รายงาน : สุชาดา ลิมป์ ภาพ : Richard Nyberg, USAID


USAID green-Y Summit: Convening Green Minds on Climate

green-y-summit04

ที่มักพูดว่า “Love is all around.” อาจไม่จริง หากไม่มีแล้วยังอยู่ได้

“Weather is all around.” ต่างหากที่เป็นของจริงและสำคัญต่อทุกคน

เมื่อโลกร้อน-ภูมิอากาศแปรปรวนกลายเป็นความท้าทายใหญ่ หลากองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงคิดหาวิธีอนุรักษ์เพื่ออยู่รอด หนึ่งในนั้นคืองาน “green-Y Summit” ที่องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย และองค์กรภาคี จัดเมื่อ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมคอนราด

เรียกน้ำย่อยหน้างานด้วยนิทรรศการภาพถ่าย “มองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านเลนส์” ของ Luke Duggleby ช่างภาพสารคดีชาวอังกฤษ หลายภาพชวนหดหู่แม้อยู่ในกรอบ คล้ายเป็นบันทึกสิ่งแวดล้อมฉบับย่อของไทยในช่วงเวลาที่เขาอาศัยร่วมแผ่นดิน

อาหารจานหลักของงานคือวงสนทนาอังกฤษ-ไทยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งระดมเจ็ดนักคิดจากหลากอาชีพมาปันทรรศนะ หัวข้อเด่นเช่น “น้ำท่วมและภัยแล้ง : สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องปรกติของประเทศไทยหรือไม่” ผ่านการประเมินสถานการณ์เอลนีโญ-ลานีญาขณะนี้ โดยรองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชี้ให้สังเกตความผันผวนจากภาวะโลกร้อนทำให้เกิดภัยแล้ง-น้ำท่วมคุกคามหลายประเทศ ซึ่งการจัดการอันดับต้น ๆ ที่ไม่ควรละเลยคือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมรอบตัว

ขณะที่ ปรานต์ สยามวาลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รณรงค์ให้ใช้ “หลังคาสีขาว” เพื่อลดโลกร้อน

“เราต่างก็ทราบว่ามนุษย์มีส่วนทำให้เกิดอุณหภูมิเพิ่ม-ลด ที่เมืองอัลเมรีอาซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองเกษตรของประเทศสเปน ผู้คนใช้แผ่นพลาสติกสะท้อนแสงสีขาวคลุมหลังคากรีนเฮาส์เพื่อปลูกผักในที่ร่ม ไม่เพียงลดแสงสะท้อนของแดด ความร่มเย็นภายในห้องเรือนกระจกยังช่วยลดอุณหภูมิจากปรกติได้ ๑.๖ องศาเซลเซียส ผมนำหลักการนี้มาทาสีหลังคาบ้านเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ เทียบค่าไฟเดือนเมษายนปีที่แล้วกับปีนี้ เชื่อไหมค่าทาสีใหม่คุ้มค่ามาก ทั้งที่ปีนี้อากาศร้อนจัดกว่าปีที่แล้ว แต่ค่าไฟกลับลดลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ นี่คือคุณค่าของ white sheet ที่ทำให้เย็นลงอย่างเห็นได้ชัด คล้ายเวลาสวมชุดสีขาวก็ย่อมรู้สึกเย็นกว่าสีดำ มันเป็นเรื่องเล็กที่ทำได้ง่าย แต่มีอิมแพ็กต์มาก ทั้งโลกมีหลังคาอยู่เกือบ ๒ แสนตารางกิโลเมตร บ้านผมหลังเดียวคงช่วยได้นิดหน่อย แต่ถ้าหลายบ้านหลายอาคารร่วมใจกันใช้หลังคาสีขาว ผมเชื่อว่าจะช่วยลดโลกร้อนได้”

อีกประเด็นน่าฟังและเรียกความสนใจจากวงสนทนาได้มากคือ “คุยกับคน Gen-Y เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ : การปลูกความคิดเพื่อสีเขียวของวันพรุ่งนี้” โดย ดร. พิมลรัตน์ เทียนสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เธอโปรยเมล็ดพันธุ์พืชลงพื้น สื่อสารเรื่องการกระจายพันธุ์โดยวิถีเกื้อกูลระหว่างสัตว์กับธรรมชาติ

“ในป่า เมล็ดเหล่านี้เป็นอาหารสัตว์เล็กอย่างกระรอก นก ขณะเดียวกันเมื่อเมล็ดห่าง ต้นก็ได้รับการกระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ ผ่านการเคลื่อนที่และขับถ่ายของสัตว์”

แล้วสลับโยนเมล็ดยางนาให้ปลิวกลางอากาศบ้างเพื่อบอกเล่าอีกวิธี

“ลมไงล่ะ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในป่าสมบูรณ์ แต่เมื่อไรป่าถูกทำลาย การกระจายเมล็ดก็จะไม่เกิด เพราะสิ่งที่หายไปไม่ใช่แค่ต้นไม้ ยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่มีป่าย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังประสบ”

คราวนี้เธอชูโดรนขึ้นร่อน เสนอวิธีช่วยฟื้นฟูป่านอกจากเพาะเมล็ดเป็นต้นกล้าแล้วนำไปปลูก

“เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ทำหน้าที่ยิ่งใหญ่กว่าถ่ายภาพ ช่วยขยายเขตการปลูกสู่พื้นที่กว้างหรือยากเข้าถึง”

แม้การปลูกป่าจะเป็นเรื่องดี แต่การไม่ทำลายป่าเลยอาจดีกว่า

green-y-summit01

คือสิ่งที่ เจษฎาภรณ์ ผลดี ผู้ผลิต-ดำเนินรายการเนวิเกเตอร์ชวนคิดต่อใน “ไฟป่าที่เราเข้าใจและธรรมชาติที่หายไปมีผลต่อระบบนิเวศอย่างไร” ผ่านเรื่องเล่าที่พบไฟป่าขณะลงพื้นที่ถ่ายทำรายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

“หลายคนอาจคิดว่าไฟป่าเกิดจากป่า จากกิ่งไม้ใบไม้ที่เสียดสีเป็นความร้อนจนเกิดประกายไฟเผาไหม้ป่า นั่นเป็นเพียง ๐.๑ เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือการกระทำของมนุษย์ อย่างเข้าป่าก่อกองไฟแล้วดับไม่หมด จุดบุหรี่แล้วโยนทิ้งจนเกิดไฟลุกลาม เผาซังข้าวโพดหรือวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรมตามเชิงเขา พอลมโหมไฟก็ขยายพื้นที่ไหม้ไปถึงป่า ทุกวันนี้ป่าชุมชนและป่าอนุรักษ์ถูกทำลายความหลากหลายทางชีวภาพไปมาก เมื่อต้นไม้น้อยใหญ่ไหม้ แมลง สัตว์เลื้อยคลานที่หากินตามพื้นดิน หรือนกที่ทำรังบนต้นไม้ก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไฟไหม้แต่ละครั้งไม่ว่าจะพื้นที่มาก-น้อยล้วนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมูลค่ามหาศาล”

ซึ่งหมอกควันพิษจากจุดเกิดไฟนั้นไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของนักอนุรักษ์หรือหน่วยงานภาครัฐ

“เราทุกคนต้องเห็นค่า ให้ความสำคัญกับจุดเริ่มต้น แล้วแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างจริงจัง หากปล่อยให้ป่าเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ไม่เพียงพรรณไม้ต่าง ๆ จะสูญพันธุ์ สัตว์ป่าก็จะถูกจำกัดพื้นที่แหล่งอาหารจนต้องออกมาหากินตามพื้นที่เกษตรกรรม ผมเคยได้ยินชุมชนเรียกร้องให้แก้ปัญหาสัตว์บุกรุก เราลืมคิดไปไหมว่าพื้นที่เกษตรกรรมตรงนั้นเคยเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่ามาก่อนมนุษย์ สัตว์ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แค่หากินอยู่ในที่เดิมของมัน”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ท้ายงานมีการส่งต่อต้นไม้เล็ก ๆ อย่างนมตำเลียหรือโฮยา (รูปหัวใจ) พรมออสเตรเลีย และเฟิน ให้ผู้ร่วมวงเสวนานำกลับไปปลูกที่บ้าน เป็นรายละเอียดน้อยนิดที่อาจไม่ได้ทำให้โลกร้อนน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ แต่แฝงการทบทวนหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่หวังให้ร่วมกันปลูกความคิด สร้างความเข้าใจเรื่อง “green minds” อย่างยั่งยืน

เพราะอดีตแก้ไขไม่ได้ แต่ยังลดผลกระทบในอนาคตได้โดยใส่ใจฟื้นฟูสภาพอากาศตั้งแต่ตอนนี้