วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


infotowrite01

บันไดสำคัญขั้นหนึ่งของการก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนตัวจริง คือการฝึกทำซ้ำๆ

นักฝันหลายคนยังไม่ได้เป็นนักเขียนเสียทีก็เพราะมัวแต่ตั้งท่า นามปากกาก็ตั้งไว้อย่างดิบดีแล้ว เหลือแต่ลงมือเขียนงานออกมาเท่านั้นที่ยังไม่ได้ทำ

เมื่อเขียนออกมาแล้ว จะดียิ่งหากมีกัลยาณมิตรคอยช่วยอ่านอย่างใส่ใจ และให้คำวิจารณ์ติชมด้วยความปรารถนาดี

สำหรับนักเขียนมือใหม่ที่มาร่วมเรียนรู้ในค่ายสารคดีระดับประชาชน ครั้งที่ ๒ มีนักเขียนในกองบรรณธิการนิตยสาร สารคดี คอยช่วยทำหน้าที่ดังกล่าว

จะเรียกว่าเป็นครู เป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง เมนเทอร์ โค๊ช หรืออะไรก็แล้วแต่ บทบาทคือช่วยดูแลอ่านงานอย่างใส่ใจ ให้คำแนะนำ ชี้แนวทางการพัฒนาปรับปรุงงาน และยุยงส่งเสริมให้ทำต่อ

infotowrite02

ฝึกการสัมภาษณ์

ซ้อมมือกันมา ๒ ชิ้นแล้วตั้งแต่ต้นค่าย ก่อนมาถึงงานใหญ่ซึ่งเป็นชิ้นที่ ๓ ของค่าย ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่างานเขียนเรียนกันได้ทุกวัย

จุดเด่นของนักเขียนใหม่ที่เป็นคนวัยผู้ใหญ่กันแล้ว คือความหนักแน่นของข้อมูลตามประสาคนที่ผ่านวัยผ่านการตกผลึกทางความคิด จากประสบการณ์ชีวิตและการทำงานมาช่วงหนึ่งแล้ว

ข้อมูลเป็นครึ่งหนึ่งงานสารคดี ข้อมูลดีก็อาจนับได้ว่าสำเร็จไปครึ่ง อีกครึ่งที่เหลือคือ กลวิธีการนำเสนอ หรือเทคนิควิธีในการเล่าเรื่องให้ได้รสรื่นรมย์ ชวนติดตาม

ข้อมูลที่เห็นได้อย่างโดดเด่นจากผลงานของนักเขียนมือใหม่ค่าย “เขียนสารคดีกับมืออาชีพ” รุ่นที่ ๒ คือข้อมูลสัมภาษณ์ กับข้อมูลแห้ง หรือข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งค้นคว้าจากแหล่งที่มีผู้รวบรวมไว้แล้ว ถือเป็นข้อมูลชั้นสอง

ส่วนข้อมูลสัมภาษณ์ เป็นปากคำของแหล่งข้อมูล ที่เป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ เป็นข้อมูลที่ผู้เขียนไปพูดคุยรับฟังมาด้วยตัวเอง แต่ว่านั่นยังเป็นคำเล่าหรือบทสัมภาษณ์แบบถามตอบ

เมื่อมาอยู่ในงานสารคดีต้องแปรรูปคำถามคำตอบนั้นให้เลือนสลาย เหลือแต่เนื้อความที่กลายเป็นเนื้อหาของเรื่องเล่า ไม่ใช่เอามานำเสนอแบบแสดงการถาม-ตอบ แบบยกมาทั้งดุ้น

วิธีการทำบทสัมภาษณ์ให้กลายเป็นเนื้อหาสารคดี ทำได้หลายวิธี เช่น

๑.แสดงในลักษณะ “บทสนทนา” เหมือนการพูดโต้ตอบกันของตัวละคร ซึ่งผู้เขียนสามารถแทรกการบรรยายความ บรรยายลักษณะ อารมณ์ สภาพแวดล้อม ฯลฯ เข้าไปได้ด้วย
๒.แสดงในลักษณะ “อ้างตรง” คัดประโยคหรือใจความสำคัญจากปากแหล่งข้อมูล มาแสดงไว้ในอัญประกาศ “…” เป็นคำพูดเด่นๆ ที่ต้องการเน้นให้คนอ่านเห็นว่าเป็นเนื้อหาสำคัญของเรื่อง โดยทั่วไปคำพูดของแหล่งข้อมูลที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดในงานสารคดี จะตัดยกมาโคว๊ซละสั้นๆ อาจยาวไม่เกิน ๓ บรรทัด
๓.แสดงในลักษณะ “อ้างอ้อม” ผู้เขียนสรุปความจากคำเล่าที่ยืดเยื้อยาวนาน หรือไม่ปะติดปะต่อ เอาแต่ใจความสำคัญไว้เป็นประเด็นๆ แล้วเล่าผ่านการอ้างถึงแหล่งข้อมูลว่า เขา/หรือเธอ เล่าว่า …

โดยการแปรข้อมูลให้เป็นเรื่องเล่าทั้ง ๓ แบบที่ว่านี้ ต้องทำสลับกันไปเพื่อให้เรื่องดำเนินไปอย่างกลมกล่อมแต่ต้นจนจบ ไม่ซ้ำไม่ชวนเบื่ออย่างการใช้วิธีหนึ่งใดไปตลอดทั้งเรื่อง

infotowrite03

แลกเปลี่ยนเบื้องหลังที่มางานเขียนของตน

จากเกือบ ๒๐ ชิ้นงานเรื่องเล่าขนาดยาว หลายชิ้นเก็บข้อมูลได้แน่นหนักอย่างเกิดคาดสำหรับมือใหม่ หลายชิ้นสัมภาษณ์มาอย่างละเอียด ลึกดีและหลากมิติ

ส่วนที่ยังรอการเติมให้เต็มฝีมือ คือการถอดเอาแต่ใจความออกมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าโดยผู้เขียน

แต่ก็มีบางชิ้นงานที่สะท้อนว่าผู้เขียนทำเป็นและมาถูกทางแล้ว เธอแปรบทสัมภาษณ์เป็นงานสารคดีได้งดงามลงตัว ด้วยการใช้อ้างตรงอ้างอ้อม ผสานเข้ากับภาพผ่านสายตาผู้เขียน ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าแล้วก็สื่อความตามจริงได้อย่างตรงใจ โดยผู้เขียนไม่ต้องชี้นำแบบยัดเยียดคนอ่านเลย

บังเจ๊ะหมัด เล่าว่า สมัยก่อนนี่ผมเป็นนักประดาน้้าตอนที่เขาเพิ่งสร้างท่าเรือนี้ ด้าลงไปใต้ทะเล ท้างานกับพวกฝรั่ง เดี๋ยวนี้บริษัทผุดขึ้นมาก ชาวบ้านประท้วงไปก็เท่านั้น สุดท้ายมันก็ขึ้น ถ้าให้ถูกมันต้องให้ชาวบ้านได้กินน้้าชาบ้าง นี่อะไรบอกจะจ้างงานคนในพื้นที่ งานบ้าๆ เพ ให้ไปเป็นยาม เป็นแม่บ้าน ใครมันจะไป”

กระชังไม่ได้ลอยเคล้งคว้าง ทุ่นพลาสติกช่วยพยุงตัว ลึกลงในทะเลสาบนั้น ได้ลงสมอไว้เรียบร้อยแล้ว มองเลยไปในระยะสายตา เรือน้้ามันสีแดงสดก้าลังเคลื่อนตัวออกจากท่าเชื่องช้า

ใช่ ! ตรงนี้เป็นเส้นทางเดินเรือ

“ทีมผมตั้งกระชังตรงนี้ทีมเดียวเลย ปตท. มันจะมารื้อไหมก็ไม่รู้ ตอนนี้ภาวนาให้เรือมาชนให้พังไปเลย จะได้เลิกๆ ท้า” บังเจ๊ะหมัดพูดก่อนปล่อยเสียงหัวเราะลั่น ลมพัดพาควันบุหรี่ไปอีกทาง ฉันมองตามไปในเส้นสายสีขาวในห้วงมโนผุดวาบค้าว่า “ค่าชดเชยก้อนโต” ก่อนค่อยๆ จางหายไป

ความเป็น “คนนอก” ฉันไม่อาจตัดสินวิธีการของเขา “ถูกผิดดีเลว” ชาวบ้านที่นี่ล้วนได้รับผลกระทบทั้งด้านดีและร้ายจากบริาัทยักษ์ใหญ่ที่มาอยู่ใน “บ้าน” ของเขา

(จาก “1 day 5 check in @ สิงหนคร” ของ มารียา เจ๊ม๊ะ)

ในห้องเรียน งานชิ้นนี้สามารถเป็นแบบอย่างให้เพื่อนนักหัดเขียนร่วมเรียนรู้ได้ในแง่วิธีการ ซึ่งหากรู้หลักทุกคนสามารถพัฒนาฝีมือการเขียนได้ตามศักยภาพของตน

และเมื่อเผยแพร่ออกไปงานสารคดีที่มีชั้นเชิงในการเล่าเช่นนี้ ก็จะเป็นที่ถูกใจของผู้อ่าน


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮ