วีระศักร จันทร์ส่งแสง, พลวัฒน์ ศรีหาตา : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

ลงสะพานปิ่นเกล้า อีกไม่กี่ก้าวจะถึงจุดหมายแล้ว (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

ลงสะพานปิ่นเกล้า อีกไม่กี่ก้าวจะถึงจุดหมายแล้ว (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

<strong>นั่งพัก ที่จุดบริการทางการแพทย์ ก่อนข้ามสะพานปิ่นเกล้า มุ่งสู่จุดหมายท้องสนามหลวง (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)</strong>

นั่งพัก ที่จุดบริการทางการแพทย์ ก่อนข้ามสะพานปิ่นเกล้า มุ่งสู่จุดหมายท้องสนามหลวง (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

มนตรี ปิติ พร้อมด้วย โกเมศ มากผล เดินเท้าจากกระบี่มุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวง (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

มนตรี ปิติ พร้อมด้วย โกเมศ มากผล เดินเท้าจากกระบี่มุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวง (ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์)

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ชาย ๒ คนเดินตามกันอยู่ริมถนนย่านบางกอกน้อยมุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวง ชายชราผมสีขาวถือธงชาติโบกสะบัดตามแรงลม พร้อมกับชายร่างท้วมอีกคน ทั้งคู่มีพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชห้อยคอ และคลุมไหล่ด้วยธงชาติ เดินตามหลังกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ร่างกายเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ และความอ่อนล้าจากการเดินทาง อากาศร้อนและไอแดดที่ระอุขึ้นจากพื้นถนน แต่พวกเขายังมีพลังที่จะเดินให้ไปถึงจุดหมาย

มนตรี ปิติ เกษตรกรชาวสวน วัย ๖๑ ปี ตัดสินใจเดินเท้ามุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาว่า ตนเป็นชาวจังหวัดกระบี่ อาชีพทำสวนได้นำคำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในสวน พบว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่สัมผัสได้จริง ทำให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน จึงตัดสินใจเดินเท้ามุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อถวายความอาลัยด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ก่อนออกเดินคนในครอบครัวเป็นห่วง จึงประสานงานผ่านเฟสบุ๊ก “ทันข่าว กระบี่” ประชาสัมพันธ์หาคนร่วมเดินทางด้วย

โกเมศ มากผล เกษตรชาวสวนวัย ๔๙ ปี เจ้าของเฟสบุ๊ก ทันข่าว กระบี่ ตัดสินใจรับข้อเสนอนั้นเอง ซึ่งเขาเล่าเบื้องหลังว่า ตนเป็นชาวอำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ สมัยก่อนปู่ย่าตายายได้จับช้างเผือกถวาย ช้างเชือกนั้นคือ “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ” ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ ๙ เขาภูมิใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อทราบข่าวว่า มนตรี ปิติ เตรียมเดินเท้าจากกระบี่ไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อถวายความเคารพพระบรมศพ จึงตัดสินใจเดินทางไปด้วยเพื่อเป็นตัวแทนของชาวอำเภอลำทับ

“ผมเป็นคนกรีดยาง นั่งดูโทรทัศน์ความรู้สึกมันซาบซึ้งตื้นตันมาก เลยอยากหาอะไรทำเพื่อพ่อหลวง สักครั้งหนึ่ง ท่านเหนื่อยมาทั้งชีวิต เราเดินแค่นี้เทียบไม่ได้”
๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ พวกเขาเริ่มต้นภารกิจที่สี่แยกโรงพยาบาลลำทับ ท่ามกลางประชาชนที่มาคอยให้กำลังใจ และส่งเสียงว่า “สู้ๆ”

“ถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยแต่ต้องสู้ทั้งกายและใจ ถ้าไม่มีใจก็มาไม่ได้” โกเมศเผยความในใจ “ร่างกายของเราไม่เคยเดินนะ มันก็อ่อนล้าเป็นธรรมดา ๓ วันแรกนี่เจ็บมากเลย ปวดก็นวดกันไป แต่เดินมาเรื่อยๆ ร่างกายเราก็แข็งแกร่งขึ้น ตอนหลังร่างกายไม่ปวดแล้ว แต่มีปัญหาที่ฝ่าเท้า ไปด้วยใจแล้วตอนนี้”

ตลอดเส้นทาง ๘๐๐ กิโลเมตร พวกเขาได้พบเรื่องราวความประทับใจมากมาย ผู้คนตามเส้นทางต้อนรับช่วยเหลือทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม และให้กำลังใจพวกเขา
จนหลังเที่ยง วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ พวกเขาก็เดินทางถึงท้องสนามหลวงตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้
“จะไม่มีวันลืมเลย ว่าครั้งหนึ่งเราได้เดินทางมาด้วยใจรักในหลวง” ความในใจของโกเมศเมื่อถึงปลายทาง