อังคาร-เก็บตกจากลงพื้นที่
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี…จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
ภาพเหตุการณ์น้ำกัดเซาะสันอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นจนแยกขาดออกจากกัน เผยแพร่ในเฟซบุค สกลนคร ซิตี้ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จากเหตุการณ์นี้ กรมชลประทานระบุว่า “มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ ๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร”
“อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนครที่มีเต็มอ่างฯ นั้น ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี”
ข่าวประชาสัมพันธ์กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีอ่างเก็บน้ำที่สกลนครมีน้ำล้นอ่างฯ
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐
—
นับตั้งแต่เข้าสู่ปี ๒๕๖๐ มีเหตุการณ์ฝนตกหนักจนส่งผลกระทบต่อเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในลักษณะ “น้ำล้นอ่าง” และ “คันสันเขื่อนแตก” แล้วอย่างน้อย ๒ ครั้ง
ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๐ ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จากฝนที่ตกหนักติดต่อกัน ทำให้อ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบและอ่างเก็บน้ำคลองลอยต้องรองรับน้ำเกินความจุอ่าง กระทั่งล้นอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ และล้นทางระบายน้ำล้นหรือสปิลเวย์ (spillway) อ่างเก็บน้ำคลองลอย ท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรท้ายอ่าง
หากยังจำกันได้เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความล่าช้าในการแจ้งเตือนภัย อีกทั้งกรมชลประทานในฐานะผู้ดูแลอ่างเก็บน้ำได้ออกมาชี้แจงว่าไม่มีหน้าที่ในการแจ้งเตือน การแจ้งเตือนเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมชลฯ ทำได้เพียงแจ้งสถานการณ์น้ำล่าสุดเท่านั้น
แม้เป็นเหตุการณ์ “น้ำล้นอ่าง” ไม่ใช่เขื่อนแตก แต่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาก็ออกมาชี้แจง ว่าถ้ามวลน้ำกัดเซาะทำนบดินหรือคันดินเป็นเวลานานๆ ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เขื่อนแตกได้
อีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
อิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินกาทำให้เกิดพายุฝนจนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง รวมถึงหนองหาน ต้องเก็บกักน้ำเกินปริมาณความจุ เช่นเดียวกับแหล่งน้ำขนาดกลางและเล็ก เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น
ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทาน วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อเหลืออีก ๑๐ เซนติเมตร น้ำก็จะไหลข้ามทำนบดิน อ่างเก็บน้ำห้วยเดียกมีน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก ๑๐๐ เซนติเมตร เหลืออีกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร น้ำก็จะสูงถึงระดับสันเขื่อน ส่วนอ่างเก็บน้ำภูเพ็กที่มีความจุสูงสุด ๓ ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำในอ่างแล้ว ๒.๙ ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้ง ๓ อ่างจึงต้องเร่งระบายน้ำออก
ขณะที่สถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นนั้นดูจะน่าวิตกที่สุด เมื่อปริมาณน้ำในอ่างเกินจากความจุสูงสุด คือ ๒.๖๖ ล้านลูกบาศก์เมตร ไปเป็น ๓.๐๕ ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น ๑๒๗ เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง
เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งในประเทศไทยมีลักษณะเป็นเขื่อนดิน หมายความว่าอาศัยคันดินเป็นแนวกั้นน้ำ เมื่อผ่านฤดูแล้งเข้าสูฤดูฝนที่ต้องรองรับน้ำหลากจึงอาจเกิดความเสียหายจากโครงสร้างของคันดิน (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล อ่างเก็บน้ำทับเสลาหรือเขื่อนระบำ จังหวัดอุทัยธานี เป็นเขื่อนดิน ตัวเขื่อนเป็นหินทิ้งแกนดินเหนียว )
ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทานระบุด้วยว่า “มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ ๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ทำให้มีน้ำทะลักลงสู่ด้านท้ายไปรวมกับปริมาณน้ำในลำนำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ”
พร้อมชี้แจงถึงข่าวลือเรื่องอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นแตกว่า
“อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนครที่มีเต็มอ่างฯ นั้น ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี”
ที่เหมือนขัดแย้งกันเองกับเนื้อข่าวว่ามีน้ำกัดเซาะสันเขื่อน
ยิ่งเมื่อมีผู้นำคลิปวีดีโอการไหลของน้ำออกจากอ่างมาเผยแพร่ ก็ยิ่งเห็นภาพ “เขื่อนแตก” หรือ “อ่างเก็บน้ำแตก” ชัดเจนขึ้นตามความรู้สึกของชาวบ้าน เพราะสิ่งที่เห็นคือน้ำไหลทะลักออกจากอ่าง ผ่านช่องคันดินที่พังทลายลงไป
แม้กรมชลประทานจะออกมาชี้แจงว่าเหตุการณ์นี้ทำให้น้ำท่วมสูงขึ้นเพียง ๑๐ เซนติเมตร ในพื้นที่กว้างประมาณ ๑๐ ตารางกิโลเมตร แต่เมื่อคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น เช่น
“ตอนอ่างแตกยังกับสึนามิ น่ากลัวมาก”
“ปริมาณน้ำฝนขนาดนี้ เรื่องฝายพังหรือเขื่อนแตกไม่ใช่เรื่องแปลก ไอ้ที่แปลกคือไม่ยอมรับว่ามันพัง นี่แหละครับที่ชาวบ้านรุมด่ากันอยู่เนี่ย !”
ท่ามกลางความสับสน ขณะจังหวัดสกลนครกลายเป็นเมืองบาดาล สิ่งที่ตามมาหลังน้ำลดคือคำถามจากเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นว่า อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นไม่ได้แตกตามที่ผู้คนพูดกัน ? สิ่งที่แตกเป็นเพียงทำนบดินของอ่างเก็บน้ำเท่านั้น ?
แล้วหากเกิดสถานการณ์คล้ายกันกับเขื่อนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว มีโอกาสที่เขื่อนจะแตกร้าวได้ เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนท่าแซะ จังหวัดระนอง จะเป็นอย่างไร ?
หรือคำว่าเขื่อนแตกกลายเป็นคำต้องห้ามที่ราชการไทยพยายามหลีกเลี่ยงไปแล้ว
- เก็บตกจากลงพื้นที่ – อ่างเก็บน้ำห้วยเสลา จังหวัดอุทัยธานี พฤษภาคม ๒๕๕๕
- ติดตามเพจ Sarakadee Magazine
- อ่านงานเขียนของ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล