sujane-robbanแลไปรอบบ้าน  

บันทึกมุมมองสั้นบ้าง (ยาวบ้าง) ของ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่สนใจประเด็นประวัติศาสตร์ ปรากฎการณ์ทางสังคม ไม่ว่าจะการเมือง สิ่งแวดล้อม จนถึงเรื่องราวเล็กๆ ใกล้ตัว


สุเจน กรรพฤทธิ์

hiptower01

ในไซ่ง่อน ว่ากันว่าตึกเก่า 10 ชั้น เลขที่ 42 ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเหงวียนเหวะ (Nguyễn Huệ) ติดกับโรงแรม Reverie เป็นตึกที่ฮิปที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นเวียดนามตอนนี้

ตึกซึ่งเคยเป็นอดีตอพาร์ทเมนต์ที่ผมกำลังพูดถึงนี้ ถูกกล่าวขานกันในหมู่วัยรุ่นไซ่ง่อนว่า ที่นี่เป็นที่รวมตัวของพวกเขาคล้ายกับสยามสแควร์บ้านเรา เพราะเต็มไปด้วยร้านกาแฟ ร้านอาหารที่ตกแต่งเก๋ๆ โดยมีจุดขายคือมันเข้าไปนึดพื้นที่กันคนละล็อกสองล็อกในตึกเก่าคร่ำคร่าแห่งหนึ่งได้อย่างลงตัว

ยิ่งเมื่อถนนเหงวียนเหวะถูกปรับปรุงเป็น “ถนนคนเดิน” ในช่วงหัวค่ำ ประกอบกับที่ชั้น 1 ของตึกนี้เป็นร้านหนังสือสำคัญของเมืองคือ “ร้านหนังสือ Fahasa” ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายร้านหนังสืออมรินทร์แถวท่าพระจันทร์ ของ กทม. เพียงแต่ที่นี่เน้นขายหนังสือเรียนและมีสินค้าในลักษณะของศึกษาภัณฑ์มากกว่า

ผมมีโอกาสไปเยือนตึกนี้ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2017 ที่ผ่าน และค่อนข้างแปลกใจเมื่อพบว่าตึกนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าที่คิด

อพาร์ทเมนต์ประวัติศาสตร์

นักท่องเที่ยว กระทั่งคนเวียดนามน้อยคนจะทราบว่าตึกเก่าๆ ที่เป็นที่สถิตย์ของร้านรวงหน้าตากิ๊บเก๋เหล่านี้มีอายุยืนยาวผ่านมาถึง 3 ยุคสมัย คือ ถูกสร้างสมัยสงครามเวียดนาม กลายเป็นตึกร้างสมัยปฏิรูปเศรษฐกิจ (โด่ยเหมย) ก่อนจะมีหน้าตาอย่างที่เห็นในยุคปัจจุบัน

ในยุคของเรา ทางขึ้นไปยังร้านหน้าตาสวยงามเหล่านี้ เราต้องเดินเข้าไปที่ห้องแถวริมสุด (ทางซ้ายสุดในภาพ ต้นไม้บัง) ที่ถูกทำเป็นลานจอดมอเตอร์ไซค์ จากนั้นจะมีทางเลือกสองทางคือขึ้นลิฟต์เก่าๆ ไปยังชั้นบนหรือจะเบิร์นแคลอรี่ด้วยการเดินขึ้นบันไดวนไปเรื่อยๆ

ผมพบว่าแต่ละชั้นของอาคารนี้ คืออดีตห้องพักเก่าของอดีตอพาร์ทเมนต์ที่ถูกรีโนเวตใหม่จนกลายเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร สุดแท้แต่เจ้าของร้านจะออกแบบ โดยอดีตห้องพักเหล่านี้มีขนาดใหญ่โตพอที่จะถูกดัดแปลงมาทำร้านอาหารได้อย่างลงตัว

แน่นอน พอมีคนที่ยังอาศัยอยู่ที่นี่ในฐานะที่อยู่ แต่ห้องของพวกเขาก็ซ่อนตัวอยู่ตามหลืบต่างๆ ไม่ต้องพูดถึงห้องที่หันหน้าออกไปยังถนนซึ่งกลายเป็นร้านค้าไปจนหมดสิ้นแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ชั้น 1-9

อาจกล่าวได้ว่านี่คือร่องรอยเดียวที่พอจะทำให้ผมนึกออกว่า ที่นี่เคยถูกใช้เป็นที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ (ชั้นผู้ใหญ่) ของรัฐบาลเวียดนามใต้ และมีข้อมูลว่าครั้งหนึ่ง เจื่องบืวคาน (Trơưng Buu Khan) ล่ามของประธานาธิบดีโงดินเดียม ประธานาธิบดีเวียดนามใต้คนแรกก็อาศัยอยู่ที่นี่ระหว่างปี 1961-1963

โดยมีการแบ่งพื้นที่ด้านหน้าติดถนนให้เป็นของอเมริกัน ส่วนถัดมาเป็นของเวียดนามใต้ และด้านหลังสุดเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย

หลังปี 1975 เมื่อไซ่ง่อนตกอยู่ในมือคอมมิวนิสต์ ผู้ที่เข้ามาอยู่แทนเจ้าหน้าที่อเมริกันเจ้าหน้าที่เวียดนามใต้คือเจ้าหน้าที่ของบริษัทท่าเรือเบสัน โดยในตอนนั้นระบบน้ำประปาไม่ทำงานแล้วและผู้อยู่อาศัยต้องแบกน้ำขึ้นมาใช้จากชั้นล่าง และคนส่วนมากที่เข้ามาอยู่กลายเป็นคนที่มีฐานะยากจน

จนหลังปี 1986 ที่มีการเปลี่ยนเมืองขนานใหญ่ จนถนนสายนี้กลายเป็นถนนคนเดิน คนที่อยู่ที่นี่จึงเห็นลู่ทางในการทำเงินด้วยการปล่อยเช่าอพาร์ทเมนต์ไปทำธุรกิจ โดยเจ้าของร้านค้ารายหนึ่งเล่าว่าต้องจัดการปรับปรุงพื้นที่ภายในห้องพักที่เธอเมาทั้งหมด โดยระหว่างก่อสร้างนั้นเกิดเสียงดังจากการเจาะและก่ออิฐใหม่ดังลั่นไปทั่วตึกเป็นประจำ และการทำแบบนี้ก็สร้างความกังวลให้กับผู้ที่ยังอยู่ที่นี่ไม่น้อยเนื่องจากตึกนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่ใช่การนำมาทำร้านค้า

แต่ราคาที่ไต่จากไม่กี่ร้อยล้านด่งต่อตารางเมตรมาเป็นพันล้านด่งต่อตารางเมตรก็มีเสน่ห์ในการให้เช่าหรือขายยิ่งนักสำหรับเจ้าของพื้นที่

กฎหมายเวียดนามนั้นไม่ได้อนุญาตกิจกรรมแบบนี้แต่อย่างใด และทางการได้พยามยามเตือนกิจการเหล่านี้ โดยจดหมายยื่นคำขาดฉบับสุดท้ายได้ส่งมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2017 โดยให้เวลา 15 วันในการคืนพื้นที่และใช้งานตึกนี้ให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์

hiptower02

อนาคตที่ไม่แน่นอน

ในวันที่ผมไปเยือนตึกนี้เป็นเดือนเมษายน 2017 ร้านอาหารทั้งหมดยังคงอยู่ดี และดูเหมือนเส้นตายจะเกิน 15 วันไปทั้งหมดแล้ว

วัยรุ่นส่วนมากยังคงมาเที่ยวที่นี่กันตามปรกติ ส่วนมากของพวกเขาบอกผมว่า เขาอยากให้คงเอกลักษณ์ของการที่ร้านค้ามาตั้งอยู่บนตึกเก่าเอาไว้แบบนี้ เจ้าของร้านอาหาร ร้านกาแฟมองว่ากิจการของพวกนั้นอย่างน้อยก็มีส่วนช่วยในการทำให้ถนนคนเดินสายนี้มีเสน่ห์และมีชีวิตชีวามากขึ้น และเป็นสีสันของไซ่ง่อนที่ตอนนี้ดังไปถึงต่างประเทศ

ในขณะที่ทางการมองว่า การทำเช่นนี้อันตรายกับโครงสร้างของตึก ผู้อยู่อาศัยบางคนก็มองว่าพวกเขากำลังเสี่ยงต่อการที่โครงสร้างของตึกเก่าแห่งนี้เสียหายและมันอาจจะถล่มลงมาทั้งหมดและคงเกิดโศกนาฏกรรม

แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ผมก็ได้แต่คิดว่าภาพที่เราเห็นนี้ คือพยานยืนยันว่า ในทางธุรกิจ คนไซ่ง่อนตื่นแล้ว และเมืองกำลังเติบโตพร้อมๆ กับการที่วัยรุ่นต้องการพื้นที่สาธารณะ เมืองต้องการเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นี่คือความท้าทายของผู้บริหารเมืองไซ่ง่อนยุคปัจจุบัน