สืบทอดรูปแบบที่ครูเขาสร้างไว้ หากช่างทำเครื่องดนตรีจะสร้างเครื่องใหม่ก็ต้องสร้าง “เลียนแบบครู” แบบตามๆ กันมา และต้องเหมือนครูในทุกรายละเอียด ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการสร้าง แต่ช่างบางคนสักแต่ว่าทำ เล่นไม่เป็น สำคัญคือ คนเล่นต้องเป็นคนทำ อย่างว่า…ส่วนใหญ่ คนเล่นไม่ได้ทำ คนทำเล่นไม่เป็น ไม่เคยเล่น… เรื่องของเสียงจึงอาจไม่ดีเท่าที่ควร ยิ่งวัตถุดิบจำกัด จะทำอย่างไร” ช่างสมชัยปล่อยคำถามไว้ให้เราได้ขบคิด

สู่อัตลักษณ์ใหม่ : ช่างประกอบรางระนาด “มือช่างสมชัย”

เจ้าของร้านเครื่องดนตรีผู้นี้ เริ่มต้นชีวิตในวงการดนตรีด้วยการเป็นนักดนตรีแบบที่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น “คนระนาดบินเดี่ยว” เดินทางจากกาญจนบุรีเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2510 มาเล่นตามวงลิเก เล่นแบบที่มีคนระนาดคนเดียว ไม่ต้องครบวงก็เล่นลิเกได้ทั้งเรื่อง

เรื่องราวในอดีตค่อยๆ พรั่งพรูออกให้เราเห็นเป็นภาพ

“สมัยนั้นเล่นดนตรีไม่ได้หยุดเลยทั้งวัน ลิเก โขน ละครวิทยุ นี่อัดเสียงกันทุกวัน ลิเกมีหลายคณะ รุ่งเรื่องมาก เราเป็นคนระนาดอัดเทป “ช.นำศิลป์” “ห้องสำเนียง” “เรื่องเพ้งตาเสือดาว” บริษัทยาแถวบางหว้า ดังที่สุดเลยสมัยนั้น มีลิเกอัดทุกวัน เราก็ต้องไปตีทุกวัน”

การออกไปเล่นดนตรีบ่อยๆ ทำให้มีโอกาสพบกับเครื่องดนตรีทั้งที่คุณภาพดีและคุณภาพไม่ดีจากหลากหลายสำนัก เมื่อเห็นเครื่องสวยๆ ก็อยากได้แต่ชีวิตเด็กตัวคนเดียวจากบ้านนอกฐานะทางการเงินไม่ได้ราบรื่นนัก

“เราก็อยากได้อยากมีเหมือนเขา แต่ไม่มีปัญญา จะไปซื้อหามาก็ไม่ได้ จะไปขอใครก็ไม่ได้ ต้องทำเอง เล่นเอง นึกๆ แล้วเตี่ยเราเป็นช่างไม้ เราก็ชอบเป็นช่างไม้ ดูๆ ก็ว่าทำไมเราจะทำไม่ได้ ก็ไปซื้อสิ่วมา ลองตอกผิดตอกถูก แต่ก็ประกอบได้ ทีนี้พอนักดนตรีมาเห็น บางทีมาขอซื้อของเรา ทำไปก็เล่นไป ขายไป นักดนตรีเขาเชื่อใจ เชื่อมั่น เพราะเราเป็นคนเล่นดนตรีมาก่อน ตอนนั้นมีคนทำเครื่องดนตรีเยอะ แต่คนก็เชื่อใจเรา

อย่างรางระนาด เราเคยเล่นของคนอื่นมาก่อน เรารู้ บางรางเป็นรางโบราณไม่อ้วน แล้วก็สูงด้วย บางรางก็เตี้ยต้องก้มลงไปตีก็ไม่สง่า บางรางก็สั้นใส่ลูกระนาดได้แค่ 21 ลูก 22 ลูกนี่ไม่พอ บางรางก็แคบ เรานั่งๆ ตี แล้วมันก็ไม่สบาย จึงได้ปรับเป็นขนาดของเรา” นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องดนตรีไทยสไตล์สมชัยที่ไม่ได้ตามครู

จากนักดนตรีสู่ช่างทำเครื่องดนตรี ทำเครื่องดนตรีอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นรางระนาดมือช่างสมชัยตั้งแต่ พ.ศ. 2517

“มือ” เป็นศัพท์ที่นักดนตรีใช้จนเป็นที่เข้าใจกันว่า มือใครนั้น หมายถึง เป็นฝีมือของใคร นักดนตรีเห็นเครื่องดนตรีก็จะดูออกว่าใครทำ

รางระนาดมือช่างสมชัย จึงหมายถึง รางระนาดจากร้านสมชัยดนตรีไทย ที่จะมีลักษณะแตกต่างจากรางระนาดที่สร้างโดยช่างอื่นๆ กล่าวคือ

“ตีนต้องสูง 9 นิ้วครึ่ง นั่งตีแล้วจะพอดี ไม่ต้องเอาหมอนเอาอะไรมารอง โขนรางตรงกลางต้องป่องออกเล็กน้อยแล้วจะสวย แล้วต้องโค้งให้ได้รูป ไม่ให้ “ตกท้องช้าง” เพราะจะลำบากคนตี ผืนต้องเป็นงูเลื้อย ลูกสุดท้ายต้องเรียว ตีแล้วลูกระนาดต้อง “ไม่ทะเลาะกับราง” คือไม่เคาะกับรางนั่นเอง สำคัญคือ รางต้องเข้ากับผืน”

เวลาผ่านไป 40 กว่าปี ผู้ครอบครองรางระนาดมือช่างสมชัย…เรียกได้ว่าคุ้มค่าไม่ต้องอายใคร

somchaimusic05

somchaimusic04

somchaimusic06

ช่างแกะสลัก : ฆ้องมอญแบบวงเดือน

หลังจากคุยเรื่องเกี่ยวกับรางระนาด ช่างสมชัยดูเหมือนจะสุขใจกับการถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตขึ้นเรื่อยๆ จึงเปิดบทสนทนาลับให้คนนอกอย่างเราฟังเป็นคนแรกๆ อย่างไม่หวงวิชา

“นี่ผมไม่เคยบอกใครเลยนะ เล่าที่นี่เป็นที่แรก”

ช่างสมชัยค่อยๆ เปิดฉากความลับต่อไป “ฆ้องมอญของผม เป็นแบบวงเดือน ปกติฆ้องมอญจะมีแบบทรงบาตร เป็นเหมือนบาตรพระ ป่องตรงกลางๆ แล้วปลายวงฆ้องหักศอกเข้ามา กับฝักมะขาม กลมเหมือนยกฆ้องไทยตะแคงขึ้นเลย ปากจะแคบ ถ้าใครเคยตีจะรู้ว่า ลูกฆ้องลูกสุดท้ายจะห้อยลงมา ไม่สวย เวลาตีก็ลำบากต้องเอาไม้งัดลูกขึ้น

คุณสมบัติความเป็นนักดนตรีผนวกกับความเป็นช่างก่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ของฆ้องมอญ แบบวงเดือน

“แบบวงเดือนนี่จะเป็นเหมือนพระจันทร์เสี้ยว จะโค้งน้อยกว่า ลูกฆ้องลูกสุดท้ายจะไม่ห้อยลงมา นอกจากทรงสวยแล้ว จะตีง่าย ไม่ต้องหักมือ คุณภาพเสียงของลูกสุดท้ายจึงจะดีกว่า”

นอกจากวงฆ้องแล้ว ฆ้องมอญของสมชัยดนตรีไทยยังแตกต่างที่ลวดลาย และหน้าพระที่อยู่บนเครื่อง หน้าพระของแต่ละที่จะหน้าตาไม่เหมือนกัน

ทองม้วน อุ่นอินต๊ะ และสว่าง อุ่นอินต๊ะ สามีภรรยา ชาวลำพูน ถ่ายทอดเรื่องราวการแกะสลักตัวพระบนฆ้องมอญให้เราฟังว่า

“แกะสลักตัวพระให้สมชัยดนตรีไทยมา 25 ปีแล้ว นานๆ เป็นปีกว่าจะกลับบ้านที เถ้าแก่เช่าบ้านให้ เป็นช่างทางเมืองเหนือมาก่อน แล้วตามคนรู้จักมา พอมาอยู่นี่เราก็หัดให้ลูก มีลูกแกะด้วยอีกคน งานแกะสลักใช้พื้นฐานคล้ายๆ กัน แต่ที่นี่เถ้าแก่จะเป็นคนวาด เราก็แปะลงบนไม้ แล้วก็แกะ ลายทางเหนือกับลายที่นี่ต่างกัน แต่เราเป็นคนแกะ มีลายก็แกะได้ ที่นี่ส่วนใหญ่จะแกะไม้ขนุน มีไส้สักบ้าง แต่ไม้ขนุนนี่เหนียวและแข็งกว่า

เราเห็นสิ่ว 30 กว่าเบอร์ และลายที่แปะลงบนไม้แล้วก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า “ช่างรู้ได้อย่างไรว่าต้องใช้สิ่วอันไหนแกะ ตรงไหนต้องแกะลึกแกะตื้น”

ช่าง 2 คนหัวเราะพร้อมกันและตอบว่า “ต้องใช้ความชำนาญ”

แต่เราก็ยังไม่สิ้นสงสัยว่าคนเริ่มต้นจะเริ่มอย่างไร

ช่างแกะสลักฆ้องทำให้เรารู้ว่า นอกจากสมชัยดนตรีไทยจะมีช่างสมชัยที่ชำนาญการทำเครื่องดนตรีแล้วยังมีช่างฝีมือดีในความดูแลอยู่มาก ทั้งช่างสมชัยยังมีความเป็นครู ถ่ายทอดวิชาการแกะสลักให้คนรุ่นถัดมาอีกด้วย

somchaimusic03

somchaimusic07

ช่างเขียน : ลวดลายไทยบนเครื่องดนตรี

หลังจากไปพูดคุยกับคนแกะฆ้องมอญ เราเก็บความสงสัยเรื่องการแกะลายลึกตื้นมาจากช่างแกะฆ้อง เพื่อมาถามช่างสมชัยว่า ในกรณีที่ต้องสอนคนมากๆ ช่างสมชัยสอนให้เขาแกะได้อย่างไร

ระหว่างรอคำตอบ สายตาของเราก็พลันเหลือบไปเห็นกระดาษลอกลายขนาดยาวประมาณ A4 ต่อกันเป็นรูปโค้งคล้ายรางระนาดโผล่ออกมาจากระดาษที่ทับๆ กันไว้ จึงสอบถามแสดงความสนใจ

ทันทีนั้น ช่างสมชัยเดินออกจากเก้าอี้ที่นั่ง รื้อกล่องเอกสารใต้โต๊ะทำงาน หยิบแบบลวดลายไทยที่เขียนบนกระดาษ A4 แล้วต่อกันเป็นกระสวนขนาดเท่าเครื่องดนตรีจริง ที่พับๆ และหนีบไว้ด้วยตัวหนีบสีดำ เปิดออกให้เราดูอย่างไม่ปิดบัง

แล้วเฉลยข้อสงสัยว่า “ในเรื่องของการแกะสลัก หรือฝังไม้พุด บางทีช่างยังไม่ชำนาญพอ เราก็ทำเป็นสีดำกับสีขาว อย่างตรงสีขาวแกะ ตรงที่ดำไม่ต้องแกะ แต่ถ้าชำนาญแล้วก็ไม่ต้อง”

จากนั้นก็เล่าถึงที่มาของลวดลายบนเครื่องดนตรีว่า

“เดิมเครื่องดนตรีไทยมีลายโบราณทำตามแบบกันมา เราก็ทำตามแบบเขา แต่เราคิดว่าไม่ละเอียดพอ เราคิดแล้วถ้าตามอย่างนี้ก็จะไม่พัฒนา เราจึงอยากคิดใหม่ เสริม เติม และดัดแปลงเป็นลายใหม่ขึ้นมาให้มีความคม ชัด และลึกขึ้นให้คนเห็น และสะดุดตา”

เมื่อเราถามถึงชื่อของลวดลาย คำตอบที่ได้ก็ยิ่งชวนฉงน

ด้วยเราคิดว่าจะได้ยินชื่อที่ยากกว่า กระหนก กระจัง หรือลายไทยอื่นๆ ที่เรารู้จักน้อยนิด แต่ช่างสมชัยกลับบอกเราด้วย ชื่อง่ายๆ อย่าง “ลายพญานาคของสมเด็จพระบรมฯ ลายช้างของสมเด็จพระเทพฯ ลายผักบุ้งของกรมศิลป์ ลายใบเทศของธนาคารกรุงเทพ ลายพญานาคของดุริยางค์ทหารเรือ แล้วก็ลายอื่นๆ แล้วแต่เขาจะสั่ง บางแบบก็อยู่ที่เมืองกาญจน์ ไม่ได้เก็บมาไว้ที่นี่”

ช่างสมชัยเล่าถึงที่มาของลวดลายต่อไปว่า “เราไปตีระนาด เห็นลายตามวัดก็ลอกลายมา มาถึงบ้านก็นั่งเขียนลอกลายเอง เราไม่ได้เรียน แต่อาศัยว่าบางทีบังเอิญเห็นตามวัด เราไปเล่นตามงานวัด เราก็ดูวัด ดูธรรมมาส ดูอาศรม ตรงไหนที่เป็นลายดีๆ เราก็จำ แล้วก็เขียนเอามา จริงๆ ลายไทยมีชื่อนะ แต่เรารู้ไม่หมด เพราะเราไม่ได้เรียน เราอาศัยดัดแปลงเอา เราต้องดูเนื้อไม้ว่าเราต้องการลายขนาดไหน วัดสัดส่วนมา แล้วจึงวาด ถ้าจะเปลี่ยนเครื่อง อย่างเขาสั่งเป็นชุดก็ต้องวาดใหม่ทุกครั้งเป็นเครื่องๆ ไป ลายที่ทำมี ลายปั้นปูน ก็นูนๆ ขึ้นมาเหมือนปูนปั้น กับลายแล หรือลายเปลว แต่ลายแลลายเปลวนี้จะใส่รายละเอียดได้พลิ้วกว่า”

เราถามว่าแล้วลายของที่นี่แตกต่างจากลายไทยแบบโบราณอย่างไร ประสบการณ์จากการลองผิดลองถูกที่สั่งสมมาจึงพรั่งพรูจากปากของช่างสมชัยอีกครั้ง

“ลายดนตรีไทยไม่เหมือนกับลายโบสถ์ เพราะเครื่องดนตรีไทยจะมีความโค้ง เว้าตรงนั้นตรงนี้ เราจะทำยังไงให้เหมาะสมกับเครื่อง นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะลายตรงๆ นั้นจะนำมาใส่เครื่องดนตรีไทย ก็ใส่ไม่ได้ เราจึงต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะใส่ได้ จะเขียนอย่างไร ต้องนำมาดัดแปลงให้โค้งเว้า เหมาะสม มีช่องไฟระหว่างลาย ลายไทยบางลายเขียนมาละเอียดยิบก็ใส่เครื่องดนตรีไม่ได้ เพราะลายบางลายเป็นลายเขียน เขียนได้แต่ไม่สามารถแกะสลักได้ เราจึงต้องเขียนใหม่ เพราะเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นรูปทรงแตกต่างกัน ลายจึงต้องมีความเฉพาะ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป”

ความพยายามอย่างที่เห็นจากกระดาษ A4 ต่อกันเป็นรางระนาดโค้งๆ ยาวๆ ความใส่ใจที่จะวาดลวดหลายให้เหมาะสมกับเครื่องดนตรีและความต้องการของผู้ซื้อนี้เอง ที่น่าจะทำให้ลวดลายไทยของสมชัยดนตรีไทย เป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ เจ้าของเครื่องดนตรีจึงสามารถภูมิใจได้ว่า ลวดลายบนเครื่องของตนเองนั้นจะเป็นลายที่สวยที่สุดเพราะเป็นหนึ่งเดียว
ช่างกล้า : ซอจากไม้ขนุน และเครื่องดนตรีประกอบเรซิ่น

ไม่ใช่เพียงแต่ลวดลาย แต่ความชำนาญในการทำเครื่องดนตรีของช่างสมชัยยังตกผลึก ประกอบกับวัตถุดิบที่จำกัดอย่างที่สุด ทำให้เขาคิดสร้างเครื่องดนตรีที่ไม่มีใครทำมาก่อนด้วยแนวคิดริเริ่มที่ว่า

“เครื่องดนตรี 1 เครื่อง จะต้องทุ่มเทเงินทองเท่าไรนักดนตรีก็ยอม อย่างกะลาสำหรับทำซ้ออู้ แม้จะยังไม่ได้แกะสลักลวดลายก็มีราคาเริ่มต้นหลักหมื่นบาท รวมกับค่าแกะสลัก และค่าประกอบคันซอ ซอ 1 คันก็มีราคาเริ่มต้นถึง 5 หมื่นบาทได้ ยุคสมัยเปลี่ยนไป วัตถุดิบในการสร้างเครื่องดนตรีมีจำกัด มะพร้าวซอ ผมปลูกไว้ที่บ้าน 10 ปี ออกลูกนิดเดียว ทรงมวยพราหมณ์ ทรงหัวช้างอย่างที่นักดนตรีต้องการหายาก ทีนี้กะลาก็ถูกปั่นราคา ลูกเป็นหมื่น ปลูกก็ลูกไม่โต จะไหวหรือ ?”

ช่างสมชัยจึงคิดทำกะโหลกซอจากไม้ขนุน เพราะประสบการณ์การเป็นช่างทำเครื่องดนตรีสอนเขาว่า “ไม้ขนุนนี้ทำเครื่องดนตรีอะไรก็ดัง ทำไมซอไม้ขนุนจะดังไม่ได้” ช่างสมชัยคิด และช่างสุนทร ศรีแจ่ม ผู้เป็นหลานจึงได้ลงมือ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน และถ่ายทอดได้ตรงประเด็น ช่างสมชัยได้เชื้อเชิญให้เราไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องดนตรีที่ ต.หนองหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ประมาณ 3 ชั่วโมงจากถนนพรานนก ถึงกาญจนบุรี

บริษัทสมชัยดนตรีไทย ที่ปรากฏตรงหน้าเป็นอุตสาหกรรมเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ ด้านหน้าเป็นโชว์รูมเครื่องดนตรีรวบรวมเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญ ที่ช่างสมชัยจำลองแบบจากเครื่องดนตรีที่เคยถวายสมเด็จพระเทพฯ แต่ละชิ้นงดงามจนต้องลองสัมผัส

ตรงข้ามโชว์รูมเป็นโรงงาน ที่คละคลุ้งไปด้วยฝุ่นจากไม้ และเสียงดังจอแจจากเสียงเครื่องจักรในการไสไม้ กลึงไม้ แต่ละคนดูง่วนอยู่กับงานตัวเอง ปัจจุบันที่นี่มีคนงานราวๆ 50 คน จากที่เคยมีถึง 100 กว่าคน แต่ละคนจะทำเฉพาะงานที่ตนเองชำนาญเพียงไม่กี่ขั้นตอน โดยมีช่างต้อย สุนทร ศรีแจ่มวัย 46 ปี หลานชายของช่างสมชัยเป็นผู้ดูแล

ช่างสุนทร ผู้นี้เองที่เป็นผู้ลองผิดลองถูกกับกะโหลกซอไม้ขนุน เขาเล่าประสบการณ์การทำซอชนิดใหม่นี้ว่า “แรกๆ ต้องผ่าครึ่ง คว้านข้างใน แล้วจึงเอามาประกอบ ทำตอนแรก ทำเป็นวัน กับช่างเล็กน้องชายก็หาทางกัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องผ่า และเอามาประกอบแล้ว คว้านทีเดียวทั้งลูกเลย”

ไม่เพียงแต่ริเริ่มกะโหลกซอไม้ขนุนเท่านั้น แต่ที่นี่เรายังได้เห็นเครื่องดนตรีประกอบเรซิ่น ซึ่งเป็นวัสดุที่ช่างสมชัยเลือกมาใช้ประกอบรางระนาด แทนที่งาช้างซึ่งนับวันจะหายากและยุ่งยากต่อข้อกฎหมาย

จากความกล้าข้างต้น เราจึงได้ฟังเสียงอันไพเราะ จากซอที่มีกะโหลกใหญ่สวยงามตามรูปทรงที่นิยม และได้เสพความงามจากเครื่องดนตรีประกอบวัสดุเทียมงา ประหยัดชีวิตช้างไปได้หลายตัว สำหรับนักดนตรีอนุรักษ์นิยม ผู้นิยมของสูง เราไม่รู้ว่าพวกเขาจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงอันนี้ได้หรือไม่ แต่สำหรับนักอนุรักษ์ช้างแล้ว…เรื่องนี้คงจะถูกใจกันน่าดู
ช่างคิด

จากกิจการเล็กๆ ที่ทำคนเดียวทุกขั้นตอน สมชัยดนตรีไทยในปัจจุบันได้กลายเป็นอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ สร้างรายได้ให้ครอบครัวและชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง

แต่ด้วยการผลิตแบบอุตสาหกรรมนี้ สมชัยดนตรีไทย ไม่พ้นกระแสต่อต้าน นักดนตรีบางคนตั้งข้อสงสัยถึงคุณภาพของเครื่องดนตรีจากระบบอุตสาหกรรม แต่คงมีน้อยคนที่จะล่วงรู้ว่าทุกวัน ช่างสมชัย ชำพาลี ในวัย 72 ปี กับเสมอ ชำพาลี คู่ชีวิต จะขับรถไปบนถนนเพชรเกษม เส้นทางร้อยกว่ากิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงกาญจนบุรี เพื่อไปตรวจโรงงานทุกวัน บางวันกว่าจะกลับถึงบ้านที่ถนนพรานนกก็เลยไปถึงครึ่งคืน

ป้าเสมอ ผู้ดูแลกิจการเครื่องดนตรีมานานพอๆ กับช่างสมชัย ได้บอกกับเราว่า “ดนตรีไทยเป็นจุดอ่อนๆ เป็นงานละเอียดนะลูก…” เราสัมผัสได้ว่าระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตรนั้น น่าจะแลกกับการควบคุมคุณภาพของเครื่องดนตรี

ดวงอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า ก่อนจากกัน …ช่างสมชัย เจ้าของอุตสาหกรรมดนตรีไทยขนาดใหญ่ นายช่างผู้ผลิตเครื่องดนตรีตั้งแต่ระดับนักเรียนหัดเล่นราคาไม่กี่พันบาทไปจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญราคาหลักแสน ทิ้งข้อคิดสำคัญไว้ให้เราว่า

“จะทำอะไร ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำให้สุดฝีมือ ทำด้วยความจริงใจ ชีวิตจึงจะไปได้

อย่างเครื่องดนตรี…ทำแล้วเราไม่ใช่ว่าทำขายอย่างเดียว ทำแล้วต้องพิจารณาว่าสิ่งไหนที่มันดี ต้องแค่ไหน อย่างไร การเลือกไม้ต้องเลือกแบบไหน ซื้อไปลูกค้าต้องใช้ได้ ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าทำๆ อะไรก็ได้ อย่างนั้นไม่ถือว่าเป็นดนตรี แต่เป็นธุรกิจอย่างเดียว”

หากยังสงสัยต่อคุณภาพของเครื่องดนตรีของสมชัยดนตรีไทย… ลองคิดดูเล่นๆ เพื่อให้เจอคำตอบก็ได้ ว่าในยุคที่ดนตรีไทยเปลี่ยนหน้าที่จากดนตรีในชีวิตประจำวัน จากมหรสพในงานบุญ งานบวช งานแต่ง ที่เคยเฟื่องฟู เป็นศิลปะที่มีสถานะหมิ่นจะสูญ เพราะความนิยมที่ลดลง ต้องบรรจุเข้าในระบบการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์ คนเล่นดนตรีคือเด็กๆ ทุนน้อย ที่ปริมาณเงินในกระเป๋าสวนทางกับราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ใช่อุตสาหกรรมของช่างสมชัยไหม ? ที่สร้างเครื่องดนตรีราคาถูก ให้กับนักเรียนดนตรีไทย

banner-camp-12-for-web