เรื่อง : ดุสิต ระเบียบนาวีนุรักษ์
ภาพ : พีรพัฒน์ จารุสมบัติ

เด็ดปีกแมลงสะเทือนถึงดวงดาว

แมลงหลากหลายชนิดที่ทอดเรียบร้อยแล้ว จัดวางเรียงรายอยู่ในถาดพร้อมขาย ทั้งตั๊กแตน แมงป่อง บึ้ง หนอนไหม หนอนไม้ไผ่ ฯลฯ

“จุ ๆ อย่าย่างแฮงหลาย มั่นสิหนีเบิ้ด”

พ่อกระซิบแผ่วเบามาจากด้านหน้าลูกชาย สองคนต่างวัยอันมีสายเลือดสัมพันธ์กำลังย่องกริบเรียงเดี่ยวไปตามคันนาแฉะชื้นที่แซมด้วยวัชพืชระบัดแข่งต้นกล้า ท้องทุ่งเขียวไสวตัดกับเนินดินสีถ่านยิ่งกระจ่างชัดขึ้นหลังจากม่านตาชินชากับความมืดในคืนที่แสงจันทร์นวลสว่างราวกับตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้บนก้อนเมฆ สายลมแห่งที่ราบสูงแม้ระลอกเล็กแผ่วผ่านก็ส่งผลต่อร่างกายสัตว์เลือดอุ่นให้หนาวสะท้านอยู่ไม่น้อย

ฉึบ ! เสียงวัตถุมีคมโดยแรงคนส่งให้มันปักเข้าดินนิ่มแฉะ เสียงหริ่งหรีดที่ระงมแซ่เงียบกริบลงทันที จิโป่มหรือจิ้งโกร่งตัวหนึ่งก็แข็งทื่อราวกับทำใจยอมรับความตายโดยดุษณี

“เป็นหยังมันคือบ่ติงล่ะพ่อ” เจ้าของชื่อเรียกบักหำน้อย กระซิบถามผู้พ่อขณะที่สองมือตะครุบแมลงเคราะห์ร้ายอันจะกลายเป็นอาหารโอชะในไม่ช้า “กะย้อนเฮาเอาเสียมปิดฮูมันเด้ มันกะลี้ไปไสบ่ได้” ผู้กร้านวิชาหากินกับทุ่งนาป่าเขาอธิบายให้ลูกชายฟัง

เด็กน้อยไม่ตอบสิ่งใด จับแมลงจิโป่มหยอดใส่ขวดพลาสติกใสแล้วออกแรงดึงเสียมที่ปิดทับทางเข้ารังนอนของมัน แบกอาวุธชาวนาขึ้นบ่าย่องกริบตามพ่อหาเหยื่อตัวเล็กในค่ำคืนนี้ต่อไป

ความจริงแล้วเขารู้สึกสงสัยในวิธีจับแมลงซึ่งต่างจากทุกครั้งที่เคยหยอดน้ำลงรูแมลงให้จิซอน จิโป่ม จิหรีด ไต่หนีน้ำออกมาให้จับโดยง่าย

อย่างไรก็แล้วแต่เขาคิดถึงวงกับข้าวในค่ำคืนนี้เป็นที่สุด มันจะมีอาหารจานโปรดจากน้ำพักน้ำแรงของเขาและพ่อเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเมนู ป่านนี้ถ่านในเตาที่คะยั้นคะยอให้แม่ก่อไว้คงคุแดงรอเขาอยู่แน่แล้ว

malang02

หลายคนคิดว่าแมลงไม่น่าจะเป็นอาหาร แต่โปรตีนจากแมลงเทียบเท่ากับเนื้อหมูเนื้อไก่

หมุนเข็มนาฬิกาย้อนไปสมัยที่มนุษยชาติยังใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของ ความชาญฉลาดของบรรพบุรุษเริ่มต้นจากการสังเกต เริ่มต้นจากตรงไหน ? เริ่มจากสังเกตสัตว์เลี้ยงเช่นไก่ ที่ไม่ได้กินแค่พืชพรรณธัญญาหาร แต่กินแมลงซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์

เมื่อพูดถึงสัตว์ตัวเล็กมากขามันอาจพ่วงมาด้วยคำว่า หายนะ เพราะแมลงเป็นพาหะนำโรค อาหารของมันคือพืชไร่ชาวสวน แม้กระทั่งแมลงชนิดมีปีกยังสร้างความรำคาญใจให้มนุษย์ด้วยเสียงหวี่จากการกระพือปีกของมัน จนใคร ๆ ต่างเบือนหน้าหนีหรืออยากกำจัดให้พ้นไปเสีย

ไก่และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต ไก่กินแมลงได้ ดังนั้นมนุษย์จึงกินแมลงได้ (อย่างดีเสียด้วย)

วัฒนธรรมการกินแมลงไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศใดหรือทวีปใดเป็นพิเศษ เพราะมีหลากหลายชนชาตินิยมบริโภค เช่น คนบราซิลชอบกินมดชนิดหนึ่งอันเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมานานในแถบอเมริกาใต้ ส่วนคนในแถบแอฟริกานิยมกินปลวกและตั๊กแตน เพราะอุดมด้วยโปรตีนช่วยทดแทนเนื้อสัตว์ที่หายากกว่า และประเทศที่เรารับวัฒนธรรมทางดนตรีอย่างเกาหลีก็เป็นอีกหนึ่งดินแดนที่ชมชอบการกินดักแด้ไหม

ส่วนประเทศไทยพบแมลงกินได้หลายสิบชนิด แต่เห็นผ่านตากันบ่อย ๆ ราว ๒๐ ชนิด เช่น จิ้งหรีด (ประกอบด้วยสี่สายพันธุ์ ได้แก่ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง จิ้งหรีดทองลาย) แมลงกระชอน แมงมัน แมลงจินูน แมลงกุดจี่ ตั๊กแตน จักจั่น หนอนไม้ไผ่ ไข่มดแดง ผึ้ง ต่อ แมลงดานา แมลงตับเต่า หนอนไหม และอีกสารพัดแมลงที่ยืนยันความอุดมสมบูรณ์ ณ ส่วนเสี้ยวดินแดนสุวรรณภูมิรูปด้ามขวานแห่งนี้ว่า ในน้ำไม่ได้มีแค่ปลา ในนาไม่ได้มีแค่ข้าว แต่สมบูรณ์พูนพร้อมด้วยสัตว์เล็กมากขาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนเกินในสารบบอาหารการกินของมนุษย์

“ฝรั่งเขากินแมลงทอดกันบ้างไหมป้า”

ดูเหมือนผมจะเริ่มด้วยข้อสงสัยแบบห้วน ๆ หากแต่มันตรงกับบริบทที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ ฝรั่ง จีน แขก นับ ๑๐ คนในตรอกข้าวสาร (ถนนข้าวสาร) กำลังมุงดูเหล่าแมลงทอดสีทองแดงกองเกลื่อนถาดด้วยความสงสัย มันคืออะไร ? กินได้จริงหรือ ? รสชาติเป็นอย่างไรหนอ ? คำถามที่วนอยู่ในความคิดไม่มีทางถูกไขให้กระจ่างได้ดีไปกว่าการลองชิม แน่ละคงต้องรอให้ใครสักคนเป็นผู้ทดลองรายแรก นี่คือความสนุกของนักท่องเที่ยวต่างแดนผู้ไม่เคยลิ้มลองรสชาติของสัตว์ตัวเล็กจ้อยพวกนี้

“ก็มีกินกันบ้างพอ ๆ กับคนไทยนะ แต่ส่วนใหญ่ชอบถ่ายรูปมากกว่า” ทองประกาย ไชยตะมาตย์ หรือ ป้าเตย สาวรุ่นใหญ่ใจดีตอบพลางตักแมลงทอดขายให้ลูกค้าฝรั่ง

หลอดไฟสีส้มทรงเปลวเทียนคว่ำขนาดเล็กสองดวงทำหน้าที่ส่องสว่างอย่างแข็งขันไม่ต่างจากนายของมัน แมลงทอดยอดฮิตติดปากขาประจำ และสะดุดตาขาจรเด่นในแสงไฟ ได้รับการจัดเรียงบนถาดแยกกันอย่างเป็นระเบียบ นอกจากแมลงทอดที่เห็นได้ทั่วไปแล้วยังมีแมงป่องและบึ้งที่ดูจะเป็นตัวชูโรงของป้าเตย

“เอาสิ ลองดู” เจ้าของคำพูดเมื่อสักครู่หยิบแมงป่องเสียบไม้พร้อมขายขึ้นมาพ่นฟ็อกกีซอสปรุงรส เคล้าด้วยพริกไทยป่น แทบตั้งตัวไม่ทันกับสัตว์มีพิษชนิดนี้ที่ปะกันด้วยความบังเอิญครั้งใดก็ต้องขนพองสยองเกล้าทุกครั้ง แต่มาคราวนี้ระบบห่วงโซ่อาหารได้พิสูจน์แล้วว่าใครหมู่ใครจ่า

แม้ว่าแมงป่องทอดนั้นดูไม่น่าอภิรมย์ลิ้นเท่าใดนัก แต่จุดขายที่ผันเป็นรายได้คือความแปลกของสินค้าสีดำเสียบไม้นี่เอง เนื่องจากปัจจุบันแมงป่องหนึ่งตัวทำราคาได้ถึง ๑๐๐-๑๕๐ บาทเมื่อขายชาวต่างชาติ หากราคานี้ดูน่าสนใจแล้ว ย้อนกลับไป ๔-๕ ปีก่อน เจ้าแปดขาหางงอนเคยมีค่าตัวแลกกับธนบัตรสีม่วงได้สบาย

ส่วนบึ้งหรือแมงมุมยักษ์ที่มักอาศัยอยู่ในรูก็ถูกล่าให้มาอยู่ในเมนูอาหารแปลกเช่นเดียวกัน เจ้ามังกรดำภาคพื้นดินชนิดนี้เป็นที่นิยมในกัมพูชา และกลายมาเป็นอาหารแปลกที่กวักมือเรียกนักชิมจากทั่วโลกให้เดินทางมาลิ้มลองจนเกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวกัมพูชาหลายชั่วคน

นอกจากขายหน้าร้านก็มักมีเพื่อนของป้าซื้อแพ็กใส่กล่องไปขายด้วย แม้แมลงบางชนิดจะถูกเด็ดปีกบินไม่ได้แต่มันก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงเมืองมิลานด้วยการขนส่งทางอากาศ ความคุ้มราคาตีเป็นมูลค่าสูงขึ้นสองสามเท่าตัวเลยทีเดียว

“พวกองค์กรระดับโลกเดี๋ยวนี้เขาหันมารณรงค์ให้กินแมลงแล้วนะป้า ป้ารู้ไหม” ผมหมายถึงองค์กรที่มีชื่อโครงการภาษาอังกฤษแสนซับซ้อนเกินกว่าจะนำมาพูดกันแบบบ้าน ๆ

“เหรอ มันว่ายังไงบ้างล่ะ” สาวรุ่นใหญ่ถามกลับขณะใช้ช้อนอะลูมิเนียมมันวาวโกยแมลงทอดตัวจ้อยให้นอนเป็นระเบียบในถาด

องค์กรที่ว่าอาจอยู่ไกลสุดขอบโลก แต่แมลงใกล้ตัวมากพอที่หยิบเคี้ยวเข้าปากได้ในขณะนี้ ผมเริ่มเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ราวหลานคุยกับป้า หรืออาจมีใครสักคนได้ยินบทสนทนานี้ไปพร้อม ๆ กันด้วย…

จากข้อมูลของเว็บไซต์ economist เปรียบเทียบสัตว์ที่มนุษย์บริโภค ได้แก่ วัว หมู ไก่ และจิ้งหรีด พบว่าปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อ ๑ กิโลกรัมที่เหมาะสมต่อการบริโภคของมนุษย์ คือ วัวใช้อาหาร ๙.๓ กิโลกรัม รองลงมาคือหมูใช้อาหาร ๔.๒ กิโลกรัม ไก่ใช้อาหาร ๒ กิโลกรัม และจิ้งหรีดใช้อาหารแค่ ๑.๒ กิโลกรัมเท่านั้น

ส่วนสัดส่วนปริมาณเนื้อที่กินได้ของสัตว์ทั้งตัว (รวมกระดูกและเครื่องในซึ่งหลายชาติไม่นิยมบริโภค) วัวมีเนื้อที่กินได้ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ หมูและไก่มีเนื้อที่กินได้เท่ากัน ๕๕ เปอร์เซ็นต์ และจิ้งหรีดแทบกินได้ทุกส่วนคือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าสัตว์ขนาดใหญ่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมาก แต่สัดส่วนปริมาณเนื้อที่ได้รับเพื่อเป็นอาหารนั้นเมื่อเทียบกับแมลงอย่างจิ้งหรีดแล้วดูจะไม่คุ้มค่าเท่าไรนัก ยังไม่รวมเรื่องของระยะเวลาและพื้นที่เลี้ยง เพราะเพียงแค่ ๑ เดือนเศษเราก็จับแมลงมาบริโภคได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องใช้ทุ่งโล่งกว้างหรือโรงเรือนขนาดใหญ่ และสิ่งสำคัญคือการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก

การบรรยายต้องระงับลงชั่วคราว ด้วยละอองฟุ้งบางของสายน้ำจากฟ้า หมู่เมฆทะมึนเริ่มกลั่นเม็ดฝนให้ใหญ่ขึ้นตามลำดับ ป้าเตยหยิบแผ่นยางใสขนาดราวเสื่อปูนอนจากช่องเก็บของในรถเข็น คลี่คลุมรอบรถไม่ให้ละอองฝนสาดกระเซ็นโดนเหล่าแมลงตัวจ้อย อาหารที่หลายคนอาจร้องยี้เบือนหน้าหนี แต่สำหรับแม่ค้าคนนี้ แมลงทอดในถาดคือไข่ในหิน

เมื่อสายน้ำที่เทจากฟ้าเริ่มซาลงบ้าง ตรอกเล็ก ๆ แห่งนี้ก็แน่นไปด้วยผู้คนหลากสัญชาติตามที่เคยเป็น ชายคนหนึ่งวิ่งฝ่าละอองฝนเข้ามาคุยกับป้าเตย แลกเปลี่ยนธนบัตรทอนเงินเป็นค่าบึ้ง นั่นคือค่าบึ้งที่ป้าเตยจ้างคนกัมพูชาจับมาให้ นอกจากนี้ยังมีแมงป่องอีกหนึ่งชนิด ส่วนแมลงอื่น ๆ เช่น ตั๊กแตน สะดิ้ง (จิ้งหรีดทองลาย) จิ้งหรีด หนอนไหม เขียด สามารถเพาะพันธุ์ได้ ทำให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของท้องตลาด ป้าเตยซื้อแมลงตามตลาดสดเพราะเป็นเพียงผู้ขายรายย่อย ไม่จำเป็นต้องซื้อส่งจำนวนมาก ๆ บางครั้งหากแมลงไม่พอก็จะหาซื้อเพิ่มที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในโซนอาหารป่า

นี่เป็นข้อมูลใหม่สำหรับผม เพิ่งรู้ว่าแมลงตัวเล็ก ๆ ดูจะไม่เป็นที่นิยมกลับเป็นสินค้าขึ้นห้างไปเสียแล้ว

malang03

เพื่อรักษาสภาพความสดใหม่ แมลงจะถูกแช่น้ำแข็งไว้ก่อนมีคนซื้อไปทอดเป็นอาหาร

ตลาดสดใน กทม. คงมีจำนวนนับไม่ถ้วนเหมือนแมลงในกระบุง แต่แหล่งขายแมลงใจกลางเมืองมีอยู่ไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นตลาดคลองเตย

ด้วยเนื้อที่กว่า ๑๐ ไร่ แผงค้าขายนับพันแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ โดยแมลงอยู่ในโซนตลาดลาว แม้มีไม่กี่เจ้าแต่ก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการ

แผงของพี่โก๋มีแมลงสดจากฟาร์มและแช่แข็งจากห้องเย็นวางขายเต็มถาด แมลงขายดีที่สุดคงหนีไม่พ้นดักแด้ไหม ลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำซื้อครั้งละไม่ใช่ขีดสองขีด แต่เป็นหลักกิโลกรัม เรื่องรสชาติอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้นิยมกินแมลงติดใจ แต่แม่ค้าแมลงหลายคนบอกกับผมเป็นเสียงเดียวกันว่า มันเกิดจากกระแสข่าวกินดักแด้ไหมเท่ากับกินไวอะกรา (Viagra)

ครั้งแรกที่ผมได้ยินก็คิดเพียงว่าคงเป็นความเชื่อที่ส่งต่อ ๆ กันมา แต่หลังจากค้นข้อมูลปรากฏว่ากลับอยู่ในงานวิจัย โดยช่วงต้นปี (๒๕๕๙) ที่ผ่านมา วิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญกรมหม่อน-ไหม ร่วมกับ ผศ. ดร. สมชาย จอมดวง คณะอุตสาหกรรมเกษตร รศ. ดร. ปรัชญา วงศ์ทวีเลิศ และ ดร. ณัฐชัย ดวงนิล อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันศึกษาวิจัยโดยสกัดสารในตัวดักแด้ไหมพันธุ์พื้นบ้านของไทยสองสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ-๑ และพันธุ์เหลืองสุรินทร์ ปรากฏว่ามีสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อร่างกาย เรียกว่าสารซิลเดนาฟิล (sildenafil) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อไวอะกรา ผลการทดลองคือหนอนไหม ๒๒ ตัว เทียบเท่ากับไวอะกรา ๑๐๐ มิลลิกรัม ซึ่งสารชนิดนี้จะออกฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นโดยเฉพาะเพศชาย อย่างที่เราเข้าใจตรงกันว่ามันจะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศนั่นเอง

…ขอตัวซื้อดักแด้ไหมสักครู่นะครับ

หน้าร้านขายแมลงแผงเล็ก ๆ แห่งนี้มีผู้มาเยือนไม่ขาดสาย บ้างหยิบเลือกอย่างคล่องแคล่ว บ้างก็หยุดคิดราวกับถามตัวเองว่าเย็นนี้จะทำเมนูอะไรดี คุณยายท่านหนึ่งเดินมาเลือกตั๊กแตนเขียว ลูกค้าวัยเกษียณรายนี้บอกว่ามาซื้อแมลงบ่อยเพราะชอบกิน ส่วนวิธีทำนั้นแค่นำแมลงไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วทอดกับน้ำมัน ใส่ใบมะกรูดเพิ่มความหอม จากนั้นตักแมลงขึ้นสะเด็ดน้ำมันโรยเกลือนิดหน่อย จะกินเล่นหรือกินกับข้าวก็เพลินไม่น้อย

ดูแล้วช่างง่ายแสนง่าย ชวนให้นึกถึงอาหารฝรั่งแช่แข็ง เช่น เฟรนช์ฟรายที่มักพบตามห้างสรรพสินค้าหลากหลายยี่ห้อ หากในอนาคตแมลงเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะงานเลี้ยง งานปาร์ตี้ ก็คงล้นหลามไปด้วยสารพัดเมนูแมลงทอดอย่างแน่นอน

พี่โก๋ให้ข้อมูลว่าแมลงแพ็กถุงแช่เย็นนั้นมีขาย ส่วนใหญ่ทำใส่ถุงขนาด ๑ กิโลกรัม สามารถเก็บไว้นานหลายเดือน

แมลงที่เราเลือกหากินได้ทั้งปีเกิดจากการสต็อกเก็บไว้ต่างหาก บางชนิดไม่ได้มีทั้งปี โดยตลาดใหญ่ที่มีห้องเย็นเก็บแมลงคือตลาดไท

พ่อค้ารายใหญ่จะไปรับแมลงมาจากจังหวัดสระแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นตลาดค้าแมลงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งคนขายและคนซื้อ ทั้งคนไทยและเพื่อนบ้าน จะมารวมตัวแลกเปลี่ยนเงินกับแมลงกันที่ตลาดโรงเกลือ จากฟาร์มเพาะพันธุ์สู่ตลาดแมลง ผ่านการแช่แข็ง เก็บเข้าห้องเย็น และขนส่งสินค้ากระจายไปทั่วประเทศ ให้แก่พ่อค้าแม่ค้าแมลงทอด หรือเกษตรกรที่นำแมลงไปเป็นอาหารเลี้ยงปศุสัตว์ เช่นปลาหรือนก ก็ต้องพึ่งโปรตีนเช่นกัน นอกจากเป็นอาหารของคนแล้วแมลงยังเป็นอาหารของสัตว์ด้วย แต่ตามความจริงต้องบอกว่าเราเองนั่นแหละที่เรียนรู้พฤติกรรมการกินแมลงของสัตว์ พัฒนาปรับปรุงรสชาติ เติมแต่งสีสันตามแบบฉบับสิ่งมีชีวิตที่มีอารยะ

นอกจากเรื่องรสชาติแล้วแมลงยังมีสารอาหารที่มีคุณค่า ลองดูข้อมูลคุณค่าทางอาหารของแมลงจากสำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแล้วแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด

โปรตีนในแมลงทุกชนิด ยกเว้นหนอนไม้ไผ่ มีปริมาณเทียบเท่ากับโปรตีนในเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว และไข่ไก่ โดยตั๊กแตนปาทังกามีปริมาณโปรตีนสูงที่สุดคือ ๒๗.๖ กรัมต่อน้ำหนักสด ๑๐๐ กรัม ส่วนดักแด้ไหมมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่สุดคือ ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด ๑๐๐ กรัม นับว่าเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีมาก รองลงมาคือหนอนไม้ไผ่และจิ้งหรีด

ส่วนปริมาณคอเลสเตอรอลที่หลายคนกังวล พบว่าจิ้งหรีดมีมากที่สุดคือ ๑๐๕ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด ๑๐๐ กรัม เท่ากับปริมาณคอเลสเตอรอลในน่องไก่ รองลงมาคือแมงป่องมีคอเลสเตอรอล ๙๗ มิลลิกรัมเท่ากับหนังไก่ และตั๊กแตนปาทังกามีปริมาณคอเลสเตอรอล ๖๖ มิลลิกรัมอยู่ในระดับเดียวกับขาหมูหรือเนื้อไก่ ข้อมูลบางส่วนทำให้เห็นว่าแมลงมีคุณค่าทางอาหารที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ทั่วไป สามารถทดแทนกันได้อย่างแน่นอน

แต่ในอนาคตอันใกล้ ใช่ว่าขุมทรัพย์อาหารหน้าใหม่อย่างแมลงจะมีราคาแพงเพียงแค่ซื้อกินเล่นเป็นครั้งคราว จากสารพัดคุณค่าทางอาหาร ผนวกกับความแปลกใหม่ที่เป็นจุดขาย ไม่ต้องรอจนมนุษยชาติขาดแคลนอาหาร ฟาร์มเพาะพันธุ์แมลงของนักธุรกิจหรือชาวนาชาวสวนก็เริ่มผุดขึ้นราวเห็ดที่ค่อย ๆ แทงพื้นดินเผยดอกสีขาวให้แปลกตา โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ทั้งเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลัก สร้างรายได้เลี้ยงปากท้องได้ตลอดปี

malang04

แมลงทอดในน้ำมันที่กำลังเดือดได้ที่ส่งกลิ่นหอมชวนกิน

ไพสาร การภักดี ชายวัยกลางคนเจ้าของฟาร์มลุงลา-ป้าน้อย หนึ่งในหลายคนที่หันมาทำฟาร์มเพาะพันธุ์แมลงบอกกับผมว่า อยากลองทำเป็นอาชีพเสริม และดูตลาดในอนาคตแล้วไม่มีวันตัน นี่เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกันตามหลักเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องอุปสงค์และอุปทาน เมื่อมีผู้บริโภคมากขึ้น การผลิตก็ล้อเป็นกลไกหมุนตามความต้องการนั้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัด จากความเชื่อมั่นตลาดว่ายั่งยืนพอ พี่ไพสารจึงเริ่มเลี้ยงแมลงมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยก่อนหน้านั้นมีอาชีพเป็นชาวนาชาวไร่อย่างคนต่างจังหวัดทั่วไป

ฟาร์มลุงลาป้าน้อยเพาะแมลงขายสามสายพันธุ์ คือ จิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง และจิ้งหรีดทองลายหรือที่เรียกกันติดปากว่าสะดิ้ง การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมากและไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อที่เหมือนการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น อุปกรณ์การเลี้ยงใช้ต้นทุนไม่สูง โดยเริ่มจากบ่อเลี้ยงซึ่งอาจใช้วัสดุที่หาได้ตามครัวเรือน เช่น กะละมัง ลังโฟม แต่ส่วนใหญ่นิยมบ่อซีเมนต์ หรือโครงไม้หุ้มพลาสติก แล้วปูวัสดุรองพื้นที่ก้นบ่อเพื่อซับน้ำซับมูลของแมลงและช่วยรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมด้วยแกลบหรือใบไม้แห้ง หรืออาจใช้ทรายรองพื้นก่อนก็ได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือรังนอนให้จิ้งหรีดหลบซ่อนตัว เนื่องจากธรรมชาติของจิ้งหรีดอยู่ในรูดิน การเพาะเลี้ยงจึงต้องจำลองบ้านตามธรรมชาติเพื่อให้ความอบอุ่นและเป็นไปตามวงจรชีวิตของแมลง มีตั้งแต่กาบมะพร้าว อิฐบล็อกแบบมีรู ท่อนไม้ไผ่ แต่ส่วนใหญ่นิยมถาดกระดาษรองไข่ไก่ กลางบ่อวางถาดอาหารทรงแบนก้นไม่ลึกมาก ส่วนภาชนะให้น้ำใช้ที่ให้น้ำสำหรับลูกไก่และควรวางวัสดุเช่นหินแบน ๆ ในร่องน้ำให้จิ้งหรีดเกาะ อุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายคือตาข่ายกันแมลงหรือที่เรียกกันว่ามุ้งเขียว (มุ้งไนลอน) ใช้ครอบปิดปากบ่อป้องกันจิ้งหรีดกระโดดออกจากบ่อและป้องกันศัตรูชุบมือเปิบ เช่น นก จิ้งจก ตุ๊กแก ส่วนถาดไข่ (สำหรับจิ้งหรีดวางไข่) นิยมใช้ขันน้ำใส่ดินผสมแกลบ วางเฉพาะช่วงที่จิ้งหรีดพร้อมวางไข่เท่านั้น โดยสังเกตจากเสียงร้องที่ค่อนข้างถี่ หรือนับจำนวนวัน ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ ๔๐-๕๐ หลังจากจิ้งหรีดฟักตัว

อุปกรณ์ไม่กี่ชนิดกับการใช้พื้นที่ไม่มากทำให้มือใหม่แค่ไหนก็เลี้ยงจิ้งหรีดได้ หากเลี้ยงไว้กินเองก็ใช้วัสดุตามครัวเรือนที่มีราคาถูก แต่ถ้าชำนาญแล้วอยากมีรายได้เสริม สามารถขยายพื้นที่ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแบบจริงจังโดยไม่ต้องลงแรงเยอะ

ฟาร์มลุงลาป้าน้อยของพี่ไพสารถือเป็นแหล่งต้นทางผลิตอาหารอย่างแมลงทอด ความสงสัยที่ติดค้างอยู่ในหัวอาจได้รับคำตอบที่พึงพอใจก็ได้ เมื่อถามถึงต้นตอของอาการแพ้ต่าง ๆ ที่มักพบบ่อยครั้งและกลายเป็นข้อครหาจากผู้บริโภคว่าผู้เพาะเลี้ยงใช้สารเคมีฆ่าแมลงก่อนขนส่งไปจำหน่าย แมลงจึงมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง

เจ้าของฟาร์มเน้นคำกับผมอย่างหนักแน่นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ยาฆ่าแมลง เพราะยาฆ่าแมลงแพงกว่ามูลค่าของแมลงเสียด้วยซ้ำ

แล้วสาเหตุใดที่ทำให้คนกินแมลงเกิดอาการแพ้ ?

ผมมีโอกาสคุยกับ นพ. พิรัตน์ โลกาพัฒนา คุณหมอเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว” ได้คำตอบว่า การแพ้แมลงแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือแพ้โปรตีนในแมลง ซึ่งเป็นโปรตีนในกล้ามเนื้อของสัตว์กลุ่มขาข้อ (arthropod) โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่แพ้อาหารทะเลจึงแพ้แมลงด้วย และอีกกลุ่มคือแพ้สารฮิสตามีน (histamine) หากแมลงไม่ได้รับการจัดเก็บไว้ดีพอ เช่น อุณหภูมิแช่แข็งไม่เพียงพอ หรือความล่าช้าจากการขนส่ง กระบวนการเน่าเสีย (การย่อยสลายกรดอะมิโนบางชนิด) จะสร้างสารฮิสตามีนขึ้นมา ซึ่งคนเข้าใจผิดว่าคือสารเคมีตกค้างจากยาฆ่าแมลงที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ตั้งแต่อาการผื่นคัน อาเจียน ปวดท้อง หน้าบวม ปากบวม

malang05

แมลงทอดยังมีผู้ผลิตใส่บรรจุภัณฑ์สวยงามทันสมัยเหมือนขนมขบเคี้ยวทั่วไป

ในอนาคตการบริโภคแมลงอาจเป็นสิ่งจำเป็นจากหลายปัจจัยที่ทำให้สภาพแวดล้อมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

ระยะเวลาร่วมแสนปีที่บรรพบุรุษดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้อยู่รอดมาได้ก็ด้วยความชาญฉลาดในการปรับตัว รู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ ดั่งชื่อเผ่าพันธุ์ของเราในภาษาละตินที่เรียกว่า Homo sapiens หมายถึง “คนฉลาดหรือผู้รู้”

ก่อนการไปเตร่หากินแมลงทอดแถวถนนข้าวสารกับเพื่อนผู้ช่ำชองการย่ำราตรี มีอีกข้อมูลหนึ่งที่ผมได้จากรายงานเรื่อง “Edible insects – Future prospects for food and feed security” (แมลงที่รับประทานได้ – ลู่ทางความหวังแห่งอนาคตสำหรับความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เนื้อความเชิญชวนให้คนหันมากินแมลงและใช้ประโยชน์จากแมลงให้มากขึ้น โดยชี้ว่าการบริโภคแมลงจะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากภาวะขาดแคลนอาหาร ด้วยทั่วโลกมีแมลงที่กินได้ถึง ๑,๙๐๐ ชนิด

“เคยกินแมลงทอดบ้างไหม”

หลังจากอิ่มกับสารพัดแมลง ผมก็เริ่มสำรวจสถิติโดยเน้นกลุ่มเพื่อนฝูงเพศหญิง เพราะหล่อนดูจะไม่ค่อยถูกกับสัตว์ตัวเล็กมากขาสักเท่าไร คำตอบที่ได้รับทั้งผู้ที่ชื่นชอบและขยะแขยงแบ่งส่วนเท่า ๆ กัน แต่อีกเศษเสี้ยวหนึ่งคืออยากทดลองกิน ผมจึงมักเชียร์และพยายามบอกรสชาติที่ใกล้เคียงระหว่างแมลงกับอาหารที่เราคุ้นชิน

“รถด่วนเนี่ยกินแล้วนึกถึงเฟรนช์ฟรายเลยละ ดักแด้ไหมก็เหมือนมันบดชิ้นเล็ก ๆ ส่วนตั๊กแตนทอดเคี้ยวตอนกรอบ ๆ ทำให้นึกถึงมันฝรั่งทอดตามร้านสะดวกซื้อ”

เรื่องของรสชาติที่ลิ้นสัมผัสอาจแตกต่างกันไป…แต่ความรู้สึกผมน่ะหรือ

ไม่ว่ากินแมลงทอดครั้งใด มันก็ชวนให้นึกถึงคืนแรกที่ออกไปจับจิโป่มกับพ่ออยู่ร่ำไป

เอกสารอ้างอิง

  • “ภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ยังคงเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ” http://carbonmarket.tgo.or.th/document/detail/6/6.pnc
  • “แมลงกินได้ (อาหารอีสาน) ดีกับสุขภาพหรือไม่” http://www.oknation.net/blog/health2you/2008/09/14/entry-1
  • “คุณค่าอาหารในแมลงเม่า” http://www.lib.ku.ac.th/KUCONF/KC2605040.pdf
  • “การเปลี่ยนแปลงประชากรโลก ๒๔๙๓-๒๕๗๓ World Population Change 1950-2030” http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVII/Download/2011-Article-18.pdf
  • “แมลง…อาหารแหล่งสุดท้ายของมนุษยชาติ” http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1369568983
  • “เปิบกันจนเพลินหวั่นตัวบึ้งสูญพันธุ์จากกัมพูชา” http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9490000107592
  • “สารานุกรมแมลงแห่งอีสาน” http://www.isan.clubs.chula.ac.th/insect_sara/index.php?transaction=insect_1.php&id_m=24780
  • “ฮือฮา ! สหประชาชาติแนะ ‘กินแมลง’ มีประโยชน์อื้อ ชู ‘ยำไข่มดแดง’ ของไทยอาจช่วยผู้คนพ้นความอดอยาก” http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000057695
  • “แมลงกินได้” http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=572
  • “คุณภาพโปรตีนและไขมันในแมลงที่กินได้” http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/view.php?group=&id=120
  • “แมลงกินได้ อร่อย มีคุณค่า แต่…” https://www.doctor.or.th/article/detail/5748
  • “จิ้งหรีด ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีด” http://xn--03cnior.blogspot.com/p/blog-page_25.html
  • “Why eating more insects might be good for the planet and good for you” http://www.economist.com/blogs/graphicdetail/2013/05/daily-chart-11
  • “Forest products critical to fight hunger – including insects” http://www.fao.org/news/story/en/item/175922/icode/