micromod01

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเริ่มสนพระราชหฤทัยกีฬาเรือใบเมื่อคราวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครั้งหนึ่งได้ทอดพระเนตรหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเรือใบสีแดงที่ต่อขึ้นเองชื่อลูกลม ต่อมาจึงสนพระราชหฤทัยกีฬาเรือใบอย่างจริงจัง ด้วยทรงเห็นว่าการเล่นเรือใบเป็นกีฬากลางแจ้ง เล่นอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ ลมเย็นสบาย ใช้ความสามารถของร่างกายทุกส่วนตั้งแต่สมอง สายตา มือ แขน ขา ประสานกันจึงสามารถบังคับเรือให้แล่นไปได้ตามทิศทางที่ต้องการ และมีพระราชประสงค์ต่อเรือด้วยพระองค์เอง เนื่องจากมีคนใกล้ชิดกราบบังคมทูลว่า “คนที่จะเล่นกีฬาเรือใบได้ดีจะต้องต่อเรือขึ้นมาเองเพื่อจะรู้จักเรือที่แล่นได้ทะลุปรุโปร่ง เปรียบประดุจรู้จักหลังมือของตัวเอง ฉะนั้นเมื่อแล่นเรือไปในทะเล ผู้แล่นจะรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเรือของตน สามารถบังคับเรือให้แล่นผ่านคลื่นลมไปได้ตลอดรอดฝั่ง”

ประกอบกับทรงมีฝีพระหัตถ์ในงานช่างไม้อยู่แล้ว และไม่โปรดซื้ออุปกรณ์ราคาแพง ทรงเริ่มต่อเรือใบพระที่นั่งโดยมีอู่ต่อเรือและสระทดลองแล่นเรือในสวนจิตรลดา ทรงศึกษาแบบแปลนข้อบังคับของเรือแต่ละประเภทจากตำราต่าง ๆ ทั่วโลกจนรู้จริง และทรงประดิษฐ์เรือใบอย่างถูกต้องตามหลักสากลด้วยความละเอียดถี่ถ้วนชนิดวัดเป็นมิลลิเมตร

micromod02

เรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงต่อขึ้นจึงเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบ มีเทคนิคพิเศษในการทรงงานต่อเรือใบ อาทิ วิธีเจาะช่องบนของกราบเรือเพื่อใส่คานของดาดฟ้า โดยทรงเลื่อยสองข้างแล้วทรงเอาสิ่วจดให้ถูกมุม ใช้ค้อนตอกครั้งเดียวก็ใช้การได้ ทรงอธิบายว่าวิธีนี้นอกจากจะรวดเร็วแล้ว ยังทำให้ทราบว่าชิ้นส่วนของไม้ตอนนั้นมีตำหนิหรือไม่ ถ้ามีก็จะแตกเสียก่อน

เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกทรงต่อเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๐๗ เป็นเรือใบประเภทเอนเตอร์ไพรส์ พระราชทานชื่อว่าราชปะแตน ต่อมาปี ๒๕๐๘ ทรงต่อเรือใบประเภท โอ.เค. พระราชทานชื่อว่านวฤกษ์ และเวคา (Vega) อันมีความหมายถึงดวงดาวที่สว่างสุกใส ซึ่งได้ทรงต่อขึ้นอีกคือ เวคา ๑, เวคา ๒ และเวคา ๓

micromod03

พิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย จัดแสดงเรือใบฝีพระหัตถ์สามลำ ประกอบด้วย ซูเปอร์มด ๓, เอ.จี. เอนเตอร์ไพรส์ และไมโครมด ๓

นอกจากนั้นระหว่างปี ๒๕๐๙-๒๕๑๐ ทรงออกแบบและสร้างเรือใบขึ้นมาประเภทหนึ่ง พระราชทานชื่อว่าเรือใบแบบมด (Mod) ซึ่งได้จดสิทธิบัตรไว้ที่ประเทศอังกฤษ ภายหลังทรงพบว่าเรือใบแบบมดยังมีข้อผิดพลาดบางประการ เนื่องจากเรือมีลักษณะไม่สมส่วน ลำเรือมีขนาดใหญ่และตรงกลางป่องออกมากไปจึงทำให้เรือแล่นช้า ต่อมาจึงทรงคิดออกแบบเรือขึ้นใหม่ โดยปรับแต่งหัวเรือให้รูปทรงแบนเหมือนปลากระเบนเพื่อให้แล่นแหวกน้ำได้ดีขึ้น พระราชทานชื่อว่าเรือใบแบบซูเปอร์มด เป็นเรือที่มีลักษณะเพรียว เหมาะสำหรับผู้เล่นที่รูปร่างเล็กและน้ำหนักน้อย เรือใบตระกูลมดลำสุดท้ายที่พระองค์ทรงออกแบบคือเรือใบแบบไมโครมด ซึ่งได้รับความนิยมมากในหมู่นักแล่นใบเพราะสามารถแล่นคนเดียวได้ และการสร้างมีเงื่อนไขเพียงต้องใช้ไม้อัดขนาด ๔x๘ ฟุตแผ่นเดียวเท่านั้น

เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เองเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๐ คือเรือโม้ก (Moke) ซึ่งมีลักษณะผสมระหว่างเรือ โอ.เค. และเรือซูเปอร์มด โดยใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือ โอ.เค. ต่อมามีพระราชกรณียกิจมากจึงมิได้ทรงต่อเรือใบอีกเลย

ข้อมูล : บอร์ดพิพิธภัณฑ์กีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย