อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


วันและเวลาของผู้พิทักษ์ป่าโลก

ส่วนหนึ่งของหลักสูตร Smart Patrol Ranger ณ อุทยานแห่งชาติคลองลาน นอกจากนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ลาดตระเวนป่า สิ่งสำคัญยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกาย และจิตใจให้กับผู้พิทักษ์ป่า (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า ทุกวันนี้หน้าปฏิทินของเราเต็มไปด้วยวันสำคัญหรือวันพิเศษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉพาะแวดวงอนุรักษ์ เรามีวันป่าไม้โลก วันน้ำโลก วันคุ้มครองโลก วันอุตุนิยมวิทยา วันช้างไทย วันรักต้นไม้ วันสถาปนากรมป่าไม้ ฯลฯ

แต่ท่ามกลางวันสำคัญเหล่านั้น น่าจะมี ๑ วันที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก คือ วันผู้พิทักษ์ป่าโลก

วันผู้พิทักษ์ป่าโลก หรือ World Ranger Day ตรงกับวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ของทุกปี ที่มาของวันนี้เกิดจากสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ (IRF หรือ International Federation Ranger) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ได้จัดการประชุม World Congress Ranger ขึ้นที่สกอตแลนด์ เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๖ ก่อนลงมติให้วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๗ เป็นต้นมา เนื่องจากปีนั้นตรงกับวาระครบรอบ ๑๕ ปีของการก่อตั้ง IRF

สำหรับเมืองไทย คำว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หรือผู้พิทักษ์ป่า น่าจะหมายถึงบุคคลที่ทำหน้าที่ลาดตระเวน เพื่อดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่า ตามพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติอื่นๆ คำนี้ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ เรนเจอร์ (ranger) ซึ่งหมายถึงผู้คุ้มครองป่าของราชวงศ์อังกฤษ มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔

ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ ๑๕,๗๕๐ คน แต่ประเมินว่าน่าจะมีความพร้อมในการปฏิบัติงานลาดตระเวนจริงแค่ประมาณ ๕,๐๐๐ คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่พื้นที่ป่าทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ ๑๐๒ ล้านไร่ ในจำนวนนี้ราว ๒ ใน ๓ หรือ ๖๑ ล้านไร่ ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว

worldranger02

ซ้อมยิงปืน ทุกวันนี้อุปกรณ์การทำงานของผู้พิทักษ์ป่ายังขาดแคลน ไม่เพียงพอ เช่น แผนที่ เครื่องหาพิกัดบนพื้นโลก ตลอดจนอาวุธ เครื่องกระสุน ทำให้เกิดความเสี่ยงเมื่อต้องเดินลาดตระเวนป่า หรือเมื่อต้องเข้าจับกุมผู้กระทำผิด (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หากพื้นที่อนุรักษ์ถือเป็นหัวใจสำคัญของป่าไม้ เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่า เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพ งานลาดตระเวนก็น่าจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ทว่าในความเป็นจริง ผู้พิทักษ์ป่าหลายคนไม่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงตามตำแหน่ง อาจถูกโยกย้ายหรือสับเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่นๆ เช่น ดูแลนักท่องเที่ยว ทำความสะอาดบ้านพัก ตกแต่งสวน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

การโน้มน้าวให้ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานลาดตระเวนป่าให้เหล่าผู้พิทักษ์ป่า อาจเป็นเรื่องยากพอสมควรในยุคนี้ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติบางแห่งที่มีชื่อเสียง และให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว ถึงช่วงเทศกาล ถ้าหากบุคลากรไม่พอ ก็มีโอกาสสูงที่ผู้พิทักษ์ป่าจะได้รับมอบหมายให้ช่วยงาน เพราะถ้านักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวกสบาย ก็มีโอกาสที่ทางอุทยานจะถูกร้องเรียนหรือเป็นข่าว แตกต่างจากกรณีต้นไม้ถูกตัด สัตว์ป่าถูกล่า หรือมีการลักลอบเก็บของป่า ที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผู้พิทักษ์ป่าที่ได้รับมอบหมายให้ออกลาดตระเวนป่า ก็ยังต้องประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุสื่อสาร จีพีเอสหรืออุปกรณ์หาพิกัดบนพื้นโลก รวมทั้งอาวุธปืน เครื่องกระสุน จนทำให้หลายคนได้รับบาดเจ็บ กระทั่งเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนป่า จึงมีข้อเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บริหารทรัพยากรบุคคลให้ปฏิบัติหน้าที่ตรงตามตำแหน่ง ไม่โยกย้ายสับเปลี่ยนไปทำงานอื่น รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุน จัดสรรระบบสวัสดิการ และสวัสดิภาพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรป่าไม้อย่างสุดความสามารถและเต็มกำลัง

worldranger03

ลายพรางรูปนกและต้นไม้  สัญลักษณ์เครื่องหมายของผู้พิทักษ์ป่า (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่าอะไร ?

“ผู้ปิดทองหลังต้นไม้”
“นักต่อสู้กับ ‘มอดไม้’ ”
“นักรบแห่งพงไพร ผู้คุ้มครองต้นไม้และสัตว์ป่า” หรือ “พนักงานดูแลนักท่องเที่ยว” ฯลฯ

สำหรับสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ ได้ระบุว่า

“เราไม่สามารถนำพวกเขาเหล่านั้นกลับมาได้ แต่เราสามารถแสดงความเคารพและไม่ลืมเลือนความเสียสละของพวกเขา”

อันเป็นที่มาของวันผู้พิทักษ์ป่าโลก ๓๑ กรกฎาคม ของทุกปี

วันที่เจ้าตัวน่าจะไม่ได้ต้องการให้ผู้คนนึกพวกเขาแค่วันนี้วันเดียว เท่านั้น

เก็บตกจากลงพื้นที่ :
อุทยานแห่งชาติคลองลาน แม่วงก์ เขตรักพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สกู๊ป Smart patrol ranger วิทยาการเพื่อ “ชีวิต” ภารกิจผู้พิทักษ์ป่ายุคใหม่ นิตยสาร สารคดี ฉบับ ๓๓๘ เมษายน ๒๕๕๖
และเสวนา สารคดี Talk ครั้งที่ ๒ : Smart Patrol Ranger ฮีโร่พันธุ์ใหม่หัวใจสีเขียว